ดาวน์โหลดโปรแกรม ดูละครย้อนหลัง อ่านเรื่องราวของความรู้รอบตัว วิทยาศาสตร์ ท่องเที่ยว สุขภาพ อาหาร รถยนต์ต่างๆ ไม่ทิ้งเรื่องราวความบันเทิงและเรื่องส่วนตัวอีกด้วย
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2552
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
28 พฤศจิกายน 2552
 
All Blogs
 
การเดินทางของก้อนหิน(จบ)

หินแปรและคนแซะหิน


ภาพ : //www.sarakadee.com/

๑๒๐ กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ บนถนนพหลโยธิน : โรงงานหินอ่อนสระบุรี

หินท้องถิ่นที่สร้างชื่อเสียงให้สระบุรีมาเป็นเวลานานกว่า ๔๖ ปี ได้แก่ หินอ่อนจากเหมืองของบริษัทหินอ่อน จำกัด เพราะที่นี่เป็นเหมืองหินอ่อนแห่งแรกของประเทศไทย และดำเนินงานแบบรัฐวิสาหกิจมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๙
"เป็นเรื่องตื่นเต้นของยุคนั้นมาก ที่มีการค้นพบหินอ่อนเป็นครั้งแรก และยังพบว่า หินอ่อนสระบุรีมีคุณภาพเทียบเคียงได้กับหินอ่อนที่นำเข้ามาจากอิตาลี เพื่อนำมาใช้ก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังบางปะอิน และวัดเบญจมบพิตร" คุณปรีชา เรืองมาศ ผู้จัดการเหมืองหินอ่อนสระบุรีเล่าให้ฟังถึงความเป็นมา
หินอ่อนสีขาวชื่อ "ขาวสระบุรี" มีสีที่ใกล้เคียงกับ "ไวท์คาร่า" ของอิตาลี ส่วนหินอ่อนสีเข้มกว่านั้นก็มีลวดลายใกล้เคียงกับ "ลายเมฆอลาเบสกาโต" แม้เวลาจะผ่านไป ๔๖ ปี สีของหินอ่อนสระบุรีที่ขุดได้ก็ยังไม่ผิดเพี้ยนไปจากวันแรก ๆ ที่เปิดโรงงาน
ปัจจุบันหินอ่อนที่นี่ถูกส่งไปกรุงเทพฯ เพื่อใช้ในการก่อสร้างสถานที่สำคัญ ๆ เช่น วัดตรีทศเทพ วัดหัวลำโพง ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ เป็นต้น
คุณปรีชาเปิดเผยว่า ปลายทางของหินอ่อนนั้นไกลกว่าหินอื่น ๆ เพราะถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ใช้ในการฟอกสีน้ำตาลและกระดาษให้มีสีขาว อุตสาหกรรมพลาสติก ใช้บำบัดน้ำเสียในบ่อกุ้งและโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนี้ทุกเช้าเราทุกคนจะต้องเจออณูเล็ก ๆ ของหินอ่อนซึ่งถูกนำมาใช้ทำยาสีฟันด้วย
ผมเดินทางขึ้นมาสู่ยอดเขาจุดสูงที่สุดของเหมืองหินอ่อน ที่นี่ผมได้พบกับวิรัช คนงานที่กำลังตัดหินอ่อนและค่อย ๆ แซะหินออกมาจากภูเขา วิรัชเล่าถึงการตัดหินอ่อนว่า ปัจจุบันการตัดหินอ่อนสักก้อน ออกมาจากภูเขาด้วยเส้นลวดที่ทำมาจากเพชร จะใช้เวลาแค่ ๔ ชั่วโมง ซึ่งถ้าเทียบกับการตัดด้วยลวดรุ่นเก่าที่เป็นลวดทราย จะใช้เวลาตัดถึง ๒-๓ วัน หลังจากการแซะหินอ่อนก้อนใหญ่ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสออกมาจากภูเขา มันจะถูกขนลงไปแปรรูปที่โรงงานข้างล่าง ซึ่งขั้นตอนการตัดและขัดเงา ไม่แตกต่างจากการแปรรูปหินแกรนิต คนงานที่ทำงานอยู่หน้าเหมืองหินอ่อนแทบทุกคน จะดูเท่ด้วยการสวมแว่นตาดำ แท้จริงแล้วสถานการณ์บังคับให้ต้องสวมแว่นดำ เนื่องมาจากสีขาวโพลนของภูเขา จะสะท้อนแสงแดดให้บรรยากาศรอบกายสว่าง และร้อนกว่าปรกติ มุมหลบร้อนของวิรัช และคนงานคนอื่น ๆ คือเต็นท์ที่กางให้ร่มเงาไปตกลงบนก้อนหินอ่อนที่เรียบสนิท นี่คือมุมที่สบายที่สุด เพราะมีลมพัดชายเขา และมีความเย็นของหินอ่อนแผ่มาสู่ตัวเวลาเราหย่อนกายลงไปสัมผัสกับหิน หากมองผ่านหน้าผาเรียบลงไปที่หน้าเหมืองเบื้องล่าง จะมองเห็นหินอ่อนก้อนยักษ์เหลือเพียงก้อนขนาดเล็กนิดเดียว
เมื่อใกล้เวลาอาหาร อาจจะมีใครสักคนในที่นี้จินตนาการว่า มันเป็นก้อนเต้าหู้นิ่ม ๆ อร่อย ๆ ก็เป็นได้
จากยอดเขาในบริเวณนี้จะมองเห็นภูเขาอีกลูกหนึ่งตั้งอยู่ประจันหน้า ภูเขาลูกนั้นถูกเปิดทำเป็นเหมืองหินปูน การเปิดหน้าเหมือง ทำให้มองเห็นว่าสีของหินในภูเขาเป็นสีเทาเข้ม ระหว่างภูเขาทั้งสองลูกมีเพียงแค่ถนนกั้น จึงน่าแปลกใจที่แนวถนนกลายเป็นตัวแบ่งพรมแดนของหินสองชนิด เพราะยังมีภูเขาอีกลูกหนึ่ง ที่อยู่ฟากถนนเดียวกันกับเหมืองหินอ่อนก็มีสีขาวเป็นเนื้อหินอ่อนชัดเจน
หินอ่อนจัดเป็นหินแปรชนิดหนึ่งซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากหินปูน โดยเริ่มต้นจากการทับถมกันของตะกอนในทะเล เช่น ซากหอยและปะการัง เมื่อเวลาผ่านไปเนื้อตะกอนประสานกันจนกลายเป็นหินปูน
วันดีคืนดีมีปรากฏการณ์สำคัญสองปรากฏการณ์ที่ทำให้หินปูนแปรเปลี่ยนเป็นหินอ่อน ปรากฏการณ์แรกคือ ชั้นหินปูนที่อยู่ก้นทะเลค่อย ๆ ยกตัวขึ้นมาทีละน้อยจากกระบวนการแปรสัณฐาน ความสูงที่เพิ่มขึ้นปีละไม่กี่มิลลิเมตร ติดต่อกันเป็นเวลานับแสนนับล้านปี ทำให้ชั้นหินปูนใต้ทะเลค่อย ๆ ยกตัวขึ้นเป็นภูเขา ปรากฏการณ์ที่ ๒ คือ ในระหว่างที่กระบวนการยกตัวดำเนินไป เกิดการแทรกตัวขึ้นมาของหินร้อนเหลวที่ขึ้นสู่ผิวโลก ในลักษณะการระเบิดของภูเขาไฟ หรือจากการเย็นตัวใต้เปลือกโลกเป็นหินอัคนีระดับลึก ในช่วงที่หินร้อนเหลวค่อย ๆ เย็นตัว ความร้อนที่อยู่ภายในหินได้ถ่ายทอดออกมาสู่ชั้นหินปูนที่อยู่รอบ ๆ ทำให้แร่ที่อยู่ในหินปูนค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ จนกลายเป็นหินอ่อนในที่สุด ลักษณะการแปรสภาพแบบนี้เรียกว่า "การแปรสภาพแบบสัมผัส" (contact metamorphism)
ในกรณีของภูเขาหินปูน และภูเขาหินอ่อนที่นี่อยู่ห่างกันเพียงแค่ถนนคั่น อาจสันนิษฐานได้ว่า ในบริเวณนี้แนวของหินอัคนีที่อยู่ใต้ดิน อาจวางตัวในทิศทางเดียวกันกับแนวถนนก็เป็นได้ หินปูนในสระบุรีเป็นหินยุคเปอร์เมียน อายุของหินปูนประมาณ ๒๘๐-๒๖๐ ล้านปีล่วงมาแล้ว ส่วนหินอัคนีทั้งชนิดที่เย็นตัวใต้เปลือกโลก และชนิดที่เป็นหินภูเขาไฟ มีอายุประมาณ ๒๖๐-๒๓๐ ล้านปีล่วงมาแล้ว อยู่ในช่วงมหายุคพาลีโอโซอิกต่อเนื่องกับมหายุคมีโซโซอิก กระบวนการแปรเปลี่ยนจากหินปูนมาเป็นหินอ่อน จึงน่าจะเกิดตั้งแต่ช่วงเวลานั้นเป็นต้นมา

๑๖๘ กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ บนถนนมิตรภาพ : บ่อหินกาบ

ในบริเวณเขตรอยต่อของอำเภอกลางดงกับอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา สองฟากถนนมีหินกาบจำหน่ายอยู่ตามเต็นท์ข้างทาง หินกาบเหล่านี้เป็นหินแปรชนิดหนึ่งที่คนโบราณรู้จักดีในชื่อ "หินชนวน" เพราะคนโบราณนำหินนี้ไปทำกระดานชนวนสำหรับเขียนหนังสือ โคลงกลอนของกวีศรีปราชญ์ หรือสุนทรภู่ ก็ล้วนแต่เคยโลดแล่นบนกระดานชนวนมาแล้วทั้งสิ้น
การแซะหินชนวนออกมาจากภูเขา ไม่ยุ่งยากเหมือนการแซะหินอ่อน เนื่องจากหินชนวนมีลักษณะเป็นกาบ หรือเป็นแผ่นบาง ๆ ที่เรียงซ้อนกันอย่างหน้ากระดาษที่เรียงอยู่ในหนังสือ การแซะหินจึงไม่ต้องใช้เครื่องมืออะไรมาก นอกจากสิ่วกับค้อนและสองมือของคนงาน
ในท่ามกลางแดดจ้า คนงานราว ๔๐ คนกระจายกันออกไปแซะหินชนวนในบ่อหินสามสี่บ่อ งานหนัก ๆ เช่นงานแซะหินออกมาจากภูเขาและงานยกหิน จะเป็นงานของผู้ชาย ส่วนงานที่ต้องอาศัยความละเอียด เช่นการแซะหินก้อนใหญ่ ๆ ออกมาเป็นแผ่นบาง ๆ และคัดขนาดแผ่นหินชนวน จะเป็นงานของผู้หญิง
"การแซะหินนั้นไม่ยากหรอก แต่การเรียงหินนั้นยากกว่ากันเยอะ" ปราโมทย์ มันอาสา คนงานหนุ่มรุ่นกระทง ส่งเสียงบ่นมาตามลม
จริงของปราโมทย์ที่ว่ายังมีงานที่ยากกว่านั้นอีก นั่นคือการเรียงหินชนวนขึ้นบนรถบรรทุกสิบล้อ เพราะมันต้องใช้คนงานถึง ๑๕ คนและใช้เวลาถึง ๑ ชั่วโมงเพื่อช่วยกันยกช่วยกันเรียงหินชนวนให้เต็มคันรถ คนเรียงหินจะต้องเรียงหินชนวนในแนวตั้งแบบการเรียงหนังสือบนชั้น เมื่อเรียงป็นแถวจนเต็มแล้วก็จะตั้งแถวซ้อนกันขึ้นไปอีกสองสามชั้น
ในวันนี้ หินชนวนจากบ่อหินจะเดินทางลงใต้ไปกับรถบรรทุกเป็นระยะทางเกือบ ๑,๐๐๐ กิโลเมตร สิ้นสุดการเดินทางด้วยการกลายเป็นหินตกแต่งอาคาร
หากจะย้อนรอยการเดินทางไปสู่การกำเนิดของหินชนวนที่นี่ จะพบว่าเมื่อหลายร้อยล้านปีก่อน ตะกอนดินและทรายเม็ดเล็กละเอียดราวเนื้อแป้ง ถูกน้ำและลมพัดพาไปตกตะกอนรวมกันเข้าจนเป็นชั้นหินตะกอน บริเวณปากแม่น้ำ หรือไหล่ทวีปในท้องทะเล เมื่อเวลาผ่านไป ชั้นตะกอนเพิ่มขึ้นหลาย ๆ ชั้น ทำให้ชั้นตะกอนที่อยู่ด้านล่างถูกแรงกดทับและประสานกันเป็นหินดินดาน วันดีคืนดีเกิดมีหินร้อนเหลวดันตัวขึ้นมา ความร้อนที่หินร้อนเหลวปลดปล่อยระหว่างที่มันจะเย็นตัวลงกลายเป็นหินอัคนี ผนวกกับความดันที่เกิดขึ้น ทำให้หินดินดานแปรเปลี่ยนเป็นหินชนวน
การแปรเปลี่ยนที่เกิดเนื่องจากความร้อน และความกดดันรวมกันในบริเวณอำเภอปากช่องนี้ จะเกิดพร้อมกับกระบวนการเกิดของเทือกเขาเพชรบูรณ์ การแปรเปลี่ยนชนิดนี้เรียกว่า การแปรสภาพบริเวณไพศาล (regional metamorphism)
หินแปรส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากกระบวนการแปรเปลี่ยนในลักษณะนี้ นอกจากหินอ่อนและหินชนวนที่กล่าวมาแล้ว ยังมีหินแปรอื่น ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ หินควอตไซต์ หินชีสต์ และหินไนส์

หินชั้นกับปราสาทหิน


ภาพ : //www.sarakadee.com/

เส้นทางตั้งแต่อำเภอปากช่องไปจนถึงเขื่อนลำตะคอง เป็นเส้นทางที่พาเราเข้าสู่อาณาจักรของหินทราย ภาคอีสานมีเนื้อที่หนึ่งในสามของประเทศไทย มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง และมีภูเขายอดตัดกระจายตัวอยู่ทั่วไป ด้านหนึ่งของขอบเป็นเทือกเขาที่อยู่ทางทิศตะวันตก ได้แก่ เทือกเขาเพชรบูรณ์และดงพญาเย็น ซึ่งสูงกว่าอีกด้านหนึ่งทางทิศตะวันออก
ที่เป็นเช่นนี้เพราะประเทศไทยเกิดจากการประกบตัวของแผ่นดินสองผืนคือฉานไทยกับอินโดจีน แผ่นดินฉานไทยคือพื้นที่ที่เป็นภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ไปจนจดแหลมมลายู ส่วนแผ่นดินอินโดจีนคือพื้นที่ภาคอีสาน รวมไปถึงบางส่วนของประเทศลาว เวียดนาม และกัมพูชา ชายขอบที่แผ่นดินทั้งสอง ประกบกันในลักษณะที่แผ่นดินฉานไทยอยู่ด้านล่างและงัดให้แผ่นดินอินโดจีนสูงขึ้น เป็นเทือกเขาเพชรบูรณ์เมื่อประมาณ ๒๐๐ ล้านปีก่อน
การงัดของแผ่นดินฉานไทยและการสูงขึ้นของเทือกเขาเพชรบูรณ์ทำให้แม่น้ำมูล และแม่น้ำชีไหลจากทิศตะวันตกลงสู่แม่น้ำโขงทางทิศตะวันออก ในบางพื้นที่ชั้นหินทรายที่เรียงตัวซ้อนกันเป็นชั้น ๆ อาจจะถูกยกให้เชิดขึ้น และอาจทำให้ชั้นหินเกิดการคดโค้งโก่งงอ ในบางพื้นที่รอยแตกของแผ่นดิน ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการดังกล่าว ทำให้หินร้อนเหลวแทรกตัวขึ้นมากลายเป็นหินภูเขาไฟ หรือหินอัคนีระดับลึกตลอดแนวขอบทางฝั่งตะวันตกของภาคอีสาน และการแทรกตัวของหินอัคนีรวมกับความดันที่แผ่นดินทั้งสองผืนกระทำต่อกัน เป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้เกิดหินแปร ซึ่งกระจายอยู่ตลอดแนวขอบของภาคอีสานเช่นเดียวกัน

๒๐๗ กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ บนถนนมิตรภาพ : แหล่งหินตัด

หากพูดถึงภาพรวมของพื้นที่ภาคอีสานแล้ว สามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากว่า นี่คือ อาณาจักรแห่งหินทราย
ชาวขอมฉลาดเลือกในการนำหินทรายมาใช้ เพราะมันตัดง่าย และแซะออกมาจากเนินเขาก็ง่าย ด้วยความเป็นหินชั้นของมัน ดังนั้นเวลายก หน้าหินจึงเรียบและหลุดออกมาทั้งก้อน
ระหว่างนั่งในแหล่งหินตัดคนเดียวเงียบ ๆ ผมเกิดคำถามในใจว่า ถ้าหากหินทรายพูดได้ มันจะพูดว่าอะไร
ผมว่ามันอาจจะคุยใหญ่คุยโตน่าดูทีเดียว เนื่องจากหินทรายเป็นหินที่พบในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ และช่างขอมก็นำหินทรายไปสร้างสิ่งมหัศจรรย์ของโลกมาแล้ว นอกจากนี้มันก็จัดอยู่ในจำพวกหินชั้น ซึ่งเป็นหินที่นักธรณีวิทยาและนักโบราณคดีให้ความเชื่อถือ เนื่องจากในการสะสมตัวของตะกอนแต่ละชั้น ได้บันทึกความเป็นมาของโลกในยุคนั้นไว้ในรูปของฟอสซิล ที่แทรกตัวอยู่ในชั้นหิน
น่าภาคภูมิใจอยู่ไม่น้อยที่มีเพื่อนร่วมรุ่นดัง ๆ อย่างไดโนเสาร์
หินทรายคงจะคุยข่มหินอัคนี หินแปร แทนเพื่อน ๆ หินชั้นของมัน ในทำนองว่า
"อั๊วน่ะรุ่นเดียวกับไดโนเสาร์นะ"
"แหล่งท่องเที่ยวที่มีหินสวย ๆ ทั้งหลายก็เด็กอั๊วทั้งนั้น"
"ภูทอก ภูผาเทิบ ภูกระดึง ภูหลวง ลานหินปุ่ม และลานหินแตก ใช่หมดเลย"
หากมีการลำดับญาติ ลำดับรุ่นของหินทรายด้วยกันคงมีดังนี้ รุ่นแรกได้แก่หมวดหินน้ำพอง ภูกระดึง พระวิหาร เสาขัว ภูพาน มหาสารคาม ภูทอก ตามลำดับ หมวดหินทั้งหมดนี้รวมอยู่ใน "กลุ่มหินโคราช" ซึ่งมีอายุปลายยุคไทรแอสสิก จูแรสสิก จนถึงยุคครีเทเชียส
หินทรายแต่ละหมวดของกลุ่มหินโคราชเรียงตัวซ้อนกันแบบหน้าหนังสือ แต่เป็นหนังสือที่เปิดแบบญี่ปุ่น นั่นคือ หน้าหนึ่งอยู่ล่างสุด ดังนั้นหมวดหินน้ำพองที่มีอายุมากที่สุดจะอยู่ชั้นล่างสุดและไล่ขึ้นไปเป็น ภูกระดึง พระวิหาร เสาขัว ภูพาน มหาสารคาม และชั้นที่ใหม่ที่สุดคือหมวดหินภูทอก จะอยู่ชั้นบนสุด
ฤดูน้ำหลากที่ผ่านไปฤดูหนึ่งจะพัดพาให้เม็ดทรายมาวางเรียงกันได้สูงเพียงไม่กี่มิลลิเมตร ผมกำลังคิดว่าแล้วกว่าเม็ดทรายจะมาเรียงซ้อนกันเป็นชั้นหนา ๆ จะใช้เวลานานเท่าไร แล้วกว่าชั้นทรายหนา ๆ เหล่านั้นจะประสานกันเป็นหินจะใช้เวลาอีกกี่มากน้อย
ผมตื่นจากภวังค์และจบบทสนทนากับหินเมื่อฝนเริ่มตก ล้อรถเริ่มหมุนอีกครั้งหนึ่งเพื่อมุ่งสู่ปราสาทหินเขาพนมรุ้ง เพื่อย้อนรอยการเดินทางของก้อนหินไปสู่สมัย ๑,๐๐๐ ปีที่แล้ว

๔๓๕ กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ : ปราสาทหินเขาพนมรุ้ง

ผมเคยมาเที่ยวปราสาทเขาพนมรุ้งหลายครั้งแล้ว แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ไม่ได้มาดูปราสาทหิน แต่มาดูหินที่นำมาสร้างปราสาท
น่าตื่นเต้นทีเดียวที่ต้องมายืนอยู่ต่อหน้าปราสาทหิน อันมีลวดลายงดงามที่สุดในประเทศไทย เมื่อแลลอดลายลงไปยังเนื้อหิน ก็พบว่าหินทรายที่สร้างปราสาทหินแต่ละแห่งมีสีไม่เหมือนกัน ปราสาทหินเขาพนมรุ้งเป็นหินทรายสีชมพู ส่วนปราสาทหินพิมายจะออกเป็นสีขาว และยังพบหินทรายบางแหล่งเป็นสีแดงเข้ม หรือสีฟ้าอมเขียว เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะแร่ที่เป็นตัวประสาน ถ้าเป็นแร่เหล็กจะได้หินทรายสีแดง ถ้าเป็นแร่ทองแดงจะได้หินทรายสีฟ้าอมเขียว ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับการสัมผัสอากาศเมื่อเวลาที่หินกำเนิดขึ้นมาด้วย
ชาวขอมโบราณสร้างปราสาทหินกระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่อีสานใต้ไปจนถึงในประเทศ
กัมพูชา รูปแบบและที่ตั้งของปราสาทหินแต่ละแห่งก็แตกต่างกัน บางแห่งสร้างอยู่ใจกลางชุมชน เช่นปราสาทหินพิมาย แต่บางแห่งก็สร้างให้โดดเดี่ยวและอยู่เหนือกว่าชุมชน ดังเช่นปราสาทหินเขาพนมรุ้งและปราสาทหินเขาพระวิหาร
เหตุใดชาวขอมจึงเลือกทำสิ่งที่ยาก เช่นการขนก้อนหินขึ้นไปบนภูเขา เพื่อสร้างเป็นปราสาทหินเขาพนมรุ้งและปราสาทหินเขาพระวิหาร
มีผู้ให้ข้อสังเกตว่า ปราสาทหินทั้งสองแห่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวสถานหรือเป็นที่อยู่ของเทพเจ้า ซึ่งแตกต่างจากปราสาทหินพิมายที่ตั้งใจสร้างขึ้นให้เป็นพุทธสถานอยู่ใกล้ชิดกับคนธรรมดา
เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่ได้ไปเที่ยวชมปราสาทหิน บางครั้งอาจเกิดความรู้สึกทึ่ง และตกอยู่ในภวังค์เมื่อมองเห็นลวดลายที่ช่างขอมแกะสลัก ช่างขอมมีศรัทธาแรงกล้า จึงมานะบากบั่นขนก้อนหินขึ้นไปเรียงเป็นปราสาทอันใหญ่โต และในลวดลายที่วิจิตรนั้น ช่างขอมได้ใส่ชีวิตลงไปในก้อนหิน เพื่อให้ภาพแกะสลักทุกภาพบันทึกเรื่องราวที่ต้องการสื่อออกมาโดยละเอียดและได้อารมณ์ ในปราสาทหินบางแห่งช่างขอมก็ใส่เสน่ห์ลงไปด้วย เช่นรูปสลักนางอัปสรที่นครวัด ด้วยฝีมือชั้นครูของขอมจึงสามารถเนรมิตทั้งเรือนร่าง ทรงผม เครื่องแต่งกายของนางอัปสรให้มีเสน่ห์ยั่วยวนข้ามกาลเวลามาจนถึงปัจจุบัน
ด้วยความสามารถพิเศษที่ไม่มีใครเสมอเหมือน ช่างขอมได้นำหินมาสร้างปราสาทหินเขาพนมรุ้ง ให้มีลวดลายงดงามและมีพลังแม้ตัวปราสาทจะมีขนาดไม่ใหญ่นัก และสร้างปราสาทหินเขาพระวิหาร ให้ตั้งตระหง่านอยู่เหนือหน้าผาหิน เพื่อเป็นที่สิงสถิตของเทพสำหรับมองลงมายังโลกมนุษย์
และในช่วงยุคทอง ช่างขอมก็บรรจงสร้างปราสาทนครวัดให้วิจิตรพิสดาร จนแทบจะไม่น่าเชื่อว่านี่คือผลงานจากน้ำมือมนุษย์
นอกจากหินทรายแล้ว ยังมีหินชั้นชนิดอื่น ๆ อีกโดยเรียงลำดับตามขนาดของตะกอน ได้แก่ กลุ่มหินชั้นที่เกิดจากตะกอนขนาดใหญ่ เช่น หินกรวดมน (conglomerate) หินกรวดเหลี่ยม (breccla) กลุ่มหินชั้นที่เกิดจากตะกอนขนาดเล็กมาก เช่น หินทรายแป้ง (siltstone) หินดินดาน (shale) หินปูน (limestone)

ขอขอบคุณ : ยุทธวงษ์ วงษ์ทอง
จาก //www.sarakadee.com/feature/2002/10/stone.htm


Create Date : 28 พฤศจิกายน 2552
Last Update : 28 พฤศจิกายน 2552 13:51:43 น. 0 comments
Counter : 3171 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

scimovie
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 108 คน [?]




แหล่งรวบรวมความรู้ โปรแกรม เพลง หนัง เกมส์ วิทยาศาสตร์ ดูละคร เรื่องย่อ ภาพยนตร์ การเงิน และอื่นๆ อีกมากมาย สุดท้ายขอกำลังใจให้มีแรงอัพเดทตลอดๆ ครับ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยียนกันครับ
Friends' blogs
[Add scimovie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.