ดาวน์โหลดโปรแกรม ดูละครย้อนหลัง อ่านเรื่องราวของความรู้รอบตัว วิทยาศาสตร์ ท่องเที่ยว สุขภาพ อาหาร รถยนต์ต่างๆ ไม่ทิ้งเรื่องราวความบันเทิงและเรื่องส่วนตัวอีกด้วย
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2556
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
2425262728 
 
14 กุมภาพันธ์ 2556
 
All Blogs
 
รู้จักระบบ 'ไฮบริด' ก่อนค่ายรถเปิดศึกในไทย



รู้จักระบบ 'ไฮบริด' ก่อนค่ายรถเปิดศึกในไทย

ปัจจุบันรถยนต์ไฮบริดเริ่มเป็นที่คุ้นเคยของคนไทย จากที่ก่อนหน้านี้อาจจะอยู่ในแวดวงแคบๆ ของรถนำเข้า หรือกลุ่มรถหรูบางยี่ห้อเท่านั้น แต่หลังจากยักษ์ใหญ่ “โตโยต้า” ได้มีการรุกตลาดอย่างจริงจัง และฮอนด้าส่ง “แจ๊ซ ไฮบริด” ออกมา บวกกับการสนับสนุนของภาครัฐ ทำให้ปีงูเล็ก 2556 นี้ มีรถรุ่นหลักๆ ในตลาดเปิดตัวเวอร์ชั่นไฮบริดออกมาชนกันดุเดือด แต่ก่อนอื่นมาทำความรู้จักระบบไฮบริดในรถยนต์กันก่อน เพื่อที่จะได้รู้ว่าชื่นชอบแบบไหน? ก่อนจะตัดสินใจเลือกซื้อ…

ในประเทศไทยตอนนี้รถไฮบริดที่คุ้นเคยกันดี คงจะเป็นรุ่นคัมรีและพริอุสของค่ายโตโยต้า โดยเฉพาะรุ่นหลังนี่ถือเป็นรถไฮบริดในเชิงพาณิชย์คันแรกของโลก(ปลายปี 1997) แต่หากจะว่าไปฮอนด้าเป็นรายแรกที่เปิดตลาดรถไฮบริดในประเทศไทย ประเดิมกับ ฮอนด้า อินไซต์ (Insight) 2 ประตู และฮอนด้า ซีวิค ไฮบริด (Dimension) แต่ยุคนั้นราคาน้ำมันยังไม่สูงเท่าทุกวันนี้ และรถไฮบริดยังใหม่อย่างมากในตลาด จึงไม่ประสบความสำเร็จและหายไปจากตลาด ต่อมาเมื่อโตโยต้าได้ทยอยเปิดตัวรถสองรุ่นที่กล่าวมา พร้อมกับขึ้นไลน์ประกอบในไทย ราคาจึงไม่สูงมากนัก และราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ทำให้โตโยต้าสามารถปักฐานให้กับรถไฮบริด จนได้รับความนิยมแพร่หลายในปัจจุบัน (บทความนี้จะเน้นกล่าวถึงโมเดลหลักในตลาด ไม่พูดถึงรถไฮบริดนำเข้าที่เป็นรถเฉพาะกลุ่ม)
อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีรถไฮบริดออกมาหลายรุ่น โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ แต่การทำงานของระบบไฮบริดมีความแตกต่างกัน ตามเทคโนโลยีของแต่ละยี่ห้อ ซึ่งก่อนอื่นมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบรถไฮบริดคร่าวๆ กันก่อน โดยง่ายๆ ตรงตัวตามรากศัพท์ของคำว่า “Hybrid” หมายถึง “การผสมผสาน” หรือ “พันธุ์ผสม” นั่นเอง



ดังนั้นรถไฮบริดจึงเป็นรถที่มีกำลังงานจากสอง(หรือมากกว่า) แหล่งในคันเดียวกัน ซึ่งที่รับรู้กันทั่วไปในปัจจุบัน คือรถที่มีเครื่องยนต์สันดาปภายใน(เบนซิน หรือดีเซล) ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า (มีแบตเตอรี่เป็นแหล่งพลังงาน) สำหรับการขับเคลื่อนรถนั่นเอง หรือบางจังหวะอาจจะทำงานเดี่ยวๆ ขึ้นอยู่กับระบบหรือเทคโนโลยีไฮบริดของรถนั้นๆ (ปัจจุบันเริ่มมีรถไฮบริดแบบปลั๊ก-อิน หรือใช้ไฟฟ้าบ้านร่วมด้วย และจะเป็นเทรนด์ต่อไปในอนาคตเร็วๆ นี้)
แน่นอนการที่ต้องมีแหล่งกำลังอื่นมาช่วยขับเคลื่อน จุดประสงค์สำคัญเพื่อการลดใช้พลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงนั่นเอง!!
โดยหลักการทำงานคร่าวๆ ของรถไฮบริด คือขณะออกตัวไม่ต้องการกำลังมาก จะใช้เครื่องยนต์หรือมอเตอร์ไฟฟ้า(ขึ้นกับระบบไฮบริด) ในการขับเคลื่อนหลัก แต่เมื่อต้องเร่งแซง หรือใช้ความเร็วสูง และขึ้นทางลาดชัน เครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าจะทำงานผสานกัน เพื่อให้ได้กำลังเพียงพอต่อการใช้งาน แต่เมื่อเบรกหรือลงเขาเครื่องยนต์ไม่ต้องการกำลัง จึงเปลี่ยนกำลังที่ได้จากแรงเฉื่อย กลับไปในรูปไฟสำรองเก็บไว้ในแบตเตอรี่ เพื่อนำกลับมาใช้งานต่อไป และเมื่อรถจอดเครื่องยนต์จะดับช่วยประหยัดพลังงาน





โดยต้นแบบระบบไฮบริดประกอบด้วย 2 แบบหลักๆ คือแบบอนุกรม หรือซีรีส์ (Series Hybrid ) ที่อาศัยระบบใดระบบหนึ่งในการขับเคลื่อน ซึ่งหน้าที่หลักเครื่องยนต์จะไปหมุนเจนเนอเรเตอร์ปั่นไฟฟ้าเข้าแบตเตอรี่ เพื่อจ่ายให้กับมอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนรถเป็นสำคัญ
จุดเด่นของระบบนี้อยู่ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนรถเป็นหลัก เครื่องยนต์เป็นตัวปั่นพลังงานให้ แต่ด้วยต้นทุนที่สูงโดยเฉพาะแบตเตอรี่ที่ต้องเก็บไฟไว้ให้ได้เยอะ ถ้าน้อยก็พึ่งเครื่องยนต์ช่วยตลอด ทำให้ต้องใช้เชื้อเพลิงมากอยู่ดี ระบบไฮบริดแบบนี้จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมนัก
ปัจจุบันที่มีในตลาดเห็นจะเป็น “เชฟโรเลต โวลต์” (Volt) แม้จีเอ็มจะไม่ยอมรับว่าเป็นรถไฮบริด เพราะได้มีการพัฒนาอีกขั้นให้สามารถชาร์จไฟฟ้าตามบ้านมาช่วยด้วย จึงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าเป็นรถไฟฟ้า หรือไฮบริด แต่ถ้าว่ากันตามนิยามตราบใดรถที่ยังใช้เครื่องยนต์พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล(น้ำมัน) ร่วมอยู่ จึงขอรวบไปอยู่ในกลุ่มรถไฮบริดไว้ก่อน
ส่วนอีกแบบเป็นระบบคู่ขนาน หรือพาราลเลล(Parallel Hybrid) เป็นการทำงานของเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าทำงานคู่กัน หรือเป็นการทำงานเสริมกันนั่นเอง โดยที่กำลังขับเคลื่อนหลักจะเลือกอะไร อยู่ที่สถานการณ์ต่างๆ ตามที่ต้องการรถในเวลานั้น แต่ระบบนี้มอเตอร์ไฟฟ้าจะไม่สามารถขับเคลื่อนรถเพียงอย่างเดียว ดังนั้นเครื่องยนต์จึงยังต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่จะมากหรือน้อยเท่านั้น ทำให้ยังมีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ แม้จะมีมอเตอร์ไฟฟ้ามาช่วยให้ประหยัดลงก็ตาม
“ฮอนด้า แจ๊ซ ไฮบริด” เป็นรถยนต์ที่ใช้ระบบพาราลเลล ซึ่งตามภาษาของฮอนด้าเรียกเทคโนโลยีไฮบริดของตนเองว่า IMA (Integrated Motor Assist) โดยใช้กำลังเครื่องยนต์เป็นหลักในการขับเคลื่อน โดยมอเตอร์ไฟฟ้าจะมาเสริมในช่วงต้องการกำลังสูง เมื่อมีมอเตอร์ไฟฟ้ามาช่วยเครื่องยนต์จึงไม่ทำงานหนัก ทำให้ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง ขณะที่การทำงานอื่นๆ เป็นไปตามหลักการของระบบไฮบริด

สำหรับ “ฮอนด้า ซีวิค ไฮบริด” ที่กำหนดจะเปิดตัวในไทย วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ น่าจะเป็นสเปกเดียวกับในต่างประเทศ กับเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร(รุ่นเดิม 1.3 ลิตร) ทำงานผสานกับมอเตอร์ไฟฟ้า สามารถให้กำลังสูงสุด 110 แรงม้า ส่งกำลังด้วยระบบขับเคลื่อนเกียร์ CVT มีอัตราสิ้นเปลืองประมาณ 18.5 กม./ลิตร โดยระบบไฮบริดเป็นแบบ IMA แต่พัฒนาให้ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันจากรุ่นเดิม
นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีการพัฒนาระบบไฮบริด ด้วยการรวมเอาข้อดีของทั้งสองแบบมาไว้ด้วยกัน จึงเรียกแบบอนุกรม/คู่ขนาน (Series/Parallel) หลักการทำงานจึงขึ้นอยู่กับสภาวะการขับขี่ ขณะนั้นต้องการกำลังมากหรือน้อยแค่ไหน หากมากจะผสานช่วยกัน ทั้งเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า หรือหากไม่ต้องการมากจะใช้เพียงตัวใดตัวหนึ่ง ขึ้นอยู่กับสภาวะการณ์นั่นๆ จุดเด่นระบบไฮบริดแบบนี้อยู่ที่การใช้มอเตอร์ไฟฟ้ามาขับเคลื่อนเดี่ยวๆ ได้ ทำให้ประหยัดน้ำเชื้อเพลิงมากขึ้น
รถที่ใช้รูปแบบนี้จะเป็น “โตโยต้า พริอุส-คัมรี” ที่ทำตลาดในไทยปัจจุบัน ซึ่งระบบไฮบริดแบบนี้บ้างก็เรียกว่า Power Split Type โดยโตโยต้าถือเป็นผู้นำระบบนี้อยู่ ยิ่งรุ่นพริอุสนับว่าเป็นผู้นำเลยทีเดียว ในฐานะที่เกิดมาเพื่อเป็นรถไฮบริด เพราะได้มีการพัฒนามาโดยตรง ก่อนจะนำระบบไฮบริดดังกล่าว หรือที่โตโยต้าเรียกว่า THS (ปัจจุบันเป็นเจนเนอเรชั่น 2- THS II) มาใส่ในรุ่นทั่วไปอย่าง โตโยต้า คัมรี และรุ่นอื่นๆ รวมถึงแบรนด์เลกซัสในเครือ
หลักการทำงานของรถไฮบริดโตโยต้า (รวมถึงแบรนด์เลกซัสในเครือ) ในช่วงจังหวะออกตัวจะใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการทำงาน และเมื่อขณะเร่งแซง หรือขึ้นทางชัน เครื่องยนต์จะทำงานผสานกับมอเตอร์ไฟฟ้า โดยระบบไฮบริดของโตโยต้าจะมีมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว แยกกันทำหน้าที่ในการขับเคลื่อน และทำตัวเป็นเจนเนอเรเตอร์ปั่นไฟไปเก็บไว้ในแบตเตอรี่ จึงทำให้สามารถแสดงประสิทธิภาพการทำงานได้ดี เมื่อบวกกับระบบไฮบริดทั้งหมด จะเห็นว่าในโตโยต้า พริอุส เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร ทำงานผสานกับมอเตอร์ไฟฟ้า ให้กำลังสูงสุด 110 แรงม้า ส่งกำลังด้วยเกียร์ CVT โดยมีอัตราสิ้นเปลืองเคลมไว้ที่ 25 กม./ลิตร และที่สำคัญสามารถวิ่งด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าอย่างเดียวได้ แม้ความเร็วกับระยะทางจะไม่มากนักก็ตาม

สำหรับรถไฮบริดอื่นๆ ที่เข้ามาทำตลาดในไทย ระบบไฮบริดคล้ายหรือเป็นเช่นเดียวกับโตโยต้า อย่างรถหรู “บีเอ็มดับเบิลยู แอคทีฟ ไฮบริด5” (BMW Active Hybrid 5- ซีรี่ส์ 5 ไฮบริด) ที่เข้ามาเปิดตลาดในไทยแล้ว แต่ยังจะไม่รุกมากนัก คาดว่าจะโหมเต็มที่เมื่อ “แอคทีฟ ไฮบริด 3” หรือซีรี่ส์ 3 ไฮบริด เข้ามาทำตลาดในอีกไม่นานนี้ ซึ่งรถรุ่นนี้มากับเครื่องยนต์เบนซิน 3.0 ลิตรเทอร์โบคู่ ทำงานผสานกับมอเตอร์ไฟฟ้า ให้กำลังสูงสุด 350 แรงม้า ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ มีอัตราสิ้นเปลือง 5.9 ลิตร/ 100 กม. หรือประมาณ 17 กม./ลิตร
ขณะที่คู่แข่งสำคัญ “เมอร์เซเดส-เบนซ์ อี-300 บลูเทค ไฮบริด”(E300 BlueTEC Hybrid) คู่แข่งของบีเอ็มดับเบิลยู ซีรี่ส์ 5ไฮบริด ซึ่งเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย จะนำเข้ามาทำตลาดแน่นอนในปีนี้ และเตรียมจะขึ้นไลน์ประกอบในไทยด้วย โดยจุดเด่นของรถรุ่นนี้อยู่ที่เครื่องยนต์ดีเซล 2,143 ซีซี 204 แรงม้า(105 กิโลวัตต์) ทำงานผสานกับมอเตอร์ไฟฟ้า 20 กิโลวัตต์ ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ มีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมัน 4.2-4.3 ลิตร/ 100 กม. หรือประมาณ 23 กม./ลิตร
นี่เป็นเรื่องราวของระบบไฮบริดในปัจจุบัน ซึ่งเป็นแบบหลัก ๆ ที่ค่ายรถนำมาใช้ในรถไฮบริดของตัวเอง และหลายรุ่นเตรียมตบเท้าของมาทำตลาดในไทย ทำให้ตลาดปีงูเล็ก 2556 นี้ แข่งขันกันดุเดือดแน่อน!!

ที่มา
//www.manager.co.th/Motoring/ViewNews.aspx?NewsID=9560000019007


Create Date : 14 กุมภาพันธ์ 2556
Last Update : 14 กุมภาพันธ์ 2556 18:52:12 น. 0 comments
Counter : 1216 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

scimovie
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 108 คน [?]




แหล่งรวบรวมความรู้ โปรแกรม เพลง หนัง เกมส์ วิทยาศาสตร์ ดูละคร เรื่องย่อ ภาพยนตร์ การเงิน และอื่นๆ อีกมากมาย สุดท้ายขอกำลังใจให้มีแรงอัพเดทตลอดๆ ครับ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยียนกันครับ
Friends' blogs
[Add scimovie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.