Group Blog
 
<<
มีนาคม 2555
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
22 มีนาคม 2555
 
All Blogs
 
วันหยุดเขื่อน สืบชะตา"สาละวิน"



แม่น้ำคง′ หรือ ′สาละวิน′ หนึ่งในแม่น้ำของภูมิภาคอาเซียน เป็นที่หมายปองของนักสร้างเขื่อน โครงการเขื่อนอย่างน้อย 13 แห่ง กำลังถูกวางแผน เพื่อก่อสร้างทาง ตอนบนของลุ่มน้ำในมณฑล ยูนนาน ประเทศจีน

ตลอดระยะเวลาหลายปี ที่ผ่านมา องค์กรอนุรักษ์ใน จีนและนานาชาติ ได้รณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลจีนทบทวนโครงการเขื่อน และพิจารณาการอนุรักษ์พื้นที่ ซึ่งมีความสำคัญในด้านระบบนิเวศ

แม่น้ำสาละวินยาวกว่า 2,800 ก.ม. ต้นกำเนิดจากหิมะที่ละลายบนเทือกเขาหิมาลัย ไหลสู่ที่ราบสูงทิเบต ลงมณฑลยูนนาน เข้าสู่ประเทศพม่าที่ รัฐฉาน รัฐคะยา

เป็นเส้นกั้นพรมแดนระหว่าง จ.แม่ฮ่องสอน ของไทย กับรัฐกะเหรี่ยง ก่อนเข้าสู่พม่าอีกครั้งที่บ้านสบเมย ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน และลงสู่ทะเลอันดามันที่เมืองมะละแหม่ง รัฐมอญ ยังคงไหลอย่างอิสระโดยไม่มีสิ่งใดขวางกั้น

ตลอดความยาวของแม่น้ำสาละวิน หล่อเลี้ยงระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งพันธุ์พืชและสัตว์ วิถีชีวิตของชุมชน มีไม่ต่ำกว่า 13 กลุ่มชาติพันธุ์ อาทิ นู ลีซู ตู๋หลง ไทยใหญ่ คะเรนนี กะเหรี่ยง มอญ และ ยินตาเล เป็นต้น

สาละวินจึงได้รับการจัดว่า เป็นลุ่มน้ำที่อยู่ในพื้นที่ชายขอบ ไม่ว่าจะมองทางภูมิศาสตร์ หรือการเมือง

ประชาชนที่อาศัยในลุ่มน้ำ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่สามารถเข้าถึงอำนาจในการตัดสินใจได้ การพัฒนา และการใช้ทรัพยากร จึงเป็นการตัดสินใจโดยภาครัฐ ร่วมกับบริษัทเอกชน โดยที่ไม่มีส่วนร่วมของภาคประชาชนเจ้าของพื้นที่

โครงการส่งเสริมสุขภาพคนชายขอบ จากการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ เครือข่ายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำสาละวิน และภาคีเครือข่ายอื่นๆ ร่วมกันจัดเวทีประชุม เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการวางยุทธศาสตร์ ในการทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาชน ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ลุ่มน้ำสาละวิน ในประเทศจีน พม่า ไทย นักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน และองค์กรภาคี



โดยกำหนดกิจกรรมและเวทีขึ้นใน ′วันหยุดเขื่อนโลก′ เมื่อ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา เป็นวันสากลที่ชุมชนและนักอนุรักษ์ทั่วโลกรณรงค์การอนุรักษ์แม่น้ำ และปกป้องทรัพยากร ตลอดจนสิทธิของชุมชนที่พึ่งพาสายน้ำ

ชุมชนลุ่มน้ำสาละวินจึงร่วมกันจัดงานสืบชะตาแม่น้ำ เพื่อประกาศเจตนารมณ์ปกป้องทรัพยากร

ปลายทางของงานนี้อยู่ที่บ้านสบเมย ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ห่างจาก อ.แม่สะเรียง 46 ก.ม. ระยะทางที่ดูแล้วไม่ไกลนัก แต่เส้นทางจากแม่สะเรียงไปสบเมย คดเคี้ยวสูงชันกับต้องลัดเลาะไปตามไหล่เขา

ยิ่งเข้าใกล้สบเมยมากเพียงใด ถนนยิ่งเป็นหลุมขรุขระ จากนั้นลงเรือล่องแม่น้ำสาละวิน ที่ไหลเชี่ยวมีเกาะแก่งเป็นระยะ ทั้ง 2 ฝั่งลำน้ำเป็นป่าเขา โดยที่ฝั่งหนึ่งเป็นดินแดนไทย อีกฝั่งเป็นพม่า ใช้เวลาล่องเรือชั่วโมงครึ่งถึงปลายทาง

′เกา เหอ เหลิน′ นักพัฒนาเอกชนจากจีน ที่ร่วมลงพื้นที่บ้านสบเมย กล่าวว่า ตั้งแต่ปีค.ศ.2003 เอ็นจีโอของจีนศึกษาโครงการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำสาละวิน 13 แห่ง ในมณฑลยูนนาน และออกมาคัดค้านต่อต้าน โดยมีสำนักข่าวทั่วโลก 67 แห่ง รายงานข่าวเรื่องนี้ ทำให้รัฐบาลจีนสั่งระงับโครง การไปก่อน จากนั้นเอ็นจีโอก็ทำงานร่วมกับชาวบ้าน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในชุมชนมากขึ้น

ส่วนเหตุผลหลักที่รัฐบาลจีนนำมาใช้สนับ สนุนโครงการสร้างเขื่อนทั้ง 13 แห่ง คือการสร้างรายได้ ขจัดความยากจน เพราะประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำสาละวินในจีนมีฐานะยากจน แต่จากการลงพื้นที่ของเอ็นจีโอพบว่า ชาวบ้านอยู่ได้โดยที่ไม่ได้มีความทุกข์ เพราะพวกเขาคุ้นชินกับวิถีชีวิตแบบนี้

เช่นกันกับ ′เกรซ มาง′ อีกตัวแทนเอ็นจีโอจากจีน ที่ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ เล่าให้ฟังว่า ขณะนี้จีนเป็นผู้สร้างเขื่อนรายใหญ่ของโลก จากการติดตามพบว่ามีบริษัทต่างๆ ทั่วโลกที่กู้เงินจากจีน เพื่อใช้สำหรับสร้างเขื่อนกว่า 300 โครงการ จำนวนทั้งสิ้น 75 ประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะพม่า

′การที่อุตสาหกรรมเขื่อนของจีนมีบทบาทมากทั่วโลก ทำให้การส่งออกทั้งคนและเทคโนโลยีของจีนกระจายไปทั่วโลก ซึ่งอุตสาหกรรมสร้างเขื่อนเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่สร้างรายได้ให้จีนอย่างเป็นกอบเป็นกำ อีกหนึ่งเหตุผลที่จีนเลือกลงทุนสร้างเขื่อนในพื้นที่อื่น เนื่องจากการเสียภาษีในจีนค่อนข้างสูง จีนจึงหันไปลงทุนในพื้นที่ประเทศอื่น เพื่อให้ได้กำไรมากกว่า′

นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่การลงพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวิน บริเวณบ้านสบเมยครั้งนี้ต้องมีตัวแทนเอ็นจีโอจากจีนร่วมให้ข้อมูลด้วย เพราะเห็นได้ชัดว่า ขณะนี้จีนมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้อย่างมาก เพราะนอกจากแผนการสร้างเขื่อนทางตอนบนของลุ่มน้ำสาละวินในมณฑลยูนนานแล้ว ถัดลงมาในประเทศพม่า และชายแดนไทย-พม่า ยังมีโครงการเขื่อนอีก 6 แห่ง ถูกเสนอเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า

นับตั้งแต่ชายแดนจีน-รัฐฉาน ของพม่า คือ ′เขื่อนท่าซาง′ ในรัฐฉาน และ ′เขื่อนยวาติด′ ในรัฐคะยา

แต่โครงการสำคัญที่อาจส่งผลกระทบกับประเทศไทยมากที่สุด คือ ′เขื่อนฮัตจี′ ที่วางแผนจะสร้างในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง ห่างจากชายแดนไทย-พม่า ที่ อ.สบเมย เพียง 47 ก.ม.

มูลค่าการลงทุนประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3,800 ล้านบาท หากเขื่อนฮัตจีสร้างแล้วเสร็จ จะผลิตไฟฟ้าได้ 1,200 เมกะวัตต์ โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามบันทึกความเข้าใจกับ บริษัท ไซโนไฮโดร ของจีน เพื่อสร้างเขื่อนแห่งนี้ และเป็นโครงการที่มีความคืบหน้ามากที่สุด

จากการลงพื้นที่บ้านสบเมย เพื่อศึกษาปัญหาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวินหลายครั้งหลายคราว นายมนตรี จันทวงศ์ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ อธิบายว่า ลักษณะพื้นที่ของบ้านสบเมย ชาวบ้านจะปลูกสร้างที่พักอาศัยบนภูเขา ไฟฟ้าที่มีใช้มาจากพลังงานแสงอาทิตย์

วิถีชีวิตส่วนใหญ่ของชาวบ้านผูกพันกับสายน้ำสาละวิน ที่ชาวบ้านใช้เพาะปลูก หาปลา และมีพื้นที่เนินทรายกว้างใช้สำหรับทำกิจกรรมของคนในชุมชน แต่หากเขื่อนฮัตจีถูกสร้างขึ้น พื้นที่บริเวณนี้จะถูกน้ำท่วม ส่งผลให้วิถีชีวิตของชาวบ้านต้องเปลี่ยนแปลงไป

′การเซ็นสัญญาสร้างเขื่อนฮัตจี เริ่มขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.2548 แม้ว่าเขื่อน ฮัตจีจะสร้างในพม่า แต่ก็ห่างจากบ้านสบเมย ของไทยเพียง 47 ก.ม. ดังนั้น น้ำจะท่วมมาถึงอย่างแน่นอน และบริเวณที่สร้างเขื่อนฮัตจียังอยู่บนรอยเลื่อนศรีนครินทร์พอดี เป็นอันตรายหากเกิดแผ่นดินไหว′

′อีกทั้งแม่น้ำสาละวินยังเป็นแม่น้ำที่ไหลอย่างอิสระ โดยที่ไม่มีสิ่งก่อสร้างขวางกั้น ดังนั้น ที่นี่จึงต้องจัดงานสืบชะตาแม่น้ำสาละวินทุกปี เพื่อขอให้แม่น้ำสาละวินรอดพ้นจากโครงการต่างๆ′ นายมนตรีกล่าว

พอถึงช่วงค่ำชาวบ้านปกาเกอะญอ จัดแสดงทางวัฒนธรรมต้อนรับ ทุกคนร่วมกันจุดเทียน ในความหมายว่า สร้างแสงสว่างให้มนุษย์ช่วยกันรักษาธรรมชาติ

ช่วงเช้าตรู่วันหยุดเขื่อนโลก ที่หาดทรายบ้านสบเมย ชาวบ้านตั้งแต่ผู้เฒ่าไปจนถึงเด็กเล็ก ภาคประชาชน นักวิชาการ จากหลากหลายประเทศ ร่วมกันทำพิธีสืบชะตา เพื่อให้แม่น้ำสาละวินแคล้วคลาดปลอดภัย และไหลได้อย่างอิสระตลอดไป

Credit : //www.khaosod.co.th/



Create Date : 22 มีนาคม 2555
Last Update : 22 มีนาคม 2555 9:33:33 น. 0 comments
Counter : 1617 Pageviews.

Rain_sk
Location :
Upper Midwest United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 68 คน [?]





"ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ส่งผล
คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง
เมื่อใดบาปให้ผล คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น"
ขุ.ธ. 25/15/24
เวลา 4.57PM :sat,Mar 29,2557



BlogGang Popular Award # 9


BlogGang Popular Award # 10


BlogGang Popular Award # 11


BlogGang Popular Award # 12


Friends' blogs
[Add Rain_sk's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.