Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2550
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
18 กรกฏาคม 2550
 
All Blogs
 
ศีลท่ามกลางความซับซ้อนของสังคม

สำหรับพุทธศาสนิกชน ศีล เป็น ๑ ในหลักพื้นฐาน ๓ ประการ ที่เรียกว่าไตรสิกขา ซึ่งทุกคนควรศึกษาและนำไปปฏิบัติ เป็นหลักพื้นฐานในการดำเนินชีวิตส่วนที่สัมพันธ์อยู่กับสังคมอันเป็นองค์ประกอบของมรรคาที่มุ่งสู่เป้าหมายสูงสุดของชีวิต ขณะเดียวกันศีลก็ยังเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นทัศนะหรือเจตนารมณ์ของพุทธศาสนาต่อสังคมได้อย่างชัดเจนอีกด้วย

ด้วยเหตุที่ศีลบัญญัติขึ้นเพื่อระบุความความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลกับองค์ประกอบต่างๆ ในสังคม เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงและซับซ้อนขึ้น ศีลก็ควรได้รับการปรับแก้มุมมอง ตีความ ให้เหมาะกับสมัย แต่ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ขัดแย้งกับหลักที่เป็นแก่นแท้ของพุทธศาสนา

ตลอดเวลาที่ผ่านมาศีลเป็นประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดความเห็นที่แตกต่างกันในหมู่ชาวพุทธ จนนำไปสู่การแบ่งออกเป็นนิกายหรือสายการปฏิบัติที่หลากหลายของพุทธศาสนาทั่วโลก

แต่นับว่าเป็นบุญของพุทธศาสนาที่ความแตกต่างเหล่านั้น ยังไม่ลุกลามไปจนก่อให้เกิดความวุ่นวาย หรือต่อสู้อย่างรุนแรงถึงขั้นแตกหัก

ในทางตรงข้าม ท่ามกลางสังคมที่แตกต่างหลากหลายในยุคนี้เรากลับเห็นชาวพุทธกลับมารวมตัว เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกันในหลายโอกาส ด้วยบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยมิตรไมตรี ซึ่งรวมถึงงานประชุมชาวพุทธทั่วโลกในช่วงวันวิขาบูชาที่ผ่านมาไม่นานนี้ด้วย

และในช่วงวันสำคัญนั้นเองพุทธศาสนิกชนชาวไทยจำนวนไม่น้อย ก็มีโอกาสรู้จักและได้แง่คิดทางธรรมจากท่าน ติช นัท ฮันห์ พระชาวเวียดนามที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ซึ่งท่านได้ตีความเรื่องศีล และพรหมวิหาร ๔ ที่เราคุ้นเคยได้อย่างลึกซึ้งเหมาะสมัยยิ่งนัก

พุทธศาสนาหลายๆ นิกายได้ขยายความศีลข้อที่ ๑ ให้กว้างขวางเกินไปกว่าการละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไปสู่การไม่สนับสนุนการฆ่า และการคัดค้านการฆ่าในทุกๆ กรณี รวมทั้งพยายามฟูมฟักจิตใจผู้คนให้มีเมตตากรุณาต่อสรรพชีวิตไม่เฉพาะแต่มนุษย์เท่านั้น

โดยหลักคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับศีลข้อนี้เอง ได้นำไปสู่ทัศนะหรือท่าทีที่ชัดเจนของกลุ่มชาวพุทธเหล่านี้ต่อกรณีความขัดแย้ง หรือประเด็นทางสังคมที่หยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ว่าเรื่องการทำแท้ง การทำการุณยฆาต การลงโทษด้วยการประหารชีวิต หรือแม้แต่การแก้ไขปัญหาด้วยสงครามหรือความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ

เช่นเดียวกับศีลข้อที่ ๕ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการงดเว้นการดื่มสุรา แต่รวมไปถึงหมาก พลู บุหรี่ และสินค้าหรือบริการที่กระตุ้นให้คนลุ่มหลง มัวเมา ขาดสติ

เมื่อศีลข้อที่ ๕ ได้รับการตีความเช่นนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องออกมารณรงค์ให้พระเลิกสูบบุหรี่ หรือให้โยมเลิกถวายบุหรี่ให้พระอย่างที่สังคมไทยกำลังทำอยู่ในช่วงนี้

การยกตัวอย่างประเด็นเหล่านี้ขึ้นมา ไม่ได้ต้องการชี้นำหรือชักชวนท่านผู้อ่านให้เห็นว่าการตีความศีลแบบที่ยกมาเป็นสิ่งที่ถูกต้องกว่า หรือดีกว่าแบบที่พุทธเถรวาทของเราที่ทำกันมา

เพียงแต่อยากชวนให้หันมาพิจารณาหลักธรรมในพระพุทธศาสนาบางเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องศีลซึ่งเป็นหมวดที่ว่าด้วยความสัมพันธ์กับสังคม ว่ามีความจำเป็นอย่างไรที่จะต้องปรับให้สอดคล้องกับยุคสมัย กับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

การตีความเหล่านี้ควรเป็นเรื่องที่พุทธศาสนิกชนทุกคนต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบ ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเรื่องของพระหรือนักวิชาการเท่านั้น

ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้โดยศึกษาประเด็นเหล่านั้นให้ลึกซึ้ง ลองนำมาปฏิบัติ และหาโอกาสศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อื่น ซึ่งอาจรวมถึงศาสนาอื่นๆ ด้วย แล้วร่วมกันหาโอกาสนำมาพินิจพิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ และแสดงออกในโอกาสที่เหมาะที่ควรให้สังคมวงกว้างได้รับรู้

การวิเคราะห์ใคร่ครวญเรื่องนี้ นอกจากจะต้องอาศัยความเข้าใจที่ชัดเจนในหลักพุทธธรรมระดับหนึ่งแล้ว เราต้องเข้าใจภาวะของสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน แย่งชิงอำนาจ และผลประโยชน์ มีการสร้างความต้องการลวงขึ้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภคอยู่ตลอดเวลาและไม่สิ้นสุด

ต้องตระหนักว่าทุกวันนี้ ภาคธุรกิจเองก็ได้เข้ามาร่วมตีความและสร้างความหมายใหม่ให้กับศีลอยู่อย่างเข้มข้นด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ก็เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจและยังใช้วิธีการที่แยบยลจนยากที่จะตามทัน

เช่นการโฆษณาสุราที่ทำให้คนรับรู้ว่าการดื่มเหล้ากลายเป็นเรื่องปกติในทุกๆ สถานการณ์ ทั้งวันธรรมดา วันหยุด ในงานฉลองดีใจ หรือในภาวะเสียใจ กำลังทุกข์ กำลังจน

ในขณะที่ศีลถือว่าการไม่ดื่มเหล้าต่างหากที่เป็นพฤติกรรมปกติของคนเรา ในงานบางชิ้นระบุหลังหลังโฆษณาหรือเขียนบนป้ายโฆษณาด้วยว่า “การดื่มสุรา ผิดศีลข้อ ๕” ประหนึ่งว่าจะเยาะเย้ย หรือลดทอนคุณค่าของศีลข้อนี้ให้กลายเป็นเรื่องล้อเล่นไม่มีความสำคัญไป

หรือในกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ์เพื่อผลิตยาที่ยังไม่หมดอายุสิทธิบัตร (Compulsory Licensing, CL.) ก็เช่นกัน บริษัทยาพยายามที่จะสื่อสารประเด็นนี้กับประชาชนว่าเรากำลัง “ขโมย” ของผู้อื่น

ในกรณีนี้จะเห็นได้ว่าความเข้าใจเกี่ยวกับหลักธรรมอย่างเดียวคงไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัย ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการออกสิทธิบัตร กระบวนการเจรจา และกระบวนการผลิตยาเหล่านั้นขึ้นมาด้วย จึงจะเข้าใจว่าการกระทำนี้ไม่ใช่การขโมยทั้งโดยหลักธรรมและการปฏิบัติตามกรอบของสังคม ตามที่บริษัทพยายามกล่าวอ้างให้ไขว้เขว

ยังมีประเด็นทางสังคมอีกมากมายที่ต้องการให้พุทธศาสนิกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตีความศีล เช่น การขับรถ หรือการใช้โทรศัพท์มือถือของพระสงฆ์ การช่วยให้คนมีบุตรด้วยวิธีการต่างๆ (ที่ต้องฆ่าตัวอ่อนจำนวนมากที่ไม่ได้รับเลือกนำมาฝังในมดลูก) หรือการแก้ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ ว่าประเด็นเหล่านี้ชาวพุทธควรมีท่าทีอย่างไร

หากมองพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นผลผลิตทางวัฒนธรรม ที่สังคมสร้างและใช้เพื่อให้คนอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข เครื่องมือทางวัฒนธรรมชิ้นใดที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างสอดคล้องกับสภาพสังคม ก็จะหมดคุณค่า หมดความนิยม และสูญหายไปในที่สุด

หน้าที่ของพุทธบริษัทในการสืบทอดดำรงพุทธศาสนาในยุคสมัยนี้ จึงไม่เพียงจำกัดอยู่ที่การปฏิบัติตามจารีตประเพณีที่สืบต่อกันมาเท่านั้น แต่ยังต้องรู้จักประยุกต์ใช้หลักธรรมให้เหมาะกับสภาพวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปด้วย

ในเมื่อศีลคือหลักปฏิบัติของพุทธศาสนาเบื้องต้นที่ทุกคนเกี่ยวข้อง และสัมพันธ์กับชีวิตประจำวันอย่างมาก จึงเหมาะสมที่สุดที่เราจะต้องช่วยกันคิดและประยุกต์ให้นำมาใช้ได้อย่างเหมาะสมัย

ตัวชี้วัดที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งของเรื่องนี้อยู่ที่เยาวชน คนรุ่นใหม่เหล่านี้มองเรื่องศีลอย่างไร

หากเราสามารถประยุกต์ให้เยาวชนสามารถนำแนวคิดเรื่องศีลไปปฏิบัติได้อย่างไม่ขัดแย้งแปลกแยกกับการก้าวไปของโลก เมื่อนั้นพุทธศาสนาก็จะยังคงอยู่คู่สังคมไทยสืบไป

บทความชิ้นนี้นำมาจาก คอลัมน์ มองย้อนศรซึ่งเป็นคอลัมน์รายสัปดาห์ ลงตีพิมพ์ใน โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันเสาร์ เขียนโดย..ทีมงานพุทธิกา ซึ่งถูกนำมาเผยแพร่ใน //www.budnet.info โดยวิชิต เปานิล
16 ก.ค. 2550 15:08





Create Date : 18 กรกฎาคม 2550
Last Update : 18 กรกฎาคม 2550 16:08:47 น. 0 comments
Counter : 736 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.