Group Blog
 
<<
มีนาคม 2555
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
18 มีนาคม 2555
 
All Blogs
 
นิธิ เอียวศรีวงศ์ : โปรตุเกส - การเดินเรือ, เครื่องเทศ, และศรัทธา (1)



นิธิ เอียวศรีวงศ์ : โปรตุเกส - การเดินเรือ, เครื่องเทศ, และศรัทธา (1)



>>>บทความเรื่อง “โปรตุเกส - การเดินเรือ, เครื่องเทศ, และศรัทธา” ที่กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม นำมาลงพิมพ์นี้ เป็นเอกสารประกอบการปาฐกถาพิเศษที่ท่านผู้เขียน ศาสตราจารย์ ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ นำเสนอในการสัมมนานานาชาติ “๕๐๐ ปี ความสัมพันธ์สยามประเทศกับโปรตุเกส และชาติตะวันตกในอุษาคเนย์ ๒๐๕๔-๒๕๕๔” ซึ่งจัดโดย มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๖-๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา ณ หอประชุมใหญ่ อาคาร ๑๐๐ ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

▶●กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม

>>>โปรตุเกสเป็นประเทศเล็กนิดเดียวในยุโรป ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ประชากรโปรตุเกสมีไม่เกิน ๑ ล้าน ๕ แสนคน ในบางช่วงเช่นครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ จำนวนประชากรกลับลดลง ความเล็กของโปรตุเกสนี้เป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่จะอธิบายการกระทำหรือไม่กระทำของโปรตุเกสในเอเชียได้ดี ทั้งโปรตุเกสไม่เคยเป็นศูนย์กลางอำนาจที่สำคัญในทวีป เมื่อเปรียบเทียบกับสเปน ฝรั่งเศส ปรัสเซีย ฯลฯ อาจกล่าวได้ว่า โปรตุเกสเป็นหนึ่งในดินแดน “ชายขอบ” ของยุโรป แต่โปรตุเกสกระทำสิ่งที่น่าอัศจรรย์คือสามารถสร้างจักรวรรดิยิ่งใหญ่ ที่แผ่ปกคลุมไปทั่วโลก มีเมืองป้อมบนเส้นทางการค้าระหว่างเอเชียและยุโรป นับตั้งแต่หมู่เกาะชายฝั่งทวีปแอฟริกาด้านตะวันตก และบนทวีปตามแถบชายฝั่ง มาจนถึงชายฝั่งมะละบาร์ของอินเดีย มะละกา หมู่เกาะเครื่องเทศ และมาเก๊าในจีน โดยยึดเมืองท่าสำคัญบนเส้นทางเดินเรือไว้ได้ตลอดแนว ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก โปรตุเกสยังมีอาณานิคมขนาดใหญ่ในอเมริกาใต้ จนโปรตุเกสได้ชื่อว่าเป็นจักรวรรดิที่ลอยอยู่ในทะเล เพราะอำนาจที่สามารถควบคุมเมืองท่าและอาณานิคมเหล่านี้ไว้ในจักรวรรดิ ไม่ได้มาจากกองกำลังภาคพื้นดิน เนื่องจากโปรตุเกสเล็กเกินกว่าจะมีกำลังควบคุมอาณานิคมขนาดใหญ่บนภาคพื้นทวีปได้ แต่มาจากกำลังของกองเรือและป้อมปราการที่ตั้งขึ้นเพื่อป้องกันตนเองในเมืองท่าเหล่านั้น อำนาจที่แท้จริงของโปรตุเกสจึงอยู่ในน้ำ มากกว่าอยู่บนบก


>>>กล่าวกันว่าปัจจัยสำคัญ ๓ ประการที่ทำให้โปรตุเกสประสบความสำเร็จในการสร้างจักรวรรดิลอยน้ำนี้ได้ ก็คือการเดินเรือ เครื่องเทศ และศรัทธา อย่างไรก็ตาม นี่เป็นการมองการผจญภัยครั้งใหญ่ของโปรตุเกสจากปัจจุบัน เพราะปัจจัยทั้งสามนั้น ไม่อาจแยกออกจากกันได้ในสมัยนั้น ส่วนหนึ่งของการเดินเรือไปต่างแดนก็เป็นจิตวิญญาณที่สืบทอดมาจากการต่อสู้ขับไล่มุสลิม การได้ประสบความมั่งคั่งจากการเผยแผ่ศาสนาก็เป็นรางวัลที่พระผู้เป็นเจ้ามอบให้แก่ผู้ศรัทธา


>>>โปรตุเกสรับมรดกการเดินเรือทะเล - ทั้งความรู้และประสบการณ์ - จากอาหรับ นักเดินเรือในเมืองท่าของอิตาลีและรัฐในสเปน แต่โปรตุเกสก็ได้พัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวหน้ามากขึ้น เพราะทะเลที่โปรตุเกสต้องเผชิญไม่ใช่ทะเลกลางแผ่นดินอย่างเมดิเตอร์เรเนียน หากเป็นมหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก อีกทั้งยังไม่ใช่การเดินเรือเลียบชายฝั่งเพียงอย่างเดียว โปรตุเกสได้พัฒนาเทคโนโลยีการเดินเรือให้ก้าวหน้าไปกว่าชาติอื่นในยุโรป เช่น สร้างเรือเดินสมุทรที่เพรียวขึ้นทำให้คล่องตัวกว่าเรือที่ใช้อยู่ ในขณะนั้นยุโรปสามารถคำนวณเส้นรุ้งได้แม่นยำแล้ว โปรตุเกสสร้างเครื่องมือที่ทำให้นักเดินเรือรู้ตำแหน่งของตนในเส้นรุ้งได้ ซ้ำเครื่องมือนั้นยังสามารถประเมินเส้นแวงได้อย่างคร่าวๆ นักเดินเรือโปรตุเกสเป็นหนึ่งในบรรดานักเดินเรือของยุโรปที่ทำให้สามารถรู้แผนที่ฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกาได้ดีขึ้น จนในที่สุดนักเดินเรือโปรตุเกสจึงสามารถนำเรือผ่านปลายสุดของทวีปเพื่อเดินทางมาเอเชียได้


>>>นับตั้งแต่สมัยที่ Albuquerque เป็นอุปราชประจำเอเชีย (ซึ่งเรียกว่าอินเดียในสมัยนั้น) โปรตุเกสก็วางนโยบายที่แน่ชัดแล้วว่า จะไม่ยึดครองดินแดนขนาดใหญ่ในเอเชีย แต่จะตั้งเมืองป้อมไว้ป้องกันตนเอง หรือในที่ซึ่งเป็นมิตรก็ตั้งโรงสินค้า (Feitorias - Factory) ไว้สำหรับการค้าขาย เมืองป้อมเหล่านี้มีหน้าที่หลักคือการรักษาเส้นทางเดินเรือและปิดกั้นเส้นทางผ่านของเครื่องเทศที่ไม่อยู่ในมือของโปรตุเกส เช่น การยึด Hormutz เมืองท่าปากอ่าวเปอร์เซีย ก็เพื่อปิดมิให้เรืออาหรับที่ลักลอบขนเครื่องเทศสามารถส่งเครื่องเทศผ่านตะวันออกกลางไปสู่ยุโรปได้สะดวก


>>>ถึงอย่างไรโปรตุเกสก็ต้องหลีกเลี่ยงการสงครามกับรัฐขนาดใหญ่ เนื่องจากโปรตุเกสเล็กเกินกว่าที่จะทำสงครามกับราชอาณาจักรใหญ่ๆ ของเอเชียได้ อันที่จริงอำนาจทางทหารของโปรตุเกสที่มีเหนือรัฐต่างๆ ในเอเชียคืออำนาจทางเรือ ซึ่งโปรตุเกสเป็นชาติแรกที่ติดปืนยิงไกลไว้ในกำปั่นของตน อีกทั้งกำปั่นโปรตุเกสยังมีความคล่องตัวกว่าสำเภาที่ใช้ในเอเชียขณะนั้นมาก ทำให้โปรตุเกสสามารถเอาชนะกองเรือทั้งเล็กและใหญ่ของชาวเอเชียได้ตลอดมา แม้แต่กองเรือขนาดใหญ่ของจักรวรรดิโมกุลซึ่งกำลังเรืองอำนาจ ก็ยังต้องพ่ายแพ้แก่กองเรือของโปรตุเกส ไม่สามารถยึดเมืองกัวได้ พันธมิตรของรัฐมลายูไม่สามารถชิงมะละกากลับคืน ทั้งเนื่องจากแพ้กองเรือโปรตุเกสแล้ว ก็ยังแตกร้าวกันเองในเวลาต่อมาด้วย ดังนั้นความเหนือกว่าของโปรตุเกสในเอเชียจึงอยู่ที่กำลังทางเรือโดยแท้


การค้าของโปรตุเกสในเอเชีย


>>>สินค้าสำคัญ ๓ อย่างที่ดึงดูดโปรตุเกสมาสู่เอเชียคือเครื่องเทศ ผ้าไหม และหินมีค่า ซึ่งครั้งหนึ่งสินค้าจากเอเชียทั้ง ๓ อย่างนี้ ต้องผ่านมือคนกลางหลายทอด กว่าจะถึงเมืองท่าในตะวันออกกลาง และก็ยังต้องผ่านมือพ่อค้าอาหรับด้วยกันเองอีกหลายทอด กว่าจะถึงมือพ่อค้าไบแซนไทน์ และอิตาเลียนจากเมืองท่าในแหลมอิตาลี (โดยเฉพาะเวนิส) ซึ่งจะกระจายสินค้าไปทั่วยุโรป ฉะนั้นจึงมีราคาแพงมาก แหล่งทุนสำคัญในการสำรวจดินแดนของโปรตุเกสมาจากราชสำนัก ซึ่งก็วางนโยบายเหมือนประเทศอื่นคือสำรวจดินแดนเพื่อหาโภคทรัพย์ (นอกจากเผยแผ่ศาสนา)


>>>การแสวงหาดินแดนและการค้าของโปรตุเกสเป็นการลงทุนของราชสำนักเกือบจะฝ่ายเดียวตลอด โดยเฉพาะในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ แตกต่างจากฮอลันดาและอังกฤษซึ่งใช้วิธีระดมทุนจากหลายฝ่ายมาแต่ต้น เหตุดังนั้นโปรตุเกสจึงมีทุนจำกัดกว่าชาติคู่แข่งทั้งหลายมาก นับตั้งแต่เริ่มสำรวจดินแดนในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ กษัตริย์โปรตุเกสกำหนดเป็นนโยบายแล้วว่า กองเรือที่ออกสำรวจดินแดนต้องหากำไรจากการสำรวจดินแดนด้วย เพื่อเป็นทุนสำหรับการสำรวจต่อๆ ไป ในขณะเดียวกันก็มีนโยบายชัดเจนตั้งแต่แรกเข้ามาสู่เอเชียว่า เพื่อไม่ให้กำไรที่ได้จากการค้าหดหายไป โปรตุเกสจะไม่ยึดครองดินแดนขนาดใหญ่ในเอเชีย (เพราะต้นทุนสูงตั้งแต่การยึดครอง การรักษาไว้ และการบริหารจัดการ)


>>>อุปราชแห่งเอเชียคนที่ ๒ คือ Albuquerque วางนโยบายของโปรตุเกสในเอเชีย คือการตั้งศูนย์กลางของ “จักรวรรดิเอเชีย” (Estado da India) ไว้ที่เมืองกัว แล้วยกกองเรือมายึดเมืองมะละกาได้ในปี ค.ศ. ๑๕๑๑ (พ.ศ. ๒๐๕๔) มะละกาเป็นเมืองที่รวบรวมสินค้าสำคัญของเอเชียตะวันออกไว้มากมาย โดยเฉพาะเครื่องเทศ ฉะนั้นการยึดมะละกานอกจากทำให้โปรตุเกสเข้าถึงแหล่งเครื่องเทศแล้ว ยังเท่ากับกีดกันคนอื่นมิให้เข้ามาแข่งขันการค้าเครื่องเทศไปพร้อมกัน Albuquerque ทำตามนโยบายของราชสำนัก คือไม่ทำสงครามโดยไม่จำเป็น ฉะนั้นตั้งแต่ก่อนจะยึดมะละกาได้ ก็ได้ส่งทูตไปยังราชอาณาจักรใหญ่ๆ ในอุษาคเนย์ เช่น อยุธยา หงสาวดี ราชอาณาจักรบนเกาะชวา และรัฐมลายูบนเกาะสุมาตรา เปิดทางสำหรับการค้าโดยสันติ (ขอให้สังเกตด้วยว่าหลายรัฐเป็นรัฐสุลต่าน)


>>>นอกจากนี้ Albuquerque ยังมองเห็นตั้งแต่ระยะแรกแล้วว่า กำไรที่จะได้จากการค้าในเอเชียนั้น แม้ว่าสินค้าเอเชียโดยเฉพาะเครื่องเทศจะทำเงินได้มากเพียงไร แต่ต้นทุนการเดินทางก็สูงมาก (ทั้งในแง่เศรษฐกิจและสังคมซึ่งจะกล่าวถึงข้างหน้า) ฉะนั้นการค้าของโปรตุเกสในเอเชียจะทำกำไรต่อไปได้ ก็ต้องให้ความสำคัญแก่การค้าระหว่างเอเชียด้วยกันเอง กล่าวคือนำสินค้าจากประเทศหนึ่งในเอเชียไปขายอีกประเทศหนึ่ง สินค้าเอเชียนี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งซึ่งโปรตุเกสใช้ในการแลกเปลี่ยนกับเครื่องเทศซึ่งจะนำไปยุโรป


>>>ราชสำนักโปรตุเกสได้ตั้ง Casa da India (กรมอินเดีย) ขึ้นรับผิดชอบการค้าในเอเชีย กรมนี้จัดกองเรือติดอาวุธสำหรับทำการค้า (ซึ่งแยกไม่ออกจากการทหารและการเผยแผ่ศาสนา) เรียกว่า Carreira da India กองเรือดังกล่าวจะออกเดินทางจากลิสบอนประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน และมาถึงอินเดียประมาณกันยายน-ตุลาคม เมื่อขนสินค้าได้เต็มแล้ว ก็จะออกเดินทางกลับประมาณช่วงคริสต์มาส และมาถึงลิสบอนในฤดูร้อน กองเรือดังกล่าวนี้ทำผลกำไรให้มหาศาล โดยเฉพาะจากเครื่องเทศ หลักฐานบางแห่งกล่าวว่าเรือบรรทุกเครื่องเทศในระยะแรกๆ ทำกำไรได้ถึง ๕,๐๐๐% ถึงจะดูมากเกินจริงไปบ้าง แต่เฉพาะในปี ค.ศ. ๑๕๑๐ เพียงปีเดียว ราชสำนักก็ได้กำไรจากเครื่องเทศเพียงอย่างเดียวถึงปีละ ๑ ล้าน Cruzados (จนทำให้กษัตริย์ฝรั่งเศสเรียกกษัตริย์โปรตุเกสในช่วงนั้นว่า “ราชาโชห่วย”) เพียงเวลาไม่นานหลังจากนั้น เครื่องเทศที่โปรตุเกสขนไปยุโรป ก็เป็นผลให้ราคาเครื่องเทศในยุโรปตกต่ำลงและปริมาณของเครื่องเทศที่ผ่านเมืองเวนิสลดลงจนหมดความสำคัญ


>>>Casa da India ผูกขาดเครื่องเทศ ๓ อย่าง คือ พริกไทย กานพลู และอบเชย ส่วนสินค้าอื่นนั้น แม้ไม่ได้ผูกขาด Casa da India ก็เรียกส่วนแบ่งกำไรจากพ่อค้า ๓๐% นอกจากนี้ Casa da India ยังถือว่าการเดินเรือค้าขายบนเส้นทางเดินเรือในทะเลจีนตอนใต้กับมหาสมุทรอินเดียซึ่งโปรตุเกสครอบงำอยู่นั้น ต้องกระทำภายใต้การอนุมัติของโปรตุเกส มิฉะนั้นหากกองเรือโปรตุเกสพบเห็นก็อาจเข้าปล้นสะดมได้ โปรตุเกสจึงขายใบอนุญาตให้แก่เรือพ่อค้าอื่นๆ ที่เดินเรืออยู่ในเขตนี้ เพื่อแสดงให้กองเรือโปรตุเกสซึ่งคอยตรวจตรายกเว้นการปล้นสะดมได้ ดังนั้นการทหาร การค้า และการเผยแผ่ศาสนาจึงเป็นเรื่องเดียวกันสำหรับโปรตุเกส และเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่เริ่มแรกการสำรวจดินแดน


>>>นอกจากนี้นโยบายผูกขาดเครื่องเทศของ Casa da India ยังเป็นเหตุให้กองเรือโปรตุเกสต้องคอยควบคุมเส้นทางผ่านของเครื่องเทศที่ไม่อยู่ในมือของโปรตุเกสด้วย เช่น เรือของอาหรับ-อินเดีย หรือของชาวอุษาคเนย์ซึ่งค้าขายกับหมู่เกาะเครื่องเทศ และนำเครื่องเทศไปขายยังแหล่งอื่นนอกมะละกา ซึ่งเคยทำมานานแล้ว ก็ยังดำเนินไปเป็นปรกติ กองเรือโปรตุเกสต้องคอยปราบปรามอยู่เสมอ กลายเป็นต้นทุนทางการค้าในเอเชียของโปรตุเกสอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นภาระอย่างหนักแก่เศรษฐกิจและสังคมของโปรตุเกสเอง เพราะมีขนาดเล็กดังที่กล่าวแล้ว


>>>ดังที่กล่าวแล้วว่า วิสาหกิจค้าแดนไกลของโปรตุเกสเป็นการลงทุนและการแสวงหากำไรของราชสำนัก แม้ว่านายทุนชาวยิวอาจให้เงินยืม แต่ก็ไม่มีโอกาสที่จะเข้าร่วมการค้าโดยตรงมากนัก นโยบายของราชสำนักโปรตุเกสไม่ดึงทุนและพ่อค้าต่างชาติเข้ามาร่วมในกิจการ ทำให้ทุนสำหรับการบุกเบิกค้าขายมีจำกัด


>>>ผลกำไรมหาศาลที่ได้จากการค้าถูกนำไปใช้เพื่อบำรุงบำเรอราชสำนักอย่างฟูมฟาย ในขณะเดียวกันกษัตริย์โปรตุเกสก็ยังใช้เงินที่ได้มานี้ เพื่อ “ซื้อ” ความจงรักภักดีของเหล่าชนชั้นสูง เพื่อรวบอำนาจเข้าศูนย์กลางให้กระชับยิ่งขึ้น ฉะนั้นจำนวนของข้าราชการที่สังกัดกับราชสำนักจึงเพิ่มสูงขึ้นตลอดมา พร้อมกันไปกับการเพิ่มขึ้นของพระราชอำนาจ การใช้ชีวิตอย่างฟุ้งเฟ้อฟูมฟายจึงเป็นสมบัติของชนชั้นสูงที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ราชสำนักร่วมกัน กำไรที่ได้จึงไม่ได้ถูกนำมาลงทุนด้านเศรษฐกิจ ไม่กระจายไปสู่คนชั้นกลางที่จะขยายหรือพัฒนาการผลิตของตนเอง


>>>แม้แต่การกระจายสินค้าเครื่องเทศที่ทำเงินมหาศาลให้โปรตุเกสเอง ตลอดสมัยสั้นๆ ที่เครื่องเทศทำกำไรให้ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ก็ไม่มีการสร้างเครือข่ายทางการค้าเพื่อกระจายสินค้าไปสู่ตลาดในยุโรป อันจะทำให้กำไรที่ได้จากการค้าเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ดังนั้นจึงต้องขายเครื่องเทศที่นำมาจากเอเชียในลักษณะขายส่งให้แก่พ่อค้าจากอิตาลีและเยอรมนี ซึ่งนำเรือมาซื้อที่ลิสบอน และพ่อค้าเหล่านี้ทำกำไรจากเครื่องเทศเป็นสัดส่วนสูงกว่าโปรตุเกส โดยไม่ต้องลงทุนเดินทางมามาเลเซีย หรือรบราฆ่าฟันกับใครเลย


>>>โปรตุเกสไม่มีสินค้าที่จะขายแก่เอเชีย นอกจากปืนคาบศิลาและปืนใหญ่ (อันเป็นเทคโนโลยีที่ชาวเอเชียสามารถเรียนรู้ - แม้จากชาวโปรตุเกสเอง - ที่จะผลิตเองได้ไม่นาน) จึงต้องใช้เงินก้อนแลกกับเครื่องเทศหรือสินค้าอื่นๆ ในระยะแรกได้เงินก้อนเหล่านี้จากอาณานิคมของตนในแอฟริกา และในเวลาต่อมาก็ได้จากอาณานิคมของสเปนในละตินอเมริกา มิฉะนั้นก็ใช้สินค้าเอเชียที่ได้จากเมืองท่าต่างๆ แลก ดังที่ได้กล่าวแล้ว


>>>ดังนั้นเรือที่ออกจากลิสบอนมาเอเชีย จึงไม่มีสินค้าอื่นใดบรรทุกนอกจากคนและอับเฉา ในทางตรงกันข้าม เรือที่เดินทางกลับจากกัวสู่ลิสบอน กลับบรรทุกสินค้าจนเพียบแปล้ ในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ โปรตุเกสสร้างกำปั่นขนาดใหญ่ที่มีถึง ๔ ชั้น ปรากฏว่าบรรทุกสินค้าจนเต็ม รวมทั้งห้อยถุงสินค้าไว้ที่กราบเรือทั้ง ๒ ข้างจนเรือปริ่มน้ำตั้งแต่ยังไม่ออกจากท่า ผลก็คือสถิติเรือสินค้าโปรตุเกสอับปางมีสูงกว่าทุกประเทศในยุโรป ทั้งด้วยปัจจัยที่ได้กล่าวนี้และปัจจัยอื่นๆ ซึ่งจะกล่าวถึงข้างหน้า


>>>ความมั่งคั่งจากการค้าของโปรตุเกส จึงไม่ค่อยมีผลต่อสังคมโปรตุเกสเอง การค้าผูกขาดแบบทหารไม่ทำให้เกิดกระฎุมพีอิสระขึ้นในเศรษฐกิจและสังคมโปรตุเกส ได้แต่ทำให้เกิดชีวิตฟูมฟายในหมู่ชนชั้นสูงในสังคมซึ่งยังเป็นกึ่งสมัยกลางอยู่เท่านั้น


>>>กำไรมหาศาลที่โปรตุเกสได้จากการค้าเครื่องเทศนั้นมีระยะเวลาอันสั้นเพียง ๓ ทศวรรษ (ประมาณปี ค.ศ. ๑๕๑๐-๔๐) โปรตุเกสไม่สามารถปิดกั้นการค้าเครื่องเทศของชาวอุษาคเนย์และอาหรับ-อินเดียได้อย่างที่มุ่งหวัง เมื่อยึดมะละกาได้ แหล่งค้าเครื่องเทศ (และสินค้าเอเชียอื่นๆ) ก็กระจายไปตามเมืองท่าต่างๆ ในอุษาคเนย์เพิ่มมากขึ้น มะละกาไม่ใช่ปากขวดที่สำคัญของเครื่องเทศอย่างที่เคยเป็นมา การใช้กำลังทางเรือเที่ยวปราบและกีดกันการไหลของเครื่องเทศ ยิ่งทำให้โปรตุเกสมีศัตรูในหมู่พ่อค้าอินเดีย-อาหรับเพิ่มขึ้น และยิ่งทำให้ต้นทุนในการผูกขาดเครื่องเทศสูงขึ้นตลอดมา ดังนั้นจึงมีเครื่องเทศที่ไม่ได้ผ่านมือโปรตุเกสในตลาดยุโรปปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ โดยไหลไปยังเมืองท่าอาหรับในตะวันออกกลางอย่างที่เคยเป็นมาก่อนโปรตุเกสจะเดินเรือถึงเอเชีย ส่วนพ่อค้าเครื่องเทศในอิตาลีซึ่งซบเซาลงในระยะแรก ก็สามารถกลับมารับสินค้าจากเมืองท่าในตะวันออกกลางได้อีก เครื่องเทศที่ไหลเข้ายุโรปผ่านตะวันออกกลางมีสูงขึ้นจนในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ก็มีปริมาณเท่ากับที่โปรตุเกสนำมาจากเอเชียโดยตรง ราคาของเครื่องเทศในยุโรปลดต่ำลงอย่างมาก ในขณะที่ต้นทุนในการผูกขาดเครื่องเทศซึ่งล้มเหลวของโปรตุเกสกลับเพิ่มสูงขึ้น และดังที่กล่าวแล้วว่าโปรตุเกสไม่มีเครือข่ายการค้าที่กว้างขวางเท่าพ่อค้าอิตาลีและเยอรมัน จึงต้องขายเหมาเครื่องเทศของตนในราคาที่บางครั้งก็ขาดทุนให้แก่พ่อค้าเครื่องเทศจากอิตาลีและเยอรมัน


>>>ดังนั้น นับตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ เป็นต้นมา การค้าระหว่างประเทศในเอเชียกลับมีความสำคัญแก่โปรตุเกสเสียยิ่งกว่าการผูกขาดเครื่องเทศ หรือการค้าระหว่างเอเชียและยุโรป ซึ่งแทบจะไม่ให้ผลกำไรสักเท่าไร แหล่งรายได้สำคัญของโปรตุเกสในเอเชียมาจากการค้าผ้าจากอินเดีย นำไปขายยังเมืองท่าต่างๆ ของเอเชีย โดยภาพรวมแล้ว ถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ โปรตุเกสก็รู้แล้วว่า การค้ากับเอเชียไม่ให้ผลกำไร และไม่มีความสำคัญแก่ตนเอง ผลประโยชน์ที่แท้จริงอยู่ที่มหาสมุทรแอต¬แลนติกและบราซิลต่างหาก ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ Casa da India ประสบการขาดทุนเสียจนไม่มีเงินจ่ายหนี้ และในช่วงนี้เองที่โปรตุเกสยอมให้ทุนและพ่อค้าต่างชาติเข้ามาร่วมในการค้ากับเอเชีย แต่ก็มีปริมาณไม่เกิน ๑ ใน ๓ ของการค้ากับเอเชียทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการบริหารงานที่ดีกว่าทำให้พ่อค้าต่างชาติที่มาลงทุนเหล่านี้ทำกำไร และขนสินค้าเอเชียกลับยุโรปได้มากกว่าธุรกิจของอภิชนโปรตุเกสเองเสียอีก


>>>การค้ากับเอเชียซึ่งให้ผลกำไรมหาศาลก็แต่ในช่วงเวลาสั้นๆ และลดน้อยถอยลงไปตลอดคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ นี้ โปรตุเกสต้องลงทุนสูงมาก ประมาณกันว่าตลอดช่วงปี ค.ศ. ๑๕๐๐-๔๙ โปรตุเกสไม่เคยมีกำปั่นมากไปกว่า ๓๐๐ ลำใน ๕๐ ปีนี้ แต่ปินโตประเมินว่า โปรตุเกสส่งเรือมาเอเชียในช่วงนี้ถึง ๔๗๒ เที่ยว (แต่ละลำเดินทางหลายเที่ยว ในขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจด้วยว่า ยังต้องมีกำปั่นอีกหลายลำใน ๓๐๐ ลำนี้ที่เดินทางไปค้าขาย ทำสงคราม และยึดครองในแอฟริกา หมู่เกาะในแอตแลนติก และละตินอเมริกา) ฉะนั้นกำปั่นที่เดินทางมาเอเชียจึงถูกใช้งานอย่างหนัก ในช่วงนี้ชนชั้นสูงโปรตุเกสมุ่งแต่จะตักตวงกำไรจากเอเชีย จึงได้สร้างกำปั่นขนาดใหญ่ ๔ ชั้นซึ่งสามารถบรรทุกคนได้ ๕๐๐-๖๐๐ คน จำนวนคนโปรตุเกสที่กำปั่นบรรทุกมาเอเชียในช่วงนี้จึงมีถึง ๑๘๐,๐๐๐ คน แต่เนื่องจากอนามัยบนเรือในสมัยนั้นอยู่ในสภาพย่ำแย่ ทุกเที่ยวที่มีการเดินทางไปกลับจะเสียลูกเรือไปประมาณครึ่งหนึ่ง นับเป็นภาระที่หนักมากแก่ประเทศเล็กๆ ซึ่งมีประชากรเพียงล้านเศษ ที่ต้องเสียทั้งกำลังแรงงานและชีวิตให้แก่การค้าซึ่งให้ผลกำไรน้อยลงตลอดมา


>>>ในเรื่องนี้มีตัวเลขที่ชี้ให้เห็นความสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจและสังคมของการค้ากับต่างแดนของโปรตุเกส ประมาณกันว่า ตลอดศตวรรษที่ ๑๖ โปรตุเกสส่งคนเดินทางออกทะเลไปปีละ ๒,๔๐๐ คน ฉะนั้นทั้งศตวรรษ โปรตุเกสต้องเสียกำลังแรงงานของคนหนุ่มไปถึงประมาณ ๒๕๐,๐๐๐ คน หรือเกือบ ๑ ใน ๔ ของประชากร อีกทั้งเป็นประชากรในวัยทำงานที่มีสุขภาพอนามัยดีอีกด้วย เปรียบเทียบกับสเปนในช่วงเวลาเดียวกัน สเปนส่งคนไปยังอาณานิคมของตนปีหนึ่งประมาณ ๑,๕๐๐ คนเท่านั้น แต่สเปนมีประชากรมากกว่าโปรตุเกส ๔ เท่าตัว


>>>ยิ่งไปกว่านี้ อาณานิคมของสเปนตั้งอยู่ในเขตภูมิอากาศที่ใกล้เคียงกับเมืองแม่ ในขณะที่อาณานิคมของโปรตุเกสในเอเชียอยู่ในเขตร้อนชื้นซึ่งแตกต่างจากเมืองแม่อย่างยิ่ง จึงมีโรคภัยไข้เจ็บซึ่งชาวโปรตุเกสไม่มีภูมิต้านทาน การสูญเสียชีวิตหรือเจ็บป่วยจนพิการของชาวโปรตุเกสในอาณานิคมจึงสูงกว่าสเปนอย่างเทียบไม่ได้ จำนวนมากของคนโปรตุเกสซึ่งมารับราชการในเอเชีย ถ้าไม่เสียชีวิต เมื่อกลับบ้านก็กลายเป็นคนทุพพลภาพที่ไม่สามารถเป็นกำลังด้านการผลิตของประเทศได้อีก


>>>อุปราชอินเดียของโปรตุเกสทำงานไม่มีประสิทธิภาพมากนัก เมื่อเทียบกับอุปราชสเปนในละตินอเมริกา โปรตุเกสเลือกคนจากชนชั้นสูงด้วยกันเองเท่านั้นให้ดำรงตำแหน่งบริหารระดับสูงได้ คนไม่ได้ถูกเลือกจากความสามารถ แต่เลือกจากสถานภาพ จึงเป็นธรรมดาที่จะหาผู้บริหารที่มีฝีมือได้ยาก เหล่าอภิชนโปรตุเกสเองก็ไม่ค่อยมีประสบการณ์ด้านการบริหารอยู่แล้ว การทุจริตคดโกงในบรรดาพนักงานทุกระดับของโปรตุเกสจึงมีสูงกว่าสเปนในละตินอเมริกามาก ระยะทางระหว่างเมืองแม่และอาณานิคมในเอเชีย ก็ไกลกว่าระหว่างเมืองแม่กับอาณานิคมของสเปนในละตินอเมริกา ทำให้การควบคุมจากลิสบอนเป็นไปได้ยากกว่า นอกจากนี้โปรตุเกสยังพยายามรักษาเส้นทางเดินเรือมาเอเชีย และช่องทางการค้าในเอเชียของตนไว้เป็นความลับ จึงต้องกีดกันคนต่างชาติมิให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเดินเรือและการค้าของตน ทำให้หากำลังคนสำหรับการค้าของตนได้ไม่มากนัก


>>>แม้อภิชนโปรตุเกสให้ความสำคัญแก่การเดินเรือ แต่กลับปฏิบัติต่อกะลาสีเรือด้วยความดูหมิ่นถิ่นแคลน จึงกลายเป็นอาชีพที่ไม่ดึงดูดคนที่มีความสามารถให้เข้ามาทำงาน แต่เนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไม่พัฒนา ไม่มีงานให้ทำมากนัก คนหนุ่มที่แข็งแรงจำนวนมากก็พร้อมจะเข้ามาเสี่ยงโชคในงานนี้ ขาดทั้งประสบการณ์และแรงจูงใจที่จะเรียนรู้ ผลก็คือทำให้กำปั่นของโปรตุเกสยิ่งประสบการอับปางมากขึ้น มีสถิติที่ระบุว่าระหว่างปี ค.ศ. ๑๕๐๐-๕๐ กำปั่นโปรตุเกสที่เดินทางมาเอเชียอับปางลง ๑๒% แต่ระหว่างปี ค.ศ. ๑๕๕๐-๑๖๕๐ สถิติกลับเพิ่มเป็น ๑๖-๑๘% ในขณะเดียวกัน เมื่อได้รายได้ค่อนข้างต่ำจากกรมอินเดียของราชสำนัก ลูกเรือที่มีกำลังและความสามารถย่อมพอใจจะออกหรือหนีมารับราชการกับกษัตริย์ในตะวันออกมากกว่า เพราะได้รางวัลตอบแทนสูงกว่ามาก ที่มีกำลังก็กลายเป็นพ่อค้าอิสระ หรือลักลอบทำการค้าส่วนตัวในกำปั่นของกรมอินเดียซึ่งทำการค้าขายภายในเอเชียเอง เพราะระบบบริหารของโปรตุเกสในจักรวรรดิเอเชียไร้ประสิทธิภาพดังที่กล่าวแล้ว


>>>ดังนั้น การเผชิญภัยและความยากลำบากในการเดินเรือมาเอเชียโดยตรง จึงให้ผลกำไรแก่โปรตุเกสในระยะสั้นมาก คืออยู่ในราวครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ เท่านั้น ซ้ำผลกำไรที่ได้ก็ถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ช่วยให้โปรตุเกสเจริญรุดหน้าเหมือนประเทศในยุโรปเหนือซึ่งเป็นคู่แข่ง เพราะถูกใช้ไปในทางบำรุงบำเรอความหรูหราฟุ่มเฟือยของราชสำนักและอภิชนเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม ต้นทุนที่ประชาชนโปรตุเกสต้องจ่ายให้แก่การแสวงหากำไรของอภิชนเหล่านี้ก็สูงมาก และสูงมากขึ้นทุกที ทั้งในแง่ทรัพย์ กำลังคน และกำลังทางเศรษฐกิจอื่นๆ ชะตากรรมของโปรตุเกสจึงไม่ต่างจากระบอบ “อำมาตยาธิปไตย” ในทุกแห่งและทุกสมัย ถึงมีเงินไหลเข้ามากในช่วงใดช่วงหนึ่ง ก็มักเป็นแต่ฟองสบู่ที่ไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาแก่ “ชาติ” หรือสังคมโดยรวม


>>>เมื่อกรมอินเดียนำเครื่องเทศกลับยุโรปมาก ก็ทำให้ราคาของเครื่องเทศในยุโรปตกต่ำลง ซึ่งย่อมเป็นผลให้กำไรจากเครื่องเทศถดถอยลงไปพร้อมกัน (ต้องไม่ลืมด้วยว่า การส่งเรือมาค้าเครื่องเทศมีต้นทุนคงที่ หรือเมื่อถูกแข่งขันมากกลับยิ่งสูงขึ้นด้วย) ยิ่งกว่านี้ เมืองท่าในอิตาลีสามารถกลับไปรับซื้อเครื่องเทศจากพ่อค้าอาหรับได้ดังเดิม เพราะความพยายามจะผูกขาดเครื่องเทศของโปรตุเกสในเอเชียไม่ประสบความสำเร็จ เครื่องเทศก็ยังไหลสู่มือของพ่อค้าอาหรับ-อินเดียได้เท่าเดิม หลังจากซบเซาไปช่วงหนึ่งสั้นๆ ฉะนั้นนับตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ เป็นต้นมา เครื่องเทศที่ผ่านเข้าสู่ยุโรปผ่านตะวันออกกลางและเมืองท่าอิตาลี ก็กลับมีปริมาณเท่ากับเมื่อก่อนที่โปรตุเกสจะเดินทางมาเอเชียโดยตรง และในเวลาต่อมาก็มีเท่ากับที่โปรตุเกสนำมาจากเอเชีย ราคาเครื่องเทศในยุโรปยิ่งตกต่ำลงจนไม่ให้ผลกำไรแก่ราชสำนักโปรตุเกสอย่างที่เคยเป็นมาอีก จนกรมอินเดียไม่มีเงินจ่ายหนี้ดังที่กล่าวแล้ว ในปลายศตวรรษที่ ๑๖ ราชสำนักก็รู้แล้วว่า การค้ากับเอเชียไม่ได้มีความสำคัญแก่ตนแต่อย่างไร และจากนั้นมาก็หันมาให้ความสนใจการค้าในมหาสมุทรแอตแลนติก (รวมถึงบราซิล)


>>>นับตั้งแต่ครึ่งหลังของศตวรรษที่ ๑๖ เช่นกัน ที่โปรตุเกสประสบการแข่งขันมากขึ้น ไม่เฉพาะแต่ในเอเชียเท่านั้น แต่บนมหาสมุทรทั่วโลก ในแอฟริกาโปรตุเกสถูกโมร็อกโกซึ่งโปรตุเกสไม่เคยปราบได้สำเร็จแข่งขันอำนาจ ในภาคพื้นทะเล เรือโปรตุเกสถูกโจรสลัดฝรั่งเศสคุกคามหนักขึ้น เมื่อตกอยู่ใต้ราชบัลลังก์สเปนในปลายศตวรรษ ก็ทำให้โปรตุเกสต้องรบกับฮอลันดาและอังกฤษไปด้วย อีกทั้ง ๒ ชาติหลังนี้ยังส่งกำปั่นเข้ามาค้าขายแข่งกับโปรตุเกสในเอเชียด้วย


>>>ในขณะที่โปรตุเกสต้องมีความเข้มแข็งด้านกำลังทางเรือมากขึ้น ฝีมือและวัสดุสำหรับต่อเรือในโปรตุเกสกลับหายากขึ้น ก่อนจะสิ้นศตวรรษที่ ๑๖ โปรตุเกสก็ไม่สามารถหาไม้ในประเทศตนเองมาต่อเรือได้แล้ว ต้องนำเข้าวัสดุเหล่านี้จากอังกฤษหรือฮอลันดา ทำให้กำปั่นของโปรตุเกส (และสเปน) มีราคาสูงกว่าของอังกฤษและฮอลันดา ๓ เท่า แม้โปรตุเกสมีอาณานิคมในอินเดียซึ่งอุดมด้วยไม้สักซึ่งใช้ต่อเรือได้ดี และแรงงานราคาถูก แต่โปรตุเกสในอินเดียไม่มีวัสดุอื่นและไม่มีวิศวกรฝีมือดี ฉะนั้นกำปั่นที่ต่อขึ้นในอินเดียของโปรตุเกสจึงด้อยคุณภาพกว่าคู่แข่งมาก (แต่ก็ยังต่อกำปั่นกันต่อมาถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ได้กำปั่นที่มีคุณภาพพอประมาณเท่านั้น)


●(ที่มา นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับประจำเดือนมีนาคม 2555)

credit : matichon news


Create Date : 18 มีนาคม 2555
Last Update : 18 มีนาคม 2555 5:57:44 น. 0 comments
Counter : 900 Pageviews.

Rain_sk
Location :
Upper Midwest United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 68 คน [?]





"ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ส่งผล
คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง
เมื่อใดบาปให้ผล คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น"
ขุ.ธ. 25/15/24
เวลา 4.57PM :sat,Mar 29,2557



BlogGang Popular Award # 9


BlogGang Popular Award # 10


BlogGang Popular Award # 11


BlogGang Popular Award # 12


Friends' blogs
[Add Rain_sk's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.