Mr.Pos : The Thinking & Learning in My Life
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2558
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
16 ตุลาคม 2558
 
All Blogs
 
บ้านไม้สามัญ ของนักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่

บ้านไม้สามัญของนักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่

ฤดูหนาว ปลายปีที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกในชีวิตของผมที่มีโอกาสบินลัดฟ้า มาเยี่ยมเยือน ‘กรุงฮานอย’ ด้วยตัวเองเป็นช่วงเวลาสั้นๆ

เมื่อได้ใช้เวลาสักครู่ตรองนึกทบทวนถึงความทรงจำต่อสถานที่ ที่ได้ไปเยี่ยมเยือนมา หนึ่งในสถานที่ซึ่งประทับใจที่สุด ผมเลือกโดยไม่ลังเลเลยว่าย่อมเป็น บ้านไม้สองชั้นหลังสมถะเรียบง่าย ที่พำนักอย่างเป็นทางการของ ‘โฮจิมินห์’บุรุษผู้เปรียบดั่งบิดาของชาวเวียดนามทั้งชาตินั่นเอง..

ราว ๑๗ ปีที่แล้วผมมีโอกาสได้อ่านชีวประวัติของ บุรุษนักปฏิวัติเวียดนามท่านนี้ อย่างจริงจังผ่านหนังสือสารคดีชื่อสั้นๆ ว่า ‘ลุงโฮ’ที่เขียนเรียบเรียงอย่างสุดฝีมือโดย ‘วิลาศ มณีวัต’นักเขียนอาวุโสของเมืองไทย ประทับใจกับฉากชีวิตที่หวือหวา แสนพิสดารและเสี่ยงภยันตรายร้อยแปดของบุรุษร่างเล็ก ผอมบาง เครายาวขาวผู้มีจิตใจเปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์รักชาติมีความปรารถนาแรงกล้าที่จะช่วยเหลือชาวเวียดนามของท่านให้หลุดพ้นจากการกดขี่ไร้มนุษยธรรมจากเจ้าอาณานิคมอย่าง ฝรั่งเศส

ใครที่ได้ศึกษาประวัติชีวิตโฮจิมินห์ หรือ ลุงโฮ มาบ้าง ย่อมต้องชื่นชมคุณสมบัติหนึ่งของท่าน ที่ดำรงมาตลอดนับตั้งแต่ยังเป็นนักปฏิวัตินิรนามอยู่ในเขตป่าเขาใช้ชีวิตเดินทางไปเผยแพร่อุดมการณ์การเมืองไปทั่วยุโรป เอเชียแม้กระทั่งเมื่อขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งเวียดนามเหนือ แล้วก็ตามนั่นคือแง่มุมชีวิตที่แสนสมถะ เรียบง่าย ติดดิน และมีความเห็นอกเห็นใจเข้าถึงผู้คนชั้นล่างอย่างแท้จริง!


           ความเรียบง่ายในการใช้ชีวิตของลุงโฮ สะท้อนออกมาจาก บ้านพักอาศัยของท่านครับ ที่ ‘นครพนม’ ผมมีโอกาสได้เห็น บ้านพักของลุงโฮ ที่ตั้งอยู่บ้านนาจอก หลายต่อหลายครั้งเป็นบ้านไม้แบบชาวสวน ร่มรื่นไปด้วยแปลงผัก สวนผลไม้ ที่ ลุงโฮ หลบลี้มาอาศัยสั้นๆหลายช่วงเวลา เพื่อบ่มเพาะแนวคิดปฏิวัติร่วมกับ ชาวญวนพลัดถิ่นผู้รักชาติเมื่อครั้งที่ลี้ภัยจากการคุกคามของฝรั่งเศสมายังดินแดนสยาม

แม้กระทั่งบ้านพักรับรองอย่างเป็นทางการของ ลุงโฮ กลางกรุงฮานอยซึ่งท่านได้พำนักภายหลังที่ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศแล้ว ก็กลับมีความเรียบง่ายธรรมดาสามัญไม่ต่างไปเลย

‘บ้านโฮจิมินห์’ ตั้งอยู่ภายในอาณาบริเวณกว้างใหญ่ด้านหลังทำเนียบประธานาธิบดี และจัตุรัสบาดิงห์ ในบรรยากาศของอุทยานพรรณไม้ที่คล้ายดังป่ากลางเมือง ตัวบ้านซ่อนอยู่ท่ามกลางร่มเงาไม้ใหญ่ที่แผ่ครึ้มปกคลุมมีสระน้ำกว้างทอดตัวอยู่หน้าบ้านพัก เรียกได้ว่าเป็นสถานที่ที่งดงามน่าอยู่ที่สุดใน กรุงฮานอย ก็ย่อมได้ครับ


            จริงๆแล้วแต่แรก รัฐบาลเวียดนาม ได้สร้างทำเนียบหลังรโหฐาน เพื่อเป็นเกียรติให้แก่ท่านแต่ ลุงโฮ ไม่เคยพิสมัยกับการอาศัยในบ้านปูนที่หรูหราใหญ่โตเลยท่านจึงลงมือออกแบบบ้านหลังเล็กๆ แสนเรียบง่ายแบบชาวชนบทขึ้นใหม่ด้วยตัวเองและท่านก็อาศัยอยู่ตั้งแต่ปี ค.. ๑๙๕๘ – ๑๙๖๙ ซึ่งเป็นช่วงปีสุดท้าย ที่ ลุงโฮ จากโลก และชาวเวียดนามไปในวัย ๗๙ปี

บ้านหลังนี้ เป็นบ้านไม้ยกใต้ถุนสูงชั้นล่างโปร่งโล่งไม่มีผนัง ด้านนอกมีบันไดขึ้นสู่ชั้นบน ที่กั้นแบ่งเป็นห้องทำงาน ห้องสมุด และห้องนอนเล็กๆ เพียงห้องเดียวของท่าน ผมได้เห็นเฟอร์นิเจอร์เครื่องเรือนชิ้นดั้งเดิมเพียงไม่กี่ชิ้น ตั้งวางภายในห้องเหมือนในสมัยที่ ลุงโฮยังมีชีวิตอยู่เฉกเช่นเดิมทุกประการ ซึ่งล้วนบ่งบอกถึงความสมถะ เรียบง่ายปราศจากความหรูหรา ฟุ่มเฟือยใดๆ ทั้งสิ้น 


           ท่ามกลางความสมถะของบ้านไม้หลังน้อย ที่มีธรรมชาติสวยอยู่รายล้อมนี่แหละครับ ที่ ลุงโฮท่านใช้เป็นที่ประชุม ปรึกษาข้อราชการสำคัญในการบริหารประเทศมาแล้วมากมายใต้ถุนโล่งของบ้านยังเคยใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ผู้นำสำคัญจากทั่วโลก และที่รัฐบาลสหรัฐฯ คงไม่อาจลืมได้เลยคือ สถานที่นี้แหละที่ โฮจิมินห์ได้ใช้วางแผนยุทธการณ์สู้รบร่วมกับเหล่าทหารเสนาธิการคนสำคัญของกองทัพเวียดนามเหนือจนสามารถบุกตี กรุงไซ่ง่อน จนแตก แล้วบดขยี้ กองทัพอเมริกันอันเกรียงไกรให้พ่ายแพ้อย่างยับเยินหมดรูปอย่างที่สุด

นี่คือความทรงจำล้ำค่าที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังบ้านไม้ประวัติศาสตร์หลังนี้ ที่ครั้งหนึ่ง บุรุษสามัญชนผู้มีชีวิตแสนยิ่งใหญ่ได้พำนักอยู่ และผู้คนทั่วโลกย่อมไม่อาจลืมเลือนชื่อของ โฮจิมินห์ลงได้เลยตราบเท่านาน…





Create Date : 16 ตุลาคม 2558
Last Update : 16 ตุลาคม 2558 11:47:27 น. 0 comments
Counter : 1201 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

โปสการ์ดราดซอส
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add โปสการ์ดราดซอส's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.