ตัวของเรา สไตล์ของเรา ทำไมต้องเหมือนใคร
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2559
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
5 พฤศจิกายน 2559
 
All Blogs
 
การสื่อสาร...ใครว่าง่าย






สวัสดีครับ
หลังจากที่เริ่มปรับอารมณ์กลับมาจากเหตุการณ์ล่าสุดแล้วก็กลับมาจัดการเขียนเนื้อหาบล๊อกต่อให้เสร็จ....หลังจากเน็ตมีปัญหาจนแก้ไขเรียบร้อยก็ได้เวลาอัพเรื่องต่อไปกันซะที....และเรื่องแรกที่เสร็จออกมาก็คือเรื่องนี้แหละ เข้าเรื่องเลยดีกว่า


ผมเคยคุยกับหลายคนเกี่ยวกับการสื่อสารที่คนเรามักเข้าใจอะไรไม่ตรงกัน ถึงแม้ว่าหลายๆ คนมักจะมองว่าการสื่อสารพูดคุยหรืออธิบายอะไรกับคนอื่นสักเรื่อง มันเป็นเรื่องง่ายๆ ไม่ได้ยากเย็นอะไรแต่ผมกลับไม่คิดอย่างนั้นเลย

การสื่อสารเช่นการพูดคุยกันที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องง่าย ผมกลับไม่เคยรู้สึกว่าง่ายเพราะพอเราพูดสั้นๆ คนก็มักไม่เข้าใจ แต่พอเราพูดยาวคนก็มักไม่ฟัง

มีหลายคนบอกกับผมว่าเราต้องมีศิลปะในการสื่อสาร เราต้องรู้จักการพูดให้น่าฟัง ไม่ยืดเยื้อ ควรจะสั้นกระชับได้ใจความ ไม่งั้นก็ไม่มีใครอยากฟัง แค่นี้การสื่อสารก็กลายเป็นเรื่องง่าย

แต่ผมอยากให้เราลองคิดดูครับ ว่าสิ่งที่เราพูดไปคนฟังเขาจะเข้าใจแบบเดียวกับเราหรือเปล่า คำพูดคำเดียวกัน คน 2 คนตีความมันเหมือนกันหรือไม่ คำตอบคือไม่แน่เพราะงั้นเรื่องของศิลปะในการสื่อสารมันจึงไม่เกี่ยวกับกรณีนี้เลยครับ

คนที่มีพื้นฐานความคิดความเข้าใจแบบเดียวกันก็จะตีความมันแบบเดียวกัน แต่ในชีวิตจริงคนส่วนมากในสังคมไม่ได้มีพื้นฐานตรงนี้ในแบบเดียวกันอย่างนั้น เพราะงั้นการที่จะทำให้ทุกคนที่ฟังสิ่งที่เราพูดแล้วเข้าใจตรงกับเรา 100% นั้นจึงแทบจะเป็นไปไม่ได้



ลองทำความเข้าใจสักนิด ขั้นตอนของการสื่อสารคือ เริ่มจากมีข้อมูลต้นทางหรือภาพความคิดของเราที่อยู่ในหัวเราต้องการจะถ่ายทอดสิ่งนั้นไปยังอีกคนหนึ่ง แต่เราส่งความคิดเราไปยังอีกคนไม่ได้ เราต้องเปลี่ยนมันให้อยู่ในรูปแบบที่ส่งได้ก่อน นั่นคือการเปลี่ยนมันเป็นคำพูดเปรียบเหมือนการ Encode แล้วจึงส่งออกไป อีกคนหนึ่งก็รับข้อมูลโดยการฟัง แล้วสิ่งที่ได้รับฟังก็จะถูกแปลหรือ Decode เพื่อทำความเข้าใจแล้ววาดภาพขึ้นมาตามข้อมูลที่แปลได้ ภาพสุดท้ายที่ผู้รับวาดขึ้นได้คือข้อมูลปลายทางซึ่งอาจจะตรงหรือไม่ตรงกับข้อมูลต้นทางก็ได้

ซึ่งที่จริงแล้วข้อมูลต้นทางและปลายทางมันก็ควรจะต้องเหมือนกันมากที่สุด ไม่ถึง 100% ก็ควรจะไม่น้อยกว่า 80% จึงจะเรียกได้ว่าเป็นการสื่อสารที่ดีและมีประสิทธิภาพครับ

ผมว่าหลายคนที่อ่านอาจจะนึกค้านอยู่ในใจว่าในเมื่อพูดคำๆ เดียวกันมันจะตีความต่างกันได้อย่างไร เพราะงั้นเราลองมาดูเหตุการณ์ที่เกิดในชีวิตจริงกันดีกว่าครับ.....

คนเรามักจะเอาสิ่งที่ตัวเองคิดหรือเข้าใจอยู่มาเป็นพื้นฐานในการตีความ ประกอบกับหลายคนมักไม่ชอบการต้องฟังอะไรเยอะๆ ชอบฟังการอธิบายสั้นๆ โดยคาดหวังว่าพูดเพียงสั้นๆ ก็จะเข้าใจกันได้ทั้งหมด ซึ่งจริงๆ แล้วหลายๆ อย่างในชีวิตจริงมันต้องมีการบรรยายหรืออธิบายขยายถึงจะเข้าใจได้ถูกต้อง

ขอยกตัวอย่างอีกสักหน่อย เป็นเรื่องผมเจอเองกับตัวเลยครับ....เวลาผมบอกใครว่าผมเป็นคนแต่งตัวง่ายๆ ไม่เน้นหล่อเนี้ยบ เน้นสะดวกและคล่องตัว คนส่วนใหญ่ที่ฟังก็มักจะคิดว่าผมจะใส่เสื้อยืดกางเกงยีนส์ตามสมัยนิยมแต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลยครับ


รูปประกอบจาก wear.jp - user: やっちゃん, 山崎 航平, Daisuke Sakamoto,次元大介

เห็นมั้ยครับว่าจริงๆ แล้วคำพูดที่เราคิดว่าเข้าใจกันได้ง่ายๆ นี่เองกลายเป็นความผิดพลาดทางการสื่อสารไปได้ง่ายๆ อีกเหมือนกัน เพราะอะไร?......เพราะจริงๆ แล้วมันควรจะต้องมีการขยายความมากกว่านั้นไงครับ แต่ในทางปฏิบัติแล้วคนส่วนมากมักไม่ยอมฟังจนหมด

เวลาผมบอกคนพร้อมกับขยายความว่า "ผมเป็นคนแต่งตัวง่ายๆ ไม่เน้นหล่อเนี้ยบ เน้นสะดวกและคล่องตัว แต่ไม่ใช่เสื้อยืดกางเกงยีนส์นะครับ เป็นพวกเอาท์ดอร์หรือกางเกงคาร์โก้หรือพวกชุดพื้นเมืองซะมากกว่า แล้วก็ไม่ได้ใส่ฟิตมากแบบที่คนส่วนมากนิยมกันชอบใส่หลวมๆ มากกว่า" เห็นมั้ยครับถ้าฟังจนจบภาพที่เห็นมันจะเป็นคนละแบบกันทันทีแต่เพราะคนส่วนมากจะฟังถึงแค่ "เน้นสะดวกและคล่องตัว" แล้วก็ไม่ค่อยจะฟังต่อ แล้วคิดเอาเองว่าผมจะใส่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เช่นเสื้อยืดกางเกงยีนส์เพราะหลายคนมองว่ากางเกงยีนส์ดูคล่องตัวทะมัดทะแมง เพราะมองภาพตามสมัยนิยมไปแล้วสรุปกันเอาเองว่าผมก็ต้องชอบอะไรที่เป็นไปตามเทรนด์แฟชั่นที่กำลังนิยมกันด้วย ซึ่งมันจะกลายเป็นการเข้าใจผิดไป



หรือเวลาที่ผมบอกคนอื่นว่าผมชอบไม้สีธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นพื้นหรือเฟอร์นิเจอร์ หลายคนก็มักจะมองภาพไม้สีธรรมชาติว่าเป็นไม้ที่ทาแชล็คและแล็คเกอร์โดยไม่ย้อมสีซึ่งจะได้ออกมาเป็นไม้สีน้ำตาลเข้มๆ อย่างที่เห็นกันได้ทั่วไป แต่ที่ผมพูดผมต้องการจะหมายถึงสีธรรมชาติแบบดิบๆ เป็นสีของไม้ดิบตั้งแต่ยังไม่ได้ทาเคลือบเลย ซึ่งมันจะมีสีที่อ่อนกว่าและมีความเหลือบเงาในแบบที่ต่างออกไป ไม่เหมือนกับความเงาที่ได้จากการเคลือบผิว ซึ่งนี่ก็เป็นอะไรที่จำเป็นต้องพูดขยายความแต่คนส่วนมากมักจะคิดว่า "อ๋อ เข้าใจแล้วสีธรรมชาติ ไม่ต้องพูดอะไรแล้ว แค่นี้ก็รู้เรื่องแล้ว" และไม่ฟังส่วนขยายที่ผมจะอธิบายเพิ่มเติม ซึ่งก็เป็นการด่วนสรุปเอาเองโดยไม่ได้ฟังให้จบ

เพราะรูปแบบวิธีการรับรู้ของคนส่วนมากเป็นแบบนี้คือชอบฟังอะไรสั้นๆ แม้แต่บางเรื่องที่มันสั้นไม่ได้แล้วเราต้องอธิบายขยาย ทำให้เวลาคุยกันแล้วต้องอธิบายอะไรผมจะค่อนข้างเครียด เพราะต้องคิดว่าจะพูดยังไงให้สั้นที่สุดโดยไม่ให้ความหมายและรายละเอียดหายไป หลายครั้งที่รวบให้สั้นแล้วคนฟังก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี ผมก็ต้องมาพูดยาวแบบเต็มๆ อีกที

เพราะคนส่วนใหญ่มักเป็นพวกที่เรียกว่าพูดยาวก็ไม่อยากฟังแต่พูดสั้นก็ไม่เข้าใจหรือเข้าใจผิด หลายครั้งพูดสั้นๆ ก็เข้าใจผิดไปกันใหญ่กว่าจะปรับให้ถูกได้ก็กินเวลาเป็นชั่วโมงจากเรื่องที่น่าจะจบภายใน 10-15 นาที ถ้ายอมฟังยาวหน่อย แต่แรก กลายเป็น 2 ชั่วโมงเพราะจะให้พูดสั้นๆ ก็มี

อีกปัจจัยนึงที่ทำให้เข้าใจไม่ตรงกันก็เพราะการตีความคำๆ เดียวกันต่างกัน เช่นคำว่าเข้ม อย่าง "ผมชอบสีน้ำเงินเข้ม" คือสีเข้มแค่ไหน เข้มของแต่ละคนก็มองไม่เท่ากันนี่เป็นอีกอย่างที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิดหรือเข้าใจไม่ตรงกันครับ

เพราะอย่างที่ได้บอกไปว่าคนจะสนใจแค่หัวข้อครับส่วนตรงที่เป็นรายละเอียดคนมักไม่ค่อยฟัง แล้วก็ตีความเอาเองตามความหมายที่ตัวเองคิดหรือเข้าใจ ถ้าคนที่รู้หรือเข้าใจความหมายของคำเหมือนกันก็จะไม่มีปัญหาและพูดอธิบายสั้นๆ ให้เข้าใจได้ เช่นสีไวน์ ถ้าเข้าใจก็ไม่ต้องบรรยายมากมายว่าเป็นสีแบบไหน เข้มอ่อนแค่ไหน หรืออย่างสีมิดไนท์บลูถ้าเข้าใจก็ไม่ต้องมาบรรยายกันว่าเป็นสีน้ำเงินแบบไหน

แบบนี้ผมก็ต้องพยายามที่จะต้องเข้าใจด้วยว่าอีกฝ่ายเขาตีความยังไงแล้วต้องพยายามพูดให้เขาตีความออกมาให้ได้ถูกต้องที่สุด

เอาจริงๆ มันเหนื่อยไม่น้อยเลยนะครับกับการที่ต้องทำแบบนี้


ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ก็คงจะเห็นได้ว่าศิลปะในการสื่อสารเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำให้คนฟังและเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการสื่อ แต่มันไม่ได้รับประกันว่าข้อมูลที่เราส่งออกไปนั้นคนที่ได้รับไปเข้าใจตรงกันกับเรามากน้อยแค่ไหน มันไม่ได้รับประกันความถูกต้องของข้อมูลที่ปลายทางได้รับ

ทั้งหมดนี้ก็เป็นสิ่งที่ผมอยากบอกว่าการสื่อสารนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ใครที่คิดว่าการสื่อสารการอธิบายเป็นเรื่องง่าย พูดไปอย่างนั้นอย่างนี้ใครๆ ก็เข้าใจ ผมอยากให้ลองคิดดูอีกทีว่าสิ่งที่เราพูดไป คนอื่นเข้าใจก็จริง แต่ความเข้าใจนั้นมันมีรายละเอียดที่ตรงกับที่เรามีอยู่หรือเปล่า เพราะเรื่องบางเรื่องถ้าเข้าใจผิดเพี้ยนไปเพียงนิดเดียวมันก็ให้ผลที่ต่างกันอย่างมากได้

เพราะการสื่อสารให้ได้ 100% นั้นมันไม่ง่าย คือมันจะง่ายเมื่อเราไม่ต้องการขี้ชัด ไม่ต้องการความถูกต้อง100% ผมถึงได้พูดอยู่เสมอว่า
"การสื่อสารนั้นมันไม่ง่าย"


โดย นาย nyo

ภาพประกอบเนื้อหาบางส่วนจากอินเตอร์เน็ต


Create Date : 05 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 6 มกราคม 2560 9:53:39 น. 0 comments
Counter : 2800 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

nyo
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 20 คน [?]




สงวนลิขสิทธิ์ ตามพรบ.ลิขสิทธิ์ 2539 ห้ามผู้ใดทำการคัดลอก ส่วนใดส่วนหนึ่งของบล๊อกนี้ไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของบล็อค


ติดต่อผมได้ที่
naai.nyo@gmail.com

____________________

บล๊อกนี้ผมเขียนขึ้นมาจากสิ่งที่ผมไปรู้ไปเห็นมาก็เลยเอามาเล่าต่อเพื่อเป็นการแชร์ความรู้กัน หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นบ้างไม่มากก็น้อยครับ


กรูณาใช้ภาษาให้เหมาะสมในการแสดงความคิดเห็นด้วยนะครับ
Friends' blogs
[Add nyo's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.