Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2550
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
5 ตุลาคม 2550
 
All Blogs
 
ความรุนแรงกับกาลเวลา:ปาฐกถาในวาระ 30 ปี 6 ตุลา

โดย ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์




“พี่ๆ ตำรวจครับ กรุณาหยุดยิงเถอะครับ เราชุมนุมอย่างสันติ เราไม่มีอาวุธ ตัวแทนของเรากำลังเจรจาอยู่กับรัฐบาล อย่าให้เสียเลือดเนื้อไปมากกว่านี้เลย กรุณาหยุดยิงเถอะครับ”1 (ธงชัย วินิจจะกูล อายุ 19 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 6.30 น. เช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519)



“ผมยังโกรธ อึดอัด และเศร้าใจ มันเหนื่อย เวลา 30 ปีในชีวิตถูกสั่นคลอน คุกคาม เหมือนไม่เคยเกิดขึ้น... 6 ตุลา กำลังจะเวียนมาถึง จะให้ผมบอกอะไรพวกเขา ไม่มีอะไรจะบอกแล้ว 30 ปีผ่านไป รู้สึกโหวงเหวงกลวงเปล่าข้างใน” 2 (ธงชัย วินิจจะกูล อายุ 49 ปี กันยายน 2549)



“การฆาตกรรมหมู่เมื่อ 6 ตุลา19 เป็นอดีตที่ยังวนเวียนหลอกหลอนสังคมไทยในปัจจุบันอยู่ คงมีคำถามว่า ทำไมมัวจมอยู่กับอดีต ทำไมไม่ฝังอดีตไปเสียเพื่อเดินต่อไปข้างหน้า สังคมไทยพอใจจะทำเช่นนั้นอยู่เรื่อย สิ่งที่ถูกกลบฝังไปด้วยจนตกต่ำลงทุกวันหรือตายไปแล้วก็เป็นได้ คือ ความกล้าหาญทางจริยธรรมและบรรทัดฐานทางศีลธรรมของสังคม เราพอใจจะมองข้ามความอัปยศในอดีตด้วยการอ้างอนาคต หาได้คิดไม่ว่าอนาคตจะน่ากลัวเพียงไร หากเราไม่สามารถชำระสะสางได้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ รัฐมีสิทธิ์หรือไม่ที่จะสังหารประชาชนของตนที่คิดแตกต่างจากรัฐ” 3 (ธงชัย วินิจจะกูล อายุ 39 ปี ตุลาคม 2539)



สามสิบปีผ่านไป คนก็แก่ลง บ้านเมืองก็เปลี่ยนแปลง บางด้านก็จดจำแทบไม่ได้ ขณะที่อีกบางด้านก็เหมือนย้อนกลับไปในเส้นทางที่ได้ผ่านมาแล้ว แต่เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ยังอยู่ในฐานะ ‘อดีตที่ประวัติศาสตร์ยอมรับไม่ลง’ แน่นอนสภาพสังคมทางการเมืองไทยยิ่งในปัจจุบันด้วยแล้ว มีเงื่อนไขปัจจัยมากมายที่นำมาใช้อธิบายความไม่มีที่มีทางของอดีตส่วนนี้ในสังคมไทยได้ และสำหรับผู้คนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โดยตรง สภาพการเมืองที่เป็นอยู่ย่อมยังให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกหลากหลาย ในวันคืนเช่นนี้บางคนหวนคิดถึงบทประพันธ์ของนักกลอนนิรนามที่เขียนประกอบภาพเขียนประกอบภาพผู้สูญเสียในเหตุการณ์ 6 ตุลา19 ไว้ว่า


“เพื่อลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์
สักพันชาติจะสู้ม้วยด้วยหฤหรรษ์
แม้ชีพใหม่มีเหมือนหวังอีกครั้งครัน
จักน้อมพลีชีพนั้นเพื่อมวลชน” 4


บทปาฐกถานี้มุ่งจะทำความเข้าใจกับเหตุการณ์รุนแรงร้ายกาจที่เคยเกิดขึ้นมา โดยตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องเวลา (time) ที่สัมพันธ์กับปัญหาความรุนแรง ด้วยการตั้งคำถามสองข้อคือ ข้อแรก เวลาทำอะไรกับความรุนแรง (what does time do to violence?) และข้อสอง ความรุนแรงทำอะไรกับเวลา (what does violence do to time?) ในการพยายามตอบคำถามทั้งสองข้อนี้ ข้าพเจ้าจะเริ่มจากวิธีที่เหตุการณ์ถูกเวลากักขัง จากนั้นจะได้ทดลองตอบคำถามว่าเวลาคืออะไรโดยอาศัยคัมภีร์ทางศาสนาเป็นแนวทาง จากนั้นจะได้อภิปรายความสัมพันธ์ระหว่างเวลากับความรุนแรง ตอนท้ายจะได้หาวิธีตอบคำถามว่า ในสภาพอดีตที่ถูกกักขัง ความรุนแรงกระทำต่อกาลเวลาเช่นนี้ ยังหาความหวังได้จากที่ใด โดยคิดถึงเรื่องนี้ผ่านชีวิตสามัญของคนเล็กๆ รุ่นใหม่กับบทกวีบทหนึ่ง



เหตุการณ์ถูกขัง



ตีห้าครึ่ง วันพุธที่ 6 สัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม 2519 ในคริสต์ศตวรรษที่แล้ว



“ระเบิดเอ็ม.79 ยิงจากภายนอกมาตกลงกลางสนามบอล ทำให้นักศึกษาประชาชนตาย 9 คน บาดเจ็บ 13 คน ห่างกันไม่ถึงอึดใจ ระเบิดเอ็ม.79 ลูกที่สองก็ตามเข้ามา แต่ไม่ระเบิด...” 5



เหตุการณ์นี้ไม่เพียงเกิดขึ้นในบริบททางการเมืองประวัติศาสตร์ของสังคมไทย แต่ยังเกิดขึ้นใน ‘เวลา’ หนึ่ง



เวลาตีห้าครึ่งหรือ 5.30 น.อยู่ในวัน เพราะมีแต่วันที่มี 24 ชั่วโมง
วันพุธอยู่ในสัปดาห์ เพราะมีแต่สัปดาห์ที่มี 7 วัน
สัปดาห์แรกอยู่ในเดือน เพราะมีแต่เดือนที่มี 4 สัปดาห์
เดือนตุลาคมอยู่ในปี เพรามีแต่ปีที่มี 12 เดือน
ปี 19 อยู่ในศตวรรษ เพราะมีแต่ศตวรรษที่มี 100 ปี ไม่ว่าจะเป็นพุทธศตวรรษหรือคริสต์ศตวรรษก็ตาม

หากพิจารณาเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เช่นนี้ จะกล่าวได้หรือไม่ว่า นี่เป็นการมองเวลาแบบหนึ่ง คือมองเวลาในลักษณ์วัฏจักร ที่แม้จะเคลื่อนต่อเนื่องนานไป แต่ก็หมุนวนอยู่ในรูปร่างทางสังคมของเวลา (social shape) ที่ประกอบด้วย นาที-ชั่วโมง-วัน-สัปดาห์-เดือน-ปี และดังนั้นเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 จึงไม่เพียงถูกกักขังอยู่ในการเมืองประวัติศาสตร์ของสังคมไทย แต่ยังติดกับ(trapped)อยู่ในทัศนะประวัติศาสตร์ที่กักขังเวลาไว้ในปัจจุบันอันเป็นนิรันดร์6 แต่ถ้าเช่นนั้น เวลาคืออะไร เหตุใดจึงทรงอำนาจกักขังโลกและมนุษย์เอาไว้ได้?



เวลา พระเจ้า กับ ความเป็นนิรันดร์



สำหรับข้าพเจ้า คำถามนี้เป็นหนึ่งในบรรดาคำถามทางปรัชญาที่ยากเย็นที่สุด Hegel ใน Phenomenology of the Mind เคยตอบว่า “เวลาคือแนวคิดหรือมโนทัศน์ที่ดำรงอยู่” (existing Concept)7 ขณะที่ Heidegger ใน Being and Time เห็นว่า “เวลาคือขอบฟ้าแห่งความเข้าใจทั้งปวงของ Being” 8 (p.39) เส้นทางตอบคำถามเรื่องเวลาด้วยครรลองปรัชญาเยอรมันดูจะเกินความสามารถของข้าพเจ้า ดังนั้น จึงขออาศัยคำสอนจากหลักศาสนาที่แตกต่างกันคือ ศาสนาเทวนิยม ทั้งที่เป็นพหุเทวนิยมอย่างฮินดุ กับ เอกเทวนิยมอย่างอิสลาม และศาสนาอเทวนิยมอย่างพุทธศาสนามาเป็นแนวทางทำความเข้าใจเรื่องเวลา

ใน มหาภารตะ เป็นมหากาพย์สำคัญแห่งชมพูทวีปที่เล่าถึงการยุทธอันยิ่งใหญ่ระหว่างพี่น้องในราชสกุล ปาณฑพ กับ เการพ อรชุนเจ้าชายผู้ทรงศิลป์สงคราม วีรบุรุษคนสำคัญของฝ่ายปาณฑพ มองไปยังท้องทุ่งกุรุเกษตร และแลเห็นแต่พี่น้องญาติมิตร ลำบากยาใจจนไม่อาจใช้ศรยิงเข้าใส่ฝ่ายเการพได้ กฤษณะมหาเทพซึ่งทำหน้าที่สารถีรถรบให้อรชุน จึงขับบทเพลงแห่งสวรรค์ให้อรชุนเข้าใจโลกและธรรม ในบทที่ 11 อันถือกันว่าเป็นบทสำคัญที่สุดของ คัมภีร์ภควัทคีตา9 อรชุนทูลขอต่อพระกฤษณะให้ ‘เห็นองค์จริง’ ของพระองค์ พระกฤษณะจึงประทานจักษุทิพย์ให้อรชุน สิ่งที่วีรบุรุษปาณฑพได้แลเห็นคือโลกทั้งมวลมารวมกันอยู่ในองค์มหาเทพ จนทำให้อรชุนงงขนลุก ประณมหัตถ์แล้วกล่าวว่า



“เฉพาะเบื้องพระพักตร์พระองค์นี้ หม่อมฉันรู้สึกว่ามายาที่บดบังนัยน์ตาของหม่อมฉันจางหายไปแล้ว บัดนี้ ขอพระองค์ทรงปรากฏพระวรองค์ให้หม่อมฉันได้แลเห็นทิพยรูปอันเป็นสกลด้วยเถิด หม่อมฉันไม่สามารถนับพระโอษฐ์ พระเนตร หรือแม้แต่ถนิมพิมพาภรณ์ วราภรณ์และศัตราวุธแห่งพระองค์ได้ครบถ้วน นับเป็นภาพที่น่าอัศจรรย์เป็นอนันต์อันไม่มีขอบเขต และวิจิตรยิ่งราวกับสุริยะนับพันดวงขึ้นฉายแสงอยู่กลางท้องฟ้า หม่อมฉันแลเห็นพระวรรูปวิเศษ หม่อมฉันเห็นโลกทั้งหมดและหม่อมฉันได้เห็นบรรดาเหล่านักรบทั้งหลายกรูกันเข้าไปในพระโอษฐ์ แลเห็นพระองค์ทรงบดเคี้ยวนักรบเหล่านั้น พวกเขาหวังว่าจะถูกทำลาย และพระองค์ก็ทรงทำลายพวกเขา เมื่อหม่อมฉันแลลอดทะลุพระองค์เข้าไปภายใน หม่อมฉันเห็นดวงดาว เห็นชีวิต และความตาย ขอพระองค์ทรงประทานความรู้ให้หม่อมฉันด้วยว่า พระองค์คือผู้ใด เพราะบัดนี้หม่อมฉันรู้สึกหวาดกลัว เหมือนถูกเหวี่ยงลงไปในความมืดลึก”



พระกฤษณะจึงดำรัสว่า



“ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงไป แต่เราเป็นทุกสิ่งที่เธอพูด ทุกสิ่งที่เธอคิด สรรพสิ่งหยุดนิ่งอยู่ที่เรา เหมือนไข่มุกที่ร้อยด้ายไว้ เราคือโลกและคือความร้อนแห่งไฟ เราคือรูปที่ปรากฏและเราไม่มีรูป เราคือมายาของมายากล เราคือความสนุกใสเบิกบานของรัศมีแสงทั้งปวง สิ่งมีชีวิตทั้งหลายล้วนลับหายไปในความมืดมิดแห่งราตรีกาล และสิ่งมีชีวิตทั้งหลายก็กลับคืนสู่แสงสว่างแห่งทิวาวาร เรามีชัยชนะเหนือบรรดานักรบทั้งมวล ความคิดของมนุษย์ที่ว่า เขาเป็นผู้ฆ่าและถูกฆ่านั้น เป็นความคิดที่ผิดทั้งสิ้น ไม่มีอาวุธใดที่สามารถคร่าชีวิตได้ ไม่มีไฟใดที่เผาไหม้มนุษย์ได้ ไม่มีน้ำที่จะทำให้เปียกปอน ไม่มีลมที่จะทำให้เหือดแห้ง ไม่มีความกลัวและไม่มีความกล้าหาญ ทั้งนี้เพราะเรารักเธอ”10



คำตอบของพระกฤษณะที่ถ่ายทอดมาในบทละครแปลข้างต้นแม้จะวิจิตรอลังการ แต่เมื่อเทียบกับต้นฉบับคัมภีร์แล้ว ขาดข้อความสำคัญไปประโยคหนึ่ง เพราะใน ศรีมัทภควัทคีตา พระกฤษณะตอบว่า



“อาตมาเป็นกาล กระทำการผลาญโลก เป็นผู้เจริญแพร่หลาย เวลานี้กำลังลงมือผลาญโลก นักรบทั้งปวงซึ่งอยู่ในทุกๆ กองทัพ แม้เว้นท่านเสียแล้ว จะอยู่ไม่ได้เลย” (อัธยายที่ 11:32)11



ความน่าสนใจของหัวใจภควัทคีตาอยู่ที่ว่า ด้วยทิพยจักษุ มนุษย์จะมองเห็นองค์ของพระเจ้าเป็นเจ้า และเมื่อเห็นแล้วพหุลักษณ์ทั้งมวล ความแตกต่างทั้งหลายจะหลอมรวมเข้าเป็นหนึ่งในองค์เทวะ ที่เป็นเช่นนี้ได้เพราะพระองค์คือกาลเวลา ที่น่าประหลาดยิ่งคือความใกล้เคียงอย่างไม่น่าเป็นไปได้ระหว่างแนวคิดหลักของพหุเทวนิยมอย่างศาสนาฮินดูกับความเข้าใจพระเป็นเจ้าในคติอิสลามโดยเฉพาะเมื่อพิจารณาผ่านแนวคิดเรื่องกาลเวลา



ในคัมภีร์อัลกุรอ่าน12 พระเป็นเจ้าตรัสว่า

“มิได้เป็นที่ประจักษ์แก่มนุษย์ดอกหรือว่า เคยมีกาลเวลาอันยาวนานที่มนุษย์ไร้ความหมาย
ไม่มีอะไรเลย ไม่แม้กระทั่งจะถูกเอ่ยถึง”
(ซูเราะห์ 76:1)

ในอีกบทหนึ่งของ อัลกุรอ่าน อัลเลาะห์ตรัสว่า


“ด้วยกาลเวลา มนุษย์นั้นเป็นพวกขาดทุน
เว้นแต่ผู้มีศรัทธา ทำการดีและร่วมใจสนับสนุนกันและกัน ยึดมั่นในความจริงและความอดทน”
(อัลกรุอ่าน,ซูเราะห์ 103:1-3)



ถ้าคิดถึงเวลาในเชิงนามธรรม (Dahr) และไม่ใช่ในฐานะเวลาบ่ายอันเป็นชื่อเรียกการนมัสการประจำวัน ครั้งที่สามของทุกวันสำหรับชาวมุสลิม (Asr) การอ้างการเวลา (Al Asr) ในที่นี้อาจเป็นเพราะเวลาเป็นสิ่งที่ทุกๆ คนดูเหมือนจะรู้จักแต่ก็ไม่มีผู้ใดให้อรรถาธิบายความสำคัญของกาลเวลาได้แท้จริง กาลเวลาเดินทางไปมุ่งหาและทุกสิ่งที่เป็นวัตถุธรรม ดังนั้นทางรอดของมนุษย์จึงอยู่ที่ศรัทธา ทำความดีด้วยการยึดมั่นในความจริงและขันติธรรม(Sabr) ยิ่งกว่านั้นในจารีตของท่านศาสดามูฮัมมัด (หะดิษ) ยังมีข้อความที่ใกล้เคียงกับคำตอบของพระกฤษณะต่ออรชุนในคัมภีร์ภควัทคีตาข้างต้นอย่างน่าประหลาดใจ เพราะท่านศาสดามูฮัมมัดกล่าวว่า



“เอกองค์อัลเลาะห์ตรัสว่า “ลูกหลานอาดัมให้ร้ายกาลเวลา(Dahr)เรา(อัลเลาะห์)คือกาลเวลา ทิวาและราตรีอยู่ในมือของเรา” (หะดิษบุคอรี,8200)



จะกล่าวได้หรือไม่ว่า ศาสนาเทวนิยมประจักษ์ในอานุภาพของกาลเวลาที่กลืนกินเปลี่ยนแปลงสรรพสิ่งโดยตัวของเวลาดำรงอยู่ถึงกับถือว่าพระเป็นเจ้าคือกาลเวลา



ทัศนะเช่นนี้แตกต่างจากพุทธศาสนาที่แม้จะเห็นว่า เวลาดำรงอยู่ทุกหนแห่งและเป็นนิรันดร์ แต่เพราะเวลาดำรงอยู่และไม่เปลี่ยนแปลงจึงไม่สามารถเป็นเหตุให้เกิดสิ่งเร้าได้13 กล่าวอีกอย่างหนึ่ง สำหรับพุทธศาสนาเวลา มิใช่ ธรรมะ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดและดำรงอยู่ (real existents) แต่เวลาปรากฏในฐานะสิ่งที่ต้องขึ้นต่อสิ่งอื่น เช่น 6 ตุลา 19 ปรากฏเป็น ‘6 ตุลา 19’ เพราะเกิดการฆ่ากันอย่างทารุณกลางเมือง ผู้คนล้มตายครอบครัวทุกข์โศก กล่าวอีกอย่างหนึ่ง 6 ตุลา 2519 มิได้ทำให้เกิดอะไรขึ้น แต่มีบางอย่างเกิดขึ้นใน 6 ตุลา 2519 จนทำให้6 ตุลา 2519 กลายเป็น ‘6 ตุลา 19’ เช่นทุกวันนี้ เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นด้วยปัจจัยหลายอย่าง ในพระอภิธรรมและตำราพุทธศาสนาอาจแยกได้ถึง 24 ปัจจัย ด้วยเหตุนี้เองแม้เวลาจะไม่ใช่สิ่งที่เกิดและดำเนินอยู่จริง แต่ก็ปรากฏโดยขึ้นต่อสิ่งอื่นๆ เหล่านั้น ขณะที่สรรพสิ่งที่เกิดและดำเนินไปก็ต้องอาศัยเวลาในฐานะกรอบความคิดและการตีความ 14



ข้าพเจ้าคิดว่าแม้ศาสนาเทวนิยมกับพุทธศาสนาอย่างน้อยเท่าที่กล่าวนำในที่นี้ จะเห็นว่าเวลาต่างกันอย่างสำคัญตรงที่ สำหรับศาสนาเทวนิยมอย่างฮินดูหรืออิสลาม เมื่อถือว่า ‘พระเป็นเจ้าคือกาลเวลา’ ก็หมายความอย่างน้อยสองประการคือ ประการแรก กาลเวลาเป็นตัวกำหนดเหตุการณ์ให้เหตุปัจจัยต่างๆ มาประชุมกันจนเกิดผลในโลก และประกาศที่สอง พระเจ้ามีเจตจำนงของพระองค์อันเกินกว่าที่มนุษย์จะหยั่งรู้ได้ และดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งปวงมีความหมายและเป็นหน้าที่ของมนุษย์จะพยายามทำความเข้าใจกับเจตนาของพระเป็นเจ้า ขณะที่สำหรับพุทธศาสนา เวลาเป็นสิ่งที่ไร้เจตนา อีกทั้งขึ้นต่อสรรพสิ่งอื่นๆ ด้วย แต่ทั้งฮินดู พุทธ และอิสลามก็ดูจะเห็นพ้องต้องกันว่า เวลาดำรงอยู่ทุกหนแห่งและเป็นนิรันดร์ อีกทั้งสรรพสิ่งต่างๆ ก็ปรากฏและดำเนินไปในกรอบความคิดเรื่องเวลาเช่นเดียวกัน



เมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นในอดีต จึงอาจตั้งคำถามที่โยงกับเวลาได้หลายข้อ เช่น ทำไมจึงเกิดเหตุการณ์อันร้ายกาจอย่างนั้นขึ้นในวันที่ 6 ตุลา เหตุรุนแรงเกิดขึ้นเฉพาะสังคมไทยเท่านั้นหรือ มีเหตุรุนแรงอื่นๆเกิดขึ้นหรือไม่ในวันที่ 6 ตุลา ถ้าเกิดเหตุรุนแรงขึ้นในวันดังกล่าวจะแสดงว่าวันที่ 6 ตุลาคม มีอะไรพิเศษกว่าวันอื่นๆ หรือไม่อย่างไร เช่น ประธานาธิบดี อันวาร์ ซาดัต แห่งอียิปต์ถูกสังหารระหว่างเป็นประธานในพิธีสวนสนามของทหารเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2524(1981) เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นตรงกับการบุกอิสราเอลของอียิปต์กับซีเรีย เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2516(1973) อาจกล่าวได้ว่า การสังหารประธานาธิบดี อันวาร์ ซาดัตเกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม เพราะมีเงื่อนไขปัจจัยอื่น เช่น การสวนสนามของทหารที่ทำให้การถืออาวุธเข้าใกล้ผู้นำเป็นไปได้ และการสวนสนามที่เกิดขึ้นในวันที่ประเทศต่างๆ เห็นว่าสำคัญ ดังนั้น การสังหารดังกล่าวจึงอาจเกิดขึ้นในวันนั้นเพราะเงื่อนไขในทางสัญลักษณ์ประกอบอยู่ด้วย การสังหารประธานาธิบดี อันวาร์ ซาดัต จึงมีความหมายเป็นการลงโทษที่ไปทำสัญญาสันติภาพกับอิสราเอล การตอบคำถามว่าเพราะเหตุใดเหตุการณ์รุนแรงเหตุการณ์หนึ่งอย่าง 6 ตุลา 19 จึงเกิดขึ้นในวันนั้น จึงอาจตอบได้โดยการอภิปรายเหตุปัจจัยต่างๆ ที่มาประชุมกันจนก่อให้เกิดผลคือ 6 ตุลา 19 และ 6 ตุลา 19 นั้นเองก็เป็นเหตุให้เกิดความคิดและการกระทำของผู้คนหลากหลายตามมา ปัญหาเหล่านี้เองแสดงให้เห็นอยู่บ้างว่าเวลาสัมพันธ์กับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นแน่ แต่ปัญหาคือ เวลาสัมพันธ์กับความรุนแรงอย่างไร



เวลากับความรุนแรง



การอภิปรายปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเวลากับความรุนแรงคงทำได้หลายวิธี ในที่นี้ข้าพเจ้าขอเลือกตั้งคำถาม 2 ข้อคือ ข้อแรก ความรุนแรงส่งผลอย่างไรต่อกาลเวลา? และข้อสอง เวลาทำอะไรกับความรุนแรง? การตอบคำถามทั้งสองข้อคงกระทำมิได้หากไม่ได้กล่าวชัดว่า ความรุนแรงและเวลาทำงานอย่างไร



เมื่อคนเราเผชิญหน้ากับความรุนแรงที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ด้วยกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความตระหนักรู้ว่าชีวิตตนมีขอบเขตจำกัด เพราะมนุษย์อีกคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งมีความสามารถจะยุติชีวิตของตนได้ ก็เท่ากับว่าการเผชิญหน้านี้สร้างสำนึกว่าการมีอนาคตอย่างจำกัด (finite future) และการสิ้นสุดของชีวิต คือการสิ้นสุดของอดีตเท่าที่มีมา ดังนั้นจึงไม่อาจไขว่คว้ายึดโยงอนาคตใดๆ 15



ในแง่นี้อาจกล่าวได้ว่า ความรุนแรงทำหน้าที่ตัด สกัด หยุด หรือ แยกสภาพที่เป็นอยู่แห่งชีวิตของมนุษย์ออกจากศักยภาพของเขา เช่น กรณีของ ‘อนุวัตร อ่างแก้ว นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เขาถูกยิงจากด้านหลัง กระสุนทะลุหน้าท้อง เสียชีวิตทันที’16 อนุวัตรเสียชีวิตเมื่ออายุได้ 20 ปี ถ้าเขาอยู่จนถึงวันนี้เขาจะมีอายุ 50 ปี ถ้าเขาดำเนินชีวิตไปตามปรกติเช่นผู้คนในสังคมไทย เขาคงเรียนจบธรรมศาสตร์ ทำงานมีครอบครัว ถึงวันนี้ลูกเขาอาจได้มาเรียนในระดับอุดมศึกษาแล้ว



แม่ของภรณี จุลละครินทร์ นักศึกษาพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี ปีที่สองของธรรมศาสตร์ ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ศพอยู่ในสภาพถูกทุบตีจนแขนและขาหัก กล่าวเมื่อในเหตุการณ์ 6ตุลา 19 ผ่านไปได้ยี่สิบปีว่า “ถ้าเขายังอยู่ตอนนี้คงจะแต่งงานแล้ว อาจเป็นผู้จัดการธนาคารที่ไหนสักแห่ง บางทีอาจเป็นพนักงานบัญชี เพราะเค้าเคยบอกอยู่เสมอว่า อยากทำบัญชี เพื่อนของเขาที่ตอนนี้เป็นผู้จัดการยังบอกว่า ถ้าภรณีอยู่ไม่รู้จะเป็นอย่างไร เพราะภรณีเรียนเก่งกว่า” 17



แต่วันนี้สามสิบปีผ่านไป ไม่มีอะไรทั้งนั้น เพราะชีวิตคนหนุ่มสาวอย่างอนุวัตรและภรณีถูกทำให้สะดุดหยุดลงด้วยความรุนแรง ถ้าเช่นนั้นความรุนแรงทำให้เวลาสามสิบปีผ่านไปเป็นเช่นไร ข้าพเจ้าไม่มีข้อมูลมาเล่าว่า ความรุนแรงทำอะไรกับสามสิบปีที่ผ่านไป จะมีก็เพียงคำบอกเล่าของแม่เซียมเกียงเมื่อ 6 ตุลา 19 ผ่านไปได้ยี่สิบปี แม่ของภรณีเล่าว่า “ลูกเราเป็นคนเรียบร้อยน่ารัก ทำไมต้องตีเขาถึงขนาดนี้ แม่ร้องไห้มาตลอด 20 ปี ไม่มีใครมารับผิดชอบ เรียกว่าสูญไปเปล่าๆ เลยลูกสาวหนึ่งคน แม่ไม่รู้จะไปคุยและเรียกร้องกับใคร ไม่มีใครออกมาถามเลย…ไม่มี” 18



ข้าพเจ้าคิดว่า ความรุนแรงจัดการกับเวลาสองวิธี คือ วิธีแรก ความรุนแรงแช่แข็งเวลา คือบังคับให้ชีวิตที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์รุนแรงร้ายกาจอย่าง 6 ตุลา 19 ติดกับอยู่ในความรุนแรงเพราะเวลาของเหยื่อความรุนแรงอาจไม่เคลื่อนที่ไปไหน แต่ถูกสกัดให้หยุดอยู่กับที่ ส่วนวิธีที่สอง เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นหนักหนาสาหัสจนยากจะรับ ความรุนแรงจึงทำหน้าที่ลบเลือนเวลาที่เกิดความรุนแรงนั้นเสีย สำหรับคนส่วนหนึ่ง หนทางที่จะอยู่ต่อไปจึงคือ พยายามลืมเหตุรุนแรงนั้นทำราวกับว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้นกับตนมาก่อนเลย ข้าพเจ้าคิดว่า ความรุนแรงจัดการกับเวลาของเหยื่อส่วนหนึ่งในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ด้วยการจับขังผู้คนเหล่านั้นไว้ในความรุนแรงอันไม่มีคำตอบ ขณะที่จัดการกับเวลาของสังคมไทยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ด้วยการทำราวกับว่า ไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้นกลางกรุงเมื่อสามสิบปีที่แล้ว



แล้วเวลาเล่า เวลาจัดการอย่างไรกับความรุนแรง เวลาเคลื่อนที่อยู่เสมอไม่เคยหยุดนิ่ง ปัญหาจึงกลายเป็นว่า เวลาเคลื่อนไปเร็วหรือช้า แต่ไม่ว่าเร็วหรือช้า สำหรับเหยื่อความรุนแรงไม่น้อย เวลายิ่งผ่านไปก็ยิ่งทำสีความรุนแรงซีดจางลง และดังนั้นจึงมักเชื่อกันว่า เวลารักษาบาดแผลในหัวใจของคนได้ แต่กับอีกหลายคนก็ทำให้บาดแผลกลัดหนองเจ็บปวดไม่รู้ลืมได้เช่นกัน ยิ่งถ้าสังคมการเมืองเคลื่อนผ่านหรือเข้าไปใกล้เส้นทางที่เคยก่อให้เกิดความรุนแรงอย่างในอดีต คนที่เคยตกเป็นเหยื่อก็อาจรู้สึกเหมือนถูกกระทำซ้ำอีก ต้องเจ็บปวดอีกแผลเก่าเหมือนไม่มีวันหาย



ถ้าเช่นนั้นสามสิบปีที่ผ่านไป ภายใต้บริบทรัฐประหารครั้งใหม่สังคมไทยจะอยู่กับเหตุการณ์รุนแรงร้ายกาจอย่าง 6 ตุลา 19 อย่างไร



ความหวัง



ถ้าเปรียบความทรงจำ 6 ตุลา 19 เหมือนผ้าสักผืน ก็ต้องเข้าใจว่า ผ้าผืนนี้ไม่เพียงของคนธรรมศาสตร์ ไม่ใช่ของนักศึกษา หรือคนพวกใดพวกหนึ่ง แต่ผ้าผืนนี้เป็นมรดกของสังคมไทยโดยรวม ความทรงจำของแต่ละคนคือด้ายที่ช่วยกันถักทอให้ช่วยเห็นลวดลายโดยไม่ประสงค์จะครอบครองผ้าทั้งผืน ที่สำคัญ ต้องรักษาความทรงจำ 6 ตุลา 19 ไม่ให้เลือนหายไป สังคมไทยจึงจะมีความหวังในอนาคต เพราะ 6 ตุลา 19 เผยแสดงให้เห็นร่างด้านที่อัปลักษณ์ของสังคมไทย จะเป็นไปได้ด้วยการจดจำเหตุการณ์ทารุณร้ายกาจครั้งนั้นและตราไว้ในแผ่นดินว่าจะไม่ยอมให้เหตุเช่นนี้เกิดขึ้นกับใครอีก



คนรุ่นใหม่ที่อายุน้อยกว่าสามสิบปี ก็จดจำ 6 ตุลา 19 ได้ และเมื่อเผชิญกับสถานการณ์อย่างรัฐประหารครั้งใหม่ เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ก็มีส่วนช่วยให้บางคนตัดสินใจยืนขึ้นปกป้องสังคมไทยมิให้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงด้วยวิถีของตนเอง



สองวันหลังเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นักศึกษาสาวคนหนึ่งเดินเข้ามาในห้องทำงานของข้าพเจ้า เธอเล่าว่า เธอตัดสินใจไม่ไปเรียนหนังสือที่ธรรมศาสตร์ รังสิตในวันนั้น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นรบกวนเธอในฐานะนักศึกษารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นอันมาก เธอจึงตัดสินใจไปนั่งคิดอะไรคนเดียวในห้องสมุด ดิเรก ชัยนาม เธอตัดสินใจว่าจะตอบรับคำเชื้อเชิญของคณะปฏิรูปฯ ได้ เธอเขียนจดหมายขึ้นมาฉบับหนึ่งโดยใช้ชื่อและนามสกุลจริง ในฐานะนักศึกษาของธรรมศาสตร์ ขอร้องคณะปฏิรูปฯ ให้เคารพถือมั่นในสิทธิเสรีภาพของผู้คน ซึ่งอาจแสดงความคิดเห็นไม่พ้องต้องด้วยกับผู้ที่มีอำนาจ และขอร้องให้ใช้สันติวิธีในการดำเนินการกับคนเหล่านี้โดยไม่ใช้ความรุนแรง เธอเขียนถึงเหตุการณ์ทารุณร้ายกาจ 6 ตุลาคม ซึ่งเกิดขึ้นในสังคมไทยเมื่อสามสิบปีมาแล้ว โดยชี้ให้เห็นว่า ความรุนแรงครั้งนั้นได้สร้างความแตกแยกครั้งใหญ่ชนิดที่บาดร้าวลึกลงไปในจิตวิญญาณของบ้านเมือง และเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่ ‘ก่อความทุกข์ระทมเจ็บปวดต่อร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ’ ยากจะเยียวยารักษาได้เป็นเวลานาน

เธอเขียนจดหมายฉบับนี้โดยใช้กระดาษสมุดตีเส้นที่นักเรียนนักศึกษาใช้จดงาน ใช้ดินสอเขียนด้วยภาษาเรียบง่ายจนทำให้ข้าพเจ้าละอายใจกับสำนึกบริสุทธิ์และความกล้าหาญของเธอ ข้าพเจ้ามองดวงหน้ากระจ่างอ่อนเยาว์ของเธอเต็มตา และแลเห็นความหวังเรืองรองสำหรับสังคมไทย



หยาดน้ำค้างคือน้ำตาของกาลเวลา



ข้าพเจ้าขอจบบทปาฐกถาว่าด้วย ‘กาลเวลาและความรุนแรง’ ในวาระ 30 ปี 6 ตุลา 19 ด้วยถ้วยคำของกวีเอกแห่งสยามประเทศ เพราะถ้อยคำของกวีมีความงาม และความงามช่วยเผยให้เห็นความจริง และความจริงชนิดที่สัมผัสรับรู้ความงามมีผลทำให้มนุษย์ทนอยู่กับความจริงนั้นๆ โดยยังธำรงความหวังในความดีอยู่ได้ และนี่เป็นบทสนทนาพ่อกับลูกบทหนึ่ง



พ่อบอกลูกว่า “หยาดน้ำค้างคืออะไร หยาดน้ำค้างคือน้ำตาของเวลา”


ลูกจึงถามพ่อว่า “เวลาร้องไห้ทำไมคะ เสียอกเสียใจอะไรหรือคะพ่อ” พ่อก็ตอบว่า “เสมอว่าเวลาร้องไห้เพราะต้องจากเราไปไกลแสนไกลในระลอกคลื่นแห่งวิถีกาลจักรอันไม่คืนกลับหลัง...แต่ที่ร้องไห้มิใช่เพราะเสียอกเสียใจอย่างเดียว”



“เหตุเพราะว่า น้ำค้างปิติยินดีที่เคารพดวงตะวัน ทั้งได้สะท้อนคุณค่าแท้ของคลื่นแสงพระสุริยาทั้งเจ็ดสีพลีกำนัลแด่โลกแล้ว น้ำค้างก็เสมอว่าเศร้าสร้อยน้อยใจที่ต้องพลันแตกดับวับสลายอำลาจากเราไป ไม่ได้อยู่เจียระไนแววตาให้ซึ้งคุณค่าของแสงรุ้งและสุนทรีอื่นๆ ฉะนั้นไม่ว่าจะดีอกดีใจหรือวิปโยคโศกเศร้า น้ำค้างก็อย่างหยาดน้ำตา”19


เชิงอรรถ
1 สารคดีปีที่ 12 ฉบับที่ 140 (ตุลาคม 2539),น.22
2 แปลจากจดหมายภาษาอังกฤษของธงชัย วินิจจะกูล ทางe-mail นำมาใช้ไดัรับอนุญาตจากผู้เขียนแล้ว
3 ธงชัย วินิจจะกูล, “ความทรงจำกับประวัติศาสตร์บาดแผล:กรณีการปราบปรามนองเลือด 6ตุลา19,”รัฐศาสตร์สาร ปีที่19 ฉบับที่ 3 (2539),น.43-44
4 อ้างถึงใน ยุกติ มุกดาวิจิตร, “ ‘ 6ตุลา’สัญลักษณ์ของความรุนแรง ความรุนแรงของสัญลักษณ์, “รัฐศาสตร์สาร ปีที่19 ฉบับที่ 3 (2539),น.60”
5 สารคดีปีที่ 12 ฉบับที่ 140 (ตุลาคม 2539),น.102
6 Eviatar Zerubavel,Time Maps:Collective Memory and the Social Shape of the Past (Chicago and London: The University of Chicago Press,2004),p.24
7.Hegel,Hegel: Texts and Commentary Walter Kaufiman (Trans. And ed.) (Garden City, New York: Anchor Book,1966),p.68.
8 Martin Heidegger, Being and Time John Macquarrie and Edward Robinson (trans.) (New York: Harper& Row, Pubishers, 1962), p.39.ข้อความในต้นฉบับ “…time needs to be explicated primordially as the understanding of Being, and in termporality as the Being of Dasein, which understands Being.”
9 R.C. Zaeher, The Bhagavad-Gita (London: Oxford University Press, 1981) p.303.
10 Jean-Claude Carriere,มหาภารตะ จักรกฤษณ์ ดวงพัตรา แปล,(กรุงเทพฯ:คบไฟ,2544),น. 175-176
11 ศรีมัทภควัทคีตา ของ กฤษณะไทวปายนวยาส แปลเป็นไทยโดย แสง มนวิทูร(กรุงเทพฯ:แพร่พิทยา,2515),น.
12 พระคัมภีร์อัลกรุอ่านในที่นี้ใช้คำแปลจาก The Qur’an,Trans. By M.A.S.Abdel Haleem (New York: Oxford University Press, 2004)
13 T.R.V.Murti, the Central Philosophy of Buddhism: A Study of the Madhyamika System (London and Sydney: Unwin Paperbacks, 1987), p. 198.
14 Steven Collins, “Pali Buddhist ideas about the future.” Unpublished manuscript, 2006, pp. 1-2
15 Piotr Hoffman, Doubt, Time, Violence (Chicago and London: The University of Chicago Press, 1986), p.127-128.
16 สารคดีปีที่ 12 ฉบับที่ 140 (ตุลาคม 2539), น.143
17 สารคดีปีที่ 12 ฉบับที่ 140 (ตุลาคม 2539), น.141
18 เพิ่งอ้าง
19 อังคาร กัลยาณพงศ์, หยาดน้ำค้างคือน้ำตาของเวลา (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เทียนวรรณ, 2530), น. 56-57

ที่มา //www.2519.net


Create Date : 05 ตุลาคม 2550
Last Update : 5 ตุลาคม 2550 12:15:15 น. 1 comments
Counter : 1184 Pageviews.

 
whenever you felt that your heart is going to breakdown
feel it with the love of God ask for his and then you will
find out what is the truth love in Your life as he does for me!

GOD always forgive your mistake
the one that you cant even forget,
he always does it and always being with us
to help and blesss us for us whose heart is full of him


โดย: dawhenever you felt that your heart is going to breakdown feel it with the love of God ask for his and then you will find out what is the truth love in Your life as he does for me! GOD always forgive your mistake the one that you cant even forget, he always does it and always being with us to help and blesss us for us whose heart is full of him IP: 124.122.247.144 วันที่: 18 เมษายน 2553 เวลา:23:47:34 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.