Group Blog
 
<<
กันยายน 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
18 กันยายน 2550
 
All Blogs
 
“19 กันยา 49 รัฐประหารครั้งที่ทำความเสียหายแก่บ้านเมืองที่สุด”

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 50 มูลนิธิตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดงานเสวนา ‘ครบรอบ 100 ปีปริทัศน์: รัฐธรรมนูญและกบฏปฏิวัติรัฐประหาร - การเมืองสยามประเทศไทยสมัยใหม่ พ.ศ.2454-2550’ ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ปาฐกถาพิเศษ



ในความเห็นของผม ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับ เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่มีอุดมคติ อุดมคตินี้ผมหมายความถึงความคิดฝันถึงสังคมที่ดีงามที่พึงเกิดขึ้นในอนาคต โดยหมายถึง ทุกฝ่ายร่วมกันสร้างอุดมคติหรือความใฝ่ฝันว่า เราอยากให้สังคมของเรามีลักษณะอย่างไร อาจจะไม่ใช่ในปัจจุบัน อาจจะเป็นในอนาคตก็ได้



ส่วนนี้ไม่เคยมีในรัฐธรรมนูญฉบับใดทั้งสิ้นของประเทศไทย นักวิชาการบางท่านอาจบอกว่า...ไม่ใช่.. รัฐธรรมนูญ เป็นการจัดความสัมพันธ์ของอำนาจในปัจจุบัน ไม่ได้เกี่ยวกับอนาคต.. ผมก็เห็นด้วยว่าจริง.. แต่ผมคิดว่า ในการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในปัจจุบันนี้ เราจัดมันได้หลายแบบมาก แต่ที่ผมพยายามจะพูดถึงก็คือ เราอาจจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในปัจจุบันจากอุดมคติหรือความใฝ่ฝันถึงสังคมที่ดีงามในอนาคตได้ จะจัดอำนาจอย่างไรถึงทำให้เกิดสังคมที่ดีงามขึ้นในอนาคต อันนี้เรายังไม่เคยมี



ความใฝ่ฝันที่อยากให้การจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจอย่างนี้จะนำเราไปสู่สิ่งที่อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นจริงในขณะนั้น แต่ใฝ่ฝันว่าจะเกิดขึ้นได้ถ้าเราจัดความสัมพันธ์แบบนั้นแบบนี้อย่างไรก็แล้วแต่ แล้วส่วนนี้ผมคิดว่ามันไม่มี



ขอให้กลับไปดูคำปรารภของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ น่าประหลาดมากว่า คำปรารภของรัฐธรรมนูญไทยจะเป็นคำปรารภต่อเรื่องเฉพาะหน้าเสียเป็นส่วนใหญ่ ทั้งหมดเป็นเรื่องของปัญหาเฉพาะหน้าทั้งหลาย ฉบับแรกสุด พูดถึงเรื่องของอารยธรรม พูดถึงความล้าสมัยของระบอบการปกครองปัจจุบัน (2475) ว่าไม่มีใครเขาทำแล้ว ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับนานาอารยประเทศ นี่ก็เป็นเหตุผลเชิงปฏิบัติ เหตุผลเชิงปัจจุบันทั้งนั้น บางฉบับก็พูดถึงความมั่นคงของประเทศ ภัยคุกคามคอมมิวนิสม์ คอร์รัปชัน อะไรก็แล้วแต่ ที่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทั้งสิ้น



จริงๆ แล้ว ถ้าอ่านคำปรารภเหล่านี้ จะสรุปได้เหลือเพียงคำเดียวคือ ‘peace and order’ คำปรารภในรัฐธรรมนูญไทยคือ ‘peace and order’ ภาษาไทยที่ใช้กันก็คือความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ จะเป็นเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังคำปรารภของรัฐธรรมนูญทุกฉบับของไทย ความสงบเรียบร้อยแห่งชาตินี้ คืออุดมคติเบื้องหลังของระบอบอาณานิคมนั่นเอง ฝรั่งที่เป็นเจ้าของอาณานิคมก็จะพูดถึงความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ เป็นเหตุผลที่จะทำอะไรก็ได้ ปราบปรามคนอย่างไรก็ได้ จะยิงคนอย่างไรก็ได้ จะจัดการปกครองอย่างไรก็ได้ จะเก็บภาษีอย่างไรก็ได้ เพื่อสิ่งที่เรียกว่า ‘peace and order’ ตลอดเวลา แล้วรัฐธรรมนูญไทยนั้น ถึงจะบอกว่าไม่ได้ลอกฝรั่ง จริงๆ ก็ลอกฝรั่งตลอดมา แต่เป็นฝรั่งอาณานิคม ไม่ใช่ฝรั่งปัจจุบันเท่านั้นเอง



รัฐธรรมนูญไทยส่วนใหญ่จึงเป็นข้อตกลงของชนชั้นนำว่าจะสัมพันธ์กันในเชิงอำนาจอย่างไร ไม่เกี่ยวกับคนอื่น เกี่ยวกับกลุ่มชนชั้นนำเท่านั้นว่าแบ่งอำนาจกันอย่างไร จะให้ใครสัมพันธ์กันอย่างไร เป็นการจัดความสัมพันธ์เฉพาะหน้าให้ลงตัว โดยเปิดให้มีกลไกการต่อรองอำนาจพอสมควรด้วย รัฐธรรมนูญทุกฉบับไม่ได้ยึดอำนาจเด็ดขาดอยู่ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่มีข้อตกลงว่าจะแบ่งอำนาจกันอย่างไร และขณะเดียวกันก็เปิดให้มีอำนาจการต่อรองระหว่างกลุ่มชนชั้นนำทั้งหลายพอสมควร



ผมขอยกตัวอย่างจากปัจจุบัน แม้การต่อรองอำนาจอาจไม่ได้ปรากฏชัดๆ ออกมาในรัฐธรรมนูญก็ตาม เป็นต้นว่า สื่อมวลชนที่มีในปัจจุบัน ประกอบด้วยสองส่วน ส่วนหนึ่งก็คือสื่อมวลชนของราชการซึ่งจะอยู่ภายใต้การควบคุมของคนกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจ มีบทบาทในการควบคุมสื่อของราชการ กลุ่มที่ว่าอาจเป็นนักการเมือง หรือทหาร ก็แล้วแต่ แล้วก็อีกลุ่มหนึ่งของสื่อ ผมขอเรียกว่า ‘สื่อเสรี’ ผู้ที่เข้าถึงสื่อเสรีก็มีไม่มากเท่าไรนัก จะกระจุกตัวอยู่ในหมู่คนชั้นกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้สนใจประชาชนระดับล่างตลอดมา จริงๆ แล้วผลประโยชน์ของคนชั้นกลางก็ได้มาจากความเสียเปรียบของคนระดับล่างอย่างมากด้วยซ้ำไป



แต่คนชั้นกลาง ด้วยเหตุผลหลายอย่าง ก็ถีบตัวเข้ามาอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่าสามารถต่อรองอำนาจได้ ถ้าดูจากสื่อ คนชั้นกลางก็จะใช้สื่อเสรี เพราะไม่สามารถใช้สื่อของรัฐได้ ใช้สื่อเสรีในการต่อรองผลประโยชน์และอำนาจกับกลุ่มคนที่ครองอำนาจอยู่ คุณขึ้นค่ารถเมล์เมื่อไร คุณไม่ต้องเดินขบวน เพราะหนังสือพิมพ์ทุกฉบับก็จะโจมตีการขึ้นค่ารถเมล์ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่กระทบต่อผลประโยชน์ของคนชั้นกลางไม่ว่าจะระดับกลางระดับล่างตลอดมา หนังสือพิมพ์ก็อยากจะขายสินค้าของตนเอง เพราะรู้ว่าผู้อ่านไม่อยากให้ขึ้นค่ารถเมล์ คุณจะทำอะไรก็แล้วแต่ คุณก็จะต้องดูว่า สื่อเสรีซึ่งอยู่ในมือคนชั้นกลางจะมีปฏิกิริยาต่อต้านอย่างไร..



ฉะนั้น สื่อเสรียิ่งมีผู้รับมากเท่าไรก็จะเป็นเครื่องมือต่อรองอำนาจระหว่างกลุ่มคนที่ผมขอเรียกว่าชนชั้นนำได้พอสมควร ทุกฝ่ายในกลุ่มชนชั้นนำก็จะได้ประโยชน์จากการต่อรอง.. เพราะฉะนั้นในรัฐธรรมนูญอาจไม่ได้พูดถึงการต่อรองของชนชั้นกลางโดยตรง แต่ในขณะเดียวกันก็ให้หลักประกันแก่สื่อเสรีบางอย่างเอาไว้ ก็คือทำให้คนชั้นกลางสบายใจว่า อย่างไรก็มีช่องทางที่จะต่อรองอำนาจได้อยู่ตลอดมา...



หรือจะยกตัวอย่างการศึกษาก็ได้ การศึกษาก็คล้ายๆ สื่อ คือกลุ่มอำนาจที่ใครก็แล้วแต่มีอำนาจ ก็จะคุมการศึกษาได้ในระดับหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันก็คุมหมดไม่ได้ จำเป็นต้องเปิดช่องทางของระบบการศึกษาเอาไว้ ตัวอย่างเช่น ‘ปอเนาะ’ ที่กลุ่มอำนาจอยากคุมแต่คุมไม่ได้ ก็ต้องเปิดไว้ แต่ที่มากกว่าปอเนาะคือโรงเรียนราษฎร์ ตั้งแต่รัฐบาลนายกฯเปรม (ติณสูลานนท์) ก็มีการเปิดเสรีภาพการศึกษาให้แก่โรงเรียนและโปรแกรมที่เรียกว่าโปรแกรมนานาชาติเพิ่มมากขึ้น โปรแกรมนานาชาติก็คือสื่อเสรี คืออะไรบางอย่างที่เป็นข้อตกลงกันระหว่างผู้มีอำนาจกับกลุ่มชนชั้นกลาง ที่ผู้มีอำนาจเปิดช่องไว้ให้ใช้ ถึงที่สุดคุณก็เติมมันในอเมริกา เรียนหนังสือในอเมริกา แล้วก็เอาความรู้ที่ได้เข้ามาใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองอำนาจ



โดยสรุปก็คือ รัฐธรรมนูญไทยก็วนเวียนกันอยู่ในเรื่องนี้ เรื่องของกลุ่มชนชั้นนำที่จะเปิดช่องให้กลุ่มต่างๆสามารถเข้ามาต่อรองอำนาจกันได้ในระดับหนึ่งเท่าที่จะมีอำนาจ ถามว่ามันมีพลวัตรไหม.. มันก็มีถ้ามองเฉพาะกลุ่มชนชั้นนำอย่างเดียว กลไกเหล่านี้ก็เปิดให้มาต่อรองกันได้ เป็นแต่เพียงว่ามันไม่เกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ในประเทศเท่านั้นเอง



ในขณะเดียวกัน ผมอยากชี้ให้เห็นว่า กลุ่มคนเหล่านี้ที่เข้ามาต่อรองอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญ.. หรือการจัดโครงสร้างอำนาจอย่างนี้ หรือกลุ่มชนชั้นนำ จริงๆ แล้วไม่ใช่กลุ่มที่หยุดนิ่ง ปรับเปลี่ยนตัวเองอยู่ตลอดเวลา มีช่องทางใหม่ทางธุรกิจให้กลุ่มชนชั้นนำปรับเปลี่ยนตัวเองอยู่ตลอดมา มองเฉพาะความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจนั้น ไล่มาตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะพบว่า เศรษฐีที่เรารู้จักกันทุกวันนี้คือเศรษฐีหน้าใหม่ที่โตมาในช่วงนั้น และถ้ามองให้ลึกไปกว่านั้นอีก ประเภทของธุรกิจก็มีลักษณะที่ปรับเปลี่ยนตัวเองตลอดมา ถ้าธุรกิจมันเปลี่ยน ผลประโยชน์ของคนในกลุ่มนี้ก็ต้องเปลี่ยน เปลี่ยนจุดยืนไปด้วย ครั้งหนึ่งอาจบอกว่าเก็บภาษีขาเข้าของสินค้าขาเข้าที่แข่งขันกับคุณได้เต็มที่ เวลาต่อมา อาจพบว่าผลประโยชน์อยู่ที่การส่งออกไม่ใช่การนำเข้า เพราะฉะนั้นลดภาษีตรงนี้เสีย นโยบายด้านเศรษฐกิจก็ต้องปรับเปลี่ยนตลอดเวลาเหมือนกัน เพราะว่าเกิดช่องทางใหม่ๆ ในทางธุรกิจ



มีการขยายตัวของคนชั้นกลาง สัดส่วนของคนชั้นกลางซึ่งครั้งหนึ่งอาจมีจำนวนน้อยก็เพิ่มมากขึ้น มีความคิดใหม่ๆ จากที่อื่นๆ โผล่เข้ามา ไม่เฉพาะแต่ปรัชญาทางการเมือง แต่รวมถึงการจัดการธุรกิจแบบใหม่ๆ จัดการสุขภาพ จัดการพลังงาน จัดการสิ่งแวดล้อม จัดการความบันเทิง อะไรก็แล้วแต่ เอาของใหม่ๆ เข้ามา มีการต่อสู้ มีการขัดแย้งกันเองในหมู่ชนชั้นนำ ในเรื่องเกี่ยวกับสิ่งใหม่ๆ เหล่านี้ที่บางกลุ่มรับ บางกลุ่มไม่รับ ตลอดมา ก็เกิดการแตกตัวไปเป็นกลุ่มย่อยมากขึ้น กล่าวโดยสรุป ตลอดเวลาตั้งแต่การพัฒนาของจอมพลสฤษดิ์มาจนถึงทุกวันนี้ จะพบว่ากลุ่มชนชั้นนำแตกตัวเป็นกลุ่มย่อยลงมีฐานของผลประโยชน์ที่ไม่ตรงกันมากขึ้น



ผมพูดมาถึงตรงนี้เพื่อจะถามว่า แล้วรัฐธรรมนูญที่เรามีอยู่ ไม่ว่าฉบับใดก็แล้วแต่ มันพอจะรองรับพลวัตร หรือความตึงเครียดในตัวระบบของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลาเหล่านี้ได้มากหรือน้อยแค่ไหน.. ในการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจจะทำได้แค่ไหน.. ผมคิดว่ามันทำไม่ค่อยได้.. เพราะถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญไทยมีพลวัตรในแง่ที่ปล่อยให้มีการต่อรองเชิงอำนาจกันในกลุ่มชนชั้นนำอยู่บ้าง แต่ผมคิดว่ายังไม่เพียงพอที่จะรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาในประเทศไทยหลังจากปี 2500 เป็นต้นมา และด้วยเหตุดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีอีกกลไกหนึ่งซึ่งไม่จำเป็นต้องเขียนในรัฐธรรมนูญ นั่นก็คือ ‘การรัฐประหาร’



ตัวอย่างในปัจจุบัน เราจะพบได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงที่มานี้ มันก่อให้เกิดความตึงเครียดในตัวระบบมากอยู่ตลอดเวลา ‘แอ๊บแบ๊ว’ ‘แต่งชุดไทย’ มันก็เป็นความเห็นหรือความต้องการของคนกลุ่มหนึ่งในชนชั้นนำ และไม่ใช่เพียงเรื่อง ‘แอ๊บแบ๊ว’ กับ ‘แต่งชุดไทย’ อย่างเดียว ต้องคิดเลยไปอีกว่า นอกจากนั้นแล้วยังมีอะไรบางอย่างที่แม้แต่ในกลุ่มชนชั้นนำเองก็ไม่ไปด้วยกัน เช่น จีเอ็มโอ เป็นต้น ในกลุ่มชนชั้นนำด้วยกันก็มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับจีเอ็มโอ ซึ่งถ้ามองไปแล้วก็เป็นเรื่องความขัดแย้งของผลประโยชน์ของกลุ่มต่างๆที่ไม่ตรงกัน



ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาหนึ่งปี คุณมีรัฐบาลที่มีนโยบายด้านพลังงานที่กลับไปสู่นโยบายที่ค่อนข้างตรงตามจารีตประเพณี คือคุณใช้แก๊สอยู่ 70 เปอร์เซ็นต์ในการผลิตไฟฟ้า และรู้สึกว่าใช้แก๊สมากเกินไป จำเป็นต้อง ‘diversified’ จำเป็นต้องทำให้แหล่งพลังงานมีความหลากหลายมากขึ้นในการผลิตไฟฟ้า สิ่งที่เขาคิดคือ นิวเคลียร์ กับ ถ่านหิน ซึ่งจริงๆ แล้ว เป็นความคิดที่เก่าแก่มากทั้งในประเทศไทยและในโลก แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อคิดแบบนี้แล้ว กลุ่มคนชั้นกลางทั้งหมดเห็นด้วยไหมกับการใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์.. ไม่.. เห็นด้วยไหมกับเรื่องของถ่านหิน.. ไม่.. มันมีความตึงเครียดในเรื่องของความคิดเห็นอยู่ตลอดมา.. และนี่แหละที่ผมเห็นว่า การรัฐประหารเป็นกลไกสำคัญในรัฐธรรมนูญไทย คือถึงไม่เขียนเอาไว้ แต่ก็เป็นกลไกสำคัญที่เข้ามาปรับความสัมพันธ์ในกลุ่มชนชั้นนำด้วยกัน



ปัญหาก็คือว่า การรัฐประหารคือคำตอบที่จะใช้ได้ตลอดไปไหม.. ผมค่อนข้างจะเชื่อว่า ถึงแม้มันเป็นส่วนหนึ่งของระบอบรัฐธรรมนูญของไทยก็จริง มันสามารถเข้ามาจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจกันใหม่ สามารถเข้ามาตกลงกันในกลุ่มชนชั้นนำให้เกิดความสงบเรียบร้อยหรือ ‘peace and order’ ที่ว่าขึ้นมาได้ก็จริง โดยบางครั้งคุณก็ไล่กลุ่มชนชั้นนำบางกลุ่มให้มันหายไปอยู่ที่ลอนดอนเสีย แล้วที่เหลืออยู่จะได้ตกลงกันได้ง่ายขึ้นก็แล้วแต่ แม้กระนั้นก็ตามแต่ ผมก็สงสัยอย่างยิ่งว่า มันจะไม่สามารถที่จะรองรับความเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นในโลกนี้และกระทบเข้าสู่ประเทศไทยได้



ยกตัวอย่างการรัฐประหารครั้งนี้ ถามว่าการรัฐประหารครั้งนี้เอาเข้าจริงคืออะไร.. ผมคิดว่า นี่คือการเข้ามายึดอำนาจของกลุ่มจารีตนิยม ซึ่งมันโชคร้ายเพราะว่ากลุ่มชนชั้นนำก็ไม่ได้สังกัดจารีตนิยมทั้งหมด ผมยกตัวอย่าง ‘แอ๊บแบ๊ว’ หรือ ‘การแต่งชุดไทย’ ยกตัวอย่างการเลือกที่จะหาทางออกต้านรัฐประหาร ซึ่งในทรรศนะผมอันนี้ ‘conservative’ นะ คือจารีตนิยม อนุรักษ์นิยมอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นการรัฐประหารครั้งนี้ คือ ปฏิกิริยาของกลุ่มชนชั้นนำที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม ต่อต้านกับกลุ่มชนชั้นนำอื่นๆ ที่อาจไม่ใช่อนุรักษ์นิยมหมด ถึงแม้จะไม่ใช่พวกทักษิณก็ตาม แต่ว่าร่วมมือกันเข้ามาล้มกระดาน เพื่อจะมาตกลง ต่อรองเชิงอำนาจกันใหม่ โดยมีกลุ่มพวกอนุรักษ์นิยมเป็นหัวหอกของการนำเอาการรัฐประหารเข้ามา



ทีนี้มันโชคร้ายมาก เมื่อไรเราใช้รัฐประหาร เมื่อนั้นเราต้องใช้กองทัพ เพราะมันหนีไม่พ้น มันต้องไปด้วยกัน กองทัพก็โคตร conservative เลย เป็นอนุรักษ์นิยมที่สุดในบรรดาอนุรักษ์นิยมทั้งหลาย เป็นพวก hardcore เลย.. เพราะฉะนั้น ในขณะที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมในกลุ่มชนชั้นเองก็ไม่ hardcore ขนาดถึงกองทัพ ฉะนั้น พอทำรัฐประหาร กองทัพก็เป็นใหญ่ พอกองทัพเป็นใหญ่ โอกาสที่จะปรับตัวในระบอบอนุรักษ์นิยมก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก จึงทำให้การรัฐประหารยิ่งนับวันก็ยิ่งจะเป็นคำตอบในทางการเมืองที่ใช้ได้ยากขึ้นๆตามลำดับ และยิ่งนับวัน การรัฐประหารก็ยิ่งจะไม่ก่อให้เกิดข้อตกลงที่นำไปสู่ ‘peace and order’ อย่างที่เคยเป็นมาได้อีกแล้ว



และด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงคิดว่า มันมีอันตรายในระบอบรัฐธรรมนูญของไทยที่บวกการรัฐประหารเอาไว้แล้วค่อนข้างมาก ผมคิดว่า conservatism หรือความคิดแบบอนุรักษ์นิยมนั้น ยังดำรงอยู่ในโลกปัจจุบันได้ แต่ตัวมันเองต้องรู้จักปรับตัวเองได้ ผมเกรงว่า conservatism ของไทยมันทำตัวเองให้เรียวลงๆ แคบลง จนไม่สามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงได้ และเหลือกำลังอยู่อย่างเดียวในการดำรงรักษาตัวเอง คือกำลังอาวุธ ไม่มี conservatism ที่ไหนในโลกจะอยู่ได้ด้วยกำลังอาวุธเพียงอย่างเดียว แต่ในเมืองไทย คุณบีบตัวเองจนเวลานี้เหลือแต่กำลังอาวุธ สมัยหนึ่งยังมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังมีใครต่อใครที่สร้างความหมายใหม่ สร้างสิ่งใหม่ให้ระบอบหรือความคิดแบบอนุรักษ์นิยม ผมไม่ทราบว่าจะนับ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้หรือเปล่า อย่างไรก็ตามแต่ มันไม่เหลือแล้ว และคุณต้องหันไปพึ่งกองทัพแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งผมคิดว่าเป็นอันตรายต่อตัวเอง อันตรายต่อสังคมไทยทั้งหมด เพราะไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยที่คุณต้องการเอาไว้อีกต่อไปได้ ไม่สามารถจัดความสัมพันธ์ใหม่ให้ราบรื่นได้



ขณะเดียวกันก็มีตัวละครใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เช่น เรื่อง ‘14 ตุลา’ มาจากคนชั้นกลางรุ่นใหม่ที่เป็นผลิตผลจากการพัฒนา ‘พฤษภาทมิฬ’ ผมก็ไม่คิดว่ามาจากคนชั้นกลางสำคัญเท่ากับกลุ่มที่ อ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร เรียกว่าเป็น ‘informal urban’ คือมีกลุ่มคนเล็กคนน้อยจากชนบทที่ล่มสลายเข้ามาหากินในเมืองในระดับต่างๆ แยะมาก และถ้ามาดูรายชื่อคนที่ตายในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ผมก็ไม่ได้ตามไปดูโคตรเหง้า ดูแต่ชื่อและนามสกุล ส่วนใหญ่ก็คือคนกลุ่มนามสกุลแปลกๆ ทั้งหลายที่เข้ามาขายพวงมาลัย ฯลฯ และกลุ่มนี้ผมคิดว่าน่าสนใจ อ.ผาสุก ก็ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ใหญ่มากกว่ากลุ่มแรงงานอุตสาหกรรมในเมืองอีก นอกจากใหญ่มากแล้ว ยังเป็นกลุ่มที่เชื่อมโยงกันกับชนบทซะอีก คือแรงงานอุตสาหกรรมเริ่มจะหลุดออกไปจากชนบทมากขึ้นๆ อย่างคุยกับแรงงานที่ถูกปลดออกจากงาน เขาก็บอกว่าไม่รู้จะกลับไปได้อย่างไร เขาไม่สามารถกลับไปได้อีก ถึงมีที่ดินก็ทำนาไม่เป็น คือเขาไม่ได้ทำตั้งแต่เล็กแล้วจะทำได้อย่างไร เพราะนาก็เป็นความรู้ชนิดหนึ่ง ยังไม่พูดถึงการสูญเสียที่ดิน สูญเสียญาติพี่น้อง สูญเสียพลังในการจัดตั้งในการทำกสิกรรมไปแล้ว



แต่ในขณะที่กลุ่มที่ อ.ผาสุก เรียกว่า ‘informal urban’ หรือในกลุ่มที่เข้ามาอยู่ในเมืองแต่อยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการอยู่ค่อนข้างมาก กลุ่มนี้มีความเชื่อมโยงกับชนบทสูงมาก คนในชนบทต้องพึ่งพาอาศัยรายได้จากเขาที่ส่งกลับไป บางครั้งก็หิ้วข้าวมากินก็มี ฉะนั้น คนกลุ่มนี้ บวกกับกลุ่มอื่นในชนบทที่ยังอยู่ในภาคการเกษตร แม้กระนั้นเขาก็ยังสัมพันธ์เชื่อมโยงกับคนอีกกลุ่มใหญ่ และถูกทำให้มีสำนึกทางการเมืองด้วย และนั่นก็คือหัวหอกของการต่อสู้ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เพราะเขาเป็นเพียงแค่ informal urban จึงไม่มีอนุสาวรีย์ จึงไม่มีอนุสรณ์สถาน



อันตรายจากการปะทะกันถึงขั้นนองเลือดก็ตาม อันตรายจากการปะทะกันโดยการจัดตั้งก็ตาม ความขัดแย้งทุกชนิดที่นายทุนไทยซึ่งเสียงดังมากหวั่นวิตกว่าฝรั่งจะไม่มาลงทุน ญี่ปุ่นจะไม่มาลงทุน มันจะเป็นสภาวะปกติของประเทศไทย ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่มีการเลือกตั้ง มันจะเป็นสภาวะปกติ เพราะตัวระบบของเราเป็นระบบการเมืองที่ไม่สามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงได้



ในขณะเดียวกัน ระบบที่ไม่น่าพอใจนี้ มันก็มีเสรีภาพทางการเมืองบางอย่างซ่อนหรือแฝงอยู่ในระบบนี้ ถ้ามองแต่ชนชั้นนำ มันมีเสรีภาพทางการเมืองบางอย่างที่อยู่ในระบบนี้ เช่น รัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้ง อันนี้ผมคิดว่ามั่นคงมาก กล่าวคือว่า ไม่มีคุณจะรัฐประหารอย่างไรตั้งแต่นี้ต่อไป คุณหลีกเลี่ยงการระดมคนมาร่างรัฐธรรมนูญอีกฉบับหนึ่งและจัดให้มีการเลือกตั้งไม่ได้ มันกลายเป็นเสรีภาพทางการเมืองที่เป็นสิ่งที่มีความสำคัญให้กลุ่มชนชั้นนำดำรงอยู่ต่อไป



ขณะเดียวกัน มันมีเสรีภาพของสื่อ ไม่ว่ารัฐอะไรก็แล้วแต่ จะต้องประกันเสรีภาพของสื่อ แต่สื่อเองอาจเอาเสรีภาพไปขายให้นายทุนนี่ก็คนละเรื่องนะครับ อย่างไรก็ตามแต่ เสรีภาพของสื่อก็เป็นเสรีภาพทางการเมืองชนิดหนึ่งในระบบการเมืองของไทย



ขณะเดียวกันมีเสรีภาพในการชุมนุมประท้วงด้วย ซึ่งอันนี้มันก้ำกึ่ง ถ้าคุณอยากชุมนุมประท้วง ไม่ใช่คุณไปเรียกคนมาเฉยๆ แต่ต้องวางเส้นของการประท้วงของคุณด้วยว่า เส้นการประท้วงของคุณมันเชื่อมต่อกับเส้นไหนบ้าง บางเส้นประท้วงได้ บางเส้นประท้วงแล้วอาจจะนองเลือด แต่คุณต้องมีเส้น การประท้วงในประเทศไทยไม่ใช่อยู่ที่สนามหลวงหรืออยู่ที่ไหน แต่อยู่ที่ว่าเส้นของคุณอยู่ที่ไหน นั่นคือข้อที่หนึ่ง



อันที่สองต่อมา การชุมนุมประท้วงที่เป็นเสรีภาพทางการเมืองอันใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะประมาณ10-20ปีที่ผ่านมา แต่เสรีภาพในการชุมนุมประท้วงนั้น เปิดให้เฉพาะกลุ่มบางกลุ่ม คือถ้าคุณเป็นคนที่ไม่อยู่ในกลุ่มชนชั้นนำแล้วทำการประท้วงจะอันตรายมาก เพราะว่า หนึ่งมันไม่เกี่ยวกับเส้น และ สอง เสรีภาพที่เขารับรองเอาไว้ในรัฐธรรมนูญมันไม่ได้หมายถึง ‘มึง’ แต่หมายถึงคนที่อยู่ในกลุ่มชนชั้นนำด้วยกันที่จะทำการชุมนุมประท้วง เพราะฉะนั้น กลไกของการต่อรองอำนาจก็เริ่มซับซ้อนขึ้นด้วย การชุมนุมไม่ได้อนุญาตให้กลุ่มคนหลุดลอยออกไปจากระบบ ไม่ได้มีสิทธิเข้ามาใช้เสรีภาพทางการเมืองอย่างนี้อย่างจริงจัง



ด้วยเหตุดังนั้น ผมคิดว่าประชาธิปไตยไทยในปัจจุบันอยู่บนทางสองแพร่ง ที่ซวยชิบเป๋ง คือแม่งตันทั้งคู่



แพร่งที่หนึ่ง เนื่องจากระบบเผด็จการโดยเปิดเผยกำลังหมดไปจากโลกแล้ว สิ่งที่จะเข้ามาแทนที่คือประชาธิปไตยที่ไม่เสรี กลุ่มที่จะเข้ามาใช้ประชาธิปไตยที่ไม่เสรี ไม่จำเป็นต้องเป็นทหารอย่างเดียว อาจจะเป็นใครก็แล้วแต่ อาจจะมาจากกลุ่มที่มาจากขั้วอำนาจที่มีอยู่เดิมก็ได้ หรืออาจจะเป็นคนหน้าใหม่ก็ได้ แต่จะเข้ามายึดกุมอำนาจโดยใช้วิธีการของระบอบประชาธิปไตยที่ไม่เสรี นั่นคือ มีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง มีสื่อที่ดูเหมือนว่าจะเสรี มีฝ่ายค้านที่อ่อนแอในสภา มีฐานมวลชนพอสมควร แต่ไม่มีเสรีภาพจริงๆ ข่าวสาร ข้อมูลถูกปิดกั้น และถูกบิดเบือน ฝ่ายค้านทั้งในสภาและนอกสภาถูกตอบโต้อย่างรุนแรง และหลายครั้งก็ละเมิดสิทธิเสรีภาพชั้นพื้นฐานอย่างตรงไปตรงมา ถ้าคุณมั่นใจว่าคุณสามารถใช้สื่อปิดปากกลุ่มชนชั้นนำด้วยกันได้ ทุกคนคงจำได้ว่า สงครามต้านยาเสพติดที่มีคนตายเป็นเบือเกิดขึ้นท่ามกลางความเงียบของคนชั้นกลาง เกิดขึ้นท่ามกลางความเงียบของสื่อ สรุปง่ายๆ ระบอบทักษิณก็เป็นลักษณะอย่างนี้ คุณสามารถรักษาโฉมหน้าของประชาธิปไตยเอาไว้ได้ แต่โดยเนื้อแท้แล้วก็เป็นประชาธิปไตยที่ไม่เสรี และนี่คือรูปแบบของเผด็จการในโลกยุคปัจจุบัน เผด็จการแบบสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มันไม่มีแล้ว เกิดขึ้นได้ยากแล้วสำหรับโลกปัจจุบัน



พอมันเกิดอย่างนี้ขึ้นจะทำอย่างไร.. ก็มาถึงทางเลือกอีกทางหนึ่งของสังคมไทย ก็คือนำเอา ‘อำนาจเก่า’ เข้ามา ซึ่งของผม ‘อำนาจเก่า’ ไม่ตรงกับ คมช. นะครับ ‘อำนาจเก่า’ ของผมนี้หมายถึง ‘มึงน่ะแหละ’ (ผู้ฟังหัวเราะ) ‘อำนาจเก่า’ ใช้ความรุนแรงจากกองทัพ ใช้มาเฟีย เข้ามาทำรัฐประหาร หรือใช้การลอบสังหารซึ่งในหลายประเทศมีการทำแบบนี้ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถกลับไปสู่ระบอบเผด็จการแบบเก่าได้อีก เพราะมันเป็นไปไม่ได้อีกต่อไปแล้วในโลกปัจจุบัน คุณก็ต้องหันกลับไปใช้ประชาธิปไตยที่ไม่เสรีอีกนั่นแหละ หนีไม่พ้น ไม่ว่าจะออกทางแพร่งไหน มันก็จะลงท้ายไปที่ประชาธิปไตยที่ไม่เสรี



ประเทศไทยเวลานี้กำลังเป็นอย่างที่ผมพูด คือเราอยู่บนทางสองแพร่งที่เดินไปทางไหนก็ตันทั้งคู่ ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ป้องกันไม่ให้เกิดคนหน้าใหม่ขึ้น อย่าให้มีคนหน้าใหม่ที่คุมไม่ได้เข้ามาเป็นอันขาด ขณะเดียวกัน ก็พยายามรักษาอำนาจของคนหน้าเก่า หรือ ‘อำนาจเก่า’ ตามความหมายผมเอาไว้ นับตั้งแต่ระบบราชการเป็นต้นไป



คำถามก็คือ วิธีนี้เป็นคำตอบที่เป็นไปได้ไหมสำหรับสังคมไทยที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้.. ผมคิดว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะสังคมไทยมันเปลี่ยนไปมากกว่าที่เขาคิด ยิ่งกว่านั้น ถ้าคุณไม่ชอบคนหน้าใหม่ที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยที่ไม่เสรี การจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบนี้ผมกลับคิดว่ามีโอกาสที่จะเกิดคนหน้าใหม่ที่จะเข้ามาโดยอาศัยประชาธิปไตยแบบไม่เสรีเกิดขึ้นได้อีกอย่างแน่นอน อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นโดยผ่านการเลือกตั้ง แต่อาจเกิดขึ้นผ่านวิธี เช่น ร่วมมือกับบางส่วนของกองทัพ เป็นต้น อย่านึกว่ากองทัพจะต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและ conservative สุดกู่เพียงอย่างเดียว



ฉะนั้น หนทางเดียวที่จะต่อสู้กับประชาธิปไตยที่ไม่เสรี ผมคิดว่าสังคมไทยต้องเรียนรู้ ต้องปรับตัวเอง สังคมไทยมีพลัง คือเมื่อไรที่คุณเจอปัญหาบ้านเมืองที่หนักขนาดนี้แล้วคุณไม่สามารถวางใจ ไม่สามารถหวังอะไรกับระบบการเมืองได้ ก็ไม่รู้จะหวังกับอะไร ก็ต้องหวังกับสังคม และถ้าถามว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่น่าหวังไหม.. ผมคิดว่าไม่น่าหวังเท่าไรนักหรอก.. แต่ถ้าไม่หวังกับสังคมก็ไม่รู้จะไปหวังกับอะไร



ในขณะเดียวกัน มันก็มีสัญญาณบางอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยได้พัฒนาตัวเองพอสมควร ถ้าเปิดโอกาสให้พัฒนา เช่น ในปลายสมัยคุณทักษิณก็เห็นได้เลยว่า สังคมไทยซึ่งร่วมมือกับชนชั้นนำบางส่วนด้วย ทำให้เกิดพลังไปควบคุมคุณทักษิณมากขึ้น รัฐบาลคุณทักษิณเมื่อสามสี่เดือนสุดท้ายก่อนการรัฐประหารเป็นอัมพฤกษ์เป็นอัมพาตไปแล้ว คือขยับทำอะไรไม่ได้สักอย่าง เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วไม่ว่าคุณทักษิณจะรู้ตัวหรือไม่ แต่นักการเมืองที่อยู่รายรอบคุณทักษิณรู้แล้วว่า แบกคุณทักษิณต่อไปไม่ได้อีกแล้ว



ฉะนั้น ทั้งหมดเหล่านี้ถามว่าเกิดจากอะไร.. ผมคิดว่าเกิดจากการเรียนรู้ของสังคมพอสมควร และในแง่นี้ ถ้าไม่เกิดการรัฐประหารขึ้น จะเป็นบทเรียนที่ใหญ่มากของสังคมไทย จะเกิดความเชื่อมั่นในตัวเองว่า เราสามารถควบคุมเส้นทางของเราได้



ผมอยากประเมินว่า เท่าที่อยู่ในประเทศไทยมา 60 กว่าปี ผมคิดว่าไม่เคยมีการรัฐประหารครั้งไหนที่ทำความเสียหายแก่บ้านเมืองยิ่งกว่าครั้ง 19 กันยายน 2549 เพราะก่อนหน้านี้โอกาสของพลังของประชาชนมันไม่มีอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้มันกำลังมี และคุณก็มาชิงทำรัฐประหาร ก่อนที่สังคมจะได้สิ่งที่มันมีภาพจากการที่เราจัดการทักษิณด้วยมือของเราเอง

ที่มา : ประชาไท วันที่ : 17/9/2550

วิดีโอคลิป 4 ตอน เต็มอิ่ม 40 นาที กับปาฐกถา นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในงาน 100 ปีปริทัศน์: รัฐธรรมนูญและกบฏปฏิวัติรัฐประหาร - การเมืองสยามประเทศไทยสมัยใหม่ พ.ศ.2454-2550 วันที่ 16 กันยายน 2550

เชิญชม...










Create Date : 18 กันยายน 2550
Last Update : 28 กันยายน 2550 14:24:24 น. 1 comments
Counter : 1169 Pageviews.

 


โดย: dfgghm IP: 124.157.189.177 วันที่: 27 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:14:17:13 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.