ดาวน์โหลดโปรแกรม ดูละครย้อนหลัง อ่านเรื่องราวของความรู้รอบตัว วิทยาศาสตร์ ท่องเที่ยว สุขภาพ อาหาร รถยนต์ต่างๆ ไม่ทิ้งเรื่องราวความบันเทิงและเรื่องส่วนตัวอีกด้วย
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2552
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
19 สิงหาคม 2552
 
All Blogs
 
เรื่องย่อเทศน์มหาชาติทั้ง 13 กัณฑ์

มหาเวสสันดรชาดก

เนื้อเรื่องย่อ มหาเวสสันดรชาดก จากหนังสือมหาชาติฉลอง 200 ปี สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

ในสมาคมพระญาติศากยวงศ์ประพระอริยสงฆ์ พระพุทธองค์เจ้า สมัยเมื่อสมเด็จละจากมหาวิหารเวฬุวันใกล้กรุงราชคฤห์ อันเป็นราชธานีแห่งมคธ สู่นครกบิลพัสดุ์ แขวงสักกชนบทเพื่อบำเพ็ญญาตัตถจริยาโปรดพระญาติ มีพระเจ้าสุทโธทนพุทะบิดาเป็นประธาน อันพระกาฬุทายีเป็นผู้สื่อสารและนำเสด็จทรงประทับยังนิดครธาราม ไม่ห่างจากมหานคร ตามที่ศากยราชจัดถวายต้อนรับพร้อมด้วยหมู่พระภิกษุ์บริวารเป็นอันมาก(1แสน)ยังมีความยินดีให้แผ่ไปทั่วทั้งกบิลพัสดุ์ ในกาลนั้นความมหัศจรรย์ได้บังเกิดขึ้นเหตุให้ทรงประกาศเรื่องเวสสันดรชาดก

โดยปกติ พระตถาคตเจ้าเสด็จสู่ ณ ที่ใดก็ย่อมเกิดความสุขสวัสดี ณ ที่นั้นเพราะอานุภาคแห่งคำสั่งสอนที่ตรัสประทานด้วยพระมหากรุณา อุปาเสมือนมหาเมฆหลั่งโปรยสายฝนอันเย็นฉ่ำลงมายังโลก ยังความอ้าวระอุของไอแดด ไอดินให้ระงับ ชุบชีพพฤกษชาติที่เหี่ยวเฉา ให้ฟื้นสู่ความตระการด้วยดอกช่อและก้านใบฉะนั้น แต่สำหรับกบิลพัสดุ์ดินแดนที่ทรงถือพระกำเนิด และเจริญวัยมามวลพระญาติและราษฎร์ประชาหาได้ยินดีพุทธวิสัย ธรรมมานุภาพไม่

พระองค์ทรงอุบัติมา เป๊นความหวังของคนทั้งแว่นแคว้น ทุกคนพากันรอคอยอย่างกระหาย ใคร่จะชมพระบารมีจักรพรรดิราช แต่แล้วท่ามกลางความไม่นึกฝันทรงอยู่ในพระเยาวกาลเกศายังดำสนิทไม่มีร่องรอยแห่งสังขาร เท่าที่สมบัติประจำวิสัยบุรุษจะพึงมีพระชายาสิริโฉมป็นเลิศ ให้กำเนิดโอรสอันเป็นสิริแห่งวงศ์ตระกูลอีกเล่า คนที่มีจิตมากอยู่ด้วยมานะทิฐิก็ฉันนั้น

ทรงคงพิจารณาดังนี้ จึงเห็นว่ากิจอันควรก่อนอื่น คือทำรายความกระด้างล้างความถือดีเสียด้วยอำนาจอิทธิปาฏิหาริย์ ทรงกำเนิดจิตเจริญฌาน มีอภิญญาเป็นภาคพื้นลอยขึ้นสู่ห้วงนภากาศ เสด็จลิลาสจงกรมไปมาน่าอัศจรรย์ เพียงเท่านี้เองความคิดข้องใจที่ว่าใครอาบน้ำร้อนก่อนหลัง ก็เสื่อมสูญอันตรธาน พากันก้มเศียรคารวะ แสดงถึงยอมรับนับถืออย่างเต็มใจ เมื่อเสด็จลงประทับ ณ พุทธอาสน์เบื้องนั้น ฝนอันมหัศจรรย์อย่างที่ไม่เคยปรากฏมีมาก่อนก็ตกลง ความมหัศจรรย์มีลักษณะดังนี้

๑. สีเม็ดน้ำฝน แดงเรื่อ เหมือนแก้วทับทิม
๒. ผู้ใดปรารถนาให้เปียกก็เปียก ผู้ไม่ปรารถนาแม้ละอองก็ไม่สัมผัสผิวกาย
๓. ไม่เลอะเทอะขังนอง ก่อให้เกิดโคลนตมอันปฏิกูล พอฝนหาย แผ่นดินก็สะอาด
๔. ตกลงเฉพาะสมาคมพระญาติ ไม่มีผู้อื่นอยู่ร่วมประชุมด้วย

คติในความมหัศจรรย์ โดยอุปมา เท่าที่คิดเห็นและประกาศแล้ว ในที่ทั่วไปดังนี้

ข้อที่ ๑. สีของน้ำฝน ได้แก่สีโลหิตแห่งความชื่นชมยินดี วันนี้เป็นวันที่ศากยราชทั้งปวงรอคอย ก็สมหวังแล้ว เมื่อพระองค์เสด็จคืนกลับมา ให้เขาได้เห็นพระรูปพระโฉมจึงพอกันชื่นบานผิวพรรณก็ซ่านด้วยสายเลือดอย่างที่เรียกราศีของคนมีบุญว่า ผิวพรรณอมเลือดอมฝาด

ข้อที่ ๒. ความชุ่มชื่นของสายฝน ก็ได้แก่พระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงประกาศออกไป มีเหตุมีผลสมบูรณ์ด้วยหลักการ ถ้าผู้ใดตั้งใจฟังด้วยความเคารพธรรม ก็เข้าสัมผัสจิตสำนึก และสามารถจะปรับปรุงจิตของตนตามหลักแห่งเหตุผลนั้น จนกระทั่งจิตตั้งอยู่ในภาวะเยือกเย็นเหมือนผิวกายต้องละอองฝนแต่สำหรับบุคคลที่ฟังสักแต่ว่าฟังธรรมนั้นก็จะไม่กระทบใจ เข้าหูซ้ายทะลุหูขวาอุปมาด้วยฝนไม่เปียก

ข้อที่ ๓. ปกติธรรมะเป็นของสะอาดไม่ก่อทุกข์โทษอันพึ่งรังเกียจ แก่ใครๆ ไม่ว่ากาลไหนๆ

ข้อที่ ๔. พระพุทธจริยาครั้งนี้ ทรงมุ่งบำเพ็ญเฉพาะหมู่พระญาติ ศากยะล้วนๆ
เมื่อเหล่าศากยะ ผู้ได้รับความเย็นกายด้วยสายฝนเย็นใจด้วยกระแสธรรมและกราบบังคมลา พากันกันคืนสู่พระราชนิเวศน์แล้ว แต่นั้นก็ย่างเข้าสู่เขตสนธยากาลแสงแดดอ่อนสาดฝ่าละอองฝน ที่เหลือตกค้างมาแต่ตอนบ่าย ทำให้เกิดบรรยากาศราวกับจะกลายเป็นยามอรุณ ดอกไม้ในสวนเริ่มเผยอกลีบอย่างอิดเอื้อนเหมือนลงเผลอ แม้นกบินกลับรวงรังอย่างลังเล
ภิกษุทั้งหลาย กำลังชุมนุมสนทนากัน ถึงฝนอันมหัศจรรย์และสายัณห์อันพระพุทธองค์ ทรงเสด็จสู่วงสนทนาของภิกษุพุทธสาวก เมื่อทรงทราบถึงมูลเหตุอุเทศแห่งการสนทนานั้น ก็ทรงตรัสแย้มว่า ฝนนี้เรียกว่าฝนโบกขรพรรษ ที่ตกลงมาในปัจจุบันนี้ หาชวนอัศจรรย์ไม่ แม้ในอดีตกาล เมื่อทรงอุบัติเกิดเป็นพระโพธิสัตว์นามว่า เวสสันดร ก็ทรงบำเพ็ญบารมีธรรม จนเป็นเหตุให้ฝนโบกขรพรรษได้ตกลงมานั้นสิ อัศจรรย์ยิ่งกว่า ภิกษุทั้งหลายต่างพากันกราบทูลพรธมหากรุณาให้นำเรื่องครั้งนั้นมาแสดง ซึ่งพระพุทธองค์เจ้าก็ทรงโปรด เรื่องราวพิสดาร แบ่งเป็นสามสิบกัณฑ์ พันคาถา( จากหนังสือเรื่อง เพลงศาสนา ของหลวงตา(แพรเยื่อไม้) )

จำเนียรกาลมา พระนางผุสดีเทพอัปสรสิ้นบุญ จะต้องจุดติ ท้าวสักกะ พระสวามี ทรงทราบ จึงพาพระนางไปประทับยังสวนนันทวัน ในเทวโลก เพื่อความสำราญพระทัยแล้วตรัส บอกว่า บัดนี้เธอสิ้นบุญ จะต้องจุดติ ไปบังเกิดเป็นมนุษย์แล้วฉันให้พร 10ประการ เธอจึ่งเลือกตามใจชอบเถิด
พระนางผุสดี ได้ทูลขอพร 10 ประการ ตามที่พอใจดังนี้
1. ขอให้หม่อนฉันได้อยู่ในปราสาททอง ขอพระเจ้า สีวิราชพระนครสีพี
2. ขอให้หม่อนฉันมีจักษุดำ ดุจนัยน์ตาลูกเนื้อ
3. ขอให้หม่อนฉันมีคิ้วดำสนิท
4. ขอให้หม่อนฉันมีนามว่า ผุสดี
5. ขอให้หม่อนฉันมีพระโอรสที่ทรงเกียรติยศเหนือกษัตริย์ทั้งหลายและมีใจบุญ
6. ในเวลาทรงครรภ์ ขออย่าให้ครรภ์ ขอหม่อนฉันนูนปรากฏ ดังสตรีสามัญ
7. ขอให้หม่อนฉันมีถันงาม ในเวลาทรงครรภ์ก็อย่ารู้ดำและต่อไป ก็อย่าให้หย่อนยาน
8. ขอให้หม่อนฉันมีเกศาดำสนิท
9. ขอให้หม่อนฉันมีผิวงาม
10. ขอให้หม่อนฉันทรงอำนาจ ปลดปล่อยนักโทษได้

ท้าวสักกาเทวราช ก็ทรงประสาทพระพรให้สมประสงค์

เมื่อพระนางผุสดี เทพอัปสรจุติจากสวรรค์ลงมาเกิดเป็นราชธิดาของพระเจ้ามัททราช ครั้นเจริญวัยก็มีสิริรูปงามสมตามที่ปรารถนาไว้ เมื่อมีพระชนมายุได้ 16 พรรษา ก็ได้รับอภิเษกให้เป็นมเหสีของพระเจ้าสัญชัยสิวิรัฐนคร แคว้นสีพีรัฐสมดั่งคำพระอินทร์นั้น ครั้งเมื่อทรงพระครรภ์ครบ ๑๐ เดือน พระอินทร์ก็ทูลอาราธนาพระโพธิสัตว์มาจุติในครรภ์พระนาง ประสูติพระกุมาร
วันหนึ่งพระนางผุสดี ทรงทูลขอพระราชาประพาสพระนคร เมื่อขึ้นสีวิกาเสลี่ยงทองเสด็จสัญจร ไปถึงตรอกทาง ของเหล่าพ่อค้าก็เกิดปวดพระครรภ์ และทรงประสูติพระราชาโอรสกลางตรอกนั้น พระราชกุมารจึงได้พระนามว่า "เวสสันดร"

ในวันที่พระราชกุมารทรงประสูติ พญาช้างฉัททันต์ได้นำลูกช้างเผือกเข้ามาในโรงช้างต้น ช้างเผือกคู่เผือกคู่บารมี นั้นมีนามว่า "ปัจจัยนาเคนทร์" พระราชกุมารเวสสันดร ทรงบริจาคทานตั้งแต่ ๔-๕ ชันษา ทรงปลดปิ่นทองคำ และเครื่องประดับเงินทองแก้วเพชรให้แก่นางสนมกำนัลทั่วทุกคนถึง ๙ ครั้ง เพื่อมุ่งหวังพระโพธิญาณภายภาคหน้า เมื่อทรงเจริญชันษาได้ ๙ ปี ก็ทรงตั้งจิตอธิษฐานว่าจะบริจาคเลือดเนื้อ และดวงหทัย เพื่อมุ่งพระโพธิญาณ ในกาลข้างหน้าอย่างแน่วแน่ ครั้นถึงวัย ๑๖ พรรษา ก็แตกฉานในศิลปวิทยา ๑๘ แขนง ทรงได้ขึ้นครองราชย์ และอภิเษกกับพระนางมัทรี และมีพระโอรสกับพระธิดาพระนามว่า "ชาลีกุมาร" และ "กัณหากุมารี" อันหมายถึง ห่วงทองบริสุทธิ์

เวลาต่อมาเมืองกลิงครัฐเกิดกลียุค ฝนแล้งผิดฤดูกาลข้าวยากหมากแพงเป็นที่ยากเข็ญทุกข์ร้อนไปทั่ว ชาวนครมาชุมนุมร้องทุกข์หน้าวังกันแน่นขนัด พระเจ้ากลิงคราชจึงทรงถือศีล ๗ วัน เพื่อขอบุญกุศลช่วย ทว่าฝนฟ้าก็ยังแล้งหนัก อำมาตย์จึงทูลให้ทรงขอช้างเผือกแก้วปัจจัยนาเคนทร์ของพระเวสสันดร ด้วยว่าพระเวสสันดรกษัตริย์สีพีรัฐนั้นขี่ช้างคู่บารมีไปหนใด ก็มีฝนโปรยปรายชุ่มชื้นไปทั่วแคว้น

พระเจ้ากลิงคราชจึงส่ง ๘ พราหมณ์ไปทูลขอช้างแก้วจากพระเวสสันดร เมื่อได้ช้างแก้วจากพระเวสสันดรแล้ว พราหมณ์ก็ขี่ช้างออกจากกรุง บรรดาชาวนคร เห็นช้างพระราชาก็กรูกันเข้าล้อม และตะโกนด่าทอจะทำร้ายพราหมณ์ทั้ง ๘ คน แต่พราหมณ์ตวาดตอบว่า พระเวสสันดรพระราชทานช้างให้พวกตนแล้ว

เมื่อพราหมณ์นำช้างแก้วไปถึงเมือง ฝนฟ้าก็โปรยปรายลงมาเป็นที่ยินดีทั้งแคว้น

แต่ในกรุงสีพีนั้นกลับอลหม่าน มหาชนต่างมาชุมนุมที่หน้าพระลานร้องทุกข์พระเจ้ากรุงสัญชัยว่า พระเวสสันดรยกพระยาคชสารคู่บ้านเมืองให้คนอื่น ผิดราชประเพณี เกรงว่าอีกต่อไปภายหน้าอาจยกเมืองให้คนอื่นก็ได้ ขอให้เนรเทศพระเวสสันดรออกจากนครเถิด

เมื่อพระนางผุสดี ทรงทราบว่า พระเวสสันดรโอรส ถูกประชาชนกล่าวโทษว่าพระราชทานช้างปัจจัยนาคเป็นทาน และถูกลงโทษให้เนรเทศจากพระนครสีพีก็พระทัย รีบเสด็จมาพบพระเวสสันดรและนางมัทรี ปรับทุกข์กันอยู่ ก็ทรงพระกันแสง โศกาอาดูร แล้วเสด็จเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงสัญชัย ทูลขอประทานอภัยโทษก็ไม่สำเร็จ ด้วยท้าวเธอตรัสว่า ให้เนรเทศ ตามกฎของธรรมศาสตร์ราชประเพณี

ครั้นพระนางผุสดีทรงสดับก็จำนน ก่นแต่โศกร่ำไรรำพันมากมายตามวิสัยมารดาที่รักบุตร ตลอดสาวสนมกำนัลนาง และประชาชนที่รักใคร่ พากันอาลัยทั่วหน้า

รุ่งขึ้นได้เวลา พระเวสสันดรก็ทรงบริจาคสัตสดกมหาทาน คือ การให้ครั้งใหญ่ โดยกำหนดไว้สิ่งละ 700 คือ
1. ช้าง 700 เชือก
2. ม้า 700 ตัว
3. โคนม 700 ตัว
4. รถ 700 คัน
5. นารี 700 คน
6. ทาส 700 คน
7. ทาสี 700 คน
8. สรรพวัตถาภรณ์ต่างๆ อย่างละ 700
9. ที่สุดแม้สุราบาน ก็ได้ประทานแก่นักเลงสุรา

เสร็จแล้วก็ทรงพานางมัทรี ไปทูลลาพระชนก และพระชนนีเพื่อออกไปบำเพ็ญพรตอยู่เขาวงกต พระเจ้าสัญชัยขอให้พระนางมัทรี พระชาลี และนางกัณหาอยู่ พระนางมัทรีไม่ยอมอยู่ ทั้งไม่ยอมให้ลูกอยู่ด้วยเป็นอันถูกเนรเทศด้วยทั้งหมด

รุ่งขึ้นพระเวสสันดร พระนางมัทรี พร้อมด้วยพระโอรสทั้งสองก็เสด็จ ทรงม้าพระที่นั่งเสด็จออกจากนคร บ่ายพระพักตร์เข้าสู่ไพร ก่อนที่จะละพระนครไป ทรงหันกลับมามองพระนครด้วยความอาลัย แล้วก็เสด็จประเวศ ยังไม่ทันพ้นเขตชานพระนคร ก็ทรงประทานม้าและรถแก่พราหมณ์ที่วิ่งตามมาทูลขอ และต่างองค์ก็ทรงอุ้มพระโอรสดำเนินเข้าไป โดยตั้งพระทัยไปเขาวงกต
พระเวสสันดร พร้อมด้วยพระนางมัทรี และพระโอรสเสด็จดำเนินจาก พระนครสีพีด้วยความลำบากตลอดทาง ที่สุดก็ถึงเมืองเจตราชดังประสงค์ จึงแวะเข้าประทับพักพระกายอยู่ที่ศาลาหน้านคร

ครั้นชาวนครเจตราชได้เห็น และทราบความจริงก็ตกใจรีบส่งข่าวสารกราบทูลกษัตริย์นครเจตราช ต่อนั้นบรรดากษัตริย์ขัตติยวงศ์ทั้งหมด ก็พากันเสด็จออกมาเฝ้าเยี่ยม แล้วทูลว่า เทว ข้าแต่พระร่มเกศตระกูลแก่นกษัตริย์ อันว่าสิ่งสรรพพิบัติบีฑา พระร่มเกล้ายังค่อยครองพาราเป็นบรมสุข สิ่งสรรพทุกข์ย่ำยีทั้งองค์สมเด็จพระชนนีนาถยังค่อยเสวยสุขนิราศโรคันตรายทั้งประชาชนชาวสีพีราชทั้งหลายไม่เดือดร้อน ยังค่อยเป็นสุขถาวรอยู่ฤาพระพุทธเจ้าข้า?

นุ ดังเข้ามาสงกากินแหนงในยุบลเหตุ ดังฤาพระจอมปิ่นปกเกศมาเดินไพรนิราศร้างแรมไร้พระพารา ปราศจากจตุรงค์คณานิกรราชรถ ทั้งม้ามิ่งมงคลคช ที่เคยทรง มาดำเนินแต่สี่พระองค์ดูอนาถ ฤาว่ามีหมู่อินทร์ราชมาราวี เสียพระนครสีพีพินาศแล้ว ทูลกระหม่อมแก้วจึงจากพรากพลัดขัตติวงศ์มาบุกป่าฝ่าพงพูนเทวษจนถึงนคเรศ ข้าพระบาทของพระองค์จงตรัสประภาษให้ทราบเกล้า แต่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงเถิด

พระเวสสันดรได้ทรงสดับสาร จึงมีพระราชบรรหารเฉลยเหตุว่า ดูกรพระสหายผู้ผ่านนคเรศเจตราช เราขอบพระทัยที่ท่านไต่ถามถึงประยูรญาติราชปิตุรงค์ ซึ่งท้าวเธอก็ทรงสุขสถาพร ทั้งประชาชนชาวสีพีราชไม่เดือดร้อนระงับภัย ซึ่งเรานิราชเวียงชัยมาสู่ป่า เพราะว่าเราทรงพระราชศรัทธามาเสียสละ พระยาเศวตกุญชรพาหนะพระที่นั่งต้น อันเป็นสีสวัสดิ์มงคลคู่นคร แก่พราหมณ์ทิชากรกลิงคราษฎร์ ชาวพระนครเขามิยอมอนุญาตชวนกันกริ้วโกรธ ยกอธกรณ์โทษทูลพระปิตุเรศ ท้าวเธอจึงสั่งให้เนรเทศเราจากพระพาราด้วยเราทำผิดขัตติยราชจรรยาอย่างบุราณ

จ. พระพุทธเจ้าข้า พระองค์เสด็จเดินพนัสกันดารดูลำบาก เป็นกษัตริย์ตกยากมิควรเลย ขอเชิญเสด็จหยุดพักพอเสวยสุทธาโภชน์สิ่งสรรพรสเอมโอชกระยาหาร ให้บรรเทาที่ทุกข์ทรมานลำบากองค์

ว. จึงตรัสว่า ประชาชนเขาแค้นเคืองทูลให้เนรเทศ เรานิราชมาแรมไพร พระบิดาก็มิได้เป็นใหญ่แต่พระองค์ ย่อมประพฤติโดยจำนงชาวสีพีราชถึงว่าท่านจะไปทูลให้ท้าวเธออนุญาตให้คืนกรุง ชาวเมืองก็จะหมายมุ่งประทุษจิตในสมเด็จบรมบพิตรผู้ร่มเกล้า เพราะเหตุด้วยรับเราเข้าคืนนคร

จ. พระพุทธเจ้า เมื่อมิพอพระทัยคืนพระพิไชยเชตุดรก็ตามแต่พระอัยกาจะขอเชิญเสด็จขึ้นผ่านพระพาราเจตราช เป็นจอมมิ่งมงกุฎ มาตุลนคร เป็นปิ่นปกประชากรเกษมสุข มิให้ท้าวเธอเสด็จไปทนทุกข์ที่กลางดง อันข้าพระบาทจะขอรองบทบงสุ์บรมกษัตริย์

ว. ครั้นพระองค์ได้ฟัง จึงตรัสบัญชาต่อว่า ซึ่งท่านจะมามอบเมืองเจตราช ให้แก่เราในครั้งนี้ เราก็มิได้มีพระทัยยินดีที่จะเสวยสิริสมบัติ ด้วยชาวเชตุดรเขาแค้นขัดให้เนรเทศ ท่ายจะมามอบนคเรศให้ครอบครองพระนครทั้งสองสิเป็นราชสัมพันธมิตร ก็จะเกิดกลวิปริตร้าวฉาน จากจารีตบุราณแต่ปางก่อน จะไม่สมัครสโมสรเสียประเพณี จะเกิดมหาโกลาหลเดือดร้อนทุกไพร่ฟ้าประชากรทั้งสองฝ่ายต่างจะมุ่งหมายประทุษกัน ก็จะเกิดมหาพิบัติภัยยันต์ไม่มีสุขเหตุด้วยเราผู้เดียว จะมานำทุกข์ให้ท่านทั้งปวง สมบัติอันใดในเมืองหลวงเจตราช ซึ่งท่านทั้งหลายมาอนุญาตยกให้ เราขอคืนถวายให้เสวยสุข ท่านจงอยู่นฤทุกข์อย่ามีภัย อันตัวเรานี้จะลาไปสู่วงกตจะทรงประพฤติพรหมพรตอิสีเพศ เชิญท่านช่วยแนะแนววิถีทุเรศให้เราจรไปยังวงกตสิงขรโน้นเถิดฯ
เมื่อกษัตริย์เจตราชทั้งหลาย ทูลเบี่ยงบ่ายจะเชิญเสด็จไว้ ครั้นแล้วท้าวเธอมิตามพระทัยก็สุดคิด จึงทูลเชิญสมเด็จบรมบพิตรให้ประเวศพระนคร หวังจะให้เสวยสุข ไสยากรเกษมอาสน์ ต่อเวลาสุริโยภาสจึงค่อยครรไล
ท้าวเธอก็ถ่อมพระองค์ว่า เข็ญใจไร้ศักดิ์มิได้เสด็จเข้าไปสำนักในพระพาราฯลฯ

ที่สุดกษัตริย์เจตราชก็ให้ตกแต่งศาลาที่ประทับปิดบังด้วยม่านแล้ว ถวายอารักขาให้ดีที่สุด จนสว่างแล้วถวายพระกระยาหารให้เสวย ครั้นเสร็จแล้ว ทูลอัญเชิญไปยังประตูป่า ต้นทางที่จะไปยังเขาวงกตแล้วแนะนำมรรคาให้ทรงกำหนดหมายแล้วทรงตั้งเจตบุตรพรานไพร ให้เป็นพนักงานรักษาประตูป่าถวายอารักขาคุ้มภัยให้เป็นพิเศษด้วย

ต่อนั้น พระเวสสันดรและพระนางมัทรีก็อำลากษัตริย์เจตราชอุ้มพระโอรสดำเนินไปตามแนวทางที่กษัตริย์เมืองเจตราชถวายคำแนะนำไว้ทรงพบพรานเนื้อพรานได้ถวายเนื้อย่าง พระเวสสันดรได้ประทานปิ่นทองเป็นรางวัลแล้วเสด็จต่อไปจนถึงเขาวงกต พบศาลาอาศรมบทซึ่งพระวิษณุกรรม เทพบุตรมานิรมิตตามเทวบัญชาของท้าวอัมรินทร์เทวาธิราช ก็ทรงโสมนัสที่สุด ทั้งสี่กษัตริย์ก็ทรงผนวชเป็นฤาษี สำนักอยู่ในอาศรมนั้นเสวยสุขตามควรแก่ถิ่นฐานทรงดำรงชีพด้วยผลาซึ่งนางมัทรีเป็นพนักงานแสวงหารจำเนียงกาลนานถึง ๗ เดือน โดยกำหนด

สมัยนั้น ในแคว้นกาลิงคะ มีพราหมณ์คนหนึ่ง ชื่อว่า ชูชก อยู่ในบ้าน “ทุนวิฐะ”เป็นนักขอทานที่เชี่ยวชาญ เที่ยวขอไปถึงต่างแคว้นก็เก็บทรัพย์ที่เหลือกินเหลือใช้ไว้ได้ถึง100 กหาปนะ ชูชกได้นำทรัพย์จำนวนนี้ไปฝากพราหมณ์ผัวเมียตระกูลหนึ่งไว้ แล้วเที่ยวขอทานต่อไปอีก

ต่อมาพราหมณ์ผัวเมียคู่นั้น ได้เอาทรัพย์ของชูชกไปใช้สอยเสียหาย ครั้นชูชกกลับมาขอทรัพย์คืน ก็ขัดสนจนใจไม่สามารถจะหามาใช้ได้ ต้องยกนางอมิตตดาลูกสาวให้ชูชกแทนเงินที่เอาไปใช้ ชูชกพานางอมิตตดาไปอยู่บ้านทนวิฐะ นางอมิตตดาได้ปฏิบัติชูชกในหน้าที่ภรรยาที่ดีทุกประการ
เมื่อชายในบ้านนั้นเห็นเข้า ก็พากันสรรเสริญ แล้วดุว่าภรรยาของตนที่เกียจคร้าน เอาแต่เที่ยวเล่น สู้นางอมิตตดาเป็นเด็กกว่าก็ไม่ได้ ครั้นหญิงทั้งหลายในบ้านนั้นถูกสามีตำหนิแทนที่จะรู้สึกตัว กลับพากันเคียดแค้นชิงชังนางอมิตตดาชักชวนกันไปด่าว่านางอมิตตดาที่ท่าน้ำอย่างสาดเสียเทเสีย หมายจะให้นางอมิตตดาหนีไปเสีย หรือไม่ก็ควรประพฤติตนเข้าแบบของตน
นางอมิตตดาเสียใจ จะเอาแบบชาวบ้านนั้นก็ไม่ชอบเพราะไม่เคยอบรมมาคับอกคับใจ ในที่สุดเทวดาดลใจให้บอกชูชกไปขอชาลีกัณหาสองกุมาร พระโอรสของพระเวสสันดรมาเป็นทาสช่วงใช้ แม้ชูชกจะแก่กว่าที่จะเดินทางไปเขาวงกตเพื่อขอสองกุมาร แต่เมื่อถูกเมียสาวขู่บังคับเช่นนั้น ก็ต้องฝืนใจไป ในที่สุดชูชกก็หอบร่างแก่ไปถึงพระนครสีพี เมืองของพระเวสสันดร เพราะความลุกลี้ลุกลนใคร่จะเดินทางไปให้ถึงพระเวสสันดรโดยเร็ว ทำให้ชูชกขาดความรอบคอบไม่เหมือนคราวก่อนๆ ที่เดินทางมาขอทาน เห็นกลุ่มชนที่ใดเป็นถามถึงที่อยู่ของพระเวสสันดรพร้อมทั้งแนวทางที่จะเดินไปให้ถึงที่หมายด้วย

ชาวเมืองสีพีเกลียดหน้านักขอทานเป็นทุนอยู่แล้ว ดังนั้นก็พาโลรี่เข้าใส่ชูชกด่าว่าเจ้ามาเบียดเบียนพระเวสสันดรด้วยให้ท้าวเธอพระราชทานจนเกินไป ถึงลูกขับไล่พระชายาและพระโอรสให้ออกไปอยู่วงกต แล้วเจ้ายังจะกลับมาเอาอะไรอีกพากันหรือไม้ค้อนก้อนดินขับไล่ชูชกเข้าป่าไป
ฝ่ายชูชกหนีชาวเมืองสีพีขับไล่ไปทางเขาวงกตขณะเดินเลาะลัดไป ถูกสุนักของเจตบุตรไล่ล้อม ได้หนีขึ้นต้นไม้ นั่งบนคาคบร้องไห้รำพันถึงคุณพระเวสสันดรเป็นอย่างมาก

ฝ่ายเจตบุตร เจ้าของสุนัขติดตามมา เห็นชูชกอยู่บนต้นไม้ก็แน่ใจว่าชูชกจะมาร้าย คือคงจะไปขอพระนางมัทรีหรือพระโอรสเป็นแน่ ก็พลันคิดว่าจะต้องฆ่ามันเสีย จึงเดินเข้าไปใกล้พลางน้าวหน้าไม้ขึ้น พร้อมกับร้องสันทับว่า แน่พราหมณ์พวกแกเบียดเบียนพระเวสสันดรด้วยพระราชทานเกินไป จนต้องถูกขับไล่จากแคว้นของพระองค์เสด็จไปอยู่เขาวงกต มนุษย์บัดสบอย่างแก ยังจะติดตามมาเบียดเบียนพระโอรสอีก เหมือนนกยางย่องตามหาปลา ฉะนั้น ข้าจะไม่ไว้ชีวิตแก จะยิงแกให้ตายด้วยหน้าไม้นี้
ชูชกตกใจกลัวตาย จึงได้อุบายหลอกเจตบุตรพร้อมด้วยการขู่ว่าช้าก่อนเจตบุตร ข้าเป็นพราหมณ์เป็นราชทูต ซึ่งใครๆ ไม่ควรจะฆ่าจงฟังข้าก่อน บุคคลไม่ควรฆ่าราชทูตนี้เป็นประเพณีมาเก่าแก่

ดูก่อนเจตบุตร บัดนี้ชาวเมืองสีพีหายขัดเคืองแล้ว พระชนกก็ปรารถนาจะพบพระเวสสันดรปิโยรส พระชนนีก็ชรา นัยน์ตาก็มืดมน ท้าวเธอให้ข้าฯ เป็นราชฑูตมาเชิญพระเวสสันดรพระโอรสกลับ ฉะนั้นเจ้าจงบอกแก่ข้าว่า บัดนี้พระเวสสันดรอยู่ที่ไหน?

เจตบุตรดีใจหลงเชื่อในคำลวงชูชก เชื่ว่าชูชกเป็นราชทูตพระเจ้ากรุงสัญชัยพระบิดาให้มาเชิญพระเวรสันดรกลับจริง จึงผูกสุนัขทั้งหลายแล้วให้ชูชกลงจากต้นไม้ให้นั่งที่มีใบไม้ลาดให้โภชนาหารกินปฏิสันถารว่า ท่านพราหมณ์ลุงเป็นราชทูตมาเชิญพระเวสสันดรที่รักของข้าฯ ข้าฯ จะให้กระบอกน้ำผึ้งและเนื้อย่างแก่ลุง ข้าฯ จะบอกสถานที่พระเวสสันดรประทับอยู่ให้
เจตบุตรพราน นายด่านประตูป่า ฟังคารมชูชก หลงเชื่อพอใจ เลื่อมใสนับถือ ยำเกรง ถึงกับเสียสละอาหาร ต้อนรับเลี้ยงดูชูชกเต็มที่ แล้วก็พาชูชกไปยังต้นทางชี้บอกให้ชูชกกำหนดหมายภูเขา และป่าไม้กับพรรณาความงามนานาพฤกษชาติสร้างความยินดีให้มีกำลังใจหายสะดุ้งหวาดกลัวภัยในป่า ทั้งบอกระยะทางที่จะไปพบอาศรมฤาษี ซึ่งเป็นดุจสถานีที่พักในการเดินทางคราวนี้ และจะได้รับความปราณีจากอจุตดาบสบอกทางให้ต่อไป จนถึงอาศรมของพระเวสสันดร

ครั้นชูชกเดินทางไปตามคำแนะนำของเจตบุตรก็พบว่าท่านอจุตฤาษีที่อาศรมไต่ถามทุกข์สุขตามธรรมเนียมของผู้แรกพบ และเมื่อได้รับการปฏิสันถารเป็นอย่างดีของอจุตฤาษีเป็นที่พอใจแล้ว ก็เริ่มถามที่อยู่ของพระเวสสันดรโดยขอให้ช่วยบอกที่อยู่พร้อมทางที่จะไปด้วย

อจุตฤาษีไม่พอใจตัดพ้อตามอารมณ์ว่า ชูชกชะรอยจะมาขอ ชาลีกัณหาพระโอรสไปเป็นทาส หรือ ไม่ก็ขอพระนางมัทรี ไม่ใช่มาดี เป็นคนมาร้ายไม่น่าคบค้าทีเดียว

ชูชกแก้ตัวว่า ท่านอาจารย์เข้าใจผิด แต่ผมไม่โกรธดอก คนอย่างผมหรือจะมาเที่ยวขอให้เสื่อมเสียพงษ์พราหมณ์ ผมมาเพื่อเยี่ยมท่านจริงๆได้เห็นท่านเป็นกุศลได้สมาคมกับท่านเป็นความสุขตั้งแต่ท่านจากเมืองมายังไม่เลยพบปะเลยกรุณณาแนะนำให้ได้พบท่านสักหน่อยเถอะใอชูชกเอาความดีเข้าต่อเช่นนี้ อจุตฤาษีก็ใจอ่อนหลงเชื่อว่าเป็นจริง จึงให้ชูชกค้างอยู่ที่อาศรมคืนหนึ่ง ครั้นรุ่งเช้าจัดให้ชูชกบริโภคผลไม้ เผือกมัน แล้วก็พาไปต้นทางบอกทางไปอาศรมพระเวสสันดรอย่างละเอียดถี่ถ้วน พรรณนาถึงภูเขา ป่าไม้ ฝูงสัตว์ต่างๆ ด้วยเป็นป่าใหญ่ สมกับที่เรียกว่า ป่ามหาชน ชูชกกำหนดจดจำคำปนะนำของอจุตฤาษีจนเป็นที่พอใจแล้ว ก็นมัสการลาไป

คลิกอ่านเรื่องย่อกัณฑ์ที่ 8 - 13 ของเทศน์มหาชาติ

ที่มา
//www.thaigoodview.com/library/teachershow/poonsak/mahachat/chadok_01.html


Create Date : 19 สิงหาคม 2552
Last Update : 7 กันยายน 2552 13:25:56 น. 0 comments
Counter : 8323 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

scimovie
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 108 คน [?]




แหล่งรวบรวมความรู้ โปรแกรม เพลง หนัง เกมส์ วิทยาศาสตร์ ดูละคร เรื่องย่อ ภาพยนตร์ การเงิน และอื่นๆ อีกมากมาย สุดท้ายขอกำลังใจให้มีแรงอัพเดทตลอดๆ ครับ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยียนกันครับ
Friends' blogs
[Add scimovie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.