ดาวน์โหลดโปรแกรม ดูละครย้อนหลัง อ่านเรื่องราวของความรู้รอบตัว วิทยาศาสตร์ ท่องเที่ยว สุขภาพ อาหาร รถยนต์ต่างๆ ไม่ทิ้งเรื่องราวความบันเทิงและเรื่องส่วนตัวอีกด้วย
Group Blog
 
<<
กันยายน 2552
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
9 กันยายน 2552
 
All Blogs
 
ข้อมูลการท่องเที่ยวจังหวัดพัทลุง

เมืองหนังโนรา อู่นาข้าว พราวน้ำตก แหล่งนกน้ำ ทะเลสาบงาม เขาอกทะลุ น้ำพุร้อน


พัทลุง อยู่บริเวณฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลา ห่างจากกรุงเทพฯ 860 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งสิ้น 3,424.473 ตารางกิโลเมตร เป็นเมืองแห่งขุนเขาที่เก่าแก่ โบราณเมืองหนึ่งของภาคใต้ ตัวเมืองมีเขาอกทะลุเป็นสัญลักษณ์สูงเด่น มองเห็นแต่ไกล เป็นเมืองต้นกำเนิดหนังตะลุง และโนรา มีประวัติสันนิษฐานว่าพัทลุง เป็นเมืองที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยศรีวิชัย ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ที่เขาหัวแดง ฝั่งตรงข้ามกับเมืองสงขลาในปัจจุบัน แต่เนื่องจากมีภัยต่างๆ มารบกวนทำให้ต้องย้ายเมือง ไปตั้งอยู่ตามตำบลต่างๆ หลายครั้ง

แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดพัทลุง ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด คือ อุทยานนกน้ำทะเลน้อย เป็นอุทยานนกน้ำใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่นักดูนกทุกคนใฝ่ฝันจะมาเที่ยวชม นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นธรรมชาติแล้ว โบราณสถาน วัดต่าง ๆ ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้าน ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราทราบถึงความเป็นมา ของเมืองพัทลุง

อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอรัตภูมิ อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา และอำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล
ทิศตะวันออก ติดต่อกับทะเลสาบสงขลา เขตอำเภอระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพระ และสิงหนคา จังหวัดสงขลา
ทิศตะวันตก ติดต่อกับเทือกเขานครศรีธรรมราช หรือเขาบรรทัด เขตอำเภอห้วยยอด เมืองตรัง นาโยง ย่านตาขาว และปะเหลียน จังหวัดตรัง

การเดินทาง
รถยนต์ จากกรุงเทพฯ สามารถไปได้ 3 เส้นทาง คือ
เส้นทางที่ 1 ตามทางหลวงหมายเลข 4 ถึงชุมพร (สี่แยกปฐมพร) แยกเข้าระนอง พังงา กระบี่ ตรัง จนถึงพัทลุง ระยะทางประมาณ 1,140 กิโลเมตร
เส้นทางที่ 2 ตามทางหลวงหมายเลข 4 ถึงชุมพร ให้เข้าทางหลวงหมายเลข 41 จนถึงจังหวัดพัทลุง ระยะทาง 840 กิโลเมตร
เส้นทางที่ 3 ตามทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข 403 จากนั้นจึงเข้าทางหลวงหมายเลข 41 ที่ชุมทางเขาชุมทอง จนถึงพัทลุง

รถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทย มีรถไฟผ่านอำเภอเมือง อำเภอควนขนุน อำเภอเขาชัยสน อำเภอปากพะยูน อำเภอป่าบอน อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง รายละเอียดสอบถาม โทร. 1690, 0 2223 7010, 0 2223 7020 สถานีรถไฟพัทลุง โทร. 0 7461 3106 //www.railway.co.th

รถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด มีบริการเดินรถกรุงเทพฯ - พัทลุง ทุกวัน มีรถออกที่สถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 2434 5557-8 , 0 2435 1199, 0 2435 1200 //www.transport.co.th

เครื่องบิน จังหวัดพัทลุงไม่มีสนามบิน นักท่องเที่ยวสามารถลงได้ที่จังหวัดตรังหรือหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับตารางการบินได้ที่ บมจ.การบินไทย โทร. 1566, 0 2280 0060, 0 2628 2000 สำนักงานตรัง โทร. 0 7521 8066, 0 7521 9923 สำนักงานหาดใหญ่ โทร. 0 7424 5851-2, 0 7424 3711, 0 7423 3433 //www.thaiairways.com

ระยะทางจากอำเภอเมืองไปอำเภอต่างๆ
กิ่งอำเภอศรีนครินทร์ 16 กิโลเมตร
อำเภอควนขนุน 17 กิโลเมตร
อำเภอเขาชัยสน 28 กิโลเมตร
อำเภอศรีบรรพต 35 กิโลเมตร
อำเภอป่าพะยอม 38 กิโลเมตร
อำเภอตะโหมด 39 กิโลเมตร
อำเภอกงหรา 40 กิโลเมตร
อำเภอบางแก้ว 40 กิโลเมตร
อำเภอป่าบอน 50 กิโลเมตร
อำเภอปากพะยูน 66 กิโลเมตร

แหล่งท่องเที่ยว
พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ หรือที่เรียกกันว่า "พระสี่มุมเมือง" เป็นพระพุทธรูปประจำภาคใต้ และปูชนียวัตถุคู่เมืองของพัทลุง ประดิษฐานอยู่ภายในศาลาจตุรมุข บริเวณด้านหน้าระหว่างศาลากลางจังหวัด กับศาลจังหวัดพัทลุง เป็นพระพุทธรูปหล่อสัมฤทธิ์ปางสมาธิ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน โปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้ที่จังหวัดพัทลุง เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2511

วัดคูหาสวรรค์ ตั้งอยู่เชิงเขาคูหาสวรรค์ ใกล้ๆ ตัวตลาดพัทลุง เป็นโบราณสถานที่สำคัญ แห่งหนึ่งในจังหวัดพัทลุง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นใน ราวพุทธศตวรรษที่ 13-15 ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์ใหญ่ พระเจดีย์ พระพุทธรูปและยังพบพระพิมพ์ดินดิบสมัยศรีวิชัย บริเวณหน้าถ้ำมีจารึกพระปรมาภิไธย ย่อของพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีถ้ำนางคลอด ซึ่งภายในถ้ำตกแต่งด้วยภาพ ปูนปั้นเกี่ยวกับเรื่องราวพื้นบ้านอีกด้วย

เขาอกทะลุ จากวัดคูหาสวรรค์ไปตามทางหลวงหมายเลข 4047 จะพบเขาอกทะลุ ตั้งตระหง่านอยู่ทางด้านตะวันออกของสถานีรถไฟ เขาอกทะลุเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดพัทลุง มีความสูงประมาณ 250 เมตร มีบันไดสำหรับขึ้นยอดเขาเพื่อชมทิวทัศน์ของเมืองพัทลุงได้ ลักษณะพิเศษของภูเขาลูกนี้คือ มีโพรงทะลุมองเห็นอีกด้านหนึ่ง อยู่บริเวณเกือบตอนปลายของยอดเขา

วัดวัง อยู่ตำบลลำปำ ห่างจากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 4047 ประมาณ 6 กิโลเมตร (ใช้เส้นทางเดียวกับเขาอกทะลุ) เป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดพัทลุง เดิมเป็นวัดโบราณ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ต่อมาได้สร้างขึ้นใหม่โดยพระยาพัทลุง (ทองขาว) ในสมัยรัชกาลที่ 3 และเคยเป็นสถานที่ทำพิธีถือน้ำ พระพิพัฒน์สัตยาในสมัยรัตนโกสินทร์ ต่อมาเมื่อย้ายเมืองพัทลุงไปตั้งที่ตำบลคูหาสวรรค์ วัดวังก็ชำรุดทรุดโทรมลง และได้มีการบูรณะขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2512 สิ่งสำคัญของวัดวังคือ พระอุโบสถ เป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ ประดับด้วยช่อฟ้าใบระกา ด้านหน้ามีมุขเด็จยื่นออกมา ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรม ฝาผนังสีฝุ่น สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 กล่าวกันว่าเป็นฝีมือช่างคณะเดียวกับ ที่เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง ในพระอุโบสถวัดพระศรี รัตนศาสดาราม เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธ ประวัติและเทพชุมนุม บริเวณระเบียงคดโดยรอบมีพระพุทธรูปปูนปั้น 108 องค์ นอกจากนี้ยังมีพระเจดีย์ วิหารและธรรมาสน์ลายทองสร้าง ในสมัยรัตนโกสินทร์เช่นเดียวกับพระอุโบสถ เหมาะสำหรับผู้สนใจศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรมไทย

วังเจ้าเมืองพัทลุง (วังเก่า-วังใหม่) ตั้งอยู่ใกล้กับวัดวัง เดิมเป็นที่ว่าราชการและเป็นที่พัก อาศัยของเจ้าเมืองพัทลุง ปัจจุบันยังเหลืออยู่ส่วนหนึ่งคือ วังเก่า สร้างในสมัยพระยาพัทลุง (น้อย จันทโรจวงศ์) เป็นผู้ว่าราชการ ต่อมาวังได้ตกทอดมาจนถึงนางประไพ มุตามะระ บุตรีของหลวงศรีวรฉัตร ส่วนวังใหม่ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2432 โดยพระยาอภัยบริรักษ์จักราวิชิตพิพิธภักดี (เนตร จันทโรจวงศ์) บุตรชายของพระยาพัทลุงซึ่งเป็นเจ้าเมืองพัทลุง ปัจจุบันทายาทตระกูล "จันทโรจวงศ์" ได้มอบวังนี้ให้เป็นสมบัติของชาติ และกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียน เป็นโบราณสถานวังเก่า เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 และวังใหม่ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันจันทร์ - วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00-12.00 น. และ 13.00-16.00 น. เสียค่าเข้าชมคนไทย 5 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท

อนุสาวรีย์พระยาทุกขราษฎร์ (ช่วย) ประดิษฐานอยู่ที่สามแยกท่ามิหรำ ในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง ตามประวัติกล่าวว่าพระยาทุกขราษฎร์ เดิมเป็นพระ ชื่อพระมหาช่วย จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าเลไลยก์ ในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งขณะนั้นเกิดสงคราม ๙ ทัพ พระมหาช่วยได้ช่วย พระยาพัทลุงนำชาวบ้านเข้า ต่อต้านกองทัพพม่าจนแตกพ่าย ต่อมาจึงสาสิกขาบทแล้วได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาทุกขราษฎร์ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยทำราชการเมืองพัทลุง มีตำแหน่ง "พระยา" เทียบเท่าเจ้าเมือง

หาดแสนสุขลำปำ อยู่เลยวัดวังไปตามทางหลวงหมายเลข 4047 อีกประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นหาดทรายที่มีทิวสน ร่มรื่นริมฝั่งทะเลสาบสงขลา มีศาลากลางน้ำ ชื่อ "ศาลาลำปำที่รัก" สำหรับชมทิวทัศน์บริเวณทะเลสาบ และจากบริเวณชายหาดมีสะพานเชื่อมไปยังเกาะลอย ซึ่งเป็นเกาะที่เกิดจากการ ทับถมของตะกอนปากน้ำลำปำ

ศูนย์รวมหัตถกรรมกะลามะพร้าวเมืองพัทลุง อยู่ที่หมู่ 1 ตำบลชัยบุรี ห่างจากตัวเมืองไป ตามเส้นทางที่แยกไสยวน ประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านหัตถกรรมผลิตภัณฑ์กะลาที่มีชื่อเสียง จนได้ชื่อว่า "หมู่บ้านกะลาเงินล้าน" จากแนวความคิดของนายปลื้ม ชูคง ผู้นำชุมชนเป็นผู้ริเริ่ม โดยมีการนำกะลามะพร้าวมา ออกแบบเป็นภาชนะสำหรับใช้ในครัวเรือน เครื่องประดับ เช่น ช้อน ถ้วยกาแฟ ถ้วยน้ำ กระบวยตักน้ำ ทัพพี โคมไฟและเครื่องประดับ ซี่งจะส่งจำหน่ายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ สนใจชมวิถีชีวิตชาวบ้านและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ ติดต่อนายปลื้ม ชูคง โทร. 0 7461 4512, 0 1465 5751

เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ได้รับการประกาศเป็น เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2518 แต่ประชาชนมักเรียกกันว่า "อุทยานนกน้ำทะเลน้อย" ซึ่งนับเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า แห่งแรกของประเทศไทย สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพรรณพืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รอบๆทะเลน้อย บริเวณพรุควนขี้เสียน เป็นแรมซาร์ไซต์แห่งแรก ของประเทศไทย เขตห้ามล่าสัตว์ป่านี้มีเนื้อที่ประมาณ 285,625 ไร่ ได้รับการคัดเลือกให้เป็น พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญของประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดคือ พัทลุง สงขลา และนครศรีธรรมราช ส่วนที่เป็นพื้นน้ำ (ทะเลน้อย) ประมาณ 17,500 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่ของทะเลน้อย เป็นพื้นที่ราบริมทะเลสาบ ประกอบด้วย นาข้าว ป่าพรุ ทุ่งหญ้า ตัวทะเลน้อยกว้างประมาณ 5 กิโลเมตร ยาวประมาณ 6 กิโลเมตร มีพืชน้ำปกคลุม เช่น ผักตบชวา กง กระจูดหนู บัวต่างๆ และพืชลอยน้ำ ความลึกเฉลี่ย 1.25 เมตร สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่แบ่งออกเป็น นกน้ำ 287 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 26 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 6 ชนิด นกน้ำมีทั้งนกที่ประจำถิ่นและนกอพยพ เช่นนกกาบบัว นกกุลา นกกระสานวล นกกระสาแดง นกกาเล็กน้ำ นกแขวก เป็นต้น สิ่งที่น่าสนใจในการเที่ยว ชมอุทยานนกน้ำทะเลน้อยคือ พระตำหนักทะเลน้อย ทะเลบัวยามเช้า ฝูงนกน้ำนานาชนิด แหล่งทำรังวางไข่ของ นกน้ำบริเวณอ่าวหม้อ หน่วยพิทักษ์ป่าควนขี้เสียน แหล่งทำรังวางไข่ ของนกน้ำบริเวณควนทะเลมอง และจุดชมธรรมชาติบริเวณศาลานางเรียม การเดินทาง จากตัวเมืองพัทลุงใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4048 (พัทลุง-ควนขนุน) ประมาณ 32 กิโลเมตร ทางลาดยางตลอดสายมีป้ายบอกตลอดทาง หรือทางรถไฟ ลงที่สถานีปากคลอง จากนั้นต่อรถโดยสารไปทะเลน้อย ประมาณ 8 กิโลเมตร นอกจากนี้ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ร้านค้าสวัสดิการ บ้านพักรับรอง 5 หลัง และเรือนำเที่ยว 60 ลำ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 7468 5230

วัดเขียนบางแก้ว เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง พ.ศ. 2533 เป็นวัดเก่าแก่ที่มีพระธาตุบางแก้ว สร้างแบบเดียวกับพระมหาธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราชแต่ขนาดเล็กกว่า เป็นปูชนียสถานที่เก่าแก่แห่งหนึ่ง ของจังหวัดพัทลุง เชื่อว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น สันนิษฐานว่าพื้นที่บริเวณวัดเขียนนี้ จะเป็นที่ตั้งของเมืองพัทลุงมาก่อน เพราะพบซากปรักหักพังของศิลาแลง และพระพุทธรูปมากมาย นอกจากนี้บริเวณ วัดยังมีพิพิธภัณฑ์ของชาติ ซึ่งเก็บรวบรวมพระพุทธรูป เครื่องใช้ถ้วยชาม การเข้าชมต้องขอกุญแจจากเจ้าอาวาส การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 4081 เลยอำเภอเขาชัยสนไปประมาณ 7 กิโลเมตร ในเขตบ้านบางแก้วใต้บริเวณกิโลเมตรที่ 14 จะมีป้ายบอกทางเข้าวัดอยู่ซ้ายมือประมาณ 2.5 กิโลเมตร

แหลมจองถนน เป็นหมู่บ้านชาวประมง อยู่ตำบลจองถนน จากตัวเมืองพัทลุงไป ตามเส้นทางสายเพชรเกษม เลี้ยวซ้ายผ่านอำเภอเขาชัยสนไปประมาณ 12 กิโลเมตร ระยะทางห่างจากตัวเมือง 39 กิโลเมตร อยู่บนเนินดิน และลาดชันลงไปยังชายหาดทะเลสาบสงขลา สามารถมองเห็นทิวทัศน์ เกาะแก่งต่างๆ และยังมีร้านอาหารบริการ แก่นักท่องเที่ยวอีกด้วย

น้ำตกไพรวัลย์ ตั้งอยู่ในหน่วยพิทักษ์ป่าบ้านพูด เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ตำบลคลองเฉลิม เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ เงียบสงบร่มเย็นด้วยพรรณไม้นานาชนิด บริเวณน้ำตกมีร้านอาหารบริการ การเดินทาง จากตัวเมืองพัทลุง ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 ถึงสามแยกกงหราเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 4122 ประมาณ 29 กิโลเมตร และจะมีป้ายบอกทางไปน้ำตกอีก 3 กิโลเมตร หรือถ้านักท่องเที่ยว ต้องการไปเที่ยวเองสามารถขึ้นรถสองแถว สายน้ำตกไพรวัลย์-พัทลุง ซึ่งคิวรถจะจอดอยู่เยื้องสถานีรถไฟพัทลุงเริ่มตั้งแต่เวลา 07.00-17.00 น.และจากน้ำตกไพรวัลย์มาพัทลุง คันสุดท้ายหมดเวลา 15.00 น. รถออกทุก 15 นาที ทุกวัน

น้ำตกลานหม่อมจุ้ย เป็นน้ำตกที่อยู่ท่ามกลางป่าที่ร่มรื่น อยู่ในบริเวณหน่วยพิทักษ์สัตว์ป่าบ้านตะโหมด ลักษณะของน้ำตกจะแบ่งเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นมีชื่อต่างกัน มีแอ่งน้ำสามารถเล่นน้ำได้ การเดินทาง จากอำเภอตะโหมด ใช้เส้นทางหมายเลข 4121 และต่อด้วยเส้นทางหมายเลข 4237 ประมาณ 18 กิโลเมตร จนถึงวัดตะโหมด น้ำตกจะอยู่เลยวัดตะโหมดไป ประมาณ4-5 กิโลเมตร

อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า เป็นอุทยานฯลำดับที่ 42 ของประเทศไทย ประกาศเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2525 ครอบคลุมจังหวัดพัทลุง นครศรีธรรมราชและจังหวัดตรัง มีเนื้อที่ประมาณ 433,750 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่ เป็นป่าเทือกเขาบรรทัด มีภูเขาสลับซับซ้อนมากมายมี "เขาหินแท่น" เป็นยอดเขาสูงสุด พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า เป็นต้นน้ำของแม่น้ำตรังและแม่น้ำปากพนัง โดยในฝั่งจังหวัดพัทลุงเป็น แหล่งกำเนิดคลองลาไม คลองไม้เสียบ คลองน้ำใส ซึ่งจะไหลรวมเป็นคลอง ชะอวดและแม่น้ำปากพนัง และสภาพพืชพรรณส่วนใหญ่เป็นป่าดิบชื้น มีพรรณไม้หลายชนิดขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นเช่น ไม้ยาง ตะเคียน หลุมพอ กระบาก จำปาป่า พิกุล เป็นต้น ส่วนสัตว์ป่ามีจำพวก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ประมาณ 60 ชนิด เช่น เลียงผา เก้ง กวาง ค้างคาวมงกุฎเล็ก ค้างคาวปีกถุงเคราดำ เป็นต้น สัตว์จำพวกนก พบประมาณ 286 ชนิด เช่น นกแซวสวรรค์ นกกางเขนดง นกกินปลีสีเรียบ นกจับแมลงสีส้ม นกขุนแผนอกส้ม นกกระบั้งรอก นกเงือกหัวหงอก นกเขาเขียว นกกระเต็นแดง เป็นต้น จำพวกสัตว์เลื้อยคลาน พบประมาณ 67 ชนิด อาทิเช่น งูดิน เห่าช้าง งูจงอาง กิ้งก่าบินหัวสีฟ้า ตุ๊กแกป่าใต้ ตะพาบน้ำ เป็นต้น จำพวกปลา พบประมาณ 15 ชนิด เช่น ปลาตูหนา ปลามัด ปลาดุกรำพัน ปลาหวด ปลาซิวใบไผ่ เป็นต้น จำพวกสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก อาทิเช่น กบหงอนมลายู กบเขาหลังตอง กบอ่อง จงโคร่ง กบตะนาวศรี คางคกแคระ เขียดบัว เป็นต้น จำพวกแมลง พบประมาณ 70 ชนิด เช่น ผึ้งหลวง จักจั่น งวงมวนแดง ด้วงกว่างห้าเขา ผีเสื้อหางติ่งอิศวร ผีเสื้อพระเสาร์ใหญ่ ผีเสื้อเจ้าป่า เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสถานที่ท่อง เที่ยวที่น่าสนใจอีกคือ

ถ้ำมัจฉาปลาวน เป็นถ้ำขนาดกลาง อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯประมาณ 2 กิโลเมตร ภายในถ้ำมีห้องโถงใหญ่ 3 ห้อง มีหินงอกหินย้อย ม่านหินปูน และค้างคาวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีจงโคร่ง กิ้งกือ ปลายถ้ำจะมีแอ่งน้ำกว้างประมาณ 10 ตารางเมตร มีกุ้ง หอย และปลามัด อาศัยอยู่

ผาผึ้ง อยู่ห่างจากบริเวณที่ทำการอุทยานฯประมาณ 300 เมตร เป็นหน้าผาหินปูนที่มีผึ้งหลวง มาทำรังนับร้อยรังในทุกๆปี ระหว่างช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน หากเดินไปตามทางไหล่ เขาด้านบนสุดเป็นจุดชมวิว สามารถมองเห็นธรรมชาติพรรณไม้นานาชนิด เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ อยู่ในบริเวณที่ทำการอุทยานฯ มี 2 เส้นทาง เหมาะสำหรับการเดินศึกษาธรรมชาติ สมุนไพร ค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมด้านชีวภาพ

นอกจากนี้ ยังมีน้ำตกเหรียงทอง ถ้ำวังนายพุด น้ำตกควนประ น้ำตกปากแจ่ม และทางอุทยานฯ มีบ้านพักบริการจำนวน 11 หลัง และสถานที่กางเต็นท์ บริการนักท่องเที่ยว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า โทร. 0 7461 9654-5 หรือฝ่ายบริการบ้านพัก ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมป่าไม้ กรุงเทพฯ โทร. 0 2579 7223, 0 2579 5734 การเดินทาง จากตัวเมืองพัทลุงใช้ทางหลวงหมายเลข 41 ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 4164 (ควนขนุน-เขาปู่) สี่แยกโพธิ์ทอง ประมาณ 17 กิโลเมตร จะเห็นป้ายทางเข้าอุทยานฯ เลี้ยวซ้ายไปประมาณ 4 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ

แอ่งน้ำหูแร่ อยู่ตำบลท่ามะเดื่อ ห่างจากตัวเมืองพัทลุง 33 กิโลเมตร จากถนนเพชรเกษมประมาณ 20 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสายเขาชัยสน-จงเก (หมายเลข 4081) และเลี้ยวขวาบริเวณหน้าที่ทำการ อำเภอเขาชัยสนอีกประมาณ 5 กิโลเมตร หน้าที่ว่าการอำเภอจะมี รถจักรยานยนต์รับจ้าง บริการนักท่องเที่ยว คลองหูแร่ มีสภาพเป็นคลองขนาดใหญ่ น้ำใสสะอาด พื้นคลองเป็นทรายและโขดหิน บริเวณน้ำลึก เหมาะแก่การ พักผ่อนหรือลงเล่นน้ำ มีร้านอาหารบริการนักท่องเที่ยว

ศูนย์ศิลปหัตถกรรมรูปหนังบางแก้ว ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 บ้านบางแก้ว ตำบลท่ามะเดื่อ ห่างจากตัวเมือง 36 กิโลเมตร จากสามแยกถนนเพชรเกษม-ทางรถไฟ ประมาณ 9 กิโลเมตร ห่างจากทางรถไฟ 200 เมตร หมู่บ้านหัตถกรรมรูป หนังบางแก้วมีสมาชิกจำนวน 25 คน แกะรูปหนังตะลุง หนังใหญ่ และรูปแบบใหม่ ๆ ตามผู้สั่งซื้อ ฝีมือประณีต งดงาม ส่งจำหน่ายทั่วประเทศและต่างประเทศ กว่า 15 ประเทศ สนใจเที่ยวชมและเลือกซื้อรูปหนัง ติดต่อ นายอิ่ม จันทร์ชุม โทร. 0 7469 7160 ประธานหมู่บ้าน หรือสำนักงานพัฒนาชุมชน อำเภอบางแก้ว โทร. 0 7469 7380

ถ้ำสุมโน อยู่ตำบลบ้านนา ห่างจากตัวเมืองไปตามถนนเพชรเกษม (สายพัทลุง-ตรัง) ประมาณ 21 กิโลเมตร ตัวถ้ำห่างจากถนนประมาณ 500 เมตร เป็นถ้ำที่มีหินงอกหินย้อย และมีห้องโถงกว้างขวางใหญ่โต และร่มเย็นวิจิตรตระการตาตาม ธรรมชาติซึ่งมีทั้งหมด 18 ถ้ำ ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ หลายองค์ บริเวณถ้ำยังเป็นสถานที่วิปัสสนา และปฏิบัติธรรมอีกด้วย

มโนราห์หรือโนรา ศิลปะการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดพัทลุง ได้ชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของโนรา สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียภาคใต้ พร้อมกับละครชาตรี แต่ท่าร่ายรำถูกเปลี่ยนแปลง ให้เข้ากับวัฒนธรรมของ คนแต่ละจังหวัด การร่ายรำมีท่าสำคัญ 12 ท่า การแสดงจะดูท่าร่ายรำ ฟังบทร้องซึ่งผู้แสดง จะร้องเองโดยการด้นกลอนสด หรือร้องตามบทที่แต่งไว้

ตลุง เป็นการแสดงพื้นบ้านที่นิยมทางภาคใต้ หนังตลุงจะทำจากหนังวัวดิบ ตากแห้งเป็นแผ่นแข็ง ตัดเป็นตัวละครต่าง ๆ สลักลวดลายสวยงาม โดยมากมักจะทาสีดำทั้งตัว ตัวหนังจะมีไม้ไผ่ผ่าเพื่อหนีบตัวหนัง เรียกว่าไม้ตับ ปากและมือจะขยับได้ตามลีลาของบทบรรยาย มีคนเชิดซึ่งเป็นคนพากษ์ และวงดนตรีรวมแล้วจำนวนไม่เกิน 8 คน ประกอบด้วยเครื่องดนตรี ปี่ กลอง โพน ฆ้อง




Create Date : 09 กันยายน 2552
Last Update : 9 กันยายน 2552 14:43:12 น. 1 comments
Counter : 840 Pageviews.

 
สมัยป้ามดยังเด็กๆ เคยติดตามขบวนชาวบ้านที่เขายกโขยงกันไปส่งนายอำเภอปากพนังที่ต้องย้ายไปอยู่เมืองลุง
ป้ามดจำภาพภูเขาตรงนั้นได้ติดตา ช่างเป็นทิวทัศน์ที่สวยเหลือเกิน แต่จำไม่ได้แล้วว่าอยู่ตรงไหน


โดย: คนปากนัง (ป้ามด ) วันที่: 23 กันยายน 2552 เวลา:11:05:01 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

scimovie
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 108 คน [?]




แหล่งรวบรวมความรู้ โปรแกรม เพลง หนัง เกมส์ วิทยาศาสตร์ ดูละคร เรื่องย่อ ภาพยนตร์ การเงิน และอื่นๆ อีกมากมาย สุดท้ายขอกำลังใจให้มีแรงอัพเดทตลอดๆ ครับ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยียนกันครับ
Friends' blogs
[Add scimovie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.