All Blog
นครเชียงตุง : ไพศาล จั่วทอง







นครเชียงตุง


ผู้เขียน : ไพศาล จั่วทอง


ISBN 978-974-672-983-3 ฉบับปก สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2558

จำนวน 382 หน้า ราคา 350 บาท


---------------------------------------------------------------------------------

“...ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติของนครเชียงตุงของข้าพเจ้าทั้งหมด

ได้รับการถ่ายทอดจากเจ้านางสุคันธา

ราชธิดาเจ้าฟ้าหลวงนครเชียงตุง

ซึ่งข้าพเจ้าได้รู้จักกับท่านเมื่อปี พ.ศ.2538

ในขณะนั้นเจ้านางสุคันธามีอายุได้ 85 ปี...

เมื่อได้เข้าพบกับเจ้านางสุคันธา ท่านก็ได้กรุณาเล่าเรื่องต่างๆ

ของนครเชียงตุงให้ข้าพเจ้าฟังเป็นเวลาเกือบสามชั่วโมง

จากนั้นข้าพเจ้าก็ได้ลากลับ

และมีความรู้สึกว่าเรื่องต่างๆ นั้นยังไม่จบ...”

- นครเชียงตุง

---------------------------------------------------------------------------------


หลังจากผมอ่านนวนิยายเรื่อง “บ่วงบรรจถรณ์” จบแล้ว ก็นึกสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับเชียงตุงอย่างมาก ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็ค่อนข้างสนใจเมืองโบราณของชาวไทเขินแห่งนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มีหนังสือและเอกสารเกี่ยวกับเมืองเชียงตุงหลายฉบับที่แนะนำเอาไว้ในนวนิยายเรื่องบ่วงบรรจถรณ์ ซึ่งใครสนใจข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ศาสนา และการเมือง ก็สามารถตามไปอ่านกันต่อได้ 

สำหรับหนังสือ นครเชียงตุง เรียบเรียงโดย อาจารย์ไพศาล จั่วทอง เล่มนี้ ไม่ได้เป็นเอกสารอ้างอิงในบ่วงบรรจถรณ์แต่อย่างใด ด้วยเพิ่งจัดทำและตีพิมพ์ขึ้นเมื่อปี 2558 และตอนนี้ก็จำหน่ายจนหมดแล้ว หาซื้อยากมาก ผมเลยต้องไปยืมจากหอสมุดมาอ่านแทน ก็นับว่าคุ้มค่าแก่การตามหามาอ่าน เพราะได้รับทั้งความรู้ ความสนุกไปกับข้อมูล Inside ของราชสำนักเชียงตุงมากมายเลย และเหตุที่ผมเลือกเล่มนี้มาอ่าน เพราะคำโปรยบนหน้าปกหนังสือที่บอกว่า “ได้รับการถ่ายทอดจากเจ้านางสุคันธา ราชธิดาเจ้าฟ้าเชียงตุง”

ใช่แล้วครับอะไรจะดียิ่งไปกว่าการได้ฟังเรื่องเล่าจากเจ้าของเรื่องที่แท้จริง พอเริ่มต้นอ่านทุกสิ่งอย่างที่ผ่านสายตาเข้ามา ทั้งเนื้อหา และภาพถ่ายเก่า (หาชมยาก) ก็พาผมย้อนกลับไปสู่นครเชียงตุง ในยุคเจ้าฟ้าหลวงได้อย่างน่าประทับใจ และขณะเดียวกันก็นึกเสียดายที่ยุค “เจ้าบ้านผ่านเมือง” ของนครเชียงตุงกลายเป็นเพียงอดีตไปแล้วจริงๆ แม้แต่หอหลวง (พระราชวัง) ก็ไม่หลงเหลือไว้ให้ใครได้ชื่นชมอีก

ความดีเด่นของหนังสือ นครเชียงตุง คือ การถ่ายทอดเรื่องราวในความทรงจำของเจ้านางสุคันธาเกี่ยวกับเหตุการณ์ และบุคคลสำคัญในพระราชวงศ์เชียงตุง โดยเฉพาะในรัชสมัยที่เจ้าฟ้ารัตนก้อนแก้วอินแถลง เจ้าพ่อของเจ้านางสุคันธาปกครองเชียงตุงในฐานะ “เจ้าฟ้าหลวงเชียงตุง” เนื้อหาส่วนใหญ่จึงเปรียบได้กับการพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับสมาชิกในครอบครัวของเจ้านางสุคันธา ซึ่งนำเสนอไปพร้อมๆ กับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เชียงตุงในยุครุ่งเรือง ภายใต้เงาของชาติมหาอำนาจอย่างอังกฤษ ในหนังสือได้รวบรวมภาพถ่ายเก่ามากมาย ซึ่งผมคิดว่าหลายๆ ภาพน่าจะเป็นสมบัติส่วนตัวของเจ้านางสุคันธา ท่านเจ้าของเรื่อง ผู้เป็นราชธิดาของเจ้าฟ้าหลวงเชียงตุง และต่อมาได้เสกสมรสของเจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่ ราชบุตรของพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่ องค์ที่ ๙

ในหนังสือยังแทรกเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ เกี่ยววัฒนธรรมและประเพณีของเชียงตุงเอาไว้หลากหลายเรื่องราวด้วยกัน เช่น การสร้างหอหลวง งานพระศพ ประเพณีงานปอย ธรรมเนียมราชสำนัก หรือจะเป็นเรื่องของ ซิ่นไหมคำ เครื่องอาภรณ์ชั้นสูงของเจ้านางเชียงตุง

“...ตัวซิ่นใช้เส้นไหมทอสลับกับเส้นทอง เส้นทองนี้สั่งมาจากอินเดีย ส่วนตีนซิ่นทำจากแพรเขียว สามารถปักลวดลายต่างๆ หลายรูปแบบ...ธรรมเนียมในการใช้ซิ่นไหมคำนั้น สามัญชนแม้จะมีเงินมากสักเท่าไรก็ไม่บังอาจทำซิ่นไหมคำไว้ใช้สวมใส่เองที่บ้าน ดังนั้นที่หอหลวงจะมีผ้าซิ่นไหมคำธรรมดาส่วนกลางอยู่ 4-5 ผืน เอาไว้สำหรับธิดาของผู้ที่มีฐานะที่ดีทางสังคมมายืมใส่สำหรับงานแต่งงาน เมื่อเสร็จพิธีแล้วก็นำมาส่งคืนหอหลวง การใส่ผ้าซิ่นไหมคำนั้นจะใส่ผ้าซิ่นธรรมดาไว้ด้านใน แล้วค่อยสวมซิ่นไหมคำทับลงไปอีกชั้นหนึ่ง...”

นอกจากนี้ หนังสือยังกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างเชียงตุงกับบ้านเมืองใกล้เคียงด้วย คงเป็นที่ทราบกันดีว่า เดิมทีทั้งรัฐฉาน เชียงตุง ล้านนา เชียงรุ่ง สิบสองปันนา เป็นบ้านพี่เมืองน้องสายเครือไท (ไต) ที่ผูกพันกันมายาวนาน แต่เพราะการแผ่ขยายอำนาจของอาณาจักรใหญ่ในอดีต จนมาถึงยุคล่าอาณานิคม และสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการแบ่งแยกดินแดนพี่น้องเหล่านี้ออกจากกันโดยชัดเจน และในที่สุดก็กลายเป็นบ้านพี่เมืองน้องที่ไม่รู้จักกันไปเสีย เช่นเดียวกันกับเมื่อครั้งที่สยามต้องการกัน ล้านนา ออกห่างจาก เชียงตุง ด้วยความกลัวว่าอังกฤษจะแผ่อาณานิคมเข้ามายึดครองล้านนาหรือภาคเหนือของไทย

“...ความสัมพันธ์ระหว่างเชียงตุงกับล้านนา ทั้งทางการเมือง ศาสนา และการค้า ดำเนินสืบเนื่องเรื่อยมาจนถึงยุคที่เชียงตุงตกอยู่ใต้อิทธิพลของอำนาจตะวันตก สยามเกรงว่าชาติมหาอำนาจตะวันตก จะยึดครองล้านนาซึ่งเป็นเมืองประเทศราช ทำให้สยามจำกัดความสัมพันธ์ระหว่างล้านนากับเชียงตุง ถึงกับห้ามเจ้านายล้านนาไม่ให้แต่งงานกับคนต่างชาติ และไม่ให้มีการติดต่อค้าขายกัน ซึ่งทำให้เชียงตุงได้รับความเดือดร้อนมาก ได้มีความพยายามขอฟื้นความสัมพันธ์กับล้านนา แต่ไม่สำเร็จเพราะล้านนาเชื่อฟังสยาม แม้เมื่ออังกฤษแผ่อิทธิพลถึงเชียงตุง ก็ยังมีการร้องขอให้อังกฤษช่วยกดดันสยามให้เปิดเส้นทางการค้าทางเหนือ...”

เนื้อหาที่ผมยกมารีวิวนี้ เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ในหนังสือ ใครที่ชื่นชอบประวัติศาสตร์ประเทศเพื่อนบ้าน ผมว่าไม่ควรพลาดเล่มนี้ เนื้อหาไม่ได้อัดแน่นอย่างตำราวิชาประวัติศาสตร์ แต่เน้นเล่าเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยไปพร้อมกับภาพถ่ายเก่าทรงคุณค่า ที่ทำให้เราจินตนาการภาพนครเชียงตุงได้อย่างดียิ่ง หรือหากใครอยากไปเที่ยวเชียงตุง อ่านเล่มนี้ไปก่อนก็น่าจะช่วยเพิ่มอรรถรสในการท่องเที่ยวได้อีกมากเลยครับ

ลองหามาอ่านดูนะครับ ไม่แน่ว่า คุณอาจจะหลงรัก นครเชียงตุง ขึ้นมาก็ได้




เจ้านางสุคันธา

เกิดเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2453

เมื่ออายุได้ 22 ปี ได้เสกสมรสกับเจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่

พิราลัยเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2546 ที่จังหวัดเชียงใหม่

สิริอายุได้ 92 ปี



เจ้านางเทพธิดา

พี่สาวของเจ้าฟ้ารัตนก้อนแก้วอินแถลง

เป็นที่รู้จักกันในนาม Tip Htila (เจ้านางติ๊บสีลา)

ในหนังสือเรื่อง Lords of the Sunset ของ Maurice Collis



เจ้านางเชียงตุงนุ่งผ้าซิ่นไหมคำ

หรือบ้างก็เรียกกันว่า "ซิ่นบัวคำ"

เพราะนิยมปักลายดอกบัวคำบริเวณตีนซิ่น เหนือชายแพรหรือกำมะหยี่สีเขียว

ถือเป็นซิ่นไทเขินเฉพาะของราชสำนักเชียงตุง

(ภาพนี้ไม่มีในหนังสือ)



เจ้านางเชียงตุงและเหล่าบริวาร

เจ้านางปิมปา (Phom Par) นั่งตรงกลาง (คนเดียวกันกับเจ้านางภาพด้านบน)

เจ้านางเทพธิดา (Tip Htila) ยืนตรงกลาง โพกศีรษะ

เจ้านางทั้งสองเป็นพี่สาวคนโตและพี่สาวคนเล็กของเจ้าฟ้ารัตนก้อนแก้วอินแถลง

(ภาพนี้ไม่มีในหนังสือ)


หอหลวงนครเชียงตุง

ตึกสามชั้นแบบแขก เป็นที่ประทับของ เจ้าฟ้าหลวงเชียงตุง กับ เจ้าแม่นางเมือง (มหาเทวี)

สร้างขึ้นในรัชสมัยของเจ้าฟ้ารัตนก้อนแก้วอินแถลง

โดยให้นายช่างชาวอิตาลีเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง



ท้องพระโรงหอหลวง

ด้านหลังสุดคือ “แท่นแก้ว” มีลักษณะเป็นซุ้มประตูติดผนัง

ด้านหน้าแท่นแก้ววาง “กู่คำ” ใช้สำหรับเจ้าฟ้าหลวงประทับว่าราชการงานเมือง

รายล้อมด้วยสัปทนที่เรียกว่า “ทีเผือก” (ร่มขาว)

เป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศเฉพาะของเจ้าฟ้าหลวงเชียงตุง

(ภาพนี้ไม่มีในหนังสือ)



เจ้านายจากเชียงตุงร่วมงานพระศพเจ้าฟ้าหลวงเมืองสีป้อ

เจ้าฟ้ารัตนก้อนแก้วอินแถลงยืนตรงกลาง ด้านขวามือของเจ้าฟ้าขุนศึก (เด็กชายชุดสูทดำ)



เจ้านางในราชสำนักเชียงตุง

เจ้านางสุวรรณา (แถวกลางจากซ้าย คนที่ 4) ธิดาเจ้าเมืองยอง

เป็นพระมารดาเจ้าฟ้ารัตนก้อนแก้วอินแถลง

ถ่ายรูปร่วมกับเหล่าชายาและธิดาของเจ้าฟ้ารัตนก้อนแก้วอินแถลง

เจ้านางสุคันธา ยืนอยู่แถวหลังจากซ้าย คนที่ 2



เจ้าฟ้าจายหลวง

เจ้าฟ้าหลวงเชียงตุงองค์สุดท้าย

หลังจากเจ้าก๋องไต (กองไท) พระบิดาสิ้นชีวิตในปี พ.ศ.2480

รัฐบาลอังกฤษได้ยกเจ้าฟ้าจายหลวงขึ้นเป็นเจ้าฟ้าหลวงเชียงตุง



Jim-793009

31 : 03 : 2017




Create Date : 31 มีนาคม 2560
Last Update : 27 พฤศจิกายน 2560 16:15:09 น.
Counter : 6478 Pageviews.

4 comments
  
ขอรบกวนแชร์ข้อมูลนะคะ เป็นน้องสาว อ.ไพศาล ค่ะ พอดีอ.ไพศาลได้มาอ่านเจอ เลยขอน้องสาวมาตอบให้ค่ะ เรื่องการพิมพ์หนังสือ จริงๆได้มีการพิมพ์หนังสือความทรงจำที่เมืองเชียงตุง เพื่อใช้แจกในงานสวดศพของเจ้านางสุคันธา ที่สิ้นชีวิตเมื่อวันที่15 มกราคม 2546 การพิมพ์ครั้งนั้นเป็นการพิมพ์อย่างเร่งด่วน เจียนต้นฉบับคืนวันที่เจ้านางสิ้นชีวิต รุ่งขึ้นได้นพไปมอบให้โรงพิมพ์เพื่อพิมพ์แจกงานสวดศพในตอนกลางคืน จึงมีความหนาของเอกสารบางประมาณ10แผ่น และไม่มีรูปประกอบ หลังจากนั้นมีผู้นำข้อความบางส่วนไปกล่าวถึง
โดย: ศรีสกุล IP: 202.28.250.108 วันที่: 25 พฤศจิกายน 2560 เวลา:16:41:11 น.
  
อ.ไพศาล ขอขอบคุณทางเจ้าของบล็อคนะคะที่ติดตามและให้ความสนใจหนังสือนครเชียงตุง ขอบคุณมากๆครับ
โดย: ศรีสกุล IP: 202.28.250.108 วันที่: 25 พฤศจิกายน 2560 เวลา:16:42:59 น.
  
คุณ ศรีสกุล --- ขอบคุณคุณศรีสกุลและอาจารย์ไพศาล จั่วทอง เช่นกันครับ ที่เขียนและตีพิมพ์หนังสือดี ๆ เล่มนี้ออกมาให้ได้อ่านกัน เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา ผมได้ไปร่วมงานเสวนาเปิดตัวหนังสือนครเชียงตุง ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ประทับใจมาก ๆ และได้ซื้อหนังสือพิมพ์ครั้งที่ 2 มาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (หลังจากพิมพ์แรกหายากมาก ต้องยืมห้องสมุดมาอ่าน) ดีใจที่ได้ร่วมสมทบทุนมูลนิธิสายใจไทย นอกจากนี้ ยังได้แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับเจ้านางสุคันธาเพิ่มเติมอีก 2 แหล่งด้วยกัน คือ หนังสือพิมพ์แจกในงานศพเจ้านางสุคันธา (อยากหาให้เจอครับ) กับ บทสัมภาษณ์ในนิตยสารแพรว --- ต้องขอขอบคุณอาจารย์ไพศาลมา ณ ที่นี้เช่นกันครับ หวังว่าอาจารย์จะนำมีผลงานอื่น ๆ มาให้ได้ติดตามอีกนะครับ
โดย: Jim-793009 วันที่: 27 พฤศจิกายน 2560 เวลา:16:09:29 น.
  
เราอ่านรีวิวหนังสือเล่มนี้มาหลายเว็บ หลายคน เท่าที่เราอ่านมา เราว่าคุณรีวิวดีสุด ภาษาเข้าใจง่าย ชัดเจน ดึงจุดเด่นของหนังสือได้ดีค่ะ 👍
โดย: Yuko IP: 1.20.34.181 วันที่: 11 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา:8:55:44 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Jim-793009
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]



"เขียน" ถ้าสิ่งนั้นคือความสุขอย่างแรกที่เรามองเห็นและนึกถึง ^_^

วรรณกรรมจึงงามกว่าเพชร คมกว่าดาบ เป็นโอสถอันประเสริฐยิ่งของชาวโลก
- กฤษณา อโศกสิน

"หนังสือบางเล่มผมไม่ได้อ่านเพราะชอบหรือไม่ชอบ เมื่อเป็นนิยายรักยอดนิยม ถ้าไม่อ่านก็เสียโอกาสทำความเข้าใจคนอื่น...ดีสำหรับผม ไม่ได้หมายความว่าคุณอ่านแล้วจะเข้าใจ หรือชอบในระดับเดียวกัน"
- ประชาคม ลุนาชัย [ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก]

"...สำหรับนักอ่าน หนึ่งในการค้นพบที่น่าตื่นเต้นที่สุดในชีวิต คือการพบว่าตัวเองเป็นนักอ่าน ไม่ใช่แค่อ่านออก แต่ตกหลุมรักมัน ตกหลุมรักอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ตกหลุมรักหัวปักหัวปำ หนังสือเล่มแรกที่ทำให้เกิดผลเช่นนั้นจะไม่มีวันถูกลืม..."
- Finders Keepers, Stephen King
New Comments