happy memories
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2563
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
30 ธันวาคม 2563
 
All Blogs
 
สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๔ ด้วยเพลงกล่อมเด็กชั้นดี "พรปีใหม่"



พระสาทิสลักษณ์ผลงาน คุณเกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์
จาก เพจ Nitipong Honark





อัพบล็อกสุดท้ายของปีได้ทันก่อนจะสิ้นปี อัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ "พรปีใหม่" มาส่งท้ายปีเก่าและรับปีใหม่เพื่อความเป็นมงคลแก่จขบ.และเพื่อนบล็อกค่ะ ที่ตั้งชื่อบล็อกว่าเป็นเพลงกล่อมเด็กชั้นดีด้วยเหตุผลส่วนตัว เรื่องของเรื่องคือ อิฉันเลี้ยงหลานมาสองคน เป็นคนกล่อมนอนเอง อุ้มไปก็จะร้องเพลงไป ร้องเพลงกล่อมเด็กภาษาไทยบ้าง ฝรั่งบ้าง ที่ร้องบ่อยก็คือเพลงพระราชนิพนธ์นี่แหละค่ะ เพราะชอบมาก ๆ แล้วรู้สึกได้ว่าหลานก็ชอบด้วย แอบแปลกใจอยู่เหมือนกัน เพราะเด็กเล็กยังฟังความหมายไม่ออกแน่ คงเป็นเพราะทำนองที่ไพเราะจับใจ โดยเฉพาะเพลง "พรปีใหม่" ร้องไม่ทันไร บางทีก็แค่ฮัมทำนองช้า ๆ หลานตัวน้อยก็หลับปุ๋ย เป็นแบบเดียวกันทั้งสองคนเลยค่ะ ท่านใดมีลูกหรือหลานหลับยากหรืองอแงเวลาจะนอน ลองใช้วิธีเราดู ได้ผลยังไงก็หลังไมค์มาบอกบ้างนะจ๊ะ

ปีเก่ากำลังจะผ่านไป ขอให้ปีใหม่นี้เป็นปีที่ดีของเพื่อนบล็อกทุกท่าน มีความสุขมาก ๆ สุขภาพแข็งแรง ปลอดภัยจากโควิด มีเงินใช้ไม่ขาดมือ การงานก้าวหน้า กิจการรุ่งเรือง และโชคดีตลอดปี ๒๕๖๔ สุขสันต์วันปีใหม่ค่ะ




ปีเก่ากำลังจะผ่านไป ปีใหม่กำลังจะผ่านมา ..... ช่วงนี้เดินไปไหนต่อไหน อยู่ตรงไหนก็จะ ได้ยินเสียงเพลงทำนองสนุกสนาน รื่นเริง ดูมีชีวิตชีวา มีพลังกับเนื้อเพลงที่มีแต่ถ้อยคำดี ๆ

“สวัสดีวันปีใหม่พา  ให้บรรดาปวงท่านเราท่านรื่นรมย์ ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม ต่างสุขสมนิยมยินดี”
 
ใช่แล้ว.... เพลงพรปีใหม่ ... เพลงที่เราชาวไทยได้ยินกันมาจนคุ้นหู ..... ร้องกันได้ตั้งแต่เด็กตัว เล็กๆจนถึงผู้อาวุโสสูงสุดในบ้าน




เราชาวไทย ได้ยินเพลงพรปีใหม่ เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๙๕ ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๙ ทรงมีพระประสงค์จะพระราชทานของขวัญปีใหม่ ให้กับปวงชนชาวไทยในปีใหม่ปีนั้น จนถีงวันนี้เราชาวไทยได้รับ “ของขวัญ” จากพระราชาผู้ทรง คุณอันประเสริฐมาแล้วถึงกว่าหกสิบปี



 
พรปีใหม่ .... เพลงที่แต่งไว้ในวันที่ ทรงประชวร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เคยมีพระราชดำรัสเล่าเบื้องหลัง การพระราชนิพนธ์เพลง"พรปีใหม่" พระราชทานแก่ คณะกรรมการโครงการ "ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์" ที่เข้าเฝ้าฯทูลเกล้าฯ ถวายเงินเพื่อทรงใช้สอยตามพระราชอัธยาศัย เมื่อวันที่ ๒๒  กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๒ ความว่า
 
"...เพลง พรปีใหม่ คนก็ว่าแต่งในวันปีใหม่หรือวันก่อนวันปีใหม่ แท้จริงแต่งมานานก่อนที่จะออก ปีใหม่เป็นปีหรือสองปีแล้วก็แต่งแบบทุลักทุเล ตอนนั้นไม่สบายคืออยู่ที่เมืองนอกไปมีอุบัติเหตุ หมอบอกว่าห้ามเล่นแซกโซโฟน แต่ว่าท่านจักรพันธ์อยู่ด้วยก็ให้ท่านเป่าแซกโซโฟน ท่านก็เป่ามีเสียงออกมาได้ แต่ท่านไม่รู้ว่านิ้วจะวางอย่างไร ลงท้ายก็เอานิ้วของเราใส่บนแซกโซโฟน แล้วท่านก็เป่า ลงท้ายท่านก็เล่นแซกโซโฟนได้ และเมื่อหมออนุญาตให้เป่าแซกโซโฟนก็เลยเริ่มเล่นเป็นเพลงที่แต่งเอาเองคนหนึ่งเล่นส่วนหลัก แล้วอีกคนก็เล่นต่อสลับกันไปอย่างนี้ แล้วจดเอาไว้ มาถึงปลายปี ก็เลยนึกว่าเอ๊ะ ... เราแต่งเพลงสำหรับให้พรปีใหม่  ก็เอาอันนี้ที่แต่งไว้แล้ว มีคนแต่งสองคน ไม่รู้ว่าเป็นเพลง ก็มาปรับปรุงให้เป็นเพลงได้..."



 
ในเดือนธันวาคม ๒๔๘๔ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร  เสด็จนิวัติพระนครและประทับอยู่ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงนิพนธ์คำร้องเป็นคำอำนวยพรปีใหม่ ใช้คำง่าย ๆ แต่ไพเราะและสื่อความหมายได้ชัดเจน  โปรดเกล้าฯ ให้วงดนตรี ๒ วง คือ วงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวงดนตรีสุนทราภรณ์ นำเพลงพระราชนิพนธ์ "พรปีใหม่" ออกบรรเลงเผยแพร่เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๕ โดยวงดนตรีนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้บรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ "พรปีใหม่" ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนวงดนตรีสุนทราภรณ์ได้บรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ "พรปีใหม่" ที่ศาลาเฉลิมไทย




 
เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๑๓ นี้ นำเผยแพร่ ด้วยวงดนตรีบรรเลงและออกอากาศทางสถานีวิทยุ อ.ส.  (อัมพรสถาน)ทรงพระกรุณา ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงเป่าแซกโซโฟนในช่วงแรก และพระองค์ทรงเป่าแซกโซโฟน ช่วงที่สอง สลับกันไป 




เพลงพรปีใหม่ ไม่ได้มีเฉพาะเนื้อร้องภาษาไทย แต่ยังมี version ภาษาอังกฤษด้วย ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ สมาชิกวง อ.ส.วันศุกร์ ซึ่งถวายงานรับใช้ในฐานะนักดนตรี เคยเล่าไว้ว่า “เมื่อประมาณ ๓ ปีที่แล้ว ช่วงเวลาใกล้ ๆ ปีใหม่นี้แหละ พระองค์ท่านได้รับสั่งกับผมว่า เพลงพรปีใหม่นี้มีแต่ภาษาไทยนะ ประชาชนชาวไทยทุกคนก็สามารถได้ร้อง ได้เล่นกัน แต่ว่าถ้าสามารถที่จะมีภาษาอังกฤษด้วยได้ ก็จะเป็นเรื่องที่วิเศษเลย จึงเป็นที่มาของเนื้อเพลงพรปีใหม่เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษที่พระองค์ทรงรับสั่งให้ผมเขียนเนื้อร้อง ซึ่งเป็นสิ่งสุดท้ายที่พระองค์ท่านทรงทำ ที่เกี่ยวกับเพลงพระราชนิพนธ์ของพระองค์”




เพลงพรปีใหม่ .... เป็นเพลงแห่งความสุข ที่คุ้นหูเราชาวไทยมานานหลายสิบปี  เป็นเพลงที่มีดนตรีและเนื้อหาเรียบง่าย ถ้อยคำทุกคำในเพลงเป็นการอวยพรให้ “ปวงชนชาวไทย” มีแต่ความสุข ความเจริญ มีแต่เรื่องดี ๆ เข้ามาในชีวิต

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงวิงวอนขอพรจากฟ้า ให้ประทานความสุขสวัสดี ให้กับเราชาวไทยมายาวนานกว่าหกสิบปี แม้วันนี้ “พ่อหลวง” ไม่ได้อยู่กับพวกเราแล้ว แต่เพลง “พรปีใหม่” ก็จะยังคงดังกังวานอยู่ในทุก ๆ เทศกาลปีใหม่ ไม่ว่าจะอีกนานซักแค่ไหน และนั่นก็เท่ากับว่า “พระผู้สถิตในใจ” ของเราชาวไทย จะยังคงพระราชทาน “พรปีใหม่” ให้กับพวกเราเสมอ....และตลอดไป












พระบรมฉายาลักษณ์และพระฉายาลักษณ์ในบล็อกนี้อัญเชิญมาจากเพจ ฤา ด้วยรักและภักดี ลงข้อมูลประกอบไว้ว่า

เมื่อ ๗๐ ปีที่แล้ว ในวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๑๙๔๙ ดิมิทรี่ เคสเซล (Dmitri Kessel) ช่างภาพชาวยูเครนวัย ๔๐ ปี ซึ่งเป็นช่างภาพคนสำคัญของนิตยสาร LIFE เดินทางไปเมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อบันทึกภาพในหลวงที่ขณะนั้นมีพระชนมพรรษา ๒๒ พรรษา ณ พระตำหนักวิลล่าวัฒนา ภาพชุดนั้นมีชื่อว่า “Roi du Siam” (กษัตริย์แห่งสยาม)




นอกจากภาพประทับใจชาวไทยเช่นภาพในหลวงทรงเปียโนกับคุณติโต แมวทรงเลี้ยงพันธุ์วิเชียรมาศตัวอ้วนสีน้ำตาล ภาพชุด Roi du Siam ยังมีภาพในหลวงทรงดนตรี งานลีลาศเล็ก ๆ ในวิลล่าวัฒนา ภาพสมเด็จย่าและพระพี่นางในพระอิริยาบถสบาย ๆ และภาพพระราชินีที่ทรงสิริโฉมงดงามยิ่ง
ดิมิทรี่ เคสเซล (๑๙๐๒-๑๙๙๕) เกิดที่เคียฟ เมืองหลวงของยูเครน เส้นทางการเป็นช่างภาพของเขาปูด้วยปลอกกระสุน สะเก็ดระเบิด ความขัดแย้งในยุโรปตะวันออกช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ และการล่มสลายของจักรวรรดิรัสเซีย ในวัยหนุ่ม เขามีส่วนร่วมกับขบวนการทางการเมืองของยูเครน ได้เห็นความรุนแรงระหว่างทหารและชาวยูเครน และบันทึกเก็บไว้ในภาพถ่าย




ในปี ๑๙๒๓ เมื่ออายุ ๒๑ ปี เขาลี้ภัยไปนิวยอร์ก เริ่มชีวิตปากกัดตีนถีบด้วยงานในธุรกิจขนเฟอร์ และเป็นนักข่าวฟรีแลนซ์ให้หนังสือพิมพ์รัสเซีย ก่อนไปลงเรียนถ่ายภาพในปี ๑๙๓๔ ซึ่งเป็นเวลาที่กล้องไลก้าเปิดตัวกล้องขนาดกะทัดรัด ๓๕ มม. ที่สะดวกในการเก็บภาพสถานการณ์อลหม่าน เหมาะมากสำหรับคนที่เคยตามเก็บภาพการชุมนุมตอนยังอยู่ในยูเครนแบบเขา




ผลงานของเขาพาให้เขาได้งานฟรีแลนซ์กับนิตยสาร Fortune นิตยสารด้านเศรษฐกิจที่เพิ่งเปิดตัวในตอนนั้น แต่มาแจ้งเกิดจริง ๆ ก็ตอนช่วงกลางยุค 30s เมื่อเขาได้งานช่างภาพประจำกับนิตยสาร LIFE นิตยสารที่โดดเด่นเรื่องการบันทึกภาพบุคคลและเหตุการณ์สำคัญ โดย LIFE ส่งเขาไปอยู่กับทีมฝั่งปารีส และเขาอยู่ที่นั่นกว่า ๓๐ ปี เดินทางเก็บภาพสงคราม วิถึชีวิตผู้คนในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย และภาพบุคคลสำคัญของโลก เช่นในหลวงรัชกาลที่ ๙ ของพวกเรา























พระบรมฉายาลักษณ์ พระฉายาลักษณ์ และข้อมูลจาก
เพจ ฤา ด้วยรักและภักดี
greenwave.atimeonline.com















บีจีจากคุณยายกุ๊กไก่ กรอบจากคุณ ebaemi ไลน์จากคุณญามี่

Free TextEditor




Create Date : 30 ธันวาคม 2563
Last Update : 31 ธันวาคม 2563 22:43:58 น. 0 comments
Counter : 3907 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณtoor36, คุณสองแผ่นดิน, คุณกะว่าก๋า, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณkatoy, คุณnonnoiGiwGiw


haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.