Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2554
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
12 ธันวาคม 2554
 
All Blogs
 
เมืองตาก...อารยธรรมเก่าๆ ที่ยังคงปรากฏ

โดย : คมฉาน ตะวันฉาย



ถ้าลองสืบค้นการสร้างบ้านสร้างเมืองในอดีต เราอาจสาวลึกไปเห็นสภาพวิถีชุมชน หรือรูปแบบของสถาปัตยกรรมบ้านเรือนต่างๆ




และยิ่งได้สืบค้นคว้า ประวัติศาสตร์ ประกอบกับเห็นอารยธรรมเก่าๆ ที่ยังคงปรากฏ ยิ่งทำให้การเห็นรูปแบบของอาคารบ้านเรือนที่ดูเหมือนแล้งไร้ชีวิต แต่ทว่ากลับโลดแล่นและได้กลิ่นอายติดจมูกเหมือนเข้าไปอยู่ในยุคสมัยในอดีต นี่คือเสน่ห์ของการเที่ยวย่านบ้านเก่า ที่ผมเองก็เคยเขียนถึงมาหลายที่แล้ว ครั้งนี้เป็นดีของที่ "เมืองตาก"



ตามเมืองสำคัญทางชายทะเลต่างๆ จะเห็นร่องรอยของบ้านเรือนพ่อค้าคหบดีที่มีเชื่อสายจีนฮกเกี้ยนที่ค้าขายทางทะเลและเมืองท่าต่างๆ
ขยายใหญ่กลายเป็นหัวเมือง ไม่ว่าจะเป็นที่ภูเก็ต สงขลา ตะกั่วป่า สายบุรีหรือที่อื่นๆ แต่ทางเหนือที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน บรรพบุรุษของผมก็คงรอนแรม เสื่อผืนหมอนใบพายเรือขึ้นมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา แยกย่อยเข้าแม่น้ำปิง แล้วใช้สายน้ำนี้ ค้าขายขึ้นล่องระหว่างเมืองเหนือและเมืองบางกอก

ผมเคยเห็นข่าวชุมชนหลายแห่งตามลุ่มแม่น้ำปิงที่ยังคงหลงเหลือเรื่องราว ผ่านชุมชนที่ยังคงอยู่อาศัยในบ้านเรือนที่เป็นสถาปัตยกรรมย้อนยุค ที่เมืองตากเอง ก็ไม่พ้นเหตุผลเหล่านี้ ไม่ว่ามูลเหตุของการตั้งเมืองตากริมฝั่งแม่น้ำปิงจะมีที่มาอย่างไรก็ตาม แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าที่นี่กลายเป็นชุมทางค้าขายทางเรือที่สำคัญแห่งหนึ่งที่เรือสินค้าขึ้นล่องระหว่างภาคเหนือและภาคกลางต้องมาแวะ แล้วค่อยๆ ลงหลักปักฐาน สร้างบ้านเมืองและกลายเป็นส่วนหนึ่งของคนเมืองตากอย่างกลมกลืน



ตรอกจีน
ดูเหมือนเป็นหน้าประวัติศาสตร์แห่งเมืองตาก ที่ยังคงอยู่เพื่อบอกเล่าเรื่องราวในอดีตผ่านบ้านเรือน สถาปัตยกรรมแปลกตา แม้จะมีกลิ่นอายของวัฒนธรรมไทย ผ่านช่องลม ลายฉลุไม้ต่างๆ ที่ตกแต่งประดับประดา แต่ทว่ากลับมีรายละเอียดที่ดูแปลกออกไปหลายอย่าง บ่งบอกว่าเป็นสถาปัตยกรรมเมืองเหนือ เพราะทำจากไม้สักล้วนๆ ที่จวบจนปัจจุบันลายไม้และลายเส้นยังคงเด่นชัดแม้ปรากฏในขั้นบันได หรือประกอบเป็นขอบบานหน้าต่าง



ชื่อตรอกจีน
คงพอบอกได้ว่าเดิมถิ่นฐานย่านนี้เป็นคนเชื้อสายจีนที่ทำมาค้าขายเป็นหลัก อยู่ในตัวเมืองตาก ห่างจากแม่น้ำปิงเส้นทางคมนาคมที่สำคัญในอดีตไม่มาก แม้สายน้ำปิงจะมีการปรับเปลี่ยนทางน้ำบ้าง แต่ก็ไม่ได้ทิ้งเค้าทางไหลเดิมมากนัก ตรอกเล็กๆ ยังคงคลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่มาซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้า รูปแบบร้านค้าดั้งเดิมเป็นเรือนไม้ยกพื้นไม่สูงนัก หน้าบ้านเป็นชานบ้านกว้างสำหรับนั่งสนทนา เข้าไปในเรือนจึงเป็นห้องโถงกว้างและสัดส่วนเฉพาะ

รูปแบบร้านค้าแบบนี้เคยเห็นในหนังสือเรียนในอดีต แต่หาดูได้ยากเย็นในของจริง ในตรอกจีนก็ยังคงหลงเหลืออยู่ 1 ร้าน ที่เจ้าของปัจจุบันเป็นทายาทรุ่นที่ 4 แม้ไม่มีรายได้มากมาย แต่ก็เต็มใจเก็บรักษารูปแบบสถาปัตยกรรมดั้งเดิม ซ้ำเปิดบ้านให้เข้าไปดูของเก่าที่สะสม เก้าอี้ไม้ที่คุณก๋งเคยนั่งจิบน้ำชา ซ้ำยังเก็บสะสมพายของเรือสินค้าสมัยอดีตที่ใช้แม่น้ำปิงขึ้นล่องค้าขาย จัดแสดงให้ดูโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เสียดายที่ไร้การสนับสนุนจากภาครัฐในการส่งเสริมหรือเป็นกำลังหนุนส่ง เมื่อไหร่ที่ทายาทถูกกดดันทางเศรษฐกิจ บ้านเรือนในอดีตเหล่านี้อาจจะสิ้นชื่อ


เยื้องๆ กันเป็นเรือนไม้ร้านจันทร์ประสิทธิ์โอสถ
ร้านปรุงยาไทยสมัยอดีตที่ยังคงตกทอดมาถึงทายาทในปัจจุบัน ที่ยังคงใช้หีบเก็บยาแบบโบราณ แม้ตัวบ้านจะเป็นเรือนแถวไม้สักทั้งหลัง แต่ลวดลายไม้ฉลุช่องลมเป็นลายช้างชูงวงเกี่ยวหาง ช่างอ่อนไหวดูราวเป็นโขลงช้างจริง

บ้านโสภโณตร หรือบ้านสีฟ้า เคยเป็นบ้านของหลวงอุดรภัณฑ์พานิช
คนยุคนั้นเรียก "จีนตั้ง" (น่าจะแซ่ตั้ง) เคยเป็นเจ้าภาษีนายอากรในอดีต บ้านหลังนี้โดดเด่นตั้งแต่ซุ้มประตูที่แปลกตา ส่วนตัวบ้านก็ยังคงดูดี และน่าตื่นตาเมื่อมาปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน


หนังตัวอย่าง 2-3 ที่ในตรอกจีน ก็ทำเอาประทับใจแล้ว ตรอกจีนเป็นตรอกสายสั้นๆ จากปากซอยถึงก้นซอยน่าจะแค่ 100 เมตร แต่เป็น 100 เมตรที่มองบ้านหลังไหน หรือได้พูดคุยกับผู้คนในตรอกนี้คนไหน ก็จินตนาการถึงเรื่องราวของสังคมในอดีตไม่ยากเย็น ผมบอกก็ไม่เท่าตาเห็น ยิ่งสมาคมสถาปนิกสยาม ให้รางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น ปี 2553 ประเภทชุมชนพื้นถิ่น ยิ่งทำให้ตรอกแห่งนี้น่ามาแวะเยือนสักครั้ง จึงเห็นนักท่องเที่ยวที่มาแวะเมืองตาก เดินเที่ยวชมตรอกนี้อยู่เนืองๆ แต่เพราะยังเป็นที่อยู่อาศัยจริงๆ การเข้าชม ถ่ายภาพ จึงควรขออนุญาตเจ้าของบ้าน รู้กาละและเทศะด้วยก็จะดี

ปากซอยเป็นวัดสีตลาราม วัดเก่าแก่ของเมืองตาก
แปลกตาด้วยรูปทรงของอุโบสถที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป ดูคล้ายอาคารในสมัยโรมัน ท่ามกลางชุมชนที่เป็นเรือนไม้แบบไทยภาคเหนือ แต่มีอาคารทรงยุโรปโผล่ขึ้นมาข้างชุมชน ท่านผู้อ่านว่าแปลกไหม...ผมยังติดใจว่าทำไมผู้สร้างวัดจึงสร้างโบสถ์รูปทรงนี้ขึ้นท่ามกลางชุมชนที่เป็นเรือนไม้ ปัจจุบันเรายังว่าสะดุดตา แล้วเมื่อแรกสร้างจะเป็นอย่างไรหนอ

ส่วนวัดพระบรมธาตุที่อยู่นอกเมืองออกไปนิดนั้นจะว่าเป็นเจดีย์ชเวดากองของเมืองไทยก็ไม่สนิทปาก
เพราะชเวดากองของจริง ต้องทึ่งในความยิ่งใหญ่ ทว่าเจดีย์วัดบรมธาตุบ้านเรา มีขนาดเล็กกว่า กลิ่นอายแบบพม่า สีทองอร่ามขับเด่นเพิ่มความขรึมขลังและพลังศรัทธา ได้กราบพระธาตุคู่ใจชาวเมืองตาก แม้ไม่ใช่คนที่เกิดปีมะเมีย (เป็นพระธาตุประจำปีเกิดมะเมีย) ก็ยังรู้สึกอิ่มมงคลที่ได้สักการะ

เยื้องกับวัดพระบรมธาตุเป็นเจดีย์ยุทธหัตถีที่สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงสงครามยุทธหัตถีของพ่อขุนรามคำแห่งกับขุนสามชน
เจ้าเมืองฉอด เมื่อครั้งกรุงสุโขทัย รูปทรงและสถาปัตยกรรมจึงเป็นทรงแบบทั่วไปที่พบเห็นได้ในเมืองสุโขทัย การได้มาเยือนเจดีย์อนุสรณ์ อาจทำให้เราสำนึกถึงบรรพบุรุษว่ากว่าจะสร้างบ้าน สร้างเมืองตกทอดมาถึงลูกหลาน ต้องอาศัยการนำและความกล้าของผู้นำทั้งนั้น การจิกด่าว่ากล่าวให้ร้ายผู้มีพระคุณไม่เรียกเนรคุณจะเรียกอะไร

น่าเสียดายที่เมื่อมีถนนตัดใหม่เลี่ยงเมืองสู่ อ.เถิน จ.ลำปาง
ตัวเมืองตากจึงกลายเป็นเมืองผ่านโดยปริยาย เว้นแต่คนที่ตั้งใจไปแม่สอดแล้วขึ้นเหนือสู่แม่สะเรียง หรือเดินทางสู่อุ้มผางดินแดนแห่งน้ำตกงามและธรรมชาติสวย แต่นั่นไม่อาจเรียกว่า ตากเป็น "จุดแวะ" ตัวเมืองต่างๆ สำคัญมาแต่ในอดีต ตากผ่านบทบันทึกประวัติศาสตร์มาไม่ใช่น้อย การได้มาเห็นเพียงเศษเสี้ยวในเมืองตาก จึงรู้ว่าเราผ่านเมืองนี้ไปนาน ครั้นได้มาแวะจึงประจักษ์ว่าสิ่งดีๆ ที่อยากเห็น ที่แท้อยู่ที่เมืองตากนี่เอง

มีโอกาสไปตาก อย่าผ่านครับ ลองแวะดู แล้วจะรู้ว่า ของเขาดีจริงๆ


credit :  //www.bangkokbiznews.com/


Create Date : 12 ธันวาคม 2554
Last Update : 12 ธันวาคม 2554 12:41:33 น. 0 comments
Counter : 1959 Pageviews.

Rain_sk
Location :
Upper Midwest United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 68 คน [?]





"ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ส่งผล
คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง
เมื่อใดบาปให้ผล คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น"
ขุ.ธ. 25/15/24
เวลา 4.57PM :sat,Mar 29,2557



BlogGang Popular Award # 9


BlogGang Popular Award # 10


BlogGang Popular Award # 11


BlogGang Popular Award # 12


Friends' blogs
[Add Rain_sk's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.