ดาวน์โหลดโปรแกรม ดูละครย้อนหลัง อ่านเรื่องราวของความรู้รอบตัว วิทยาศาสตร์ ท่องเที่ยว สุขภาพ อาหาร รถยนต์ต่างๆ ไม่ทิ้งเรื่องราวความบันเทิงและเรื่องส่วนตัวอีกด้วย
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2553
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
12 กรกฏาคม 2553
 
All Blogs
 
โดโด : ถึงจะสูญพันธุ์ แต่ยังอยู่ในความทรงจำ


ภาพวาดโดโด โดย Roelandt Savery ประมาณปี 1626

โดโด : ถึงจะสูญพันธุ์ แต่ยังอยู่ในความทรงจำ

เมื่อเอ่ยถึงนกโดโด (dodo) ใครๆ ก็รู้ว่า มันเป็นสัตว์ที่ได้สูญพันธุ์ไปนานร่วม 350 ปีแล้ว ถึงจะไม่มีใครพบเห็นมันอีก แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังสนใจและใคร่รู้ว่า โดโดมีหน้าตา รูปร่าง และธรรมชาติของการดำรงชีวิตอย่างไร รวมถึงการรู้ให้แน่ชัดว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้มันสูญพันธุ์ และมันได้สาบสูญไปจากโลกเมื่อไร

ข้อมูลชีววิทยาที่โลกมีระบุเพียงว่า โดโดเคยอาศัยอยู่บนเกาะ Mauritius ในมหาสมุทรอินเดีย อย่างมีความสุข จนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นเวลาที่กะลาสีเรือชาวโปรตุเกส และเนเธอร์แลนด์เดินทางขึ้นเกาะ เหล่ากะลาสีได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับนกโดโดว่า มีรูปร่างเหมือนนกพิราบ ที่มีขาสั้นแต่แข็งแรง รูปร่างอ้วนตุ๊ต๊ะ มีจะงอยปากใหญ่ มีรูจมูกกว้าง และตาโปน ขนมีสีเทา ดำ และเดินต้วมเตี้ยมตลอดเวลา เพราะบินไม่ได้เลย

ตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับโดโด ยังมีอีกว่า มันชอบกินเมล็ดของต้น tambalacoque ที่มีมากบนเกาะ เพื่อเมล็ดพืชชนิดนี้จะได้ช่วยย่อยอาหาร และถ้าเมล็ดพืชนี้ไม่ถูกโดโดกินแล้วถ่ายออกมา ต้นไม้ชนิดนี้ก็จะไม่มีการแพร่พันธุ์ แต่เมื่อนักพฤกษศาสตร์ได้พบต้น tambalacoque จำนวนมากมายบนเกาะ Mauritius ทั้งๆ ที่
โดโดได้สูญพันธุ์ไปนานแล้ว ความเชื่อเกี่ยวกับอาหารของโดโดที่เป็นเมล็ดพืชชนิดนี้ จึงถูกล้มล้างไป

ในส่วนที่เกี่ยวกับสาเหตุการสูญพันธุ์นั้น นักสัตววิทยาก็ยังไม่มีข้อสรุปชนิดฟันธง นักชีววิทยาบางคนสันนิษฐานว่า กะลาสีที่ขึ้นเกาะได้ไล่ล่าจับโดโดไปกินเป็นอาหาร จนโดโดเกิดไม่ทัน บางคนก็คิดว่า กะลาสีเรือได้ทำลายป่าและตัดไม้จนโดโดไม่มีที่อยู่อาศัย บ้างได้เสนอความคิดว่า กะลาสีได้นำสัตว์ เช่น หนู หมู และแพะ มาเป็นสัตว์เลี้ยงบนเกาะ และสัตว์เหล่านี้ได้ขโมยไข่นกโดโดกิน รวมถึงได้ทำลายสภาพป่าบนเกาะจนพังพินาศ และบางคนก็คิดว่า เกาะ Mauritius คงถูกพายุ cyclone ถล่ม หรือถูกคลื่นยักษ์ tsunami พัดท่วม จนโดโดตายหมดเกาะ


เกาะอาศัยของนกโดโด

สำหรับช่วงเวลาแห่งการสูญพันธุ์นั้นก็ยังไม่ได้รับการยืนยัน เพราะในปี 2003 D.L. Roberto ได้รายงานในวารสาร Nature ว่ามีการพบบันทึกของนักล่าสัตว์บนเกาะในช่วงปี 1685-1688 ว่า ได้ฆ่านกโดโดประมาณ 20 ตัว แต่เมื่อถึงวันนี้นักชีววิทยาหลายคนไม่เชื่อ โดยให้เหตุผลว่า นก dodaersen ที่นักล่าสัตว์ฆ่า เป็นนก rail (Aphanapteryx bonasia) ที่บินไม่ได้แต่ไม่ใช่นกโดโด นอกจากนี้นักชีววิทยากลุ่มนี้ ยังเชื่อว่า โดโดตัวสุดท้ายของโลกได้จากไป ตั้งแต่ปี 1662 ซึ่งเป็นเวลาที่กะลาสีรายงานการล่านกที่มีขนาดใหญ่เท่าห่านจำนวนมากเป็นอาหาร เมื่อเรือได้อับปางลงใกล้เกาะ Mauritius

ดังนั้นเราจึงเห็นได้ว่า เรื่องเล่าเกี่ยวกับโดโดมีมากมายซึ่งจริงบ้างและลวงบ้าง ส่วนหลักฐานที่เป็นตัวตน หรือซากโครงกระดูกแทบไม่มีเลย และประวัติศาสตร์ก็ได้บันทึกว่า ที่พิพิธภัณฑ์ Ashmolean Museum ในเมือง Oxford ประเทศอังกฤษ เคยมีซากนกโดโด แต่ในปี 1755 พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้ถูกไฟไหม้ และซากถูกทำลาย ยกเว้นแต่ส่วนหัวกับเท้าข้างหนึ่ง และนี่ก็คือหลักฐานสำคัญที่สุดเกี่ยวกับนกโดโดที่โลกมี

ลุถึงปี 1865 โลกก็ได้หลักฐานเพิ่มเติม เมื่อมีการขุดทางรถไฟบนเกาะ Mauritius ในบริเวณ ที่เรียกว่า Mare aux Songes ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเกาะ และ George Clark ผู้เป็นครูโรงเรียนในแถบนั้นได้เห็นซากกระดูกของนกโดโดประมาณ 200 ชิ้น ในกองดินที่ถูกขุดขึ้นมา จึงได้นำกระดูกเหล่านั้นมาปะติดปะต่อ ทำให้ได้ซากนกหนึ่งตัว ถึงจะไม่สมบูรณ์ก็ตาม


กระดูกโดโดในดิน และหินที่ขุดได้จากหนองน้ำบนเกาะ Mauritius

ข่าวการพบซากนกโดโดทำให้นักชีววิทยาสัตว์สูญพันธุ์ตื่นตัว และมุ่งหน้าหาซากนกโดโดกันมากมาย Louis Etienne Theroux เป็นนักชีววิทยาอีกท่านหนึ่งที่ได้พบซากกระดูกของนกโดโด ในถ้ำ Le Pouce ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของเมือง Port Louis ซึ่งซากที่ Theroux พบนี้ เมื่อนำมาประกอบกันทำให้ได้ โครงกระดูกของโดโดที่สมบูรณ์ที่สุดซึ่งขณะนี้ประดิษฐานอยู่ที่สถาบัน Mauritius Institute ในเมือง Port Louis

ในปี 1974 นักชีววิทยาได้ขุดพบซากกระดูกนกโดโดเพิ่มเติมที่ Mare Sache, Plaine des Roches และในถ้ำ Baie du Cap ซึ่งเป็นสถานที่ที่เคยกักนักโทษและนักโทษคงได้ฆ่าโดโดเป็นอาหร

ในเดือนตุลาคม ปี 2005 Kenneth Rijsdijk แห่ง Netherlands Institute of Applied Geoscience ที่เมือง Utrecht ในเนเธอร์แลนด์ได้ตั้งใจค้นหาซากพืชชนิดต่างๆ ในบริเวณ Mare aux Songes เพื่อศึกษาสภาพของป่าบนเกาะก่อนที่กะลาสี จะเดินทางถึงในปี 1638 เพราะบริเวณนั้นเป็นหนอง ที่เป็นแหล่งเพาะเชื้อมาลาเรีย ดังนั้น ทางการจึงเอาหินภูเขาไฟมาถมและ Rijsdijk ก็ต้องตกตะลึงเมื่อได้เห็นซากกระดูกนกจำนวนมากมายในหินและดินที่ขุดขึ้นมา เขาจึงให้เจ้าหน้าที่ขุดอย่างระมัดระวัง และช้าๆ คือได้ลึกประมาณ 80 เซนติเมตรใน 1.5 ชั่วโมง

การศึกษารายละเอียดของหินและดินที่ขุดขึ้นมาทำให้ Rijsdijk รู้ว่า บริเวณนั้นเคยเป็นแหล่งอาศัยของเต่า นกแก้ว นกเค้าแมว ค้างคาว และนกโดโด เขายังได้เห็นจุลินทรีย์และซากพืชต่างๆ ที่เคยมีชีวิตในสมัยที่โดโดยังไม่สูญพันธุ์ จากซากกระดูก 4,000 ชิ้นที่พบ Rijsdijk มีซากกระดูกของนกโดโดเพียง 200 ชิ้นเท่านั้นเอง

ข้อมูลเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า โดโดตัวผู้และตัวเมียมีขนาดแตกต่างกัน ตัวผู้จะมีจะงอยปากใหญ่กว่าตัวเมีย ขนาด และรูปทรงของกระดูกแสดงว่าญาติที่ใกล้ชิดที่สุดของโดโดคือ นกพิราบ Nicobar (Caloenas nicobarica) ซึ่งเคยมีบรรพบุรุษร่วมกัน แต่ได้แยกเส้นทางวิวัฒนาการกันเมื่อ 70 ล้านปีก่อน ถึงกระนั้น ข้อมูลเกี่ยวกับ DNA ของนกโดโดยังไม่มี ดังนั้น นักชีววิทยาก็คาดหวังจะได้ DNA จากโครงกระดูกเหล่านี้ (ถ้ามี) เพื่อจะได้รู้ว่า นกโดโดมีสภาพชีวิตเป็นอย่างไรเมื่อใกล้จะสูญพันธุ์ รวมถึงรู้ว่าไข่ของนกมีขนาดใหญ่เพียงใด และเหตุใด Mare aux Songes จึงได้กลายเป็นสุสานนกโดโด

เพราะ Mare aux Songes เป็นสถานที่ที่มีอากาศร้อน อีกทั้งดินก็มีสภาพกรดสูง ดังนั้นมูลนิธิ Dodo Research Foundation ที่ศึกษาโดโดโดยเฉพาะ จึงมีปัญหาในการค้นหาและอนุรักษ์ DNA ของโดโดครับ



รูปปั้นนกโดโด

โดย
สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.
เว็บผู้จัดการออนไลน์




Create Date : 12 กรกฎาคม 2553
Last Update : 12 กรกฎาคม 2553 21:14:29 น. 0 comments
Counter : 1410 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

scimovie
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 108 คน [?]




แหล่งรวบรวมความรู้ โปรแกรม เพลง หนัง เกมส์ วิทยาศาสตร์ ดูละคร เรื่องย่อ ภาพยนตร์ การเงิน และอื่นๆ อีกมากมาย สุดท้ายขอกำลังใจให้มีแรงอัพเดทตลอดๆ ครับ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยียนกันครับ
Friends' blogs
[Add scimovie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.