Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2555
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
26272829 
 
28 กุมภาพันธ์ 2555
 
All Blogs
 
▶ 'รหัสคดี' เงื่อนปมอันหฤหรรษ์ในงานวรรณกรรม..



โดย : ปริญญา ชาวสมุน




▷▷หากเปรียบ 'วรรณกรรมรหัสคดี' กับสีสันต่างๆ แล้ว หลายคนคงให้ค่าเป็นสีดำมืดหม่น

แต่อันที่จริง...โดยเนื้อแท้ของ 'รหัสคดี' กลับมีสีสันหลากหลาย ทั้งยังฉูดฉาดบาดตานักอ่านยิ่งนัก

พูดถึง 'รหัสคดี' บางคนอาจยังไม่รู้จัก แต่ถ้าบอกว่า 'นิยายสืบสวนสอบสวน' แล้วล่ะก็ หลายคนคงร้อง "อ๋อ..." เพราะความหม่นมืดทะมึนทึมของวรรณกรรมประเภทนี้ที่เป็นเสน่ห์ดึงดูดให้นักอ่านหลายคนเข้าไปค้นหาความจริงในเนื้อเรื่อง มิหนำซ้ำในวงการแผ่นฟิล์มก็ยังสร้างสรรค์ภาพยนตร์แนวนี้มาเอาใจคอหนังกันมากมายด้วย บางเรื่องกวาดรายได้มหาศาลแล้วขึ้นแท่นเป็นหนังทำเงินทั่วโลก อาทิ เชอร์ล็อกโฮมส์ หรือแม้กระทั่งการ์ตูนดังอย่าง ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน




เพียงสองชื่อที่กล่าวมาก็น่าจะบ่งชี้ค่าความนิยมในหมู่ชนได้กระจ่างชัดแล้วว่า รหัสคดี ครองใจคนทั่วโลกมากขนาดไหน แต่นั่นเป็นเพียงตัวอย่างที่คนส่วนมากนึกถึง แท้จริงแล้วรหัสคดีมีมากกว่านักสืบผู้ทรงเสน่ห์กับหมวกใบโก้พร้อมคาบไปป์ หรือหนุ่มน้อยอัจฉริยะที่ถูกขบวนการชุดดำกรอกยาพิษจนร่างหดเหลือตัวนิดเดียวเท่านั้น




-1-
เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์, คณะมนุษยศาสตร์ ม.หอการค้าไทย, คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร, ฝ่ายวิรัชกิจ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานสัมมนาทางวิชาการ '100 ปี ชาตกาล ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ' ณ อาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในกิจกรรมวิชาการที่ถือเป็นสีสันของงาน คือ เสวนา 'ผูกเงื่อนคลายปม : ความหฤหรรษ์ในวรรณกรรมรหัสคดี' ซึ่งได้รวบรวมผู้รู้, นักเขียน และนักแปล วรรณกรรมรหัสคดี ไว้อย่างครบครัน
น.พ.พงศกร จินดาวัฒนะ หรือที่รู้จักกันในนาม พงศกร นักเขียนเจ้าของผลงานนวนิยายลือชื่ออย่าง รอยไหม แต่นอกจากนวนิยายชุดผ้าที่สร้างชื่อให้แก่หมอพงศกรแล้ว เขายังเป็นนักเขียนผู้มีผลงานแนวรหัสคดีมากมาย อาทิ ปริศนามาเลศ และ ขบวนการกิงก่องแก้ว
ตลอดระยะเวลานับสิบปี หมอพงศกรมีนวนิยายประมาณ 30 เรื่อง และส่วนมากก็เป็นแนวรหัสคดีทั้งสิ้น เขาเล่าว่า อันที่จริงเขาเริ่มจากแนวรหัสคดีก่อนอื่นใด โดยผลงานแรกที่เขาเขียนคือ ปริศนามาเลศ ตอน ทะเลราตรี เหตุที่ทำให้เขาเขียนวรรณกรรมรหัสคดี เพราะมีพื้นฐานการอ่านเรื่องแนวนี้ ที่สำคัญเขาชอบพอเป็นพิเศษ
"ผมชอบอ่านนิยายรหัสคดี มันได้ลับสมองดี อ่านแล้วต้องคิดตามว่าฆาตกรคือใคร นักเขียนจะหลอกเราไปเรื่อยๆ คนนั้นก็ใช่ คนนี้ก็ใช่"
แต่เมื่อเขามาเป็นผู้เขียนจึงรู้ว่าต้องคิดมากกว่าคนอ่านเสียอีก รหัสคดีเป็นวรรณกรรมที่ยากเอาการ "เราต้องคิดเลยคนอ่านไปหนึ่งขั้น เพราะเราต้องหลอกคนอ่าน แม้แต่แรงจูงใจที่ทำให้ฆาตกรฆ่าคนคืออะไร นักเขียนต้องคิดเป็นขั้นเป็นตอน รายละเอียดต้องเก็บทุกเม็ด"
เพราะในนิยายรหัสคดี ตัวละครทุกตัวมีโอกาสเป็นฆาตกรได้ทั้งหมด ทว่า จะมีเพียงปมเล็กๆ เช่นคำพูดบางประโยคหรือหลักฐานบางอย่างเล็กน้อยที่เป็นกุญแจไขความลับ หากอ่านผ่านแล้วอาจผ่านเลย เมื่อถึงบทสรุป บางคนถึงกับต้องพลิกหน้ากระดาษย้อนกลับมาเพื่อหาเงื่อนปมนั้นอีกครั้ง
"นักเขียนรหัสคดี ต้องวางโครงพวกนี้ไว้อยู่แล้ว และหยอดพวกนี้ลงไปเป็นช่วงๆ ความสนุกของผู้อ่านคือความทุกข์สาหัสของนักเขียน เพราะเราต้องหลอกเขาให้ได้ว่าฆาตกรเป็นใครกันแน่" หมอพงศกรกล่าว
ในปริศนามาเลศ ตอน ทะเลราตรี หมอพงศกรได้สร้างความหฤหรรษ์แก่คนอ่านโดยจับน้องเหมียว แมวไทย มาเป็นตัวดำเนินเรื่อง และร่วมสืบคดีไปกับพระเอก อะไรที่ทำให้เขาตัดสินใจเช่นนั้น เชื่อเถิดว่าไม่ใช่เพราะแค่แมวน่ารัก...
"ช่วงที่ไปเรียนต่อต่างประเทศ ในร้านหนังสือจะมีหนังสือชุดสายลับที่เป็นคนอื่น ไม่ใช่นักสืบ เช่น แม่บ้านมาสืบคดี บางเรื่องมีหมาเป็นตัวเอก มีแมวเป็นตัวเอก บ้านเรามีแมวไทยน่ารักกว่าแมวเปอร์เซียอีก เราลองมาเขียนบ้างดีกว่า ไม่อยากทำอะไรเครียด ถ้าทำอะไรเครียดๆ ผมจะทำได้ไม่ดี ก็เลยเขียนรหัสคดีชุดนี้ขึ้นมา โดยให้แมวเป็นตัวเล่าเรื่อง ถ้าท่านมีแมวอยู่ที่บ้าน แมวเป็นสัตว์ที่ช่างสังเกต เวลาเดินก็ค่อยๆ ย่าง มันเหมาะกับสืบคดี ในวันที่เขียนทะเลราตรีคุณแม่บอกว่าเพ้อเจ้อ (หัวเราะ)"
แล้วคำว่า "เพ้อเจ้อ" ของแม่ก็กลายเป็นผล เพราะนิยายเรื่องนี้ได้รับตีพิมพ์ในนิตยสารสกุลไทยอย่างไร้ข้อกังขา และเขาก็มีแฟนประจำติดตามผลงานเรื่อยมา จนกระทั่งวันหนึ่งแมวที่เขาเลี้ยงไว้ และเป็นต้นแบบให้เขียนถึง ต้องตายจากไป เรื่องราวบนหน้ากระดาษยังคงดำเนินต่อ แต่มีบางอย่างเปลี่ยนแปลง และกลายเป็นสิ่งหฤหรรษ์ลำดับต่อมาด้วย
"พอเขียนไปได้สักพัก แมวตัวจริงของผมก็จากไป แล้วก็ได้หมาไซบีเรียนฮัสกี้มาใหม่ เขามีลักษณะพิเศษคือเวลาพูดคุยกันจะเอียงคอฟัง หมาจะเป็นนักสืบที่ไม่ดี เวลาแอบจะซุ่มซ่ามเตะนู่นเตะนี่ แต่ผมว่าเขามีคาแรคเตอร์ของเขา เลยเอามาผูกเรื่องเป็นอีกชุดหนึ่ง คือ ขบวนการกิงก่องแก้ว"
หากสังเกตให้ดี วรรณกรรมรหัสคดีของหมอพงศกรทุกเรื่องมีตัวละครเอกเป็นแพทย์หนุ่ม เหตุที่เขามอบหมายภารกิจสืบคดีให้แก่คุณหมอ ก็เพราะเป็นเทคนิควางโครงเรื่องที่แข็งแรง รัดกุม ดังที่นักเขียนรหัสคดีพึงกระทำ
"ถ้าตัวเอกเป็นแม่บ้านจะยุ่งยากเมื่อเจอหลักฐานบางชิ้น ยิ่งตัวเอกเป็นหมอนิติเวชก็จะช่วยย่นระยะได้ด้วย ที่จริงอยากให้ตัวเอกเป็นผู้หญิงด้วยซ้ำ เพราะสัญชาตญาณของสตรีเป็นผู้ที่ช่างสังเกตกว่า แต่ผมให้เป็นผู้ชายจะได้ใส่เรื่องชิงรักหักสวาทเข้าไปได้ รสนิยมคนอ่านไทยชอบอ่านเรื่องที่มีพระเอกนางเอก เรื่องที่ไม่มีพระเอกนางเอกมันจะเลือนหายไป"
อย่างนี้สิ นักเขียนรหัสคดี...



-2-
รู้เห็นทัศนะของนักเขียนกันไปแล้ว มาถึงทีของนักวิชาการผู้ทรงภูมิกันบ้าง สำหรับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ วรรณกรรมรหัสคดีคือของโปรดของเขาเลยก็ว่าได้....
ดร.สุรเดชชวนย้อนเวลาไปเมื่อปี ค.ศ. 1841 ในช่วงนั้นมีงานเขียนซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของงานเขียนที่มีตัวละครนักสืบ แม้นั่นจะเป็นจุดกำเนิด แต่ในมุมมองของนักวิชาการ นิยายรหัสคดี ถือว่ามีมาไม่นานนัก
"ก่อนหน้านี้นักวิชาการไม่ค่อยให้ค่ากับรหัสคดีเท่าไร เพราะถือว่าเป็นวรรณกรรมเพื่อความเพลิดเพลินเท่านั้น ไม่ได้ตั้งคำถามกับความเป็นมนุษย์ หรือจรรโลงใจให้สูงขึ้น ถ้าอยู่เมืองนอกจะขายที่สถานีรถไฟ ใช้อ่านเพื่อฆ่าเวลาพอถึงปลายทางก็ทิ้ง"
...นับเป็นสถานภาพที่ไม่ดีเอาเสียเลยสำหรับงานวรรณกรรมที่ทรงพลังประเภทนี้ แต่รูปรอยซึ่งกว่าจะได้มาของรหัสคดีคือช่วงเปลี่ยนผ่านอันผสมกลมกลืนของสองกระแส ทั้งโรแมนติกและสัจนิยม
"ในยุคของโรแมนติก จะเป็นยุคที่ใส่อารมณ์ ฉากก็จะเป็นปราสาทใหญ่ๆ ลึกลับน่ากลัว เป็นยุคที่ให้ความสำคัญกับอารมณ์มากกว่าเหตุผล แต่พอมาศตวรรษที่ 19 เป็นยุคของแนวคิดแบบสัจนิยม แนวคิดการมองโลกตามระบบเหตุและผล การเกิดขึ้นของนิยายสืบสวนสอบสวนเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านพอดี ในด้านหนึ่งเป็นโลกของความน่ากลัว สับสนอลหม่าน แต่มองอีกด้านมันเหมือนมีความพยายามที่จะใช้เหตุผลอธิบาย"
ในวรรณกรรมที่มีตัวละครเอกเป็นนักสืบเช่นนี้ เมื่อมีเหตุผลรองรับก็เท่ากับว่าเรื่องถูกฉายชัดว่าสภาพสังคมในศตวรรษที่ 19 เป็นเช่นไร ดร.สุรเดชอธิบายว่านิยายรหัสคดียุคนั้นกำลังบอกถึงความเชื่อมั่นในความสามารถของปัจเจกบุคคล แต่ในอีกแง่หนึ่งนี่เป็นความไม่เชื่อมั่นในองค์กรของรัฐ
"ตำรวจจะคลี่คลายคดีไม่ค่อยได้ ต้องพึ่งนักสืบมาช่วย"
อีกข้อสังเกตหนึ่งที่ ดร.สุรเดชพบ คือ นิยายสืบสวนสอบสวน เป็นความโหยหา ความต้องการสังคมในอุดมคติที่อธิบายทุกอย่างได้ เพราะในความจริงเป็นไปไม่ได้
"ในรหัสคดี สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นบ้านที่ปิดตายบ้าง เป็นบ้านชนบทห่างจากเมืองบ้าง พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ในอุดมคติเพราะมันตัดขาดจากโลกภายนอก การแก้ไขต่างๆ จะใช้เหตุผลและสิ่งบ่งชี้เท่านั้น คำตอบจะอยู่ในโลกแบบปิด ซึ่งโลกความจริงไม่ใช่อย่างนั้น เป็นอย่างนั้นแทบจะไม่ได้"
รหัสคดีจึงเป็นยิ่งกว่าสืบค้นคดีตามเนื้อเรื่อง แต่เป็นการแสวงหาความสุขสมบูรณ์ซึ่งมนุษย์รู้สึกขาดด้วยนั่นเอง...


-3-
เป็นที่ทราบกันดีว่าวรรณกรรมรหัสคดีที่มีชื่อเสียงส่วนมากมาจากต่างประเทศทั้งสิ้น ทั้งจากโลกตะวันตกและโลกตะวันออก ประเทศแถบเอเชียที่ขึ้นชื่อลือชาเรื่องรหัสคดี เป็นอื่นไปไม่ได้นอกเสียจาก 'ญี่ปุ่น' บ้านเกิดของเจ้าหนูโคนัน รวมทั้งวรรณกรรมรหัสคดีชื่อดังมากมาย อาทิ ราโชมอน ทั้งๆ ที่บ้านเมืองชาวอาทิตย์อุทัยก็ดูท่าจะอยู่ดีมีสุข พรั่งพร้อมทั้งธรรมชาติและเทคโนโลยี อีกทั้งยังมีสถิติอายุเฉลี่ยของประชากรมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เหตุใด เรื่องฆ่าแกงจึงกลายเป็นของดีของเด่นไปได้
อ.รัตน์จิต ทองเปรม อาจารย์ดีเด่นของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และเป็นนักแปลนวนิยายรหัสคดีญี่ปุ่น เช่น ฆาตกรรมอำพราง ยอมรับว่าตนเองไม่เคยสนใจอ่านนิยายรหัสคดีเลย แต่เมื่อจะต้องแปล เธอจำเป็นต้องอ่าน จึงได้รู้ว่าทำไมถึงมีคนกล่าวว่า "อ่านแล้ววางไม่ลง" นอกจาก นี้อ.รัตน์จิตก็ไม่เคยเลือกนิยายที่จะแปล แต่ไม่ว่าจะแปลนิยายประเภทใดก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่ารหัสคดีตะวันออก
"ที่ผ่านมาแปลนิยายหลายแนว ทั้งเรื่องรัก เรื่องจิตวิทยา แต่มักจะขายไม่ออก แต่สำหรับนิยายสืบสวนอย่างของคินดะอิจิที่แปล ขายได้เกินหมื่นเล่ม"
อ.รัตน์จิตแสดงทัศนะเกี่ยวกับนิยายรหัสคดีญี่ปุ่นไว้ว่า ตัวละครจะเป็นมนุษย์โดยสัมบูรณ์ ตัวละครต่างๆ มีเหตุและผลของการกระทำที่แสดงออกมา ทั้งฝ่ายดีและร้าย
"ตัวละครของเขามีความเป็นมนุษย์มาก ทั้งฝ่ายที่เป็นตำรวจและฝ่ายที่เป็นคนร้าย อย่างเรื่องล่าสุดที่แปล ตัวละครเอกเป็นสารวัตรหญิง เคยโดนข่มขืนในวัยเด็กเลยอยากสืบคดีจับคนร้าย ถ้าเป็นสังคมไทยคงไม่รับเรื่องแบบนี้ แต่ในญี่ปุ่นรับได้ และยังสะท้อนด้วยว่าสังคมญี่ปุ่นเปิดกว้างให้ผู้หญิงมาก หรืออย่างฆาตกรที่ไปทำร้ายใคร ฆ่าใคร เราคงรุมประณามเขา แต่ของญี่ปุ่นจะมีที่มาที่ไป มีความอึดอัดคับข้อง เคยถูกรังแก หรืออะไรก็ตามที่เป็นปมในใจ นี่เป็นลักษณะเฉพาะของนิยายรหัสคดีญี่ปุ่น"
นอกจากความหฤหรรษ์ของนิยายรหัสคดี วรรณกรรมประเภทนี้ยังทำหน้าที่สะท้อนเบื้องลึกของจิตใจชาวญี่ปุ่นส่วนมากได้แจ่มชัดด้วย
"สังคมญี่ปุ่นค่อนข้างเก็บกด เขาเป็นชาติที่จริงๆ อาจจะอยากแตกต่าง แต่ถ้าแตกต่างแล้วจะถูกมองว่าแปลกแยก เด็กนักเรียนจะมีเรื่องถูกเพื่อนๆ กลั่นแกล้ง และเด็กฆ่าตัวตายมาก เขาเป็นชาติที่ค่อนข้างเก็บอะไรไว้มาก จึงออกมาในรูปแบบเบี่ยงเบนเสียมาก"
แม้แต่ตัวละครผู้หญิงที่มักจะถูกชูโรงให้ฉลาดหลักแหลม สืบคดีเก่ง ฉะฉาน เป็นผู้นำ ก็สะท้อนอะไรบางอย่างด้วย
"ตอนนี้สังคมญี่ปุ่นให้ความสำคัญในบทบาทของผู้หญิงมากขึ้น สมัยก่อนผู้หญิงต้องอยู่ในบ้าน เป็นแม่บ้านอย่างเดียว แม้แต่เรื่องทิ้งขยะผู้ชายก็จะอายไม่กล้าเอาขยะมาทิ้งตรงกองขยะ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องเสียศักดิ์ศรี แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปมากแล้ว แม้แต่ตัวละครที่เป็นตำรวจหญิง ในเรื่องจริงอาจไม่มีหรือมีน้อย แต่เขาก็พยายามให้ความสำคัญ"
...
แม้กระแสความนิยมวรรณกรรมรหัสคดียังมีอยู่ในบรรณพิภพไทย แต่ยุคสมัยนี้ถือเป็นช่วงขาลงแล้ว นานวันนักอ่านจะถอยห่างจากวรรณกรรมรหัสคดีไปเรื่อยๆ แต่ด้วยเสน่ห์แห่งปริศนาที่ช่วยชะลอรั้งไม่ให้รหัสคดีหายไปได้โดยง่ายดาย
หมอพงศกรกล่าวในฐานะผู้อ่านว่ายังสนุกกับวรรณกรรมรหัสคดีเพราะเป็นการลับสมองอย่างหนึ่ง ทำให้รู้สึกว่าได้ติดตาม ได้อ่านอย่างละเอียดลออ
"แค่ดอกไม้หนึ่งดอก หรือประโยคหนึ่งประโยคที่ตัวละครพูดออกมา บางทีถ้าเราไม่สังเกต มันอาจกลายเป็นปมที่นำไปสู่เรื่องราวมากมายในเรื่อง ทำให้เราอ่านอย่างละเอียด คิดตาม ในฐานะผู้เขียนเรื่อง ก็ยังอยากเขียนเรื่องแนวนี้...
...รหัสคดีไม่ใช่แนวที่ถนัดที่สุดแต่เป็นแนวที่เขียนสนุกที่สุด แต่มันต้องอาศัยการประกอบวิญญาณ หาข้อมูลเป็นอย่างดี เป็นงานที่ยากแต่ท้าทาย"
ด้าน อ.รัตน์จิต การเข่นฆ่ากันเกิดขึ้นในสังคมจนกระทั่งกลายเป็นเรื่องใกล้ตัว วรรณกรรมรหัสคดีช่วยให้เข้าใจสภาพสังคมที่เกิดขึ้นได้
"พอเราอ่านก็จะได้คิดตามว่าฆาตกรคิดอย่างนี้ มีปัญหาอย่างนี้ มีแรงกดดันอย่างนี้ และที่สนุกคือได้เห็นกระบวนการทำงานของตำรวจด้านนิติเวช ยิ่งอ่านก็ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองฉลาดขึ้น ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นเสน่ห์ของนิยายสืบสวน"
สำหรับ ดร.สุรเดช ก็ยังย้ำชัดว่าเหตุและผลซึ่งเกิดขึ้นในเรื่องช่วยปลดเปลื้องพันธนาการจากโลกจริงได้อย่างดีเยี่ยม
"รหัสคดีมีคำตอบ แต่ในชีวิตจริงไม่มีคำตอบ ผมก็เลยรู้สึกว่าอ่านแล้วนอนหลับฝันดี ทำให้เราหนีจากโลกความจริง เมื่อใดก็ตามที่เราเปิดหนังสือปุ๊บ มันมีคำตอบตลอด เราก็โล่งใจ เป็นที่พึ่งทางใจ เป็นการหลีกหนีได้เหมือนกัน"
ทีนี้รู้หรือยังว่าสีสันของวรรณกรรมรหัสคดีจัดจ้านขนาดไหน และรหัสคดีหฤหรรษ์เพียงใด...ต้องลองอ่านดู


credit : bangkokbiznews


Create Date : 28 กุมภาพันธ์ 2555
Last Update : 28 กุมภาพันธ์ 2555 10:41:32 น. 0 comments
Counter : 1193 Pageviews.

Rain_sk
Location :
Upper Midwest United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 68 คน [?]





"ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ส่งผล
คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง
เมื่อใดบาปให้ผล คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น"
ขุ.ธ. 25/15/24
เวลา 4.57PM :sat,Mar 29,2557



BlogGang Popular Award # 9


BlogGang Popular Award # 10


BlogGang Popular Award # 11


BlogGang Popular Award # 12


Friends' blogs
[Add Rain_sk's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.