Group Blog
 
All blogs
 
เกมเทคโอเวอร์ โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


ในช่วงที่ตลาดหุ้น คึกคัก และราคาหุ้นปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นตลาดกระทิงนั้น ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่มักเกิดขึ้น ก็คือ การควบรวมกิจการหรือที่เรียกกันติด ปากว่าการ "Take Over" เหตุผลที่มีการเทคโอเวอร์กันมากในยามตลาดหุ้นบูมนั้นมีหลายอย่าง แต่ที่สำคัญผมคิดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับ "ราคาหุ้น" นั่นก็คือ การเทคโอเวอร์ สามารถนำมาซึ่งการ "เติบโต" ของบริษัทอย่างรวดเร็ว การเติบโตจะทำให้กำไรเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด กำไรที่จะเพิ่มขึ้นจะผลักดันให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นตามผลกำไรที่จะเพิ่มขึ้น

นอกจากนั้น การเติบโตที่ "คาดว่า" ว่าจะเร็วขึ้นมากย่อมทำให้ตลาดให้ค่า PE ของหุ้นสูงขึ้นด้วย หรือพูดง่ายๆ ทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับกำไรต่อหน่วยที่ทำได้ ผลก็คือ ราคาหุ้นจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ หรือเรียกว่าได้ "สองเด้ง" ดังนั้น ผู้บริหาร "ระดับเซียน" ที่เก่งทางด้าน "วิศวกรรมการเงิน" จึงมักใช้โอกาสที่ตลาดเอื้ออำนวย ทำการเทคโอเวอร์อย่าง Aggressive หรือเทคโอเวอร์อย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ซึ่งหลายครั้งสามารถทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปอย่างโดดเด่น โดยที่ธุรกิจหรือบริษัทที่ดำเนินการอยู่นั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรนัก เพียงแต่มีขนาดใหญ่ขึ้น

มองย้อนหลังไปในช่วงหุ้นบูมสุดๆ ก่อนวิกฤติการเงินในปี 2540 ที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นไปถึง 1700 กว่าจุด ในช่วงนั้น คนที่จำได้ก็จะรู้ว่า "เทคโอเวอร์คิง" ไม่มีใครนอกจาก ปิ่น จักกะพาก แห่ง Fin One บริษัทเงินทุนที่ใหญ่และ Aggressive ที่สุดในการควบรวมกิจการ กลยุทธ์ของปิ่นก็คือการเทคโอเวอร์กิจการ ที่เกี่ยวกับการเงินในตลาดหลักทรัพย์โดยการ "แลกหุ้น" นั่นก็คือ ฟินวันซื้อหุ้นของบริษัทเป้าหมายจนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยสิ่งที่ใช้ในการแลก ก็คือ ฟินวันจะออกหุ้นใหม่เอามาให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทเป้าหมาย

ดังนั้น ฟินวันจึงไม่ต้องใช้เงินในการซื้อกิจการ และดังนั้นฟินวันจึงสามารถซื้อกิจการอื่นไปได้เรื่อยๆ แม้กิจการที่ซื้อ อาจจะใหญ่กว่าตัวเองมากอย่างธนาคารพาณิชย์เช่นไทยทนุในยุคนั้น ที่กลายเป็นบริษัทเป้าหมาย แต่โชคไม่ดี ฟินวันมีอันเป็นไปเสียก่อนที่ดีลจะสำเร็จ และเป็นการปิดฉากเกมเทคโอเวอร์ที่ร้อนแรง และมีสีสันที่สุดในตลาดหุ้นไทย

เกมเทคโอเวอร์ของฟินวันนั้น เป็นไปได้เพราะมีเงื่อนไขสำคัญ ก็คือ ราคาหุ้นของฟินวันสูงมากเมื่อเทียบกับกำไรที่ทำได้หรือพูดง่ายๆ ก็คือ หุ้นฟินวันมีค่า PE สูงมาก นอกจากนั้น บริษัทเป้าหมายที่จะถูกควบรวมกิจการ จะต้องมีราคาค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับกำไรของบริษัทหรือเป็นหุ้นที่มีค่า PE ต่ำ ซึ่งในยุคนั้นสถานการณ์แบบนี้ก็มีอยู่ นั่นก็คือ ฟินวันมีกลยุทธ์การทำงานที่ Aggressive เน้นการเติบโตที่รวดเร็วในทุกด้านทั้งทางด้านการดำเนินงานและการควบรวม กิจการ

ส่งผลให้หุ้นฟินวันร้อนแรงมีค่า PE สูงลิ่วเพราะคนเชื่อว่าเป็นหุ้น "Super Growth" ในอีกด้านหนึ่ง หุ้นของบริษัทการเงินอื่น โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์กลับไม่เป็นที่นิยม ส่วนหนึ่งเพราะเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่เกินกว่าที่นักเก็งกำไรจะเข้าไป "เล่น" หรือ "ปั่น" ได้ ทำให้หุ้นไม่เป็นที่นิยม ส่งผลให้ราคาและค่า PE ของหุ้นต่ำกว่าหุ้นฟินวันมาก
มาดูกันว่าทำไมหุ้นที่ PE สูงซึ่งทำให้มูลค่าตลาดของหุ้นสูง สามารถเทคโอเวอร์หุ้นที่มี PE ต่ำและมีมูลค่าของตลาดหุ้นต่ำได้อย่างไร

สมมติว่าหุ้น "ซุปตาร์" มีกำไร 1,000 ล้านบาท และมีหุ้นเท่ากับ 1,000 ล้านหุ้น ดังนั้นกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 1 บาทต่อหุ้น เนื่องจากหุ้นซุปตาร์เป็นผู้นำในอุตสาหกรรม และมีผู้บริหารที่โดดเด่น รวมถึงมีกลยุทธ์ในการเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้นตลาดให้ค่า PE ของหุ้นเท่ากับ 25 เท่า ส่งผลให้ราคาหุ้นซุปตาร์เท่ากับหุ้นละ 25 บาท คิดเป็นมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งบริษัทเท่ากับ 25,000 ล้านบาท ส่วนหุ้น "เทอร์เทิล" นั้นมีกำไร 1,000 ล้านบาท และมีหุ้นเท่ากับ 1,000 ล้านหุ้น ดังนั้นกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 1 บาทต่อหุ้นเหมือนกัน แต่คนมองว่าเป็นหุ้น "เต่า" จึงมีค่า PE เพียง 10 เท่า หุ้นมีราคาเพียง 10 บาทต่อหุ้น และทั้งบริษัทมีมูลค่าหุ้นเพียง 10,000 ล้านบาท

ซุปตาร์เทคโอเวอร์เทอร์เทิลโดยการออกหุ้นใหม่ 400 ล้านหุ้น ให้กับผู้ถือหุ้นเทอร์เทิล ผลก็คือ หุ้นซุปตาร์หลังจากเทคโอเวอร์ จะมีหุ้นทั้งหมดเท่ากับ 1400 ล้านหุ้น มีกำไร 2000 ล้านบาท กำไรต่อหุ้นเท่ากับ 1.43 บาทต่อหุ้น และตลาดมองว่าหุ้นซุปตาร์ไม่ได้แย่ลงจากการเทคโอเวอร์จึงให้ค่า PE เท่าเดิมคือ 25 เท่า ผลก็คือ ราคาหุ้นซุปตาร์เท่ากับ 35.7 บาท หรือเพิ่มขึ้น 43% จากราคา 25 บาท แต่ถ้าตลาดมองว่าการเติบโตของซุปตาร์จะเร็วขึ้นอีก ดังนั้นค่า PE จึงน่าจะปรับขึ้นเป็น 30 เท่า ผลก็คือ ราคาหุ้นของซุปตาร์จะกลายเป็น 42.9 บาท หรือเพิ่มขึ้น 71.4% โดยที่กิจการของซุปตาร์และเทอร์เทิลไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย และนั่นคือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับฟินวันในยามที่เกมเทคโอเวอร์กำลังดำเนินไปด้วย ดี

มีอะไรผิดไหมสำหรับเกมเทคโอเวอร์ที่บริษัท PE สูงควบรวมบริษัท PE ต่ำ แล้วทำให้ราคาหุ้นของบริษัทที่เทคโอเวอร์เพิ่มขึ้นมโหฬารในชั่วข้ามคืน?

ประเด็นก็คือ นักลงทุนอาจจะมองผิดพลาด โดยคิดไปว่าบริษัทจะยังเหมือนเดิม หรือโตเร็วขึ้นไม่ได้ช้าลง จึงให้ค่า PE เหมือนเดิมหรือสูงขึ้น คนคิดว่าบริษัท "เต่า" ที่โตช้านั้น เมื่อถูกเทคโอเวอร์แล้วจะแปลงเป็น "ซุปเปอร์สตาร์" เหมือนบริษัทที่กลายมาเป็น "แม่" ดังนั้นค่า PE ของเต่าจึงถูกปรับขึ้นจาก 10 เท่าเป็น 25 เท่าหรือมากกว่า แต่ถ้าความเป็นจริงก็คือ "ทุกอย่างเหมือนเดิม" หรือมีการเปลี่ยนแปลงในบริษัทเต่าน้อยมาก เมื่อเวลาผ่านไปคนก็จะเห็นว่า การเติบโตของบริษัทที่รวมกันแล้วไม่ได้เร่งตัวขึ้น เต่าก็ยังเป็นเต่า ซุปเปอร์สตาร์ก็โตเท่าเดิม

ดังนั้น ตลาดก็จะปรับค่า PE ของบริษัทที่รวมกันแล้วลง เช่นอาจจะเหลือเพียง 17.5 เท่าซึ่งเท่ากับค่าเฉลี่ยของ 10 กับ 25 เท่า ผลก็คือ ราคาหุ้นของบริษัทรวมก็จะเท่ากับ 1.43 คูณ 17.5 หรือก็คือ 25 บาทต่อหุ้น เท่าเดิมก่อนที่จะมีการเทคโอเวอร์ ถ้าเป็นแบบนี้ คนที่เข้ามาซื้อหุ้นซุปตาร์ในราคา 30 หรือ 40 กว่าบาทและถือไว้ก็จะขาดทุนเมื่อ "พื้นฐานที่แท้จริง" ถูกเปิดเผยมาในภายหลัง

อาจมีข้อถกเถียงว่า เมื่อเทคโอเวอร์แล้ว ซุปตาร์ สามารถลดต้นทุนหรือได้ประโยชน์จากการเพิ่มขนาดของธุรกิจ ดังนั้นพื้นฐานของเทอร์เทิลและซุปตาร์จะดีขึ้นมาก แต่นี่เป็นสิ่งที่น่าจะยังต้องพิสูจน์ ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาโดยเฉพาะจากตลาดในอเมริกาพบว่า การเทคโอเวอร์ส่วนใหญ่ ได้ผลตรงกันข้าม ภายหลังต้องขายกิจการที่เทคมาทิ้งพร้อมกับการขาดทุนอย่างยับเยิน

ในตลาดหุ้นไทย กรณียังไม่ชัดเพราะมีกรณีไม่มาก ราคาหุ้นที่ขึ้นไปก่อนหลังจากมีการเทคโอเวอร์ VI คงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าสมเหตุผลไหม เหนือสิ่งอื่นใด การคาดการณ์ในสิ่งที่ยังไม่เคยเกิดเป็นเรื่องที่ VI จะต้อง "สงสัย" ว่ามันจะเป็นอย่างนั้นจริงหรือ? สำหรับผมแล้ว ถ้าแหล่งของการได้ประโยชน์จากการควบรวมกิจการ ยังเป็นที่น่าสงสัย ผมก็จะไม่เข้าไปเล่นในเกมเทคโอเวอร์ โดยเฉพาะถ้าราคาหุ้นขึ้นไปสูงแล้ว

แหล่งที่มา ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กรุงเทพธุรกิจ

อยากให้อ่านเรื่องนี้ด้วยครับ



ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

girdpol
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add girdpol's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.