Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2555
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
7 สิงหาคม 2555
 
All Blogs
 
"กรรณิการ์" หอมแรง

กรรณิการ์, กณิการ์, กรณิการ์ (Nyctanthes arbor-tristis) ไม้ดอกหอมในวงศ์มะลิ OLEACEAE มีถิ่นกำเนิดจากประเทศอินเดีย เป็นไม้พุ่ม ไม่ผลัดใบ ปลูกเลี้ยงง่าย อดทน

ดอกกรรณิการ์

ดอกกรรณิการ์ มีกลีบดอกสีขาว 6-8 กลีบ บิดเวียนไปทางขวา มีแต้มสีส้มแดงด้านใน จะออกดอกเป็นช่อเล็กๆ 3-5 ดอก ติดบนใบประดับ ไม่มีก้านดอก แต่โคนกลีบดอกติดกันเป็นหลอดสีส้มแดง สีสันสดใสสะดุดตา ดอกจะตูมตอนกลางวัน และดอกบานส่งกลิ่นหอมหวาน หอมแรงในตอนกลางคืน จึงได้ชื่อสามัญว่า Night Jasmine

ดอกกรรณิการ์เมื่อบานแล้วจะร่วงในตอนเช้า ดอกกรรณิการ์ในแต่ละช่อจะไล่ทยอยบานสลับกันไป และสามารถปลูกให้ออกดอกได้ตลอดทั้งปี ดอกกรรณิการ์จะออกดอกดกมากกว่าปกติในช่วงฤดูหนาว

สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า.. กรรณิการ์

กรรณิการ์ บางครั้งจะถูกเรียก(ในต่างประเทศ)ว่า “tree of sorrow” หรือ “ต้นไม้แห่งความโศกเศร้า” เพราะดอกกรรณิการ์จะบานและส่งกลิ่นหอมเฉพาะตอนกลางคืน ไม่ทันที่จะได้รับแสงสว่างในตอนเช้า ดอกก็ร่วงเสียแล้ว

ชื่อชนิดทางวิทยาศาสตร์ของกรรณิการ์ arbor-tristis ในภาษาลาตินหมายถึง “Sad Tree” ดังนั้น ชื่อวิทยาศาสตร์ของกรรณิการ์ Nyctanthes arbor-tristis นั้น บางครั้งอาจจะเห็นบางแห่งเขียนชื่อว่าNyctanthes arbortristis หรือ Nyctanthes arbor tristis ซึ่งถือว่าไม่ถูกต้อง

และหากไปค้นดูข้อมูลเก่าๆ ของกรรณิการ์ อาจจะพบความสับสันว่า กรรณิการ์จัดอยู่ในวงศ์อะไรกันแน่? นั่นเพราะ เดิมทีแล้ว ท่าน P. S. Green (ผู้ศึกษาวงศ์ Oleaceae สำหรับพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย) ได้จัดให้กรรณิการ์อยู่ใน สกุล Nyctanthes วงศ์ NYCTANTHACEAE และกล่าวไว้ว่า กรรณิการ์น่าจะใกล้ชิดกับวงศ์ VERBENACEAE มากกว่าวงศ์ OLEACEAE จึงไม่ได้นำชื่อ กรรณิการ์ ไปรวมไว้ในหนังสือพรรณพฤกษชาติแห่งประเทศไทย เล่มวงศ์ OLEACEAE (Green, P. S. (2000). Oleaceae. In Flora of Thailand Vol. 7 part 2: 271-340.)

แต่อย่างไรก็ดีในปัจจุบันนี้ กรรณิการ์ถูกจัดอยู่ใน สกุล Nyctanthes อยู่ภายใต้วงศ์มะลิ OLEACEAE วงศ์ย่อย Myxopyreae

การปลูกกรรณิการ์



การปลูกกรรณิการ์ ควรปลูกกลางแจ้ง(ใบจะเล็ก ใบจะสีเขียวอมเหลือง) หรือแดดครึ่งวันเช้าก็ได้(ใบจะใหญ่ ใบจะสีเขียวเข้ม) แตกกิ่งก้านมากมายไม่เป็นระเบียบ จนดูเหมือนปะการัง จนมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “Coral Jasmine”

หากต้องการให้กรรณิการ์ออกดอกดกๆ จึงควรหมั่นตัดแต่งกิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เกะกะทิ้งไป และตัดแต่งกิ่งให้เป็นทรงพุ่มสวยงามอยู่เสมอ จะทำให้แตกยอดใหม่ได้มากขึ้น นั่นหมายถึงจะมีช่อดอกได้มากขึ้น(เพราะดอกกรรณิการ์จะออกดอกที่ปลายยอด) และออกดอกได้รอบทรงพุ่ม ดูสวยงามยิ่งขึ้นนั่นเอง

การขยายพันธุ์กรรณิการ์

การขยายพันธุ์กรรณิการ์ สามารถขยายพันธุ์ได้ง่าย ทำได้ทั้งการตอน,การปักชำ และการเพาะเมล็ด ต้นกรรณิการ์จึงหาซื้อได้ไม่ยากและราคาไม่แพง ปัจจุบันเริ่มมีสายพันธุ์ “กรรณิการ์ด่าง” มาวางขายให้เห็นบ้างแล้ว แต่ราคายังสูงอยู่พอสมควร

กรรณิการ์ในวรรณคดีไทยและบทเพลง

กรรณิการ์ น่าจะมีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย คงถูกนำเข้ามาในประเทศไทยช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา หรือตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะพบชื่อปรากฏในวรรณคดียุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ไว้หลายเรื่องด้วยกัน เช่น



บทละครเรื่องอิเหนา บทพระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย(รัชกาลที่ ๒)
ตอนระเด่นมนตรีชมพรรณไม้ที่ใกล้ถ้ำสดาหนัน ว่า


“พระนึกคนึงนางทางประพาส รุกขชาติที่ในสตาหมัน
พิกุล กรรณิการ์ สารพัน ดอกหล่นปนกันอยู่กลางทราย”

ตอนท้าวปันจะรากันไปในพิธีอภิเษกสังคามาระตา ว่า…

“พอเข้าป่าพาใจชื่น หอมรื่นดอกดวงพวงบุปผา
สาวหยุดพุดจีบปีบจำปา กรรณิการ์มหาหงส์ชงโค
ลำลวนดอกดกตกเต็ม ยี่เข่งเข็มสารภียี่โถ
รสสุคนธ์ปนมะลิผลิดอกโต ดอกส้มโอกลิ่นกล้าน่าดม
มะลิวัลย์พันกิ่งมณฑาเทศ แก้วเกดดอกดกตกอยู่ถม”






Create Date : 07 สิงหาคม 2555
Last Update : 7 สิงหาคม 2555 10:35:02 น. 0 comments
Counter : 5230 Pageviews.

Rain_sk
Location :
Upper Midwest United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 68 คน [?]





"ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ส่งผล
คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง
เมื่อใดบาปให้ผล คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น"
ขุ.ธ. 25/15/24
เวลา 4.57PM :sat,Mar 29,2557



BlogGang Popular Award # 9


BlogGang Popular Award # 10


BlogGang Popular Award # 11


BlogGang Popular Award # 12


Friends' blogs
[Add Rain_sk's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.