ตุลาคม 2557

 
 
 
1
2
3
4
5
6
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 
 
All Blog
เสียงดนตรีที่เชียงคาน เรื่องเล่าสะท้อนสังคม จากคนหนุ่มสาว
เสียงดนตรีที่เชียงคาน

เรื่องเล่าสะท้อนสังคม จากคนหนุ่มสาว

“แร่ที่นี้มันเยอะ เอาไปเถอะฉันไม่สนใจ แค่อยากรู้ว่าทำไมเอาธรรมชาติฉันไปด้วย ทองที่นี้มันเยอะ เอาไปเถอะฉันไม่สนใจ แค่อยากรู้ว่าทำไมเอาท้องนาชาวนาไปด้วย” ถ้าเทียบกับเพลงคุ้นหูซึ่งถูกเล่นไม่กี่นาทีก่อนหน้า เนื้อร้องท่อนข้างต้นจากเพลง “เปลี่ยนไป…เลย” คงเป็นทำนองดนตรีที่ฟังดูแปลกสำหรับผู้คนที่ อ.เชียงคาน จ.เลย


วันนั้น…เวทีดนตรี “บทเพลงบรรเลงธรรมชาติ” เมื่อวันที่21กันยายนที่ผ่านมา อาจเป็นการแสดงธรรมดา ธรรมดาที่ถูก “วาง” เรียกความสนใจ ให้กับแหล่งท่องเที่ยวซึ่งคับคั่งไปด้วยนักท่องเที่ยวจากหลายเชื้อชาติ แต่ใครจะรู้ว่าเสียงดนตรีที่คนหนุ่มสาวบรรจงขับกล่อมในมีเบื้องหลังที่น่าสนใจแบบน่าคิดตาม

นอกจากเพลงเพื่อชีวิตคุ้นหูจังหวะสนุก หากตั้งใจฟังจะพบเพลงที่ถูกแต่งขึ้นใหม่ โดยที่เพลงเหล่านั้นมี“สาระ” ที่ว่าด้วยความเปลี่ยนไปของบริบท จ.เลย ยิ่งเฉพาะชุมชนใกล้กับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ที่พวกเขาลงไปคลุกคลี ทำความเข้าใจมาก่อนจะถอดเป็นความในเนื้อเพลงที่ว่า “เมื่อก่อนมันเป็นแบบนี้ ที่นี่มีแต่พึ่งพากัน ธรรมชาติรังสรรค์ต้นไม้แม่น้ำลำธาร รายล้อมธรรมชาติ ใสสะอาดบริสุทธิ์ ฉันอยู่อย่างสบสุขแต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป”


“พิชิต ชัยสิทธิ์ (ไนท์)” สมาชิกกลุ่มดาวดิน นักศึกษาชั้นปีที่4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บอกว่า เพลงที่ถูกแต่งขึ้นใหม่เหล่านี้ เกิดขึ้นหลังจากที่พวกเขาลงไปทำกิจกรรม “ดนตรีเพื่อการเรียนรู้”หรือ “พลังเพลง พลังปัญญา” ซึ่งกลุ่ม Triple H music และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุน

“พวกเราแต่งขึ้นภายหลังไปทำความเข้าใจกับชุมชนหนึ่งซึ่งใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ใน จ.เลย เป็นเพลงที่สะท้อนความรู้สึกของคนในชุมชนที่ไม่เคยปฏิเสธถึงการจ้างงาน ไม่ปฏิเสธถึงความเจริญรุ่งเรืองที่มาพร้อมอุตสาหกรรม หากแต่ตั้งคำถามถึงเส้นแบ่งความพอดี ระหว่างการทำอุตสาหกรรมกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งนั้นเป็นคำถามที่ว่าสิ่งเหล่านี้เปลี่ยนวิถีชีวิต เปลี่ยนความเป็นอยู่กับบ้านเกิดเมืองนอนของคนอีกหลายชีวิตอย่างสิ้นเชิงหรือไม่”

ดนตรีที่ดีควรจะบอกเล่าและสะท้อนความเป็นจริงของยุคสมัย เหตุนี้พวกเขาวง Katniss flower จึงถูกเติมเต็มหลังจากร่วมกิจกรรมนี้ และพร้อมจะเดินต่อไปบนถนนดนตรีกระแสรอง…ดนตรีที่มากกว่าเรื่องของอารมณ์ความรัก “เราตั้งคำถาม สะท้อนเรื่องราวในมุมของเรา ส่วนใครจะเห็นด้วยอย่างไรเราก็พร้อมเปิดกว้าง เราทำหน้าที่ของเรา นั่นคือการใช้ศิลปะดนตรีเพื่อสื่อสารให้กับคนในชุมชน สื่อสารไปถึงบุคคลภายนอก และผมเห็นว่าดนตรีคือเครื่องมือสื่อสารที่ดี และนำไปใช้กับกิจกรรมพัฒนาในรูปแบบอื่นๆได้ เช่น การจัดเสวนารับฟังความคิดเห็น การทำค่ายอาสาต่างๆ”นักร้องนำวงกล่าวหลังจากเสร็จจากภารกิจบนเวที

ที่เหลือฝากด้วยครับ อย่างน้อยๆให้ชาวบ้านได้รับประโยชน์” เขากำชับกับผู้บันทึก ที่กำลังทำหน้าที่ “รายงาน” ความคิด ไม่ต่างอะไรจาก”เสียงดนตรี” ที่พวกเขาเลือกใช้มัน”สื่อสาร”ไปถึงกลุ่มคนอื่นๆก่อนหน้านี้ไม่กี่นาที “เพลงที่ดี อาจไม่ใช่เพลงที่ได้รับความนิยม” ใครสักคนเคยว่าไว้ “ทำไมต้องเป็นที่เชียงคาน” คือคำถามที่หลายคนสงสัยสำหรับการทำกิจกรรมดนตรีในครั้งนี้

“เฉื่อย” รัชพงศ์ โอชาพงศ์ ผู้จัดการโครงการ “ดนตรีเพื่อการเรียนรู้” อีกชื่อหนึ่งของ “พลังเพลง พลังปัญญา”เฉลยว่า เชียงคานคือเมืองท่องเที่ยวหนึ่งใน จ.เลย ซึ่งจังหวัดดังกล่าวคือพื้นที่หนึ่งของการทำเหมืองแร่ ในประเทศไทย ขณะเดียวกันถึงแม้ว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะไม่รู้จักสภาพปัญหาเท่าใดนัก แต่การเลือกบอกกับกลุ่มคนใหม่ๆ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยว ใน อ.เชียงคาน จ.เลย ซึ่งทีที่มาจากหลายภูมิลำเนาจะช่วยในการนำไปบอกต่อ ทำให้ประเด็นที่เคยถูกจำกัดเฉพาะชุมชนหนึ่งขยายไปไกลมากขึ้น เกิดการถกเถียงพูดคุยหาทางออกมากขึ้น ขณะเดียวกันการเยือนถิ่นเมืองเลยในครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากโครงการค่ายอาสาพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่มูลนิธิโกมลทำก่อนหน้า ประหนึ่งว่าเป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงการงานระหว่างกัน

“งานอาสากับงานเพลงมันเกี่ยวข้องกัน เพลงคือการสื่อสารอย่างหนึ่งที่นำไปใช้ได้กับทุกกิจกรรมในแต่ละเป้าหมาย อย่างการมาเชียงคานครั้งนี้ เพลงที่อาจฟังดูแปลกๆ สำหรับนักท่องเที่ยว เพราะบางคนเขาไม่รู้ว่าเราพูดถึงอะไร คนอีกกลุ่มหนึ่งอาจจะรู้และเข้าใจว่าเพลงมันบอกว่าชุมชนที่อยู่ใกล้กับพวกเขากำลังเกิดอะไรขึ้น ส่วนคนที่มาจากต่างถิ่นหรือถึงแม้เขาจะไม่รู้จัก แต่หากได้ฟังแล้วก็จะเกิดคำถาม ก่อนหาคำตอบและพูดถึงในวงกว้างขึ้น บอกกันปากต่อปาก” เฉื่อยบอก

“เพลง”ซึ่งเปรียบเสมือนผลงานที่กลุ่มนักดนตรีคนรุ่นใหม่ผลิตขึ้น เมื่อผนวกเข้ากับกลยุทธ์ที่เหมาะสม กลายเป็นเรื่องการบอกเล่ากันแบบปากต่อปาก จากเพลงที่ธรรมดาจึงมีคุณค่าขึ้น “แร่ที่นี้มันเยอะ เอาไปเถอะฉันไม่สนใจ แค่อยากรู้ว่าทำไมเอาธรรมชาติฉันไปด้วยทองที่นี้มันเยอะ เอาไปเถอะฉันไม่สนใจ แค่อยากรู้ว่าทำไมเอาท้องนาชาวนาไปด้วย” (จากเพลง “เปลี่ยนไป…เลย) เรื่องเล่าของคนหนุ่มสาว หลังเข้าไปทำความรู้จักกับ จ.เลย น่าจะสะกิดความสนใจของคนทั่วไปได้บ้าง ไม่มากก็น้อย รับฟังเพลง เปลี่ยนไป…เลย
​จากกลุ่มดาวดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ที 
https://www.youtube.com/watch?v=AxGOWsApAOI

 

 

 

 




Create Date : 07 ตุลาคม 2557
Last Update : 7 ตุลาคม 2557 15:11:26 น.
Counter : 1160 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

กระจายสุข
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]