Group Blog
 
All Blogs
 
แต่งงานกันแล้ว เปิดบัญชีร่วมกันดีไหม

สวัสดีค่ะ

คู่รักที่ตกลงแต่งงานเพื่อใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน เปลี่ยนสถานะจากแฟนมาเป็นสามีภรรยา ก็มีหลายเรื่องที่ต้องพูดคุย ตกลง หรือทำความเข้าใจกัน โดยเฉพาะเรื่องการเงิน ไม่ว่าฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงจะมีรายได้มากน้อยแค่ไหน ก็ควรตัดสินใจว่าจะจัดการกับรายได้ และค่าใช้จ่ายของครอบครัวอย่างไรดี ซึ่งหลายๆ คู่ก็เลือกที่จะจัดการเรื่องการเงินในบ้านด้วยการเปิดบัญชีร่วมกัน แต่แน่นอนว่า เมื่อเปิดบัญชีร่วมกันก็มีทั้งข้อดีข้อเสียที่คู่รัก โดยเฉพาะคู่แต่งงานใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นชีวิตคู่ด้วยกันควรรู้ไว้ ซึ่งมีอะไรบ้างนั้น K-Expert มีคำแนะนำมาฝากเพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนเรื่องการเงินของครอบครัวค่ะ

การเปิดบัญชีร่วมทำให้คู่สามีภรรยาต่างมีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของในเงินก้อนเดียวกัน เพราะเมื่อวางแผนว่าจะซื้อทรัพย์สินอะไรร่วมกัน เช่น ซื้อรถคันใหม่ของครอบครัว หรือดาวน์บ้านหลังใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น การเปิดบัญชีร่วมก็ช่วยให้รู้สึกว่า มีส่วนร่วมในทรัพย์สินชิ้นนั้นด้วยกัน หรือบางคู่อาจเปิดบัญชีร่วมเพื่อเป็นเงินกองกลางเอาไว้ใช้จ่ายร่วมกัน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งซ่อมแซมบ้าน หรือแม้กระทั่งค่าอาหารการกินในบ้าน เพราะไม่จำเป็นเสมอไปที่ฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงจะต้องเป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมถึงการมีเงินกองกลางก็ช่วยลดปัญหาจุกจิกกวนใจของทั้งคู่ได้ เช่น เวลาทานข้าวนอกบ้าน ไม่รู้ว่าใครจ่าย หรือจะแชร์กัน ก็ใช้เงินกองกลางในการใช้จ่ายได้เลย

ในการเปิดบัญชีร่วมสามีภรรยาจะเปิดเป็นบัญชีเงินฝากธนาคาร หรือบัญชีกองทุนรวมก็ได้ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการเปิดบัญชีร่วมค่ะ เช่น ต้องการเก็บเงินดาวน์บ้าน หรือเป็นเงินกองกลางเพื่อใช้จ่ายของครอบครัว อาจเหมาะกับบัญชีเงินฝาก หรือกองทุนรวมตลาดเงิน แต่ถ้าต้องการเก็บเงินเพื่อใช้จ่ายยามเกษียณของทั้งคู่ก็จะเหมาะกับกองทุนรวมหุ้น เป็นต้นค่ะ แต่ถ้าจะเปิดบัญชีกองทุนรวมร่วมกัน กองทุนรวมที่เป็นกองทุนประหยัดภาษีอย่างกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) จะไม่สามารถเปิดร่วมกันได้นะคะ

คู่สามีภรรยาที่จะเปิดบัญชีเงินฝากร่วมกัน ก็มีเงื่อนไขเล็กๆ น้อยๆ ที่ควรรู้ก่อนเปิดบัญชีค่ะ นั่นคือ ชื่อบัญชีร่วม โดยชื่อบัญชีร่วมมีทั้งหมด 4 แบบด้วยกันคือ “และ” “หรือ” “เพื่อ” “โดย” เพียงแต่ว่าแต่ละธนาคารอาจมีข้อกำหนดที่แตกต่างกันว่า คู่สามีภรรยาสามารถเปิดบัญชีเงินฝากร่วมในชื่อบัญชีแบบไหนได้บ้าง แต่โดยทั่วไปสามีภรรยาที่เปิดบัญชีเงินฝากร่วมกันมักใช้ชื่อบัญชี “และ” เช่น นายสมชายและนางสมศรี เป็นต้น

นอกจากนี้ ธนาคารอาจกำหนดเงื่อนไขการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากร่วมไว้ด้วย โดยบางธนาคารอาจกำหนดว่าจะถอนเงินจากบัญชีร่วมได้ต้องมีลายเซ็นของทั้งคู่ หรือบางธนาคารให้เลือกได้ว่ามีลายเซ็นเพียงคนใดคนหนึ่งก็สามารถถอนเงินได้ ดังนั้น ก่อนเปิดบัญชีเงินฝากร่วมสามีภรรยา ควรสอบถามรายละเอียดเงื่อนไขจากธนาคารให้ดีก่อนค่ะ

สำหรับการเปิดบัญชีกองทุนรวมร่วมกันก็จะคล้ายกับการเปิดบัญชีเงินฝากร่วมกันค่ะ โดยแต่ละธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อาจกำหนดว่าสามารถเปิดบัญชีกองทุนรวมร่วมกันในชื่อแบบไหนได้บ้าง แต่โดยทั่วไปจะกำหนดให้เปิดได้เฉพาะบัญชี “และ” เท่านั้น และกำหนดด้วยว่าบัญชีเงินฝากที่ผูกกับกองทุนรวมสำหรับรับเงินปันผลหรือเงินค่าขายคืนหน่วยลงทุนต้องเป็นชื่อบัญชีเดียวกับชื่อกองทุนรวมค่ะ เช่น ชื่อบัญชีกองทุนรวมเป็น นายสมชายและนางสมศรี ชื่อบัญชีเงินฝากที่ผูกกับกองทุนรวม ก็จะต้องเป็น นายสมชายและนางสมศรี ด้วยค่ะ

แล้วตอนที่ต้องการขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม โดยทั่วไปต้องมีลายเซ็นของทั้งสองคนในใบขายคืนหน่วยลงทุน โดยต้องไปทำการขายคืนที่ธนาคาร หรือบลจ. หรือตัวแทนขายกองทุน แต่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปสามารถไปขายกองทุนด้วยตัวเองได้ ก็สามารถมอบอำนาจให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ค่ะ

อย่างไรก็ตาม การเปิดบัญชีร่วมไม่ว่าจะเป็นบัญชีเงินฝาก หรือกองทุนรวมก็มีเรื่องที่ต้องนึกถึงคือ ถ้าเกิดคู่รักกลายเป็นคู่ร้าง จากอยู่ด้วยกันกลายเป็นแยกกันอยู่อย่างถาวร บัญชีที่เปิดร่วมกันไว้จะทำอย่างไร ถ้าตอนที่เปิดร่วมกัน แล้วใส่เงินในบัญชีคนละเท่าๆ กัน แบบนี้คงไม่มีปัญหาอะไรมากนัก เพราะสามารถแบ่งเงินในบัญชีคนละครึ่งได้เลย แต่ถ้าตอนเปิดบัญชีร่วมกัน ต่างฝ่ายต่างใส่เงินไม่เท่ากัน ก็อยู่ที่ทั้งคู่ตกลงกันว่าจะแบ่งเงินกันอย่างไร หารครึ่ง หรือแบ่งสัดส่วนคนละเท่าไร หรือถ้าฝ่ายหนึ่งซึ่งสามารถถอนเงินได้โดยไม่ต้องมีลายเซ็นของอีกฝ่ายหนึ่ง เกิดชิงถอนเงินจากบัญชีออกไปหมด ก็เป็นเหตุการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ค่ะ

อ่านมาถึงตรงนี้ บางคนอาจคิดว่า แบบนี้ต่างคนต่างมีบัญชีของตัวเองแยกกันไปดีกว่าไหม ก็ต้องบอกว่า การแยกบัญชีก็มีข้อดี เหมือนแยกกระเป๋าเงินของแต่ละคน ยิ่งถ้าใครมีภาระเยอะ เช่น มีญาติพี่น้องในอุปการะ หรือมีลูกติดที่ต้องส่งเสียเลี้ยงดู การแยกบัญชีก็ช่วยให้คู่สามีภรรยาจัดการเรื่องเงินเรื่องทองของแต่ละคนได้ง่ายกว่า แต่ก็ต้องไม่ลืมนะคะว่า เมื่อตัดสินใจมาใช้ชีวิตคู่ร่วมกันแล้ว หลายๆ คู่ก็คงอยากวางแผนการเงินร่วมกัน ซึ่งการเปิดบัญชีร่วมก็เหมือนเป็นเครื่องยืนยันการใช้ชีวิตคู่ของคนสองคนอีกแบบหนึ่งค่ะ

ที่กล่าวมาทั้งหมด น่าจะพอเป็นแนวทางให้คู่สามีภรรยาพิจารณาได้ว่าจะเปิดบัญชีร่วมกันดีไหม หรือจะแยกบัญชีกันไปเลย เพราะแต่ละแบบก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลง หรือวัตถุประสงค์ในการเปิดบัญชีของคู่รักแต่ละคู่แล้วล่ะค่ะ

------------------------------------------------------

Recommended! ตัวช่วยที่เกี่ยวข้องกับบล็อกวันนี้
>>> K-Expert Tool: โปรแกรมรับ-จ่ายอย่างง่าย <<< โหลดฟรี




Create Date : 16 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 16 กุมภาพันธ์ 2559 11:24:33 น. 0 comments
Counter : 859 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

K-Expert
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]




ข้อมูลดี ฟรี มีประโยชน์ เพื่อชีวิตดีๆ ที่มีได้ทุกคน
Friends' blogs
[Add K-Expert's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.