Group Blog
 
<<
เมษายน 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
11 เมษายน 2555
 
All Blogs
 
‘ประวัติศาสตร์ศึกษา’ กัมพูชา-คาบสมุทรมลายู

ครั้งหนึ่งคราเกิดปัญหาความไม่สงบ ‘ชายแดนใต้’ ได้เกิดอาการตื่นตระหนกจากรัฐไทยกรณีมี ‘ชาวเขมรมุสลิม’ เดินทางเข้ามาประเทศไทยจำนวนมาก โดยมีเป้าหมายการเดินทางที่ ‘มาเลเซีย’ แต่จำเป็นต้องใช้เส้นทางผ่าน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เกรงว่าจะไปเกี่ยวข้องพัวพันกับ ‘ไฟใต้’ ซึ่งขณะนั้นกำลังลุกโหมรุนแรง แต่ต่อมาไม่นานข่าวคราวเงียบหายกันไป อาจจะมีเล็ดลอดกระเซ็นกระสายออกมาบ้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นข่าวใหญ่โตอะไรมากนัก

     กระทั่งไม่กี่วันก่อน ผู้เขียนมีโอกาสได้รับเชิญจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนจากวิจัย (สกว.) เพื่อไปสังเกตการณ์ ‘โครงการกิจกรรมทางวัฒนธรรมระหว่างเยาวชนไทย-กัมพูชา’ วันที่ 24-27 กุมภาพันธ์ 2555 ณ โรงเรียนทัพพระยาพิทยา ต.โคกสูง อ.โคกสูง จ.สระแก้ว ทำให้ได้พบแง่คิดอะไรดีๆ มากมายที่น่าจะถูกนำไปปรับใช้กับพื้นที่ ‘ชายแดนใต้’ อย่างสร้างสรรค์ แทนที่จะใช้กรอบแว่นมองเพื่อนบ้านในลักษณะ ‘ติดลบ’

     ‘โครงการกิจกรรมทางวัฒนธรรมระหว่างเยาวชนไทย-กัมพูชา’ เป็นการจัดกิจกรรมต่อเนื่อง ครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นการขยายกิจกรรมจากโครงการศึกษาความเชื่อมโยงของวัฒนธรรมท้องถิ่นสมัยอดีตถึงปัจจุบัน เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลวัฒนธรรมและอารยธรรมโบราณในพื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงและคาบสมุทรมลายา โดยทุนวิจัย สกว. มีหน่วยงานร่วมโครงการหลากหลาย ทั้งโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า กรมศิลปากร มหาวิทยาลัยศิลปากร สกว. สถาบันรามจิตติ จังหวัดสระแก้ว กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ องค์การ APSARA ประเทศกัมพูชา จังหวัดบันเตียนเมียนเจย ประเทศกัมพูชา และกระทรวงวัฒนธรรม ประเทศกัมพูชา

     วัตถุประสงค์หลักของโครงการฯ เพื่อรวบรวม ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูล เกี่ยวกับวัฒนธรรมและสังคมสมัยโบราณในระเบียงวัฒนธรรมแนวทิศเหนือ-ใต้ ทิศตะวันออก-ตะวันตกของประเทศไทย และในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านที่เกี่ยวข้องจากอดีตถึงปัจจุบันในลักษณะ ‘สหวิทยาการ’ รวมทั้งบูรณาการความรู้สาขาต่างๆ ทั้งทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการศึกษาความเชื่อมโยงของวัฒนธรรมท้องถิ่นสมัยอดีตถึงปัจจุบัน ภายใต้ความร่วมมือของนักวิจัยจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า มหาวิทยาลัยศิลปากร กรมศิลปากร นักวิจัยจากองค์การ APSARA โดยได้ดำเนินการวิจัยด้านต่างๆ ในพื้นที่ศึกษา ทั้งบริเวณพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงและพื้นที่คาบสมุทรมลายาในลักษณะคู่ขนาน

พ.อ.รศ.ดร.สุรัตน์ เลิศล้ำ หัวหน้าสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ กองวิชาคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ผู้มีบทบาทสำคัญในโครงการให้ข้อมูลว่า โครงการฯ ดำเนินการวิจัยก้าวเข้าสู่ระยะที่ 2 โดยได้ดำเนินการวิจัยด้านต่างๆ ในพื้นที่ต่างๆ ทั้งบริเวณพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงและพื้นที่คาบสมุทรมลายา ในลักษณะคู่ขนานตามแผนการวิจัยที่ได้วางไว้ เพื่อให้ผลการวิจัยสามารถถูกนำมาเปรียบเทียบกันได้ และคณะนักวิจัยพยายามนำผลของการวิจัยที่ได้รับมาประยุกต์ใช้ประโยชน์กับชุมชนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

     “ผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมา เป็นการดำเนินกิจกรรมระหว่าง เยาวชนไทย-กัมพูชา ไทย-มาเลเซีย เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดี ความเข้าใจระหว่างเยาวชนทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน เน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับโบราณสถานทั้งในมุมมองด้านโบราณคดีและดาราศาสตร์ประกอบสถานที่จริง ตลอดจนการเปิดโอกาสให้เยาวชนทำกิจกรรมประสบการณ์จริงในการศึกษาแหล่งโบราณสถาน ตามวิธีการศึกษาของนักโบราณคดี เช่น การเดินสำรวจ การคัดแยกวัตถุที่ได้จากการขุดค้นและทำทะเบียนวัตถุ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการดำเนินการทั้งสี่ครั้งที่ผ่านมา โดยอาศัยผลของการวิจัยเป็นแกนหลักในการดำเนินกิจกรรม”

     สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมครั้งนี้ พ.อ.รศ.ดร.สุรัตน์ เลิศล้ำ อรรถาธิบายว่า เป็นการดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องระหว่างเยาวชนไทย-กัมพูชา และนำผลการวิจัยจากโครงการศึกษาความเชื่อมโยงของวัฒนธรรมท้องถิ่นสมัยอดีตถึงปัจจุบันมาดำเนินกิจกรรม เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ของชุมชน ประชาชน เยาวชน ในเชิงการศึกษาวิจัยร่วมกัน การแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจทางวัฒนธรรมท้องถิ่นต่างๆ แก่เยาวชนของประเทศไทยและกัมพูชา และเพื่อเป็นเครื่องช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและกัมพูชาอีกทางหนึ่ง รวมทั้งจะใช้โอกาสนี้วางแผนกิจกรรมที่จะทำร่วมกันต่อไปในอนาคต

     “โดยเฉพาะการหารือถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการยุววิจัยอาเซียน (ASEAN Young Researcher) เพื่อกระชับความสัมพันธ์ ความเข้าใจ และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขระหว่างพลเมืองอาเซียน รองรับ ASEAN Economic Cooperation ที่จะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในปี 2558 นี้”

     ย้อนกลับมาที่ ‘ชายแดนใต้’ โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนเองมีความสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอารยธรรมโบราณในพื้นที่บริเวณ ‘ลุ่มแม่น้ำโขง’ และ ‘คาบสมุทรมลายู’ อยู่แล้ว โดยเฉพาะด้วยฐานะ ‘รากทางประวัติศาสตร์’ ที่เกี่ยวพันกันอยู่ในระดับภูมิภาค เช่นที่ พงศ์ธันว์ สำเภาเงิน สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นหนึ่งในวิทยากรบอกว่า “อย่าไปคิดว่าพื้นที่ห่างกันมาก เพราะจริงๆ แล้วไม่ได้ไกลกันเลย เรื่องราวต่างๆ ถูกร้อยรัดเชื่อมโยงเป็นเรื่องเดียวกันหมด” ซึ่งผู้เขียนก็เห็นด้วยอย่างยิ่งในประเด็นนี้

     ยกตัวอย่างเฉพาะ ‘กัมพูชา’ หากพิจารณาเชิง ‘มุสลิมศึกษา’ พบว่า ชาวมุสลิมกัมพูชา หรือ ‘กัมพูชามุสลิม’ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศประกอบด้วย 2 กลุ่มชาติพันธุ์ คือ กลุ่มชาวจามดั้งเดิมที่ย้ายถิ่นมาจากอาณาจักรจัมปา อาณาจักรเก่าแก่ในเวียดนามก่อนจะสลายไปในปี ค.ศ.1832 (พ.ศ.2375) และกลุ่มชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางใต้ของกัมพูชา ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมุสลิมกัมพูชากับมุสลิมมาเลย์นั้นแนบแน่นพอควร นอกจากนี้ยังมีมุสลิมจากอินเดียที่เดินทางมากัมพูชาในช่วงสมัยอาณานิคม

     แต่หากพิจารณาเชิง ‘ประวัติศาสตร์ศึกษา’ จะพบร่องรอยด้านศรัทธาความเชื่อใน ‘ฮินดู-พราหมณ์’ สะท้อนผ่านการสร้าง ‘ปราสาท’ เช่นที่ ‘ปราสาทสด๊กก๊อกธม’ อ.โคกสูง จ.สระแก้ว ที่มีการนำเยาวชนในโครงการฯ ลงพื้นที่ศึกษา ซึ่งพื้นที่ชายแดนใต้ก็มีร่องรอยอารยธรรมที่สำแดงใน ‘เมืองโบราณยะรัง’ พื้นที่บ้านปราแว บ้านวัด และบ้านจาเละ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี สะท้อนถึงความยิ่งใหญ่ของอดีตอาณาจักร ‘ลังกาสุกะ’ ตั้งแต่ปี พ.ศ.700-1400 ซึ่งถือเป็นอาณาจักรเก่าแก่ที่สุดอาณาจักรหนึ่งบน ‘คาบสมุทรมลายู’ ปรากฏหลักฐานอยู่ในเอกสารจีน อาหรับ ชวา และมลายู ราวพุทธศตวรรษที่ 13 และนับเนื่องถึงศรัทธาความเชื่อใน ‘ฮินดู-พราหมณ์’ ก่อนจะถึงยุค ‘พุทธ’ และ ‘อิสลาม’

เรื่องราวด้านประวัติศาสตร์เหล่านี้ ใช่หรือไม่ว่าควรมีการศึกษาวิจัยให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ลึกซึ้ง เพื่อเชื่อมโยงไปสู่มิติอื่นๆ อย่าง ‘สร้างสรรค์’ เช่นที่มาเลเซียพยายามสะท้อน ‘ความจริง’ ผ่านเนื้อหาแง่มุมต่างๆ ไว้ตามพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ทั้งในมะละกา กลันตัน เคดาห์ (ไทรบุรี) ฯลฯ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ศึกษาเป็นบทเรียน

     ปัญหาคือเราจะ ‘เปิดใจ’ ได้กว้างเพียงใดสำหรับการสนับสนุนให้มีการศึกษาเรื่องราวเหล่านี้ โดยเฉพาะการมุ่งให้เยาวชนได้เรียนรู้ศึกษา เข้าใจบทเรียนทาง ‘ประวัติศาสตร์’ อย่างรอบด้านและจริงจัง อย่างไม่มีการ ‘ตัดตอน’


ที่มา นสพ สยามรัฐ




Create Date : 11 เมษายน 2555
Last Update : 11 เมษายน 2555 23:01:14 น. 0 comments
Counter : 2246 Pageviews.

Rain_sk
Location :
Upper Midwest United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 68 คน [?]





"ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ส่งผล
คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง
เมื่อใดบาปให้ผล คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น"
ขุ.ธ. 25/15/24
เวลา 4.57PM :sat,Mar 29,2557



BlogGang Popular Award # 9


BlogGang Popular Award # 10


BlogGang Popular Award # 11


BlogGang Popular Award # 12


Friends' blogs
[Add Rain_sk's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.