Group Blog
 
 
มกราคม 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
13 มกราคม 2555
 
All Blogs
 
เรื่องเล่าจากพระเทพฯ‘หลักทรงงาน’ในหลวงของคนไทย(1) -(4)


เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติ ’พระมหากษัตริย์นักพัฒนา เพื่อประโยชน์สุขสู่ปวงประชา“ ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ในฐานะประธานที่ปรึกษาคณะทำงานจัดทำหนังสือ นำคณะผู้บริหาร สศช. และทีมงานจัดทำหนังสือ เข้าเฝ้าฯ เพื่อขอพระราชทานสัมภาษณ์เกี่ยวกับ ’หลักการทรงงาน และแนวพระราชดำริในการพัฒนาประเทศ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว“ เพื่อบันทึกในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งนับเป็น “บันทึกอันล้ำค่ายิ่ง” โดย “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ได้น้อมอัญเชิญเนื้อความสำคัญมานำเสนอสู่คนไทย เป็นตอน ๆ ดังต่อไปนี้...

ทรงแก้ไขปัญหาให้ประชาชนโดยใช้องค์ความรู้...

“...เรื่องหลักการทรงงานและแนวพระราชดำริในการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสที่เผยแพร่เป็นที่รู้ทั่วไป หลักกว้าง ๆ ของพระองค์คือ เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรว่ามีสิ่งอะไรที่ควรปรับปรุงได้ดีกว่านี้ ทำประโยชน์ให้เจริญรุ่งเรืองได้มากขึ้นกว่านี้ หรือประชาชนยังมีปัญหาความทุกข์ในพื้นที่แบบนี้ จะทำอย่างไร โดยพระองค์จะทรงใช้ความรู้ที่มีอยู่แล้ว หรือหากยังทรงไม่มีความรู้ในสิ่งที่คิดว่าสำคัญ พระองค์จะทรงหาความรู้ โดยทรงศึกษาและสนทนากับผู้รู้ต่าง ๆ แล้วนำมาประยุกต์ปรับปรุง ด้วยความตั้งพระราชหฤทัยที่จะทำประโยชน์ให้แก่ประชาชน พระองค์เองจะทรงลำบากเดือดร้อนอย่างไร ก็ทรงไม่สนพระทัย ถ้าทรงเห็นว่าดีแล้วก็ต้องเข้มแข็งพอที่จะทำ หากว่ามีปัญหาหรือใครว่ามา ก็ทรงต้องมาพิจารณาปรับปรุงแก้ไข ไม่ใช่ว่าพอมีปัญหาก็หลีกเลี่ยงไป ต้องอดทน ตั้งใจ ระมัดระวัง และรอบคอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสั่งสมความรู้พื้นฐาน โดยทรงเรียนรู้จากการคุยกับเจ้าหน้าที่ที่ถวายรายงานในเรื่องต่าง ๆ จากนั้น ทรงค่อย ๆ สร้างองค์ความรู้ของพระองค์เอง หลังจากทรงทำนาน ๆ ก็ทรงมีประสบการณ์ จนทรงประเมินราคาโครงการได้เลย...”

ทรงใช้ความรู้อย่างบูรณาการ มิได้ทรงตั้งทฤษฎีไว้ก่อน...

“...นอกจากนี้ ทรงนำความรู้และวิชาการต่าง ๆ มาใช้ร่วมกัน หรือที่สมัยนี้เรียกว่า “บูรณาการ” ไม่ทิ้งแง่ใดแง่หนึ่ง อย่างเช่น เรื่องอย่างนี้ในแนววิศวกรรมศาสตร์ทำได้ แต่ว่าอาจจะไม่เหมาะสมในเชิงเศรษฐศาสตร์ หรือเหมาะสมดีในเชิงเศรษฐศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ แต่ไม่เหมาะสมกับความสุขหรือความเจริญก้าวหน้าของประชาชน ก็ไม่ได้ เมื่อ พระองค์เสด็จฯ ไปพบประชาชนที่ทุกข์ยาก ทรงช่วยได้ก็จะช่วยทันที พระองค์ไม่ได้ตั้งทฤษฎีไว้ก่อน แล้วทรงทำตามทฤษฎี อย่างทฤษฎีใหม่หรือทฤษฎีอื่น ๆ พระองค์ ทรงเห็นอะไรที่กระทบ หรือเห็นว่ามีปัญหา ก็ทรงหาทางแก้ไข และเมื่อทำไปมาก ๆ ก็ออกมาเป็นทฤษฎี ฉันเห็นว่า พระองค์ไม่ได้ตั้งทฤษฎีโดยที่คิดตามปรัชญาและทฤษฎีมาก่อน แล้วหาตัวอย่างเข้าไปปฏิบัติตาม แต่มีความรู้สึกว่าพระองค์ทรงมีตัวอย่างมากมายจากการเสด็จฯ ไปยังที่ต่าง ๆ เพื่อทอดพระเนตรสภาพปัญหาที่แท้จริง...”

ทรงพัฒนาเพื่อมุ่งสู่ “การพัฒนาที่ยั่งยืน”…

’...เป้าหมายในการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ “การพัฒนาที่ยั่งยืน“ เพื่อปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของคน โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ให้คนมีความสุข โดยต้องคำนึงเรื่องสภาพภูมิศาสตร์ ความเชื่อทางศาสนา เชื้อชาติ และภูมิหลังทางเศรษฐกิจ สังคม แม้ว่าวิธีการพัฒนามีหลากหลาย แต่ที่สำคัญคือนักพัฒนาจะต้องมีความรัก ความห่วงใย ความรับผิดชอบ และการเคารพในเพื่อนมนุษย์ จะเห็นได้ว่า การพัฒนาเกี่ยวข้องกับมนุษยชาติ และเป็นเรื่องของจิตใจ การทำงานพัฒนาไม่ได้เป็นเรื่องการเสียสละเพียงอย่างเดียว เป็นการทำเพื่อตนเองด้วย เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องอยู่ด้วยกัน ถ้าเราอยู่อย่างสุขสบาย ในขณะที่คนอื่นทุกข์ยาก เราย่อมอยู่ไม่ได้ นักพัฒนาควรมีจิตสาธารณะ รักที่จะช่วยเหลือให้ผู้อื่นมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสอนอยู่เสมอว่า งานพัฒนานั้นต้องเป็นที่ต้องการของบุคคลเป้าหมาย และผู้ร่วมงานต้องพอใจ งานพัฒนาเป็นงานยากและกินเวลานาน ผู้ที่ทำงานพัฒนาหรือที่เรียกว่า “นักพัฒนา” จึงต้องเป็นผู้ที่อดทน เชื่อมั่นในคุณความดี มีใจเมตตากรุณา อยากให้ผู้อื่นพ้นทุกข์และอยากให้ผู้อื่นมีความสุข ต้องมีความรู้กว้างขวาง เพราะงานพัฒนาเกี่ยวข้องกับเรื่องต่าง ๆ มาก ต้อง มีมนุษยสัมพันธ์ดี เข้าใจ และยอมรับนับถือผู้อื่น เพราะเป็นงานที่ไม่มีทางทำสำเร็จได้โดยลำพัง นอกจากนี้ นักพัฒนาต้องเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ถ้าคอร์รัปชั่นหรือโกงเสียเองแล้ว ก็จะเป็นที่เกลียดชัง ผู้อื่นไม่ไว้ใจ หรือไม่เป็นตัวอย่างที่ดี เมื่อพัฒนาสำเร็จ มีความเจริญรุ่งเรือง ก็จะเกิดความสุขถ้วนทั่วทั้งบุคคลเป้าหมายและนักพัฒนาเอง

ด้วยวิธีเช่นนี้ และ ด้วยความตั้งใจจะทำประโยชน์ให้แก่คนอื่น ตัวเองจะลำบากเดือดร้อน ไม่สนใจ หรือหากเห็นว่าดีแล้ว ก็ต้องมีความตั้งใจ เข้มแข็ง และอดทนพอที่จะทำต่อไปโดยไม่ย่อท้อ ...“.



เรื่องเล่าจากพระเทพฯ‘หลักทรงงาน’ในหลวงของคนไทย(2)

“สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” น้อมอัญเชิญบทสัมภาษณ์พระราชทาน ของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เกี่ยวกับ ’หลักการทรงงาน และแนวพระราชดำริในการพัฒนาประเทศ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว“ ซึ่งบันทึกไว้ในหนังสือ ’พระมหากษัตริย์นักพัฒนา เพื่อประโยชน์สุขสู่ปวงประชา“ ที่จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มานำเสนอเป็นตอน ๆ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. ซึ่งสำหรับวันที่ 11 ม.ค.นี้ เนื้อความสำคัญที่อัญเชิญมานำเสนอ มีดังนี้...

“ระเบิดจากข้างใน” พัฒนาให้ชาวบ้านเข้มแข็งก่อน...

“...การพัฒนาราษฎรในพื้นที่จะทรงมีวิธีของพระองค์ คือการเสด็จฯ ไปในป่าบนเขา ตอนแรกจะเสด็จฯ แบบยังไม่ได้มีการตัดถนนเข้าไป พระองค์ต้องเสด็จฯ เข้าไปอย่างลำบาก เพราะว่า พระองค์ไม่ต้องการจะให้คนอื่นมาเอาเปรียบคนข้างใน ในขณะที่เขายังไม่เข้มแข็งพอ พอพัฒนาให้เขาเข้มแข็งแล้ว เขาจะออกมาเอง คือ ระเบิดจากข้างใน...” “...อย่างไรก็ตาม สมัยนี้การพัฒนาจะเป็นอีกแบบ จะให้คงแบบเดิมไว้คงไม่ได้ เราก็ต้องปรับปรุง...” “...ไม่ใช่จะยึดแต่ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไม่ให้สร้างถนนเข้าไป ต้องดูตามเหตุผล พระองค์ทรงไม่ว่า หากมีเหตุผลและความจำเป็น...”

ทรงเป็นต้นแบบ “ประชาพิจารณ์”…

“...ก่อนจะเสด็จฯ ไปทรงงานตามที่ต่าง ๆ จะทอดพระเนตรจากแผนที่ทางอากาศก่อนว่าควรจะเสด็จฯ ที่ไหน หรือจะทรงแก้ปัญหาในพื้นที่อย่างไร เช่น สามารถนำน้ำจากตรงนี้ไปเลี้ยงนาตรงโน้น ได้ประโยชน์และจะต้องมีรายจ่ายจากการก่อสร้างหรือดำเนินงานเท่าไหร่ จะได้ผลจ่ายกลับคืนภายในกี่ปี และ ที่สำคัญต้องไปคุยกับชาวบ้านก่อนว่าเขาต้องการไหม ถ้าเขายังไม่ต้องการ ยังไม่สบายใจที่จะทำ เราก็ไปทำที่อื่นก่อน นั่นคือ ทรงทำประชาพิจารณ์ด้วยพระองค์เอง ทรงทำตรงนั้นเลย บางครั้งมีคนกราบบังคมทูลหรือถวายความเห็น บางทีก็ดี บางทีก็แย่ คือประโยชน์เข้าที่ตัวเขาคนเดียว คนอื่นไม่ได้ พระองค์ก็ทรงทำตามเขาไม่ได้ เพราะถ้าทรงทำ เขาสบายคนเดียว เพื่อนบ้านไม่สบาย ก็ต้องดูด้วย ทรงพิจารณาอย่างรอบคอบ...”

ทรงมุ่งพัฒนาทั้งคนและพื้นที่…

“...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริเรื่องต้องพัฒนาทั้งคนและพื้นที่ โดยจะทรงพยายามให้ทั้งคนและพื้นที่ได้รับการพัฒนา พระองค์ตรัสว่า ถ้าพื้นที่ดี คนที่ได้รับประโยชน์ก็คือคนเหล่านั้นที่เคยลำบาก ขณะเดียวกัน จะต้องพัฒนาคนในพื้นที่ให้ดีขึ้นด้วย หากเป็นเช่นนี้ รุ่นลูกรุ่นหลานก็จะมีการศึกษาดีและมีอาชีพที่มั่นคง พระองค์ทรงไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาโดยให้คนยากจนออกไปจากพื้นที่ และนำคนที่พัฒนาแล้วเข้าไปอยู่ในพื้นที่แทน เพราะทรงเห็นว่า หากใช้วิธีนี้คนจนที่ลำบากจะไม่ได้รับการพัฒนา...”

ทรงบริหารความเสี่ยง ทดลองจนได้ผลดีก่อนพระราชทานแก่ราษฎร...

“...พระองค์ตรัสเสมอว่า ถ้ายังไม่ดีจริง ไม่ให้ประชาชนนำไปทำแล้วต้องรับผลแห่งความผิดพลาดหรือรับกรรม...” “...พระองค์จะทรงทำโดยต้องทดลองจนแน่ใจว่าทำได้แล้วจึงให้เขาทำ เป็นการบริหารความเสี่ยง ไม่ให้เขาเสี่ยง คนที่ไม่มีแล้วยังมาเสี่ยงต้องรับเคราะห์กรรมอีก พระองค์จะไม่ทรงทำ อย่างตอนเสด็จฯ จังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 50 กว่าปีมาแล้ว พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปเรื่อย ๆ ไปเจอบ้านชาวเขาหลายเผ่า ทอดพระเนตรเห็นเขาปลูกฝิ่น ซึ่งไม่ได้ทำให้เขาร่ำรวย ซ้ำยังทำให้สุขภาพเสื่อมโทรม เพราะว่าสูบเองบ้าง และขายราคาถูกให้พ่อค้าคนกลาง พวกค้าฝิ่นเถื่อน สมัยก่อนนั้นประเทศอื่น ๆ เขาปราบฝิ่นโดยการเข้าไปเผาไร่ฝิ่น แต่ พระองค์ตรัสเสมอว่า ถ้าเรายังไม่สามารถช่วยเหลือใครให้มีความกินดีอยู่ดีขึ้น เราจะไปทำลายวิถีชีวิตเก่าเขาไม่ได้ และการที่จะช่วยเขา ต้องทดลองทำให้แน่ใจก่อนว่าดีแล้วจึงค่อยให้เขาทำ โดยพระองค์จะทรงทดลองปลูกพืชผักผลไม้ต่าง ๆ เมื่อได้ผลแล้วจึงนำไปให้ชาวเขาปลูกทดแทนฝิ่น คือทรงค่อย ๆ ทำ...”

ทรงรับฟังและหาทางแก้ปัญหาให้ประชาชน...

“...เวลาจะเสด็จฯ ไปไหน บางครั้งคนทั้งขบวนยังไม่รู้เลยว่าจะเสด็จฯ ไปไหน เพราะพระองค์มีพระราชประสงค์ไม่ให้ประชาชนต้องลำบาก อย่างฉันตามเสด็จฯ บางทีพระองค์ทรงแกล้ง พระราชทานแผนที่มาให้ และตรัสว่าจะเสด็จฯ ประมาณตรงนี้ จะทรงขับรถไปตามที่ฉันบอกทาง ทรงให้เป็นเนวิเกเตอร์ ฉันก็บอกเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ตรงหน้า 3 เมตร จริง ๆ ไม่ถูก พระองค์ก็ทรงแกล้งขับตามที่ฉันพูด มีอยู่วันหนึ่งลงไปอยู่กลางนา ไม่มีคนเลย มีแต่พระรูปหนึ่งกำลังซ่อมหลังคาโบสถ์ พระหันมาเห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ปีนลงจากโบสถ์ แล้วไปที่หอกลอง ตีกลอง ที่บอก หางเปียมาเลียใบตอง พระตีกลองตะลุ่งตุ้งแช่ ฉันก็ได้เห็นคราวนั้น พระตีกลองสักพักหนึ่งประชาชนก็มาเข้าเฝ้าฯ กันมากมาย มาเฝ้าฯ แล้วก็เล่าถวายว่า ตรงนี้เป็นอย่างไร มีความเดือดร้อนอะไร พระองค์ทรงรับฟัง แล้วก็ทรงช่วยแก้ปัญหาตามที่เขากราบบังคมทูล พอเขามากราบบังคมทูล พระองค์ก็เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรทันที แล้วก็ทรงถามและคุยกันว่า

ตกลงเราจะทำอย่างไรกันดีที่จะแก้ปัญหานั้น ๆ...”.




เรื่องเล่าจากพระเทพฯ ‘หลักทรงงาน’ ในหลวงของคนไทย (3)

“สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” น้อมอัญเชิญบทสัมภาษณ์พระราชทาน ของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เกี่ยวกับ ’หลักการทรงงาน และแนวพระราชดำริในการพัฒนาประเทศ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว“ ซึ่งบันทึกไว้ในหนังสือ ’พระมหากษัตริย์นักพัฒนา เพื่อประโยชน์สุขสู่ปวงประชา“ ที่จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มานำเสนอเป็นตอน ๆ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. ซึ่งสำหรับวันที่ 12 ม.ค. นี้ เนื้อความสำคัญที่อัญเชิญมานำเสนอ มีดังนี้...

พระองค์ทรงงานเพื่อให้ชีวิตของคนไทยมั่นคง...

“...หลักของพระองค์คือ อยากให้คนมีความรู้...” “...เป็นการทรงงานเพื่อให้ชีวิตของคนไทยมั่นคง มีสุขภาพดี มีความรู้ มีการศึกษาที่สามารถจะทำอะไรได้ และจะได้ฝึกหัดนักพัฒนารุ่นต่อ ๆ ไป ให้มีจิตใจอยากจะทำสิ่งดี ๆ ให้แก่ประเทศชาติ และให้มีความรู้ที่จะทำได้ มีสปิริต มีจิตอาสาที่จะพัฒนาให้ดีขึ้นไปเรื่อย ๆ...”

ทรงเน้นให้การศึกษาแก่เด็กด้อยโอกาส...

“...พอพระองค์เสด็จฯ ไปไหน เห็นคนเขาอดข้าวอดปลา พระองค์ทรงให้ตั้ง มูลนิธิช่วยนักเรียนที่ขาดแคลน สมัยโน้นก็หลายสิบปีมาแล้ว...” “...ในระยะเริ่มต้น ทรงให้มูลนิธิฯ จัดทำโครงการอาหารให้เด็กนักเรียน รวมทั้งทรงสอนให้นักเรียนปลูกผัก ปลูกไม้ผล เพื่อ ให้เด็กนักเรียนมีความรู้ในการทำการเกษตร สามารถลงมือทำกันเองได้ ซึ่งนอกจากจะได้มูลค่าเพิ่มทางด้านสิ่งของแล้ว ยังเป็นการรวมคนด้วย...” “...บางแห่งต้องนั่งมอเตอร์ไซค์ไปเป็นชั่วโมง ไปถึงที่นั่นไม่มีไฟฟ้า ก็ไปช่วย ถ้าทำไฟฟ้าพลังน้ำไม่ได้ ก็ใช้พลังแสงอาทิตย์ การช่วยเหลือทุกอย่างสืบเนื่องมาจากพระองค์ ตอนนั้น พระองค์เสด็จฯ ไปที่ไหน ก็จะทรงสร้างโรงเรียน ในชนบทและชุมชนที่อยู่ในที่ห่างไกล...”

ทรงศึกษาสภาพแวดล้อมระหว่างเสด็จฯ…

“...เวลาพระองค์เสด็จฯ ไปไหน ระหว่างเสด็จฯ จะทรงศึกษาไปด้วย เช่น เวลาทรงเครื่องบินหรือเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ทอดพระเนตรไปตลอดว่าที่ตรงนี้เป็นอย่างไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร จะปรับปรุงหรือจะนำสิ่งที่ดีที่มีอยู่มาเสริมให้ได้ดีที่สุดอย่างไร...” “...พระองค์ทรงสอนอีกว่า ขณะนั่งรถก็สามารถเรียนรู้ได้มาก จากการที่รถวิ่งขึ้นภูเขาหรือวิ่งอยู่บนพื้นราบ พืชพันธุ์ธรรมชาติจะเปลี่ยนไปตามสภาพพื้นดิน สภาพหิน และสภาพอะไร ๆ ก็เปลี่ยนไป เป็นพื้นที่พืชเศรษฐกิจอะไร หรือความเป็นอยู่ของราษฎรในที่ต่าง ๆ ว่าเป็นอย่างไร สามารถเรียนรู้จากธรรมชาติได้ทั้งนั้น ทอดพระเนตรเสร็จก็ทรงนำมาคิดวิเคราะห์เป็นโครงการ...”

ทรงทำทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มีความสุข...

“...พระองค์ทรงพัฒนาอย่างครบวงจร อะไรที่จะเสริมให้ดีขึ้นได้ทรงทำทุกอย่าง...” “...เรื่องวิชาความรู้พระองค์ก็ทรงทำ หลักของพระองค์คือ ทรงทำทุกอย่างที่จะช่วยเหลือประชาชนให้มีความสุข...”

“ศูนย์ศึกษาการพัฒนา” แหล่งศึกษาและทดลองเพื่อการเรียนรู้...

“...การทรงงานพัฒนาพื้นที่ในภูมิภาคต่าง ๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะ ทรงเลือกพื้นที่แห่งหนึ่งเพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับคนที่อยู่ในพื้นที่แบบเดียวกันได้ลองนำไปทำ เพื่อเป็นแหล่งศึกษา ทดลอง และเรียนรู้ เรียกว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนา…” “...จะมารวมกัน ทุกหน่วยทุกคนนำความรู้และเทคนิคของตัวเองมาลงในโครงการเดียวกัน เป็นการศึกษาร่วมกันในรูปแบบใหม่ เสร็จแล้วราษฎรก็มาดู นักพัฒนาก็มาศึกษา เพื่อนำความรู้ตรงนี้ไปปรับใช้ในที่ของตัวเอง...”

หัวหิน...จุดเริ่มแห่งแนวพระราชดำริ…

“...จุดเริ่มแนวพระราชดำริ น่าจะเป็นแถวหัวหิน เพราะแถวนั้นเป็นที่ที่ขาดแคลนน้ำ จำได้ว่าพี่เลี้ยงหรือว่าข้าหลวง หรือคนที่ทำงานในวัง ที่วันไหนออกเวร ก็รับสนองพระราชดำริไปเป็นอาสาสมัครออกไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ไปช่วยสร้างถังน้ำ...” “...ทรงให้จัดตั้ง หมู่บ้านสหกรณ์การเกษตร โดยทรงนำวิธีการสหกรณ์มาใช้ในการจัดตั้งหมู่บ้านหุบกะพง เพื่อแก้ปัญหาสินค้าเกษตรมีราคาต่ำและไม่แน่นอน ซึ่งได้ผลดีและยกระดับเป็นหมู่บ้านสหกรณ์ตัวอย่าง ชื่อ ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง ซึ่งเป็นโครงการเริ่มแรกเกี่ยวกับการจัดตั้งสหกรณ์ และทรงส่งเสริมหัตถกรรม โดย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเริ่มงานส่งเสริมอาชีพตั้งแต่ตอนนั้น...”

ทรงให้ปลูกต้นไม้เพื่อรักษาดิน...

“...นานมาแล้ว ขณะประทับอยู่ที่วังไกลกังวล ฉันอยู่ด้วย มีชาวบ้านจำไม่ได้ว่าเป็นชาวกะเหรี่ยงหรือกะหร่าง เขามาเข้าเฝ้าฯ และกราบบังคมทูลว่า เขาอยากจะกราบบังคมทูลลาไปอยู่พม่า เนื่องจากทางราชการมาถางป่า ตัดต้นไม้ คือสมัยก่อนเวลาจะสร้างนิคม ตั้งเขตเกษตร ก็จะทำในสิ่งที่พระองค์เรียกว่า ปอกเปลือก ซึ่งคนกะเหรี่ยงหรือกะหร่างนี่เขาหวงธรรมชาติ จึงไม่สบายใจ และกราบบังคมทูลลาไปอยู่พม่า ภายหลัง พระองค์จึงมีพระราชดำรัสแก่ทุกคนว่า เราต้องไม่ปอกเปลือกเปลือยดิน ให้ห่มดินแล้วดินจะดี

การห่มดินก็คือการปลูกต้นไม้นั่นเอง...”.




เรื่องเล่าจากพระเทพฯ‘หลักทรงงาน’ในหลวงของคนไทย(4)

สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” น้อมอัญเชิญบทสัมภาษณ์พระราชทาน ของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เกี่ยวกับ ’หลักการทรงงาน และแนวพระราชดำริในการพัฒนาประเทศ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว“ ซึ่งบันทึกไว้ในหนังสือ ’พระมหากษัตริย์นักพัฒนา เพื่อประโยชน์สุขสู่ปวงประชา“ ที่จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มานำเสนอเป็นตอน ๆ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. ซึ่งสำหรับวันที่ 13 ม.ค.นี้ เนื้อความสำคัญที่อัญเชิญมานำเสนอ มีดังนี้...

ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณช่วยผู้ถวายฎีกา...

“...เรื่องคดีความทางกฎหมาย ประชาชนไทยทุกคนที่คดีถึงที่สุดที่ศาลฎีกา ก็มีสิทธิถวายฎีกา พระองค์ก็จะทรงให้คนไปดู โดยสืบตั้งแต่ศาลชั้นต้น จากสำนวนคำให้การต่าง ๆ จะทำให้มองเห็นเลยว่า บางคดีเกิดขึ้นเนื่องจากความยากจน ความทุกข์ และความเดือดร้อน นอกจากจะตัดสินไปตามคดีความ ก็ยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณช่วยเหลือให้เขาดีขึ้น ซึ่งพระองค์ทรงทำมาตลอด...”

“อ่างเก็บน้ำใต้ดิน” ป้องกันน้ำท่วมและน้ำระเหย...

“...โครงการชลประทานในพระราชดำริที่มีลักษณะพิเศษคือ อ่างเก็บน้ำใต้ดิน ซึ่งอยู่ในถ้ำที่บ้านห้วยลึก อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ บริเวณนี้เป็นภูมิประเทศแบบคาร์สต์ หรือเป็นเขตหินปูน จะมีถ้ำเป็นจำนวนมาก มีพระราชดำริที่จะเก็บน้ำไว้ในถ้ำ ซึ่งมีข้อดีคือ น้ำที่เก็บไว้ไม่ไปท่วมที่ดินของเกษตรกร และน้ำจะไม่ระเหยไปมากเหมือนอยู่กลางแจ้ง ข้อที่ลำบากมากคือการสำรวจพื้นของถ้ำว่ามีลักษณะอย่างไร เพื่อที่จะเสริมไม่ให้รั่วได้ การสำรวจต้องใช้หลายวิธีสอบเทียบกัน...” “...ตอนไปสำรวจ ก็หลงถ้ำ จนเกือบขาดออกซิเจนกัน...” “...ใน ด้านการป้องกันน้ำท่วม มีพระราชดำริทำแก้มลิง เพื่อเก็บน้ำเมื่อมีน้ำมากไว้ใช้ในฤดูแล้ง...”

ทรงคิดค้นกังหันน้ำชัยพัฒนาและฝนเทียม...

“...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคิดค้น กังหันน้ำชัยพัฒนา มีทั้งหมด 7 โมเดล เป็นเครื่องช่วยเติมออกซิเจนในน้ำ เพื่อแก้ปัญหาน้ำเน่า...” “...ทรงห่วงใยเกษตรกรที่ต้องพบปัญหาไม่มีน้ำใช้ในการบริโภคและทำการเกษตรในฤดูแล้ง จึงทรงคิดค้น ฝนเทียม ขึ้นเมื่อกว่า 50 ปีมาแล้ว เป็นที่รู้จักกันในนาม ฝนหลวง...”

ทรงช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ...

“...พระองค์ทรงช่วย อย่างเรื่องน้ำท่วม ตั้งแต่ทำเขื่อนป่าสัก น้ำก็ไม่ท่วมหนักอย่างเก่า ที่เราต้องปีนออกทางหน้าต่าง หรือปีนต้นไม้ไปทำงาน แล้วใช้ไดร์โว่ก็ไม่มีแล้ว ตอนนั้นหลานกำลังจะเกิด แล้วฉันเป็นคนแต่งห้องให้เขาใหม่ สั่งทำม่าน ต้องเอาม่านใส่เรือพายมาที่สวนจิตรฯ สมัยนั้นท่วมขนาดนี้ ตอนน้ำท่วมกรุงเทพฯ พระองค์ก็เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรเอง รถพระที่นั่งไปเสียกลางทาง พระองค์ทรงขับไปถึงซอยอ่อนนุช เพื่อทอดพระเนตรน้ำ...” “...ทรงดูจากเอกสารที่มีอยู่ และทรงสำรวจเอง เมื่อทรงสำรวจเสร็จ ก็มาทรงมีพระราชดำริว่าควรจะทำอย่างไร...”

ทรงลำบากตรากตรำเพื่อประชาชนผู้ยากไร้...

“...เวลาเสด็จฯ ไปที่ไหน พระองค์จะเสด็จฯ พระราชดำเนินนำไปก่อน เราก็วิ่ง คนในขบวนก็วิ่งกันกระเจิง ตามเสด็จฯ ไม่ค่อยทัน พระองค์ทรงพระราชดำเนินเก่ง...” “...เวลาเสด็จพระราชดำเนินก็จะทรงนำ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และบางครั้งก็ต้องทรงช่วยให้เสด็จฯ ขึ้นเขา แล้วก็ ทรงร้องเพลงลูกทุ่งอยู่บนเขา ’ตายแน่คราวนี้ต้องตายแน่ ๆ“ เวลาตามเสด็จฯ จึงลำบาก จะวิ่งหนีเข้าร่ม หรือแอบไปกินอะไรอย่างนี้ไม่ได้ ไม่ใช่ว่าพระองค์ทรงห้ามไม่ให้เรากิน ไม่ให้เราหลบแดด พระองค์ก็ทรงไม่หลบแดด ไม่ได้เสวยด้วยเหมือนกัน บางครั้งพระองค์เองทรงประสงค์ให้คนที่ตามเสด็จฯ ได้รับประทานด้วยซ้ำ เมื่อรับประทานเสร็จแล้วจะได้พร้อมที่จะทำงาน แต่ส่วนใหญ่เจ้าภาพจะบอกว่า พวกนี้ไม่สุภาพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังไม่เสวย แล้วทำไมถึงกินก่อน เป็นบาปกรรม คนเขาก็คิดอย่างนั้น พระองค์เองทรงลำบากกว่าคนอื่นเสียด้วยซ้ำ ตากแดดก็ตากด้วยกัน เพราะฉะนั้น ฉันนี่มีวิตามินดีเยอะมากเลย กระดูกแข็งแรง...”

“...เวลาตามเสด็จฯ นั้น หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นเขา เราก็ต้องปีนเขาด้วย พระองค์ทรงรับสั่งว่า การทำงานพัฒนา ร่างกายเราต้องแข็งแรง...” “...ฉันเคยฝึกให้แบกของเดินขึ้นเขา เพราะถ้าเกษตรกรพื้นที่สูงอยากให้เราเดินขึ้นไปดูไร่ของเขาบนภูเขา ก็ควรพยายามไป เขาชี้ให้ไปดูอะไรก็ต้องไป ถึงแม้บนยอดเขาจะมีกาแฟเพียงต้นเดียวก็ต้องขึ้นไป บางครั้งปีนเขาตั้งหลายลูก เราก็ต้องไป เพื่อเป็นกำลังใจให้เกษตรกร และผูกมิตรด้วย ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน พระองค์เสด็จฯ ไปทุกที่ ที่เห็นพระบรมฉายาลักษณ์ในหนังสือ ที่ พระองค์ทรงขับรถพระที่นั่งลงไปอยู่กลางน้ำ แถวจังหวัดนราธิวาส พอเปิดประตูออกไปเป็นพงหนามพอดี นอกจากลงน้ำแล้วยังมีพงหนามอยู่ในน้ำด้วย และพอเวลาเสด็จฯ ไปถึงที่ไหนก็จะทรงมีพระราชปฏิสันถารกับทุกคน จนมีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งบอกว่า ถ้าขืนทรงทักคนทุกจุดอย่างนี้กว่าจะถึงวังก็ Good Morning

และไปทีไรก็ Good Morning ทุกที...”.


credit : dailynews



Create Date : 13 มกราคม 2555
Last Update : 22 มีนาคม 2555 14:21:13 น. 0 comments
Counter : 1413 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Rain_sk
Location :
Upper Midwest United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 68 คน [?]





"ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ส่งผล
คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง
เมื่อใดบาปให้ผล คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น"
ขุ.ธ. 25/15/24
เวลา 4.57PM :sat,Mar 29,2557



BlogGang Popular Award # 9


BlogGang Popular Award # 10


BlogGang Popular Award # 11


BlogGang Popular Award # 12


Friends' blogs
[Add Rain_sk's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.