19.13 พระสูตรหลักถัดไป คือกันทรกสูตร [พระสูตรที่ 1]
การสนทนาธรรมนี้ต่อเนื่องมาจาก
19.12 พระสูตรหลักถัดไป คือกันทรกสูตร [พระสูตรที่ 1]
//www.bloggang.com/mainblog.php?id=gravity-of-love&month=11-12-2013&group=2&gblog=9

ความคิดเห็นที่ 10-127
GravityOfLove, 23 กรกฎาคม เวลา 09:26 น.

             คำถามอปัณณกสูตร
//84000.org/tipitaka/read/?๑๓/๑๐๕
             ข้อนี้คือ โลกหน้ามีจริงหรือเปล่ายกไว้ก่อน
แต่ให้ปฏิบัติตามนี้จะปลอดภัย ถูกไหมคะ

ก็โลกหน้ามีอยู่จริง ความเห็นของผู้นั้นว่า โลกหน้าไม่มี
ความเห็นของเขานั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ

             คำว่า ก็ ถ้าเปลี่ยนเป็นคำว่า ถ้า ได้หรือไม่ค่ะ
             เพราะเข้าใจว่า ยังไม่สรุปว่า มีจริงหรือไม่มีจริง

             บุรุษผู้รู้แจ้ง (วิญญูชน) ย่อมเห็นตระหนักชัดว่า
             ถ้าโลกหน้าไม่มี เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านบุรุษบุคคลนี้ เมื่อตายไป ก็ปลอดภัย
             แต่ถ้าโลกหน้ามี เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านบุรุษบุคคลนี้ เมื่อตายไป
จะเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก
             ถูกหรือไม่คะ

อนึ่ง โลกหน้าอย่าได้มีจริง คำของท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น จงเป็นคำจริง
             << ประโยคนี้ไม่เข้าใจค่ะ

ความคิดเห็นที่ 10-128
ฐานาฐานะ, 23 กรกฎาคม เวลา 19:42 น.

GravityOfLove, 9 ชั่วโมงที่แล้ว
             คำถามอปัณณกสูตร
//84000.org/tipitaka/read/?๑๓/๑๐๕
             ข้อนี้คือ โลกหน้ามีจริงหรือเปล่ายกไว้ก่อน
แต่ให้ปฏิบัติตามนี้จะปลอดภัย ถูกไหมคะ

ตอบว่า ไม่ถูกครับ ข้อ 105 นี้เป็นการกำหนดลักษณะของสมณพราหมณ์
2 จำพวกที่มีวาจาหรือทิฏฐิเป็นข้าศึกต่อกันเท่านั้น (กำหนดลักษณะให้ชัดๆ)
             หรือว่า คุณ GravityOfLove ทำลิงค์ผิดมา?
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

             ก็โลกหน้ามีอยู่จริง ความเห็นของผู้นั้นว่า โลกหน้าไม่มี
ความเห็นของเขานั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ
             คำว่า ก็ ถ้าเปลี่ยนเป็นคำว่า ถ้า ได้หรือไม่ค่ะ
             เพราะเข้าใจว่า ยังไม่สรุปว่า มีจริงหรือไม่มีจริง

ตอบว่า ก็โลกหน้ามีอยู่จริง มีอยู่ในข้อ 106 เป็นการสรุปแล้ว
             1. หากว่า ไม่ใช่เป็นการสรุป เป็นคำว่า ถ้า (เงื่อนไข) เช่น
             ก็โลกหน้ามีอยู่จริง ความเห็นของผู้นั้นว่า โลกหน้าไม่มี
ความเห็นของเขานั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ
คือ
             ถ้าโลกหน้ามีอยู่จริง ความเห็นของผู้นั้นว่า โลกหน้าไม่มี
ความเห็นของเขานั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ
             ก็ควรมีคำว่า ถ้าโลกหน้าไม่มี ความเห็นของผู้นั้นว่า โลกหน้ามีอยู่
ความเห็นของเขานั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ (ในจำพวกที่เห็นว่า โลกหน้ามีอยู่)
- - - - - - - - - - - - -
             2. คำว่า ถ้าโลกหน้ามี ก็มีปรากฎในข้อ 107 เป็นการเฉพาะแล้ว
- - - - - - - - - - - - -
             3. ศัพท์ว่า ปน หรือ ก็

             ก็โลกหน้ามีอยู่จริง ความเห็นของผู้นั้นว่า โลกหน้าไม่มี ความเห็นของเขานั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ.
             ก็โลกหน้ามีอยู่จริง แต่เขาดำริว่า โลกหน้าไม่มี ความดำริของเขานั้นเป็นมิจฉาสังกัปปะ.
//84000.org/tipitaka/read/?13/106
             {๑๐๖.๑}  สนฺตํเยว  โข  ปน  ปรํ  โลกํ  นตฺถิ  ปโร โลโกติสฺส ทิฏฺฐิ  โหติ  สาสฺส  โหติ  มิจฺฉาทิฏฺฐิ ฯ
             สนฺตํเยว  โข  ปน  ปรํ โลกํ นตฺถิ   ปโร   โลโกติ   สงฺกปฺเปติ   สฺวาสฺส  โหติ  มิจฺฉาสงฺกปฺโป  ฯ
//budsir.mahidol.ac.th/cgi-bin/Budsir.cgi/SearchItem?mode=1&valume=13&item=106&Roman=0

คำศัพท์ที่พบ (ศัพท์ที่ 2) : ปน
คำอ่าน (ภาษาบาลี) : ปะ-นะ
คำแปลที่พบ : ก็, ฝ่ายว่า, ส่วนว่า, อนึ่ง, ดังเราถาม, เหมือนกะว่า
- - - - - - - - - - - - -
             4. ศัพท์ว่า สเจ หรือ ถ้า
             [๑๐๗] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น
บุรุษผู้รู้แจ้งย่อมเห็นตระหนักชัดว่า
             ถ้าโลกหน้าไม่มี เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านบุรุษบุคคลนี้ เมื่อตายไป จักทำตนให้สวัสดีได้
             ถ้าโลกหน้ามี เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านบุรุษบุคคลนี้ เมื่อตายไป จักเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก.
//84000.org/tipitaka/read/?13/107
             [๑๐๗]    ตตฺร   คหปตโย   วิญฺญู   ปุริโส   อิติ   ปฏิสญฺจิกฺขติ
สเจ   โข   นตฺถิ   ปโร   โลโก  เอวมยํ  ภวํ  ปุริสปุคฺคโล  กายสฺส
เภทา   ปรมฺมรณา  ๕-  โสตฺถิมตฺตานํ  กริสฺสติ  สเจ  โข  อตฺถิ  ปโร
โลโก    เอวมยํ    ภวํ   ปุริสปุคฺคโล   กายสฺส   เภทา   ปรมฺมรณา
อปายํ   ทุคฺคตึ   วินิปาตํ  นิรยํ  อุปปชฺชิสฺสติ  ฯ
________________________
ม. ยุ. ปรมฺมรณาติ นตฺถิ ฯ

คำศัพท์ที่พบ (ศัพท์ที่ 1) : สเจ
คำอ่าน (ภาษาบาลี) : สะ-เจ
คำแปลที่พบ : ถ้าว่า, ถ้า, หากว่า
-----------------------------------------------------------------------

             บุรุษผู้รู้แจ้ง (วิญญูชน) ย่อมเห็นตระหนักชัดว่า
             ถ้าโลกหน้าไม่มี เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านบุรุษบุคคลนี้ เมื่อตายไป ก็ปลอดภัย
             แต่ถ้าโลกหน้ามี เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านบุรุษบุคคลนี้ เมื่อตายไป จะเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก
             ถูกหรือไม่คะ
ตอบว่า ตอบไว้แล้วด้านบน ขยายความเล็กน้อยว่า
             1. สรุปไปแล้วด้วยคำว่า ก็
             2. ส่วนข้อนี้ เป็นภูมิของบุรุษผู้รู้แจ้ง (วิญญูชน) ในการวินิจฉัยเงื่อนไขเท่านั้น.
-----------------------------------------------------------------------

             อนึ่ง โลกหน้าอย่าได้มีจริง คำของท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น จงเป็นคำจริง
             << ประโยคนี้ไม่เข้าใจค่ะ
9:26 AM 7/23/2013
ตอบว่า ได้ตรวจสอบสำนวนการแปลของฉบับอื่นแล้ว (มหาจุฬาฯ)
             ฉบับสยามรัฐ
             อนึ่ง โลกหน้าอย่าได้มีจริง คำของท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้นจงเป็นคำจริง
เมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านบุรุษบุคคลนี้ เป็นผู้อันวิญญูชนติเตียนได้ในปัจจุบันว่า
เป็นบุรุษบุคคลทุศีล เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นนัตถิกวาท.
//84000.org/tipitaka/read/?13/107
             ฉบับมหาจุฬาฯ
             ถ้าโลกหน้าไม่มีจริง คำของสมณพราหมณ์เหล่านั้นจะจริงหรือไม่ก็ช่างเถิด

             น่าจะแปลว่า แม้จะหวังว่า ... หรือคำของสมณพราหมณ์จะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม
ในปัจจุบันนี้ ผู้นั้นก็ทุศีลอย่างชัดเจน กล่าวคือถูกวิญญูชนตำหนิไปแล้ว
             แสดงว่า เป็นวินิจฉัยของบุคคลหนึ่งที่เป็นวิญญูชนตามเงื่อนไข.
--------------------------------------------------------------
             ฉบับสยามรัฐ
             [๑๐๗] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น
บุรุษผู้รู้แจ้งย่อมเห็นตระหนักชัดว่า
             ถ้าโลกหน้าไม่มี เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านบุรุษบุคคลนี้ เมื่อตายไปจักทำตนให้สวัสดีได้
             ถ้าโลกหน้ามี เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านบุรุษบุคคลนี้ เมื่อตายไป จักเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก.
             อนึ่ง โลกหน้าอย่าได้มีจริง คำของท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้นจงเป็นคำจริง
เมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านบุรุษบุคคลนี้ เป็นผู้อันวิญญูชนติเตียนได้ในปัจจุบันว่า เป็นบุรุษบุคคลทุศีล
เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นนัตถิกวาท.
             ถ้าโลกหน้ามีจริง ความยึดถือของท่านบุรุษ บุคคลนี้ ปราชัยในโลกทั้งสอง คือในปัจจุบัน
ถูกวิญญูชนติเตียน เมื่อตายไป จักเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ด้วยประการฉะนี้.
             อปัณณกธรรมนี้ ที่ผู้นั้นถือไว้ชั่ว สมาทานชั่ว ย่อมแผ่ไปโดยส่วนเดียว ย่อมละเหตุ
แห่งกุศลเสียด้วยประการฉะนี้.
//84000.org/tipitaka/read/?13/107

             ฉบับมหาจุฬาฯ
             {๑๐๗} หลังจากตายแล้ว จักไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้าโลกหน้าไม่มีจริง
คำของสมณพราหมณ์เหล่านั้นจะจริงหรือไม่ก็ช่างเถิด  เมื่อเป็นเช่นนั้น บุรุษบุคคลนี้ย่อมถูกวิญญูชน
ติเตียนได้ในปัจจุบันว่า ‘เป็นบุรุษบุคคลผู้ทุศีล  เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นนัตถิกวาทะ’
             ถ้าโลกหน้ามีจริง  บุรุษบุคคลนี้จะได้รับโทษในโลกทั้ง ๒ คือ (๑) ในปัจจุบัน
ถูกวิญญูชนติเตียนได้  (๒)  หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรกอย่างนี้
             อปัณณกธรรมนี้ ที่บุคคลนั้นสมาทานให้บริบูรณ์ไม่ดี  แพร่ดิ่งไปฝ่ายเดียว
ย่อมละเหตุที่เป็นกุศล  ด้วยประการอย่างนี้

ดูเชิงอรรถที่  ๑  ข้อ  ๑๕  (กันทรกสูตร)  หน้า  ๑๘  ในเล่มนี้
แพร่ดิ่งไปฝ่ายเดียว  หมายถึงยึดถือวาทะของตนฝ่ายเดียว  (ม.ม.อ.  ๒/๙๕/๘๘)

             ฉบับสยามรัฐ
             อปัณณกธรรมที่บุคคลถือไว้ดี
             [๑๐๙] ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น
บุรุษผู้รู้แจ้ง ย่อมเห็นตระหนักชัดว่า
             ถ้าโลกหน้ามีอยู่จริง เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านบุรุษบุคคลนี้ เมื่อตายไป จักเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์.
             อนึ่ง โลกหน้าอย่าได้มีจริง คำของท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้น จงเป็นคำจริง
             เมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านบุรุษบุคคลผู้นี้ ก็เป็นผู้อันวิญญูชนสรรเสริญในปัจจุบันว่า
เป็นบุรุษบุคคลมีศีล มีสัมมาทิฏฐิ เป็นอัตถิกวาท
             ถ้าโลกหน้ามีจริง ความยึดถือของท่านบุรุษบุคคลนี้อย่างนี้ เป็นความมีชัยในโลกทั้งสอง
คือในปัจจุบันวิญญูชนสรรเสริญ เมื่อตายไป จักเข้าถึงสุคติโลก สวรรค์ ด้วยประการฉะนี้.
อปัณณกธรรมที่ผู้นั้นถือไว้ดี สมาทานดีนี้ ย่อมแผ่ไปโดยส่วนสองย่อมละเหตุแห่งอกุศลเสีย
ด้วยประการฉะนี้.
             ฉบับมหาจุฬาฯ
             พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น
วิญญูชนย่อมเห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า
             ‘ถ้าโลกหน้ามี  เมื่อเป็นอย่างนี้  บุรุษบุคคลนี้  หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์’
             ถ้าโลกหน้าไม่มีจริง คำของสมณพราหมณ์เหล่านั้นจะจริงหรือไม่ก็ช่างเถิด
             เมื่อเป็นเช่นนั้น บุรุษบุคคลนี้ก็ย่อมได้รับคำสรรเสริญจากวิญญูชนในปัจจุบันว่า
‘เป็นบุรุษบุคคลผู้มีศีล  เป็นสัมมาทิฏฐิ  เป็นอัตถิกวาทะ’
             ถ้าโลกหน้ามีจริง  บุรุษบุคคลนี้ก็จะได้รับคุณในโลกทั้ง ๒ คือ (๑) ในปัจจุบัน
วิญญูชนย่อมสรรเสริญ (๒) หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์อย่างนี้
             อปัณณกธรรมนี้ ที่บุคคลนั้นสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว แพร่ดิ่งไปทั้งสองฝ่าย
ย่อมละเหตุที่เป็นอกุศลได้ ด้วยประการอย่างนี้
แพร่ดิ่งไปทั้งสองฝ่าย  หมายถึงยึดถือวาทะทั้งของตนและของผู้อื่น  (ม.ม.อ.  ๒/๙๖/๘๘)

ความคิดเห็นที่ 10-129
GravityOfLove, 23 กรกฎาคม เวลา 20:11 น.

ข้อ ๑๐๖ ใช้คำว่า ก็โลกหน้ามีอยู่จริง
ข้อ ๑๐๗ ใช้คำว่า ถ้าโลกหน้ามีอยู่จริง

ดังนั้น ข้อ ๑๐๖ เป็นการสรุปว่า โลกหน้ามีจริงแน่ๆ ไม่ใช่เงื่อนไข ใช่ไหมคะ

ไม่เหมือนในเกสปุตตสูตรที่ว่า มีหรือไม่มียกไว้ก่อน ทำความดีเพื่อความอุ่นใจไว้ก่อน
ใช่ไหมคะ

ความคิดเห็นที่ 10-130
ฐานาฐานะ, 23 กรกฎาคม เวลา 20:22 น.

GravityOfLove, 7 นาทีที่แล้ว
ข้อ ๑๐๖ ใช้คำว่า ก็โลกหน้ามีอยู่จริง
ข้อ ๑๐๗ ใช้คำว่า ถ้าโลกหน้ามีอยู่จริง
ดังนั้น ข้อ ๑๐๖ เป็นการสรุปว่า โลกหน้ามีจริงแน่ๆ ไม่ใช่เงื่อนไข ใช่ไหมคะ
             ถูกต้องครับ
ไม่เหมือนในเกสปุตตสูตรที่ว่า มีหรือไม่มียกไว้ก่อน ทำความดีเพื่อความอุ่นใจไว้ก่อน
ใช่ไหมคะ
8:09 PM 7/23/2013
             น่าจะถูกต้องครับ
ใช้คำว่า น่า เพราะต้องอ่านเกสปุตตสูตร อย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง.

ความคิดเห็นที่ 10-131
GravityOfLove, 23 กรกฎาคม เวลา 20:42 น.

เข้าใจแล้วค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
ถามต่อนะคะ
- - - - - - -
             กรุณาอธิบายค่ะ
             ๑. ถ้าคำของท่านสมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้มีความเห็น
อย่างนี้ว่า อรูปพรหมไม่มีด้วยอาการทั้งปวง ดังนี้ เป็นคำจริง ข้อที่เราจักเกิดขึ้นในเหล่าเทวดา
ที่มีรูป สำเร็จด้วยใจ ซึ่งไม่เป็นความผิด นี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ถ้าคำของท่านสมณพราหมณ์
ที่มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า อรูปพรหมมีอยู่ด้วยอาการทั้งปวง ดังนี้ เป็นคำจริง
ข้อที่เราจักเกิดขึ้นในเหล่าเทวดาที่ไม่มีรูปสำเร็จด้วยสัญญา ซึ่งไม่เป็นความผิด นี้เป็นฐานะที่จะ
มีได้ อนึ่งการถือท่อนไม้ การถือศัสตรา การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การตัวต่อตัว
การกล่าวส่อเสียดและมุสาวาท ซึ่งมีรูปเป็นเหตุ ย่อมปรากฏ แต่ข้อนี้ ย่อมไม่มี ในอรูปพรหม
ด้วยอาการทั้งปวง ดังนี้. บุรุษผู้เป็นวิญญูนั้น ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมปฏิบัติเพื่อหน่าย
เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิทแห่งรูปอย่างเดียว.
             ๒. ถ้าคำของท่านสมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้ มี
ความเห็นอย่างนี้ว่า ความดับสนิทแห่งภพไม่มีด้วยอาการทั้งปวง ดังนี้ เป็นคำจริง ข้อที่เราจัก
เกิดขึ้นในเหล่าเทวดาที่ไม่มีรูป สำเร็จด้วยสัญญา ซึ่งไม่เป็นความผิดนี้ เป็นฐานะที่จะมีได้ อนึ่ง
ถ้าคำของท่านสมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ความดับสนิทแห่งภพมีอยู่
ด้วยอาการทั้งปวง ดังนี้ เป็นคำจริง ข้อที่เราจักปรินิพพานในปัจจุบันนี้ เป็นฐานะที่จะมีได้.
ความเห็นของท่านสมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ความดับสนิทแห่งภพ
ไม่มีด้วยอาการทั้งปวงนี้ ใกล้ต่อธรรมเป็นไปกับด้วยความกำหนัด ใกล้ต่อธรรมเครื่องประกอบ
สัตว์ไว้ ใกล้ต่อธรรมเครื่องเพลิดเพลิน ใกล้ต่อธรรมเครื่องสยบ ใกล้ต่อธรรมเครื่องถือมั่น
ส่วนความเห็นของท่านสมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ความดับสนิทแห่ง
ภพมีอยู่ด้วยอาการทั้งปวงนี้ ใกล้ต่อธรรมอันไม่เป็นไปกับด้วยราคะ ใกล้ต่อธรรมอันมิใช่ธรรม
ประกอบสัตว์ไว้ ใกล้ต่อธรรมอันมิใช่เครื่องเพลิดเพลิน ใกล้ต่อธรรมอันมิใช่เครื่องสยบ ใกล้
ต่อธรรมอันไม่เป็นเครื่องยึดมั่น บุรุษผู้เป็นวิญญูนั้น ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมปฏิบัติ
เพื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิทแห่งภพเท่านั้น.
             ๓. สัตว์ที่มี ๑ อินทรีย์ ๒ อินทรีย์
             ๔. ก็บรรดาทิฏฐิทั้ง ๓ นี้ ... ชื่อว่าเป็นตอแห่งวัฏฏะ << ไม่เข้าใจเลยค่ะ
             ๕. บุคคล ๕ จำพวกเหล่านี้คือ นัตถิกวาทะ อกิริยวาทะ อเหตุกวาทะและ ๒ จำพวกที่มีวาทะอย่างนี้ว่า อรูปพรหมไม่มี นิโรธไม่มี
บุคคล ๓ จำพวกหลังเท่านั้นมีอยู่.
บุคคล ๕ จำพวกมีอัตถิกวาทะเป็นต้น บุคคลจำพวกที่ ๔ จำพวกเดียวเท่านั้น. เพื่อจะทรงแสดงความข้อนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเริ่มเทศนานี้
             ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 10-132
ฐานาฐานะ, 24 กรกฎาคม เวลา 11:56 น.

GravityOfLove, 15 นาทีที่แล้ว
เข้าใจแล้วค่ะ ขอบพระคุณค่ะ
ถามต่อนะคะ
- - - - - - -
             กรุณาอธิบายค่ะ
             ๑. ถ้าคำของท่านสมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้มีความเห็น
อย่างนี้ว่า อรูปพรหมไม่มีด้วยอาการทั้งปวง ดังนี้ เป็นคำจริง ข้อที่เราจักเกิดขึ้นในเหล่าเทวดา
ที่มีรูป สำเร็จด้วยใจ ซึ่งไม่เป็นความผิด นี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ถ้าคำของท่านสมณพราหมณ์
ที่มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า อรูปพรหมมีอยู่ด้วยอาการทั้งปวง ดังนี้ เป็นคำจริง
ข้อที่เราจักเกิดขึ้นในเหล่าเทวดาที่ไม่มีรูปสำเร็จด้วยสัญญา ซึ่งไม่เป็นความผิด นี้เป็นฐานะที่จะ
มีได้ อนึ่งการถือท่อนไม้ การถือศัสตรา การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท การตัวต่อตัว
การกล่าวส่อเสียดและมุสาวาท ซึ่งมีรูปเป็นเหตุ ย่อมปรากฏ แต่ข้อนี้ ย่อมไม่มี ในอรูปพรหม
ด้วยอาการทั้งปวง ดังนี้. บุรุษผู้เป็นวิญญูนั้น ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมปฏิบัติเพื่อหน่าย
เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิทแห่งรูปอย่างเดียว.

อธิบายว่า
             บุคคล 2 ประเภทคือ ผู้ได้รูปฌานและผู้ยังไม่ได้ฌาน อาจได้ยินมาทั้งสองอย่างว่า
อรูปพรหมไม่มีด้วยอาการทั้งปวง และอรูปพรหมมีอยู่ด้วยอาการทั้งปวง
             บุคคลทั้งสองนี้ก็พิจารณาว่า ถ้าอรูปพรหมไม่มีด้วยอาการทั้งปวง แต่เราบำเพ็ญ
เพื่อให้ได้อรูปฌาน (ตามลำดับ) อย่างแย่ที่สุดก็คือเราจักเกิดขึ้นในเหล่าเทวดาที่มีรูป สำเร็จด้วยใจ
ซึ่งไม่เสียหายอะไร ก็เป็นไปได้.
             ถ้าอรูปพรหมมีด้วยอาการทั้งปวง และเราบำเพ็ญเพื่อให้ได้อรูปฌาน (ตามลำดับ)
เราจักเกิดขึ้นในเหล่าเทวดาที่ไม่มีรูปสำเร็จด้วยสัญญา ซึ่งไม่มีความเสียหายอะไร ก็เป็นไปได้
ทั้งพ้นจากโทษของการมีรูป.
             บุคคลทั้งสองนี้ พิจารณาอย่างนี้ ก็บำเพ็ญเพื่อให้ได้อรูปฌาน กล่าวคือ
เพื่อหน่าย เพื่อดับแห่งรูป คือเกิดในอรูปเท่านั้น.
----------------------------------------

             ๒. ถ้าคำของท่านสมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้ มี
ความเห็นอย่างนี้ว่า ความดับสนิทแห่งภพไม่มีด้วยอาการทั้งปวง ดังนี้ เป็นคำจริง ข้อที่เราจัก
เกิดขึ้นในเหล่าเทวดาที่ไม่มีรูป สำเร็จด้วยสัญญา ซึ่งไม่เป็นความผิดนี้ เป็นฐานะที่จะมีได้ อนึ่ง
ถ้าคำของท่านสมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ความดับสนิทแห่งภพมีอยู่
ด้วยอาการทั้งปวง ดังนี้ เป็นคำจริง ข้อที่เราจักปรินิพพานในปัจจุบันนี้ เป็นฐานะที่จะมีได้.
ความเห็นของท่านสมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ความดับสนิทแห่งภพ
ไม่มีด้วยอาการทั้งปวงนี้ ใกล้ต่อธรรมเป็นไปกับด้วยความกำหนัด ใกล้ต่อธรรมเครื่องประกอบ
สัตว์ไว้ ใกล้ต่อธรรมเครื่องเพลิดเพลิน ใกล้ต่อธรรมเครื่องสยบ ใกล้ต่อธรรมเครื่องถือมั่น
ส่วนความเห็นของท่านสมณพราหมณ์ที่มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า ความดับสนิทแห่ง
ภพมีอยู่ด้วยอาการทั้งปวงนี้ ใกล้ต่อธรรมอันไม่เป็นไปกับด้วยราคะ ใกล้ต่อธรรมอันมิใช่ธรรม
ประกอบสัตว์ไว้ ใกล้ต่อธรรมอันมิใช่เครื่องเพลิดเพลิน ใกล้ต่อธรรมอันมิใช่เครื่องสยบ ใกล้
ต่อธรรมอันไม่เป็นเครื่องยึดมั่น บุรุษผู้เป็นวิญญูนั้น ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมปฏิบัติ
เพื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิทแห่งภพเท่านั้น.

อธิบายว่า
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=103
             อรรถกถาแสดงในนัยว่า
             บุคคล 2 ประเภทคือ ผู้ได้อรูปฌานและผู้ยังไม่ได้ฌาน ได้ยินได้ฟังมาว่า
ดับสนิทแห่งภพไม่มี และดับสนิทแห่งภพมี
             ผู้ได้อรูปฌานก็พิจารณาว่า ถ้าไม่มีดับสนิทแห่งภพ แต่เราเจริญวิปัสสนา
ให้รู้แจ้งเห็นจริง อย่างแย่ที่สุด ก็อุบัติให้อรูปภพ ซึ่งไม่เสียหายอะไร ก็เป็นไปได้
             ผู้ยังไม่ได้ฌานก็พิจารณาว่า ถ้าไม่มีดับสนิทแห่งภพ แต่เราบำเพ็ญเพื่อบรรลุ
อรูปฌานและเจริญวิปัสสนาให้รู้แจ้งเห็นจริง อย่างแย่ที่สุดก็อุบัติให้อรูปภพ ซึ่งไม่เสียหายอะไร
ก็เป็นไปได้.

             ผู้ได้อรูปฌานก็พิจารณาว่า ถ้ามีดับสนิทแห่งภพ แต่เราเจริญวิปัสสนา
ให้รู้แจ้งเห็นจริง ก็เป็นไปได้ที่จะดับภพ บรรลุนิโรธในปัจจุบัน.
             ผู้ยังไม่ได้ฌานก็พิจารณาว่า ถ้ามีดับสนิทแห่งภพ แต่เราบำเพ็ญเพื่อบรรลุ
อรูปฌานและเจริญวิปัสสนาให้รู้แจ้งเห็นจริง ก็เป็นไปได้ที่จะดับภพ บรรลุนิโรธในปัจจุบัน.
             ผมเห็นว่า นัยนี้อาจรวมถึงพระภิกษุที่บรรลุสมาบัติ 8 หรือยังไม่บรรลุ
แต่ไม่สงสัยในรูปฌานอรูปฌาน แต่ยังไม่ปักใจเชื่อในพระนิพพานก็ได้.
---------------------------------------

             ๓. สัตว์ที่มี ๑ อินทรีย์ ๒ อินทรีย์
อธิบายว่า เป็นการอธิบายถึงคำบัญญัติของสมณพราหมณ์บางพวก
กล่าวคือนอกพระธรรมวินัยนี้ ซึ่งอาจจะหมายถึงพืชและสัตว์ก็ได้
             กล่าวคือ สัตว์ที่มี ๑ อินทรีย์ คือ พืช เพราะมีแต่รูป ไม่มีใจ.
             อินทรีย์ ๒ อินทรีย์ คือ สัตว์ เพื่อมีทั้งรูปและใจ.

             ๔. ก็บรรดาทิฏฐิทั้ง ๓ นี้ ... ชื่อว่าเป็นตอแห่งวัฏฏะ << ไม่เข้าใจเลยค่ะ

             ก็บรรดาทิฏฐิทั้ง ๓ นี้ นัตถิกทิฏฐิ ห้ามวิบาก อกิริยทิฏฐิ ห้ามกรรม อเหตุกทิฏฐิ ห้ามแม้ทั้งสอง
(คือทั้งกรรมและวิบาก) ในกรรมและวิบากทั้งสองนั้น วาทะที่แม้ห้ามกรรมก็เป็นอันห้ามวิบากด้วย
วาทะที่แม้ห้ามวิบากก็เป็นอันห้ามกรรมด้วย ดังนั้น โดยอรรถ วาทะเหล่านั้นแม้ทั้งหมด
ไม่ว่าจะเป็นอเหตุกวาทะ อกิริยวาทะและนัตถิกวาทะ ย่อมห้ามกรรมและวิบากทั้งสอง.
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=103

อธิบายว่า บรรดาทิฏฐิทั้ง 3 นัตถิกทิฏฐิ ห้ามวิบาก คือพวกความเห็นในข้อ 107
             อกิริยทิฏฐิ ห้ามกรรม คือพวกความเห็นในข้อ 111
             อเหตุกทิฏฐิ ห้ามแม้ทั้งสอง (คือทั้งกรรมและวิบาก) คือพวกความเห็นในข้อ 116
             ความเห็นทั้งสามย่อมเห็นลุกลาม จากจุดเริ่มต้น ไปถึงห้ามกรรมและวิบากทั้งสอง.
             กล่าวคือ เห็นผิดไปว่า ไม่มีวิบากจากบุญจากบาป ไม่มีบุญไม่มีบาป ไม่มีเหตุให้เศร้าหมอง
ไม่มีเหตุให้ผ่องใสหมดจดใดๆ

             ก็คนเหล่าใดถือลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น นั่งท่องพิจารณาในที่พักกลางคืนและกลางวัน
มิจฉาสติของคนเหล่านั้นย่อมตั้งมั่นในอารมณ์นั้นว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล
บาปของคนที่ทำแล้วไม่เป็นอันทำ เหตุไม่มี ปัจจัยไม่มี จิตก็มีอารมณ์อันเดียว ชวนะทั้งหลายก็แล่นไป.
ในชวนะที่หนึ่งยังพอแก้ไขได้ ในชวนะที่สองเป็นต้นก็เหมือนกัน. ในชวนะที่เจ็ด แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ก็แก้ไขไม่ได้ เป็นผู้ไม่หวนกลับเช่นเดียวกับอริฏฐะและกัณฏกภิกษุ.
อธิบายว่า เป็นการแสดงอาการของพวกมิจฉาทิฏฐิ กล่าวคือการลุกลามของมิจฉาทิฏฐินั้น
โดยอธิบายในเชิงชวนะ ชวนะที่หนึ่ง ที่สอง ที่เจ็ด (น่าจะหมายถึงเสพมิจฉาทิฏฐิ ครั้งที่หนึ่ง ...)
             ในชวนะเหล่านั้นบางคนก็หยั่งลงทรรศนะเดียวบ้าง บางคนสองทรรศนะบ้าง บางคนสามทรรศนะบ้าง
เมื่อเขาหยั่งลงทรรศนะหนึ่ง สองสามทรรศนะก็เป็นอันหยั่งลงแล้ว เขาก็เป็นมิจฉาทิฏฐิชนิดดิ่งทีเดียว
ห้ามทางสวรรค์ ทางพระนิพพาน ไม่ควรไปสวรรค์ในอันดับแห่งอัตภาพนั้นจะป่วยกล่าวไปไยถึงพระนิพพาน.
สัตว์นี้เป็นผู้เฝ้าแผ่นดิน ชื่อว่าเป็นตอแห่งวัฏฏะ.
อธิบายว่า ในชวนะจิตเหล่านั้น อาจจะเป็นนัตถิกทิฏฐิ หรีออกิริยทิฏฐิ หรีออเหตุกทิฏฐิ
แต่ก็จัดว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิชนิดดิ่งทีเดียว เป็นอันแน่นอนว่า ไม่สามารถบรรลุธรรมคือมรรคผลนิพพานได้
ทั้งห้ามสุคติด้วย.

             ๕. บุคคล ๕ จำพวกเหล่านี้คือ นัตถิกวาทะ อกิริยวาทะ อเหตุกวาทะและ
๒ จำพวกที่มีวาทะอย่างนี้ว่า อรูปพรหมไม่มี นิโรธไม่มี บุคคล ๓ จำพวกหลังเท่านั้นมีอยู่.
              บุคคล ๕ จำพวกมีอัตถิกวาทะเป็นต้น บุคคลจำพวกที่ ๔ จำพวกเดียวเท่านั้น.
เพื่อจะทรงแสดงความข้อนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเริ่มเทศนานี้
             ขอบพระคุณค่ะ
8:41 PM 7/23/2013
อธิบายว่า สันนิษฐานว่า เป็นการอธิบายถึงพวกพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านศาลา
ที่เข้ามาประชุมกันฟังธรรมในขณะนั้นว่า ประกอบด้วยหรือคล้อยไปตามทิฏฐิแบบใดอยู่ก่อนแล้วบ้าง.
             ตามพยัญชนะของอรรถกถา
             บุคคล ๓ จำพวกหลังเท่านั้นมีอยู่.
             คือพวกอเหตุกวาทะและ ๒ จำพวกที่มีวาทะอย่างนี้ว่าอรูปพรหมไม่มี นิโรธไม่มี
             บุคคลจำพวกที่ ๔ จำพวกเดียวเท่านั้น.
             คือพวกพวกที่มีวาทะอย่างนี้ว่าอรูปพรหมมีอยู่.

ความคิดเห็นที่ 10-133
GravityOfLove, 24 กรกฎาคม เวลา 15:57 น.

เข้าใจแล้วค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 10-134
GravityOfLove, 24 กรกฎาคม เวลา 18:59 น.

             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๕
             มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ คหบดีวรรค
             ๑๐. อปัณณกสูตร เรื่องพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านศาลา
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=1833&Z=2382&bgc=lavender&pagebreak=0

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
จำนวนมาก เสด็จถึงพราหมณคามนามว่าศาลา ของชนชาวโกศล
             พราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านศาลาได้สดับข่าวว่า
             พระองค์เสด็จมา ทั้งได้ยินกิตติศัพท์อันงามของพระองค์ (พระพุทธคุณ)
และเชื่อว่า การได้เห็นพระอรหันต์ทั้งหลายย่อมเป็นความดี
             พราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านศาลาจึงพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=พุทธคุณ_9

             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพราหมณ์และคฤหบดีชาวบ้านศาลาว่า
             ศาสดาคนใดคนหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ชอบใจของท่านทั้งหลาย
เป็นที่ให้ท่านทั้งหลายได้ศรัทธาอันมีเหตุผล มีอยู่หรือ?        
             พราหมณ์และคฤหบดีกราบทูลว่า ไม่มี
             พระองค์ตรัสว่า
             เมื่อท่านทั้งหลายยังไม่ได้ศาสดาที่ชอบใจ พึงสมาทานอปัณณกธรรมนี้
แล้วประพฤติ
             ด้วยว่าอปัณณกธรรมที่ท่านทั้งหลายสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว
จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ท่านทั้งหลายสิ้นกาลนาน
(อปัณณกธรรม หมายถึงธรรมที่ไม่ผิด ไม่เป็นสองแง่ เป็นเอกภาพ)

อปัณณกธรรม
๑. นัตถิกวาทะและอัตถิกวาทะ
             นัตถิกวาทะ (ความเห็นผิด ๑๐ ประการ) :-
             มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า
             ทานที่ให้แล้วไม่มีผล การบวงสรวงไม่มีผล การบูชาไม่มีผล
ผลวิบากแห่งกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วไม่มี
             โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มีคุณ บิดาไม่มีคุณ อุปปาติกสัตว์ไม่มี
             สมณพราหมณ์ที่ไปโดยชอบ ปฏิบัติโดยชอบ ทำโลกนี้และโลกหน้า
ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วประกาศให้รู้ทั่ว ไม่มีในโลก
             ส่วนวาทะที่ตรงกันข้ามกับวาทะของสมณพราหมณ์เหล่านั้น เรียกว่า อัตถิกวาทะ
             สมณพราหมณ์ผู้มีนัตถิกวาทะ เป็นอันหวังข้อนี้ได้คือ
             จะเว้นกุศลธรรม ๓ ประการนี้ คือกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต
             จะสมาทานอกุศลธรรม ๓ ประการนี้ คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
แล้วประพฤติ เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่เห็นโทษ ความต่ำทราม
ความเศร้าหมองแห่งอกุศลธรรม
             ไม่เห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะเป็นคุณฝ่ายขาวแห่งกุศลธรรม
             ก็โลกหน้ามีอยู่จริง ความเห็นของผู้นั้นว่า โลกหน้าไม่มี
ความเห็นของเขานั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ
             ก็โลกหน้ามีอยู่จริง แต่เขาดำริว่า โลกหน้าไม่มี
ความดำริของเขานั้นเป็นมิจฉาสังกัปปะ
             ก็โลกหน้ามีอยู่จริง แต่เขากล่าววาจาว่า โลกหน้าไม่มี
วาจาของเขานั้นเป็นมิจฉาวาจา
             ก็โลกหน้ามีอยู่จริง เขากล่าวว่า โลกหน้าไม่มี
ผู้นี้ย่อมทำตนเป็นข้าศึกต่อพระอรหันต์ผู้รู้แจ้งโลกหน้า
             ก็โลกหน้ามีอยู่จริง เขายังผู้อื่นให้เข้าใจว่า โลกหน้าไม่มี
การให้ผู้อื่นเข้าใจของเขานั้นเป็นการให้เข้าใจผิดโดยไม่ชอบธรรม
             และเขายังจะยกตนข่มผู้อื่น ด้วยการให้ผู้อื่นเข้าใจผิดโดยไม่ชอบธรรมนั้นด้วย
             เขาละคุณ คือ เป็นคนมีศีลแล้ว ตั้งไว้เฉพาะแต่โทษ คือ ความเป็นคนทุศีล
             อกุศลธรรมอันลามกเป็นอเนกเหล่านี้ คือ มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ
มิจฉาวาจา ความเป็นข้าศึกต่อพระอริยะ การให้ผู้อื่นเข้าใจผิดโดยไม่ชอบธรรม
การยกตน การข่มผู้อื่น ย่อมมี เพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย
             บุรุษผู้รู้แจ้ง (วิญญูชน) ย่อมเห็นตระหนักชัดว่า
             ถ้าโลกหน้าไม่มี เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านบุรุษบุคคลนี้ เมื่อตายไป
จะทำตนให้สวัสดีได้ (ปลอดภัย)
             แต่ถ้าโลกหน้ามี เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านบุรุษบุคคลนี้ เมื่อตายไป
จะเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก
             อนึ่ง แม้ว่าโลกหน้าไม่ได้มีจริง คำของสมณพราหมณ์เหล่านั้น
(ที่ว่าโลกหน้าไม่มี) จะเป็นความจริงก็ตาม
             เมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านบุรุษบุคคลนี้ เป็นผู้อันวิญญูชนติเตียนได้ในปัจจุบันว่า
             เป็นบุรุษบุคคลทุศีล เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นนัตถิกวาทะ
             ถ้าโลกหน้ามีจริง ความยึดถือของท่านบุรุษบุคคลนี้ ปราชัยในโลกทั้งสอง คือ
             - ในปัจจุบัน ถูกวิญญูชนติเตียน
             - เมื่อตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
             อปัณณกธรรมนี้ ที่บุคคลนั้นสมาทานให้บริบูรณ์ไม่ดี แผ่ไปโดยส่วนเดียว
(ยึดถือวาทะของตนฝ่ายเดียว) ย่อมละเหตุที่เป็นกุศล ด้วยประการอย่างนี้

             อัตถิกวาทะ:-
             ตรัสตรงข้ามกับนัตถิกวาทะ
             อปัณณกธรรมนี้ ที่บุคคลนั้นสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมแผ่ไปโดยส่วนสอง
(หมายถึงยึดถือวาทะทั้งของตนและของผู้อื่น) ย่อมละเหตุที่เป็นอกุศลได้ ด้วยประการอย่างนี้

๒. อกิริยวาทะกับกิริยวาทะ
             อกิริยวาทะ:-
             มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะอย่างนี้ มีความเห็นอย่างนี้ว่า
             เมื่อบุคคลทำเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นทำ ตัดเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นตัด
เผาผลาญ (เบียดเบียน) เอง หรือใช้ให้ผู้อื่นเผาผลาญ ทำสัตว์ให้เศร้าโศกเอง
หรือใช้ผู้อื่นให้ทำสัตว์ให้เศร้าโศก ทำสัตว์ให้ลำบากเอง หรือใช้ผู้อื่นทำสัตว์ให้ลำบาก
ทำสัตว์ให้ดิ้นรนเอง หรือให้ผู้อื่นทำสัตว์ให้ดิ้นรน
             ฆ่าสัตว์เอง หรือใช้ผู้อื่นให้ฆ่า ลักทรัพย์เอง หรือใช้ผู้อื่นให้ลัก
ตัดช่อง (ย่องเบา) ปล้นใหญ่ ทำการปล้นเรือนหลังเดียว ซุ่มอยู่ในทางเปลี่ยว
คบหาภรรยาของผู้อื่น พูดเท็จ
             บาปที่บุคคลทำอยู่ ย่อมไม่ชื่อว่าเป็นอันทำ
             แม้หากผู้ใดพึงทำ (ฆ่า) สัตว์ในแผ่นดินนี้ ให้เป็นลานเนื้อแห่งเดียวกัน
การกระทำเช่นนี้ ย่อมไม่มีบาปมาถึง
             ถึงแม้บุคคลจะไปยังฝั่งขวาแห่งแม่น้ำคงคา ฆ่าสัตว์เองหรือ
ใช้ผู้อื่นให้ฆ่า ฯลฯ การกระำทำเช่นนี้ ย่อมไม่มีบาปมาถึง
             ถึงแม้บุคคลพึงไปยังฝั่งซ้ายแห่งแม่น้ำคงคา ให้ทานเองหรือใช้ให้ผู้อื่นให้
บูชาเองหรือใช้ผู้อื่นให้บูชา การกระทำเช่นนี้ ย่อมไม่มีบุญมาถึง
             การให้ การข่มใจ ความสำรวม การกล่าวคำสัตย์ ย่อมไม่มีบุญมาถึง
             ส่วนวาทะที่ตรงกันข้ามกับวาทะของสมณพราหมณ์เหล่านั้น เรียกว่า กิริยวาทะ
             สมณพราหมณ์ผู้มีอกิริยาวาทะ เป็นอันหวังข้อนี้ได้คือ
             จะเว้นกุศลธรรม ๓ ประการ คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต
             จะสมาทานอกุศลธรรม ๓ ประการนี้ คือกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต
แล้วประพฤติ เพราะท่านสมณพราหมณ์เหล่านั้นไม่เห็นโทษ ความต่ำทราม
ความเศร้าหมองแห่งอกุศลธรรม
             ไม่เห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะ อันเป็นธรรมฝ่ายขวาแห่งกุศลธรรม
             ก็ความทำมีอยู่ แต่ผู้นั้นมีความเห็นว่า ความทำไม่มี
ความเห็นของเขานั้นเป็นความเห็นผิด
             ก็ความทำมีอยู่ ผู้นั้นดำริว่าความทำไม่มี
ความดำริของเขานั้นเป็นความดำริผิด
             ก็ความทำมีอยู่ ผู้นั้นกล่าววาจาว่า ความทำไม่มี
วาจาของเขานั้นเป็นมิจฉาวาจา
             ก็ความทำมีอยู่ ผู้นั้นกล่าวว่าความทำไม่มี ผู้นี้ย่อมทำตนให้เป็นข้าศึก
ต่อพระอรหันต์ ผู้มีวาทะว่า กรรมที่บุคคลทำอยู่ เป็นอันทำ
             ก็ความทำมีอยู่ ผู้นั้นให้บุคคลอื่นสำคัญผิดว่าความทำไม่มี
การที่ให้ผู้อื่นสำคัญผิดของเขานั้น เป็นการให้ผู้อื่นสำคัญผิดโดยไม่ชอบธรรม
             และเพราะการที่ให้ผู้อื่นสำคัญผิดโดยไม่เป็นธรรมนั้น
เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่น
             เขาละคุณคือความเป็นผู้มีศีล ตั้งไว้แต่โทษ คือ ความเป็นผู้ทุศีล
             ส่วนอกุศลธรรมอันลามกเป็นอเนกเหล่านี้ คือ
             ความเห็นผิด ความดำริผิด วาจาผิด ความเป็นข้าศึกต่อพระอริยะ
กิริยาที่ให้ผู้อื่นสำคัญผิดโดยไม่ชอบธรรม การยกตน การข่มผู้อื่น ย่อมมี
เพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย
             บุรุษผู้รู้แจ้ง (วิญญูชน) ย่อมเห็นตระหนักชัดว่า
             ถ้าความทำไม่มี เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านบุรุษบุคคลนี้ เมื่อตายไป ก็ปลอดภัย
             แต่ถ้าความทำมีอยู่ เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านบุรุษบุคคลนี้ เมื่อตายไป
จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
             อนึ่ง แม้ว่าความทำไม่ได้มีจริง คำของสมณพราหมณ์เหล่านั้น
จะเป็นความจริงก็ตาม
             เมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านบุรุษบุคคลนี้ ย่อมถูกวิญญูชนติเตียนได้ในปัจจุบันว่า
             เป็นบุรุษบุคคลทุศีล มีความเห็นผิด มีวาทะว่า กรรมที่บุคคลทำอยู่
ไม่เป็นอันทำ (อกิริยวาทะ)
             ถ้าความทำมีอยู่จริง ความยึดถือของท่านบุรุษบุคคลนี้ อย่างนี้
เป็นความปราชัยในโลกทั้งสอง คือ
             - ในปัจจุบัน วิญญูชนติเตียน
             - เมื่อตายไป จักเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
             อปัณณกธรรมนี้ ที่บุคคลนั้นสมาทานให้บริบูรณ์ไม่ดี แผ่ไปโดยส่วนเดียว
ย่อมละเหตุที่เป็นกุศล ด้วยประการอย่างนี้

             กิริยวาทะ:-
             ตรัสตรงข้ามกับอกิริยวาทะ
             อปัณณกธรรมนี้ ที่บุคคลนั้นสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมแผ่ไปโดยส่วนสอง
ย่อมละเหตุที่เป็นอกุศลได้ ด้วยประการอย่างนี้

[มีต่อ]

ย้ายไปที่



Create Date : 11 ธันวาคม 2556
Last Update : 22 มิถุนายน 2557 10:14:16 น.
Counter : 563 Pageviews.

0 comments

แก้วมณีโชติรส
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]



ธันวาคม 2556

1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
15
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
11 ธันวาคม 2556
All Blog