Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2550
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
12 มิถุนายน 2550
 
All Blogs
 
หรือชุมชนเข้มแข็งได้โดยไม่ต้องใช้อำนาจรัฐ



โดย เสรี พงศ์พิศ //www.phongphit.com มูลนิธิสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน



วันนี้มีชุมชนต้นแบบของความเข้มแข็งอยู่หลายแห่งในประเทศไทย ทั้งที่มี "ตรา" และไม่มีตรา ตั้งแต่ "หมู่บ้านส้วม 100%" มาจนถึง "หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ประเภทย้อมแมวหรืออัดฉีดเพื่อส่งเข้าประกวดก็มาก เป็นชุมชนเข้มแข็งแบบแข็งแต่ป้าย

ของจริงก็มีไม่น้อย อย่างไม้เรียงที่นครศรีธรรมราช คลองเปียะ น้ำขาว นาหว้า ที่สงขลา ขึ้นมาหนองกลางดง ที่ประจวบคีรีขันธ์ นาอีสานที่ฉะเชิงเทรา ม่วงหวาน-โคกเจริญ ที่บุรีรัมย์ ชุมชนหลายแห่งในเครือข่ายอินแปงที่ภูพาน และอื่นๆ ทั่วประเทศ

วิเคราะห์ชุมชนเข้มแข็งเหล่านี้จะพบว่า "ทุน" สำคัญที่สุดของพวกเขาไม่ใช่ดิน ไม่ใช่ป่าหรือทรัพยากรต่างๆ ไม่ใช่แรงงาน ไม่ใช่เงิน แต่เป็นความรู้ และปัญญา

ความรู้ที่ได้มาจากการเรียนรู้ เรียนรู้จากการปฏิบัติ จากประสบการณ์ทั้งบวกและลบ ทั้งสำเร็จและล้มเหลว ปัญญาที่ได้จากการตกผลึก สรุปบทเรียน กลายเป็นหลักคิดหลักการนำทางชีวิต

เป็นการเรียนรู้จากการต่อสู้กับปัญหาอุปสรรคที่ครอบงำชีวิตของพวกเขา ซึ่งรุนแรงที่สุดคืออำนาจรัฐและอำนาจทุน การ "ปลดปล่อย" ให้เป็นอิสระจากการครอบงำของสองอำนาจนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ในอดีตบรรพบุรุษของหลายชุมชนวันนี้ต้องหนีเข้าป่าเข้าดง ไปให้ลึกที่สุดจนทางการบ้านเมืองตามไม่ได้ไล่ไม่ทัน

สองร้อยปีก่อน บรรพบุรุษของชาวคีรีวงหนีเข้าไปอยู่ในหุบเขาหลวง แม้จะห่างจากตัวเมืองนครศรีธรรมราชเพียงยี่สิบกว่ากิโลเมตรเป็น "ไพร่หนีนาย" ไม่ยอมไปรบที่ไทรบุรี พวกเขาเพิ่งขุดถนนออกมาสู่โลกภายนอกเมื่อปี 2505 เมื่อโดนหางวาตภัยครั้งร้ายแรงที่ถล่มแหลมตะลุมพุก

เกือบสองร้อยปีพวกเขาอยู่อย่างไร ก็ไม่ได้ตัดขาดจากโลกเสียเลยทีเดียว เพราะยังล่องเข้าออกหมู่บ้านทางคลองท่าดีไปถึงปากพนัง เอาของป่าไปแลกข้าวปลาอาหารแบบ "พริกบ้านเหนือ เกลือบ้านใต้" ด้วยความสัมพันธ์แบบ "เกลอเหนือเกลอใต้"

คีรีวงเติบโตเป็นชุมชนเหมือนชุมชนอื่นๆ แต่ก็ไม่เหมือนในทุกเรื่องพวกเขามีความเป็นอิสระและหาทางช่วยตัวเอง ตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ซึ่งในปี 2531 เป็นกลุ่มออมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุด มีเงินออมถึง 10 ล้านบาท มีสถานที่ทำการกลุ่มที่บ้านไม้เล็กๆ หลังหนึ่ง ซึ่งถูกพายุใหญ่ในเดือนพฤศจิกายน 2531 ถล่ม และสายน้ำอันเชี่ยวกรากได้พัดเอาเอกสารออมทรัพย์ทั้งหมดหายไปด้วย

แต่คีรีวงก็ฟื้นกลับคืนมาได้ กระดาษหาย เอกสารหาย แต่ใจคนไม่หาย ความเป็นพี่เป็นน้องความไว้ใจกันยังอยู่ เงินทองจึงอยู่ครบ พัฒนาตัวเองอีกมากมายหลายรูปแบบจนถึงวันนี้

วิเคราะห์ชุมชนเข้มแข็งทั้งหลายแล้วพบอย่างหนึ่งที่เหมือนกัน คือ การพึ่งตนเอง การเป็นตัวของตัวเองในการคิด การตัดสินใจ การจัดการชีวิต จัดการทรัพยากร ไม่ได้นั่งรอความช่วยเหลือจากรัฐหรือภายนอก

ถ้านายเลี่ยม บุตรจันทา ผู้นำบ้านนาอีสาน ศิษย์เอกของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม จะพูดทีเล่นทีจริงว่า "30 บาทตายทุกโรค" สะท้อนอะไรบางอย่างที่อยู่ในสำนึกลึกๆ ของเขา

เขาชี้ให้ใครๆ ที่ไปดูงานที่บ้านว่า สวนออนซอนของเขานั้นเป็นทุกอย่าง เป็นทั้งซุปเปอร์มาร์เก็ต โรงพยาบาล สวนสาธารณะที่ออกกำลังกาย ที่พักผ่อนหย่อนใจ มีเงินสามสิบบาทอาจตายทุกโรค แต่ถ้ามีสวนอย่างเขาไม่ตายง่ายอย่างแน่นอนเพราะเขาพึ่งตนเองได้

ชุมชนเข้มแข็งเป็นชุมชนเรียนรู้ เรียนรู้เรื่องแรก คือ รู้จักตัวเอง รู้ว่าเป็นใครมาจากไหน ทำไมถึงได้จน เป็นหนี้เป็นสินมากมาย มาถึงทางตัน เวียนว่ายอยู่ในวงจรอุบาทว์นี้ได้อย่างไร

เรื่องนี้สำคัญ เพราะคนไม่รู้อดีตย่อมไม่รู้อนาคต คนไม่มีอดีต เป็นคนไม่มีอนาคต คนไม่มีรากเหง้าจะถูกเขา (สังคม-รัฐและทุน) กำหนดอนาคตให้หมดเลย

ในยุคอาณานิคม คนขาวไปถึงไหนก็ทำลายประวัติศาสตร์ของคนท้องถิ่น ทำลายรากเหง้าทำลายอดีตของพวกเขา เพื่อจะได้กำหนดอนาคตของคนเหล่านี้แต่เพียงผู้เดียว สังคมวันนี้ก็ไม่ได้แตกต่างกัน อำนาจรัฐก็ทำเช่นนี้

"ชุมชนอยู่ในสภาพกึ่งหลับกึ่งตื่น เนื่องจากถูกทำลายความจำ ความรู้เรื่องไทยที่ผ่านมาเป็นแง่มุมของรัฐ ประวัติศาสตร์ของชุมชนไมปรากฏ ชุมชนถูกลืมไป" (ศ.ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา)

ผู้นำชุมชนเข้มแข็งอย่างลุงประยงค์ รณรงค์ ของไม้เรียง พ่อเล็ก กุดวงศ์แก้ว ของอินแปง ผู้ใหญ่โชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ ของหนองกลางดง และคนอื่นๆ ล้วนเป็นตัวของตัวเอง รู้กำพืดของตัวเอง รู้ว่าเป็นใคร มาจากไหน มีความเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่เคยวิ่งเข้าหาอำนาจรัฐ หรือวิ่งตามหลังนักการเมือง มีแต่ตรงกันข้ามมากกว่า

ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม "เจ้าสำนัก" วนเกษตร ผู้ล้มเหลวจากการทำเกษตรพืชเดี่ยว 200 ไร่ ล้มลงแล้วลุกขึ้นมาใหม่ในวิถีแบบพอเพียงของวนเกษตรบอกว่า "การพึ่งตนเองเป็นสภาวะอิสระ หมายถึงความสามารถของคนที่จะช่วยเหลือตนเองให้มากที่สุด ไม่เป็นภาระคนอื่นมากเกินไป มีความสมดุลความพอดีในชีวิต เป็นสภาวะทางกายที่สอดคล้องกับสภาวะทางจิตที่เป็นอิสระ"

ผู้ใหญ่วิบูลย์ สรุปจากประสบการณ์ว่า "วนเกษตรทำให้คนเชื่อมั่นในตนเอง อันดับแรกเชื่อว่าเราจะพึ่งตนเองได้ พอมีความเชื่อตรงนี้เราก็มีเสรีภาพทางความคิด เสรีภาพทางความคิดทำให้เราไม่กลัวถูกใครปฏิเสธ กล้าคิด กล้าตัดสินใจเรื่องต่างๆ ด้วยตนเองมากยิ่งขึ้น กล้าเลือกว่าชีวิตตัวเองควรเป็นอย่างไร รู้อะไรผิดอะไรถูกมากขึ้น"

สภาวะอิสระทางความคิดทำให้ชุมชนสามารถค้นคิดอะไรที่เป็นนวัตกรรม สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้ เหมือนที่ลุงประยงค์และผู้นำชุมชนที่ไม้เรียง ที่นครศรีธรรมราชและภาคใต้คิดหาทางออกเรื่องยางพารา ทำแผนแม่บทยางพาราไทย กลางเป็นฐานการปฏิวัติราคายางในเวลาต่อมา

แผนแม่บทชุมชนก็เกิดจากประสบการณ์ของชุมชนเข้มแข็งเหล่านี้ที่เรียนรู้ จัดระบบคิด ระบบการจัดการชีวิต จัดการทรัพยากรอย่างมีแบบมีแผน โดยไม่ได้วิ่งตามกรอบวิชาการสถาบันไหนหรือกรอบอำนาจคำสั่งของกระทรวงไหน

จึงมีหลัก 353 ของสำนักวนเกษตรที่ให้เรียนรู้ 3 อย่าง คือ รู้ตัวเอง รู้ปัญหา รู้ทรัพยากรให้จัดการ 5 อย่าง คือ ข้าว อาหาร สมุนไพร ของใช้ ปุ๋ย และให้ทำ 3 แผน คือ แผนชีวิต แผนชุมชน แผนทรัพยากร ทำได้ดังนี้ชีวิตต้องรอดได้อย่างแน่นอน ไม่รวยก็มีความสุข เพราะจะอยู่ได้อย่างพอเพียง

ชุมชนเข้มแข็งมีเครือข่าย เพราะเครือข่าย คือ ทุนทางสังคมที่ใหญ่ที่สุดทุนหนึ่ง ที่บรรพบุรุษได้ถ่ายทอดมาให้ คนในอดีตอยู่ได้เพราะพึ่งพาอาศัยกัน อยู่กันเป็นชุมชน มีจารีตมีประเพณี มีฮีตมีคอง มีการจัดความสัมพันธ์ ไม่มีสถาบัน ไม่มีองค์กร

ชุมชนเข้มแข็งมีเครือข่ายในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด และข้ามเขตข้ามพื้นที่ตามประเด็นความสนใจ และปัญหา สร้าง "ขบวนการ" (movement) ที่เคลื่อนไหวไปข้างหน้าด้วยกัน

หัวใจของขบวนการประชาชน คือ จิตวิญญาณ (spirit) จิตวิญญาณของความเป็นพี่เป็นน้อง การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน พึ่งพาอาศัยกัน จิตวิญญาณซึ่งไม่ใช่ความว่างเปล่าที่ล่องลอยไปมา แต่มีฐานรูปธรรมของวิถีชีวิตที่แสดงออกถึงจิตวิญญาณดังกล่าว

เป็นอะไรที่แตกต่างไปจากความเป็น "สถาบัน" (institution) ซึ่งเกิดจากการจัดตั้งของผู้มีอำนาจ เป็นคำสั่งจากบนลงล่าง จากความสัมพันธ์แนวดิ่ง ในขณะที่ขบวนการ (movement) เป็นความสัมพันธ์แนวราบ

ที่มาของกฎระเบียบของสถาบันมาจาก "อำนาจ" ทำให้สถาบัน "แข็งตัว" ส่วนของขบวนการมาจาก "จิตวิญญาณ" อันเป็นพลังชีวิต มีพลวัต เป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากสถาบันกับอำนาจเป็นอันเดียวกัน ขบวนการกับจิตวิญญาณก็เป็นอันเดียวกัน

ไม้เรียงก็ดี อินแปงก็ดี หนองกลางดงก็ดี มีฐานคิดที่การพึ่งตนเอง เป็นอนาธิปัตย์โดยหลักการแม้ไม่ได้ปฏิเสธอำนาจรัฐ แต่ก็ไม่ได้หวังพึ่งอำนาจรัฐ ไม่ว่าใครจะไปใครจะมามีอำนาจเป็นนายกฯ เป็นรัฐมนตรีก็ไม่มีความแตกต่าง พวกคุณก็คืออำนาจรัฐเหมือนกัน ซึ่งครอบงำ สั่งการ และ "ปกครอง" ชุมชนต่อไปในวิถีของรัฐ อาจจะแตกต่างกันบ้างในรายละเอียดของรูปแบบบางอย่างเท่านั้น

ผู้ใหญ่โชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ เป็นผู้ใหญ่บ้าน แต่ก็ยืนอยู่ข้างประชาชนและวิพากษ์อำนาจรัฐอย่างตรงไปตรงมาว่า "ผมไม่เชื่อว่าคนข้างนอกจะไปสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนได้ ชุมชนต้องสร้างเองเหมือนผลึกที่มันต้องเกิดตรงนั้น แล้วก็โตขึ้นโดยธรรมชาติ ต้องยอมรับว่า ผู้นำทางการซึ่งมีอิทธิพลต่อการนำชุมชนหลายคนยังขาดวิธีคิด ขาดความชัดเจน กลายเป็นเครื่องมือของอำนาจรัฐ สั่งให้ทำก็ทำ ทำเพื่อละลายงบประมาณ เงินหมดก็เลิก"

"การรวมตัวกันต่อเนื่องเป็นตัวชี้วัดความเข้มแข็งของชุมชนทำให้มั่นใจว่าเราแก้ปัญหาในหมู่บ้านได้ที่เกินกำลังค่อยบอกข้างนอกมาช่วย พูดง่ายๆ คำตอบอยู่ที่หนองกลางดงไม่ได้อยู่ที่แหล่งงบประมาณ เงินเป็นเรื่องเล็ก แต่ความรู้สึกมั่นใจของคนในชุมชนเป็นเรื่องใหญ่กว่า"

แต่ในความเป็นจริง เงินไม่ใช่เรื่องเล็กสำหรับชุมชนและผู้นำชุมชนจำนวนมากซึ่งขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ต้องพึ่งพาอาศัยอำนาจรัฐงบประมาณของรัฐตลอดเวลา ถ้าไม่มีก็ทำอะไรไม่ได้ และเพื่อให้สามารถพึ่งพารัฐได้ง่ายเข้า จึงต้องการมีสถานภาพทางกฎหมาย เป็นสถาบัน มีระเบียบรองรับ มีงบประมาณสนับสนุนอย่างมั่นคง ดีกว่าการเป็น "ขบวนการ" และ "เครือข่ายองค์กรประชาชน"

ในระยะสิบกว่าปีมานี้ มีการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน การเรียนรู้ดูงาน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเรียนรู้กันง่ายๆ ส่วนใหญ่มักเป็นแค่การเลียนแบบเท่านั้น ยังไม่ไปถึงการเรียนรู้ ยังได้แต่ความรู้ เทคนิคทักษะบางอย่าง แต่ไม่ได้ปัญญาอันเป็นหลักคิด หลักการสำหรับชีวิต ซึ่งต้องเปลี่ยนจากภายในไม่ใช่ได้แต่ภายนอก

ชุมชนเข้มแข็งอันเป็นต้นแบบทั้งหลายไม่ได้เข้มแข็งกันชั่วข้ามคืน แต่ใช้เวลานานมากเพื่อเรียนรู้และจัดการชีวิตของตนเอง หนี้สินเป็นแสนไม่ใช่จะชำระได้ง่ายๆ ภายในสามเดือน แต่คนทั่วไปก็ต้องการทางลัดต้องการแก้ปัญหาเร็วๆ ต้องการสูตรสำเร็จ ต้องการคำตอบสำเร็จรูป ไม่อาจมีความเพียรทนขนาดพระมหาชนกได้

ส่วนใหญ่มองชุมชนเข้มแข็งแต่เพียงรูปแบบ ไม่เห็นเนื้อหา ไม่เห็นกระบวนการจึงเกิดความผิดเพี้ยน หลายคน หลายชุมชน หลายองค์กรที่ทำงานกับชุมชนจึงมักสรุปเอาว่า ถ้าหากจะทำให้ชุมชนเข้มแข็งได้จริงก็ต้องมีกฎหมายรองรับ มีงบประมาณและอื่นๆ ต้องการรูปแบบที่ "คานอำนาจรัฐ" ได้หรือเป็นภาคีที่เท่าเทียมในสถานภาพทางกฎหมาย

ความจริง รูปแบบ เนื้อหา กระบวนการของชุมชนเข้มแข็งเป็นสามมิติของเรื่องเดียว เป็นอะไรที่ต้องไปด้วยกัน คือ ความเป็นขบวนการ (movement) ที่ขับเคลื่อนด้วยจิตวิญญาณ ด้วยพลังปัญญาไม่ใช่ด้วยกฎหมายหรือระเบียบ ไม่ใช่ด้วยอำนาจหรือด้วยเงิน

แล้วจะแปลกอะไรถ้าหากลุงประยงค์ รณรงค์ ก็ดี ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ก็ดี ผู้ใหญ่โชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ ก็ดี จะไม่เห็นว่าจำเป็นต้องมีกฎหมายสภาองค์กรชุมชน เพราะชุมชนจะเข้มแข็งได้เพราะความเป็น "อิสรชน" มากกว่าอย่างอื่น

ที่ไม้เรียง ที่บ้านหนองกลางดง และในชุมชนเข้มแข็งทั้งหลายมี "สภาผู้นำ" ซึ่งมีที่กำเนิดที่ตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราชเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ที่นั่นลุงประยงค์เป็นตัวเชื่อมประสานให้ผู้นำชุมชนจากหมู่บ้านต่างๆ มาพบปะหารือร่วมกันว่า จะแก้ไขปัญหาต่างๆ และมีแผนพัฒนาตนเองได้อย่างไรในฐานะ "เจ้าของชุมชน" ตัวจริงไม่ใช่รอแต่ "นโยบายของรัฐ" รอโครงการรองบประมาณจากรัฐ

เริ่มต้นสภาผู้นำที่ไม้เรียงประกอบด้วยตัวแทนจากหมู่บ้าน 8 หมู่ หมู่ละ 5 คน รวมเป็น 40 คนโดยหมู่บ้านเป็นคนคัดเลือกมา ทุกคนต้องถอดหัวโขนออกหมด ไม่มีนายก อบต. ประธานสภาฯ กำนันผู้ใหญ่บ้าน หรือตำแหน่งอะไรทั้งสิ้น มีแต่ประชาชนเต็มขั้นที่ต้องการเข้ามาร่วมกันวางแผนพัฒนาและแก้ปัญหาท้องถิ่นของตนเอง

ที่นั่นไม่มีใครแย้งว่า สภาผู้นำไปทับซ้อนกับ อบต.หรือเทศบาลไม้เรียง

บางเรื่องคุยกันเป็นเดือนเป็นปีกว่าจะได้แนวปฏิบัติ หรือทางออก เมื่อได้แนวทางแล้ว ก็ไปประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อะไร อบต.ทำได้ หรือมีหน้าที่โดยตรงก็ยกให้ อบต. อะไรที่เกี่ยวกับการศึกษาก็ไปที่โรงเรียนหรือ กศน. อะไรที่เกี่ยวกับเกษตรก็ประสานกับเกษตร

สภาผู้นำเช่นนี้ใหญ่กว่าสภา อบต.หรือสภาอะไรก็ได้ที่มีกฎหมายรองรับมีงบประมาณสนับสนุน เป็นสภาชุมชนที่ "สั่ง" อบต. ได้ "สั่ง" ข้าราชการได้ไม่ต้องวิ่งตามหลังอำนาจรัฐหรือระบบราชการ แต่ให้อำนาจรัฐวิ่งตาม

เป็นสภาของประชาชนที่ประชาชนเป็นใหญ่อย่างแท้จริง ใหญ่ที่ใจ ใหญ่ที่จิตวิญญาณ ขับเคลื่อนด้วยพลังปัญญา เป็นขบวนการประชาชน ประชาสังคม รากฐานประชาธิปไตย

การอภิปรายกฎหมายสภาองค์กรชุมชนวันนี้ไม่เห็นมีสถาบันการศึกษาไหนออกมาถกเถียงอภิปรายว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร หรือว่าไม่เห็นความสำคัญ หรือว่าไม่เข้าใจความสำคัญ

ไม่ว่าเพลโต มักเกียวแวลลี หรือรุสโซจะมีความเห็นเรื่องอำนาจรัฐว่าอย่างไร ไม่ว่ากรัมชี หรือโนม ซอมสกี้ จะมีหลักคิดว่าด้วยอำนาจประชาชนว่าอย่างไร สังคมไทยควรจะสรุปบทเรียนของตนเอง

หรือว่านอกจากรัฐและทุนแล้ว วิชาการก็คืออีกอำนาจหนึ่งที่ครอบงำ

ที่มา มติชนรายวัน วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10685 หน้า 6

หรือชุมชนเข้มแข็งได้โดยไม่ต้องใช้อำนาจรัฐ




Create Date : 12 มิถุนายน 2550
Last Update : 12 มิถุนายน 2550 16:44:22 น. 1 comments
Counter : 982 Pageviews.

 
จริงๆด้วยนะครับ น่าจะยกย่องชุมชนเหล่านี้ ที่สามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นที่จะต้องไปให้คนอื่นมาช่วยเหลือ อะไรที่ตัวเองทำพลาดไปก็แก้ไขได้ ไม่ใช่ต้องเรียกร้องไปเสียทุกเรื่อง


โดย: sak (psak28 ) วันที่: 12 มิถุนายน 2550 เวลา:17:48:32 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.