All the girls standing in the line for the bathroom !!!

*** หมายเหตุ : สงวนลิขสิทธิ์ บทความและผลงาน ใน Blog นี้ครับ ***
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2553
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
17 สิงหาคม 2553
 
All Blogs
 
*** ลุงบุญมีระลึกชาติ *** Vol. 1: การทำลายกำแพงที่มองไม่เห็น เพื่อกลับไปสู่รากเหง้าของมนุษย์

*** ลุงบุญมีระลึกชาติ ***






ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) คือหนังเรื่องล่าสุดของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่ไปคว้ารางวัลสูงสุด จากเทศกาลภาพยนตร์ที่โด่งดัง และได้รับการยอมรับมากที่สุด นั่นคือ รางวัล Palme d'Or จาก Cannes Film Festival 2010



สำหรับที่มาและแรงบันดาลใจของหนังนั้น อภิชาติพงศ์ให้สัมภาษณ์ว่ามาจาก หนังสือ “คน ระลึกชาติ” เขียนโดยพระศรีปริยัติเวที แห่งวัดป่าแสงอรุณ จังหวัดขอนแก่น และ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ บ้านนาบัว จังหวัดนครพนม ในช่วงปี พ.ศ. 2508 ซึ่งหมู่บ้านนาบัวนั้นถูกเรียกว่า “หมู่บ้านเสียงปืนแตก” เนื่องจากเป็นสถานที่แรกในการเปิดฉากต่อสู้ระหว่างกองกำลังของคอมมิวนิสต์กับรัฐบาล

แน่นอนเมื่อพิจารณาถึงที่มาที่ไป ลุงบุญมีระลึกชาติ ย่อมต้องเจือปนไปด้วยนัยยะทางการเมืองของไทยในยุคสงครามระหว่างรัฐบาลกับคอมมิวนิสต์อย่างไม่ต้องสงสัย

ดังนั้น ตัวละครและเรื่องราวทั้งหลาย จึงสามารถนำมาตีความในแง่มุมทางการเมืองได้ (ทั้งการเมืองในสมัยก่อน และร่วมสมัย)



ไม่ว่าจะเป็น


ลิงผีที่อาจหมายถึงผู้ที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์จนต้องหลบหนีเข้าป่า


เรื่องความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ที่ถูกนำเสนอผ่าน ขาที่ไม่เท่ากันของป้าเจน หรือเรื่องของ เจ้าหญิงกับทาสรับใช้


เรื่องความรุนแรงของการปราบปรามคอมมิวนิสต์ในสมัยนั้น ที่ถูกโยงไปกับฉากฆ่าแมลง


การใช้เพลง “กลัวความสูง” หรือกระทั่งควายที่ชื่อ เขียว !!!



เนื่องจากไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมือง แนะนำให้อ่านการวิเคราะห์และการตีความของสามท่านนี้ครับ คุณ Beerled, คุณ FilmSick และ คุณ Seam-C






นอกจากนี้ ลุงบุญมีระลึกชาติ ยังเป็นการระลึกถึงประสบการณ์ส่วนตัวของอภิชาติพงศ์เองด้วย



แม้จะเคยผ่านตาผลงานของอภิชาติพงศ์ มาเพียงแค่เรื่องเดียวนั่นคือ สัตว์ประหลาด แต่ก็พบเห็นร่องรอยความเชื่อมโยง ผ่านองค์ประกอบต่างๆ จากเรื่อง สัตว์ประหลาด กระจัดกระจายทั่วไปใน ลุงบุญมีระลึกชาติ

รวมไปถึงบรรดานักแสดงขาประจำที่ต่างก็พากันมารับบทบาทเดิมๆ แถมตัวละครบางตัวยังใช้ชื่อเดียวกับผลงานเรื่องก่อนหน้าอีกด้วย


คล้ายกับว่า ลุงบุญมีระลึกชาติ คือ ภาคต่อของสัตว์ประหลาด (และอาจรวมถึงผลงานเรื่องก่อนหน้านี้ด้วย)



ซึ่งถ้าพิจารณาในบริบททั่วๆไปของ “หนังที่ผสมผสานเรื่องราวส่วนตัวของผู้กำกับ” แล้ว ก็จะพบว่า หนังเหล่านี้มักจะนำเอาประสบการณ์ของผู้กำกับเองมาเป็นวัตถุดิบหลัก

และหนังเรื่องก่อนๆหน้าของตัวผู้กำกับเองก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ในชีวิต ดังนั้น คงจะไม่ผิดนักที่จะถือว่า นี่เป็นโลกคู่ขนานของหนังเรื่องอื่นๆ ของอภิชาติพงศ์

คล้ายกับว่านี่เป็นอีก “ชาติ” หนึ่งของตัวละครบางตัวนั่นเอง







นี่คงจะเป็นเพียงข้อสันนิษฐานส่วนตัวที่อ่อนหลักฐาน เพราะหากพิจารณาว่านี่อาจเป็นแค่ “ลายเซ็นต์” ของผู้กำกับ ที่นิยมใช้นักแสดงคนเดิมในบทบาทลักษณะเดิม รวมถึงการใช้ชื่อจริงของนักแสดงเป็นชื่อของตัวละคร

แต่ฉากแยกร่างในลุงบุญมีระลึกชาติ ก็กลายเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ช่วยสนับสนุนข้อสันนิษฐานนี้ได้อย่างดี ว่าหนังเรื่องนี้อาจเป็นมิติคู่ขนานของหนังเรื่องก่อนหน้านี้จริงๆ เพราะในโลกของ อภิชาติพงศ์ การแยกร่าง และมิติที่ทับซ้อนสามารถเกิดขึ้นได้



แม้จะไม่เคยดู หนังอื้อฉาวอย่าง แสงศตวรรษ ก็พอจะรู้ว่า ฉากพระโต้งหนีวัด ที่ทั้งแรง และล่อแหลมนั้น ถูกสร้างมาเพื่อเสียดสี หรือท้าทายหน่วยงานใด ไม่เพียงแค่นั้นมันยังท้าทายความคิดผู้ชมอีกด้วย เนื่องจากหนังนำเสนอการกระทำที่ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงในความรู้สึกทั่วไป โดยที่ไม่รู้สึกถึงความผิดร้ายแรงที่ว่า หนำซ้ำยังดูเป็นธรรมชาติ และเป็นที่เข้าใจได้ในการกระทำของพระโต้ง

ขณะที่ “ที่มาที่ไป” ของ ลุงบุญมีระลึกชาติ ก็เกี่ยวเนื่องกับการเปิดเผยความจริงที่ถูกลืมเลือนไปแล้ว ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ต่างกับการเซ็นเซอร์เท่าไหร่นัก ซึ่งประเด็นนี้ยังพ้องไปกับความฝันของลุงบุญมีที่ฝันถึงโลกอนาคตที่รัฐบาลสามารถดึงความทรงจำของผู้คนออกมาฉายขึ้นจอแล้วจากนั้นเขาผู้นั้นก็จะหายไป



จากที่กล่าวมาข้างต้น รวมถึงเรื่องราวทั้งหลายในหนังที่ชาวไทยคุ้นเคยกันดี ไม่ว่าจะเป็น เรื่องราวแบบละครจักรวงศ์, สไตล์แบบหนังไทยยุคเก่า หรือ ตำนานเรื่องเล่าโบราณ จะพบว่า



ลุงบุญมีระลึกชาติ คือหนังที่ อภิชาติพงศ์ ต้องการส่งสารบางอย่างถึงผู้ชมชาวไทยมากกว่าผู้ชมกลุ่มอื่นๆ



ดังนั้นใครที่ตั้งแง่ว่านี่คือหนังเอาใจชาวต่างชาติคงต้องเปลี่ยนความคิดกันใหม่







แต่ทำไม ลุงบุญมีระลึกชาติ ที่เหมือนจะเป็นแค่ “หนังที่กระตุ้นให้คนไทยระลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่ถูกลืม, หนังที่เสียดสีระบบในสังคมไทย และหนังที่เป็นเหมือนบันทึกความทรงจำส่วนตัวของผู้กำกับ” จึงกลายเป็นหนังที่ถูกใจบรรดานักวิจารณ์จากฝั่งยุโรป และอเมริกาได้นั้น



สาเหตุหนึ่งคงเป็นเพราะ ลุงบุญมีระลึกชาติ ยังมี “สาร” บางประการที่เป็นสากล และสามารถเข้าถึงได้โดยที่ไม่เกี่ยงว่าผู้รับสารนั้นจะเป็นชนชาติใด อัดแน่นอยู่ในหนังนั่นเอง


ก็ถ้า Avatar จะบุกเบิกและพัฒนาการเพิ่มมิติทางกายภาพให้กับหนัง จนเป็น 3 มิติ ที่ถึงพร้อมด้วยคุณภาพ ลุงบุญมีระลึกชาติกลับไปไกลกว่า 3 มิติ (มิติทางความคิด) เนื่องจากความหลากหลายของตัวหนังที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้รับรู้ และตีความในหลายมุมมอง

อาจมีคนแย้งว่า ทั้ง Avatar และ ลุงบุญมีระลึกชาติ ไม่ใช่หนังเรื่องแรกที่มีหลายมิติ (Avatar ไม่ใช่หนัง 3 มิติเรื่องแรกของโลก และ ลุงบุญมีระลึกชาติ ไม่ใช่หนังที่มีหลายแง่มุมให้ได้ตีความเรื่องแรกของโลกเช่นกัน)


แต่ทั้งสองเรื่อง ก็ถือเป็นเรื่องแรก ที่มิติอันหลากหลายที่เพิ่มขึ้นมานั้น ถูกทำให้เห็นอย่างชัดเจน เต็มไปด้วยรายละเอียด และการมีหลายมิติที่ว่านั้นปรากฏสู่สายตาผู้ชมแทบทั้งเรื่อง



พูดง่ายๆก็คือ เราสามารถตีความหนังเรื่องลุงบุญมีระลึกชาติ ในแต่ละแง่มุมอย่างละเอียดได้แทบทั้งเรื่อง มิใช่เพียงแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งของเรื่อง







ประเด็นอันเป็นสากลที่ ลุงบุญมีระลึกชาติ พูดถึงก็คือ “การหลุดพ้นจากสิ่งยึดติด เพื่อกลับไปหาความบริสุทธิ์ หรือธรรมชาติดั้งเดิมอีกครั้ง”

คำว่า “ระลึกชาติ” เมื่อมองในมุมนี้ก็คือ การย้อนกลับไปหารากเหง้า หรือต้นกำเนิดของมนุษย์ชาติ


ซึ่งหนังเต็มไปด้วยสัญลักษณ์เปรียบเทียบในประเด็นนี้ตลอดทั้งเรื่อง ลองมาพิจารณากัน
(ผมจะตีความไว้ในวงเล็บ [....] ครับ )








ตั้งแต่เปิดเรื่องมา เราจะพบกับควายที่พยายามหนีจากเชือกที่ล่ามมันไว้ เพื่อกลับไปสู่ธรรมชาติ สุดท้ายควายก็กลับไปโดนล่ามดังเดิม

[หรือหนังจะบอกว่า ควายไม่สามารถหลุดพ้นได้หรอก

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ มนุษย์นั่นเองที่เป็นผู้ผูกเชือกล่ามควาย และมนุษย์ที่ถูกผูกยึดคงไม่ต่างจากควายที่ตัวเองล่ามเท่าไหร่นัก]






บุญส่ง ลูกชายลุงบุญมี กลายสภาพเป็นลิงผี ที่ดูไปแล้วไม่ต่างจากลิงสองขาที่ถือเป็นสัตว์ที่วิวัฒนาการมาเป็นมนุษย์

[บุญส่งกลับไปสู่รากเหง้าของมนุษย์ในรูปแบบของสัตว์ที่เป็นต้นกำเนิดนั่นคือ ลิงดึกดำบรรพ์ชนิดหนึ่ง]





ขณะที่ ลุงบุญมีเอง เมื่อใกล้ตาย ก็กลับไปหารากเหง้าของตนเองนั่นคือ ถ้ำโบราณ (ที่มีภาพวาดของมนุษย์ถ้ำอยู่ด้วย) แถมปากถ้ำยังดูคล้ายอวัยวะเพศหญิง

[ลุงบุญมีกลับไปสู่ “ที่อยู่แรก” ของชีวิตมนุษย์

ในแง่ของการกำเนิด (ของแต่ละบุคคล) ก็คือ มดลูก
ในแง่ของที่อยู่แห่งแรก (ของเผ่าพันธุ์) ก็คือ ถ้ำ]






เจ้าหญิงใบหน้าอัปลักษณ์ สลัดเสื้อผ้าเครื่องประดับ เพื่อไปเริงรักกับปลาดุก

[เจ้าหญิงกลับไปสู่พื้นฐานทางสังคมของมนุษย์ที่ทุกคนเท่าเทียมกัน นั่นก็คือเมื่อสลัดทิ้งซึ่ง “ยศถาบรรดาศักดิ์” ออกแล้ว เจ้าหญิงก็คือมนุษย์ธรรมดา
แถมหนังยังไปไกลกว่าการทำลายชนชั้นระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ถึงขั้นทำลายชนชั้นระหว่าง มนุษย์ กับ สัตว์ เมื่อมนุษย์กับสัตว์ เท่าเทียมกันจนสามารถมี Sex กันได้]







จาย แรงงานต่างด้าวชาวลาว ต้องการกลับไปแต่งงานกับสาวที่เมืองลาว

[จาย ที่กลายเป็นคนผิดกฎหมายเพียงเพราะเดินทางข้ามเขตแดนโดยไม่ได้รับอนุญาต สามารถกลับไปเป็นคนที่ไม่มีความผิดได้ที่บ้านเกิด

นี่ไม่ใช่แค่การกลับบ้าน แต่อาจหมายถึงการหลุดพ้นจากพันธนาการทางกฎหมายที่มนุษย์สร้างขึ้นอีกด้วย]






พระโต้ง สลัดจีวรพระทิ้ง แล้วหนีกลับมาอาบน้ำแต่งตัว เพื่อไปหาข้าวเย็นกิน

[พระโต้งที่บวชเพราะความจำเป็น กลับไปเป็นโต้งที่ไม่ใช่พระ ตามความต้องการแท้จริงในใจ ด้วยการสลัดจารีตประเพณี ที่เกาะติดตัวเขา

อย่างไรก็ตามนี่อาจไม่ใช่สิ่งที่สลัดหลุดได้ง่ายนัก แม้จะพยายามอาบน้ำขัดถูตัว แต่ค่านิยมทางสังคมใช่ว่าจะหลุดออกไปจากมนุษย์ได้ง่าย

โต้งถึงขั้นต้องแยกร่างไปอยู่ในจักรวาลคู่ขนาน ที่ไม่มีค่านิยมเหล่านั้น จึงสามารถออกไปกินข้าวเย็นได้อย่างสบายใจ]






ในความฝันของลุงบุญมี มนุษย์ในอนาคต พยายามกำจัดธรรมชาติดั้งเดิมของตัวเอง ด้วยการตามล่าลิงผี ที่เป็นเหมือนตัวแทนของบรรพบุรุษของมนุษย์

[แต่เราก็ยังเห็นว่า ลึกๆแล้วพวกเขายังพยายามกลับไปสู่รากเหง้าเดิมอยู่ดี เพราะเมื่อพวกเขาถ่ายรูปเพื่อบันทึกตัวตน พวกเขากลับถอดเสื้อผ้าสีเขียวออก (ชื่อเดียวกับควายตอนต้นเรื่อง) อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็ไม่สามารถสลัดเสื้อผ้าได้ทั้งหมด]









จากสัญลักษณ์เหล่านี้ ทำให้ประเด็นหลักของ ลุงบุญมีระลึกชาติ ในแง่มุมนี้ก็คือ


การกลับไปสู่รากเหง้าหรือความบริสุทธิ์ของมนุษย์ในแง่มุมต่างๆ ด้วยการพยายามขจัดสิ่งที่ ยึดเกาะ และห่อหุ้มมนุษย์เอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น ความเจริญ ค่านิยมทางสังคม หรือเงื่อนไขทางกฎหมาย

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็น สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น



ไม่ต่างจากประเด็นที่เห็นได้ชัดเจนในงานก่อนหน้าของอภิชาติพงศ์ อย่าง สัตว์ประหลาด ที่ในช่วงครึ่งหลัง หนังพาผู้ชมกลับไปสู่รากเหง้าของมนุษย์ ทั้งในแง่ของกายภาพ (ป่า) และจิตใจ (การกลายสภาพของนายทหารไปเป็นสัตว์)







นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการ “ข้ามผ่านเขตแดน” หรือ “การทำลายกำแพงกั้นที่ไม่มีอยู่จริง” ที่ถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์เพื่อกลับไปสู่ธรรมชาติแท้จริง ซึ่งถูกเสนอผ่านเรื่องราวหลายๆเรื่องไปพร้อมๆกัน ไม่ว่าจะเป็น





[การข้ามเขตแดนทางภูมิศาสตร์หรือข้ามเส้นแบ่งความ “ถูก-ผิด” ทางกฎหมาย ของจาย]



[การข้ามจากโลกมนุษย์ไปสู่โลกวิญญาณ หรือ ข้ามจากอดีตไปอนาคตของ ลุงบุญมี]



[การข้ามเส้นแบ่งชนชั้นของเจ้าหญิง กับ ข้ารับใช้ และ ปลาดุก]



[การข้ามเส้นแบ่งทางค่านิยมของโต้ง และป้าเจน ที่ไปไกลถึงระดับ “ข้ามมิติ” กันเลยทีเดียว]





และที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ



[ฉากการสนทนาระหว่างมื้ออาหารค่ำ ที่ทำลายทุกกำแพงแบ่งเขต เพราะมีทั้งคน สัตว์ และ ผี มานั่งคุยกันราวกับเป็นเรื่องปกติธรรมดา]





เมื่อพิจารณาถึงสไตล์ของหนัง



[ลุงบุญมีระลึกชาติ ยังทำลายเส้นแบ่งระหว่าง “เรื่องราวที่สมจริง” กับ “เรื่องราวที่เหนือจริง” ด้วยการถ่ายทอดเรื่องราวเหนือจริงเหล่านั้นให้ออกมาสมจริงและเป็นธรรมชาติมากที่สุด]







ผมขอ ระลึกชาติ ถึงคำถามเดิมที่ผมตั้งไว้อีกครั้ง เพราะจากที่เขียนมายาวมากๆ บางคนอาจลืมไปแล้ว

แต่ทำไม ลุงบุญมีระลึกชาติ ที่เหมือนจะเป็นแค่ “หนังที่กระตุ้นให้คนไทยระลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่ถูกลืม, หนังที่เสียดสีระบบในสังคมไทย และหนังที่เป็นเหมือนบันทึกความทรงจำส่วนตัวของผู้กำกับ” จึงกลายเป็นหนังที่ถูกใจบรรดานักวิจารณ์จากฝั่งยุโรป และอเมริกาได้นั้น


อีกสาเหตุหนึ่งคงเป็นเพราะ สไตล์ที่โดดเด่นอย่างชัดเจนและความสร้างสรรค์อันแปลกใหม่ของ ลุงบุญมีระลึกชาติ ถือเป็นการพา “ภาพยนตร์” ไปสู่นิยามใหม่ที่ไกลกว่าที่เราคุ้นเคย ซึ่งมันอาจไปไกลถึงโลกของศิลปะแขนงอื่นอีกด้วย



หลักฐานยืนยันอันชัดเจน นอกจากจะเป็นรูปแบบ และโครงสร้างของการเล่าเรื่อง (ที่ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงเนื้อเรื่องเลยแม้แต่น้อย) ก็คือ ลุงบุญมีระลึกชาติ เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของงานศิลปะผสมที่ชื่อว่า Primitive (แปลไทย: ดั้งเดิม) ที่ประกอบไปด้วย Video Art, หนังสั้น, ศิลปะการจัดวาง, ประติมากรรม และ เพลง อีกด้วย







สรุปจากมุมมองของผม



ลุงบุญมีระลึกชาติ คือหนังที่พาผู้ชมระลึกชาติด้วยการจุดประกายให้ผู้ชมได้คิดถึงอดีต ในแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแง่ของ ปรัชญา, ประวัติศาสตร์, ธรรมชาติ, ค่านิยมทางสังคม และ การเมือง

ด้วยการทำลาย “กำแพง” ที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อกันตัวเองออกจากสัญชาติญาณและธรรมชาติดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็น ค่านิยม จารีตประเพณี กฎหมาย



ซึ่งเหมือนเป็นการเชิญชวนให้ผู้ชมเปลื้องผ้า เพื่อส่องกระจกมองตัวตนที่เปลือยเปล่านั่นเอง



ในแง่ของภาพยนตร์ ลุงบุญมีระลึกชาติ พาผู้ชม ย้อนกลับไปพบกับต้นแบบของภาพยนตร์ ตั้งแต่ การเล่นกับเงา หรือภาพเขียนในถ้ำ ที่ถือเป็นต้นกำเนิดยุคแรกสุด ของศาสตร์แขนงนี้


นอกจากนี้ ลุงบุญมีระลึกชาติ ยังทำลาย “กำแพง” ที่แบ่งแยกประเภทของศิลปะเอาไว้ ด้วยการพาตัวเองทะลุขอบเขตไปโลดแล่น และมีส่วนร่วมกับศิลปะแขนงอื่นๆอีกด้วย








ปล. คราวหน้าผมจะมาต่อเรื่องของ ลุงบุญมีระลึกชาติ กับ ภาพยนตร์ ปรัชญา และ Plato

รวมถึงการสรุปและให้คะแนนหนังครับ คอยติดตามได้


Create Date : 17 สิงหาคม 2553
Last Update : 17 สิงหาคม 2553 13:50:56 น. 21 comments
Counter : 16467 Pageviews.

 
รออ่าน ตอนต่อไปครับ


โดย: รถเล็ก IP: 124.122.240.76 วันที่: 17 สิงหาคม 2553 เวลา:6:21:29 น.  

 
เป็นเกียรติ์มากครับผมและขอให้ดาวเอ็นทรี่นี้ 5 ดวงครับที่ทำให้ผมเห็นอีกมุมมองและขอรอคอยเอ็นทรี่หน้าด้วยคน

ผมเคยคุยกับพี่ชายฟิล์มซิกครับและลงมติกันว่าหนังเรื่องนี้คือหนังการเมืองที่รุนแรงมากกกกกกกก


โดย: Seam - C IP: 58.9.192.202 วันที่: 17 สิงหาคม 2553 เวลา:16:21:04 น.  

 
อ่านคำวิเคราะห์ของคุณแล้วทำให้ผมเข้าใจหนังเรื่องนี้มากขึ้น ลึกซึ้งและเข้าใจง่ายดีครับ ชอบมากครับ hingashi4@hotmail.com


โดย: ฮิงาชิ IP: 58.8.159.185 วันที่: 17 สิงหาคม 2553 เวลา:18:18:34 น.  

 
สำหรับใครที่รออ่าน Vol. 2 อาจต้องรอนานหน่อยนะครับ

ติดโปรเจกต์อื่นอยู่


คิดว่าคงเขียนพร้อมๆกับ หนังออกแผ่น DVD ลิขสิทธิ์

(หวังว่าคงไม่เกินปีนี้ )



ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย


โดย: navagan วันที่: 6 กันยายน 2553 เวลา:2:50:44 น.  

 
วันนี้เพื่อนที่เมืองไทยเพิ่งส่งแผ่นมาให้ดู ยอมรับว่าดูแล้ว...เข้าไม่ถึงจริง...ก็เลยค้นหาบทวิจารณ์ เจอบทวิจารณ์ของคุณในพันทิพย์...ต้องขอบอกว่า ไม่เคยอ่านบทวิจารณ์ที่เข้าใจได้ดีทุกแง่ทุกมุมขนาดนี้น่ะครับ...ยอดเยี่ยมมากครับ คุณน่าจะเป็นผู้กำกับหนังสักเรื่องนะครับ คาดว่าอนาคตไกลแน่ๆ...แกะดำ นิวซีแลนด์
ปล. ว่างๆก็เข้าไปวิจารณ์งานเขียนของผมบ้างน่ะครับ


โดย: แกะดำ IP: 122.60.156.186 วันที่: 30 มกราคม 2554 เวลา:19:00:10 น.  

 
เชียงใหม่เพิ่งฉายมะวานครับรอบเดียววันเดียวเท่านั้นครับ ไปดูมาสุดยอดเลยครับ ดูเสร็จต้องรีบมาหาอ่านบทวิจารณ์กันเลย อิอิ ที่ เชียงใหม่ 60% จะเป็นฝรั่งมาดูกันครับ คงเป็นเพราะไม่ได้โปรโมทอย่างเต็มที่ ผมได้บัตรมาก็เพราะเพือนฝรั่งบอกมาอีกที ครับ แต่เจ๋งมากครับเรื่องนี้หนังจบคนลุกขึ้นยืนปรบมือให้กันเลยครับ (ไอ้เรายัง งงๆ อยู่เหอๆ) ตอนนี้กำลังหาซื้ออยู่ครับแต่ไม่รู้จะไปหาได้ที่ไหนดี


โดย: note IP: 223.206.215.242 วันที่: 7 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:11:04:49 น.  

 
ผมโหลดมาดูฟรียังรุสึกเสียดายเวลาที่นั่งดูเลย หนังคงลึกซึ้งเกินกว่าสติปัญญาผมจะสามารถเข้าใจได้ ขออภัยที่วิจารย์ตรงๆแบบนี้ครับ


โดย: sypcoltd IP: 115.87.241.149 วันที่: 16 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:15:57:52 น.  

 
ดูแล้วงงมาก ถ้าไม่มีคำวิจารณ์หรือวิเคราะห์ผมว่าก็จะยังงงไปตลอด แล้วบอกว่าอะไรวะเนี่ย ไม่รู้เรื่อง


โดย: งง IP: 58.8.236.183 วันที่: 16 เมษายน 2554 เวลา:10:10:09 น.  

 
วิจารณ์ ได้ดี ในเชิงความคิด ในความคิดนั้นอธิบายออกมาได้เป็นขั่นตอนมากครับ แต่สุดท้ายความรู้สึกก็เป็นสิ่งที่ยากจะอธิบายด้วยภาษาทางการเขียน เศษเสี้ยวของความหมายของเนื้อหา มันยากยิ่งที่จะใช้ภาษาใดสื่อสารนอกจากสัมผัสด้วยดวงใจของเราเอง


โดย: sajai IP: 49.48.221.80 วันที่: 10 พฤษภาคม 2554 เวลา:18:08:14 น.  

 
ตอนดูงง มาอ่าน Blog นี้เลยค่อยเข้าใจ
ชอบที่คุณเขียนถึงการแยกร่างของพระโต้ง

หนังพี่เจ้ย ผมดูไม่ค่อยรู้เรื่องเลย ตอนสัตว์ประหลาดแทบอ๊วก ไม่รู้เรื่องเลย


โดย: คนขับช้า วันที่: 2 กรกฎาคม 2554 เวลา:16:48:39 น.  

 
เข้ามาขอบคุณที่แบ่งปันค่ะ

กระจ่างมาก แถมยังได้กุญแจไปเปิดประตูบานที่ไม่รู้ว่ามีอยู่อีกด้วย คนสองภาคเป็นคนหนึ่งที่ไม่เก็ตนัยยะทางการเมืองเลย



โดย: คนสองภาค วันที่: 27 กรกฎาคม 2554 เวลา:18:23:15 น.  

 
ยอมรับว่า ซับซ้อนมากในเรื่องความคิด ตอนแรกคิดว่าเล่าเรื่องของการระลึกชาติได้จริงๆ แต่ทุกแง่มุม ที่อ่านวิจารณ์แล้วนึกไป ถึงหนังที่ได้ดู ผมว่าคุณภาพหนังก็เฉยๆ นะ ธรรมดามาก เปรียบเทียบส่อเสียด เห็นบ่อยของการล้อเลียน แต่คุณแอบด่าได้เนียนสุดๆ แบบว่า ด่าไปเพื่อนคณกลับไปบ้านสองสามวันถึงจะรู้ว่าคุณด่าเขา ผมเสียความรู้สึกกับเรื่องนี้ เพราะผมตั้งใจจะดูการถ่ายทอด จากประสบการณ์ของคนระลึกชาติได้จริงๆ ไม่ใช่แบบนี้ โปรดตั้งชื่อหนังคุณเสียใหม่ เสียเวลาจริงๆ ไม่อ้อมค้อมนะไม่พอใจมากๆ


โดย: คนเคยดู IP: 58.9.205.218 วันที่: 31 กรกฎาคม 2554 เวลา:16:43:11 น.  

 
น่าสนใจดีครับ


โดย: ศล วันที่: 14 สิงหาคม 2554 เวลา:18:34:40 น.  

 
ผมว่าหนังเรื่องนี้ทำออกมาเพื่อตัวเองมากไปครับ โดยส่วนตัวผมว่าการตั้งใจที่จะถ่ายทอดมุมมองที่ลึกซึ้งก็ดูดีนะครับ แต่ไม่รู้ว่าความลึกซึ้งมันจะแผ่ซ่านไปสู่คนที่ไปดูได้เท่าไร ผมว่าหนังที่ดีควรจะถ่ายทอดให้ผู้ชมเข้าใจได้มากกว่านี้ ไม่ใช่ดูออกมางงงวย ไม่รู้ว่าหนังจะสื่ออะไร
อีกอย่างจากที่อ่านบทวิจารณ์ของเจ้าของ blog มากับตัวหนังอาจจะเป็นคนละเรื่องเลยก็ได้ เพราะไม่มีบรรทัดฐานหรือจุดตัดที่คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ตรงกัน
สุดท้ายบอกตรงๆเลยนะครับ ผมดีใจที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ (เพราะคนที่ไปดูกับผม :D )ถึงแม้ว่าหนังมันอาจจะไม่สนุก น่าเบื่อ งง หรืออะไรก็ตามคับ


โดย: คนดูงง IP: 125.24.163.171 วันที่: 1 มกราคม 2555 เวลา:10:49:37 น.  

 
//piyanootr.blogspot.co.uk/2012/09/Apichatpong.html

ขอนำลิงค์บทความของคุณนวกานต์ไปเผยแพร่ในบล็อกนะคะ มีเครดิตชื่อผู้เขียนด้วย


โดย: ปิยนุช IP: 82.27.46.120 วันที่: 15 กันยายน 2555 เวลา:11:17:29 น.  

 
^
^
^

ด้วยความยินดีครับ


โดย: navagan วันที่: 15 กันยายน 2555 เวลา:22:52:25 น.  

 
เขียนซะมันส์มือเลยนะ เฮ้อ


โดย: form IP: 171.96.182.209 วันที่: 2 กรกฎาคม 2558 เวลา:2:28:17 น.  

 
แนะนำหนังไทยให้เพื่อนชาวอเมริกันดู ไม่เข้าใจค่ะก็หาบทวิจารณ์ทั้งหมดมาอ่าน มุมมองของคุณชัดเจนมากที่สุดเข้าใจได้ทุกฉากทุกตอน ขอบคุณที่ช่วยให้กระจ่างนะคะ


โดย: คนไทยยูเอสเอ IP: 192.99.14.36 วันที่: 12 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:10:11:18 น.  

 
ด้วยความยินดีครับ


โดย: navagan วันที่: 14 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:15:53:35 น.  

 
ยอดเยี่ยมมากครับ และขอขอบคุณที่ช่วยเปิดโลกทัศน์ของผม


โดย: นายเลโก้ IP: 182.232.122.190 วันที่: 23 กรกฎาคม 2564 เวลา:21:23:11 น.  

 
ย้อนมาอ่านบล๊อกจากปี 2565 ทำให้เข้าใจหนังได้มากขึ้นครับ


โดย: กก IP: 184.22.251.58 วันที่: 15 กันยายน 2565 เวลา:21:19:21 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

navagan
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 73 คน [?]




นวกานต์ ราชานาค
Navagan Rachanark


สนใจใน ภาพยนตร์, การวิเคราะห์-วิจารณ์ ภาพยนตร์,ดนตรี, งานเขียน และ ศิลปะอื่นๆ

สร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ทดลอง และ งานดนตรีทดลอง และ งานเขียน


ปัจจุบันทำงานด้านการตลาด การวิจัยและพัฒนายางสังเคราะห์และยางธรรมชาติ

เริ่มจัดเก็บข้อมูลสถิติการเข้าชม

Time 09:00 Date 31/01/2010

by Histats.com

blogger web statistics

ถูกใจบทความ หรืออยากสนับสนุนเจ้าของ Blog

ก็ช่วย click ที่ Link โฆษณาครับ

ขอบคุณครับ

Friends' blogs
[Add navagan's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.