happy memories
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2557
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
16 สิงหาคม 2557
 
All Blogs
 
เสพงานศิลป์ ๑๒๙




ภาพจากเวบ deviantart.com





"ฉันได้จากโลกนี้ไปแล้วโดยไม่เสียใจ

เพราะฉันได้อุทิศชีวิตของฉันให้กับ

บางสิ่งที่เป็นประโยชน์

ในฐานะเป็นผู้รับใช้ที่ต่ำต้อย

ในงานศิลปของฉัน

ชีวิตนั้นสั้น....แต่ศิลปะยืนยาว


ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี





Romance - Yuhki Kuramoto










































































ภาพและข้อมูลจากสูจิบัตรงานโครงการหลวง













เทิดไท้ มหาราชินี


เชิญชมนิทรรศการเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พร้อมร่วมลงนามถวายพระพร ตลอดเดือนส.ค. รวมทั้งชมผลงานและการสาธิตผลิตงานศิลปหัตถกรรม พร้อมร่วมกิจกรรมเรียนรู้และสร้างสรรค์ผลงานของตนเองได้ รวมทั้งเลือกซื้อสินค้าของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศ.ศ.ป.) ระหว่างวันที่ ๑๗-๓๑ ส.ค. ที่บริเวณล็อบบี้ โรงแรมแกรนด์ ไชน่า เยาวราช



พระฉายาลักษณ์และข้อมูลจากเวบ
naewna.com
picpost.postjung.com













นิทรรศการเทิดพระเกียรติ "ดอกไม้ใต้ร่มพระบารมี"


เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๗ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ ธนาคารไทยพาณิชย์จัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติ "ดอกไม้ใต้ร่มพระบารมี" โดยมีท่านผู้หญิงภรณี มหานนท์ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ คุณกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นประธานในพิธี และคุณวัลลยา แก้วรุ่งเรือง รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดงาน






นิทรรศการเทิดพระเกียรติ "ดอกไม้ใต้ร่มพระบารมี" จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่พระมหากรุณาธิคุณด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ที่ได้พระราชทานโครงการในพระราชดำริให้มีการอนุรักษ์และพัฒนา เช่น กล้วยไม้พันธุ์ต่าง ๆ และบอนสี พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ชื่นชมความงามของดอกไม้พระนาม ทั้งดอกกุหลาบควีนสิริกิติ์ คัทลียาควีนสิริกิติ์ ดอนญ่าควีนสิริกิติ์ และบัวควีนสิริกิติ์ ดอกไม้พระราชทานนาม ได้แก่ ทิพเกสร สรัสจันทร นิมมานรดี สร้อยสุวรรณา ดุสิตา มณีเทวา และดอกไม้ทรงโปรดชนิดต่าง ๆ พร้อมรับฟังเพลงพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เช่น เพลงกุหลาบไกลกังวล สายหยุด และนางแย้ม อันไพเราะและหาฟังได้ยากยิ่ง ชมรายละเอียดความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ และการจัดเทศกาลดอกปทุมมา ทิวลิปไทย รับสายฝน โดยการจัดนิทรรศการในครั้งนี้ได้รับความอนุเคราะห์เป็นอย่างดีจาก มูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พิพิธภัณฑ์ผ้าใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วิทยาลัยในวังหญิง และพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้






นอกจากนี้ ธนาคารยังได้จัดให้มีกิจกรรมพิเศษตลอดช่วงการจัดนิทรรศการ ประกอบด้วย การจำหน่ายสินค้าที่ระลึกจากพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กิจกรรมสาธิตงานฝีมือเกี่ยวกับดอกไม้และจำหน่าย “ของขวัญวันแม่” จากวิทยาลัยในวังหญิง พร้อมกิจกรรมเชิงปฏิบัติการชวนแม่ลูกผูกพันมาพับและปั้นดอกไม้แบบต่าง ๆ โดยวิทยากรจากวิทยาลัยในวังหญิง ในวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๗ พับใบเตยเป็นดอกกุหลาบและพับผ้าเช็ดหน้าเป็นกระเช้าดอกไม้ และวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๗ ปั้นดินเป็นดอกไม้ นำดินไทยมาปั้นเป็นดอกกุหลาบติดตู้เย็นและดอกมะลิติดเสื้อ กิจกรรม “พิศพรรณไม้ใน’พิธภัณฑ์” จำหน่ายพรรณไม้สวยงาม แวะชมนิทรรศการรับฟรี ต้นมะลิ ๕๐ ท่านแรกต่อวัน ระหว่างวันที่ ๒๕-๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๗ กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ Walk Rally และกิจกรรมออนไลน์บนเฟซบุ๊คพิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย (Facebook Thai Bank Museum) ให้ได้ร่วมสนุกถ่ายภาพเซลฟีกับดอกไม้ในนิทรรศการเพื่อรับของที่ระลึกอีกด้วย


นิทรรศการเทิดพระเกียรติ"ดอกไม้ใต้ร่มพระบารมี" จัดแสดงถึงวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๗ เว้นวันหยุดธนาคาร ตั้งแต่เวลา ๐๙.๓๐-๑๗.๐๐ น. ณ พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ สอบถาม รายละเอียดเพิ่มเติม โทร. ๐ ๒๕๔๔ ๓๘๕๘ หรือ thaibankmuseum.or.th







ภาพและข้อมูลจากเวบ
manager.co.th














แพรวาบ้านโพน หัตถศิลป์อีสาน คุณค่าจากน้ำพระทัย


ปี ๒๕๒o เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของชาวบ้านโพน จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทอดพระเนตรผ้าไหมแพรวาผืนเก่าเก็บของหญิงผู้ไทยกลุ่มหนึ่ง ซึ่งสวมใส่ขณะมารอเฝ้าฯ รับเสด็จ จึงเกิดความสนพระทัยอย่างยิ่ง หลังจากวันนั้นทำให้ผ้าไหมแพรวากลับฟื้นคืน สร้างรายได้ให้ชาวบ้านลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง และในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๗ ทางสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ พาคณะลงพื้นที่เยี่ยมชม โครงการส่งเสริมการทอผ้าแพรวาบ้านโพน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ (ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ) ณ ตำบลโพ อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคมที่ผ่านมา


การลงพื้นที่ครั้งนี้มีโอกาสได้พูดคุยกับครูภูมิปัญญาด้านผ้าไหมแพรวา ผู้ซึ่งเคยเฝ้าฯ รับเสด็จ สมเด็จพระนางเจ้าฯ เมื่อปี ๒๕๒o และผู้ทอแพรวารุ่นใหม่ ที่มีการสร้างเอกลักษณ์ให้กับชิ้นงาน โดยได้ประยุกต์ลายจากลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ทั้งในไทยและหลายประเทศทั่วโลก รวมไปถึงศึกษาดูงานโรงเรียนชุมชนโพนวิทยาคม ที่นำภูมิปัญญาการทอผ้าไหมแพรวาเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรท้องถิ่น ทำให้นักเรียนที่จบมัธยมศึกษาปีที่ ๓ นั้น สามารถทอผ้าไหมสร้างรายได้ต่อไป






ปัจจุบันกลุ่มทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพนได้จัดตั้งเป็น "สหกรณ์ทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพน" ตั้งอยู่ที่ ๑๙๕ หมู่ที่ ๑ ตำบลโพ อำเภอคำม่วง สมศรี สระทอง อายุ ๔๘ ปี ศิลปิน OTOP ผู้สืบสานการทอผ้า กล่าวในฐานะประธานกลุ่มสหกรณ์ฯ ว่า หลังจากที่คุณแม่คำใหม่ โยคะสิงห์ และคุณแม่คำสอน สระทอง ได้ริเริ่มจัดตั้งกลุ่มทอผ้ามาตั้งแต่ปี ๒๕๒o จนมาถึงปี ๒๕๔o คนรุ่นลูกก็เข้ามาสานต่อเป็นรุ่นที่ ๒ การจัดตั้งเป็นสหกรณ์ทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพน เป็นแนวคิดของกลุ่มทอผ้าร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อรวบรวมผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวาของสมาชิกใน ๔ อำเภอ ได้แก่ อำเภอคำม่วง อำเภอสมเด็จ อำเภอสหัสขันธ์ และอำเภอสามชัย เพื่อจำหน่ายอย่างเป็นทางการ โดยมีศูนย์รวมอยู่ที่ศิลปาชีพบ้านโพน ซึ่งหลังจากที่กลุ่มของเราเข้าร่วมโครงการส่งเสริมศิลปาชีพในพระองค์ท่าน ได้ต่อยอดโดยมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาสนับสนุนมาตรฐานด้านต่าง ๆ เช่น คัดสรรให้เป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ ๕ ดาว, จัดทำ GI หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยเพื่อนำไปสู่ตลาดต่างประเทศ


"จากของดั้งเดิมสมัยรุ่นแม่ เป็นผ้าสไบหน้ากว้างแค่ ๒๙ เซนติเมตร ลูกค้าผ้าไหมแพรวาส่วนใหญ่จำกัดแค่เฉพาะคนที่มีฐานะ เพราะมีราคาแพง เนื่องมาจากกรรมวิธีการทอมีความยาก และใช้เวลานานถึง ๓ เดือน ปัจจุบันเราพัฒนาให้มีหน้ากว้าง ๑ เมตร ยาว ๕ เมตร สีพื้นและลายอย่างละครึ่ง ใน 1 ผืนจะมี ๒-๗ สี ย้อมด้วยสีเคมี ทั้งนี้ คนทั่วไปสามารถตัดเป็นชุดสวมใส่ในวาระต่าง ๆ ทั้งหมดเป็นได้รับแรงบันดาลในการพัฒนามาจากพระราชินีที่ทรงสร้างสรรค์นำไปตัดเป็นฉลองพระองค์ ณ วันนี้ ได้มีการพัฒนาเป็นผ้าไหมนาโนที่มีความคงทน สีไม่เปลี่ยน เพิ่มเข้ามาด้วย" ผู้ทอผ้ารุ่นที่ ๒ เผยการพัฒนางานหัตถศิลป์ทรงคุณค่า






ส่วนการพัฒนาลายผ้า ประธานสหกรณ์ฯ กล่าวเสริมว่า จากเดิมมี ๖o ลาย เพิ่มมาเป็น ๗o ลาย ทั้งนี้เป็นการพัฒนาต่อยอดจากลายเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ตัวอย่างเช่น นำ ๑o ลายดั้งเดิมมาทอในผืนเดียว ซึ่งจะมีความยากมาก ราคาก็จะสูงขึ้นเช่นเดียวกัน หรือนำลายละเอียดเล็ก ๆ อาทิ ลายนาคและลายใบปุ่น ผสมผสานกัน เป็นต้น


สำหรับแผนการพัฒนาต่อไปคือก้าวเข้าสู่อาเซียน ปรับให้ผ้าไหมแพรวาสามารถใส่กันได้ทั้งภูมิภาคอาเซียน ด้วยลวดลายที่สวยงามและความนิ่มของเนื้อผ้า เชื่อว่าจะเป็นที่นิยมชื่นชอบ ประเทศหนึ่งที่รู้จักผ้าไหมแพรวาเป็นอย่างดีคือประเทศลาว จะแตกต่างกันที่เส้นไหมและการทอที่จะมีความหนาของลายมากกว่า อย่างไรก็ตาม คาดหวังว่าจะเป็นที่ชื่นชอบของคนลาวเช่นกัน


กว่าจะก้าวมาเป็นหัตถศิลป์อันล้ำค่าอย่างทุกวันนี้ ต้องอาศัยความอดทนและระยะเวลาอันยาวนานในการถักทอไหมแต่ละเส้นให้ออกมาเป็นผ้าผืนงดงาม ที่แม้แต่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ แม่ของแผ่นดินเอง ก็ยังทรงชื่นชอบ พร้อมมีพระราชดำริให้พัฒนายกระดับแพรวาให้เป็นราชินีแห่งผ้าไหมเฉกเช่นปัจจุบัน






แม่คำใหม่ โยคะสิงห์ วัย ๘๒ ปี ผู้นำสมาชิกกลุ่มทอผ้าแพรวาบ้านโพน ผู้เคยเข้าเฝ้าฯ ถวายผ้าที่ทอเสร็จเป็นรุ่นแรกตามรับสั่ง ได้เล่าถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับพระองค์ว่า สมเด็จพระราชินีโปรดผ้าไหมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะแพรวา ในปี ๒๕๕o ครั้งที่พระองค์ได้ทอดพระเนตรผ้าไหมแพรวา ตรัสว่าเป็นผ้าที่สวย และถามถึงความเป็นมาเป็นไป ว่าเป็นผ้าเก่าของปู่ย่าตายายเผ่าผู้ไทยที่ไม่ได้มีการสืบทอดการทอแล้ว หลังจากนั้นได้พระราชทานเส้นไหมมาให้ ๖ กิโล เพื่อให้เราไปฝึกทอ พร้อมกับได้มีโอกาสไปเรียนย้อมผ้าที่ศูนย์ศิลปาชีพในกรุงเทพฯ เป็นเวลา ๑๒ วัน กระทั่งทอได้ถึง ๑๒ ผืน จึงขอเข้าเฝ้าฯ ณ วังไกลกังวล เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม 2521 เพื่อถวาย


"ครั้งนั้นดีใจมากที่ได้มีโอกาสเข้าไปในวัง ไปถวายผ้าไปแพรวา เมื่อพระราชินีท่านได้รับผ้า ก็ไปเปลี่ยนฉลองพระองค์ ทรงงดงามอย่างมาก ทำให้คนที่ทอผ้ามีซาบซึ้งและมีกำลังใจที่จะทำต่อไป เป็นประสบการณ์ที่แม้ไม่มีลมหายใจก็ไม่มีวันลืม"






ขณะที่ แม่คำสอน สระทอง อายุ ๗๕ ปี ครูภูมิปัญญาด้านผ้าแพรวา ก็ได้กล่าวเช่นเดียวกันว่า สำหรับ "ผ้าไหมแพรวา" พระองค์ทรงให้และส่งเสริมทุกอย่าง พระราชทานเงินในการซื้ออุปกรณ์ทุกอย่างที่เกี่ยวกับการทอ ไปจนถึงทุนทรัพย์ในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม อีกทั้งให้ความรู้ต่าง ๆ มากมาย เพื่อจะได้นำสิ่งที่ได้ไปประกอบการทอผ้า พัฒนาคุณภาพชีวิตแบบยั่งยืน โดยมุ่งเน้นให้สืบทอดไปยังคนรุ่นหลัง เพื่อให้ผ้าแพรวาคงอยู่ไม่สูญหาย


"ท่านมาเปลี่ยนชีวิตชาวบ้านโพนและชาวผู้ไทยจังหวัดกาฬสินธุ์ จากที่ยากจน อยู่หลังเขา ไม่รู้จักการทำ และการซื้อขาย ปัจจุบันหลายครัวเรือนลืมตาอ้าปากได้ ส่งลูกหลานเรียนในระดับสูง ๆ ได้ด้วยการทอผ้าไหมแพรวา มีคำพูดหนึ่งที่ยังจำจดและสำนึกอยู่ทุกวันนี้ ท่านรับสั่งว่า "ผ้าแพรวาเป็นของสูง เป็นของบรรพบุรุษที่ได้สะสมไว้ให้ เราอย่าทิ้งหรือหลงลืม และอย่าลืมสอนลูกสอนหลานของเราด้วย" ปัจจุบันเป็นตัวแทนกลุ่มทอผ้าแพรวาบ้านโพน ได้นำปรัชญานี้ใช้ในการทำงานมาตลอด"


ด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงมีต่อกลุ่มทอผ้าแพรวาบ้านโพน สามารถสร้างรายได้มหาศาลให้แก่ชุมชน ตลอดจนทรงทำให้ทั่วโลกรู้จัก "แพรวา" และปัจจุบันลูกหลานหลายครัวเรือนรับช่วงต่อในการสืบสานหัตถศิลป์ล้ำค่านี้ นับเป็นความสำเร็จสำคัญของผู้ทอชาวผู้ไทย.



ภาพและข้อมูลจากเวบ
thaipost.net
mai-chul.com
isan.clubs.chula.ac.th


































ภาพและข้อมูลจากสูจิบัตรนิทรรศการ













ภาพยนตร์สารคดีเฉลิมพระเกียรติ "ทศวรรษแรกของการทรงงาน"


ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ๑๒ สิงหาคม หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างจัดงานและกิจกรรมต่างๆ เพื่อร่วมแสดงออกถึงความจงรักภักดี เช่นเดียวกับการจัดทำภาพยนตร์สารคดี 4 เรื่อง ได้แก่ ภาพยนตร์สารคดีเฉลิมพระเกียรติฯ พื้นที่ภาคเหนือ เรื่อง "ด้วยรัก" และภาพยนตร์สารคดีเฉลิมพระเกียรติฯ พื้นที่ภาคใต้ เรื่อง "เสียงจากแดนใต้" ภาพยนตร์สารคดีเฉลิมพระเกียรติฯ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรื่อง "ชัยชนะบนแผ่นดินอีสาน" และภาพยนตร์สารคดีเฉลิมพระเกียรติฯ พื้นที่ภาคกลาง เรื่อง "ทศวรรษแรกของการทรงงาน" ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร่วมกับ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ จัดขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงดูแลราษฎรทั่วราชอาณาจักร โดยเฉพาะในถิ่นทุรกันดาร ทรงส่งเสริมทำนุบำรุงประเทศชาติและประชาชนในทุกด้าน รวมทั้งทรงพระราชดำริริเริ่มโครงการไว้หลายสาขา เพื่อช่วยให้ราษฎรอยู่ดีกินดีและสามารถพึ่งพาตนเองได้


โอกาสนี้ได้รับพระกรุณาธิคุณจาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จทอดพระเนตรการแสดงรอบปฐมทัศน์ เรื่อง "ด้วยรัก" และ "เสียงจากแดนใต้" โดยมี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และ พจน์ ใจชาญสุขกิจ ประธานคณะทำงาน นำคณะผู้จัด และแขกเหรื่อที่มาร่วมงาน อาทิ ม.ร.ว.เทพกมล เทวกุล-คุณหญิงขวัญตา เทวกุล ณ อยุธยา, ท่านผู้หญิงวราพร ปราโมช ณ อยุธยา, ท่านผู้หญิงสุภรภ์เพ็ญ หลวงเทพนิมิต, ท่านผู้หญิงภรณี มหานนท์, คุณจันทนี ธนรักษ์ ฯลฯ เฝ้ารับเสด็จ ณ โรงภาพยนตร์สยามภาวลัย รอยัล แกรนด์ เธียเตอร์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน วันก่อน


พีระศักดิ์ ศักดิ์ศิริ ผู้กำกับการแสดง ๒ เรื่องดังกล่าวเผยว่า เป็นครั้งแรกที่มีโอกาสทำภาพยนตร์สารคดีเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งนับเป็นความภูมิใจสูงสุดในชีวิต แม้ว่าการเตรียมตัวจะค่อนข้างยากกว่าเรื่องอื่น ๆ ยอมรับว่าค่อนข้างกังวล จึงต้องพยายามระวังในเรื่องข้อมูลที่จะไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด ด้วยการพยายามศึกษาหาข้อมูล และลงพื้นที่ด้วยตัวเอง เมื่อภาพยนตร์เสร็จสมบูรณ์ออกมา และได้รับการยอมรับในระดับหนึ่ง รู้สึกประทับใจมากที่ได้สื่อสิ่งดี ๆ ออกมาให้สังคมไทยได้รับรู้ถึงแนวพระราชดำริของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมีต่อพสกนิกรของพระองค์ท่านจริงๆ


ทั้งนี้ พี่น้องคนไทยสามารถร่วมรับชมภาพยนตร์สารคดีเฉลิมพระเกียรติฯ ทั้ง ๔ เรื่อง ได้ในวันที่ ๑o และ ๑๑ สิงหาคม บริเวณพระลานพระราชวังดุสิต และวันที่ ๑๒ สิงหาคม บริเวณท้องสนามหลวง และศาลากลางจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งรับชมได้จากสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ ๑๒-๑๕ สิงหาคม



youtube.com





ภาพและข้อมูลจากเวบ
komchadluek.net












ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ
และ ท่านผู้หญิงนราวดี ชัยเฉนียน นางสนองพระโอษฐ์ ในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ




เรียนรู้เข้าใจงานของ "แม่แห่งแผ่นดิน" ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ


เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๗ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๒ พรรษา พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติตลอดเดือนสิงหาคม เพื่อเป็นการสืบสานพระราชปณิธาน รวมทั้งเผยแพร่พระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในด้านการศึกษาที่มีต่อปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า โดยได้รับเกียรติจาก ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ, ท่านผู้หญิงนราวดี ชัยเฉนียน นางสนองพระโอษฐ์ ในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ, ปิยวรา ทีขะระ เนตรน้อย หัวหน้าโครงการ พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ, ดร.จรัลธาดา กรรณสูต ที่ปรึกษาสำนักราชเลขาธิการ และกรรมการ พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ฯลฯ ร่วมงานแถลงข่าว ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบรมมหาราชวัง





ปิยวรา ทีขะระ เนตรน้อย หัวหน้าโครงการ พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ



ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เผยว่า ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อพัฒนาประเทศชาติมากมายหลายด้าน หนึ่งในนั้นคืองานด้านการส่งเสิรมการศึกษา โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้ประชาชนชาวไทยมีความรู้ความสามารถเพื่อนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ อีกทั้งทรงเล็งเห็นว่าการศึกษาเป็นแนวทางสำคัญ ที่จะนำไปสู่การอนุรักษ์งานสิลปวัฒนะรรมไทยอย่างยั่งยืน ทางพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จึงจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติขึ้นตลอดทั้งเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป เพื่อร่วมสืบสานพระราชปณิธานด้านการส่งเสริมการศึกษา





นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม ณ ห้องกิจกรรมบ้านอีสาน



ด้าน ปิยวรา ทีขะระ เนตรน้อย หัวหน้าโครงการพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เผยว่า สำหรับกิจกรรมตลอดเดือนสิงหาคม นี้ เป็นกิจกรรมเสวนาและกิจกรรมปฏิบัติการ โดยในวันเสาร์ที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๓.oo -๑๕.oo น. เสวนาเรื่อง “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถกับการศึกษา” ได้รับเกียรติจาก ท่านผู้หญิงนราวดี ชัยเฉนียน นางสนองพระโอษฐ์ในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ มาร่วมบอกเล่าประสบการณ์ในการสนองพระเดชพระคุณดูแลงานด้านทุนการศึกษาพระราชทาน พร้อมนักเรียนทุนพระราชทานที่จะมาบอกเล่าความรู้สึกที่ได้รับโอกาสสำคัญทางการศึกษา, วันเสาร์ที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑o.oo-๑๒.oo และ ๑๓.oo -๑๕.oo น. กิจกรรมปฏิบัติการ “ทอเล่นเส้นไหม” โดย ปราชญ์ นิยมค้า จาก Mann Craft เป็นกิจกรรมฝึกทอผ้าด้วยตนเองโดยกี่ทอผ้าขนาดเล็ก เพื่อสร้างสรรค์ผลงานหลายหลายชนิด อาทิ ที่รองแก้ว กระเป๋าใส่โทรศัพท์มือถือ กระเป๋าใส่เหรียญ เป็นต้น





นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม ณ ห้องกิจกรรมบ้านอีสาน



ในวันเสาร์ที่ ๓o สิงหาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๓.oo -๑๕.oo น. เสวนาเรื่อง “สิ่งที่แม่สอน: เรื่องเล่าจากโต๊ะทรงงาน” โดย ท่านผู้หญิงภรณี มหานนท์ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ มาร่วมบอกเล่าประสบการณ์ในการตามเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรทั่วประเทศ และพระมหากรุณาธิคุณในการสอนวิธีการปฏิบัติงานต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือราษฎรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น





การแสดงพื้นบ้านภาคอีสาน



นอกจากนี้ ยังมีโครงการเฉลิมพระเกียรติ “พิพิธทัศนา พิพิธภัณฑ์ผ้าบรมราชินีนาถ” ที่เชิญชวนสถานศึกษาทุกระดับชั้นไม่เกินระดับปริญญาตรี เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เป็นหมู่คณะ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อเรียนรู้พระราชกรณียกิจในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และร่วมกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยจะจัดขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม ไปจนถึงเดือนธันวาคม ๒๕๕๗ รวมไปถึงการปรับโฉมห้องกิจกรรมในรูปแบบ “บ้านอีสาน” ที่นำเสนอวิถีชีวิตของสมาชิกศิลปาชีพ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้เรียนรู้เรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นสมบัติของชาติ ได้สัมผัสวิถีดั้งเดิมของชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักและทอผ้าเป็นอาชีพเสริม พร้อมสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ต่อชุมชนอีกด้วย โดยภายในห้องกิจกรรมประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ อาทิ เกมผ้าทอในประเทศไทย “พาน้องตุ๊กตากลับบ้านกันเถอะ”, เกมวงจรหนอนไหม กิจกรรมเรียนรู้เรื่องผ้า และกิจกรรมแสตมป์ลายผ้า เป็นต้น


ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรม สามารถสอบถามเพิ่มเติมและสำรองที่นั่งโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่ โทร.o๒-๒๒๕-๙๔๒o, o๒-๒๒๕-๙๓๔o ต่อ o หรือ ๒๔๕ ตั้งแต่เวลา ๙.oo-๑๗.oo น. หรือข้อความทางเฟซบุ๊ก เฟซบุคพิพิธภัณฑผ้าฯ



ภาพและข้อมูลจากเวบ
naewna.com














งานศิลป์ชั้นครูช่างปั้นแบรนด์ 'LUX by SACICT'


เพื่อสืบสานแนวพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าฯ และเชิดชูมรดกงานหัตถศิลป์ไทยล้ำค่า ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. จึงได้จัดทำโครงการ “LUX by SACICT” แบรนด์ไทยเชิดชูผลงานของครูช่าง ผลักดันงานหัตถศิลป์ชั้นสูงของไทยให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ พร้อมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ในธีม “Gold Touch”


แบรนด์ไทยนี้เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด Thai Treasure...Your Pride “คุณค่าแห่งมรดกไทย...ความภูมิใจแก่ผู้ได้ครอบครอง” เพื่อสืบสานแนวพระราชปณิธานในการฟื้นฟู อนุรักษ์ และส่งเสริมงานหัตถศิลป์ไทย สร้างขวัญกำลังใจให้กับครูช่างผู้สืบทอดและทายาทผู้สานต่อ ที่ทำงานด้วยฝีมือและหัวใจ ทั้งนี้เป็นกลยุทธ์สำคัญในการอนุรักษ์มรดกอันล้ำค่านี้ไว้ไม่ให้สูญหาย ตลอดจนส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศไปพร้อมๆ กับสร้างความภาคภูมิใจให้คนในชาติ ทั้งนี้ ทาง ศ.ศ.ป.ได้จัดแถลงรายละเอียดโครงการอย่างไม่เป็นทางการ ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


พิมพาพรรณ ชาญศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ประธานในการแถลง กล่าวว่า ศ.ศ.ป.มีพันธกิจหลักคือ การผลักดันให้งานหัตถศิลป์ไทย ตลอดจนชุมชน ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่าง และทายาทครูช่าง ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย มีการพัฒนาต่อยอดให้ผลิตภัณฑ์และงานหัตถศิลป์เหล่านี้เป็นที่ยอมรับในสังคมปัจจุบัน โดยการน้อมนำแนวทางพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีพระราชดำริริเริ่มโครงการมากมาย ที่สามารถฟื้นฟูองค์ความรู้และภูมิปัญญาไทยที่กำลังจะสูญหาย กลับมาสร้างเป็นรายได้และอาชีพเสริมแก่ชาวบ้าน ที่ยังคงสานต่อฝีมือภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ


“LUX by SACICT เป็นโครงการหนึ่ง มีหัวใจหลักในการส่งเสริมงานหัตถศิลป์ชั้นสูง โดยระยะแรกจะเริ่มต้นด้วยธีม “Gold Touch” ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานของครูศิลป์ของแผ่นดิน สร้างสรรค์โดยครูช่างร่วมกับทายาทครูช่าง ซึ่งต้องอาศัยทักษะฝีมือชั้นสูง มีขั้นตอนและกรรมวิธีการผลิตที่ซับซ้อน รวมถึงการพัฒนาผลงานชิ้นใหม่ๆ โดยยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และเทคนิคดั้งเดิม มี “ทอง” เป็นส่วนประกอบหลักสู่ผลิตภัณฑ์ทรงคุณค่า เหมาะกับการวางโชว์ และสิ่งที่สามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้ ได้แก่ เคสสมาร์ทโฟน วาดลายไทย, กล่องใส่แฟลชไดรฟ์ ลงรักปิดทอง เป็นต้น ไปจนถึงเป็นของสะสม ภายใต้สโลแกนที่ว่า Thai Treasure...Your Pride” พิมพาพรรณเผย






โดยมีครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างและทายาทครูช่าง ที่ได้รับการเชื้อเชิญ เป็นผู้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ LUX by SACICT ครั้งนี้ ซึ่งมีทั้งหมด ๘ ท่าน ล้วนเป็นผู้มีประสบการณ์และสั่งสมบ่มเพาะฝีมือมาจนเชี่ยวชาญ ได้แก่ ครูวีรธรรม ตระกูลเงินทอง (ครูช่างผ้ายกทอง), ครูเมตตา เสลานนท์ (ครูช่างขันลงหิน), ครูทำนอง รุ่งสีทอง (ครูช่างเครื่องทองโบราณ อ.พานทอง), ครูธานินทร์ ชื่นใจ (ครูช่างเครื่องลงรักปิดทอง), ครูนิคม นกอักษร (ครูช่างเครื่องถม) และครูอุไร แตงเอี่ยม (ครูช่างเครื่องเบญจรงค์) รวมทั้งทายาทครูช่าง ได้แก่ ปราโมทย์ เขาเหิน (ช่างศิลป์เครื่องทองสุโขทัย) และ รัตนา แก้วดวงใหญ่ (ช่างศิลป์หัวโขน)


ผอ.ศ.ศ.ป.เผยเหตุผลในการคัดสรรว่า การนำ “ทอง” มาเป็นส่วนประสำคัญของผลิตภัณฑ์ เพราะเราเปรียบครูศิลป์ของแผ่นดินเป็นเหมือนดั่งทองอันล้ำค่าที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมไทยมายาวนาน อีกทั้ง ๘ ท่านทำงานหัตถศิลป์ที่เกี่ยวกับเครื่องทองและเครื่องเงิน เช่น งานลงรักปิดทอง มีกรรมวิธีการทำที่พิถีพิถันและละเอียดอย่างมาก, เครื่องเบญจรงค์ ที่เขียนด้วยน้ำทอง สะท้อนความแวววาว หรือแม้แต่งานผ้าที่นำทองมาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความงดงาม ดังนั้น งานทองถือเป็นสิ่งมงคล หากใครได้มองก็ต้องชื่นชม และหากได้ครอบครองจะยิ่งเพิ่มคุณค่าให้คนนั้น


“โดยเราคาดว่า ๓ ปีข้างหน้า จะได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ในเมืองศิลปะโลก อย่าง อิตาลี ฝรั่งเศส อเมริกา เพื่อให้นานาประเทศได้เห็นฝีมือช่างไทย เพื่อให้เกิดการยอมรับและเป็นการขยายตลาด ซึ่งจะทำให้งานของครูช่างและทายาทอยู่ได้ต่อไป”


ทั้งนี้ ในเดือนกันยายน ๒๕๕๗ จะมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ LUX by SACICT อย่างเป็นทางการ ณ โรงแรมสุโขทัย กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยเหล่าครูช่างและทายาทหัตถศิลป์ หลังจากเปิดตัวแบรนด์จะเริ่มวางจำหน่ายสินค้าที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสาขาสนามบินสุวรรณภูมิ หรือศูนย์การค้าอัมรินทร์พลาซ่า ชั้น ๒.



ภาพและข้อมูลจากเวบ
thaipost.net
newsplus.co.th
prachachat.net














“กวี อังคาร กัลยาณพงศ์”


เสาร์ที่ ๒๓ สิงหาคม บ่ายโมงเป็นต้นไป เรียนเชิญทุกคนที่เคารพรักและคิดถึงท่านอังคาร รวมทั้งรักและหลงใหลในความงามของบทกวี ขออภัยที่ต้องแจ้งผ่านทางเฟซบุ๊คครับ เพราะผู้ที่เคารพรักท่านอังคารนั้นมีมากเหลือเกิน หากตกหล่นไปก็ฝากประชาสัมพันธ์ต่อด้วยครับ


กิจกรรมงาน “กวี อังคาร กัลยาณพงศ์” วันเสาร์ที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๔.๐๐ – ๑๘.๐๐ น. ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพ)

๑๔.๐๐ – ๑๔.๓๐ ลงทะเบียนหน้างาน

๑๔.๓๐ – ๑๔.๔๕ กล่าวต้อนรับ แนะนำกิจกรรม

๑๔.๔๕ – ๑๕.๐๐ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กล่าวเปิดงาน

คุณอุ่นเรือน กัลยาณพงศ์ จุดเทียนและวางพวงมาลัยหน้ารูปท่านอังคาร
อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อ่านกวี

๑๕.๐๐ - ๑๕.๑๕ การแสดง ระบำดาวดึงส์

๑๕.๓๐ - ๑๖.๐๐ ขับร้องเพลงประสานเสียง โดย วงสวนพลู

๑๖.๐๐ - ๑๗.๐๐ การเสวนา “คิดถึงท่านอังคาร กัลยาณพงศ์”

ร่วมเสวนาโดย ดร.เสาวนิตย์ ชัยมุสิก หงส์จร เสน่ห์งามเจริญ วันฟ้าใหม่ เทพจันทร์ ดำเนินรายการโดย ท่านจันทร์

๑๗.๐๐ - ๑๗.๓๐ การอ่านบทกวีประสานเสียง โดย กลุ่มกวีบนถนน

๑๗.๓๐ - ๑๘.๐๐ อ่านบทกวีโดยผู้มาร่วมงาน

๑๘.๐๐ ปิดงาน


หมายเหตุ ตั้งแต่เริ่มกิจกรรม ให้ผู้ร่วมงานร่วมเขียนบทกวีลงบนผืนผ้าขาว กิจกรรมและเวลาอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม
ประสานงาน --วันฟ้าใหม่ เทพจันทร์
๐๘๒-๐๒๘๒๙๐๕
๐๘๔-๔๖๖๑๑๗๑



ภาพและข้อมูลจากเวบ
เฟซบุคเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์














นิทรรศการครบรอบ ๘o ปี ศิลปินแห่งชาติ นายทวี รัชนีกร


กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับ กรมศิลปากร


ขอเชิญชมนิทรรศการครบรอบ ๘๐ ปี ศิลปินแห่งชาติ นายทวี รัชนีกร


และนิทรรศการโครงการเชิดชูเกียรติศิลปินอาวุโส ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๗


ณ ห้องนิทรรศการ ๕-๘ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป


ระหว่างวันที่ ๗ - ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๗


พิธีเปิดนิทรรศการ วันที่ ๒๒ สิงหาคม เวลา ๑๗.๓๐ น







ภาพและข้อมูลจากเวบ
เฟซบุคพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ














สำราญรสริมรั้ว


เก็บดอกเข็มต้นริมหน้าต่างมาปักแจกัน ส่วนดอกเล็กๆ ร่วงกราวนำมาวางที่มุมจานดินเผา สีแดงสดตัดสีหม่นของจานเป็นความงามแบบเงียบ ๆ ทว่าเฉียบ !

สีม่วงเหนือยอดหญ้า คือดอกต้อยติ่ง เมล็ดแห้งโยนใส่บ่อน้ำแตกดังเปาะแปะ แนะให้ก้มลงเด็ดดอกมาใส่แจกันน้อย ๆ


เอมโอชา นิทรรศการดินเผาของช่างปั้น ปานชลี สถิรศาสตร์ ชวนเราหันมาสำรวจความงามและรสชาติของพืชผักพื้นบ้าน ดอกไม้ของผลไม้ที่อาจไม่เคยอยู่ในสายตา หากเราหยุดพิจารณาและชื่นชมจะพบหลายสิ่งอย่างที่แทรกอยู่ภายในสิ่งที่ดูเหมือนไร้ค่า หากแท้จริงแล้วเต็มไปด้วยคุณค่าทั้งยังโอชารสอีกด้วย






"ช่างปั้นสนใจอาหารตลอดเวลา ชอบกิน ชอบทำ มักทำอาหารกันเก่งๆ ส่วนมากนะ ตัวพี่เองชอบทำอาหารมาก ทำเองทุกวัน ทำได้ทุกชาติ เวลาไปต่างประเทศกินอาหารที่ไหนต้องขอเข้าไปดูในครัว ดูเขาทำ เวลาชิมเราแยกแยะออกว่ามีส่วนผสมของเครื่องเทศอะไรบ้าง ? "


ผลงานดินเผาของปานชลีมักมาพร้อมกับสุนทรียรส จากที่เคยชวนจิบชาเงียบ ๆ ล่าสุดชวนพืช ผัก ดอกไม้ มาสรวลเสเจรจากันบนผลงานเซรามิกที่ได้รับแรงบันดาลใจจากก้อนหิน เม็ดทราย ภูเขา พร้อมกับเล่าตำนานที่มาของอาหารพื้นบ้านแถมด้วยเมนูอาหารแบบไม่ยอมให้อารมณ์ค้าง






"นิทรรศการครั้งนี้แสดงผลงานดินเผา และมีหนังสือเล่มเล็กออกมาด้วย อยากชวนให้สนใจพืชผักพื้นบ้าน นำมาชื่นชมก่อนโยนลงหม้อ เน้นผักพื้นบ้าน ผักที่บางคนมองว่าเป็นวัชพืช นำมาปรุงอาหารได้อร่อย ทั้งยังมีฤทธิ์เป็นยาชั้นดี ในแง่เศรษฐกิจก็ประหยัด ก่อนมากินพี่มาจัดแจกัน ดอกหญ้าเหล่านี้สวยมาก ใบเสม็ดก่อนมาจิ้มน้ำพริกก็มาจัดใส่จาน แจกันสวย ๆ ชวนสัมผัสชีวิตที่เปลืองช้า ทำเองก็ได้ง่าย ๆ ทำให้คนที่เรารัก พ่อ แม่ ลูกๆ เป็นความสุขแบบง่าย ๆ แต่งาม" ช่างปั้นกล่าว พร้อมยกตัวอย่างเรื่องเล่าใน "เอมโอชา" เป็นการเรียกน้ำย่อยสักนิดด้วยเรื่อง มะม่วงบ่รู้หาว มะนาวบ่รู้โห่






"ชื่อผลไม้ในวรรณคดีเรื่อง พระรถเมรี ชาวบ้านรู้จักกันทั่วไปว่า นางสิบสอง ตามท้องเรื่องมารดาเลี้ยงของเจ้าชายรถเสนเป็นยักษ์แปลงตัวเป็นสาวสวยตามบทนางร้าย คิดกำจัดลูกเลี้ยงซึ่งเป็นก้างขวางคอ จึงทำทีเป็นแพ้ท้อง อยากกินลูก มะงั่วหาว กะ มะนาวโห่ มีอยู่แห่งเดียวที่บ้านเกิดของเจ้าหล่อน นางยักษ์จึงเขียนจดหมายฝากให้พระรถไปถึงนางเมรีนลูกสาว บอกว่าถ้าเจ้าหนุ่มไปถึงให้จับเจี๋ยนเสีย !






ระหว่างทางพักเหนื่อย พระฤาษีมาช่วยแปลงสาร บอกว่าถ้าพ่อหนุ่มไปถึงให้ลูกสาวจัดพิธีสยุมพรด้วย สรุปว่าพ่อรถเสนได้ลูกสาวยักษ์เป็นเมีย ตามเรื่องแม่เมรีมัวแต่เมา พระรถเสนจึงแอบไปเก็บมะงั่วหาว มะนาวโห่กลับบ้าน"






ปานชลี เล่าพลางกำชับว่า "นี่ไม่ใช่ตำรา เป็นหนังสืออ่านครื้นเครง" สรุปว่ามะม่วงบ่รู้หาว มะนาวบ่รู้โห่ หรือ ที่เราเรียกกันว่า มะม่วงหาวมะนาวโห่ กินดิบรสเปรี้ยวถ่ายท้องได้จู๊ด กินผลแก่ถึงจะให้รสหวาน อุดมไปด้วยวิตามินซีสูงปรี๊ด นำมาดอง แช่อิ่ม ทำแยม หรือไวน์ก็เยี่ยมยอด
นิทรรศการจัดไปเมื่อ ๑๗ -๒๗ กรกฎาคมที่ผ่านมา ณ สถาบันปรีดีพนมยงค์ ใครที่สนใจสนทนาเรื่องดินเผา และหนังสือเรื่องเล่าครื้นเครง อีเมล์ไปได้ที่ quietbangkok@hotmail.com
ว่าแต่วันนี้หากมีเวลา หันไปสนทนากับพืชริมรั้วดูบ้าง ความงามแบบบ้าน ๆ นี่ล่ะมีเสน่ห์นัก











ภาพและข้อมูลจากเวบ
เฟซบุคกรุงเทพธุรกิจวันอาทิตย์














นิทรรศการศิลปกรรม Art Camp ประจำปี ๒๕๕๗


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ร่วมกับ กองทุนส่งเสริมการศึกษาการสร้างสรรค์ศิลปะ “มูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์” จัดนิทรรศการศิลปกรรม Art Camp ประจำปี ๒๕๕๗ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป แสดงผลงานของศิลปินแห่งชาติ คณาจารย์ ศิลปินอิสระ และอดีตนิสิต นักศึกษาผู้เคยได้รับทุนจากกองทุนส่งเสริมการศึกษาการสร้างสรรค์ศิลปะ “มูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์” กว่า ๓๐๐ ชิ้น ซึ่งมีทั้งผลงานสร้างสรรค์ส่วนตัว และผลงานที่ได้ร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้นจากการจัดกิจกรรมค่ายศิลปะ หรือ Art Camp ประจำปี ๒๕๕๗ ณ จังหวัดระนอง เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา


กิจกรรมค่ายศิลปะ ประจำปี ๒๕๕๗ เป็นโครงการที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ได้กำหนดพื้นที่ในการสร้างสรรค์ผลงานไว้บริเวณพื้นที่จังหวัดระนอง มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้ที่เคยได้รับทุนจากกองทุนฯ ได้มีการสร้างสรรค์งานร่วมกัน และได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดด้านศิลปะระหว่างกัน และวัตถุประสงค์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของกิจกรรมนี้คือ เพื่อนำผลงานที่สร้างสรรค์ในโครงการมาจัดนิทรรศการเพื่อจำหน่ายและนำรายได้สมทบเข้ากองทุนฯ เพื่อเป็นทุนการศึกษาให้แก่นิสิต นักศึกษา ที่เรียนดี มีความประพฤติดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในรุ่นต่อ ๆ ไป


นิทรรศการค่ายศิลปะ ประจำปี ๒๕๕๗ นี้ เปิดให้เข้าชมระหว่างวันที่ ๖ – ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๗ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. (หยุดวันจันทร์ และอังคาร) รายได้ในการจำหน่าย กองทุนส่งเสริมการศึกษาการสร้างสรรค์ศิลปะ “มูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์” จะนำเข้าสมทบเพื่อจัดสรรเป็นทุนการศึกษาให้กับนิสิต นักศึกษาด้านศิลปะทั่วประเทศต่อไป สำหรับท่านที่สนใจ และชื่นชอบผลงานศิลปะสามารถเข้าชม และสั่งจองผลงานได้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ o-๒๒๔๑-oo๘๘ และ bangkokartnews.com



ภาพและข้อมูลจากเวบ
เฟซบุคพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
bangkokartnews.com





บล็อกนี้อยู่ในหมวดศิลปะ




บีจีจากคุณเนยสีฟ้า ไลน์จากคุณญามี่ กรอบจากคุณ Hawaii_Havaii

Free TextEditor




Create Date : 16 สิงหาคม 2557
Last Update : 16 สิงหาคม 2557 20:58:36 น. 0 comments
Counter : 2559 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.