ตอบแบบนี้ จะได้งานไหม
“ผมจะรับใครสักคนเข้ามาทำงานให้ผม ก็ต่อเมื่อ เขาคนนั้น เป็นคนที่ผมจะทำงานให้เช่นกัน”

มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg)  ผู้บริหารสูงสุดและผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ค (Facebook) อธิบายแนวทางในการรับคนเข้าทำงานของเขาไว้อย่างน่าสนใจอหลักการที่ซัคเคอร์เบิร์กใช้ แสดงให้เห็นความจริงข้อหนึ่งที่หลายๆคนอาจมองข้ามไป นั่นคือ “เราต่างมองหาใครสักคนที่เราเองก็อยากจะร่วมงานด้วย”

และนี่เอง เป็นสาเหตุที่บริษัทต่างๆมักจะถามคุณ ด้วยคำถามที่คล้ายๆกัน 5 คำถาม เพื่อให้แน่ใจว่า เขา พร้อมจะลงเรือลำเดียวกันกับคุณ ส่วนที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับว่า คุณจะตอบคำถามเหล่านั้นอย่างไร ให้เขารู้สึกว่า คุณ คือ คนคนนั้น

ฟังแล้วดูเหมือนจะยาก แต่คุณไม่ต้องกังวลใจไปหรอก เพราะเราได้รวบรวมคำถามทั้ง 5 ข้อและแนวทางการตอบคำถามเหล่านั้นไว้ให้คุณแล้ว รับรองว่าสัมภาษณ์งานครั้งหน้า คุณผ่านฉลุยแน่นอน!

“ทำไมคุณถึงลาออกจากงานเก่า

คำถามนี้เป็นหลุมพรางสำหรับหลายๆคน เพราะคนส่วนใหญ่มักจะเผลอแสดงทัศนคติแง่ลบต่อที่ทำงานเก่า (หรือที่ทำงานปัจจุบัน)ออกไป แบบไม่ทันรู้ตัวเลยด้วยซ้ำ ที่จริงแล้ว จุดประสงค์ที่เขาถามคำถามนี้กับคุณ เพียงเพื่อต้องการตรวจสอบให้แน่ใจว่า คุณไม่ได้ลาออกเพราะเรื่องเงินเพียงเรื่องเดียว และคุณไม่ได้เป็นคนประเภทที่เข้ากับเพื่อนร่วมงานไม่ได้เลยสักนิด

ถึงแม้ว่าคุณจะถูกไล่ออก วิธีการตอบคำถามนี้ให้ดีที่สุดก็คือ พยายามคิดบวกและมองโลกในแง่ดีเข้าไว้ เพื่อแสดงให้เขาเห็นว่า คุณได้รับบทเรียนครั้งสำคัญจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

และหากเป็นไปได้ ทำให้เขาเห็นว่า การเปลี่ยนงานของคุณครั้งนี้ เป็นเพราะเหตุผลเรื่องความชอบในเนื้องาน และเป็นเรื่องเกี่ยวกับความก้าวหน้าล้วนๆ

“เล่าเรื่องเกี่ยวกับตัวเองให้ฟังหน่อย?”

ถ้าคุณได้ยินคำถามนี้ จงจำไว้เลยว่า คนสัมภาษณ์ไม่ได้ต้องการจะฟังทุกเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในชีวิตของคุณหรอก (เปลี่ยนแฟนกี่คน เปลี่ยนรถกี่คัน เปลี่ยนงานกี่ครั้งไม่ต้องเล่าทั้งหมดก็ได้) เขาแค่ต้องการจะดูว่าคุณมีวิธีการตอบคำถามที่ฟังดูเหมือนกว้างๆแต่จริงๆแล้วแคบเช่นนี้ อย่างไร คนส่วนใหญ่มักเลือกที่จะเล่าชีวิตความเป็นมาของตนเองตั้งแต่เด็กจนโต  หรือพูดเกี่ยวกับความชอบ ความไม่ชอบต่างๆของตนไปเรื่อยๆ แถมหลายคนยังอดไม่ได้ที่จะเป็นตัวของตัวเองมากเกินไป จนแอบเผยด้านมืดของตนเองออกมาซะอย่างนั้น

 จงจำไว้ว่า คุณไม่ควรเปิดเผยเรื่องส่วนตัวให้คนที่พบกันครั้งแรกฟังมากเกินไปนัก

วิธีการก็คือ ให้คุณพูดถึงข้อมูลหลักๆที่คุณใส่ลงไปในเรซูเม่ (Resume) นั่นแหละ พร้อมสรุปด้วยว่า ประสบการณ์ต่างๆที่คุณได้รับมา การใช้ชีวิตในแบบของคุณ สิ่งต่างๆที่คุณพบเจอและหล่อหลอมให้คุณเป็นคุณในทุกวันนี้ ทำให้คุณเหมาะสมกับงานนี้อย่างไรบ้าง นี่แหละคือสิ่งสำคัญที่สุดที่คนสัมภาษณ์อยากได้ยิน ส่วนรายละเอียดยิบย่อยต่างๆที่ไม่เกี่ยวข้อง ตัดทิ้งไปซะ

“คุณมีข้อเสียอะไรบ้าง?”

คำถามข้อนี้ยากตรงที่ว่าคุณจะตอบอย่างไรให้ดูจริงใจแต่ไม่เสียภาพลักษณ์

หากคุณตอบไปว่าข้อเสียของคุณคือ คุณทำงานหนักมากจนไม่มีเวลาให้กับครอบครัว (คำตอบยอดฮิตของหลายๆคน) อันนี้ก็ฟังดูไม่ฉลาดเลยสักนิด เพราะนั่นหมายความว่า คุณไม่รู้จักการลำดับความสำคัญ และจัดการชีวิตตัวเองไม่ได้ ส่วนถ้าจะตอบว่าคุณตั้งใจทุ่มเททำงานมากจนไม่สนใจโลกภายนอก ก็ไม่ได้ทำให้คุณดูเป็นคนน่าสนใจขึ้นมาเลยสักนิดเดียว

ถ้าจะให้ดี คุณควรเลือกพูดเกี่ยวกับข้อเสียเล็กๆน้อยของคุณ ที่ยังพอแก้ไขได้

คำแนะนำก็คือ ให้เลือกพูดเกี่ยวกับข้อเสียในอดีตที่คุณได้แก้ไขมันไปแล้ว (เล่าเรื่องให้น่าสนใจด้วยล่ะ ว่าคุณทำได้อย่างไร)

ยกตัวอย่างเช่น คุณมีข้อเสียคือ ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์หรือตักเตือนใครๆแบบตรงไปตรงมา คุณก็สามารถพูดได้ว่า ตอนนี้คุณค้นพบวิธีแก้ไขแล้ว คุณรู้ว่าคุณควรเริ่มต้นพูดสิ่งดีดีก่อน อาจจะชมก่อนแล้วค่อยติทีหลัง นี่เป็นตัวอย่างคำตอบที่ดี ที่ทำให้ข้อเสียของคุณฟังดูเล็กน้อย และมิหนำซ้ำคุณยังแก้ไขมันได้แล้วซะด้วย เขาคงไม่ติดใจกับข้อเสียข้อนี้ของคุณหรอก ไม่ต้องกังวล

“ตั้งเงินเดือนไว้เท่าไหร่?”

กฎ(อย่างไม่เป็นทางการ) เกี่ยวกับการพูดเรื่องเงินเดือนคือ

“ใครก็ตามเสนอตัวเลขขึ้นมาก่อน คนนั้นแพ้”

หากคุณถูกถามคำถามนี้ คุณไม่จำเป็นต้องบอกตัวเลขออกไปตรงๆหรอก คุณควรแสดงให้เขาเห็นว่า เงินไม่ใช่ทุกอย่างสำหรับคุณ แต่สิ่งที่สำคัญคือ ตำแหน่งนี้เหมาะสมกับคุณหรือไม่ ต่างหาก

คุณควรพูดในทำนองว่า  “ฉันรู้ว่าเราควรคุยกันเรื่องเงินเดือน แต่ฉันไม่ได้เลือกที่จะทำงานอะไรสักอย่างเพียงเพราะเรื่องนั้นหรอก เอาไว้ตกลงกันหลังจากที่คุณรู้ว่าฉันมีความสามารถอะไรบ้าง ส่วนฉันก็รู้ขอบข่ายของงาน และหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเองทั้งหมดแล้วจะดีกว่า”

การตอบคำถามเช่นนี้จะเป็นการแสดงให้ผู้สัมภาษณ์เห็นว่าคุณเป็นคนมีความคิดอ่านหลักแหลม คุณสนใจเรื่องเนื้อหาและความเหมาะสมของงานมากกว่าเงินเดือนที่คุณจะได้รับ คุณจะเป็นฝ่ายที่ถือไพ่เหนือกว่าทันที หากเก็บเรื่องเงินเดือนไว้ต่อรองทีหลัง คุณควรรอให้เขาแสดงท่าทีว่าต้องการจะรับคุณเข้าทำงานเสียก่อน

“เล่าเรื่องตอนนั้นที่คุณ…ให้ฟังหน่อยได้ไหม”

คำถามนี้ฟังดูธรรมดา แต่จริงๆแล้วไม่ง่ายเลยที่จะเล่าเรื่องให้ชัดเจน น่าสนใจ และที่สำคัญต้องมีสาระ

ลาซโล บ็อค (Laszlo Bock)  ประธานฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ของกูเกิล (Google) กล่าวว่า เวลาที่คุณจะเล่าเรื่องอะไร คุณควรบอกด้วยนะว่าคุณเล่าทำไม คุณต้องการจะสื่ออะไร

บ็อคกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า  เวลาที่คนส่วนใหญ่ตอบคำถามนี้มักลืมที่จะพูดถึงเหตุผลเบื้องหลังการกระทำนั้นๆของตนเอง ว่าทำไมเขา/เธอจึงคิดหรือตัดสินใจเช่นนั้น ดังนั้น ถึงแม้ว่าเรื่องที่เขา/เธอเล่าจะสนุกขนาดไหน แต่การที่พวกเขาอธิบายกระบวนการความคิดของตัวเองเลยไม่ได้เลย แบบนี้ก็ไม่มีประโยชน์อะไร

จำไว้ว่า วิธีการตอบคำถามนี้ให้ดีที่สุดคือ คุณต้องเล่าว่า คุณทำอะไร ทำเพราะอะไร คุณคิดอย่างไรถึงทำเช่นนั้น ก็คือคุณต้องเข้าใจตัวเองก่อนนั่นแหละ ต้องอธิบายความคิดของตัวเองให้ได้

คุณควรเตรียมเรื่องที่จะนำไปเล่าไว้หลายๆเรื่อง และแต่ละเรื่องควรสื่อถึงความเป็นตัวคุณในแง่มุมต่างๆที่แตกต่างกันออกไป แล้วก็อย่าลืมล่ะ ว่าคุณต้องอธิบายความคิด อธิบายการกระทำของคุณด้วยนะ ไม่ใช่สักแต่พูดไปเรื่อยๆ

ถึงเวลาเตรียมตัวแล้ว

อ่านมาถึงตรงนี้ คุณก็พอจะได้แนวทางแล้วใช่ไหมว่าควรจะตอบคำถามทั้ง 5 ข้อนั้นอย่างไรบ้าง แค่นี้คุณก็นำหน้าคู่แข่งของคุณไปได้หนึ่งก้าวแล้วล่ะ หากคุณกำลังเตรียมตัวสำหรับการสัมภาษณ์งานครั้งต่อไปอยู่ล่ะก็ ลองฝึกตอบคำถามทั้ง 5 ข้อนี้ก่อนได้เลย ฝึกพูดจนกว่าคุณจะมั่นใจนั่นแหละ แต่อย่าท่องจำทุกคำนะ พยายามตอบให้เป็นธรรมชาติเข้าไว้ ไม่ต้องฝืนหรอก ถ้าคุณคือคนที่ใช่จริงๆ เขาคงไม่ปล่อยคุณไปแน่นอน  

ขอให้ได้ทำงานที่ถูกใจกันทุกคนนะคะ  

ติดตามบทความดีๆจากเราได้ที่ Jobnisit





Create Date : 16 ตุลาคม 2558
Last Update : 2 พฤศจิกายน 2558 11:57:04 น.
Counter : 1215 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

สมาชิกหมายเลข 2476925
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



ตุลาคม 2558

 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31