Group Blog
 
All Blogs
 
บทเรียนจากงานศพ

ช่วงเดือนก่อน ผมมีเหตุต้องไปร่วมพิธีศพอยู่หลายงานบางงานเป็นการจากไปของคุณพ่อเพื่อน บางงานเป็นความสูญเสียของครอบครัวคนรู้จักแต่งานที่ทำให้ผมสลดใจมากสุดคือ งานศพของเพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัยคนหนึ่งเขาจากไปอย่างกะทันหัน ทิ้งภรรยาและลูกน้อยวัยสองขวบเศษให้อยู่สู้โลกเพียงสองคน

ในงานศพคืนนั้น “น้องแดง”คู่ชีวิตของเพื่อนผู้ล่วงลับเล่าให้ฟังทั้งน้ำตาว่า“...หนูแทบไม่เชื่อหูตัวเองเลยตอนรับโทรศัพท์แจ้งข่าวว่าพี่เขาเสียจากอุบัติเหตุมันเกิดขึ้นเร็วมาก..” เธอหยุดสะอื้นไห้ก่อนพูดต่อ “ ตอนเช้าพี่เขาเพิ่งขับรถออกจากบ้านบอกว่าไปทำธุระแถวนครปฐม เย็นๆจะกลับมาพาหนูกับลูกไปทานข้าวนอกบ้าน แต่พี่เขาไปแล้วไม่กลับมาอีกเลย...”

เมื่อพวกเรา ซึ่งเป็นเพื่อนผู้ตายถามถึงลูกสาวตัวน้อยของเธอ“น้องแดง”ตอบว่า“...หนูไม่รู้จะทำอะไรต่อไปดี มันมึนงงไปหมด มันช็อกมาก ตอนแรกหนูตั้งใจพาลูกมาวัดเหมือนกันอยากให้ลูกได้ลาพ่อเป็นครั้งสุดท้าย แต่ผู้หลักผู้ใหญ่เขาห้ามไว้ บอกไม่ให้พาเด็กมางานศพ...”

นั่นเป็นเหตุค้างคาใจผมอยู่นาน

ระหว่างสวดพระอภิธรรมศพผมอดครุ่นคิดในประเด็นเหล่านี้ไม่ได้ว่า “ควรให้เด็กซึ่งเป็นลูกหรือหลานของผู้เสียชีวิตมาร่วมงานศพหรือไม่...”

เมื่อลองย้อนมองตนเองว่า สมัยเด็กเคยไปร่วมงานศพบุคคลในครอบครัวไหมอืม...ผมจำได้แต่เพียงว่าไปร่วมงานศพตอนคุณตาหรือที่ผมเรียกว่า “อากง” เสีย ช่วงนั้นผมอายุได้สัก9-10ขวบแล้ว ความผูกพันกับ”อากง” ผู้เลี้ยงดูใกล้ชิด สนิทสนมทำให้ผมร้องไห้โฮเมื่อทราบข่าวการจากไปของท่าน ซึมเศร้าไปชั่วระยะเวลาหนึ่งก่อนจะสนุกสนานร่าเริงไปตามวัย

แต่เหตุการณ์ก่อนหน้านั้น สมัย“คุณปู่”เสีย ผมจำอะไรไม่ได้เลยแม้มีภาพถ่ายเป็นหลักฐานยืนยันว่าผมไปร่วมในพิธีฝังศพด้วยก็ตาม อาจเป็นเพราะตอนนั้นผมยังเล็กอายุเพียง2-3ขวบ

คืนนั้น กลับจากงานศพผมรีบค้นข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็กเพราะอยากรู้ว่าในเชิงจิตวิทยาเด็กแล้ว สมควรพาเด็กไปร่วมพิธีศพบุคคลในครอบครัวหรือไม่

ผมพบว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาร่วมของพ่อแม่ผู้ปกครองทั่วโลกแต่การตัดสินใจสุดท้ายมักอิงกับวัฒนธรรมของแต่ละสังคมบางวัฒนธรรมเด็กเป็นส่วนหนึ่งของพิธีสำคัญเช่นนี้แต่บางวัฒนธรรมจะกันเด็กไม่ให้มายุ่งเกี่ยว หรือรับรู้ความเศร้าสลดของครอบครัว

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ประเด็นนี้ไม่สามารถชี้ชัด“ฟันธง” ลงไปว่าอย่างไหมเหมาะสม ถูกต้องกว่ากัน

อย่างไรก็ตามนักจิตวิทยาเด็กจำนวนมาก มีความเห็นสอดคล้องกันว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบส่วนใหญ่ไม่ค่อยเข้าใจถึงความหมายของคำว่า “ตาย” อย่างถ่องแท้เด็กเล็กๆเหล่านี้มักคิดว่าการ”ตาย”คือ “การไม่อยู่ร่วมกับเขา” หรือหมายถึง “การเดินทางไปที่ไหนสักแห่ง”

ดังนั้นคำแนะนำของนักจิตวิทยาคือบอกเด็กเล็กเพียงแค่ว่า บุคคลในครอบครัวคนนั้นๆจากเราไปแล้ว ถ้าเด็กซักว่า “ไปที่ไหน”เราอาจตอบว่า “...ไปดินแดนไกลแสนไกล บนสวรรค์ชั้นฟ้าโน่นไง” หากเด็กถามอีกว่า“แล้วขึ้นเครื่องบินไปหาได้ไหม” เราคงตอบได้เพียงว่า “ดินแดนนี้ไกลกว่าเครื่องบินจะไปถึงแต่ไม่ต้องห่วง วันหนึ่งเราทุกคนก็ต้องไปยังดินแดนแห่งนั้น”

สำหรับเด็กโตนักจิตวิทยาแนะนำว่าควรอธิบายให้พวกเขารับรู้ว่า “ความตาย” เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

“ความตาย” เกิดขึ้นกับทุกคน เกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้และความตายไม่ได้เรียงลำดับด้วยว่า คนอายุมากกว่าต้องตายก่อนคนอายุน้อย

สำคัญคือเราจะเตรียมตัว“ก่อนตาย” อย่างไรต่างหาก นั่นหมายถึง เราจะใช้เวลาในช่วงมีชีวิตให้เป็นประโยชน์ต่อครอบครัวต่อสังคมให้เต็มที่ได้อย่างไร

นั่นคือการอยู่อย่างไม่ประมาท

แต่การอธิบายถึงเรื่อง ”ความตาย” กับลูกหลานตัวน้อยต้องค่อยเป็นค่อยไปนะครับต้องดูด้วยว่าเด็กสามารถรับรู้เรื่องราวเหล่านี้ได้มากน้อยแค่ไหน

ไม่ใช่ไปพูดตอกย้ำจนทำให้เด็กวิตกกังวลประเภทตั้งคำถามซ้ำไป ซ้ำมาว่า “...ลองคิดดูสิ ถ้าตอนนี้พ่อกับแม่ตายไปลูกจะอยู่คนเดียวได้อย่างไร..” นั่นเกินไปครับ ดีไม่ดี คืนนั้นลูกอาจนอนร้องไห้ฝันร้าย จิตตก เพราะกลัวพ่อแม่ชิงตายหนีจากเขาไปก่อน

เอาละครับ...ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองตัดสินพาเด็กโตไปร่วมพิธีศพบุคคลในครอบครัวสิ่งหนึ่งที่นักจิตวิทยาเตือนคือการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของเด็กด้วยเพราะบางครั้งเด็กอาจเสียใจมากกับการสูญเสีย ผู้ใหญ่ไม่ควรปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพังควรอยู่ใกล้เด็กโดยเฉพาะช่วงพิธีฝังหรือเผาศพเพราะเป็นช่วงแห่งความสะเทือนใจยิ่งนัก

นอกจากนั้นในช่วงพิธีศพต้องอย่าลืมว่าเด็กอาจอยู่ไม่นิ่ง โดยเฉพาะเด็กเล็กอาจวิ่งซุกซนไปมา จึงควรมีผู้ใหญ่ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดมิเช่นนั้นเด็กอาจพลัดหลง หรืออาจถูกล่อลวง หรือได้รับอันตราย จากสัตว์ร้ายในบริเวณใกล้เคียง

ผมเคยอ่านข่าวเจอกรณีเด็กไปงานศพที่วัดแห่งหนึ่งกับพ่อแม่ระหว่างพระสวด เด็กหลบไปวิ่งเล่นแถวลานวัด ปรากฏว่าโชคร้ายเจอคนหลอกลวงไปฆ่าข่มขืน

เราคงไม่อยากเห็นข่าวร้ายทำนองนี้เกิดซ้ำในงานศพอีกดังนั้นถ้าพาเด็กเล็กไปร่วมพิธีศพ นอกจากจะมีผู้ดูแลใกล้ชิดแล้วยังควรมีของเล่นหรือหากิจกรรมให้เด็กได้เพลิดเพลินด้วย

บทเรียนจากงานศพเพื่อนในคืนนั้นทำให้ผมหวงแหนการใช้เวลาอยู่ร่วมกับครอบครัวมากขึ้น ทุกนาที ทุกชั่วโมงที่อยู่ร่วมกับภรรยาและลูกมีคุณค่ามากขึ้น

ผมกอด หอมและบอกรักลูกเมียบ่อยมากขึ้น เพราะผมไม่รู้ว่า

“เมื่อไหร่เราจะจากกันไปสู่ดินแดนอันแสนไกล”

.......................................................................................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Mother & Care ฉบับที่ 82 เดือน ตุลาคม 2554




Create Date : 26 มีนาคม 2557
Last Update : 26 มีนาคม 2557 9:43:07 น. 1 comments
Counter : 2845 Pageviews.

 
ผมว่าน่าจะ พาเด็ก ๆ ไปได้นะครับ เพียงแต่บอก
เด็กว่า ไปไกลโพ้นไม่กลับมาหาเราแล้ว

เด็ก ๆ จะได้เห็นเป็นเรื่องธรรมดาของการ เจ็บ แก่
ตาย


โดย: ไวน์กับสายน้ำ วันที่: 26 มีนาคม 2557 เวลา:15:06:10 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

สายน้ำกับสายเมฆ
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Locations of visitors to this page

Tracked by Histats.com
Friends' blogs
[Add สายน้ำกับสายเมฆ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.