Group Blog
เมษายน 2557

 
 
1
2
3
4
5
6
7
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 
 
8 เมษายน 2557
เด็กสมาธิสั้น
โรคสมาธิสั้น...มันจะแย่ไปเสียทั้งหมดเลยเชียวหรือ

สิ่งต่างๆ ในโลกนี้จะมี 2 ด้านเสมอ เด็กสมาธิสั้นมักมีพลังอยู่ภายในตัวเองมาก ถ้าได้รับความช่วยเหลือและฝึกฝนที่ดี พวกเขาจะมีความสามารถ สนุกสนาน คิดริเริ่ม กระตือรือร้น คิดเร็ว มองภาพรวมได้เร็ว สร้างเครือข่าย ประสานงาน และจะสนใจแน่วแน่กับสิ่งที่ชอบ

แก๊บอายุ 19 ปี เป็นโรคสมาธิสั้นและเริ่มกินยาเพิ่มสมาธิตั้งแต่อายุ 7 ปี มีปัญหาทำงานไม่ทัน ส่งงานไม่ครบและอยู่ไม่นิ่ง ยังว่ายไม่เป็น ก็จะกระโดดลงไปในน้ำ ทำให้ผู้ใหญ่ต้องลงไปคว้าตัวขึ้นมาก่อนที่จะจม ว่ายน้ำก็บิดๆ เบี้ยวๆ จับทิศทางไม่ได้ ตีแบดมินตันก็ต้องเสิร์ฟลูกหยอดเพื่อฝึกให้ตีถูกลูกเป็นร้อยๆ เที่ยว กว่าที่จะตีโต้กลับมาได้ดี ให้รับผิดชอบก็ดูจะหลงๆ ลืมๆ แต่พ่อแม่ฝึกฝนอย่างหนักและสม่ำเสมอ ตอนนี้เรียนอยู่มหาวิทยาลัย ผลการเรียนพอใช้ เป็นนักกีฬาฟุตบอล เล่นดนตรี และทำงานที่ค่ายอาสาทุกช่วงปิดเทอม แก๊บบอกว่าสมาธิยังสั้นอยู่แต่ไม่มีใครรู้ว่าเป็นโรคสมาธิสั้น มันเหมือนมีพายุหมุนอยู่ภายในตัวเป็นบางครั้ง ถ้าเข้าใจตัวเอง มันก็สนุกดีนะครับที่เป็นโรคนี้

ถึงแม้ว่าด้านที่เป็นปัญหายังคงอยู่ในตัวเด็ก แต่ต้องไม่ลืมที่จะค้นหาด้านดีและสนับสนุนอย่างเต็มที่ ซึ่งขึ้นกับพ่อแม่ที่เข้าใจ ยอมรับ อดทนในการฝึกสอน มองเห็นคุณค่าในตัวเด็กและปรับเปลี่ยนพลังที่มีมากจนเกินพอดี ให้ออกมาเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะตัว

เด็กทุกคนอยากประสบความสำเร็จ รวมทั้งเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น

เด็กทุกคนอยากเป็นคนดี คนเก่ง และคนที่ประสบความสำเร็จ พ่อแม่จึงควรให้เด็กหัดทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง ฝึกสอนและมอบงานที่เหมาะสมกับความสามารถ โดยมอบงานจากง่ายไปสู่งานที่ยาก มอบงานที่ไม่ซับซ้อนไปสู่งานที่ซับซ้อน จะช่วยให้เด็กพบความสำเร็จได้ง่าย ฝึกฝนสม่ำเสมอและให้กำลังใจเป็นระยะ จนเด็กทำได้เองในที่สุด
โรคสมาธิสั้นเป็นโรคที่เด็กมีอาการสมาธิสั้น ซุกซน วู่วาม ยับยั้งตัวเองได้น้อย ดังนั้น การมอบงานที่เหมาะสมให้เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น ควรแบ่งงานเป็นส่วนๆ และมอบงานทีละส่วน เช่น ให้ทำทีละครึ่งหน้า เพื่อให้ประสบความสำเร็จในแต่ละช่วง ทำงานที่ง่ายก่อนแล้วค่อยไปทำงานที่ยาก เท่ากับให้กำลังใจตนเอง ให้โอกาสทำงานเสร็จ และควรมอบหมายงานทีละอย่าง ให้มีช่วงพักบ้างและดึงกลับมาทำงานต่อ

ความสุขของเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น

เด็กทุกคนอยากเป็นคนดี ทำได้ในสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ เมื่อพ่อแม่ชื่นชมแค่นี้ เด็กก็มีความสุขแล้ว การฝึกฝนให้เด็กช่วยตัวเองให้มากที่สุด ให้ทำสิ่งต่างๆ ในบ้านเพื่อคนอื่น ทั้งล้างจาน ตากผ้า รดน้ำต้นไม้ ขัดพื้น ฝึกให้ช่วยเหลือคนอื่นเล็กๆ น้อยๆ ทุกวัน โดยฝึกฝนมาตั้งแต่เล็ก ให้กำลังใจและชื่นชมความสามารถที่เพิ่มขึ้น ในที่สุดความสุขในตัวเด็กจะเกิดขึ้นเองจากภายใน คือ เด็กจะเห็นว่าตัวเองช่วยเหลือตัวเองได้ ทำอะไรเป็นหลายอย่าง หุงข้าวก็ได้ เจียวไข่ก็ได้ ทำอะไรก็อร่อย และเมื่อติดนิสัยชอบช่วยเหลือคนอื่น เด็กจะเข้าใจถึงความสุขที่เกิดขึ้นจากการทำอะไรให้คนอื่น ซึ่งเป็นความสุขที่ละเอียดกว่า มีค่ามากกว่า ความสุขที่จะรอให้คนอื่นชมหรือรอรับของขวัญจากคนอื่น เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นถึงแม้ว่าจะเรียนไม่เก่ง แต่ก็ทำอะไรเป็นหลายอย่าง เพื่อนก็รัก คนในบ้านชมว่าเป็นคนดี ชอบช่วยคน แค่นี้เด็กก็พอใจและยอมรับตนเองได้แล้ว

ความรับผิดชอบของเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น

ความรักของพ่อแม่ต่อลูกมีให้ตลอดชีวิต แต่การให้ความช่วยเหลือจะต้องมีวันสิ้นสุด เพื่อให้เด็กพัฒนาตนเองจนช่วยตัวเองและผู้อื่นได้ แม้ว่าความรับผิดชอบหมายความว่าจะต้องทำอะไรเพิ่มขึ้นหลายอย่างทั้งที่ใจไม่อยากทำ แต่สิ่งที่ได้รับกลับมาคุ้มค่าคือได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง
งานวิจัยในประเทศไทยพบว่าเด็กที่รับผิดชอบต่องานบ้าน มักไม่เสียคนเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ควรฝึกให้เด็กทุกคนรับผิดชอบตัวเองและหัดทำงานบ้านมาตั้งแต่เล็ก คำพูดและท่าทีที่ชัดเจนของผู้ใหญ่จะทำให้เด็กต้องพัฒนา ฝึกได้เร็วจะได้ผลดีกว่าพวกที่ฝึกช้าหรือไม่ได้ฝึก เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นก็ต้องฝึกเหมือนเด็กอื่นเพียงแต่ต้องใช้เวลาฝึกนานกว่าเท่านั้น
งานที่ควรฝึก เช่น งานส่วนตัว (เช่น อาบน้ำ กินข้าว แต่งตัว จัดกระเป๋า ทำการบ้าน เก็บรองเท้า ฯลฯ) เรื่องงานบ้าน (เช่น จัดโต๊ะอาหาร ล้างจาน รดน้ำต้นไม้ เอาขยะไปทิ้ง ให้อาหารสัตว์เลี้ยง กวาดลานบ้าน เวรทำความสะอาดห้อง) เรื่องเวลา (เช่น เวลาเดินทาง เวลานัดพบ เวลาที่ต้องทำงานเสร็จ)

สร้างกฎระเบียบที่ชัดเจนที่บ้านและภายในห้องเรียน

การสร้างกฎระเบียบที่ชัดเจน ฝึกฝนสม่ำเสมอ จะทำให้เด็กคาดเดาและทำตัวให้สอดคล้องได้ง่ายกว่าบ้านหรือห้องเรียนที่วุ่นวาย สับสน เด็กต้องเข้าใจชัดเจนว่าพ่อแม่และคุณครูต้องการผลงานที่ถูกต้องมากกว่าผลงานที่ทำเร็วแต่ผิดพลาด
การออกคำสั่งที่ชัดเจน กระชับ สั้น ทำตามได้ง่าย เป็นสิ่งสำคัญต่อการฝึกฝน สั่งเด็กในขณะที่เด็กสนใจคุณ สั่งเสร็จต้องตรวจทานว่าเด็กเข้าใจตรงกับสิ่งที่คุณต้องการให้ทำ

การสอนเสริมและการดึงสมาธิสำหรับเด็กสมาธิสั้น

ความที่สมาธิสั้นทำให้พ่อแม่และคุณครูต้องใช้เทคนิคดึงสมาธิกลับมาสู่แบบเรียน โดยไม่ทำให้เด็กเสียหน้า หรือเป็นที่ล้อเลียนของเพื่อน การจับไหล่ เคาะที่หนังสือ การเดินมาใกล้ๆ การเรียกให้ช่วยแจกสมุด ฯลฯ ล้วนเป็นเทคนิคที่ดึงสมาธิทั้งสิ้น ทั้งนี้เพื่อเพิ่มสมาธิในการทำงาน ทำให้เด็กทำงานเสร็จทันเวลา การดึงสมาธิของเด็กให้กลับมาสู่แบบเรียนไม่ควรทำให้เด็กขายหน้าหรืออับอาย เช่น การเรียกชื่อ ดุว่า เป็นต้น
ในกรณีที่เด็กเรียนไม่ทันหรือไม่เข้าใจในหลายประเด็น การสอนเสริมตัวต่อตัวจะช่วยทำให้เด็กเข้าใจและเรียนรู้ต่อไปได้ดีกว่าการที่จะส่งเด็กไปเรียนพิเศษรวมกับเด็กอื่น

จาก    หมอมินรักษ์โลก  ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย

.........................................................................

ขอพระเจ้าทรงอวยพระพรค่ะ   สวัสดีค่ะ




Create Date : 08 เมษายน 2557
Last Update : 13 เมษายน 2557 16:48:33 น.
Counter : 1071 Pageviews.

0 comments

jewelmoda
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 108 คน [?]



ผู้หญิงคนหนึ่ง ที่อยากทำงานด้านเด็ก อยากเป็นครู แต่กลับต้องไปทำงานแบงค์ เมื่อขอเออรี่ออกมา ขอหาข้อมูลเกี่ยวกับเด็ก เพื่อการพัฒนาเด็กไทย

Myspace angels graphics
New Comments
Friends Blog
[Add jewelmoda's blog to your weblog]