ดาวน์โหลดโปรแกรม ดูละครย้อนหลัง อ่านเรื่องราวของความรู้รอบตัว วิทยาศาสตร์ ท่องเที่ยว สุขภาพ อาหาร รถยนต์ต่างๆ ไม่ทิ้งเรื่องราวความบันเทิงและเรื่องส่วนตัวอีกด้วย
Group Blog
 
<<
กันยายน 2552
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
12 กันยายน 2552
 
All Blogs
 
ผะหมีวิทยาศาสตร์

ผะหมีวิทยาศาสตร์


Get 1000's of FREE Screensavers Now!


ผมขอเสนอเกมปริศนาผะหมี ให้ครูและนักเรียนที่ต้องเล่นนำไปเล่นทายกัน โดยมุ่งให้นำไปประกอบการเรียนการสอนในวิทยาศาสตร์ หัวเรื่อง สัตว์ นะครับ ทำไว้ 2 เกม(ผะหมีเหมือนกัน)

ดาวน์โหลดเกมปริศนาผะหมี สัตว์ 1


ดาวน์โหลดเกมปริศนาผะหมี สัตว์ 1


ปริศนาผะหมี

คำว่า ผะหมี อาจฟังดูแปลก เพราะเป็นคำที่มาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว ผะ แปลว่า ตี หรือ ทำให้แตก ส่วนคำว่า หมี หรือ มี้ แปลว่าดำ ความมืด ปัญหา หรือ อำพราง เมื่อนำมารวมกันคำว่า ผะหมี จึงแปลว่า การตีความมืด หรือการแก้ปัญหาที่อำพรางอยู่ให้ชัดเจนขึ้นมา นั่นเอง

ปริศนาผะหมี เป็นที่นิยมเล่นเพื่อฝึกสมอง ประลองปัญญา กันในหมู่นักปราชญ์ของจีน สำหรับปริศนาผะหมีของไทย สันนิษฐานกันว่าเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยได้ดัดแปลงการเล่นมาจากปริศนาแบบจีน มีการตั้งโรง การแขวนปริศนาคำทาย เช่นเดียวกับแบบจีนแต่จะแต่งคำถามเป็นปริศนาด้วยคำประพันธ์ไทย เช่นโคลง ฉันท์ กาพย์ หรือกลอน ปริศนาผะหมีมีเอกลักษณ์ต่างจากปริศนาร้อยกรองอื่นๆ ตรงที่ธงหรือคำตอบของปริศนาที่ถามนั้นจะมีความสัมพันธ์กัน เช่น พ้องคำหน้า พ้องคำหลัง หรืออื่นๆ อีกหลายแบบ ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป

เพื่อให้เข้าใจปริศนาผะหมีให้ง่ายขึ้น จะขอยกตัวอย่างการถามตอบปริศนาผะหมีง่ายๆ สักข้อดังนี้

ชิ้นส่วนของสัตว์สีดำนำมาเขียน
นกอะไรบินวนเวียนแพร่เชื้อหวัด
ให้ระวังตัวพยาธิที่เกี่ยวรัด
โปเตโต้ร้องถนัดมัดใจแฟน
(โดย คุณว้อบแว้บ*)

ซึ่งคำตอบคือ ปากกา, ปากห่าง, ปากขอ, ปากดี

ชิ้นส่วนของสัตว์สีดำนำมาเขียน - ปากกา
นกอะไรบินวนเวียนแพร่เชื้อหวัด - ปากห่าง
ให้ระวังตัวพยาธิที่เกี่ยวรัด - ปากขอ
โปเตโต้ร้องถนัดมัดใจแฟน - ปากดี

จากตัวอย่างจะเห็นว่าคำถามของผะหมีจะเป็นร้อยกรอง (ในที่นี้ใช้กลอนแปดในการตั้งคำถาม) และคำตอบของผะหมีในข้อนี้ มีความสัมพันธ์กันคือพ้องคำหน้าคือคำว่า "ปาก" เหมือนกันทั้ง ๔ คำตอบ

วิธีเล่นผะหมี

นอกจากคำว่าผะหมี แล้วยังมีคำเรียกปริศนาลักษณะนี้หลายอย่าง เช่น พะหมี โจ๊ก ปริศนาร้อยกรอง ปริศนาคำกลอน ปริศนากวี ปริศนาคำประพันธ์ ฯลฯ ตามแต่ละยุคสมัยหรือตามแต่ละท้องที่จะเรียกกัน กฎเกณฑ์ กติกา การถามตอบปริศนาก็แตกต่างกันไปตามแต่ละแห่งที่เล่นเช่นกัน

การเล่นผะหมีประกอบด้วยผู้เล่น ๒ ฝ่าย คือฝ่ายผู้ตั้งปริศนาและฝ่ายผู้ตอบปริศนา ฝ่ายผู้ตั้งปริศนาจะต้องคิดหาคำ ที่มีความสัมพันธ์กันเพื่อนำมาตั้งเป็นปริศนา (มักจะเรียกคำตอบที่สัมพันธ์กันดังกล่าวว่า "ธง" หรือ "คำเฉลย") แล้วจึงแต่งคำถามปริศนาด้วยคำประพันธ์ไทย เช่นโคลง ฉันท์ กาพย์ หรือกลอน

ผะหมีที่เล่นโดยทั่วไปนั้น ผู้ตั้งปริศนา (มักเรียกว่า "นายโรง" หรือ "นายโจ๊ก") จะคิดตั้งปริศนาไว้เป็นจำนวนมาก แล้วนำปริศนามาเขียนลงแผ่นกระดาษ แขวนไว้เพื่อให้ผู้ตอบปริศนามาตอบ ผู้ตอบปริศนาต้องการตอบแผ่นใดก็จะบอกนายโรง เพื่อให้สัญญาณเริ่มตอบ แผ่นใดมีผู้ตอบปริศนาได้ก็จะปลดออก แล้วแขวนแผ่นใหม่แทน

สำหรับการเล่นผะหมีในบ้านผะหมีนั้น เนื่องจากเป็นการเล่นถามปริศนาในเว็บบอร์ดของพันทิป ดังนั้นจึงไม่มีฝ่ายผู้ตั้งหรือตอบปริศนาชัดเจน โดยหากคนไหนคิดปริศนาได้ ก็จะโพสต์คำถามลงบนเว็บ และรอจนกว่าจะผู้มาตอบปริศนา เมื่อฝ่ายผู้ตอบปริศนาคิดคำตอบของปริศนาได้แล้ว จะนิยมนำคำตอบมาแต่งเป็นร้อยกรองลักษณะเดียวกับคำถาม ดังตัวอย่างต่อไปนี้เป็นผะหมีพ้องหน้า คำถามแต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทกลอนแปด ดังนั้นผู้ตอบจึงแต่งคำตอบด้วยกลอนแปดเช่นเดียวกันดังนี้

คำถาม (กลอนแปด)
ชิ้นส่วนของสัตว์สีดำนำมาเขียน
นกอะไรบินวนเวียนแพร่เชื้อหวัด
ให้ระวังตัวพยาธิที่เกี่ยวรัด
โปเตโต้ร้องถนัดมัดใจแฟน (โดย คุณว้อบแว้บ*)

คำตอบ (กลอนแปด)
"ปากกา"แดงครูขอตรวจข้อสอบ
นก"ปากห่าง"ช่างชอบหอบหอยโข่ง
เจ้า"ปากขอ"เกาะเป็นเช่นตัวโกง
ตัดใยโยงยากแท้แค่"ปากดี" (โดย โดโรธี)

หรือดังตัวอย่างต่อไปนี้ เป็นผะหมีพ้องหน้าเช่นกัน แต่คำถามแต่งด้วยคำประพันธ์ชนิดโคลง ๔ สุภาพ ผู้ตอบเมื่อคิดคำตอบได้แล้ว จึงแต่งโคลง ๔ สุภาพตอบด้วยเช่นเดียวกัน

คำถาม (โคลงสี่สุภาพ)
๏ เอ่ยชมรสจัดจ้าน อร่อยดี
กินดื่มมากเต็มที จึ่งใช้
กาลครั้งหนึ่งยังมี บอกเล่า
รับส่งทันใจได้ สิ่งนี้สื่อสาร (โดย คุณว้อบแว้บ*)

คำถาม (โคลงสี่สุภาพ)

๏ เอ่ยชมรสแซ่บแท้ "อีหลี"
พุงแน่น"อีโน"ซี ลดได้
"อีสป"นิทานมี นานเนิ่น
รับส่ง"อีเมล์"ใช้ บ่อยครั้งสื่อสาร (โดย คุณ

ลักษณะของปริศนาผะหมี


ปริศนาผะหมี สามารถแบ่งได้ตามลักษณะ"ความสัมพันธ์ของคำตอบ" ของปริศนาได้ดังนี้
๑. ปริศนาผะหมีพ้องรูป ผะหมีลักษณะนี้ จะมีธงหรือคำตอบของปริศนาเป็น คำพ้องรูปกัน โดยที่คำพ้องรูปกันนั้นอาจเป็นคำๆ เดียวกันที่เขียนเหมือนกันแต่มีหลายความหมาย เช่น ดำ (มุดลง), ดำ (ปลูกข้าวกล้า), ดำ (สีอย่างมินหม้อ) หรือเป็นคำๆ เดียวกันที่อ่านแตกต่างกันก็ได้ เช่น สระ (สะ), สระ (สะ-หระ), สระ (สระ)

๒. ปริศนาผะหมีพ้องเสียง ธงคำตอบของผะหมีลักษณะนี้ เป็นคำพ้องเสียงกัน ซึ่งคือคำที่อ่านออกเสียงเหมือนกัน แต่เขียนต่างกันนั่นเอง เช่น การ, กาฬ, กาล, การณ์ เป็นต้น

๓. ปริศนาผะหมีพ้องตำแหน่ง ผะหมีลักษณะนี้ จะมีธงหรือคำตอบของปริศนาสัมพันธ์กันโดยมีความเหมือนกันในตำแหน่งของพยางค์ ซึ่งอาจหมายถึงเหมือนกัน ทั้งรูปและเสียง หรืออาจมีรูปเหมือนกัน หรืออาจมีเสียงเหมือนกัน ก็ได้ ปริศนาผะหมีพ้องตำแหน่งแบ่งเป็น ๓ ลักษณะดังนี้

๓.๑ ปริศนาผะหมีพ้องหน้า ผะหมีลักษณะนี้ จะมีคำแรก พยางค์แรก หรือส่วนของคำหรือพยางค์แรกสุดของธงคำตอบเหมือนกัน เช่น อีหลี, อีโน, อีสป, อีเมล์ มีพยางค์แรกมีรูปและเสียงเหมือนกัน ส่วน บันได, บรรดา, บัลลังก์, บัณฑิต มีพยางค์แรกที่มีเสียงเหมือนกัน

๓.๒ ปริศนาผะหมีพ้องกลาง ผะหมีลักษณะนี้ จะมีคำกลาง พยางค์กลาง หรือส่วนของคำหรือพยางค์กลางของธงคำตอบนั้นเหมือนกัน เช่น พารากอน, พระราชา, ภราดร, โหราศาสตร์ พยางค์กลางมีรูปและเสียงเหมือนกัน ส่วน วินาที, ขนาด, ทำนาย, มีนาคม นั้นส่วนของคำกลาง (-นา-) มีรูปเหมือนกัน

๓.๓ ปริศนาผะหมีพ้องหลัง หรือปริศนาผะหมีพ้องท้าย ผะหมีลักษณะนี้ จะมีคำสุดท้าย พยางค์สุดท้าย หรือส่วนของคำหรือพยางค์สุดท้ายของธงคำตอบที่เหมือนกัน เช่น pink, link, ink, hoodwink มีส่วนของคำตอนท้าย (-ink) เหมือนกัน ส่วน สุวรรณ, ตะวัน, All in One, รางวัล มีพยางค์ท้ายที่มีเสียงเหมือนกัน

หมายเหตุ ปริศนาพ้องตำแหน่งนี้ บางแห่งจะนิยมให้มีพยางค์เท่ากัน บางแห่งจะนิยมให้มีความเกี่ยวเนื่องมีสัมผัสระหว่างวรรคหรือสัมพันธ์ตัวอักษรเหมือนกัน ดังนี้

มีสัมผัสระหว่างวรรค เช่น น้ำปลาหวาน, น้ำตาลทราย, น้ำลายหก, น้ำตกพลิ้ว จะเห็นว่านอกจากจะพ้องคำหน้าคือคำว่าน้ำแล้ว ยังต้องคำนึงถึงสัมผัสระหว่างวรรค คือ หวาน - ตาล, ทราย - ลาย, หก - ตก อีกด้วย ซึ่งจากตัวอย่างนี้ถ้าตอบน้ำตาลกรวด แทน น้ำตาลทราย ก็จะผิด เพราะไม่ส่งสัมผัสต่อไปยังน้ำลายหก เป็นต้น
มีความสัมพันธ์เกี่ยวกับตัวอักษร(พยัญชนะนำหรือตัวสะกด) เช่น สังข์ทอง, แสงทอง, เสียงทอง, สิงห์ทอง จะเห็นว่านอกจากจะพ้องคำหลังคือคำว่าทองแล้ว ยังต้องคำนึงถึงตัวพยัญชนะนำคือ ส และ ตัวสะกดคือ ง ด้วย หรือ ข้องใจ, ขอบใจ, ขุ่นใจ, เข็ญใจ จะสัมพันธ์ด้วย ข+ใจ เป็นต้น
๔. ปริศนาผะหมีพ้องพยัญชนะ แบ่งเป็น ๒ ประเภท

๔.๑ ปริศนาผะหมีพ้องพยัญชนะต้น ธงคำตอบของผะหมีลักษณะนี้ จะมีพยัญชนะต้นเป็นตัวเดียวกัน เช่น ขนม, ข้าว, ขา, ขิง, ขี้ผึ้ง, ไข่เจียว, เขาเขียว, ขุนตาล เป็นต้น หรือหากมีหลายพยางค์แต่ละพยางค์จะมีพยัญชนะต้นเป็นตัวเดียวกัน (แต่ผะหมีลักษณะนี้ไม่เป็นที่นิยมเล่นกัน) เช่น ไข่เจียว, ขอบใจ, ขจี, ของโจร จะสัมพันธ์ ข+จ เป็นต้น

หมายเหตุ ปริศนาพ้องพยัญชนะต้นนี้ นิยมให้ทุกคำตอบมีพยางค์เท่ากัน

๔.๒ ปริศนาผะหมีร่อนเลื้อย ธงคำตอบของผะหมีลักษณะนี้ จะมีพยัญชนะต้นตัวเดียวกันทุกพยางค์และมีสัมผัสต่อเนื่องระหว่างวรรค เช่น พูโล, โพลา, พาไล, ไพลิน จะเห็นว่า พ+ล และมีสัมผัสต่อเนื่องระหว่างวรรค (โล-โพ, ลา-พา, ไล-ไพ)

๕. ปริศนาผะหมีคำสัมผัสสระ ธงคำตอบของผะหมีลักษณะนี้ จะเป็นคำสัมผัสสระกัน นั่นคือมีสระและมาตราสะกดอย่างเดียวกัน เช่น ขาว, ดาว, ราว, สาว โดยหากธงคำตอบมีมากกว่า ๑ พยางค์ แต่ละพยางค์จะต้องสัมพันธ์กันด้วยลักษณะสัมผัสสระ เช่น เรไร, เฉไฉ, เก๋ไก๋ เป็นต้น

๖. ปริศนาผะหมีพ้องความหมาย ธงของปริศนามีความสัมพันธ์กันในด้านความหมาย นั่นคือคำตอบของปริศนาเป็นคำที่มีความหมายเดียวกันทั้งหมด เช่น พระอาทิตย์, สุริยะ, ตะวัน, รวี เป็นต้น

๗. ปริศนาผะหมีผันอักษร เป็นปริศนาที่ธงคำตอบของปริศนา มีการเปลี่ยนเสียงให้สูงหรือต่ำไปตามวรรณยุกต์ แบ่งเป็น ๒ ลักษณะ

๗.๑ ปริศนาผะหมีผันอักษรตามรูปวรรณยุกต์ คือปริศนาที่ธงคำตอบจะผันคำตามรูปวรรณยุกต์ โดยอักษรกลาง จะผันได้ครบ ๕ เสียง เช่น ปา, ป่า, ป้า, ป๊า, ป๋า แต่อักษรสูงหรืออักษรต่ำ จะสามารถผันได้ ๓ เสียง เช่น คา, ค่า, ค้า

๗.๒ ปริศนาผะหมีผันอักษรตามเสียงวรรณยุกต์ คือปริศนาที่ธงคำตอบจะผันคำตามเสียง วรรณยุกต์ โดยจะใช้อักษรที่มีเสียงคู่กัน ซึ่ง เรียกว่า "อักษรคู่" มาผันจนครบ ๕ เสียง เช่น ข และ ค เป็นอักษรที่มีเสียงคู่กัน ทำให้สามารถผัน คา ข่า ค่า/ข้า ค้า ขา ได้ครบ ๕ เสียง ส่วนในกรณีที่เป็นอักษรเดี่ยว ก็ใช้ ห เป็นอักษรนำเพื่อผันให้ครบ ๕ เสียง เช่น วา หว่า ว่า/หว้า ว้า หวา

๘. ปริศนาผะหมีตัดต่อ ธงคำตอบของปริศนาจะมีการเพิ่มหรือตัดคำหรือตัว อักษร หรืออาจมีการสลับตัวอักษร โดยส่วนใหญ่ปริศนาจะมีคำตอบ อย่างไรนั้นจะมีคำใบ้บอกไว้อย่างชัดเจน เช่น ขนม, ขม, ขน, นม เป็นต้น

๙. ปริศนาผะหมีหมวดหมู่เดียวกัน ธงคำตอบของปริศนาลักษณะนี้ จะอยู่ในหมวดหมู่ หรือประเภทเดียวกัน ปริศนาผะหมีแบบหมู่เดียวกันแบ่งเป็น ๒ ลักษณะดังนี้

๙.๑ ปริศนาผะหมีตามลำดับ ธงคำตอบของปริศนาลักษณะนี้อยู่ในหมวดหมู่เดียวกันและมีส่วนหนึ่งส่วนใดที่มีความสัมพันธ์เป็นลำดับกันไป เช่น

1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8
D, C, B, A (เรียงลำดับย้อนกลับ)
พุธ, อังคาร, จันทร์, อาทิตย์, เสาร์, ศุกร์, พฤหัสบดี
เอ, จาระบี, เซียมซี, พัศดี (คำท้ายมีความสัมพันธ์เป็นลำดับ เอ, บี, ซี, ดี)

๙.๒ ปริศนาผะหมีพ้องประเภท ธงคำตอบของผะหมีลักษณะนี้ จะอยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน แต่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ในลักษณะเป็นลำดับกันไป ดังนั้นในการคิด คำตอบจะไม่สามารถคาดคะเนคำตอบต่อไปได้ แต่สามารถเดาได้ว่า คำตอบจะเป็นประเภทใด เช่น

ฟุตบอล, เบสบอล, ว่ายน้ำ, ปิงปอง (ประเภทกีฬา)
สุนัข, แมว, ปลา, นก, เสือ, ช้าง, ไก่, กบ (ประเภทสัตว์)
กรุงเทพฯ, โตเกียว, ลอนดอน, บัวโนสไอเรส (ประเภทเมืองหลวง)
เชิญยิ้ม, ชวนชื่น, เด๋อดู๋ดี๋, แก๊งสามช่า (ประเภทคณะตลก)

๑๐. ปริศนาผะหมีคำผวน ธงคำตอบของปริศนาลักษณะนี้จะเป็นคำผวน ลักษณะของคำผวนเช่น นารี ผวนเป็น นี-รา บทร้อยกรอง ผวนเป็น บอง-ร้อย-กรด โดยในการนำคำผวนมาทายนั้นต้องระวังอย่าให้กลายเป็นคำที่ไม่สุภาพ ปริศนาผะหมีคำผวนแบ่งเป็น ๔ แบบดังนี้

๑๐.๑ ปริศนาผะหมีคำผวนพ้องหน้า ธงคำตอบของปริศนาผะหมีลักษณะนี้จะมีความสัมพันธ์กันเหมือนกับธงคำตอบปริศนาพ้องหน้า แต่ต่างกันที่เป็นคำผวน เช่น นี-รา (นารี), นี-ทะ (นที), นี-ซน (นนทรี), นี-ดน-ตรั๊ก (นักดนตรี)

๑๐.๒ ปริศนาผะหมีคำผวนพ้องคำกลาง ธงคำตอบของปริศนาผะหมีลักษณะนี้จะมีความสัมพันธ์กันเหมือนกับธงคำตอบปริศนาพ้องหน้า แต่ต่างกันที่เป็นคำผวน เช่น ชี-ละ-ทน (ชลที), แก-ละ-มะ (กะละแม), เจ็ด-ละ-มะ (จะละเม็ด), มอ-ละ-กะ (มะละกอ) เป็นต้น

๑๐.๓ ปริศนาผะหมีคำผวนพ้องหลัง ธงคำตอบของผะหมีคำผวนพ้องหลังนี้ จะมีความสัมพันธ์กันเหมือนกับธงคำตอบของปริศนาผะหมีพ้องหลัง แต่ต่างกันที่เป็นคำผวน เช่น ชี-นะ (ชะนี), มาว-นะ (มะนาว), ราด-นะ (ระนาด), ทาย-นะ (ทนาย)

๑๐.๔ ปริศนาผะหมีคำผวนกระทู้ ปริศนาผะหมีลักษณะนี้จะมีคำกระทู้ซึ่งเหมือนเป็นคำใบ้ในคำถาม เพื่อให้หาคำผวนเป็นคำตอบ โดยคำตอบเหล่านั้นจะมีความสัมพันธ์กันด้วย เช่น กี-เหลา (เกาหลี), ยุ่น-ปี่ (ญี่ปุ่น), โส-คะ-ปิง (สิงคโปร์), เอีย-ดิน (อินเดีย) ธงคำตอบมีความสัมพันธ์กันโดยเป็นชื่อประเทศ ในกรณีนี้คำที่ฝ่ายตั้งปริศนาจะนำไปตั้งเป็นคำกระทู้ก็คือ กี, ยุ่น, โส, เอีย นั่นเอง เพื่อให้เข้าใจยิ่งขึ้น ขอยกตัวอย่างคำถามที่มีคำกระทู้อยู่ในคำใบ้ดังนี้

กี...อะไรดูสนุกทุกซีรี่ย์
ยุ่น...อะไรรถดีมีมาขาย
โส...อะไรวันเดียวเที่ยวสบาย
เอีย...อะไรมากมายประชากร

หมายเหตุ ปริศนาคำผวนนี้ บางแห่งนิยมให้คำตอบมีจำนวนพยางค์เท่ากัน

๑๑. ปริศนาผะหมีลูกโซ่หรือปริศนาผะหมีเกี่ยวเนื่องหรือปริศนาผะหมีพันหลัก ปริศนาผะหมีลูกโซ่นั้น คำตอบของปริศนาจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับคำตอบก่อนหน้านั้น โดยปริศนาผะหมีลูกโซ่ มี ๑๓ ลักษณะ ดังนี้

๑๑.๑ ปริศนาลูกโซ่คำหลัง ปริศนาลูกโซ่ลักษณะนี้จะนำคำสุดท้ายของคำตอบก่อนหน้า มาเป็นคำแรกของคำตอบต่อไป เช่น ไอติม, ติมซำ, ซำเหมา, เหมาจ่าย, จ่ายสด, สดชื่น, ชื่นใจ, ใจเย็น หรืออาจจะนำส่วนท้ายมากกว่า ๑ คำของคำตอบก่อนหน้า มาเป็นพยางค์ต้นของคำตอบถัดไป เช่น IRC, RCA, CAT, ATM

หมายเหตุ หากคำตอบสุดท้ายสัมพันธ์คำตอบแรกด้วย เช่น ฟ้าร้อง, ร้องเพลง, เพลงชาติ, ชาตินิยม, ยมโลก, โลกร้อน, ร้อนท้อง, ท้องฟ้า จะเป็นผะหมีลูกโซ่คำหลังที่สมบูรณ์

๑๑.๒ ปริศนาลูกโซ่คำกลาง ปริศนาลูกโซ่ลักษณะนี้ คำกลางหรือส่วนของคำกลางของคำตอบก่อนหน้า จะเป็นคำแรกหรือคำหลังของคำตอบต่อมา เช่น นกกระยาง, กระยาทิพย์, ยาลดไข้, ลดน้ำหนัก, น้ำดอกไม้, ดอกลำดวน, ลำลูกกา, ลูกประคำ จะเห็นว่านำคำกลางมาเป็นคำแรกของคำตอบ ถัดไป ส่วน พยากรณ์, กิริยา, ราชดำริ, พริกไทยดำ, ประเทศไทย, เนรเทศ, สายชำระ, ร้านของชำ จะนำคำกลางไปเป็นคำสุดท้ายของคำตอบถัดไป

๑๑.๓ ปริศนาลูกโซ่คำหน้า ปริศนาลูกโซ่ลักษณะนี้ จะนำคำแรกของคำตอบก่อนหน้า มาเป็นคำสุดท้ายของคำตอบต่อไป เช่น นกเอี้ยง, พรานนก, นายพราน, คุณนาย, บุญคุณ, ใบบุญ, บังใบ, กำบัง หรืออาจจะนำส่วนหน้ามากกว่า ๑ คำของคำตอบก่อนหน้า มาเป็นพยางค์ท้ายของคำตอบถัดไป เช่น ATM, IAT, AIA, CAI

หมายเหตุ หากคำตอบสุดท้ายสัมพันธ์คำตอบแรกด้วย เช่น ท้องฟ้า, ร้อนท้อง, โลกร้อน, ยมโลก, ชาตินิยม, เพลงชาติ, ร้องเพลง, ฟ้าร้อง จะเป็นผะหมีลูกโซ่คำหน้าที่สมบูรณ์

๑๑.๔ ปริศนาลูกโซ่คำหลังย้อนกลับ คำตอบของปริศนาลักษณะนี้จะมีลักษณะคล้ายกับคำตอบของปริศนาลูกโซ่คำหลังแต่พยางค์ท้ายของคำตอบก่อนหน้าเมื่อสลับกันแล้วจะเป็นพยางค์ต้นของคำตอบถัดไป เช่น เกมส์เงือกน้อยสาว, สาวน้อยตกน้ำ, น้ำตกนางรอง, รองนางสาวไทย

๑๑.๕ ปริศนาลูกโซ่คำหน้าย้อนกลับ คำตอบของปริศนาลักษณะนี้จะมีลักษณะคล้ายกับคำตอบของปริศนาลูกโซ่คำหน้าแต่พยางค์ต้นของคำตอบก่อนหน้าเมื่อสลับกันแล้วจะเป็นพยางค์ท้ายของคำตอบถัดไป เช่น รองนางสาวไทย, น้ำตกนางรอง, สาวน้อยตกน้ำ, เกมส์เงือกน้อยสาว เป็นต้น

๑๑.๖ ปริศนาลูกโซ่คำผวน หรือ ปริศนาลูกโซ่คำผวนคำหลัง คำตอบของปริศนาลักษณะนี้จะมีลักษณะเดียวกับคำตอบของปริศนาลูกโซ่คำหลัง แต่จะเป็นคำผวน เช่น อัน-สา (อาสัญ), สา-มี (สีมา), มี-ลา (มาลี), ลา-ตัน (ลันตา)

๑๑.๗ ปริศนาลูกโซ่คำผวนคำหน้า คำตอบของปริศนาลักษณะนี้ จะมีลักษณะเดียวกับคำตอบของ ปริศนาลูกโซ่คำหน้า แต่จะเป็นคำผวน เช่น สัน-มา (สามัญ), ชา-นะ-สัน (ชันษา), พี-ชา (พาชี), ตุง-พี (ตีพุง)

๑๑.๘ ปริศนาลูกโซ่ประกอบคำ ปริศนาลูกโซ่ลักษณะนี้ เมื่อนำคำตอบมาเรียงประกอบเข้าด้วยกันจะได้ความหมาย ซึ่งอาจเป็นคำพังเพย สุภาษิต สำนวนไทย หรือถ้อยคำที่เป็นที่รู้จัก เช่น วัว, หาย, ล้อม, คอก เมื่อนำมารวมกันจะได้ "วัวหายล้อมคอก" เป็นต้น

หมายเหตุ ปริศนาลูกโซ่ประกอบคำ ไม่จำเป็นต้องมีพยางค์เท่ากันเสมอก็เป็นได้ แล้วแต่จะใบ้ เช่น หากคำตอบรวมคือ เข็นครกขึ้นภูเขา อาจจะใบ้ ๔ คำตอบคือ เข็น, ครก, ขึ้น, ภูเขา หรือใบ้ เข็นครก, ขึ้น, ภู, เขา ก็ได้ เป็นต้น

๑๑.๙ ปริศนาลูกโซ่ประกอบคำย้อนกลับ ปริศนาผะหมีลักษณะนี้ จะมีคำตอบเรียงติดต่อกันเช่นเดียวกับปริศนาลูกโซ่ประกอบคำ แต่จะต้องเรียงคำตอบจากหลังมาหน้าแทน เช่น ตัว, เป็น, น้ำ, ปั้น เมื่อนำมาเรียงย้อนกลับจะได้ "ปั้นน้ำเป็นตัว" เป็นต้น

๑๑.๑๐ ปริศนาลูกโซ่คำผวนประกอบคำ คำตอบปริศนาผะหมีลักษณะนี้ จะมีความเกี่ยวเนื่องกันในแต่ละคำตอบ โดยคำตอบจะแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกนั้นจะประกอบด้วยคำตอบซึ่งเมื่อนำมารวมกันจะได้เป็นคำๆ หนึ่ง เช่นเดียวกับส่วนที่สอง ซึ่งจะประกอบด้วยคำตอบที่นำมารวมกัน จะได้เป็นคำผวนของคำตอบส่วนแรก เช่น ปัน, ก้อง, ป้อง, กัน จะเห็นว่าแบ่งเป็น ๒ ส่วนคือ ปัน+ก้อง และ ป้อง+กัน อีกตัวอย่างเช่น นาย, พราน, นาน, พราย แบ่งเป็น ๒ ส่วนคือ นาย+พราน และ นาน+พราย

หมายเหตุ บางแห่งเรียกปริศนาชนิดนี้ว่า ปริศนาผะหมีคำผวนแนวตั้ง

๑๑.๑๑ ปริศนาลูกโซ่คำผวนประกอบคำย้อนกลับ คำตอบของปริศนาผะหมีลักษณะนี้ จะมีลักษณะเดียวกับปริศนาลูกโซ่คำผวนประกอบคำ โดยจะมีความเกี่ยวเนื่องกันในแต่ละคำตอบ และคำตอบจะแบ่งออกเป็นสองส่วนเช่นกัน แต่การเรียงลำดับคำตอบจะเรียงจากหลังมาหน้าแทน ซึ่งตรงข้ามกับปริศนาลูกโซ่คำผวนประกอบคำ ตัวอย่างเช่น พราน, นาย, พราย, นาน (แบ่งเป็น ๒ ส่วนคือ พราน+นาย และ พราย+นาน เมื่อเรียงย้อนกลับจะได้ นาย+พราน และ นาน+พราย) หรือ ก้อง, ปัน, กัน, ป้อง (ก้อง+ปัน และ กัน+ป้อง เมื่อเรียงย้อนกลับจะได้ ปัน+ก้อง และ ป้อง+กัน)

๑๑.๑๒ ปริศนาลูกโซ่รวมคำ คำตอบของปริศนาผะหมีลักษณะนี้ จะคล้ายปริศนาลูกโซ่ประกอบคำ โดยมีคำตอบที่เรียงกันและเมื่อนำมารวมกันจะเป็นคำตอบสุดท้าย เช่น บ้าน, ผะ, หมี, บ้านผะหมี เป็นต้น

๑๑.๑๓ ปริศนาลูกโซ่คำผวนรวมคำ คำตอบของปริศนาผะหมีลักษณะนี้ จะเหมือนกับปริศนาลูกโซ่รวมคำ แต่คำตอบเป็นคำผวน เช่น แข้ง, หมู, ดาว, ข้าวหมูแดง เป็นต้น

๑๒. ปริศนาผะหมีซ่อนคำ ปริศนาผะหมีที่มีลักษณะซ่อนคำหรือซ่อนข้อความเอาไว้ในคำถาม

ปริศนาซ่อนคำนำมาถาม มีข้อความซ่อนอยู่ดูให้เห็น
นาทีนี้รีบหาอย่าใจเย็น คมซ่อนเร้นรอให้ตีลับฝีมือ

ปริศนาข้างบนเป็นผะหมีซ่อนคำ ซึ่งจะเห็นว่าซ่อนคำว่า มี, นา, คม ไว้เป็นคำแรกของวรรคที่ ๒-๔ คำตอบของปริศนาก็คือ มีนาคม นั่นเอง

๑๓. ปริศนาผะหมีซ้ำคำ คำตอบของปริศนาผะหมีลักษณะนี้จะเป็นคำซ้ำ เช่น ทาทา, ขำขำ, กล้วยกล้วย, นานา หรือจะมีคำซ้ำที่ตำแหน่ง(พยางค์)เดียวกัน เช่น คมเฉือนคม, ครึ่งต่อครึ่ง, เพชรตัดเพชร, ปากต่อปาก เป็นต้น

๑๔. ปริศนาผะหมีภาพ เป็นการนำเอาภาพมาเป็นสื่อเพื่อตั้งเป็นปริศนาขึ้น โดยให้หา ความหมายของภาพเพื่อแปลเป็นคำตอบของปริศนา ในการถามนั้นสามารถถามปริศนาด้วยภาพเพียงอย่างเดียว หรือถามปริศนาด้วยภาพประกอบร้อยกรองปริศนาก็ได้ เช่น ผะหมีภาพที่มีรูปปลา ๒ ตัวในภาพ สื่อความหมายเป็นคำตอบคือ "ปลาทู" (ทู = Two ที่แปลว่า สอง นั่นเอง)


ที่มาข้อมูล
//www.pamee.com/pamee.html


Create Date : 12 กันยายน 2552
Last Update : 17 มกราคม 2553 11:49:00 น. 1 comments
Counter : 4276 Pageviews.

 
ขอบคุณที่แบ่งปัน ติว


โดย: swkt (tewtor ) วันที่: 12 เมษายน 2554 เวลา:0:26:47 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

scimovie
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 108 คน [?]




แหล่งรวบรวมความรู้ โปรแกรม เพลง หนัง เกมส์ วิทยาศาสตร์ ดูละคร เรื่องย่อ ภาพยนตร์ การเงิน และอื่นๆ อีกมากมาย สุดท้ายขอกำลังใจให้มีแรงอัพเดทตลอดๆ ครับ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยียนกันครับ
Friends' blogs
[Add scimovie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.