HR Management and Self Leadership
<<
เมษายน 2558
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
1 เมษายน 2558

พนักงานที่มีศักยภาพเขามีวิธีการประเมินกันอย่างไร

ศักยภาพของพนักงานเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญในแง่ของการสร้างผลงาน และการสร้างอนาคตให้กับองค์กร โดยปกติแล้ว องค์กรต้องการพนักงานที่มีศักยภาพสูง เพื่อที่จะสามารถสร้างผลงาน และสร้างอนาคตให้กับองค์กรได้ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า พนักงานคนไหนเป็นคนที่มีศักยภาพสูง

หลายๆ องค์กรพยายามที่จะสร้างวิธีการในการประเมินศักยภาพของพนักงาน โดยพยายามสร้างให้เป็นเชิงของสิ่งที่จับต้องได้ เป็นตัวเลข เป็น KPI ซึ่งถ้าเราพิจารณากันให้ดี คำว่า ศักยภาพนั้น เป็นคุณสมบัติของคน ซึ่งเราไม่สามารถที่จะใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มาวัดกันได้แบบตรงๆ แต่เราสามารถประเมินได้ โดยอาศัยเครื่องมือบางอย่าง

โดยทั่วไปในการประเมินศักยภาพพนักงานนั้น เรามักจะใช้เครื่องมือต่อไปนี้

  • ผลงานของพนักงานที่ออกมา ผลงานในที่นี้ก็คือ ผลงานที่จับต้องได้ เช่น KPI ที่กำหนดตัวชี้วัดผลงานไว้ว่าจะต้องทำผลงานอะไรบ้าง พนักงานที่มีศักยภาพสูง จะเป็นพนักงานที่สามารถสร้างผลงานในระดับที่เรียกว่าโดดเด่นมาก เมื่อเทียบกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ เช่นตั้งเป้าหมายไว้ที่ 100 พนักงานคนนี้อาจจะทำได้ถึง 200 หรือ 150 หน่วย เป็นต้น และที่สำคัญ จะต้องสร้างผลงานในระดับที่โดดเด่นติดต่อกันมาโดยตลอด แบบนี้เราจึงจะจัดว่า พนักงานคนนี้มีศักยภาพสูง ไม่ใช่แบบว่า ปีนี้ผลงานออกมาโดดเด่นมาก ปีที่แล้วไม่ดีเลย และสองปีที่แล้ว ก็ปานกลาง ผลงานขึ้นๆ ลงๆ แบบนี้ ยังถือว่าศักยภาพไม่สูง ดังนั้นถ้าเราจะใช้มุมมองของผลงานที่เป็น KPI มาประเมินศักยภาพนั้น ผลงานจะต้องสูงอย่างต่อเนื่อง เราจึงจะจัดว่า พนักงานคนนั้นอยู่ในระดับที่เรียกกว่า ศักยภาพสูง
  • เอา Core Value ขององค์กรมาใช้ประเมิน การประเมินศักยภาพพนักงานอีกแนวหนึ่งก็คือ ใช้ Core Value ขององค์กรที่มีอยู่มาเป็นเครื่องมือในการประเมินศักยภาพพนักงาน เวลาพิจารณาก็จะดูจากว่า พนักงานคนนั้น แสดงออกถึงพฤติกรรมที่สอดคล้องกับ Core Value ขององค์กรมากน้อยเพียงใด วิธีการนี้ เราจะต้องแปลง Core Value ให้ออกมาเป็นชุดพฤติกรรมที่ชัดเจนให้ได้ก่อน เพื่อให้เป็นแนวทางในการประเมินศักยภาพได้อย่างชัดเจน แต่เกณฑ์ง่ายๆ ที่ควรจะเป็นก็คือ พนักงานที่มีศักยภาพสูงนั้น จะต้องเป็นคนที่แสดงออกในพฤติกรรมเหล่านั้นอย่างสม่ำเสมอ และโดดเด่น รวมทั้งยังเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับพนักงานอื่นได้อีกด้วย และในการประเมินศักยภาพด้วยวิธีนี้ก็ต้องอาศัยผู้ประเมินมากกว่า 1 คน โดยทั่วไปจะมีประมาณ 5-8 คนในการประเมินศักยภาพพนักงาน 1 คน เพื่อให้แน่ใจว่า พนักงานคนนั้น มีศักยภาพจริงๆ และเป็นที่ยอมรับกันในองค์กรอย่างแท้จริง แต่ข้อจำกัดของการใช้ Core Value ในการประเมินศักยภาพก็คือ บางตัวกำหนดพฤติกรรมได้ยากมาก เพราะเป็นนามธรรมจริงๆ
  • ใช้ Competency ในการประเมินศักยภาพพนักงาน อีกวิธีหนึ่งที่เป็นที่นิยมกันมากในการประเมินศักยภาพก็คือ ใช้ Competency ที่องค์กรมีอยู่นี่แหละครับ มาประเมิน โดยอาจจะต้องเลือก Competency ที่สอดคล้องกับคำว่าศักยภาพสูง ว่าจะใช้ตัวไหนบ้างในการประเมิน และต้องกำหนดเกณฑ์ให้ชัดเจนว่า คนที่มีศักยภาพสูงนั้น จะต้องแสดงออกอย่างไรบ้าง

ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นเครื่องมือที่องค์กรมักจะนำมาใช้ประกอบการประเมินศักยภาพพนักงาน คำถามที่ตามมาก็คือ ถ้าองค์กรของเราไม่มี Core Value ไม่มี Competency และไม่มีระบบประเมินผลงานที่ชัดเจน เราจะสามารถประเมินศักยภาพพนักงานได้หรือไม่ ท่านผู้อ่านคิดอย่างไรครับ

ถ้าองค์กรของเราไม่มีเครื่องมือเหล่านี้จริงๆ ลองถามตัวเองดูก็ได้ครับว่า มองออกหรือไม่ว่า พนักงานที่ทำงานกับเราแต่ละคนนั้น ใครที่มีศักยภาพสูงในการทำงาน ลองบอกชื่อมาสัก 3 คน ผมเชื่อว่าถ้าเรารู้จักพนักงานดี ทำงานกับพนักงานมาพอสมควร เราจะมองออกว่าคนไหนมีศักยภาพที่จะสร้างผลงานในอนาคตได้ดีกว่ากัน

คำถามต่อไปหลังจากที่ได้ชื่อมาแล้วก็คือ อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เราประเมินว่า พนักงานที่ระบุชื่อมานี้ เป็นพนักงานที่มีศักยภาพสูง คำตอบก็จะออกมาประมาณว่า “ผลงานที่ออกมามีความโดดเด่นมาก และผลงานไม่เคยตกเลย อีกทั้งยังแสดงพฤติกรรมที่ดีในการทำงาน ไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ ที่เข้ามา นอกจากนั้นยังเป็นคนที่สั่งงานไปแล้ว คิดต่อยอดออกไปอีก ไม่ใช่แค่ทำตามที่สั่งเท่านั้น ยังไปหาคำตอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาให้อีกด้วย ซึ่งทำให้ผลงานที่ออกมานั้นมีความสมบูรณ์มากขึ้น สั่ง 1 แต่ได้มา 5 เลย และพนักงานคนนี้เรียนรู้ได้เร็วมาก อธิบายเพียงไม่กี่คำ ก็สามารถเข้าใจภาพรวมได้ทั้งหมด อีกทั้งถ้ามีประเด็นที่ไม่เข้าใจ เขาก็ไปหาคำตอบมาได้ด้วยตนเอง โดยที่เราไม่ต้องไปจ้ำจี้จ้ำไชอะไรเลย .........”

อ่านจากคำตอบของผู้จัดการคนนี้แล้วรู้สึกอย่างไรบ้างครับ จะเห็นว่า แม้ว่าองค์กรของเราไม่มีเครื่องมือในการประเมินอะไรเลยก็ตาม แต่เราก็ยังสามารถที่จะมองออกว่า พนักงานคนไหนที่มีศักยภาพมากกว่า ก็จากการทำงานร่วมกัน จากสิ่งที่พนักงานแสดงออก เป็นต้น

แล้วเรื่องของศักยภาพ ถ้าเราจะมองกันจริงๆ น่าจะมีพฤติกรรมอะไรบ้างที่บ่งบอกว่าพนักงานมีศักยภาพสูง

  • ความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสร้างผลงานที่ดีอยู่ตลอด
  • มีความคิดสร้างสรรค์ หาวิธีการใหม่ๆ ในการพัฒนาการทำงานอยู่ตลอด
  • เรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้รวดเร็ว ไม่ต้องสอนซ้ำแล้วซ้ำอีก
  • สามารถทำให้คนอื่นมีแรงจูงใจ และมีแรงบันดาลใจในการทำงาน
  • คิดต่อยอด และทำมากกว่าที่สั่ง คิดรอบคอบว่าจะต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้งานสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของพฤติกรรม และความสามารถที่ส่งเสริมให้เกิดความสำเร็จในระยะยาว และในอนาคตข้างหน้ามากกว่า ในปัจจุบัน ดังนั้นพนักงานที่มีศักยภาพสูงก็คือ พนักงานที่องค์กรสามารถฝากอนาคตไว้กับเขาได้นั่นเองครับ

เมื่อเข้าใจแบบนี้แล้ว ลองหันไปมองลูกน้องของเรา แล้วดูสิครับว่า ใครคนไหนบ้างที่เราจะฝากอนาคตของหน่วยงานเรา หรือองค์กรเราไว้กับเขาได้บ้าง




Create Date : 01 เมษายน 2558
Last Update : 2 เมษายน 2558 6:07:29 น. 0 comments
Counter : 1224 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]