ทำไมต้องใช้เงิน


เรื่องของเรื่องก็คือ สมัยก่อนคนเราเวลาผลิตอะไรได้ เช่น นายเอ เลี้ยงไก่ ส่วนนายบี ปลูกข้าว นายซี ปลูกผัก ส่วนนายดี ทอผ้า ถ้าทั้ง 4 คนอยากกินทั้งไก่ ข้าว ผัก และอยากได้ผ้ามาตัดเสื้อผ้าใส่ ก็สามารถเอาของมาแลกกันได้ ซึ่งเรียกว่าระบบการแลกของต่อของ (Barter system) แต่ปัญหามันก็เกิดขึ้นตรงที่ว่าโลกนี้ไม่ได้มีคนแค่ 4 คน และสินค้าก็ไม่ได้มีแค่ 4 อย่าง ซึ่งเราอาจสรุปปัญหาสำคัญที่จะเกิดขึ้นในโลกของความเป็นจริงได้ดังนี้


           •    ปัญหาแรกคือ ความต้องการของแต่ละคนไม่ตรงกัน ดังนั้น การสืบเสาะค้นหาให้เจอคนที่ต้องการของที่เราผลิตก็อาจจะต้องใช้เวลานาน และไม่สะดวกทันใจ


           •    ปัญหาที่ 2 คือ ของที่แลกกันไม่สามารถเก็บไว้ในอนาคต เช่น ผ้าหรือข้าว อาจจะเก็บได้นานหน่อย แต่คนที่ผลิตไก่กับผักก็ย่อมที่จะเก็บของที่ตนผลิตไว้ได้ไม่นาน เป็นต้น


           •    ปัญหาที่ 3 คือ แล้วจะเอาของที่มีอยู่มาแลกกันยังไง ในอัตราการแลกเปลี่ยนอย่างไร เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย จึงอาจต้องหาอะไรที่ช่วยวัดมูลค่าของสินค้าได้


หน้าที่ของเงิน

           ด้วยปัญหาข้างต้น เงินจึงเกิดขึ้นและทำหน้าที่ดังนี้

           •    เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of exchange)

           •    เป็นที่เก็บรักษามูลค่า (Store of value)

           •    เป็นหน่วยวัดมูลค่า (Unit of account)

           •    เป็นมาตรฐานในการชำระหนี้ในอนาคต (Standard of deferred payment) หน้าที่นี้เกิดขึ้นเมื่อมีการซื้อขายสินค้าเงินเชื่อกัน เพราะการกำหนดเป็นการคืนด้วยเงินนั้น ย่อมที่จะดีกว่าการกำหนดการคืนด้วยสินค้า ซึ่งอาจมีปัญหาทั้งด้านขนาด ปริมาณและคุณภาพ อีกทั้งสินค้าบางอย่างยังอาจเน่าเสียได้ง่าย

นิยามของเงิน

เงิน คือ อะไรก็ตามที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในการใช้ซื้อ-ขายสินค้าและบริการ รวมไปถึงการใช้ชำระหนี้ โดยในสมัยก่อน คนอาจจะใช้เปลือกหอย หรือทอง หรือโลหะอะไรก็ได้เพื่อใช้เป็นเงิน ตราบเท่าที่คนในสังคมยอมรับค่าของสิ่งนั้น ๆ แต่ทั้งนี้ ก็ต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญคือ เมื่อกำหนดค่าของเงินแล้ว ค่านั้นจะต้องคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ไม่ใช่วันนี้มีค่า 1 บาท แต่อีกวันมีค่าแค่ 50 สตางค์ หรืออีกวันมีค่าถึง 100 บาท เป็นต้น ทั้งนี้ ก็เพื่อให้สิ่งๆ นั้นยังสามารถทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนในสังคมได้ เนื่องจากหากค่าของเงินไม่คงที่ เช่น ด้อยลงเรื่อย ๆ คนในสังคมก็จะขาดความเชื่อถือ และไม่ยอมรับเงินนั้นเป็นสื่อกลาง รวมทั้งไม่ยอมรับให้เป็นสิ่งที่ใช้ชำระหนี้ในอนาคต


เมื่อรู้เรื่องของเงินแล้วว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็มาดูเรื่องของคำว่า “ปริมาณเงิน” ที่มักจะมีการพูดถึงอยู่เรื่อย ๆ ในสื่อต่าง ๆ ว่าคืออะไร

ปริมาณเงิน (Money supply หรือ Supply of money) คืออะไร

           •    ความหมายของปริมาณเงินอย่างแคบ (Narrow money) หรือที่เรียกว่า M1 จะหมายถึง

           M1            =    ธนบัตร + เหรียญกษาปณ์ + เงินฝากกระแสรายวัน (Demand deposit)


ปริมาณ เงินคือเงินที่หมุนเวียนอยู่ในมือประชาชน ประกอบด้วยธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ที่อยู่ในมือประชาชน และรวมถึงเงินฝากกระแสรายวัน ซึ่งเป็นเงินฝากเผื่อเรียกที่ประชาชนฝากไว้ที่ระบบธนาคาร อาทิ ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ 


           •    ความหมายของปริมาณเงินอย่างกว้าง (Broad money) ความครอบคลุมตามนิยามนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับชื่อที่ใช้คือ ค่อนข้างครอบคลุมไปถึงเงินในหลายรูปแบบ โดยในช่วงก่อนหน้านี้ เราอาจจะเคยได้ยินคำว่า M2  M2a M3 ในไทย หรือ M4 รวมทั้ง M5 ในต่างประเทศ ขึ้นอยู่กับว่าในแต่ละประเทศเลือกที่จะรวบรวมปริมาณเงินในแต่ละนิยาม (ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล) ไว้เพื่อติดตามและวิเคราะห์อย่างไร แต่ทั้งหมดที่กล่าวนี้ก็คือความหมายของปริมาณเงินอย่างกว้าง อาทิ


           o    M2 จะหมายถึง M1 + เงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากประจำของประชาชน

           o    M2a จะหมายถึง M2 + เงินฝากของประชาชนที่อยู่ในรูปตั๋วสัญญาใช้เงินที่บริษัทเงินทุน

           o    M3 จะหมายถึง M2a + เงินฝากของประชาชนที่ธนาคารเฉพาะกิจ


แต่ ปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เผยแพร่นิยามใหม่ของปริมาณเงิน โดยนิยามของปริมาณเงินที่ใช้กันอยู่ล่าสุดจะเหลือเพียงปริมาณเงินใน 2 นิยามเท่านั้น คือ


o    ปริมาณเงินตามความหมายแคบ องค์ประกอบยังเหมือนเดิมที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น แต่ในส่วนของเงินฝากกระแสรายวัน ซึ่งเป็นเงินฝากเผื่อเรียกที่ประชาชนฝากไว้ที่ระบบธนาคารนั้น เปลี่ยนเป็นเงินฝากกระแสรายวันที่ สถาบันรับฝากเงิน (Demand deposits at depository corporations) ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน ธนาคารเฉพาะกิจ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นต้น รวมถึงสหกรณ์ออมทรัพย์และกองทุนรวมตลาดเงิน (Money market mutual fund)


o    ปริมาณเงินตามความหมายกว้าง จะประกอบไปด้วยเงินฝากของประชาชนทั้งหมดไม่ว่าจะอยู่ในรูปของเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ เงินฝากในรูปตั๋วสัญญาใช้เงินที่บริษัทเงินทุน เงินฝากของประชาชนที่ธนาคารเฉพาะกิจ รวมไปถึงที่เพิ่มเติมเข้ามาใหม่ให้อยู่ในนิยามนี้ด้วยได้แก่ เงินรับฝากของธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในรูปของตั๋วแลกเงิน เงินรับฝากของสหกรณ์ออมทรัพย์ และมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุนรวมตลาดเงิน เพื่อให้มีความครอบคลุมถึงปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น


เนื่องจากเรื่องของ ปริมาณเงินนั้น ยังคงมีอีกหลายแง่มุมที่เกี่ยวข้องกัน แต่เพื่อไม่ให้บทความนี้ยาวจนเกินไป จึงขออนุญาตเก็บไว้เล่าในตอนต่อไปว่าปริมาณเงินเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ ถ้าเปลี่ยนแปลงได้จะเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยใด คนมีความต้องการถือเงิน (Demand for money) เพื่อวัตถุประสงค์ใดบ้าง และเกี่ยวข้องอะไรกับอัตราดอกเบี้ยหรือเปล่า รวมไปถึงเรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ที่มา //www.vcharkarn.com/varticle/38780




Create Date : 24 มีนาคม 2560
Last Update : 24 มีนาคม 2560 11:04:33 น.
Counter : 1627 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Josephine est le Chat
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



มีนาคม 2560

 
 
 
1
3
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
25
26
27
28
29