กันยายน 2557

 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
11
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
25
26
27
28
30
 
 
All Blog
ก้าวที่แปด ของบทเรียนค่ายอาสาฯ ความท้าทายที่ต้องสานต่อ
ก้าวที่แปด ของบทเรียนค่ายอาสาฯ

ความท้าทายที่ต้องสานต่อ

ความสนุกสนานจากประสบการณ์จริงนอกห้องเรียนคือทุนเดิม แต่ที่เพิ่มเติมสำหรับ “เด็กค่าย” อย่างพวกเขาคือกิจกรรมที่ทำย่อมต้องหวังผลได้ เหตุนี้เป้าหมายทั้ตั้งไว้จึงเป็นความท้าทายของนักกิจกรรมเยาวชนค่ายอาสาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต (ค่ายสร้างสุข)

ตลอดเวลา8ปี ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำหลักสูตรร่วมกับมูลนิธิโกมลคีมทอง ได้ก่อให้เกิดการทำค่ายที่ไม่มีเหมือนใคร ค่าที่ว่าหลักสูตรค่ายอาสาฯ ไม่ใช่แค่ตัวแทนการอุปการะช่วยเหลือชุมชนเพียงอย่างเดียว หากตัวเยาวชนเองต้องลงพื้นที่ฝังตัว เก็บข้อมูลร่วมกับชุมชน เรียนรู้ข้อเท็จจริง

พร้อมไปกับการมองโจทย์ให้ออกว่าสิ่งที่ชุมชนต้องการนั้นคืออะไร มีกระบวนการใดบ้างที่ต้องพัฒนาหนุนเสริมเพื่อแสวงหาทางออกที่ดีขึ้นกว่าเดิม

ในเวทีสรุปบทเรียน 8 ปีค่ายอาสาเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ณ ศูนย์ การเรียนรู้สุขภาวะ ไม่ต่างอะไรจากการรวมตัวคนค่ายฯ เหตุเพราะบรรดาสมาชิกศิษย์เก่าและใหม่ของค่ายอาสาฯ กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง ทำเอาพื้นที่ของการแสดงงานตลอดจนเวทีแห่งการสรุปบทเรียนจึงคึกคักและสดใสไปกับพลังของคนหนุ่มสาว

“งานวันนี้ เราอยากจัดงานนี้เพื่อจะบอกว่าที่ผ่านมาเราทำอะไรกันมาบ้าง อยากเอาสิ่งที่พวกเราทำมาบอกแหล่งที่สนับสนุนพวกเราว่าไปทำอะไรกัน ให้คนที่นี่ได้รับรู้ อย่างที่เห็นในวีดีโอ จะมีเรื่องราว ที่น้องๆ ได้สื่อสารกับชุมชน การรณรงค์และการพัฒนาโครงการให้ดีขึ้น เวทีนี้เป็นเวทีสุดท้ายนำเสนอบทเรียนหลังจากมีหลักสูตรค่ายอาสาฯมา8ปี” พนิดา บุญเทพ ผู้จัดการโครงการค่ายอาสาฯ กล่าวตอนหนึ่งในช่วงเปิดวงสนทนา

สังเกตได้ว่า ความพิเศษของการนำเสนอผลงานค่ายในปีที่ 8 นี้ เยาวชนได้ให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่าย เกิดกลุ่มพลังเด็กค่ายให้เข้มแข็ง หลอมรวมเครือข่ายเยาวชนจิตอาสารุ่นใหม่ใน 4 ภาคได้แก่ เหนือ ใต้ กลาง ตะวันออกเฉียงเหนือทดแทนบุคลากรเดิมที่ผันตัวไปตามกาลเวลา

ส่วนความแหลมคมในเชิงเนื้อหา นอกจากประเด็นเรื่องการศึกษา สิ่งแวดล้อม จิตอาสา สุขภาพแล้ว ซึ่งเป็นประเด็นยอดนิยมที่ถูกขับเคลื่อนแล้ว เรื่องที่เยาวชนให้ความสนใจมากในปีนี้คือเรื่องสิทธิมนุษยชนในแง่มุมต่างๆ ทั้งในระดับประเทศอย่างสิทธิมนุษยชนที่มีผลจากความรุนแรง จากเหตุความมาสงบในภาคใต้ หรือในเชิงสังคมชุมชน อาทิ สิทธิชุมชน ที่ดินทำกิน เป็นต้น

“เนื้อหาที่สะท้อนออกมาแสดงให้เห็นว่าเยาวชนให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนที่พวกเขาพึงได้รับ ในหลายระดับตามแต่ลักษณะของเรื่องที่เขาไปศึกษา นั่นยังหมายถึงว่าพวกเขาสนใจเรื่องประโยชน์สาธารณะมากกว่าเรื่องของตัวเอง” พนิดา กล่าวเสริม

มากกว่าเนื้อหาค่ายคมคาย มุมมองของคนทำงานในช่วงที่ผ่านมาก็น่าสนใจไม่แพ้กัน โดยส่วนหนึ่งของความคิดเห็นถูกสะท้อนผ่านเวทีพูดคุยในหัวข้อ “ค่ายอาสา บทเรียนง่ายๆ แต่ได้พลัง” ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน

เช่นตอนหนึ่งของบทเรียนจาก “อ๋อง-ธนาวัน เพลินทรัพย์” สมาชิกค่ายอาสาภายใต้ชื่อ Green ranger สะท้อนงานด้านสุขภาพว่า งานค่ายฯ ของเขาและเพื่อนคือการลงมือทำจริง ไม่รีรอ เหตุเพราะหากจะรอให้มีงบประมาณหรือมีการขยับในเชิงนโยบายย่อมล่าช้า และความสำเร็จทุกอย่างย่อมเริ่มที่จุดเล็กๆเสมอ เหตุนี้ค่ายของเขาและสมาชิกที่ทำเรื่องสุขภาพ จึงเริ่มจากเรื่องเล็กๆ อย่างการปลูกผักอินทรีย์ ซึ่งครอบคลุมทั้งเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ชุมชน รวมไปถึงเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว

“สิ่งที่เราทำมันเกี่ยวข้องกับทุกส่วน เป็นเรื่องที่ทุกคนเริ่มทำได้ในจุดเล็กๆอย่างไม่มีเงื่อนไข เช่น แค่เรื่องผักอินทรีย์มันเกี่ยวข้องไปได้ทุกส่วน เกิดความเปลี่ยนแปลงในทุกระดับ”อ๋องสรุป

ขณะที่ในมุมมองของ “อาร์ม ศราวุฒิ เรือนคง” ค่ายชมรมประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่หยิบประเด็นเรื่องสิทธิในรั้วมหาวิทยาลัยมานำเสนอ โดยเขาเริ่มจากเรื่องการรับน้องว่าเป็นสิทธิของนักศึกษาที่จะเลือกเข้าร่วมในระดับที่ตัวเองยินยอม และในมหาวิทยาลัยควรมีกลไกที่รับเรื่องร้องเรียนของความไม่เป็นธรรม ค่ายของเขาจึงเปิดโอกาสให้ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ หรือผู้สนใจ พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน นำมาสู่กลไกที่จะเป็นตัวกลางประสานงานเรื่องการรับน้องภายในอนาคต

“กระบวนการที่ นักศึกเป็นผู้กระทำเรื่องการใช้อำนาจของระบบเชียร์ เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ เราจะศึกษาเรื่องนี้พยายามที่จะรณรงค์ให้ยกเลิกกับสิ่งที่เราคิดว่าควรจะยกเลิก กระบวนการ เราไม่ได้พูดถึงการยกเลิกแต่มองถึงความพอดี ความเหมาะสม ซึ่งแต่ล่ะคนมีระดับต่างกัน ในอนาคตอยากให้มีกลไก หรือผู้ที่รับเรื่องร้องเรียนเหล่านี้ในรั้วมหาวิทยาลัย”อาร์มกล่าว

ปิดท้ายด้วย “กี้-นราทิพย์ นาถาดทอง” ซึ่งขับเคลื่อนค่ายเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ที่กล่าวสรุปบทเรียนว่า ความท้าทายของเธอและเพื่อนคือต้องการให้เรื่องของ “อาหาร”ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดของมนุษย์กลับมามีความสำคัญขึ้น

“ทุกวันนี้ เรามีอำนาจที่จะตัดสินชีวิตของตัวเองได้ เรากำหนดได้ว่าอยากทำอะไร วันนี้เราอยากมาทำกิจกรรมค่าย เรากำหนดได้แต่กับเรื่องที่เป็นพื้นฐานของเรา แต่คุณกลับมั่นใจได้หรือไม่ว่า อาหารที่คุณกินมีคุณภาพ หรือมีที่มาเป็นไปตามระบบอย่างที่ควรจะเป็น”

ทั้งนี้ความท้าทายของเธอ จึงพุ่งเป้าไปที่ห่วงโซ่อาหาร ไล่ตั้งแต่ตัวเกษตรกร กระบวนการผลิต จนถึงขั้นตอนการส่งถึงมือผู้บริโภค บนเป้าหมายที่ทำให้ทุกคนในสังคมเห็นว่าภายใต้อาหารที่รับประทานกันอยู่ทุกวันมีเบื้องหลังที่ถูกซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่ผูกขาดธุรกิจ คุณภาพระหว่างการผลิต การตลาดโฆษณาที่บรรยายสรรพคุณเกินจริง

“ประชาชนต้องเท่าทันความเป็นจริง” วงเสวนาเห็นพ้องตามนั้น ซึ่งทั้งนี้ “ความเท่าทัน” ยังหมายความไปถึงทุกๆค่าย ทุกๆความจริงที่เป็นอยู่ และยังคงดำเนินต่อไป

ความท้าทายที่พวกเขาเผชิญมันไม่ง่าย

เป็นเป้าหมายที่ถูกขับเคลื่อนมาตลอด 8 ปี และต้องลงมือทำต่อไป




Create Date : 12 กันยายน 2557
Last Update : 12 กันยายน 2557 14:25:46 น.
Counter : 815 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

กระจายสุข
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]