เรื่องของวัด


 จากสถิติเมื่อปี 2558 จำนวนหมูู่่บ้านทั้งประเทศมี ประมาณ 75,000 หมู่บ้าน และจำนวนวัดมีประมาณ 40,000 วัด และมีการเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปีๆ จะเห็นว่า จำนวนวัดเกือบเท่าจำนวนหมู่บ้านแล้ว เกือบจะได้หนึ่งหมู่บ้าน 1 วัดแล้วนะครับ 

วัดที่ถือกำเนิดขึ้นอาจมีทั้งวัดที่มีคุณภาพ และวัดที่ไม่มีคุณภาพ การถือกำเนิดขึ้นของวัดหากเป็นความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ ที่ไม่มีวัดไว้สำหรับทำบุญ จัดงานประเพณีต่างๆ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้าน ก็น่าจะเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่หากเป็นความต้องการของวัดที่ต้องการขยายสาขา เพื่อเผยแพร่แนวคิด ลัทธิความเชื่อของตน โดยที่ชาวบ้านเขาก็มีวัดอยู่แล้ว มันกำลังเกินความจะเป็นหรือไม่

ยังมีวัดร้างอยู่อีกหลายวัดที่ต้องการการพัฒนา ยังมีวัดที่ไม่ค่อยมีพระสงฆ์จำวัดอยู่ หรือมีอยู่น้อย ผู้ปกครองพระสงฆ์ทำไมไม่จัดพระเข้าประจำ เพื่อพัฒนาวัดที่มีอยู่แล้ว ดีกว่าสร้างวัดใหม่ๆไม่มีจบสิ้น

การสร้างวัดใหม่ต้องใช้ทรัพยากรมากมาย ที่ดิน ป่าไม้ อิฐหินปูนทราย แรงงาน น้ำ ไฟฟ้า อื่นๆ อีก เงินเหล่านี้มาจากเงินของประชาชนที่บริจาคเข้ามา เมื่อได้วัดขึ้นมาแล้วคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ เงินไปจมอยู่ในวัดมากมายไม่ได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ไม่มีการผลิต เมื่อวัดมีทรัพย์สินมาก ผู้ปกครองวัด อาจเกิดกิเลส ต้องการครอบครองหรือหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินเหล่านั้น

วัดในส่วนกลางมีฐานะร่ำรวยมาก มีทรัพย์สินมากมาย ทำไมไม่เอาไปบริจาคให้กับวัดต่างจังหวัดที่ขาดการพัฒนา พระคุณเจ้าหลายองค์มีทรัพย์สินมากมายดั่งเศรษฐี ขัดต่อแนวทางของพุทธศาสนาที่พระไม่ควรถือเงิน 

มีกี่วัดที่นำของบริจาคไปแจกเด็กนักเรียนยากจนที่ไม่มีอาหารกลางวัน มีกี่วัดที่เอาเงินที่เหลือไปสร้างโรงพยาบาล ไปสนับสนุนการศึกษา ให้ทุนเด็กนักเรียน ไปช่วยพัฒนาโรงเรียน 

วัดบางวัดหลวงพ่อดีดีอยู่ไม่ได้ วัดบางวัดไม่มีคนนับถือเพราะหลวงพ่อไม่เป็นที่เคารพศรัธทา วัดบางวัดสร้างไม่มีวันจบหาความสงบร่มเย็นไม่ได้ วัดบางวัดหาแต่เงินเข้าวัด ไม่รู้ทำไปเพื่ออะไร

ฤา ศาสนาจะถึงยุคเสื่อม หรือตกต่ำแล้ว แก่นแท้ของพระพุทธศาสนาได้ถูกบิดเบือน ให้คนหลงเชื่่อวัตถุ ให้คนหลงเชื่อพิธีกรรม ให้คนขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ให้คนมีจิตใจอ่อนแอ และหลงเข้าวัดในที่สุด เพื่อเรียกเงินทำบุญ เพื่อเพิ่มยอดเงินสะสมของวัด กรรมการวัด และพระในวัด

อนิจจา



Create Date : 27 เมษายน 2559
Last Update : 27 เมษายน 2559 16:58:33 น.
Counter : 799 Pageviews.

0 comment
ในอนาคตอันใกล้ มนุษย์เงินเดือนจะไม่มีปัญญาซื้อทาวเฮาส์


  ตอนที่ผมเริ่มทำงานใหม่ๆ เมื่อประมาณ 25ปีที่ผานมา ทาวน์เฮาส์ย่านช่องนนทรีราคาประมาณ 3 แสนบาท ผมมีเงินเดีอนแค่ 4000 บาท หักค่าใช้จ่ายนู่นนี่นั่นแล้ว ผมไม่สาารถผ่อนได้ รวมทั้งยังไม่มีเงินก้อนไปผ่อนดาวน์ มันจึงเป็นแค่บ้านในฝันเท่านั่น ไม่สามารถเป็นความจริงได้ 
  ผมฝันต่อว่าผมจะต้องมีตังซื้อให้ได้ ในที่สุดอีก 10 ปีต่อมาผมสามารถซื้อคอนโดฯ ขนาดเล็กได้ในราคาประมาณ 3 แสนนิดๆ ซึ่งอยู่ย่านอ่อนนุช และอยู่นอกเมืองออกมา
  หลังจากนั้นอีกประมาณ 7 ปีผมขายคอนโดฯ และซื้อทาวน์เฮ้าส์ในราคา 1 ล้านหนึ่งแสน แต่อยู่ย่านร่มเกล้า มีนบุรี ซึ่งราคายังไม่แพงมากในขณะที่ในเมืองราคาประมาณ 2 ล้าน
  อีก 2 ปีต่อจากนั้นผมมีอันต้องย้ายงาน และค่าน้ำมันแพงขึ้นมากจ่ายค่าน้ำมันไม่ไหวผมขายบ้านหลังนั้น แล้วไปซื้อทาวน์เฮาส์ใหม่ย่านบางพลี สมุทรปราการ ในราคา 1 ล้าน 4 แสน 
 ปัจจุบัน ทาวน์เฮาส์ในย่านนั้นราคามากกว่า 2 ล้านบาท และหายากขึ้น ซึ่งถ้าคิดอัตราผ่อนชำระรายเดือนแล้ว บ้านราคา 2 ล้านบาท อัตราผ่อนชำระต่อเดือนที่ ดอกเบี้ย 5% ผ่อนนาน 30 ปี จะตกประมาณเดือนละ 12000 บาท โดยผู้ซื้อจะต้องมีรายได้ 30000 บาทต่อเดือนครับ โดยไม่มีหนี้สินอื่น
 ดังนั้นมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ระดับนี้ ต้องมีตำแหน่งระดับหัวหน้างานที่มีศักยภาพ และอายุงานพอสมควร แต่ที่สำคัญราคาทาวน์เฮาส์ไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ มีการขึ้นราคาอย่างรวดเร็วตามการปั่นราคาที่ดินซึ่งคิดเป็นเปอร์เซนต์ต่อปีนั้นสูงกว่าการขึ้นเงินเดือนมาก ฉะนั้นผู็ที่จะสามารถซื้อทาวน์เฮาส์ได้ในอนาคตต้องมีรายได้แบบก้าวกระโดด และจะเหลือน้อยคนลงทุกที
 นั่นแสดงว่าถ้าคุณอยากได้ทาวน์เฮาส์ต้องออกไปนอกเมือง ห่างจากเมืองไปเรื่อยๆ แต่ถ้าอยากอยู่ในเมืองต้องเป็นคอนโดฯซึ่งนับวันจะแคบลงๆ ตามราคาที่ดินที่แพงขึ้น เล็กกว่าคอนโดฯก็เป็นแฟล็ตหรืออพาร์ทเมนท์ละครับ
 คนไทยจะเริ่มเหมือนคนฮ่องกงหรือคนญี่ปุ่นขึ้นเรื่อยๆ ที่เรื่มอยู่ในที่แคบลงๆ
ไม่แน่เราอาจจะเริ่มเห็นมนุษย์กล่องในเมืองไทยอีกไม่นาน ตราบใดที่ราคาที่ดินแพงขึ้นๆ ที่ดินเป็นของสะสมของเศรษฐี และการจัดเก็บภาษีที่ดินไม่สามารถกดดันคนมีที่ดินเปล่าให้ขายที่ดินออกมาได้ 
 ความหวังเดียวที่จะมีปัญญาซื้อทาวน์เฮาส์อีกสักครั้งในราคาที่ถูกลงคือต้องรอฟองสบู่แตกอีกรอบครับ








Create Date : 25 เมษายน 2559
Last Update : 25 เมษายน 2559 15:29:14 น.
Counter : 801 Pageviews.

0 comment
ใครว่าคนไทยไม่มีแบ่งชนชั้น


  ใครว่าสังคมไทยไม่มีการแบ่งชนชั้น
อันนี้ผมขอเถียงสักนิด
คนไทยชอบให้เกียรติคนรวย หรือ เจ้านาย ทั้งที่อยู่ในและนอกเวลางาน
คนไทยจะอ่อนปวกเปียกเมื่อต้องคุยกับเจ้านาย
เจ้านายจะวางตัวอยู่เหนือลูกน้องเสมอทั้งในและนอกเวลางาน
คนไทยให้เกียรติผู้ที่อาวุโสกว่ามากเกินไป
คนไทยนับถือและให้เกียรติข้าราชการมากเกินไป
ข้าราชการชอบยกตนข่มท่าน เบ่งบารมีเหนือชาวบ้าน
เมื่อไปติดต่อราชการ ชาวบ้านต่างจังหวัดมักจะเซ่อซ่า และโดนข้าราชการดุด่าว่ากล่าว
ข้าราชการมักจะหาช่องทางเอารัดเอาเปรียบชาวบ้าน และชาวบ้านมักติดสินบนข้าราชการ

แม่บ้านที่ทำงานบ้านคนรวยไม่มีสิทธิ์นั่งโซฟา
ผู้ที่ทำงานในบ้านคนรวยมักถูกเอารัดเอาเปรียบค่าแรงงาน
คนรวยมักหาช่องทางติดสินบนเพื่ออยู่เหนือกฎหมาย ในขณะที่คนจนทำไม่ได้
คนรวยมักกอบโกยไม่มีที่สิ้นสุด และไม่รู้จักแบ่งปัน 
ขนาดจะตายยังหาทางแบ่งมรดกแบบไม่ให้เสียภาษีเยอะ
คนรวยมีที่ดินว่างเปล่ามากมายที่ปล่อยเป็นที่รกร้าง ขณะที่คนจนไม่มีที่ทำกินต้องไปบุกรุกป่า
คนรวยมักหาทางเลี่ยงภาษี

กฎหมายไทย สนับสนุนคนรวย ให้ทำมาหากินสะดวก และ กดขี่คนจน
คนรวยสร้างละครเพื่อมอมเมาชาวบ้านร้านตลาดให้หลงมัวเมาอยู่กับการบูชาคนรวย
ในละคร คนใช้ไม่มีสิทธิ์นั่งโซฟา ไม่มีสิทธิ์กินข้าวพร้อมเจ้านาย
ในละคร ตัวเอกมักรวย และมีคนนับหน้าถือตาเยอะ ทำผิดกฎหมายได้
ละครที่เกี่ยวกับคนจน มักไม่ได้รับความสนใจ
ดารา เป็นบุคคลสาธารณะ แต่ไม่ค่อยเป็นตัวอย่างที่ดี
ดารา ที่มีเรื่องฉาว มักได้รับความสนใจ

คนจนยอมเสี่ยงชีวิตไปประท้วงเพื่อผลประโยชน์ของคนรวย
เมื่อมีการสลายการชุมนุมคนจนตาย คนรวยชิ่ง
นักการเมือง เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง
นักการเมือง มักสร้างอิทธิพล และหาทางกอบโกยผลประโยชน์
นักการเมืองส่วนน้อยที่มีคุณธรรม

ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนห่างขึ้นเรื่อยๆ
คนรวยส่วนน้อยถือทรัพย์สินส่วนใหญ่ในประเทศ
ไม่มีใครกล้าออกกฎหมาย เพื่อลดช่องว่างระหว่างคนรวยคนจน
ไม่มีใครกล้าขัดขาคนรวย

เพราะคนรวยอยู่ในดวงใจของคนจนเสมอไงล่ะครับ
คนจนเป็นแฟนคลับ และคอยเอาช่อดอกไม้ไปให้กำลังใจคนรวยในยามยากมีให้เห็นตามข่าวอยู่เรื่อยๆ

เพราะเรายอมรับการแบ่งชนชั้นโดยไม่รู้สึกรู้สาอะไรไงล่ะครับ






Create Date : 23 เมษายน 2559
Last Update : 23 เมษายน 2559 13:06:35 น.
Counter : 925 Pageviews.

0 comment
ต้นทุนเลี้ยงลูกสมัยใหม่










  สมัยก่อนตอนที่ผมเป็นเด็ก หน้าที่ในชีวิตประจำวัน คือ ทำงานบ้าน ไปโรงเรียน เลิกเรียนมาทำงานบ้าน ทำการบ้านและอาบน้ำนอน จำได้ว่า ได้ตังค์ค่าขนมไปโรงเรียนวันละ 2-3 บาท ก็สามารถไปโรงเรียนและซื้ออาหารเที่ยงกินได้ ในแต่ละวัน เสื้อผ้าสามารถใส่จนขาดและปะใช้ได้ ผิดกับสมัยนี้ซึ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จีงมาเล่าในเชิงเปรียบเทียบว่า คุณภาพของการเลี้ยงดูลูกสมัยนี้ กับสมัยก่อน มีความแตกต่างกันอย่างไร การใช้จ่ายของพ่อแม่ในยุคสมัยนี้ เพื่อให้ลูกๆดูดี การรักลูกมากเกินไป จนทำให้เขาคิดไม่เป็น ไม่สามารถต่อสู้ชีวิตในวันข้างหน้าได้ เป็นค่าใช้จ่ายที่คุ้มแล้วหรือ

  ตั้งแต่ยังอยู่ในท้องก็มีค่าใช้จ่ายตั้งแต่การฝากครรภ์ การจองแพ็คเกจต่างๆสำหรับการคลอด จนกระทั่งคลอดก็มีค่าใช้จ่ายเรื่องเสื้อผ้า น้ำยาซักล้างต่างๆ ขวดนม ผลิตภัณฑ์นม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ ทั้งคุณแม่และคุณลูก ผลิตภัณฑ์ถนอมผิว โตขึ้นมาหน่อยมีค่าเสื้อผ้า ซึ่งบางครั้งราคาแพงกว่าเสื้อผ้าผู้ใหญ่ แต่อายุการใช้งานสั้นมาก เพราะเด็กโตเร็ว นอกจากนั้นยังมีค่าของเล่นต่างๆ ซึ่งราคาไม่ถูกเลย ช่วงก่อนวัยเรียน เป็นสิ่งที่พ่อแม่ยอมจ่ายตามกำลังเพื่อให้ลูกๆมีความสุข ซึ่งจะทำให้ตัวเองมีความสุขไปด้วย

  ณ วันนี้ถ้าใครกำลังเลี้ยงดูลูกๆวัยเรียนอยู่ จะทราบดีว่าค่าใช้จ่าย มีอะไรบ้าง บางอย่างหนักมากแต่ก็ปฏิเสธที่จะไม่จ่ายไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องจำเป็น เช่น ค่าอาหาร 3 มื้อ ค่าเสื้อผ้า ค่ารักษาพยาบาล ค่าเทอม ค่าเดินทาง ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่พ่อแม่ต้องจ่าย นอกเหนือจากรายจ่ายส่วนตัว นอกจากนี้ยังมีค่าเรียนพิเศษเพื่อให้ลูกสามารถเรียนรู้เท่าทันคนอื่น ค่าอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ เช่นมือถือ โน้ตบุ๊ค ค่าโทรศัพท์รายเดือน ค่ากิจกรรมต่างๆ ค่าอุปกรณ์การเรียนที่จ่ายระหว่างเรียน และทำกิจกรรม ค่าประกันชีวิต ทั้งหลายทั้งปวงกับการเลี้ยงคนๆหนึ่งให้โตขึ้นมารับผิดชอบได้นั้น เป็นค่าใช้จ่ายต่อเนื่องที่ไม่ธรรมดา  ค่าใช้จ่ายอื่นๆที่มีมากกว่านี้เช่น การพาลูกไปเที่ยวสถานที่ต่างๆ ในช่วงวันหยุดหรือปิดเทอม ค่าขนมค่าอาหาร ค่ารถ 

  จนกระทั่งเข้าสู่รั้วมหาลัยซึ่ง ค่าใช้จ่ายสูงมาก จากการมีกิจกรรมต่างๆ มีอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ควบคู่กับการเรียนมากมาย มีค่ารถค่าที่พัก บางคนอาจมีเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ ที่แพงมากขึ้นไปอีกเช่น กระเป๋าแบลนด์เนม รถยนต์ 

  ตลอดระยะเวลาร่วม 20 กว่าปีที่ผู้ที่เป็นพ่อแม่ต้องทุ่มทุน ทุ่มรายได้ที่ตัวเองหามาเพื่อ เป็นค่าเล่าเรียนลูกสมัยนี้ ถ้าคิดเป็นเงินนั้น หนักเอาการ สำหรับผู้ที่มีอันจะกินคงไม่เป็นภาระที่หนักมาก แต่ผู้ที่หาเช้ากินค่ำ หรือมนุษย์เงินเดือนทั้งหลายนั้นย่อมเป็นภาระที่หนักหน่วงอยู่มาก จนทำให้หนี้ระดับครัวเรือนของคนไทย สูงขึ้นๆ

  ผลตอบแทนจากการต่อสู้ของพ่อแม่เหล่านี้ มีทั้งที่ประสบความสำเร็จ สำหรับท่านที่โชคดี มีลูกกตัญญู สามารถช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ได้ และตั้งใจเล่าเรียนจนประสบความสำเร็จ แต่หลายๆคน แม้จะประสบความสำเร็จ เรียนจบปริญญาตรี ก็ไม่สามารถมีรายได้มาตอบแทนพ่อแม่ผู้ส่งเสีย บางคนเมื่อมีการมีงานทำก็มีครอบครัว และสร้างภาระใหม่ต่อไป บางคนเรียนจบหางานทำรายได้น้อย บางคนจบมาแบบไร้คุณภาพไม่สามารถหารายได้เลี้ยงตัวให้ประสบความสำเร็จได้ ขาดความอดทน มานะบากบั่น เนื่องจากพ่อแม่อุ้มชู ประคบประหงมมาตลอด ทำให้ทำงานหนักไม่เป็น และ ทนแรงกดดันต่างๆไม่ได้

  แล้วในเมื่อสังคมเป็นแบบนี้ การดำเนินชีวิตเป็นแบบนี้ เราจะทำอย่างไรให้สามารถประคับประคองตัวให้รอด ทำอย่างไรให้เด็กๆสามารถเอาตัวรอดและยืนอยู่ในสังคมได้ในอนาคต โดยที่เราเองไม่ลำบาก สิ่งที่ผู้เขียนมองเห็นว่าควรต้องปฏิบัติคือ

1. เดินทางสายกลาง ทำตามกำลังความสามารถของตัวเอง ตามรายได้ที่มี ซึ่งพ่อแม่ยังต้องกินต้องใช้ ต้องมีเงินเก็บไว้ดูแลตัวเองในวัยเกษียน
2. อย่าเห่อตามกระแสเรียนพิเศษ เช่นเขาส่งลูกเข้าเรียนพิเศษเราก็ส่งบ้างทั้งๆที่ไม่มี  แต่ถ้าท่านอยากสู้ต้องดูเด็กด้วยว่าเขารับหรือไม่กับการยัดเยียดความรู้ให้กับเขา เพื่อให้คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป
3. การศึกษาทางเลือกยังมีอีกเยอะ ไม่จำเป็นต้องเข้ารั้วมหาวิทยาลัยอย่างเดียว เลือกให้เหมาะกับเด็ก กับความต้องการแรงงานในตลาด
4. อย่าเห่อโรงเรียนดัง ถ้าลูกท่านไม่เก่ง ไม่สามารถสอบเข้าได้ แต่ใช้วิธีจับฉลากเข้าไป ก็ได้อยู่ห้องธรรมดาๆ ซึ่งโรงเรียน มิได้ให้ความสนใจนัก ไม่แตกต่างจากโรงเรียนไม่มีชื่ออื่นๆ
5. หันมาเอาใจใส่ลูก อบรมเขา เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเขาอย่าให้เขาหลงไหลไปตามกระแสสังคมที่นับวันจะเป็นวัตถุนิยมขึ้นเรื่อยๆ เลี้ยงลูกให้มีคุณภาพ ไม่ควรมีลูกมากถ้ารายได้น้อย ไม่ควรปลูกฝังนิสัยฟุ่มเฟือยให้กับเด็ก 






Create Date : 22 เมษายน 2559
Last Update : 22 เมษายน 2559 20:27:29 น.
Counter : 588 Pageviews.

0 comment

สมาชิกหมายเลข 3126922
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



New Comments