กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
รู้หรือไม่? โลกร้อนทำให้คุณภาพและรสชาติอาหารแย่ลงได้

ภาวะโลกร้อนไม่ได้ทำให้สภาพอากาศแปรปรวนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่วิกฤตการณ์นี้ส่งผลถึงรสชาติของอาหารในทุกๆ มื้อที่เรารับประทานอีกด้วย ไม่น่าเชื่อแต่ก็ต้องเชื่อเพราะว่านักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่อผลผลิตทางเกษตรกรรม โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างในออสเตรเลีย แล้วก็ได้ผลการวิจัยที่พบว่า ภาวะโลกร้อน ทำให้คุณภาพอาหารแย่ลงจริง!

ภาวะโลกร้อนส่งผลต่ออาหารได้อย่างไร ?

ด้วยปัจจัย 5 ข้อต่อไปนี้ จะทำให้เราทราบว่า ภาวะโลกร้อนนั้นส่งผลกระทบต่ออาหารการกินแต่ละมื้อของเรามากมายเลยทีเดียว
1.พืชจะเจริญเติบโตได้ดีเมื่ออยู่ในสภาพอากาศที่เหมาะสม
ผลการวิจัย ของ เดวิด คารอยล์ และ ริชาร์ด เอ็กการ์ด ระบุว่าพืชหลากหลายชนิดได้รับผลกระทบทั้งจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น คลื่นความร้อน และฝนแล้ง เมื่อเจอกับสภาพอากาศอันแปรปรวนเลวร้ายหนักขึ้นทุกปี พืชก็ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ดีเหมือนเดิม หรือกล่าวง่าย ๆ ก็คือ เกษตรกรได้ผลผลิตจากผักและผลไม้น้อยลงนั่นเอง

ยกตัวอย่างพืชที่ได้รับผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดก็คือ เลมอน โดยปกติแล้วเลมอนจะเจริญเติบโตได้ดีในอุณหภูมิ 25-30 องศาเซลเซียส แต่ขณะนี้อุณหภูมิขึ้นสูงถึง 37 องศาเซลเซียส ทำให้ลำต้นสลัดผลเลมอนก่อนที่เกษตรกรจะขายผลผลิตได้ นอกจากนี้ยังมี ข้าวโพด ที่ได้รับผลกระทบไม่น้อยไปกว่าเลมอนเลย แม้ว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นอาจเพิ่มผลผลิตข้าวโพดในพื้นที่พอสมควร แต่หากพื้นที่ใดที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส ปริมาณข้าวโพดที่ผลิตได้ก็จะลดลง

นอกจากนี้แม้ว่าประเทศออสเตรเลียจะไม่มีปัญหาเกี่ยวกับแมลงหรือวัชพืช แต่เมื่ออยู่ในสภาวะอากาศที่ไม่เหมาะสม แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคในต้นไม้จะเจริญเติบโตได้ดีขึ้น ทำให้ร้อยละ 9 ของต้นพืชถูกโรคร้ายฆ่าตาย เช่น ส้ม หัวหอม เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยซึ่งมีข้าวเป็นพืชเกษตรกรรมหลักของประเทศนั้น ข้าวบางพันธุ์จะสูญเสียความสมบูรณ์ของละอองเรณูเมื่ออุณหภูมิสูงกว่า 34 องศาเซลเซียส ผลผลิตข้าวที่ได้เมล็ดอาจจะลีบลง แม้ว่าต้นข้าวยังเติบโตอยู่

 

ไร่ผักบริเวณทางเหนือของออสเตรเลีย ขอบคุณรูปภาพจาก agric.wa.gov.au

 

2.สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงแบบสุดขั้วส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร
ก่อนอื่นต้องอธิบายคำว่า “ความมั่นคงทางอาหาร” เสียก่อน ซึ่งนิยามโดยสรุปของความมั่นคงทางอาหารที่นิยามโดย องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คือ มีปริมาณอาหารที่มีคุณภาพอย่างเพียงพอ เราสามารถเข้าถึงอาหารและมีสิทธิที่จะได้อาหารอย่างเหมาะสมตามความจำเป็นด้านโภชนาการ สามารถใช้ประโยชน์จากอาหาร มีปริมาณอาหารและน้ำที่เพียงพอเพื่อสุขอนามัยและการดูแลสุขภาพที่ดี และอาหารต้องมีสม่ำเสมอ ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอตลอดเวลา

แต่ขณะนี้ ภาวะโลกร้อนกำลังเป็นภัยคุกคามพวกเราเหล่าผู้บริโภค เพราะอาหารที่พวกเรารับประทานนั้นกำลังจะสูญเสียคุณภาพตามที่ควรจะเป็น คำว่าสูญเสียคุณภาพไม่ใช่แค่ไม่อร่อยอย่างเดียว แต่คุณค่าทางอาหารก็ลดลงตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น ผักคาโนลาที่มีสารชนิดหนึ่ง เราเรียกว่า น้ำมันผัก ซึ่งน้ำมันชนิดนี้มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่การเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศยังลดคุณภาพของน้ำมันในผักคาโนลา นอกจากนี้ยังมีผลไม้ที่สูญเสียคุณภาพทางด้านรสชาติเนื่องจากภาวะโลกร้อนอีก เช่น ลูกพลัมส์ ราสเบอร์รี่ แครอท เป็นต้น

3.น้ำทะเลในมหาสมุทรมีสภาพเป็นกรด ห่วงโซ่อาหารเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ สัตว์น้ำอยู่อาศัยไม่ได้ 

เมื่อมนุษย์ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น ก๊าซเหล่านี้หากไม่ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ก็จะละลายไปกับน้ำทะเล นี่คือสาเหตุที่น้ำทะเลมีสภาพเป็นกรด และคุณสมบัติความเป็นกรดเป็นด่างในทะเลนี่เองมีผลต่อสัตว์ที่มีโครงสร้างหินปูนเพื่อดำรงชีวิต ยกตัวอย่างเช่น เม่นทะเล หรือหอย ซึ่งพวกมันจะสร้างเปลือกหุ้มตัวได้ยากขึ้น นอกจากนี้ปะการัง บ้านของสัตว์ทะเลหลากหลายชนิดซึ่งเป็นพืชที่มีโครงสร้างหินปูนก็ได้รับผลกระทบไปด้วย

ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่สิ่งมีชีวิตที่ต้องใช้หินปูนเท่านั้น แต่สิ่งมีชีวิตอื่นก็ต้องรับเคราะห์ด้วย เช่น ไส้เดือนทะเล เป็นอาหารของปลาหลายชนิด พวกมันจะพยายามวางไข่ให้ได้มากที่สุดก่อนตาย แต่เมื่อน้ำทะเลมีสภาพเป็นกรด เรากลับพบว่าไข่ที่พวกมันวางไว้ไม่สมบูรณ์ ทำให้ไส้เดือนทะเลมีจำนวนลดน้อยลง เมื่อเป็นเช่นนี้ปลาที่กินไส้เดือนทะเลอาจลดจำนวนลงตามเพราะขาดแคลนอาหาร แพลงก์ตอนเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างผิดสังเกตทำให้คุณภาพน้ำเปลี่ยนไป ขณะที่แพลงก์ตอนพืชซึ่งเป็นอาหารหลักของท้องทะเลไม่สามารถสร้างเปลือกได้ และจะกระทบกันต่อไปเป็นทอด ๆ ทำให้ระบบห่วงโซ่อาหารในทะเลแปรปรวนทั้งระบบ แน่นอนว่าปลาเศรษฐกิจที่เราชอบรับประทานก็จะยิ่งลดจำนวนลงเนื่องจากไม่สามารถปรับตัวและฟื้นตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางทะเล

 


ฟาร์มไก่ ทางเหนือของประเทศเยอรมนี

 

4.อุณหภูมิที่สูงขึ้น ความร้อนทำให้สัตว์เครียด

โลกร้อนไม่ใช่แค่มนุษย์เราที่ร้อน แต่สัตว์ก็ร้อนด้วยเหมือนกัน เราอาจยังไม่ทราบว่าสัตว์ในฟาร์ม อาทิ ไก่ที่เรารับประทานนั้นอ่อนไหวต่ออุณหภูมิมาก เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น พวกมันจะมีความเครียดจนส่งผลให้คุณภาพของเนื้อไก่แย่ลง แม้กระทั่งนมวัวและผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ชีส ก็ลดน้อยลงถึงร้อยละ 40 เนื่องจากคลื่นความร้อนทำร้ายวัวเหล่านี้

5.ราคาอาหารสูงขึ้น

จากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนอย่างหนัก เราพบว่าปัญหาภัยแล้งเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคาอาหารได้อย่างชัดเจนในปี พ.ศ.2555 เพราะประเทศที่ผลิตธัญพืชรายใหญ่ของโลกมีผลผลิตได้น้อยกว่าเท่าที่ควร โดยในปีพ.ศ.2555 และ 2556 องค์กร Oxfam ได้เผยรายงานออกมาเตือนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นอาจส่งผลให้ราคาอาหารสูงขึ้น และการขาดแคลนอาหารบางชนิด

นอกจากนี้ทางFAO ก็ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า ราคาอาหารของโลกไม่มีทีท่าว่าจะลดลงแน่นอน ตรงกันข้ามกลับมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก การขยายตัวของชนชั้นกลางในประเทศทำลังพัฒนาที่มีกำลังบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ความต้องการอาหารโลกก็เพิ่มสูงขึ้นในขณะที่ธัญพืชอาหารโลกกลับผลิตได้น้อยลง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ทั่วโลกตระหนักถึงภัยร้ายของภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง

ภาวะโลกร้อนไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราอีกต่อไป เพราะมันไม่ได้ทำให้สภาพอากาศของโลกย่ำแย่เพียงอย่างเดียว แต่วิกฤตการณ์นี้จะส่งผลต่อกันเป็นทอด ๆ กระทบกันไปเรื่อยๆ และหนึ่งในภัยคุกคามนั้นคือ ความมั่นคงทางอาหาร หรือเรียกง่ายๆ ว่า กระทบถึงอาหารทั้งสามมื้อที่เรารับประทานกัน ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของเราทุกๆคนที่จะต้องร่วมมือกันลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อกรกับวิกฤตโลกร้อน เพื่ออนาคตสีเขียวที่ยั่งยืน และปกป้องไม่ให้อาหารอร่อยๆ ของเราถูกคุกคาม!

 

Blogpost โดย Supang Chatuchinda -- เมษายน 1, 2558 ที่ 10:32
 

 

 




Create Date : 01 เมษายน 2558
Last Update : 1 เมษายน 2558 17:16:48 น. 0 comments
Counter : 1145 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com