Group Blog
 
<<
กันยายน 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
24 กันยายน 2550
 
All Blogs
 
ความเสี่ยงในระบบการเงินยุคโลกาภิวัตน์

สฤณี อาชวานันทกุล





แม้ว่ากระแสโลกาภิวัตน์ด้านการเงินกำลังเอื้ออำนวยให้ผู้คนจำนวนมากกว่าที่เคยในอดีตสามารถเข้าถึงแหล่งทุนราคาถูกที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการยกระดับฐานะหรือคุณภาพชีวิต และนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ก็ช่วยให้สถาบันการเงินและระบบเศรษฐกิจสามารถรองรับและกระจายความเสี่ยงได้ดีกว่าเดิม ก็ยังมีปรากฏการณ์จำนวนไม่น้อยในโลกการเงินที่ทำให้เราสงสัยว่า ระบบการเงินโลกในปัจจุบันนั้นมีระดับความเสี่ยง “น้อย” กว่าเดิมจริงหรือ และ “ผู้จัดการการลงทุน” ยุคใหม่ โดยเฉพาะผู้จัดการกองทุนเก็งกำไรระยะสั้น (hedge fund) นั้น มีพฤติกรรมที่ช่วยลดความเสี่ยงหรือเพิ่มความเสี่ยงให้กับระบบการเงินกันแน่

ปรากฏการณ์ในโลกการเงินมักเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ในทางที่เราอาจคาดเดาผลกระทบไม่ได้ตั้งแต่แรก ตัวอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2549 และต่อเนื่องจวบจนปัจจุบันคือปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้สินเชื่อบ้านราคาถูกในอเมริกา ส่งผลให้มูลค่าของ collateralized debit obligations (ซีดีโอ) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ทางการเงินที่อ้างอิงกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้เหล่านั้นลดลงอย่างฮวบฮาบ ทำให้กองทุนจำนวนมากที่ลงทุนในซีดีโอเหล่านี้ต้องขายเงินลงทุนในตลาดอื่นๆ เช่นตลาดหุ้นไทย เพื่อหาเงินไป “โปะ” ผลขาดทุนจาก CDO และในเมื่อ นักลงทุนเหล่านี้จำนวนมากเป็นสถาบันการเงินตัวกลางเสียเอง ก็ทำให้ความเชื่อมั่นในตลาดสินเชื่อตกวูบ เพราะในกรณีอย่างนี้นักลงทุนรายอื่นๆ ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าสถาบันการเงินเหล่านี้จะขาดทุนจากธุรกรรมดังกล่าวมากน้อยเพียงใด ความไม่มั่นใจนี้ส่งผลให้นักลงทุนกล้าเสี่ยงน้อยกว่าเดิม เลือกเก็บเงินไว้กับตัว (หรือในบัญชีเงินฝากธนาคาร) สบายใจกว่า ทำให้สภาพคล่องในระบบลดลง อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นพุ่งสูงขึ้น เกิดเป็นภาวะที่ภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “เงินกู้ฝืด” (credit crunch) ทำความลำบากให้กับบริษัทและบุคคลธรรมดาที่ต้องการใช้เงินกู้โดยสุจริต เช่น เพื่อขยายธุรกิจ ผ่อนบ้าน ส่งลูกเรียนสูงๆ ฯลฯ

ในบรรดานักเศรษฐศาสตร์การเงินที่ติดตามพฤติกรรมของผู้จัดการกองทุนควบคู่ไปกับนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ผู้เขียนคิดว่ามีน้อยคนที่มีความคิดแหลมคมและมีวิสัยทัศน์ดีเท่ากับ รากุราม ราจัน (Raghuram Rajan) อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยชิคาโก ผู้เขียนบทความชิ้นเอกเรื่อง “พัฒนาการด้านการเงินทำให้โลกเสี่ยงกว่าเดิมหรือไม่ ?” (Has Financial Development Made the World Riskier ?) ในปี พ.ศ.2548 ระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ในบทความชิ้นนี้ซึ่งตีพิมพ์ก่อนเกิดปัญหาซีดีโอนานนับปี ราจันชี้ให้เราเห็นความเสี่ยงของระบบการเงินโลกที่มีรากมาจากแรงจูงใจของสถาบันการเงินตัวกลางที่ไม่ตรงกับความต้องการของเจ้าของเงินที่พวกเขาเก็บรักษาให้หรือลงทุนแทน ทำให้ธนาคาร “เคยตัว” กว่าเดิมจนปล่อยกู้แบบ “หละหลวม” มากขึ้น ส่วนด้านผู้จัดการกองทุนเองก็มีแรงจูงใจที่จะแบกรับเสี่ยงมากกว่าเดิมเพื่อตามล่าหาผลตอบแทนสูงๆ ให้กับเจ้าของเงิน ในภาวะที่ระบบการเงินโลกมีสภาพคล่องสูงมาก (ซึ่งถ้าอธิบายแบบภาษาชาวบ้านก็คงแปลได้ว่า เป็นภาวะที่คนมี “เงิน” มากกว่ามี “ของ” ให้ซื้อ ก็เลยต้องไปซื้อ “กระดาษ” ที่ไม่ใช่ “ของ” จริงๆ เช่น ตราสารอนุพันธ์ที่มีมูลค่าอ้างอิงกับมูลค่าที่ดิน)

เนื่องจากบทความของราจันช่วยให้เราเข้าใจลักษณะของระบบการเงินโลกที่ “เปราะบาง” กว่าที่เราคาดคิด และทำให้เข้าใจพฤติกรรมของสถาบันการเงินตัวกลางสมัยใหม่ที่ “เสี่ยง” กว่าที่เราคาดหวัง ผู้เขียนจึงขอแปลและเรียบเรียงบางตอนจากบทความของราจันลงคอลัมน์ในวันนี้

......

ที่ผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงหลายประการช่วยพลิกโฉมหน้าของโลกการเงิน และทำให้ตลาดการเงินมีทั้งความลึกและความกว้างมากขึ้นกว่าเดิม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นโยบายเปิดเสรีทางการเงิน และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างสถาบันที่ก่อให้เกิดสถาบันการเงินใหม่ๆ เช่น กองทุนร่วมลงทุน (private equity) และกองทุนเก็งกำไรระยะสั้น ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีบทบาทน้อยลงในฐานะผู้จัดสรรทุน จนทำให้หลายคนเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “การปลดล็อกสถาบันตัวกลาง” (disintermediation) แต่ชื่อนี้ไม่ค่อยถูกต้องทีเดียวนัก เพราะถึงแม้ว่าคนจำนวนมากจะไม่เก็บเงินส่วนใหญ่ไว้ในบัญชีเงินฝากธนาคารอีกต่อไป พวกเขาก็ยังลงทุนทางอ้อมในตลาดทุนผ่านกองทุนรวม บริษัทประกัน และกองทุนบำนาญ และลงทุนทางอ้อมในบริษัทเอกชนผ่านกองทุนเก็งกำไรระยะสั้น กองทุนร่วมลงทุน และกองทุนประเภทอื่นๆ ผู้จัดการสถาบันการเงินเหล่านี้ ซึ่งรวมกันเรียกว่า “ผู้จัดการการลงทุน” ได้เข้ามาแทนที่ธนาคารพาณิชย์ กลายเป็นสถาบันตัวกลางประเภทใหม่ที่คั่นกลางระหว่างบุคคลธรรมดากับตลาด

ในขณะเดียวกัน นวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ โดยเฉพาะกระบวนการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ช่วยให้ธนาคารพาณิชย์สามารถ “ขาย” ความเสี่ยงส่วนใหญ่ที่ติดมากับผลิตภัณฑ์สินเชื่อ “พื้นฐาน” ทั้งหลายของพวกเขาออกไปนอกงบดุลได้ (เช่น ด้วยการแปลงสินเชื่อบ้านเป็นหลักทรัพย์เพื่อขายต่อให้กับนักลงทุน) ทำให้ได้เงินสดและบันทึกกำไรจากการขายได้ทันที ประโยชน์ข้อนี้ทำให้ธนาคารพาณิชย์นิยมทำธุรกรรมนี้กันอย่างกว้างขวาง แต่อย่างไรก็ตาม การที่ธนาคารยังต้องแบกก้อนที่เป็น “ความเสี่ยงสูงสุด” ของสินเชื่อซึ่งเป็นส่วนที่นักลงทุนไม่ต้องการไว้ในงบดุล ทำให้สินทรัพย์ความเสี่ยงสูงและสภาพคล่องต่ำของธนาคารพาณิชย์ทั่วโลกมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นมาก เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ

ในอดีต ค่าตอบแทนของผู้จัดการธนาคาร (สถาบันการเงินตัวกลางแบบดั้งเดิม) อยู่ในรูป เงินเดือนเป็นหลัก ผู้ถือหุ้นธนาคารไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะเสนอค่าตอบแทนสูงลิบลิ่วให้กับผู้จัดการ เพราะการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดของภาครัฐทำให้การแข่งขันระหว่างธนาคารในสมัยนั้นไม่ค่อยรุนแรง และการเสนอค่าตอบแทนสูงๆ ก็อาจบิดเบือนแรงจูงใจของผู้จัดการให้วิ่งเข้าหาความเสี่ยงมากกว่าที่ควรจะเป็น นอกจากนี้โครงสร้างเงินทุนของธนาคารที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อสภาพตลาดและความเชื่อมั่นของประชาชน (เช่น ถ้าประชาชนขาดความมั่นใจในธนาคาร จนแห่ถอนเงินฝาก ธนาคารก็จะประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง หรือที่เรียกว่า bank run) เปรียบเสมือนกลไกควบคุมผู้จัดการไม่ให้เสี่ยงมากเกินไป ทั้งหมดนี้แปลว่าผู้จัดการธนาคารมีแรงจูงใจที่จะทำงานแบบอนุรักษนิยมค่อนข้างมาก ผู้ฝากเงินก็สบายใจที่ธนาคารไม่เอาเงินฝากไปเสี่ยง ผู้ถือหุ้นธนาคารก็ไม่เดือดร้อนเพราะธนาคารจ่ายปันผลได้สม่ำเสมอ ในภาวะที่การแข่งขันยังไม่รุนแรงมาก ธนาคารมีบทบาทสูงในการจัดสรรทุน ไม่ต้องแย่งลูกค้ากับตลาดทุนและตลาดเงินดังเช่นในปัจจุบัน

แต่ในโลกการเงินสมัยใหม่ ผู้จัดการการลงทุน (สถาบันการเงินตัวกลางแบบใหม่) ไม่สามารถรับเงินเดือนแบบ “น้อยแต่มั่นคง” เหมือนผู้จัดการธนาคารได้ เพราะพวกเขามีหน้าที่แสวงหาแหล่งลงทุนที่ได้กำไรสูงสุดสำหรับเจ้าของเงิน ทำให้ต้อง “ผูก” ค่าตอบแทนของพวกเขาเข้ากับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่ทำได้ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง (คือกองทุนรายอื่นๆ) แรงจูงใจดังกล่าว ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า เจ้าของเงินสามารถโยกย้ายเงินลงทุนไปให้กองทุนรายอื่นบริหารแทนได้อย่างง่ายดาย ทำให้อัตราผลตอบแทนที่นักลงทุน (เจ้าของเงิน) ได้รับ ยิ่งเกี่ยวโยงกับระดับค่าตอบแทนของผู้จัดการการลงทุนมากขึ้นไปอีก

ลักษณะแรงจูงใจของผู้จัดการการลงทุนแตกต่างจากแรงจูงใจของผู้จัดการธนาคารใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ ประเด็นแรก เนื่องจาก ผู้จัดการการลงทุนจะได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าเดิมถ้าทำกำไรได้สูงๆ ผู้จัดการการลงทุนจึงมีแรงจูงใจที่จะเสี่ยงมากกว่าปกติ (เพราะหลักการพื้นฐานในโลกการเงินคือ ยิ่งเสี่ยงมาก ยิ่งมีแนวโน้มจะได้กำไรมาก) ประเด็นที่ 2 ผลการดำเนินงานเชิงเปรียบเทียบของผู้จัดการการลงทุน (คือเปรียบเทียบกับผลงานของกองทุนอื่นๆ) เป็นปัจจัยสำคัญที่ถูกใช้เป็นเกณฑ์กำหนดค่าตอบแทนของผู้จัดการการลงทุน ดังนั้นจึงอาจทำให้พวกเขามีแรงจูงใจที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม เช่น ลงทุนในหลักทรัพย์ที่อาจประสบผลขาดทุนร้ายแรง แต่ความเป็นไปได้ (probability) ของกรณีร้ายแรงนั้นอยู่ในระดับต่ำ (ในสายตาของผู้จัดการการลงทุน) ในขณะที่หลักทรัพย์นั้นให้อัตราผลตอบแทนงามๆ ในกรณีส่วนใหญ่ที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่า นอกจากนี้ ผู้จัดการการลงทุนจำนวนมากก็เลือกลงทุนแบบ “แห่ตาม” (herd mentality) คู่แข่ง ซึ่งเปรียบเสมือนการ “ซื้อประกัน” ว่าผลการดำเนินงานของพวกเขาอย่างน้อยจะไม่ด้อยไปกว่าคู่แข่ง (เพราะถ้าด้อยกว่าก็หมายความว่าจะได้รับค่าตอบแทนส่วนตัวน้อยลง) พฤติกรรมลงทุนแบบ “แห่ตามกัน” แบบนี้อาจทำให้ราคาสินทรัพย์ที่ไปลงทุนปรับตัวสูงขึ้นกว่ามูลค่าที่แท้จริง (fundamental value) ค่อนข้างมากและอย่างรวดเร็ว

พฤติกรรมทั้ง 2 ประเภทของผู้จัดการการลงทุน (เสี่ยงมากกว่าปกติ และลงทุนแบบแห่ตาม) อาจส่งผลกระตุ้นซึ่งกันและกันในช่วงที่ราคาสินทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้น (asset price boom) ซึ่งเป็นภาวะที่ผู้จัดการการลงทุนจำนวนมากรู้สึกว่าพวกเขา “รับได้” กับความเสี่ยงผลกระทบสูงที่มีความเป็นไปได้ต่ำ (low probability “tail” risk) ว่า ราคาสินทรัพย์อาจตกวูบลงสู่ระดับที่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงได้อย่างเฉียบพลัน และการที่พวกเขาเห็นคู่แข่งจำนวนมากลงทุนในสินทรัพย์ประเภทเดียวกัน ก็ยิ่งทำให้รู้สึกอุ่นใจว่าอย่างน้อยผลดำเนินงานของพวกเขาก็คงไม่ย่ำแย่ไปกว่า คู่แข่ง (underperform) ในช่วงที่ภาวะตลาดขาขึ้นกลับกลายเป็นขาลง

แรงจูงใจทำนองนี้ของผู้จัดการการลงทุนจะพุ่งสูงกว่าเดิมในภาวะดอกเบี้ยต่ำ เพราะสถานการณ์แบบนั้นทำให้พวกเขายิ่งต้อง “วิ่งหาผลตอบแทน” สูงๆ ในตลาด และก็สามารถกู้เงินไป “ต่อยอด” กำไรได้ด้วยต้นทุนต่ำ แปลว่าสถานการณ์แบบนี้ยิ่งเอื้อต่อการเกิดภาวะ “ฟองสบู่” (ราคาสินทรัพย์พุ่งสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงหลายเท่า) มากกว่าเดิม

ประเด็นที่น่าขบคิดคือ ในโลกแบบนี้ ธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายจะสามารถทำหน้าที่เป็น “ผู้มอบสภาพคล่อง” ให้กับระบบการเงินอย่างเพียงพอได้หรือไม่ ในกรณีที่ความเสี่ยงผลกระทบสูงที่มีความเป็นไปได้ต่ำ (“tail” risk) นั้นเกิดปะทุขึ้นมาจริงๆ เพราะธนาคารพาณิชย์ปัจจุบันได้ “ยกความเสี่ยง” บางส่วนออกไปนอกงบดุลของตัวเองด้วยการใช้นวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ดังที่ได้เกริ่นไปก่อนหน้านี้แล้ว ดังนั้นจึงต้องพึ่งพาสภาพคล่องในตลาดเสียเองเพื่อป้องกันหรือกำจัดความเสี่ยง (hedge) จากนวัตกรรมเหล่านั้นให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ แปลว่างบดุลของธนาคารมีความอ่อนไหวต่อตลาดมาก ซึ่งหมายความว่า ในช่วงวิกฤตที่สภาพคล่องในตลาดเหือดหาย ธนาคารพาณิชย์อาจไม่สามารถทำหน้าที่เป็นผู้มอบสภาพคล่องได้อย่างที่เคยในอดีต เพราะเป็นผู้ต้องการสภาพคล่องไม่ต่างจากนักลงทุนรายอื่นๆ (นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ธนาคารกลางอาจจำเป็นต้องแทรกแซงตลาดยามวิกฤต ในฐานะผู้มอบสภาพคล่องขั้นสุดท้าย (liquidity provider of last resort) ให้กับระบบการเงิน)

สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้หมายความว่า ถึงแม้ว่าระบบการเงินปัจจุบันจะมีจำนวนผู้เล่นมากกว่าเดิมที่สามารถรองรับความเสี่ยงได้ ความเสี่ยงโดยรวมของระบบกลับอยู่ในระดับสูงกว่าในอดีต ตามทฤษฎีการเงิน ผู้เล่นในตลาดควรมีความหลากหลายทั้งด้านความเห็น (เช่น ระดับความเสี่ยงที่ “รับได้”) และการกระทำ ทำให้ความเสี่ยงโดยรวมของระบบถูก “กระจาย” อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในความเป็นจริง การแข่งขันระหว่างผู้จัดการการลงทุนและรูปแบบค่าตอบแทนที่อธิบายไปแล้วข้างต้น ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้จัดการการลงทุนมีความคล้ายคลึงกันมากกว่าที่ทฤษฎีพยากรณ์ไว้ ระบบการเงินอิงกับวัฏจักรธุรกิจ (procyclicality) มากกว่าในอดีต และทำให้เราไม่สามารถกำจัดความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตการเงินขึ้นรุนแรงได้ทั้งหมด (ถึงแม้ว่าความเป็นไปได้ของกรณีนั้นอาจมีระดับต่ำมาก)

ราจันเสนอว่า วิธีหนึ่งที่ผู้กำกับดูแลภาครัฐควรใช้เพื่อลดระดับการบิดเบือนแรงจูงใจของผู้จัดการการลงทุน เพื่อพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพวกเขาให้เป็นไปในทางที่สอดคล้องกับประโยชน์ส่วนรวมมากขึ้น (ความเสี่ยงของระบบการเงินลดลง) คือให้ภาครัฐเริ่มกำกับดูแลวิธีการจ่ายค่าตอบแทนของผู้จัดการการลงทุน (compensation regulation) เช่น บังคับให้ค่าตอบแทนส่วนหนึ่งของพวกเขาอยู่ในรูปหุ้นของสถาบันที่พวกเขาทำงานให้ แล้วเก็บเงินนั้นไว้ในบัญชีธนาคาร (escrow account) และจ่ายให้ผู้จัดการการลงทุนหลังจากเวลาผ่านไป 3-4 ปี เพื่อพยายามกระตุ้นให้พวกเขาลงทุนแบบ “สายตายาว” มากกว่าเดิม ไม่ใช่พยายามวิ่งหาผลตอบแทนระยะสั้นด้วยการ “แห่ลงทุน” ในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงเป็นหลัก

ในเมื่อระบบการเงินโลกมีความเสี่ยงสูงขนาดนี้ดังที่ราจันชี้ให้เราเห็น คำถามที่น่าคิดต่อไปคือ เหตุใดจึงยังไม่มีประเทศใดหรือองค์กรโลกบาลใดรับเป็น “เจ้าภาพ” ในการร่วมกันคิดหาทางออกจากภาวะล่อแหลมต่างๆ ในปัจจุบัน ที่อาจนำไปสู่วิกฤตทางการเงินระดับโลกรอบใหม่ เช่นปัญหาขาดดุลการค้าอย่างมหาศาลของสหรัฐอเมริกา และความลักลั่นระหว่างตลาดทุนกับภาคเศรษฐกิจจริงในประเทศกำลังพัฒนามากมายที่ต้องพึ่งพา “เงินร้อน” ที่เคลื่อนไหวข้ามพรมแดนในชั่วพริบตา ?



ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 24 กันยายน 2550 เผยแพร่ต่อใน //www.onopen.com/2007/01/2196




Create Date : 24 กันยายน 2550
Last Update : 31 ตุลาคม 2550 18:52:13 น. 2 comments
Counter : 809 Pageviews.

 
ขอบคุณมาก ชอบอ่าน blog นี้ เพราะได้ความรู้เยอะดีคะ


โดย: bekira IP: 83.226.251.141 วันที่: 31 ตุลาคม 2550 เวลา:2:29:19 น.  

 
ขอบคุรที่มาเยี่ยมครับคุณ bekira


โดย: Darksingha วันที่: 31 ตุลาคม 2550 เวลา:18:52:19 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.