ดาวน์โหลดโปรแกรม ดูละครย้อนหลัง อ่านเรื่องราวของความรู้รอบตัว วิทยาศาสตร์ ท่องเที่ยว สุขภาพ อาหาร รถยนต์ต่างๆ ไม่ทิ้งเรื่องราวความบันเทิงและเรื่องส่วนตัวอีกด้วย
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2556
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
2425262728 
 
10 กุมภาพันธ์ 2556
 
All Blogs
 
กรรมฐาน ๔๐ : ตัดกังวล

กรรมฐาน ๔๐ : ตัดกังวล

โอกาสนี้บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายได้พากันสมาทานศีล และสมาทานพระกรรมฐานแล้ว การเจริญพระกรรมฐานสำหรับวันนี้มีภาวะไม่เสมอกัน เพราะคนเก่าบ้างคนใหม่บ้าง ฉะนั้นวันนี้จะขอพูดใน เรื่องกิจเบื้องต้นของพระกรรมฐาน ตอนสุดท้ายอาจจะพูดในตอนจบ การเจริญพระกรรมฐานมีอยู่ ๒ แบบ แบบที่ ๑ คือ สมถภาวนา แบบที่ ๒ ได้แก่ วิปัสสนาภาวนา สำหรับสมถภาวนานี้ เรามีความต้องการอย่างเดียวคือ ทรงสติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์ ที่เรียกกันว่าจิตมีสมาธิ สำหรับวิปัสสนาภาวนานั้นใช้ปัญญาเป็นเครื่องภาวนา ตามความเป็นจริงของขันธ์ห้า เรียกว่า พยายามยอมรับนับถือกฎของความเป็นจริง นั่นเป็นบทของวิปัสสนาภาวนา

การเจริญกรรมฐานเบื้องต้นก็จำต้องใช้สมถภาวนา คือควบคุมอารมณ์จิตให้ทรงอยู่ ถ้า สมถภาวนาของเราไม่ทรงตัว เราจะเห็นว่าวิปัสสนาภาวนาก็ไม่มีผล ถ้าหากว่าเราทรงจิตทรงสมถะทรงสมาธิได้มั่นคง ได้ถึงฌาน ๔ การเจริญวิปัสสนาภาวนาก็แสนง่าย การที่จะบรรลุมรรคผลก็กำหนดเวลาได้ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้ามีบารมีแก่กล้าก็จะได้สำเร็จอรหัตผลภายใน ๗ วัน ถ้ามีบารมีอย่างกลางก็จะได้สำเร็จอรหัตผลภายใน ๗ เดือน ถ้ามีบารมีอย่างทรามที่สุดก็จะได้บรรลุอรหัตผลภายใน ๗ ปี

คำว่าบารมีในที่นี้ก็ได้แก่กำลังใจ ถ้าเรามีกำลังใจครบถ้วนก็ได้ชื่อว่ามีบารมีเต็ม การที่จะใช้ศัพท์ว่า เรามีบารมีอ่อน อันนี้ไม่เป็นความจริง เดิมทีก่อนจะเกิดมาถ้าจะมีบารมีอ่อนอาจจะเป็นไปได้ แต่ว่าบารมีนี่เรา สร้างใหม่กันได้ ถ้าเกิดมาแล้วพบพระพุทธศาสนายังบอกว่าอ่อนอีกก็แสดงว่าขี้เกียจมากเกินไป ไม่รู้จักควบคุมกำลังใจ ปล่อยไปตามสภาวะของกิเลสมันจะมีผลอะไร แล้วมานั่งบ่นมันก็ไม่เกิดประโยชน์ ชาวบ้านเขาทำได้ เราทำไม่ได้ จะมานั่งบ่นว่าทำไม่ได้ก็เพราะว่าเรามันดีไม่พอ ใช้กำลังใจเป็นสำคัญ การจดจำถ้อยคำ คำแนะนำสั่งสอน การมีวิริยะ อุตสาหะมีสติปัญญาควบคุม อันนี้เป็นของสำคัญ การเจริญสมถภาวนาในตอนต้น ตอนต้นหรือตอนปลายมีสภาวะเหมือนกัน นั่นก็คือ

อันดับแรก จงอย่าสนใจกับอารมณ์ภายนอกทั้งหมด เรื่องราวของชาวบ้านต่าง ๆ ยกประโยชน์ไป เราไม่สนใจ เรื่องราวของเราก็เหมือนกัน ตัดความกังวลเสียให้หมด ที่เรียกว่าปลิโพธ พระพุทธเจ้าบอกว่าอันดับแรก จงตัดความกังวลทิ้งเสียให้หมด ดำริไว้อย่างเดียว คือกำหนดจิตจับเฉพาะอารมณ์สมถภาวนาที่เราต้องการ อารมณ์อย่างอื่นเราไม่ต้องการทั้งหมด นี่ต้องทำอย่างนี้มันถึงจะมีผล ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ สักแต่ว่าภาวนา สักแต่ว่าพิจารณา อย่างนี้ทำเท่าไรมันก็ไม่มีผล จงจำให้ดีอันดับแรกจงตัดความกังวลเสียให้หมด กังวลภายนอกและกังวลภายใน คือกังวลเรื่องของคนอื่น มีบุตร ภรรยา สามี ญาติ พี่ น้อง มิตรสหาย ยกยอดทิ้งประโยชน์ไป ไม่สนใจ ใครจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน ตัวใครตัวมัน ตายแล้วก็ไม่ใช่ชวนกันไปตกนรกขึ้นสวรรค์ได้ นี่พูดถึงว่าอารมณ์ที่เราใช้ในการทรงสมาธิจิต

และอารมณ์กังวลของเราก็เหมือนกัน มันจะเป็นจะตายก็ช่างมัน เราต้องการอย่างเดียว คือความบริสุทธิ์และความตั้งมั่นของจิต ไม่ใช่มีสัญลักษณ์อะไรอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นมาทางกายก็ระแวงโน่นระแวงนี่ กลัวจะเป็นอย่างนั้น กลัวจะเป็นอย่างนี้ อารมณ์จิตเป็นอย่างนี้จะเจริญสักกี่โกฏิชาติมันก็ไม่มีผล

แล้วต่อมาประการที่สอง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้รักษาศีลให้บริสุทธิ์ ศีลห้าก็ดี ศีลแปดก็ดีที่เราสมาทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอันดับต้นศีลห้าเป็นของสำคัญที่สุด จะใช้คำว่าไม่สามารถไม่ได้ เราต้องเป็นผู้สามารถเสมอในการทรงศีล จะมาเอาสาเหตุใดมาอ้างว่ามันจำเป็นอย่างนั้นจำเป็นอย่างนี้ อันนี้ไม่ใช่ เพราะทางการเจริญพระกรรมฐานมองไม่เห็นความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องละเมิดศีล ประการที่สองนี้ พระพุทธเจ้าทรงให้ทรงศีลให้บริสุทธิ์ คือ

๑. เราจะไม่ละเมิดศีลด้วยตัวเอง หรือว่าทำลายศีลด้วยตนเอง
๒. เราไม่ยุให้ชาวบ้านทำลายศีล
๓. เราจะไม่ยินดีเมื่อบุคคลอื่นทำลายศีลแล้ว

นี่เป็นหลักใหญ่ ต้องทำให้ได้ ไม่ใช่ฟังแล้วก็ลืม ต้องทำให้ได้ด้วย จำให้ได้ด้วย และทำให้ได้ด้วยจึงจะมีผล เพียงแค่นี้ยังมีผลแค่สะเก็ดเท่านั้น

เมื่อทรงศีลให้บริสุทธิ์แล้ว พร้อมกันนั้นจิตก็ต้องระงับนิวรณ์ห้าประการ นิวรณ์ห้าประการคือ ความต้องการในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสตามความประสงค์ และอารมณ์หมกมุ่นอยู่ในกามารมณ์คือ พอใจอยู่ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อารมณ์ประเภทนี้ต้องทิ้งไปไม่เอา

แล้วประการที่สอง ต้องระงับความโกรธ ความพยาบาท

ประการที่สาม ระงับความง่วงเหงาหาวนอน

ประการที่สี่ ควบคุมกำลังจิตให้คิดเฉพาะอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่เราต้องการ ไม่ปล่อยให้อารมณ์ฟุ้งซ่านและรำคาญในเสียง

ประการที่ห้า ไม่สงสัยในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ยอมรับคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นี่เป็นหลักอันหนึ่ง ยังไม่จบ

แล้วประการต่อไป พระพุทธเจ้าให้ทรงจิตให้อยู่ในพรหมวิหาร ๔ คือแผ่เมตตาไปในจักรวาลทั้งหมด เราจะไม่ไปเป็นศัตรูกับใคร เราจะเป็นมิตรกับสัตว์และบุคคลทั้งหมด จิตใจเราจะมีความชุ่มชื่นมองไม่เห็นว่าใครเป็นศัตรูของเรา ผลของเมตตา แปลว่าความรัก เรามีความรักในเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย เสมอด้วยตัวเรา

ประการที่สองมีกรุณาความสงสารปรารถนาจะให้มีความสุข เรามีอารมณ์จิตคิดอยู่เสมอว่า เรามีความต้องการจะเกื้อกูลบุคคลอื่นและสัตว์อื่นที่มีความทุกข์ให้มีความสุข ตามความสามารถที่เราจะพึงทำได้ ถ้าแนะนำเองไม่ได้ สงเคราะห์เองไม่ได้ ก็แนะนำให้ไปหาบุคคลที่มีความสามารถที่เขาจะช่วยได้สงเคราะห์ได้

ประการที่สาม มุทิตา มีจิตอ่อนโยน คือระงับความอิจฉาริษยาเสีย ตัดโยนทิ้งไป เมื่อใครได้ดีก็พลอยยินดีกับความดีนั้นด้วย

สี่อุเบกขา ความวางเฉย กฎของกรรมใด ๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายหรือหมู่คณะ มันเป็นเหตุที่เราปฏิเสธไม่ได้ อย่างความแก่ ความเจ็บ ความตาย กับการพลัดพรากจากของรักของชอบใจอย่างนี้เป็นต้น มันเป็นของธรรมดา ในเมื่อมันเกิดขึ้นมากับตัวเรา กับหมู่คณะก็ตามวางเฉย ถือว่าเป็นเรื่องปกติไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้

ในเมื่อท่านทั้งหลายทรงคุณธรรมตามที่กล่าวมา คือ

๑. ตัดปลิโพธทั้งหมด
๒. ทรงศีลบริสุทธิ์
๓. ระงับนิวรณ์ห้าประการได้เด็ดขาดในขณะที่ทรงสมาธิ
๔. ทรงพรหมวิหารสี่ได้

อย่างนี้องค์สมเด็จพระศาสดาทรงตรัสว่า ท่านทรงความดีแค่เปลือกของพระศาสนา วัดตัวเราให้ดี วัดใจให้ดีว่าเวลานี้เราทรงความดีเข้าถึงเปลือกของพระศาสนาแล้วหรือยัง จุดนี้จุดเปลือกนี่เป็นจุดที่สำคัญที่สุด ต้องระมัดระวังให้มาก ต้องให้ทรงตัวอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทรงศีลหรือทรงพรหมวิหารสี่ ไม่ใช่ จะมาทรงอยู่เฉพาะสมาทานพระกรรมฐานเท่านั้น สำหรับศีล พรหมวิหารสี่กับการตัดปลิโพธ ความกังวล จะต้อง ทรงอยู่ตลอด ๒๔ ชั่วโมง พูดกันง่าย ๆ ว่าทรงอยู่ตลอดชีวิต ทุกเวลาทุกนาทีและทุกวินาที นี่ต้องคุมจิตแบบนี้ สำหรับนิวรณ์ห้าประการนี้เป็นของธรรมดา เดี๋ยวเราก็ชนะมัน เดี๋ยวมันก็ชนะเรา แต่ก็พยายามควบคุม เข้าไม่ช้ามันก็จะเป็นลูกไล่สำหรับเรา คือเราชนะมัน คือเป็นผู้ทรงฌาน ถ้าท่านไม่สามารถจะระงับนิวรณ์ห้าได้ เรื่องสมาธิก็ไม่ต้องพูดถึง ไม่มีอะไรเป็นประโยชน์ เราจะมีสมาธิเข้าถึงปฐมฌานได้ เพราะเราระงับนิวรณ์ห้าประการได้ การระงับได้วันหนึ่งชั่วขณะหนึ่งก็ใช้ได้ แต่ก็ยังไม่ดี ทางที่ดีแล้วจะต้องระงับนิวรณ์ได้ตลอดวัน นี่มันถึงจะดี

การจะระงับนิวรณ์จะทำอย่างไร ถ้าเราชอบใจในของสวยสดงดงาม เราก็เจริญอสุภกรรมฐานหรือกายคตานุสสติ

ถ้าหากว่าเราจะปราบโทสะ คือความโกรธหรือความพยาบาทก็ใช้พรหมวิหารสี่ หรือใช้วรรณกสิณสี่ คือกสิณสีแดง สีเหลือง สีเขียว สีขาว อย่างใดอย่างหนึ่ง

เราระงับความง่วงด้วยการเดินบ้าง เปลี่ยนอิริยาบถบ้าง ลืมตาให้กว้างบ้าง เอาน้ำล้างหน้าบ้าง เอามือขยี้ตาบ้าง แหงนดูดาวบ้าง ถ้าหากอารมณ์จิตฟุ้งซ่านไม่ทรงตัวอยู่ให้นับลมหายใจเข้าออก

ถ้าความสงสัยในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีขึ้น เราก็นั่งดูตัวเราว่า พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า เมื่อมีความเกิดขึ้นมาแล้ว มันก็มีความเปลี่ยนแปลง แล้วก็มีความสลายไปในที่สุด มาดูตัวเราเวลานี้โตเท่าพ่อเท่าแม่ เวลาคลอดมาใหม่ ๆ โตเท่านี้หรือเปล่า ถอยหลังไป ๑๐ ปี ๒๐ ปี เราแก่เท่านี้ไหม เท่านี้เราก็จะรู้ว่าพระพุทธเจ้าท่านเทศน์ถูก แล้วคนที่เกิดมาแล้วไม่ตายเราเห็นบ้างไหม สัตว์และคนเหมือนกัน ถ้าสิ่งนี้มันจริงเราก็เลิกสงสัยได้ พระพุทธเจ้าท่านสอนจริง นี่เป็นหลักใหญ่ในการเจริญวิปัสสนาภาวนาและสมถภาวนาด้วย

หลักทั้งหมดนี้บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหมดหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะขอยกงดเว้นข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้เลย นี่พูดถึงว่าเราจะเอาดีกัน ถ้าเราไม่เอาดีกันก็ไม่เป็นไร แล้วก็อย่ามานั่งบ่นว่าการเจริญพระกรรมฐานทำมาตั้งสามปี สี่ปี ห้าปี ไม่มีอะไรเป็นผล ที่ไม่มีอะไรเป็นผลก็เพราะว่าเราไม่สามารถจะตัดกังวลได้ ไม่สามารถจะทรงศีลให้บริสุทธิ์ได้ ไม่สามารถจะระงับนิวรณ์ทั้งห้าได้ ไม่สามารถจะทรงพรหมวิหารสี่ได้ สำหรับท่านที่เจริญกันไม่ช้า ประเดี๋ยวท่านก็ถึง โน่นถึงนี่ก็เพราะว่าคุณธรรมสี่อย่างนี่ท่านครบอยู่ตลอดเวลา

แล้วก็ขออย่าอ้างว่าเพราะบารมีท่านมาก ควรจะอ้างว่ากำลังใจท่านดี ท่านขยันหมั่นเพียรดี คนที่อ้างว่าบารมีไม่พอ แสดงว่าขี้เกียจมากกำลังใจไม่ดี นี่ไม่มีอะไร บารมีมันเป็นของสร้างใหม่ได้ ไม่ใช่จะต้องเป็นของสร้างมาแต่ชาติปางก่อนเสมอไป ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีใครบรรลุมรรคผล

การที่จะเจริญพระกรรมฐานอันดับต้นก่อนที่จะภาวนา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้พิจารณาเอาง่าย ๆ นึกถึงความตายกันก่อน เรานึกรู้อยู่เสมอว่าเราต้องตายแน่ ชีวิตนี้ไม่ใช่ของเรา ร่างกายไม่ใช่ของเรา ทั้งนี้เพราะเกิด แก่ เจ็บ แล้วก็ตายเหมือนกัน คำว่าแก่ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงว่าแก่หง่อม ไม่จำเป็นต้องแก่หง่อมเสมอไป การที่เราเกิดขึ้นมาแล้ววันหนึ่ง เคลื่อนไปหนึ่งนาทีสองนาที มันก็แก่ไปทุกที ทีแรกมันอ่อนปวกเปียก เมื่อเติบใหญ่ขึ้นมาทุกที การที่เคลื่อนเข้ามาสู่ความเจริญ เขาเรียกว่าแก่ขึ้น พอถึงวัยยี่สิบห้าไปแล้ว ทีนี้ก็แก่ลง มันโค้งลง มันก็แก่ทั้งนั้น คำว่าแก่ของพระพุทธเจ้าไม่ได้หมายถึงต้องถือ ไม้เท้ายันเสมอไป เกิดมาวันสองวันสามวันก็ชื่อว่าแก่ นี่มีความเกิดขึ้นแล้ว ความแปรปรวนมันก็ปรากฏขึ้น คือความแก่มันปรากฏ ในที่สุดมันก็ตาย

ทีนี้ร่างกายของเรา เราไม่ต้องการความแก่ ไม่ต้องการความป่วย เราไม่ต้องการความลำบาก เราไม่ต้องการความตาย แต่เราต้องตายแน่ ทำอย่างไร ๆ เราก็หลีกเลี่ยงความตายไม่ได้ คิดไว้เสมอว่าเราตายแน่ แล้วก็เมื่อไรจะตาย ก็คิดไว้ว่านี่เราหายใจเข้าถ้าไม่หายใจออกมันก็ตาย หายใจออกแล้วไม่หายใจเข้ามันก็ตาย จะไปรอตายกันเมื่อไร ต้องคิดไว้เสมอว่าความตายมีแก่เราทุกขณะจิต เราจะต้องเป็นผู้ไม่ประมาท

ในเรื่องนี้องค์สมเด็จพระบรมโลกนาถตรัสถามพระอานนท์ว่า อานันทะ ดูก่อน อานนท์ เธอนึกถึงความตายวันละกี่ครั้ง พระอานนท์ทูลตอบว่า ข้าพระพุทธเจ้านึกถึงความตายวันละ ๗ ครั้งพระเจ้าข้า พระพุทธเจ้าตรัสว่า อานันทะ ดูก่อน อานนท์ ยังห่างเกินไป ตถาคตเองนี่นึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก นี่เราเอาอย่างพระพุทธเจ้า ความตายนี่ต้องคิดไว้ทุกขณะว่าเราอาจจะตายเวลานี้ แล้วเราพร้อมหรือยัง พร้อมที่จะตายแล้วหรือยัง เมื่อเราพร้อมที่จะตายแล้ว เราเลือกทางที่จะไปแล้วหรือยัง ก่อนที่จะตายนี่เราพบ พระพุทธศาสนานี่เราควรจะเลือกไปได้แล้ว ถ้าเราเป็นคนมีกำลังใจ ไม่ขี้เกียจ มีอารมณ์จิตมั่นคง เพราะยังไง ๆ มันก็จะต้องตาย ก่อนจะตายร่างกายมันเหมือนกับบ้านที่เช่าอยู่ เมื่อถึงเวลาที่จะไล่ออกก็ต้องไป แต่ก่อนจะไปก็ควรจะหาบ้านไว้เสียก่อน เราจะไปหากระต๊อบหรือบ้านเท่าเดิมหรือว่าบ้านที่ดีกว่า หรือเราจะ ไปอยู่ในตำแหน่งมหาเศรษฐี นี่เราก็จะต้องสะสมทรัพย์สินของเข้าไว้เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ ถ้าเราจะไปเลวก็ไม่เป็นไร มันเลวได้ตามอัธยาศัย

ถ้าเราจะไปดีกว่าเดิมนี่ต้องเลือกทางไป การที่จะไปดีกว่าเดิม สำหรับทานและศีลนี่จะไม่พูดละเพราะว่าปกติอยู่แล้ว เราจะพูดเฉพาะเวลาภาวนา นี่เป็นเกณฑ์ภาวนา ถ้าหากว่าเราภาวนาในสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนาจิตตกอยู่ใน ภาวะขณิกสมาธิ ทรงอารมณ์สมาธิได้บ้างเล็กน้อยตามสมควรไม่นานนัก แล้วจิตมันกระโดดไปโน่นกระโดดไปนี่สอดส่าย ไปสู่อารมณ์อื่น พอจับได้พอรู้ตัวก็ดึงกลับเข้ามาใหม่ ภาวนาหรือจับลมหายใจเข้าออกไป ประเดี๋ยวหนึ่งมันก็กระโดดไปอีก เราก็ไม่ยอมแพ้ พอรู้ตัวก็ดึงกลับมาเล่นชักเขย้อกันอยู่แบบนี้ดึงกันไปดึงกันมา เวลาตายแล้วไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แบบสบาย นี่เรียกว่าเตรียมหาบ้านใหม่ รู้คุณสมบัติที่เราจะพึงได้จากการภาวนา
ถ้าจิตมีกำลังสูงขึ้นไป มีความเอิบอิ่ม มีความชุ่มชื่นทรงสมาธิได้ดีกว่า มีความสบายใจดีกว่า มีการสดใสทางจิตดีกว่า อย่างนี้ท่านเรียกว่าอุปจารสมาธิ ทีนี้ถึงแม้จิตใจจะมีความสดใสชุ่มชื่นเอิบอิ่มก็ตาม มันก็มีการโดดเหมือนกัน จิตมันก็มีการโดด ไม่ใช่ไม่โดด มันก็วิ่งไปโน่นวิ่งไปนี่ พอจับได้ก็ดึงเข้ามา พอดึงเข้ามามันก็ทรงตัว มีความชุ่มชื่น มีความสบายใจ มีความรื่นเริงหรรษา พร้อมที่จะเจริญพระกรรมฐานตลอดเวลา แล้วสมาธิก็ทรงได้ดี แต่นี่ก็ไม่แน่นักวันนี้ดีพรุ่งนี้อาจจะไม่ดีก็ได้ อย่างนี้เรียกว่า อุปจารสมาธิ ถ้าทรงได้อย่างนี้พอตายแล้วไปเกิด เป็นเทวดาชั้นยามา ตั้งใจไว้ดีนะจะเอาชั้นไหนก็เอา

ทีนี้ถ้าหากเราทรงฌาน การทรงฌานเบื้องต้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งปฐมฌาน วันนี้จะพูดเฉพาะปฐมฌาน เวลาพูดมันเลยมาแล้ว การที่จะรู้ว่าจิตเราเข้าถึงปฐมฌานหรือไม่ การเข้าถึงปฐมฌานนี่มัน อาจจะถึงไม่ได้นาน สักสองนาทีสามนาทีมันก็พลัดจากฌาน อารมณ์พลัดเข้าสู่ธรรมดาที่เราเรียกกันว่าภวังค์ ศัพท์ที่เรียกว่าภวังค์ พยายามใช้ให้มันถูกภวังค์นี่ไม่ใช่แปลว่าหลับสนิท หรือไม่ใช่แปลว่าลืมตัว ภวังค์แปลว่าอารมณ์ปกติ มีความรู้อยู่เป็นอยู่ตามสภาพเดิม เรียกว่าภวังค์ นี่เคยได้ยินบ่อย ๆ แต่ใช้กันไม่ถูก อย่าไปใช้มันเลยภาษาบาลีถ้าใช้ไม่เป็น มันจะเสียเรื่อง คนรู้เขาจะหัวเราะเยาะเอา

ถ้าจิตจะเข้าสู่ปฐมฌานให้สังเกตแบบนี้ เมื่อจิตเข้าสู่ปฐมฌานนี่เราชนะนิวรณ์ นิวรณ์ห้าระงับ จิตเข้าสู่ปฐมฌานทันที หรือว่าขณะที่เราภาวนาอยู่ก็ตามหรือพิจารณาอยู่ก็ตาม หูได้ยินเสียงภายนอกชัดเจนแจ่มใส แต่ทว่าใจเราก็ทำงานได้เป็นปกติ ไม่ดิ้นรนไปในเสียง ไม่รำคาญในเสียง อย่างนี้เรียกว่า ปฐมฌาน ปฐมฌานก็ยังมีหยาบมีละเอียดจะอธิบายก็เวลาหมดแล้ว เราทรงปฐมฌานอย่างหยาบ วันหนึ่งได้สองนาที สามนาที ห้านาที สิบนาที เรียกว่าช่าง ไม่ต้องไปตั้งเวลามันทั้งวัน ไม่ถึงปฐมฌาน จิตมันก็สู่สมาธิเล็กน้อย เมื่อจิตหยั่งดีก็เข้าสู่ ปฐมฌานอาจจะได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็ดึงกันไปดึงกันมา อย่างนี้เรียกว่าปฐมฌานอย่างหยาบ ตายแล้วไปเกิดเป็นพรหมชั้นที่หนึ่ง

ถ้ามีอารมณ์ชุ่มชื่นทรงเวลาได้มากกว่านั้นครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมง อย่างนี้เป็นพรหมชั้นที่สอง ถ้าทรงอาการดีอย่างนี้ตั้งเวลาได้เลย ว่าเราจะนั่งสักสองชั่วโมง ทรงปฐมฌานเข้าปั๊บทรงได้เลย ถึงเวลาสองชั่วโมง จิตมันตัดทันที อย่างนี้เป็นปฐมฌานละเอียดเป็นพรหมชั้นที่สาม ฌานแต่ละระดับก็เป็นชั้นสูง ๆ ขึ้นไป นี่เราเลือกของ เราได้นี่ก่อนที่เราจะตาย ก่อนที่เราจะตายเราก็ต้องเลือกเรา จะเอาอะไร

ถ้าหากว่าเราตั้งใจไม่เอาละการเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดาหรือเป็นพรหมไม่ดี เราต้องการไปนิพพาน ไม่อยากเกิดอีก ทำจิตใจให้สบายด้วยอำนาจของฌาน หวนกลับมาพิจารณาว่าร่างกายนี้มันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา มันเป็นแต่เพียงธาตุสี่มาประชุมกันเป็นกายชั่วคราว ไม่ช้ามันก็พังลง มันเสื่อมตลอดเวลา ขึ้นชื่อว่าขันธ์ห้าแล้วเรา ไม่ต้องการมันอีก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายในการเกิดสำหรับเรา ความรักในรูป เสียง กลิ่น รส มีประโยชน์อะไร เมื่อ ร่างกายของเรามันไม่ดีแล้ว ร่างกายของชาวบ้านที่ไหนเขาจะดี ร่างกายเราสกปรก ร่างกายเขาก็สกปรก ในเมื่อเรา ต้องการสะอาด เราจะเอาร่างกายคนอื่นมาทำไมมันสกปรกนี่ แล้วก็ไม่มีการทรงตัว มีการสลายตัวไปในที่สุด

เมื่อพิจารณากายของเราไม่ดี มันไม่ทรงตัวแล้ว มันจะต้องพัง ความรักด้วยอำนาจของตัณหามันก็น้อยไป ดีไม่ดีมันก็หมดเลย เขาตัดตรงนี้ ความโลภจะตะเกียกตะกายไปเพื่อประโยชน์อะไร การหากินด้วยสัมมาอาชีวะ การหากินด้วยการเลี้ยงชีพอันชอบ พระพุทธเจ้าท่านไม่เคยเรียกว่าโลภ คำว่าโลภนี่มันต้องโกงเขายื้อแย่งเขา ทำลาย ทรัพย์สินของเขาที่มีประโยชน์ให้มันพินาศไป คือได้มาด้วยอาการไม่สุจริตนั่นเอง อย่างนี้เรียกว่าโลภ ถ้าเราทำมาค้าขาย ตามธรรมดา ทำไร่ทำนา รับราชการ เป็นลูกจ้าง รับเงินเดือน เงินดาวน์ตามความสามารถ อันนี้ไม่เป็นโลภ จะได้เงินเดือน มากเท่าไรก็ตาม ค้าขายได้กำไรมากเท่าไรก็ตาม ยังไม่ชื่อว่าโลภ เว้นไว้แต่ของเลวบอกว่าเป็นของดีนี่ซิโลภ โกงเขา ทีนี้ถ้า เราจะต้องตายนี่เราจะโกงเขา เพื่อประโยชน์อะไร หากินด้วยสัมมาอาชีวะ เราตายแล้วมันก็ไม่ไปกับเรา ใจมันก็สบาย ความ โลภมันก็ตัดได้

ทีนี้ความโกรธอยากจะฆ่าเขา เราจะต้องตาย เขาก็จะต้องตายเหมือนกัน จะไปฆ่ามันทำไม ไม่จำเป็นจะต้องฆ่า มันตายของมันเอง

ทีนี้ความหลงนั่นเป็นของกูนี่เป็นของกู ก็นั่งดูแม้แต่ร่างกายของเรามันยังไม่เป็นของกูเลย เพราะว่าร่างกาย ของเรามันยังพังนี่ แล้วร่างกายคนอื่น วัตถุอื่นมันจะเป็นของเราหรือ ทรัพย์สมบัติของโลกมันเป็นประโยชน์เมื่อมีร่างกาย เท่านั้น ถ้าร่างกายสลายตัวแล้ว ทรัพย์สมบัติของโลกไม่มีอะไรมีประโยชน์เลย เราจะไปหลงใหลใฝ่ฝันว่านั่นเป็นเรา เป็นของ เราเพื่อประโยชน์อะไร มันไม่มี มันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา ตัดร่างกายทิ้งไปด้วยกำลังใจ ไม่ใช้เอามันมาเชือด เพราะร่างกายนี้ มันเป็นโทษ มันเป็นทุกข์ ไม่มีประโยชน์ ขึ้นชื่อว่าขันธ์ห้าคือร่างกายอย่างนี้จะไม่มีสำหรับเราอีก ทำใจให้สบาย จิตมันจะเป็นสุข ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา ความแก่ปรากฏก็สบายใจรู้ว่ามันจะแก่ ความป่วยไข้ปรากฎก็สบายใจ รู้แล้วว่าเกิดมามันต้องป่วย ความตายปรากฎหรือการพลัดพรากจากของรักของชอบใจปรากฎไม่มีการร้องไห้ ไม่มีการเสียดายเพราะเป็นของธรรมดา ถ้าจิตของท่านยอมรับนับถือกฎของธรรมดาแบบนี้เขาเรียกว่าพระอรหันต์ อย่างนี้ก็ไปนิพพานได้ มีความสุขที่สุด

เอาละบรรดาท่านพุทธบริษัทเวลาตั้งไว้สองระยะมันก็หมดทั้งสองจุดแล้ว ต่อแต่นี้ขอทุกท่านอันดับแรก จับลมหายใจเข้าออก เวลาหายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้า เวลาหายใจออกรู้อยู่ว่าหายใจออก เวลาหายใจเข้านึกว่า พุท เวลาหายใจออกนึกว่า โธ จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา


ที่มา
//www.luangporruesi.com/1.html


Create Date : 10 กุมภาพันธ์ 2556
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2556 21:31:27 น. 0 comments
Counter : 616 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

scimovie
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 108 คน [?]




แหล่งรวบรวมความรู้ โปรแกรม เพลง หนัง เกมส์ วิทยาศาสตร์ ดูละคร เรื่องย่อ ภาพยนตร์ การเงิน และอื่นๆ อีกมากมาย สุดท้ายขอกำลังใจให้มีแรงอัพเดทตลอดๆ ครับ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยียนกันครับ
Friends' blogs
[Add scimovie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.