“วิธีที่ดีที่สุดในการทำนายอนาคตก็คือ การสร้างมันขึ้นมา”

<<
กรกฏาคม 2557
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
2 กรกฏาคม 2557
 

ตำนานเทพกรีก ตอนที่ 13 - 14

ตำนานเทพกรีก : ตอนที่ 13 ตำนานพฤกษชาติเกี่ยวกับเทพอพอลโล



ในบรรดาเรื่องที่เกี่ยวกับเทพอพอลโลโดยตรงมีตำนานพฤกษชาติที่น่ารู้รวมอยู่ ด้วย 2-3 เรื่อง เรื่องหนึ่งได้แก่ ตำนาน ต้นชัยพฤกษ์ ซึ่งชาวกรีกถือว่าเป็นต้นไม้คู่บารมีของสุริยเทพทีเดียว เรื่องหนึ่งคือตำนานของต้นไม้น้ำ ที่เราเรียกว่า ผักตบ กับตำนานต้นสนป่า และอีกเรื่องหนึ่งเป็น ตำนานต้นทานตะวัน


ตำนานต้นชัยพฤกษ์นั้น อยู่ในเรื่องเกี่ยวกับนาง แดฟนี (Daphne) ซึ่งเป็นนางอัปสรรูปงาม ธิดาของ พีนูส (Peneus) เทพประจำแม่น้ำ


ตามเรื่องเล่าว่า อพอลโลได้พบนางในกลางป่า ให้บังเกิดความพิสมัย จึงเยื้องกราย เข้าหาหมายจะแทะโลม แต่ไม่ทันถึงนางก็วิ่งหนีไปเสียแล้ว ฝ่ายอพอลโลอารามที่ลืมไม่ว่าอะไรอื่นทั้งสิ้นจึงวิ่งตาม วิ่งพลางร้องเรียกให้นางแดฟนีหยุดแม้ชั่วขณะหนึ่งเท่านั้นก็ตามที เธอสัญญาว่าจะไม่ทำอันตรายเลย นางอัปสรไม่ยอมฟังคำสัญญาหรือวิงวอน ตั้งหน้าแต่รุดหนีอย่างเดียว ฝ่ายอพอลโลก็วิ่งกวด ตามไปโดยไม่ลดละ จนนางแดฟนีเริ่มอ่อนกำลังและตระหนักว่าฝ่ายไล่กำลังรุกกระชั้นเข้าไปทุกที นางจึงวิ่งหนีกระหืดกระหอบอกสั่นลงยังริมฝั่งแม่น้ำของบิดา ขอให้แปลงร่างนางเสีย หรือบันดาลให้นางจมลงไปในปฐพี ยังมิทันที่นางจะถึงริมฝั่งน้ำดี นางก็รู้สึกเหมือนหนึ่งตัวเองถูกตรึงติดกับพื้น เท้าหยั่งลงในดินเป็นราก ผมและมือก็งอกออกเป็นใบ ส่วนเครื่องคลุมกายกลายเป็นเปลือกไม้ ปกคลุมร่างอันสั่นเทาของนางไป บิดาของนางตอบสนองการที่นางร้องให้ช่วยแล้ว โดยเปลี่ยนนางเป็นต้นชัยพฤกษ์อยู่ ณ ที่นั้น






ฝ่ายอพอลโลตามมาทันไม่เห็นนาง เห็นแต่ต้นไม้ ครั้งแรกเธอไม่รู้สึกเลยว่า สาวเจ้าลับจากเธอไปแล้ว โดยไม่มีวันจะได้พบอีก 





แต่เมื่อความจริงเป็นที่ปรากฏดังนั้น เธอจึงมีเทพบรรหารว่า นับแต่บัดนี้ต้นชัยพฤกษ์ จงเป็นต้นไม้ที่โปรดปรานของเธอ อันคนหลายคนพึงเด็ดช่อใบร้อยพวงมาลา เป็นรางวัลแก่กวีและนักดนตรีสืบไป




เรื่องอพอลโลกับนางแดฟนีนี้ นอกจากจะแสดงตำนานของต้นชัยพฤกษ์แล้ว ยังเป็นนิทาน อุปมาถึงปรากฏการณ์ของธรรมชาติ ที่เกิดเป็นประจำวันเกี่ยวกับดวงอาทิตย์ (อพอลโล) และน้ำค้าง (แดฟนี) อีกโสดหนึ่งด้วย กล่าวคือยามดวงอาทิตย์ทอแสงลงมาเยี่ยมโลกเมื่อรุ่งอรุณ น้ำค้างที่ยังเหลืออยู่ตามใบไม้ใบหญ้า และตามพื้นดินก็หายไปดุจดังนางแดฟนีหนีลับจากอพอลโล ตามท้องเรื่องที่เล่ามาแล้วฉะนั้น


ต่อไปนี้จะเล่าตำนานผักตบและต้นสนป่า ตามท้องเรื่องที่เล่าสืบๆ มา ในเทพปกรณัมของกรีกว่า อพอลโล มีมนุษย์เป็นเพื่อนที่สนิทเสน่หาอย่างยิ่งคนหนึ่งชื่อว่า ไฮยาซินทัส (Hyacinthus) และมานพนี้ก็เป็นเพื่อนกับ เซฟไฟรัส (Zephyrus) เทพประจำลมตะวันตกด้วย




เซฟไฟรัสมีความริษยาสุริยเทพ และเคืองแค้นไฮยาซินทัส ในการที่สนิทสุริยเทพยิ่งกว่าตน วันหนึ่งอพอลโลกับไฮยาซินทัสเล่นทอยห่วงเหล็กกัน เซฟไฟรัสผ่านมาพบเข้า จึงคิดแกล้งให้อพอลโลโทมนัสโดยทำให้ไฮยาซินทัสตายเสีย เซฟไฟรัสก็แกล้งเป่าเหล็กของอพอลโลโดยแรงให้ถูกคู่เล่นล้มลง ฝ่ายอพอลโลเห็นเหตุ นั้นจึงกระทำปฐมพยาบาลห้ามเลือดซึ่งไหลออกจากแผลไฮยาซินทัส แต่เลือดก็หาหยุดไหลไม่ ไฮยาซินทัสทนพิษบาดแผลไม่ได้ จึงสิ้นใจลงในขณะนั้นเอง อพอลโลโทมนัสในการตายของปิยมิตรยิ่งนัก และเพื่อให้เป็นเครื่องระลึกถึงปิยมิตรผู้ตายเธอจึงบันดาลให้เลือดของไฮยาซินทัสที่ตกกองอยู่นั้นเป็นกอดอกไม้ เรียกว่า ไฮยาซิน (ผักตบ) ตามชื่อเจ้าของเลือดตั้งแต่นั้นมา




ภายหลังมรณะกรรมของไฮยาซินทัส อพอลโลหันไปคบมนุษย์เป็นเพื่อนอีกคนหนึ่งเพื่อให้หายโศก มานพนี้เป็นพรานหนุ่มที่เฉลียวฉลาด มีชื่อว่า ไซพาริสสัส (Cyparissus) แต่รายนี้ก็อีก เป็นมิตรภาพที่มีอันต้องสิ้นสุดลงด้วยความเศร้าโศก เป็นข้อยืนยันว่าอพอลโลมีความอาภัพในมิตรภาพ กล่าวคือ ไซพาริสสัส บังเอิญฆ่าลูกกวางที่อพอลโลเลี้ยงไว้ ให้เสียใจนัก ไม่เป็นอันกินอันนอนจนซูบผอมลงไปทุกที และในที่สุดก็ตายด้วยความตรอมใจ อพอลโลจึงประสาทให้ร่างอันปราศจากชีวิตของ ไซพาริสสัสกลายเป็นต้นสนป่า และบรรหารว่าสืบแต่นั้นให้ต้นสนป่าจงเป็นต้นไม้สำหรับความร่มรื่นให้เกิดแก่หลุมศพของคนผู้เป็นที่รักของญาติมิตรต่อไป




หน้าที่สำคัญที่อพอลโลปฏิบัติอยู่เป็นประจำวันนั้นได้แก่ การขับรถพระอาทิตย์ ขึ้นจากฟากมหาสมุทรเมื่อรุ่งอรุณโคจรไปตามสุริยวิถี ผ่านฟากฟ้าโดยไม่หยุดพักเลย จนถึงเรือทองที่จะจอดคอยเธอในทิศตะวันตก เมื่อสิ้นวันแล้วอพอลโลจึงลงเรือกลับคืนตำหนักสู่วังที่ประทับในทิศตะวันออก รอวันใหม่วนเวียนอยู่ดังนี้ทุกวันเป็นเนืองนิตย์




ยังมีนางอัปสรประจำน่านน้ำ ธิดาของโอเชียนัสกับนางเทวีทีธิส ชื่อว่า ไคลที (Clytie)




นางหลงใหลใฝ่ฝันในเทพอพอลโลอยู่ คอยเฝ้าดูการโคจรประจำวันของสุริยเทพทุกวัน แต่อพอลโลจะไยดีกับนางก็หาไม่ ถึงกระนั้นนางก็เฝ้าดูเธอทุกวัน นับตั้งแต่วาระเมื่อเธอทรงรถออกจากวังยามเช้าไปจนกระทั่งเธอโคจรถึงทะเลฟากตะวันตก โดยผินหน้าตามไปมิให้อพอลโลคลาดจากสายตา หวังว่าสักวันหนึ่งอพอลโลคงจะบังเกิดความปฏิพัทธ์เสน่หานางบ้าง นางไคลทีสู้ทนเฝ้าคอยอยู่ดังนั้นเป็นเวลานานไม่ยอมละสาย ตาจากอพอลโลไปมองดูอื่น ในที่สุดเทพทั้งปวงมีความสงสาร จึงเปลี่ยนนางเป็นต้นทานตะวันชูดอกผินตามดวงอาทิตย์ตั้งแต่เช้าจนเย็นเป็นประจำมาจนตราบเท่าทุกวันนี้










Create Date : 02 กรกฎาคม 2557
Last Update : 2 กรกฎาคม 2557 20:28:33 น. 2 comments
Counter : 1981 Pageviews.  
 
 
 
 



 
 

โดย: เดี๋ยวคืนนี้ลั๊นลาจะไปเข้าฝัน วันที่: 2 กรกฎาคม 2557 เวลา:20:33:21 น.  

 
 
 
ตำนานเทพกรีก : ตอนที่ 14 บริวารของอพอลโล


อพอลโลมีบริวารที่ควรกล่าวถึงอยู่เหล่าหนึ่ง ได้แก่ คณะศิลปวิทยาเทวี ซึ่งภาษาอังกฤษ เรียกว่า The Muses เป็นเทวีประจำศิลปวิทยาการต่าง ๆ เกิดแต่ซูสเทพบดีกับนางนีโมซินี (Mnemosyne เทวีครองความจำ ) มี 9 องค์ มีชื่อและวิชาการเกี่ยวข้องดังนี้
ไคลโอ (Clio) ประจำประวัติศาสตร์

ยูเรเนีย (Urania) ดาราศาสตร์

เมลโพมีนี (Melpomene) เรื่องโศก (tragedy)

ธะไลอะ (Thalia) เรื่องสรวล (comedy)

เทิร์ปซิโครี (Terpsichore) การฟ้อนรำ

คัลลิโอพี (Colliope) บทกวีเรื่อง

เออระโต (Erato) บทกวีรัก

ยูเทอร์พี (Euterpe) บทกวีร้อง

โพลิฮิมเนีย (Polyhymnis) บทกวีร่ายอาศิรพจน์


แต่บริวารที่ใกล้ชิดเธอที่สุด คือ อีออส (Eos) หรือ ออโรรา (Aurora) เป็นเทวีครองแสงเงินแสงทอง หรืออุษาเทวี ทำหน้าที่เปิดทวารมุกดา ยามอรุณรุ่งให้รถอพอลโลออก โคจร และพร้อมกันนั้นก็ไขแสงเงินแสงทอง เป็นสัญญาณเบิกทางโคจรของอพอลโลขึ้นด้วย

 
 

โดย: เดี๋ยวคืนนี้ลั๊นลาจะไปเข้าฝัน วันที่: 2 กรกฎาคม 2557 เวลา:23:29:14 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

เดี๋ยวคืนนี้ลั๊นลาจะไปเข้าฝัน
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 29 คน [?]





[Add เดี๋ยวคืนนี้ลั๊นลาจะไปเข้าฝัน's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com