ดาวน์โหลดโปรแกรม ดูละครย้อนหลัง อ่านเรื่องราวของความรู้รอบตัว วิทยาศาสตร์ ท่องเที่ยว สุขภาพ อาหาร รถยนต์ต่างๆ ไม่ทิ้งเรื่องราวความบันเทิงและเรื่องส่วนตัวอีกด้วย
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2553
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
30 สิงหาคม 2553
 
All Blogs
 
เบื่อ...โฆษณาในอินเตอร์เน็ต ทำไงดี

จะถือว่าเป็นภัยในชีวิตของเราก็ได้ โดยเฉพาะเราที่ใช้อินเตอร์เน็ตอยู่ทุกวี่วัน เพราะเรื่องโฆษณามากวนใจ กวนตา และพาลเกิดอารมณ์เสีย จนอยากจะปิดๆ เสีย(ขอเว้นบล๊อกนี้สักบล๊อกนะ)

การตลาดมักง่ายบนอินเทอร์เน็ต 'ยุงรำคาญ' แห่งโลกไซเบอร์
กลายเป็นเรื่องที่ต้องทำให้ปวดเศียรเวียนเกล้า เศร้าหัวใจอีกแล้ว เมื่อจู่ๆ ก็มีเจ้าโฆษณา(ชวนเชื่อ) ออนไลน์ได้แพร่ระบาดรุกรานสิทธิส่วนบุคคลเหล่าคอไอทีทั้งหลาย โดยเฉพาะบนพื้นที่โซเชียล เน็ตเวิร์กสุดฮิตอย่าง 'เฟซบุ๊ก'


เรื่องของเรื่อง เหตุการณ์ลักษณะนี้ ไม่ใช่เรื่องเพิ่งเกิด หรือเป็นเรื่องใหม่ๆ แต่อย่างใด เพราะหากลองไปเปิดเว็บบอร์ดสมัยโบราณ (ยุคนี้ไม่มีใครเข้าเล่นแล้ว) ก็จะเห็นกระทู้แบบนี้เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเรื่องทำงานแบบสบายๆ ชนิดกระดิกนิ้วเท้า 2-3 ที ก็มีเงินเข้ากระเป๋า หรือแม้แต่โฆษณาลดความอ้วนที่ต่างโหมกระหน่ำโพสต์ต์เข้ามาชนิดไม่เกรงใจเจ้าของบอร์ด จนถึงขั้นที่หลายคนต้องปิดเว็บหนี หรือไม่ก็ให้ตั้งค่า Verification code (กรอกตัวเลข) เพื่อเป็นปราการแรกว่า คนที่เข้ามาโพสต์ต์นั้นเป็นมนุษย์จริงหรือเปล่า จนปัญหาทุเลาลงไปได้

แต่อย่างว่า มีล้มก็ต้องมีลุก เพราะหลังจากหนทางตีบตันได้ ผู้ก่อการร้าย (ทางไซเบอร์) ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงวิธีใหม่ บุกทะยานถึงตัวบุคคลมากขึ้น โดยคราวนี้มาในรูปอีเมล ซึ่งบางคนพอเห็นถึงกับร้องกรี๊ดอารมณ์ร้อนขึ้นสูงปรี๊ด! เพราะคาดไม่ถึงว่า จะถูกรุกหนักขนาดนี้

แถมล่าสุด ยังได้แพร่พันธุ์ไปสร้างความขยะแขยงตามแรงวิทยาการของโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเฟชบุ๊ก ทวิตเตอร์ เอ็มเอสเอ็น ต่างมีหมด แน่นนอนว่าใครเจอเรื่องแบบนี้เข้าไปก็คงเซ็งเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น งานนี้คงถึงเวลาแล้ว ที่จะหามาตรการเด็ดขาดมาจัดการกับ 'ยุงรำคาญบนโลกออนไลน์' พวกนี้สักที

‘จัมป์’ ขยะออนไลน์ คนไอทีร้องยี้‏

ฮอตมากเป็นที่รังเกียจมากที่สุดในโลกออนไลน์ยุคนี้ และกำลังถูกโจมตีอย่างหนัก คือ 'จัมป์ แมกกาซีน ออนไลน์' (Jump Magazine Online) ที่มีศิลปินเกาหลีหน้าใสขวัญใจหนุ่มอย่าง 'วันเดอร์เกิร์ลส์' (Wonder Girls) ขึ้นปกหราเรียกแขกให้เข้ามาดู

คอนเซ็ปต์ของนิตยสารไซเบอร์ฉบับนี้ก็ไม่ใช่ธรรมดา เพราะช่วยลดโลกร้อนได้อย่างดีจากการไม่ต้องสิ้นเปลืองกระดาษในการตีพิมพ์ แถมยังอัดแน่นไปด้วยเคล็ดลับการรักษาสุขภาพแบบต่างๆ มากมาย แต่ที่จะตะหงิดๆ อยู่บ้าง คงเป็นเพราะการรับสมัครหาทีมประชาสัมพันธ์แมกกาซีนออนไลน์ สุดท้ายกลายเป็นการชวนไปฟังแผนการตลาดของบริษัทขายตรงยี่ห้อหนึ่ง

จะส่งมานำเสนอกันพอเป็นกระสาย ก็คงไม่ขัดใจคนไอทีเท่าไร แต่สุดท้ายพี่จัมป์แกเล่นส่งเช้าส่งเย็น ส่งถี่ ส่งบ่อย จนสร้างความรำคาญใจให้แก่คนจำนวนมาก จนถึงขั้นมีการตั้งหน้าเพจในเฟซบุ๊ก เป็นกลุ่มประณามการกระทำดังกล่าว จนเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ในโลกไซเบอร์อยู่ในขณะนี้

ไม่ต้องรู้สึกแปลกแยก ถ้าคุณเป็นผู้หนึ่งที่นิยมการเล่นเฟซบุ๊กและได้รับคำเชิญให้ไปร่วมเป็นทีมงานประชาสัมพันธ์นิตยสารออนไลน์ฉบับดังกล่าว เพราะยังมีเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกันกับคุณอีกกว่า 1 แสนคน!

เพราะหลังจากได้ลองเข้าไปตรวจสอบคำเชิญให้ร่วมกิจกรรมของจัมป์ แมกกาซีน (ที่มีอยู่หลายอันมาก) มีผู้ถูกรับเชิญในหลักหมื่นไปจนถึงมากกว่า 1 แสนคน

สุรศักดิ์ นักศึกษาปริญญาโท ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่โชคดีได้รับโฆษณาขยะออนไลน์ชิ้นนี้เช่นกัน ซึ่งเจ้าตัวมิได้ยินยอมพร้อมใจแม้แต่น้อย แต่คงโชคร้ายสำหรับเจ้าของแมกกาซีน ตรงที่เขาไม่ได้ชื่นชอบนักร้องเกาหลีเป็นทุนเดิมจึงทำให้เขาไม่หลงไปเป็นเหยื่อคำกล่าวอ้างอันสวยหรูที่แนบมาด้วย แต่หนุ่มคนนี้ก็เปิดอกตรงๆ ว่าเมื่อได้รับบ่อยๆ เข้าก็สร้างความเบื่อหน่ายไม่น้อย

“ผมได้รับครั้งแรกเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ครั้งแรกที่เห็นนี่มานั่งรอผมอยู่ในอีเมลแล้วครับ แต่ก็ยังไม่ยอมเปิดอ่านเพราะไม่สนใจการขายตรงเท่าไร รู้สึกว่ามันไร้สาระ ปกติผมจะอ่านเมลที่ลงชื่อจากคนที่เรารู้จักหรืออยู่ในรายชื่อผู้ติดต่อของเราอย่างเดียว แต่สุดท้ายมันไม่ได้หยุดส่งมา หลังๆ จะส่งมาบ่อยขึ้นครั้งละ 2-3 เมล จนผมเซ็งมาก ไม่รู้ว่าจะส่งมาทำไมหลายครั้ง เพราะส่งมายังไงก็ไม่สนใจอยู่ดี” หนุ่มปริญญาโทเล่าถึงจุดเริ่มต้นของความเบื่อหน่าย

กอปรกับการที่ สุรศักดิ์ เริ่มได้ยินเสียงบ่นจากเพื่อนๆ ถึงการรุกรานผ่านทางเฟซบุ๊กในลักษณะคล้ายๆ กัน เขาจึงพบว่าทั้งสองอย่างนี้มาจากแหล่งเดียวกัน

“เพื่อนๆ ก็มีการบ่นว่า มีการส่งคำเชิญมาบนเฟชบุ๊กให้ไปเข้าร่วมกิจกรรมสมัครงานได้รายได้ดี ผมจึงเอะใจว่าแท้จริงแล้วโฆษณาที่ส่งมาให้คืออะไรกันแน่ จึงตัดสินใจเปิดอ่านและหาข้อมูลจนพบว่าโฆษณานิตยสารจัมป์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทอาหารเสริมยี่ห้อหนึ่ง เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบการตลาดให้คนหลงเชื่อง่ายขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ผมก็เคยได้รับเมลขยะแบบนี้นะ เช่น โฆษณาเกี่ยวกับการลดน้ำหนัก เรื่องความสวยความงาม หรือแม้แต่โฆษณาที่ชวนให้ไปสมัครงานรายได้ดี ซึ่งทั้งหมดก็เหมือนๆ กัน”

ขณะที่ กาญจนา นิ่มเมือง พนักงานบริษัทเอกชน ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้รับสารพัดคำเชิญ ที่อ้างว่าจะทำให้เธอได้รายได้ระดับหลักหมื่นต่อเดือน แม้ทำงานแบบพาร์ทไทม์

“ตอนแรกเราก็เห็นจากเฟซบุ๊กเพื่อนก่อน ซึ่งเราก็ไม่ได้สนใจอะไร แต่ดูผ่านๆ ก็รู้สึกว่าน่าสนใจดีนะ เอานักร้องดังมาขึ้นปกได้ด้วย ถ้าเปิดให้เข้าชมเมื่อไร เราไม่พลาดแน่ แต่พอเราได้คำเชิญบ้าง เราก็พบว่ามันเป็นการชวนไปสมัครงานเลยกดปุ่มไม่เข้าร่วมด้วย แต่หลังจากนั้นก็มีส่งมาเรื่อยๆ จนเราเบื่อมาก ก็เลยต้องปล่อยทิ้งไว้แบบนั้น นานๆ ถึงจะลบสักที ส่วนพวกเพื่อนที่ทนไม่ไหวก็เข้าไปโพสต์ต์ข้อความด่ากันใหญ่”

กาญจนา ยังเล่าเพิ่มเติมอีกว่า เธอยังได้รับคำขอเป็นเพื่อน (Add as friend) จากหญิงสาวหน้าตาดี ชื่อไพเราะ มากเป็นพิเศษในช่วงนี้ ซึ่งไม่มีข้อมูลอื่นระบุเอาไว้เลย ว่าเป็นใคร มาจากไหน เธอจึงตัดสินใจไม่สานสัมพันธ์ต่อ เนื่องด้วยความหวาดระแวง

“เราเจอแบบนี้ก็เริ่มกลัวว่าจะมีอะไรแอบแฝงหรือเปล่า ที่ผ่านมาได้รับคำขอถึง 30-40 คน ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือมีรูปประจำตัวที่สวยๆ แบ๊วๆ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเกี่ยวข้องกับโฆษณาที่เราได้รับหรือเปล่า เพราะมันมากจนผิดปกติ เราก็เลยตัดสินใจไม่ยุ่งดีกว่า”

การตลาดมักง่าย ไม่ใช่เรื่องใหม่ในโลกไซเบอร์

หลายคนอาจจะสงสัยว่าพวกเขาเหล่านั้น ไปหาอีเมล หาเฟซบุ๊กของพวกเรามาได้อย่างไร ในประเด็นนี้ ดร.ภิเษก ชัยนิรันดร์ อาจารย์ประจำภาควิชาการเงิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย ผู้เขียนหนังสือเรื่อง 'การตลาดแนวใหม่ผ่าน โซเชียล มีเดีย' มีคำตอบ

“วิธีที่เขาหาอีเมลชาวบ้านตาดำๆ มาได้ ก็คือการใช้โปรแกรมดูดอีเมล ซึ่งจะรวบรวมเอาอีเมลที่พบเจอทั้งหมดมาเก็บไว้เป็นฐานข้อมูลซึ่งมีมานานแล้วครับ ในประเทศไทยก็มีรับบริการส่งอีเมลไปตามผู้ส่งเหล่านี้ เช่น ผมจะส่งให้คุณ 1 แสนอีเมล แค่คุณจ่ายเงินให้ผม 3-4 พันบาท โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องมีฐานข้อมูลอีเมลเลย” เขาเปิดเผยข้อมูลอันน่าตกใจ

แต่อย่างไรก็ดี การตลาดแบบ 'มักง่าย' เหล่านี้ ดร.ภิเษก ผู้อยู่ในสังคมอินเทอร์เน็ตมาโดยตลอด อธิบายว่าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด

“ตั้งแต่มีอินเทอร์เน็ตมา โฆษณาก็มีมาเป็นของคู่กันโดยตลอดครับ เริ่มแรกก็มาจากเว็บบอร์ด ที่มีการโพสต์ข้อความโฆษณา รวมไปถึงแบนเนอร์ (ป้ายโฆษณา) ที่จะแปะไว้ตามเว็บในจุดต่างๆ จนลามมาถึงอีเมลโฆษณาและการสร้างหน้าเพจเพื่อโปรโมต สินค้า บุคคล หรืออะไรก็ตามบนหน้าเฟซบุ๊ก”

แต่โดยมากแล้วสื่อโฆษณาต่างๆ ในอินเทอร์เน็ตที่เราพบเห็นมักจะเคารพ 'ความเป็นส่วนตัว' ของผู้ใช้อยู่เสมอถึงแม้ว่าแบนเนอร์จะมีภาพเคลื่อนไหวสีสันฉูดฉาดหรือวิ่งไล่ตามเวลาเลื่อนเพจขึ้นลงบ้าง แต่ก็เป็นแค่การเรียกร้องความสนใจเท่านั้น

“สิ่งที่น่าเบื่อคือเมื่อเริ่มมีคนกลุ่มที่หาประโยชน์จากช่องทางเหล่านี้ ยุคแรกเว็บบอร์ดของผมก็เคยถูกถล่มเหมือนกัน ผมจะโดนโพสต์ข้อความซ้ำๆ จำนวนมากๆ ลงในหน้าเว็บบอร์ด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโฆษณาลดน้ำหนัก”

ครั้นเมื่อด็อกเตอร์ผู้นี้ทนไม่ไหวโทร.ไปแสดงความไม่พอใจ ก็ได้รับคำตอบว่าเป็นการโพสต์โดยโปรแกรมซึ่งทางบริษัทอาหารเสริมได้ตั้งค่าเอาไว้ โดยเรียกการโพสต์เหล่านี้ว่า 'พาราไดซ์โพสต์' (ข้อความจากสรวงสวรรค์) แต่ ภิเษก บอกว่าเขาเต็มใจจะเรียกว่า 'เฮลโพสต์' (ข้อความจากขุมนรก) เสียมากกว่า

รายต่อมาที่ถูกจ่อคิวเชือดก็คืออีเมล ซึ่งตามปกติแล้ว จะมีการสอบถามความสมัครใจก่อนทุกครั้งในการรับจดหมายโฆษณา หรือจดหมายข่าว ตามหลักที่เรียกว่า 'เพอร์มิสชัน มาร์เกตติ้ง' (การตลาดที่ได้รับความยินยอมพร้อมใจ) อย่างที่เรามักได้เห็นช่องให้ติ๊กเลือกก่อนว่าจะรับจดหมายข่าวจากเว็บไซต์หรือไม่

“แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะเคารพกฎ เพราะก็อย่างที่ผมได้กล่าวไปในข้างต้น มีการรวบรวมอีเมลจำนวนมากๆ แล้วส่งคำเชิญไปโดยไม่สนใจการขออนุญาต จนเป็นที่มาของการถูกขนานนามว่า ‘จังก์เมล’ (Junk Mail) ที่แปลว่าจดหมายขยะนั่นเอง”

ซึ่งแม้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะพยายามใช้โปรแกรมเพื่อกรองอีเมลขยะสักเท่าไร แต่ก็ยังพบการเล็ดลอดเข้ามาได้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ส่วนหนึ่งก็เพราะความเนียนของบริษัทเหล่านี้ ที่มักตั้งหัวข้อหลอกเราให้ตายใจ

“ปกติอีเมลขายของก็แทบไม่มีใครเปิดอ่านหรอกครับ แต่เขาฉลาด เลยใช้วิธีตั้งหัวข้ออีเมลให้ดูเป็นมิตร เช่น ‘สวัสดีจ้ะ ไม่เจอกันนานเลย’ ให้เหมือนเพื่อนทักทายทายเพื่อน หรือ ‘อยากรู้จักสาวเซ็กซี่ไหมคะ’ อะไรแบบนี้ผู้ชายก็รีบเปิดดูอยู่แล้ว แต่พอเปิดไปไม่เซ็กซี่เลย มีแต่ขายของ” ด็อกเตอร์อธิบายถึงกลยุทธ์เหนือเมฆ

“หลักการของการตลาดแบบนี้ คือเขาหวังว่า ถ้าส่งไป 1 แสนคน มีสัก 100 คน สนใจก็คุ้มแล้ว เพราะแทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลย”


มุมมองนักการตลาด : ยิงกราดไปใช่ว่าดี


เช่นเดียวกับนักการตลาดอย่าง ผศ.ดร.ธีรพันธ์ โล่ห์ทองคำ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ธรู เดอะ ไลน์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ที่มองว่าการทำการตลาดที่เข้าถึงคนหมู่มาก อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง หากวางกลยุทธ์ไม่เหมาะสม และขาดการวางแผนที่ดี

“การทำตลาดแบบออนไลน์ มาร์เกตติ้ง ถือเป็นรูปแบบการทำตลาดสมัยใหม่ ซึ่งไปตรงกับวิถีชีวิตการรับสื่อของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน เพราะนอกจากช่องทางออฟไลน์ในอดีต ตอนนี้ผู้บริโภคก็สนใจที่จะรับสื่อออนไลน์มากยิ่งขึ้น เพียงแต่ว่า วิธีการทำสื่อออนไลน์คงต้องพิจารณาในหลายปัจจัยด้วยกัน

“โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่จะเมสเสจไปหา ต้องพิจารณาว่าใช่กลุ่มเป้าหมายของเราหรือไม่ คือต้องหาฐานข้อมูลสนับสนุนด้วย ต้องหาคนมากลั่นกรองข้อมูลก่อนจะส่งไป เช่น คุณจะโฆษณาเรื่องลดความอ้วน คุณก็ต้องตรวจสอบว่า คนที่ส่งไปนั้นเขามีน้ำหนักส่วนสูงอยู่ในกลุ่มที่เราคิดว่า เขาควรจะลดน้ำหนักไหม เพราะถ้าเราทำการบ้านมาดีก็จะลดความรู้สึกไม่ดีกับการส่งครั้งนั้น แต่ปัญหาของบ้านเราก็คือไม่มีคนทำหน้าที่ตรวจสอบตรงนี้ พอได้อีเมล เฟชบุ๊ก หรือทวิตเตอร์เขามาก็ส่งเลย”

อีกเรื่องหนึ่งที่ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญมาก ก็คือ ต้นทุนการตลาด เพราะการโฆษณาทางสื่อออนไลน์ถือได้ว่าถูกมาก จนทำให้นักการตลาดบางคนก็มองแต่เรื่องนี้เพียงอย่างเดียว จนลืมมองถึงความรู้สึกของผู้รับ ซึ่งอาจบานปลายไปถึงขั้นที่ผู้รับรู้สึกไม่ดีกับตัวแบรนด์ เพราะเข้าไปในจังหวะที่ไม่เหมาะสม หรือเข้าไปวุ่นวายกับชีวิตมากเกินไป เพราะต้องมาเสียเวลาลบทิ้ง

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าวิตกในทุกวันนี้ คือการที่นักโฆษณาออนไลน์ส่วนใหญ่ในตลาด เป็น 'มือสมัครเล่น' ที่ไม่ได้มีความผูกพันกับแบรนด์ ไม่ได้ผูกพันกับธุรกิจ และที่สำคัญไม่ได้รู้สึกเสียหายกับผลที่จะเกิดขึ้นหากมีอะไรตามมา เพียงแต่ทำงานที่รับจ้างมาเป็นรายวัน เพราะแค่อาศัยคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งก็ส่งไปหาคนหลายแสนคนได้แล้ว

“หลักการของการโฆษณาทางโทรทัศน์มันมีระบุไว้นะว่า คุณจะต้องออกอย่างน้อยเท่าไหร่จึงจะมีประสิทธิภาพในการจูงใจ และคุณห้ามออกเกินเท่าไรเพื่อให้ลูกค้าไม่รู้สึกเบื่อหน่ายกับตัวโฆษณา ในทำนองเดียวกัน โลกออนไลน์ก็เหมือนกัน การส่งไปเยอะๆ แล้วคิดว่าเขาอาจจะสนใจเป็นเรื่องไม่จริงเลย เพราะถ้าเขารู้สึกว่ามันไม่ใช่เขาก็หนีตั้งแต่ครั้งแรกแล้ว คือถ้าเปิดมาเป็นบริษัทนี้ จั่วหัวเหมือนกันเขาก็ไม่อ่านแล้ว ลบทิ้งทันที เหมือนที่เราเปิดตู้ไปรษณีย์มาแล้ว เห็นพวกจดหมายขายของก็ขยำทิ้งทันทีเลย”

แน่นอนว่าหากยังมีกลุ่มคนทำการตลาดมักง่ายแบบนี้ต่อไปบนโซเชียล เน็ตเวิร์ก อนาคตของการทำการตลาดด้านโซเชียล มีเดีย ที่กำลังสดใส ก็อาจจะกลายเป็นที่หวาดระแวงของผู้คนได้ในระยะยาว

ผิดกฎหมายหรือเปล่า?

หลังจากรำคาญกันมาสักพักใหญ่ คนไอทีหลายคนก็เริ่มหาวิธี 'ปราบ' โฆษณาขยะเหล่านี้ และสิ่งหนึ่งที่ถูกเล็งเอามาใช้เป็น 'อาวุธ' คู่กาย ก็คือ 'กฎหมาย'

หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ความจริง การส่งอีเมลหรือข้อความรบกวนผ่านระบบคอมพิวเตอร์นั้น ถือเป็นความผิดซึ่งถูกระบุไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 กับเขาด้วย โดย พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ติมุลา รองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ได้อธิบายถึงมาตรา 11 ของพระราชบัญญัติ ซึ่งระบุเอาไว้ว่า

'ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นโดยปกปิด หรือปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูลดังกล่าว อันเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุข ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท'

ซึ่งตรงนี้ก็หมายรวมถึงการส่งในอีเมลแบบไม่พึงประสงค์อย่างเช่นการชักชวนให้ทำงานออนไลน์ หรือโฆษณาลดน้ำหนักต่างๆ เพราะเมื่อพิจารณาถึงรูปแบบและข้อความที่ได้รับแล้ว ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ปรากฏแหล่งที่มาแทบทั้งนั้น

“ผมว่า เมลขยะพวกนี้ไม่ค่อยบอกจริงชื่อจริง นามสกุลจริงหรอก แม้แต่เครื่องผมเองก็มีเมลแบบนี้ อ้างชื่อคนโน้นคนนี้ แบบนี้ถือเป็นการปลอมแปลงแหล่งที่มา ซึ่งเราแจ้งความได้ โดยเจ้าหน้าที่ก็มีหน้าที่ตามโดยดูร่องรอยหลักฐานจากอีเมลว่ามาจากไหน ซึ่งมาจะตามมาหมดเวลาที่เราเช็ก แต่อย่างว่า เรื่องแบบนี้ก็มีแต่คนบ่น แต่ยังไม่มีคนไหนมาร้องทุกข์เป็นเรื่องเป็นราว”

อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ก็ชี้ว่ากฎหมายตัวนี้แม้จะการควบคุมที่ชัดเจน แต่ก็ยังถูกจำกัดเฉพาะในระบบคอมพิวเตอร์ที่เป็นส่วนบุคคล อย่างเช่นอีเมลส่วนบุคคลเท่านั้น ขณะที่ระบบเฟชบุ๊ก กฎหมายตัวนี้ยังเอื้อมไปไม่ถึง

“ต้องเข้าใจก่อนว่าเฟซบุ๊กนั้น ไม่ใช่คอมพิวเตอร์ของเรา แต่เจ้าของตัวจริงอยู่ที่อเมริกา เป็นของบริษัทเฟชบุ๊กเขา ดังนั้นการที่เราเจอคำเชิญอะไรโผล่ขึ้นมารบกวน ก็ไม่ถือว่าเป็นความผิด ซึ่งวิธีง่ายๆ ก็คืออย่าไปสนใจ หรือไม่ก็แจ้งกับทางเฟซบุ๊กด้วยตัวเอง”


แต่ล่าสุด กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า หากธุรกิจขายตรงใดที่มีการทำแชร์ลูกโซ่แอบแฝง และใช้วิธีการชักชวนที่ไม่โปร่งใส ทางดีเอสไอก็พร้อมจะดำเนินคดีตามกฎหมาย

...................

วิธีรอดพ้นจากเงื้อมมือสื่อขยะ

ปัจจุบันนี้ ผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนมาก เริ่มรวมกลุ่มกันเพื่อต่อต้านการทำการตลาดในลักษณะดังกล่าว ซึ่งอาศัยการสร้างเพจเพื่อประณามและแสดงจุดยืน เช่น 'พวกเราเบื่อเกลียดรำคาญอีผีแมกกาซีนผีลดน้ำหนักหรือผี (ขอสงวนนาม) อย่างแร๊ง!!!' 'คนเบื่อ Jump Magazine' 'รำคาญ Jump Magazine Online' และ 'มั่นใจว่าคนไทยในเฟซบุ๊กรำคาญจั้มแมกกาซีน' และยังมีอีกมากมายนับไม่ถ้วน

ล่าสุดหลายกลุ่มได้ค้นพบวิธีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโฆษณาขยะดังกล่าวแล้ว โดยใช้วิธีเปลี่ยนอีเมล ที่ใช้ล็อกอินเฟซบุ๊ก เพราะถ้าอีเมลของคุณเคยได้รับเมลขยะมาก่อน แสดงว่าอีเมลของคุณอยู่ในเงื้อมมือของพวกเขาเหล่านั้นเรียบร้อยแล้ว

เพียงแค่คุณเข้าไปที่ Contact Information แล้วเพิ่มอีเมลใหม่ ที่ไม่เคยถูกรบกวนจากเมลโฆษณามาก่อน แล้วลบอีเมลเก่าของคุณออก เท่านี้ก็จะสามารถเล่นเฟซบุ๊กอย่างสงบสุขได้
แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเก็บอีเมลใหม่ของคุณให้อยู่รอดปลอดภัยจากบริษัทเหล่านี้ได้นานแค่ไหน ทางที่ดีอย่าใช้เมลทำอะไรเลยจะดีกว่า เพราะถ้าออกสู่สายตาประชาชีเมื่อไหร่ น่าจะไม่รอดสันดอนอย่างแน่นอน

ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์


Create Date : 30 สิงหาคม 2553
Last Update : 30 สิงหาคม 2553 10:29:23 น. 0 comments
Counter : 1266 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

scimovie
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 108 คน [?]




แหล่งรวบรวมความรู้ โปรแกรม เพลง หนัง เกมส์ วิทยาศาสตร์ ดูละคร เรื่องย่อ ภาพยนตร์ การเงิน และอื่นๆ อีกมากมาย สุดท้ายขอกำลังใจให้มีแรงอัพเดทตลอดๆ ครับ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยียนกันครับ
Friends' blogs
[Add scimovie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.