กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
เพราะจะทิ้งกันมันไม่ง่ายอย่างที่คิด

ขยะก้อนโตในประเทศของเราล้วนมาจากขยะในมือของทุกคน ปัญหาขยะล้นโลก ณ ตอนนี้เป็นปัญหาที่เรียกว่าเป็น "ปัญหาใหญ่" แต่ ถูก "เมิน" จากสังคมส่วนใหญ่บนโลก แต่วันนี้ กลุ่มเยาวชนกรีนพีชเรานั้นได้ตระหนักถึงปัญหานี้แล้ว เราจะไม่เมินเฉย เหมือนใคร เราได้พาน้องๆ จำนวน 30 คนในโครงการ English Access Microscholarship Program ที่จัดโดยคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกับ Regional English Language Office of the US Embassy ไปอบรมที่ศูนย์รีไซเคิลขยะชุมชนพบสุขเพื่อสร้างแรงบันดาลใจการลดขยะบนโลกให้กับน้องๆเยาวชน โดยหวังว่าจะสามารถเปลี่ยนนิสัยการทิ้งขยะเดิมๆและสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อการลดขยะบนโลก


หลายคนอาจจะไม่รู้จักชุมชนพบสุข ชุมชนนี้ไม่ได้เป็นแค่หมู่บ้านธรรมดาๆ แต่เป็นชุมชนต้นแบบของการแยกขยะรีไซเคิล โดยแต่ละบ้านจะแยกขยะในบ้านของตัวเอง จากนั้นขยะจะถูกศูนย์รีไรเคิลประจำชุมชนมาทำการรวบรวมแล้วเก็บขยะเพื่อนำมาใช้ประโยช์ใหม่ โดยในช่วงเช้าวันนี้ ทางศูนย์ได้สอนและอธิบายวิธีการที่เราจะสามารถจัดการขยะที่บ้านของตัวเอง คือ

1) การแยกขยะรีไซเคิล เช่น พลาสติก และกระดาษ : สามารถนำมาใช้ใหม่ หรือนำไปขายได้ที่ร้านรับซื้อขยะใกล้บ้าน การแยกขยะจะทำให้ปริมาณขยะในประเทศนั้นลดลงอย่างมหาศาล อีกทั้งทำให้ลดมลภาวะจากการเผาขยะ

2) การทำปุ๋ยจากขยะเปียก : เราสามารถนำขยะเปียกหรือเศษอาหารของเรามาใช้ประโยชน์ได้โดยการนำมาหมักทำเป็นปุ๋ย และแจกจ่ายให้กับชาวบ้านในหมู่บ้านได้ใช้

สำหรับใครที่สนใจอยากทำปุ๋ยจากขยะเปียก พี่อเนก ประธานศูนย์รีไซเคิลชุมชนพบสุข ได้อธิบายขั้นตอนไว้ดังนี้

1. นำขยะเปียกผสมกับจุลินทรีย์แห้ง คลุกเคล้าให้เข้ากัน (อัตราส่วน ขยะเปียก 1 กิโลกรัม/จุลินทรีย์แห้ง 1 กำเมือ)

2.นำขยะเปียกที่คลุกจุลินทรีย์แห้ง ตักใส่ถุงตาข่ายและนำไปใส่ถังหมัก ปิดฝาถังให้สนิท

3.หมัก 7 วัน จากนั้นน้ำหมักที่ได้จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ ดังนี้

- น้ำขยะหมัก 10 ซีซี ผสมน้ำ 500-1,000 เท่า สามารถเป็นปุ๋ยหมักช่วยบำรุงดอกและผลได้อย่างดี

- ขัดพื้นห้องน้ำ ขจัดกลิ่น ป้องกันส้วมเต็ม

นอกจากนี้ กากของขยะหมักสามารถทำเป็นปุ๋ยจุลินทรีย์ชีวภาพได้ ด้วยการนำไปผสมกับเศษไม้ใบไม้จากชุมชนที่ย่อยแล้วโดยมีความชื้นที่ 60% นำใส่ ROTARY DRUM ทิ้งไว้ประมาณ 7-15 วัน

หลังจากกิจกรรมในช่วงเช้า เราเดินทางออกจากศูนย์คัดแยกขยะชุมชนพบสุขมุ่งหน้าสู่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เยาวชนกรีนพีซที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินรายการในวันดังกล่าวต่างรีบหยิบบทพูดที่ได้รับแจกไปขึ้นมาซ้อมรับส่งบทกันบนรถอย่างตั้งอกตั้งใจ  และ ณ ปลายทางของเรานั้น  น้องๆ ที่เดินทางมาถึงก่อนก็กำลังส่งเสียงเริงร่าตามประสาเด็กรออยู่หน้าห้องประชุมที่ถูกล็อกไว้  ไม่นานเมื่อประตูถูกเปิดออก  ทุกๆ อย่างล้วนเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าจะเลือกใช้การขับเสภาพรรณนาเรื่องราวในวันนั้นให้ผู้อ่านได้ฟังกันในวันนี้

หลังจากได้เรียนรู้กระบวนการแยกขยะอินทรีย์หรือเศษอาหารจากแต่ละครัวเรือนมาเข้าสู่กระบวนการทำเป็นปุ๋ยหมักและน้ำชีวภาพผ่านการบรรยายและสาธิตซึ่งนำโดยคุณเอนกไปแล้วในช่วงเช้า  บ่ายนี้เป็นหน้าที่ของเยาวชนกรีนพีซบ้างที่จะให้ภาพรวมที่กว้างขึ้น  ทั้งที่เกี่ยวกับปัญหาขยะและการจัดการขยะผ่านกิจกรรมสนุกๆ ซึ่งตระเตรียมกันมาเป็นอย่างดี  เริ่มด้วยการฉายภาพที่อยู่ของขยะจากทั่วทุกมุมโลก  แล้วชวนให้ทบทวนร่วมกันว่า  แม้ทุกคนรู้จักขยะและแทบทุกคนเห็นตรงกันว่ามันควรถูกกำจัดมากกว่าการอยู่ร่วมกับเรา  แต่ในความเป็นจริงแล้วมีขยะจำนวนมหาศาลถูกทิ้งไว้ในที่ที่ไม่ควรทิ้งหรือไม่ก็ถูกจัดการด้วยวิธีที่ไม่ยั่งยืนเช่นการกองรวมไว้เป็นภูเขาอย่างที่เราหลายคนคงจะนึกภาพออกได้อย่างไม่ยากเย็น  เมื่อน้องๆ ได้รู้แล้วว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่เผชิญอยู่กับปัญหาขยะ  กิจกรรมต่อมาได้ชวนให้น้องๆ ช่วยกันคิดว่าในหนึ่งวันคนเมืองอย่างเราท่านสร้างขยะกันมากน้อยเพียงใด  ด้วยการแข่งทายกันว่าตัวละครสมมติในโจทย์ซึ่งเป็นสาวออฟฟิศวัยยี่สิบต้นๆ ได้สร้างขยะอะไรบ้างในหนึ่งวัน  เมื่อถูกเปิดเผยในตอนเฉลยพบว่าขยะทั้งหมดนั้นรวมกันกว่า 35 ชิ้น  และอาจสอดคล้องกับค่าเฉลี่ยของน้ำหนักขยะที่ชาวเอเชียสร้างขึ้นในหนึ่งวันกว่า 1.5 กิโลกรัมต่อคนจากข้อมูลของธนาคารโลกด้วย

ถัดจากการพิจารณาภาพรวมของปัญหาขยะแล้ว  ถึงเวลาที่น้องๆ ต้องใช้พลังงานที่มาจากขนมช่วงเบรกแสนอร่อยไปกับการสัมผัส ‘ความยากลำบาก’ ในการจัดการขยะ  โดยการแจกจ่ายขยะจริงให้แต่ละกลุ่มไประดมสมองจัดการช่วยกันทำให้ขยะหนึ่งชิ้นนั้น ‘หายไป’  ซึ่งพี่ๆ เยาวชนกรีนพีซก็เป็นอันต้องประหลาดใจว่า  แม้ในระยะเวลาอันจำกัดโดยปราศจากเครื่องมือกำจัดขยะนั้น  แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ขยะหนึ่งชิ้นจะหายไปได้จริงๆ  แต่น้องๆ กลุ่มหนึ่งกลับจัดการให้ขยะที่ได้รับแจกหายไปได้! ด้วยการดัดแปลงเป็นหุ่นไล่กา  แม้กะประมาณกันด้วยสายตาแล้วจะมีขนาดไม่ต่างจากอีกาที่โฉบเฉี่ยวบินจริงเหนือท้องนาหรืออาจเล็กกว่าเสียด้วยซ้ำ  แต่การคิดไกลไปถึงการทำให้ขยะกลับมามีประโยชน์อีกครั้งเพื่อกำจัดขยะอย่างที่น้องๆ ได้ทำสำเร็จจนได้คะแนนกันไปนั้นสร้างความประทับใจให้กับพวกเราเป็นอย่างมาก  และหากนี่คือศรีธนญชัยก็คงเป็นศรีธนญชัยที่รักโลกมากกว่าใคร

ในช่วงสุดท้ายของกิจกรรม หลังจากพี่ๆ เยาวชนกรีนพีซได้ช่วยกันสรุป ‘ความจำเป็นและประโยชน์ของการแยกขยะ’ ซึ่งผู้อ่านสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ //bit.ly/1v7eNuB น้องๆ ได้ร่วมเล่นเกมแยกขยะโดยนำขยะที่ได้ช่วยกันวาดขึ้นมาในกิจกรรมก่อนหน้านี้ไปทิ้งลงถังให้ถูกต้อง  แล้วจึงปิดท้ายด้วยการบรรยายสรุปโดย ‘พี่เนะ’ อาสาสมัครอารมณ์ดีจากกรีนพีซที่ได้ชวนน้องๆ มาทบทวน 4R ที่ว่าด้วยการลดการสร้างขยะ การนำมากลับมาใช้ใหม่ การรีไซเคิลและการซ่อมแซมเพื่อใช้งานต่อ  พร้อมสวมบทเป็นคุณครูมอบหมายการบ้านให้นักเรียนวัยใสช่วยกันตวงแบ่งกากน้ำตาลและจุลินทรีย์อีเอ็มเพื่อกรอกลงไปรอน้ำซาวข้าวในขวดที่เตรียมกันมาตามสูตรที่ได้จากศูนย์คัดแยกขยะหมู่บ้านพบสุขในช่วงเช้า ที่สามารถนำไปใช้ราดห้องน้ำ บำบัดน้ำเสีย หรือผสมให้เจือจางเพื่อรดน้ำต้นไม้ก้ยังได้   

ไม่เฉพาะชาวบ้านที่พบสุขเพราะมีการจัดการขยะอย่างถูกต้องในหมู่บ้านที่ชื่อว่าพบสุข  แต่เรื่องราวของความสุขที่เราทั้งเยาวชนกรีนพีซและน้องๆ ได้พบกันในวันนั้นยังมีอีกมากมายเกินกว่าที่ผมจะเขียนบรรยายเพื่อส่งต่อความสุขนั้นไปยังท่านผู้อ่านได้ แม้ต่อพื้นที่ให้มากกว่านี้ก็ตาม  ผมจึงต้องกราบขออภัยและถือโอกาสเชิญชวนให้ทุกท่านติดตาม เพื่อคว้าโอกาสในการเข้ามาสัมผัสประสบการณ์และเรียนรู้ด้วยตัวท่านเองกับกรีนพีซในครั้งหน้า โดยเฉพาะถ้าคุณผู้อ่านเป็นเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 15-23 ปี สามารถสมัครมาเป็นเยาวชนกรีนพีซได้ที่ //bit.ly/1EAzTXk  แล้วจะได้มาพิสูจน์กันว่า ทำไมการได้ออกไปทำกิจกรรมทั้งวันในวันอาทิตย์กลับไม่ทำให้รู้สึกว่าการพักผ่อนได้หายไป แต่กลับรู้สึกได้ถึงความสุข เมื่อทุกๆ อย่างที่ดำเนินมาตลอดทั้งวันได้รับการสรุปด้วยรอยยิ้มที่เปื้อนหน้าน้องๆ ทุกคน จนต้องขีดเส้นใต้ ทำตัวหนาและถ้าจะให้ดีปรับเป็นตัวเอนด้วยว่า “อย่าพลาด!”

มนพงศ์ พรหมพิทักษ์ และ ธีรเมธิศวร์ เหลืองอุบล เยาวชนกรีนพีซ
ร่วมสมัครเป็นเยาวชนกรีนพีซได้ที่นี่ //bit.ly/1EAzTXk

Blogpost โดย มนพงศ์ พรหมพิทักษ์ และ ธีรเมธิศวร์ เหลืองอุบล -- มกราคม 21, 2558 ที่ 13:30




Create Date : 06 กุมภาพันธ์ 2558
Last Update : 11 กุมภาพันธ์ 2558 13:21:57 น. 0 comments
Counter : 951 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com