Group Blog
 
<<
เมษายน 2550
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
11 เมษายน 2550
 
All Blogs
 
วัฒนธรรมทีวี

วัฒนธรรมทีวี
ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์

บทความนี้ เคยได้รับการตีพิมพ์แล้วบนหน้าหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์
เป็นผลงานของศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์

หลายปีมาแล้ว เมื่อตอนจีนเพิ่งแง้มประตูออกสู่โลกภายนอก ผมได้มีโอกาสรู้จักกับศาสตราจารย์จีนท่านหนึ่งที่ญี่ปุ่น เราใช้ชีวิตอยู่ร่วมบ้านกันเป็นเดือน ในสังคมที่พูดกับคนอื่นไม่ค่อยรู้เรื่อง เราจึงค่อนข้างใกล้ชิดสนิทสนมกัน

วันหนึ่ง ผมถือวิสาสะถามสิ่งที่ค้างคาในใจผมกับท่านว่า ความผันผวนทางการเมืองในจีนซึ่งทำให้วีรบุรุษและผู้ร้ายพลิกบทบาทกันไปมาในสายตาของสาธารณชน ซึ่งมีช่องทางของข่าวสารจากรัฐอยู่เพียงช่องเดียว วันนี้แก๊งสี่คนคือผู้สืบทอดเจตนารมณ์ของท่านประธานเหมา เป็นวีรบุรุษซึ่งต่อสู้กับพวกลัทธิแก้ อันมีผู้ร้ายชื่อ เติ้ง เสี่ยว ผิง เป็นผู้นำ พรุ่งนี้ แก๊งสี่คนกลายเป็นอันธพาลที่ตั้งแก๊งขึ้นทำลายการปฏิวัติ เติ้งกลายเป็นวีรบุรุษ ท่านประธานกลายเป็นเทพเจ้า ซึ่งทำอะไรไม่ได้นอกจากรับการเซ่นไหว้ ทั้งๆ ที่ท่านเพิ่งสนับสนุนพระเอกอันได้กลายเป็นผู้ร้ายไปแล้วหยกๆ

ภาพที่ผันผวนอย่างนี้ คนจีนรับไปได้อย่างไร เพราะภาพที่ออกมาทางสื่อแก่ชาวโลก คนจีนเป็นนักดูละครเชื่องๆ ที่พร้อมจะเฮไปตามคิวที่เขาส่งให้เท่านั้นหรือ ท่านเงียบไปพักหนึ่ง แล้วก็ตอบด้วยเสียงที่ทำให้ผมรู้ว่าท่านใช้ความเงียบเมื่อครู่เพื่อระงับอารมณ์โกรธ(ผม) นั่นเอง ท่านพูดว่า คนจีนก็เป็นคนเหมือนกันในความหมายว่าไม่ได้กินแกลบ แล้วท่านก็ข่มอารมณ์อธิบายต่อว่า ถึงเรารู้ว่านี่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่จะมีคนเลวหรือดีขนาดนั้น เราก็ไม่มีทางเลือกอื่น

ผมนึกถึงเรื่องนี้ขึ้นได้เมื่อดูข่าวทีวีหลังการรัฐประหาร ต้องสารภาพว่าผมไม่ได้สนใจเนื้อหาของข่าวทีวีหรอกครับ ก็รู้อยู่ว่าข่าวทีวีเป็นอย่างไร แต่ผมอยากหาความสะใจจากการดูหน้าของโฆษก แล้วผิดหวังครับ ไม่ได้รับความสะใจที่ต้องการเลย

คืออย่างนี้ครับ ก็โฆษกเหล่านี้แหละทั้งหญิงและชาย ภายใต้รัฐบาลทักษิณ ได้ใช้เวทีข่าวสำหรับการประจบประแจงทักษิณและบริวารอย่างออกหน้าออกตา ก็จริงหรอกครับว่าเขาเป็นเพียง "นักแสดง" เพราะอ่านตามบทที่ฝ่ายข่าวเขียนมาให้ แต่เขา "แสดง" ได้ถึงใจกว่าบทมากมายนัก เพราะจะมีความเห็นสั้นๆ ตบท้ายข่าว หยอกล้อระหว่างกันเพื่อเสริมส่วนที่อยู่ "ระหว่างบรรทัด" ของบทให้ชัดเจนขึ้น บิดประเด็นของข่าวเกี่ยวกับฝ่ายต่อต้านทักษิณเสียด้วยคำพูดหรือท่วงท่าที่เหยียดให้ประเด็นนั้นไร้ความสำคัญ ฯลฯ

เลี่ยนครับ เลี่ยนจนผมสงสัยว่าคุณทักษิณเองอาจแอบอ้วกก็ได้

ผมก็อยากจะดูว่า พวกเขาจะใช้ลิ้นที่เพิ่งละเลงเกือกคู่เก่ามาละเลงเกือกคู่ใหม่ได้ฉับพลันอย่างไร คาดว่าหน้าตาของเขาคงแสดงความผะอืดผะอมน่าดู แล้วก็ผิดหวังอย่างว่าแหละครับ เกือกคู่ไหนๆ เขาก็ไม่เกี่ยง ยังคงเลี่ยนเหมือนเดิม

เช่น เมื่อรายงานข่าวปฏิกิริยาของประชาชนในกรุงเทพฯ ต่อการรัฐประหาร ฝ่ายข่าวก็พยายามให้ภาพของความเป็นมิตรระหว่างทหารและประชาชน มีคนอุ้มลูกจูงหลานไปถ่ายรูปร่วมกับรถถังเยอะแยะ แล้วโฆษกก็ตบท้ายว่าคนไทย "รู้รักสามัคคี" ก็เขาเพิ่งยึดอำนาจบ้านเมืองไปไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านั้นด้วยเหตุผลว่า เกิดความแตกแยกในบ้านเมืองอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แล้วจะมาพูดว่าคนไทย "รู้รักสามัคคี" กันโดยไม่หวั่นเลยว่าผู้ฟังจะเลี่ยนหูได้อย่างไร

คนไทยก็เป็นคนเหมือนกันนะครับ แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็เพิ่งสำนึกได้ว่าที่ผมถามศาสตราจารย์จีนนั้นเป็นคำถามที่งี่เง่า ในความหมายที่ว่าไร้เดียงสามาก เพราะคนจีนก็เหมือนคนไทยเวลานี้ คือแยกได้ว่าข่าวในสื่อทุกชนิดย่อมเป็นเพียงบางมุมของสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้ทำข่าวเลือกมาเสนอเท่านั้น จะเลือกด้วยความบริสุทธิ์ใจหรือไม่ก็ตาม อย่างไรก็ตาม ความงี่เง่านี้ไม่ได้มาเองตามธรรมชาติ (ผมหวังว่าอย่างนั้นนะครับ) แต่มีสาเหตุจากสภาวะทางการเมืองที่ต่างกันระหว่างจีนและไทยในช่วงนั้น

ในขณะที่จีนกำลังอยู่ในภาวะผันผวนทางการเมืองหลังปฏิวัติทางวัฒนธรรม การเมืองไทยกลับมี "เสถียรภาพ" กว่ากันมาก เสถียรภาพทางการเมืองของไทยไม่ได้หมายความว่าไม่เปลี่ยนรัฐบาลโดยการยึดอำนาจ แต่หมายความว่าอำนาจที่แท้จริงในการตัดสินทางการเมืองตั้งมั่นคงอยู่กับสถาบันเดียวคือกองทัพ นับตั้งแต่หลัง 2475 มาเลยก็ได้ แม้ว่าในภายหลังจะมีสถาบันอื่นเข้ามามีส่วนร่วมด้วย แต่ทั้งกองทัพและสถาบันอื่นมีความคิดทางการเมืองหลักๆ ไปในทางเดียวกัน และเสริมพลังกันและกันจนแยกออกจากกันไม่ได้ด้วย

สถาบันที่ไม่ได้มีความคิดทางการเมืองร่วมกับกองทัพเข้ามาแทรกได้ในช่วงสั้นๆ เท่านั้น สถานการณ์เพิ่งจะเริ่มเปลี่ยนอย่างเห็นได้ชัดใน พ.ศ.2529 นี่เอง แม้ว่าจุดเริ่มต้นอาจย้อนกลับไปได้ถึง 2516 ก็ตาม ด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงเติบโตมากับข่าวทีวีที่มีผู้อ่านหน้าตาขึงขัง พูดอะไรที่เป็นภาษาทางการเสียจนไม่มีใครอยากดู และในความเป็นจริงรายการข่าวก็เป็นรายการที่เด็กๆ ได้มีเวลาทำการบ้าน เพราะส่วนใหญ่แล้วจะปิดทีวีเสียเกือบทุกหลังคาเรือน

ทฤษฎีทีวีในตอนนั้นก็คือ คนอ่านข่าวต้องมีบุคลิกน่าเชื่อถือ ท่วงทำนองการอ่านก็ต้องเคร่งเครียดเพราะกำลังพูดความจริง เพื่อที่ว่าโฆษกจะได้ไม่ต้องย้ำว่าพูดจริงนะโว้ย ก่อนจบรายการ

ความเป็นรายการโฆษณาชวนเชื่อของข่าวทีวี ทำให้ผมเข้าใจผิดว่าคนไทยมีความคิดความเข้าใจที่สลับซับซ้อน (sophistication) ทางการเมืองเสียจนปิดทีวีหรือไม่ถือเนื้อหาของข่าวทีวีว่าสำคัญ ประหนึ่งว่ารู้เท่าทันสื่อ จนใจไม่ตามไปยกย่องคนที่ทีวียกย่อง หรือสาปแช่งคนที่ทีวีประณาม และด้วยเหตุดังนั้น การกระโดดโลดเต้นเชียร์พระเอกวันนี้ แล้วเชียร์ผู้ร้ายพรุ่งนี้ จึงเป็นการกระทำที่รู้เท่าทัน แต่ต้องทำตามใจผู้มีอำนาจ เพราะส่วนใหญ่ของการกระโดดโลดเต้นมักมีราชการเป็นผู้นำ เบื้องหน้าให้นายเห็นบ้าง เบื้องหลังให้นายรู้บ้าง ประชาชนผู้ดูทีวีถูกเกณฑ์ให้ไปกระโดดโลดเต้นตามเท่านั้น ผู้อ่านข่าวหน้าเครียดไม่สามารถสั่งใครได้จริง

และอันที่จริง ถึงจะกระโดดโลดเต้นต่างจังหวะจากเดิมอย่างไร ผู้ให้จังหวะก็เจ้าเก่า คือกองทัพที่อยู่กับการเมืองไทยมานานแล้วนั่นเอง

พระเอกผู้ร้ายในเมืองไทยไม่เปลี่ยนหน้ากันรวดเร็วนักในช่วงนั้นก็เพราะ "เสถียรภาพ" ทางการเมืองที่มาจากการผูกขาดอำนาจค่อนข้างเด็ดขาดของกองทัพ แล้วเลยทำให้ดูเหมือนคนไทยจะมีความคิดความเข้าใจทางการเมืองที่สลับซับซ้อน จนทำให้ผมมองไม่เห็นว่าคนจีนก็อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องกระโดดโลดเต้นไปตามคำสั่งของผู้มีอำนาจเหมือนกัน ต่างกันแต่ว่าผู้มีอำนาจไม่ใช่สถาบันที่คงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง อาจเปลี่ยนจากแก๊งหนึ่งไปยังอีกแก๊งหนึ่งได้เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ข่าวทีวีซึ่งเป็นช่องทางสำคัญที่ผู้มีอำนาจใช้สำหรับการกำหนดจังหวะการกระโดดโลดเต้นของพลเมือง เป็นรายการที่ไม่ค่อยมีคนดู นั่นคือเหตุผลที่เมื่อจะเปลี่ยนจังหวะการกระโดดโลดเต้นแต่ละครั้งจึงต้องยกเลิกรายการปกติทั้งหมดเหลือเพียงรายการเดียว คือรายการจังหวะเสมอ

เราเคยนึกว่าที่คนไทยไม่ค่อยดูข่าว เป็นเพราะคนไทยไม่ "พัฒนา" แต่ที่จริงแล้วรายการข่าวทีวีมีปัญหาทั้งโลก กล่าวคือ หลังจากหมดเหตุการณ์น่าตื่นเต้นไปแล้ว (เช่น สงคราม) ก็ไม่ค่อยมีใครอยากดูนัก นักเล่นหุ้นอยากดูเฉพาะบางส่วน, ประชาชนทั่วไปอยากดูเฉพาะตอนผู้ร้ายจี้ตัวประกัน ฯลฯ "การแสดง" ของรายการข่าวทีวีจึงเปลี่ยนไป เพื่อเรียกคนดูให้ได้มากๆ ข่าวทีวีในเมืองไทยทุกวันนี้ที่ยังอ่านโดยโฆษกหน้าตายเหลือน้อยลง ส่วนใหญ่มักมีโฆษกสองคน และเพิ่มบทสนทนาหยอกล้อและหยอดท้ายระหว่างโฆษกทั้งสองเพื่อทำให้เพลิดเพลินยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน ข่าวกุ๊กกิ๊กก็เพิ่มมากขึ้นด้วย

ประสบความสำเร็จนะครับ เพราะดูจากโฆษณาที่สนับสนุนรายการข่าว ก็จะเห็นว่ามีเพิ่มขึ้น และมักเป็นสินค้าสำหรับคนชั้นกลางขึ้นไปด้วย แสดงว่าอย่างน้อยก็ประสบความสำเร็จในการดึงคนดูบางชั้นมาสู่ข่าวได้ แม้กระนั้น ข่าวก็ยังเป็นการกำหนดจังหวะการกระโดดโลดเต้นของสังคมอยู่ดี นักแสดงในรายการข่าวจึงต้องทำสามอย่างพร้อมกัน คือ ทำให้สนุก, ทำให้ตรงจังหวะ และทำให้น่าเชื่อถือ

สามอย่างนี้ขัดกันเอง เพราะทำให้ตรงจังหวะอาจทำลายความน่าเชื่อถือลงไป และผมออกจะเชื่อว่าคนดูข่าวทีวีส่วนใหญ่ไม่สนใจกับความน่าเชื่อถือของข่าวทีวีนัก แต่ดูเพื่อจะรู้ว่าผู้มีอำนาจกำหนดจังหวะอะไร แล้วไปคิดค้นต่อเอาเองว่าเขากำหนดจังหวะอย่างนี้เพื่ออะไร ด้วยเหตุดังนั้น รายการข่าวทีวีจึงมุ่งตอบสนองสองอย่างแรก คือสนุก กับตรงจังหวะ สองอย่างนี้สอดคล้องกันนะครับ เพราะถ้าไม่ตรงจังหวะ สถานี (หรือนายทุน-ผู้บริหาร) ก็จะถูกกลั่นแกล้งหรือปลดออก อันนี้ไม่สนุกแน่ครับ โฆษกหรือผู้แสดงในรายการข่าว ทำสองอย่างนี้ไม่สำเร็จก็ไม่สนุกเหมือนกันนะครับ

สรุปก็คือ รายการข่าวทีวีก็เป็นเพียงอีกรายการหนึ่ง ที่มุ่งจะให้ความบันเทิง อันเป็นสินค้าที่ทีวีขายหากำไร ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความรับผิดชอบทางธุรกิจ ทั้งผลประโยชน์และผลประโยชน์บริษัท ที่จะต้องทำหน้าที่พ่อค้าให้ดีเท่านั้น และผมเชื่อว่า สังคมจะเรียนรู้เรื่องนี้ได้มากขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อันตรายของข่าวทีวีที่ไม่ได้เสนอความจริงจึงลดลงไปพร้อมกัน (แต่อาจไปสร้างอันตรายอย่างอื่นแทนก็ได้ แต่นั่นเป็นคนละเรื่องกัน)

คิดได้อย่างนี้แล้ว ก็ต้องขอลุแก่โทษกับโฆษกข่าวทีวีทั้งหลายด้วย ที่เคยไปรู้สึกสมเพชกับท่านทั้งหลายมาก่อน ตอนนี้เข้าใจแล้วว่าท่านก็ทำงานตามหน้าที่ของท่านที่มีต่อบริษัทไปเท่านั้น เชิญเปลี่ยนไปตามสบายเลยครับ ผมเข้าใจ



Create Date : 11 เมษายน 2550
Last Update : 11 เมษายน 2550 11:24:04 น. 0 comments
Counter : 2266 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.