Group Blog
 
<<
มกราคม 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
20 มกราคม 2555
 
All Blogs
 
สี่แผ่นดิน เดอะ มิวสิคัล โดย ดร.วิษณุ เครืองาม



ผมเป็นแฟนหนังสือเรื่องสี่แผ่นดินของอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มาตั้งแต่เด็ก ๆ
โตขึ้นก็ยังอ่านอีกหลายหน ได้รับแจกฉบับงานพระราชทานเพลิงศพของท่านมาก็อ่านแล้วเก็บเข้าตู้ไว้ เพราะหวงนักหนา ทั้งยังเคยได้ดูละครโทรทัศน์เรื่องเดียวกันที่อาคม มกรานนท์ เล่นเป็นคุณเปรม ต่อมาก็เวอร์ชั่นที่ตุ้ย ธีรภัทร์ จนถึง ฉัตรชัยเล่น กระบวนเล่นเป็นแม่พลอยต้องยกให้อุ้ม สิริยากร เมื่อไม่กี่ปีมานี้ และที่เล่นเป็นแม่ช้อยต้องยกให้ชูศรี มีสมมนต์ เมื่อหลายสิบปีก่อน ดูสมบทบาทมาก จนราวกับเป็นแม่พลอย แม่ช้อยจริง ๆ

ไม่เคยนึกว่าจะได้ดูสี่แผ่นดินฉบับเดอะ มิวสิคัล หรือฉบับละครเพลงเมื่อไม่กี่วันมานี้
เพราะเรื่องยาวออกอย่างนั้นจะมาร้องรำทำเพลงเจรจาเป็นเพลงได้อย่างไร ถึงใครอุตริทำก็คงยากจะมีคนดูในสมัยนี้ เพราะคำว่าละครเพลงชวนให้นึกถึงคณะแม่เลื่อน คณะศิวารมณ์ คณะปราโมทัยเมื่อ 60 ปีก่อน นึกถึงเรื่องจันทร์เจ้าขา พันท้ายนรสิงห์อะไรไปโน่น!

แต่แล้วก็อุตส่าห์มีคนอุตริทำขึ้นจนได้ และทำได้ดีเสียด้วย วัยรุ่นชวนกันไปดูแน่นโรง เริ่มต้นคือไม่เรียกให้วัยรุ่นเซ็งว่าละครเพลง แต่เรียกว่าเดอะ มิวสิคัล ข้อที่สองคือเล่นบนเวทีรัชดาลัย เวทีเดียวกับที่เคยเล่นละครเพลงใหญ่ ๆ ทันสมัยมาแล้วมากต่อมาก ข้อต่อมาคือใช้นักร้องเดอะ สตาร์ซึ่งรูปร่างหน้าตาดี ร้องเพลงเก่ง แฟนตึมอยู่แล้วมาสวมบทบาท ข้อสำคัญคือเดินเรื่องกระชับ เน้นแต่บางจุดที่โดนใจคน ใส่เพลงทันสมัยเพราะ ๆ เข้าไปมีทั้งบทเต้นระบำและรำฟ้อน เท่านี้สี่แผ่นดินก็มีชีวิตชีวาชนิดที่คนไม่เคยอ่านหนังสือก็พอติดตามเรื่อง ได้อย่างสนุกและสะเทือนใจ และจบลงใน 2 องก์ ใช้เวลาแสดงรวมทั้งพักคั่นกลางประมาณ 3 ชั่วโมง

อาจารย์คึกฤทธิ์แต่งเรื่องนี้ลงพิมพ์ในสยามรัฐตั้งแต่ตอนต้นรัชกาลที่ 9 พิมพ์ไปได้ไม่กี่ตอนผู้คนก็ติดกันเกรียวกราวชนิดวันไหนไม่ได้อ่านเป็นต้อง จุกเสียดแน่นเฟ้ออารมณ์เสียไปหมด เพราะท่านเข้าใจผูกเรื่อง จับเอาเหตุการณ์และสถานที่จริงสมัยรัชกาลที่ 5-6-7-8 รวม 4 รัชกาลเป็นฉาก แล้วใส่ตัวละครเข้าไปเดินเรื่อง เช่น แม่พลอย คุณเปรม แม่ช้อย คุณสาย พ่อเพิ่ม ตาอ้น ตาอั้น ตาอ๊อด ประไพ เมื่อพิมพ์รวมเล่มท่านเขียนคำนำไว้เองว่าเรื่องสี่แผ่นดินต่างจากละครเพราะ ละครใช้ฉากปลอมแต่ตัวละครเป็นคนจริงออกมารำ มาเจรจา แต่หนังสือเรื่องสี่แผ่นดินใช้ฉากจริงแต่ตัวละครสมมุติขึ้น ตอนนั้นเจ้านายและผู้ดีเก่าหลายคนอ่านแล้วยังทึกทักเลยว่าตัวเองเคยอยู่ร่วม เหตุการณ์ บางคนทำท่านับญาติกับแม่พลอยด้วยซ้ำ

เสน่ห์ของสี่แผ่นดินอยู่ที่ “ความสมจริงของฉาก” ตั้งแต่ประเพณีในวัง สถานที่ บุคคลร่วมสมัย เช่น ขุนนางบางคน เจ้านายบางพระองค์ พระมหากษัตริย์จนถึงคำพูดคำจาหรือสำนวนภาษาชาววัง ภาษาขุนนาง ภาษาชาวตลาด ใครที่อยากได้ความรู้เกี่ยวกับไทยคดีศึกษาตั้งแต่ช่วงกลางสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงปลายสมัยรัชกาลที่ 8 ต้องอ่านเรื่องนี้

สมัยคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ผมเคยเห็นหนังสือเรื่องสี่แผ่นดินวางอยู่บนโต๊ะทำงานในตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ท่านจะอ่านหรือเปล่าไม่รู้ อาจมีใครให้มาก็ได้ สมัยนายกฯ อีกคน ท่านเคยปรารภว่าไม่ค่อยรู้เรื่องประวัติศาสตร์ เคยเรียนแต่ก็ไม่ชอบ เคยอ่านแต่ก็รู้สึกเบื่อ ผมยังกราบเรียนเล่น ๆ ว่าน่าจะลองอ่านเรื่องสี่แผ่นดินแล้วท่านจะติดใจ แต่จนแล้วจนรอดไม่รู้ว่าท่านได้อ่านไหม

สี่แผ่นดินมีหลายรส ตั้งแต่รสความผูกพันระหว่างแม่กับลูก สามีกับภรรยา จนถึงความผูกพันที่ราษฎรมีต่อพระเจ้าอยู่หัว และยังเน้นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์หลายฉาก เช่น ชีวิตชาววัง การเลิกทาส การรับธรรมเนียมตะวันตกเข้ามา การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ชีวิตระหว่างสงคราม ความปีติของคนไทยเมื่อรัชกาลที่ 8 เสด็จนิวัติพระนคร แต่ในเดอะ มิวสิคัลได้หยิบเอารสความผูกพันที่ราษฎรมีต่อพระเจ้าอยู่หัวมาเดินเรื่อง และจับจุดเอาการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นจุดเด่น ซึ่งก็สมกับกาลเทศะดี

สมัยที่อาจารย์คึกฤทธิ์เขียนเรื่องสี่แผ่นดิน คนไทยยังไม่แตกแยกกัน ยิ่งความผูกพันที่มีต่อพระเจ้าอยู่หัวแล้วเป็นเรื่องปกติ ผู้อ่านในสมัยนั้นจึงจับใจชีวิตในวัง และชีวิตนอกวังของสาวชาววังลูกเมียน้อยพระยาคนหนึ่งชื่อแม่พลอยที่ได้เล่า เรียนเขียนอ่านและรับใช้เสด็จฯ (พระราชธิดาพระมหากษัตริย์) จนได้ออกเรือนกับมหาดเล็กหนุ่มไปใช้ชีวิตเป็นคุณหญิงนอกวังมากกว่าอย่างอื่น แต่เมื่อคุณถกลเกียรติ วีรวรรณ นำเอาสี่แผ่นดินมาชุบชีวิตเป็นเดอะ มิวสิคัลในแผ่นดินที่ 5 เช่นทุกวันนี้คนไทยอยู่ในสภาพอีกอย่างหนึ่ง การเลือกเดินเรื่องตามที่เล่นในเดอะ มิวสิคัลนี้จึงทันสมัยและโดนใจตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยดึก

วันนี้สี่แผ่นดินยังลงโรงคนดูแน่นอยู่ที่เวทีรัชดาลัย ถนนรัชดา ภิเษก ใครไปดูก็รู้ว่าตัวละครเล่นเก่ง โดยเฉพาะสินจัยที่เล่นเป็นแม่พลอยตอนสูงอายุ พิมดาว พานิชสมัย ที่เล่นเป็นแม่พลอยตอนสาว และณัฐนิช รัตนเสรีเกียรติ ที่เล่นเป็นแม่พลอยวัยเด็ก เพลงก็ไพเราะโดยเฉพาะเพลงชื่อ “ภาพ” เวทีและฉากก็ทำได้ดี เปลี่ยนได้ปุบปับรวดเร็วและสวยงามทั้งยังตอบคำถามได้ดีว่าเหตุใดคนไทยจึง ผูกพันกับในหลวง แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา ผมเสียดายที่อีกหลายคนไม่มีโอกาสได้ดู จึงขอฝากตั้งแต่คุณถกลเกียรติจนถึงรัฐบาลไว้ด้วย

คำตอบง่าย ๆ น่าจะมีอยู่ เว้นแต่คนที่รับผิดชอบเรื่องอย่างนี้จะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่เพราะไม่รู้ว่าจะต้องไปตอบคำถามนั้นทำไม.

credit :  dailynews


Create Date : 20 มกราคม 2555
Last Update : 20 มกราคม 2555 16:10:34 น. 0 comments
Counter : 1671 Pageviews.

Rain_sk
Location :
Upper Midwest United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 68 คน [?]





"ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ส่งผล
คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง
เมื่อใดบาปให้ผล คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น"
ขุ.ธ. 25/15/24
เวลา 4.57PM :sat,Mar 29,2557



BlogGang Popular Award # 9


BlogGang Popular Award # 10


BlogGang Popular Award # 11


BlogGang Popular Award # 12


Friends' blogs
[Add Rain_sk's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.