ดาวน์โหลดโปรแกรม ดูละครย้อนหลัง อ่านเรื่องราวของความรู้รอบตัว วิทยาศาสตร์ ท่องเที่ยว สุขภาพ อาหาร รถยนต์ต่างๆ ไม่ทิ้งเรื่องราวความบันเทิงและเรื่องส่วนตัวอีกด้วย
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2553
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
2 พฤศจิกายน 2553
 
All Blogs
 
ข้าว “หอมชลสิทธิ์” ข้าวประกันความเสี่ยงยามน้ำท่วม

“ปีหน้าข้าวแพงแน่”



คงเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ไม่ยากเมื่อท้องทุ่งนาหลายแสนไร่จมหายไปกับ “น้ำ” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่กระดูกสันหลังของชาติต้องแบกรับ เมื่อไม่สามารถควบคุมสภาพอากาศได้ วิธีตั้งรับด้วยการพัฒนาพันธุ์ที่ปรับตัวเข้ากับดินฟ้าอากาศ จึงเป็นอีกทางออกที่จะลดความเสี่ยงให้แก่ชาวนาได้ และ “ข้าวหอมชลสิทธิ์” น่าจะช่วยบรรเทาทุกข์ให้แก่เกษตรกรที่เผชิญภาวะน้ำท่วมในขณะนี้ได้

“ข้าวหอมชลสิทธิ์” เป็นข้าวที่ได้รับการพัฒนาให้ทนต่อน้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งเป็นปัญหาที่พบประจำทุกปีในแถบภาคเหนือตอนล่างลงมาถึงภาคกลาง โดยเกิดจากการผสมระหว่างพันธุ์ข้าวทนน้ำท่วม IR57514 และข้าวขาวดอกมะลิ 105 ซึ่ง ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา จากหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในผู้ร่วมพัฒนาพันธุ์ข้าวทนน้ำท่วมนี้กล่าวถึงคุณสมบัติของข้าวพันธุ์นี้ว่า เป็นข้าวเมล็ดยาวที่มีกลิ่นหอมใกล้เคียงข้าวหอมมะลิ เมื่อจัดอันดับคุณภาพข้าวแล้ว ข้าวชลสิทธิ์อยู่ตรงกลางระหว่างข้าวหอมมะลิและข้าวขาวปทุม

“หากเกษตรกรมีพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ก็จะช่วยลดความเสี่ยงได้ และเรื่องน้ำท่วมนี้เราก็คิดมานานแล้ว เป็นปัญหาทุกปี สิ่งที่เราทำได้คือใส่ทุกอย่างเพื่อลดความเสี่ยงในพันธุ์ข้าว เหมือนเขามีหลักประกันในการปลูก เมื่อไม่มีเหตุการณ์ภัยพิบัติเขาก็ยังปลูกได้ แต่ถ้าเกิดภัยพิบัติขึ้น อย่างน้อยเขาก็ได้อะไรบ้าง” ดร.ธีรยุทธกล่าว

ข้าวหอมชลสิทธิ์ยังให้ผลผลิตสูงเฉลี่ยถึง 900 กิโลกรัมต่อไร่ โดยหากเกี่ยวข้าวสด คือ เกี่ยวหลังรวงข้าวเหลืองแต่ต้นข้าวยังเขียวจะได้ผลผลิตประมาณ 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งการเกี่ยวข้าวลักษณะนี้จะได้ข้าวที่มีความชื้นสูง ดังนั้น ทางโรงสีจึงต้องนำไปอบไล่ความชื้นและเกษตรกรจะได้ราคาไม่ค่อยดี และหากเกี่ยวข้าวแห้งคือทั้งรวงข้าวและต้นข้าวเหลืองแล้วจะได้ผลผลิตประมาณ 800 กิโลกรัมต่อไร่

“ข้าวหอมชลสิทธิ์เป็นข้าวไม่ไวแสง จึงปลูกได้ตลอดทั้งปีแต่เหมาะกับนาชลประทานที่น้ำเข้าถึง และจะให้ผลผลิตหลังปลูก 120 วัน ข้าวพันธุ์นี้จะทนน้ำท่วมได้นาน 2 สัปดาห์โดยที่ผลผลิตไม่เสียหาย หากท่วมนานกว่านั้นผลผลิตจะลดลงตามส่วน แต่ดีกว่าเกษตรกรไม่ได้อะไรเลย เพราะปกติข้าวทั่วไปโดนน้ำท่วม 2-3 วันก็ตาย สิ่งที่แตกต่างระหว่างข้าวทนน้ำท่วมกับข้าวทั่วไปคือ เมื่อเจอน้ำท่วมซึ่งระดับน้ำจะท่วมสูงแค่ไหนก็ตาม ต้นข้าวทนน้ำท่วมจะไม่ตาย โดยจะหยุดการเจริญเติบโตและฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหลังน้ำลด แต่ต้นข้าวปกติจะยังเจริญเติบโตแข่งกับน้ำท่วม จนหมดพลังงานละตายในที่สุด และลำต้นของข้าวทนน้ำท่วมยังแข็งแรงกว่าปกติจึงไม่ล้มเมื่อเจอน้ำมาก” ดร.ธีรยุทธกล่าว

ความสำเร็จของการพัฒนาข้าวหอมชลสิทธิ์นี้เกิดจากความร่วมมือของหลายสถาบันและมีผู้ร่วมพัฒนาข้าวทนน้ำท่วมนี้ไม่ต่ำกว่า 60 คน โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันข้าวนานาชาติหรืออีรี (IRRI) ฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ ใช้เวลาพัฒนาพันธุ์ข้าว 4 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลามาตรฐานของการปรับปรุงพันธุ์ข้าวในปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็มีความพยายามลดระยะเวลาในการพัฒนาพันธุ์ข้าวให้เหลือเพียง 2 ปี

“การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเดี๋ยวนี้ใช้เวลาไม่นาน แค่ 4 ปีก็ได้พันธุ์ข้าวแล้ว เพียงแค่อยากได้คุณสมบัติอะไรก็ใส่ลงไปให้ครบ สำหรับการพัฒนาข้าวหอมชลสิทธิ์นี้ใช้เทคโนโลยีดีเอ็นเอในการตรวจสอบและติดตามคุณภาพสายพันธุ์ข้าว โดยใช้ยีนทนน้ำท่วมจากอีรีและใส่ยีนความหอมเข้าไปด้วย ทำให้ได้ข้าวที่มีความหอม แต่เราไม่ทำจีเอ็มโอ แม้เราจะมีศักยภาพทำได้ก็ตาม เพราะไม่มีความจำเป็นและมีทางเลือกอื่น และเรามีนโยบายไม่ทำข้าวจีเอ็มโอ” ดร.ธีรยุทธอธิบาย

สำหรับข้าวหอมชลสิทธิ์นี้ได้แจกจ่ายไปให้แก่เกษตรกรในหลายจังหวัดแล้ว โดยเริ่มจากแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรใน จ.พิจิตรที่ประสบภัยน้ำท่วมเมื่อปี 2551 ส่วนพื้นที่ใหญ่ๆ ที่เพาะปลูกข้าวพันธุ์นี้คือ จ.อุตรดิตถ์ พิจิตร สิงห์บุรีและอ่างทอง และล่าสุดคือพื้นที่ใน อ.ผักไห่ จ.อยุธยา ซึ่งเพาะปลูกข้าวพันธุ์นี้เป็นฤดูกาลที่ 2 แล้ว และยังมีความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับ สหกรณ์การเกษตรผักไห่ อยุธยา ในการเพาะปลูกข้าวหอมชลสิทธิ์เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์แจกจ่ายเกษตรกรต่อไป และเป็นครั้งแรกที่มีความร่วมมือในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมชลสิทธิ์

อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นข้าวทนน้ำท่วม แต่ข้าวหอมชลสิทธิ์ก็ไม่อาจทนต่อน้ำท่วมในช่วงที่ข้าวออกรวงได้ เพราะน้ำท่วมทำให้ข้าวไม่สามารถผสมเกสรได้ ซึ่ง ดร.ธีรยุทธเล่าว่า ปีนี้เกษตรกรเจอปัญหาหลายด้านและประสบปัญหาน้ำท่วมในช่วงข้าวออกรวง ทำให้ได้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร เพราะข้าวพันธุ์นี้พัฒนาขึ้นมาให้รับมือน้ำท่วมในช่วงน้ำหลากที่ข้าวยังไม่ออกรวง

ขณะที่ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กำลังจะเสนอของบประมาณ 40 ล้านบาทจากนายกรัฐมนตรีเพื่อขยายเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมชลสิทธิ์ 2,000 ตัน ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูก 160,000 ไร่ โดยคาดว่าจะเลือกพื้นที่ในภาคกลางเพราะเป็นพื้นที่เหมาะสมกับข้าวหอมชลสิทธิ์มากที่สุดเพื่อรับการกระจายพันธุ์ข้าวนี้

พร้อมกันนี้ ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV- ผู้จัดการออนไลน์ได้ลงพื้นสำรวจแปลงสาธิตเพาะปลูกข้าวหอมชลสิทธิ์ของ นายสุรชัย พงษ์แตง ใน อ.ผักไห่ จ.อยุธยา 1 ในเกษตรกร 4 รายที่เข้าร่วมโครงการเพาะพันธุ์ข้าวหอมชลสิทธิ์ ด้วยเหตุผลว่า “อยากทดลอง” โดยได้ปลูกข้าวพันธุ์นี้ทั้งหมด 16 ไร่ และข้าวถูกน้ำท่วมจมหายไปแล้วกว่า 2 ไร่ ซึ่งเขาบอกว่าคงต้องปล่อยทิ้งเพราะไม่สามารถสูบน้ำไปทิ้งที่ไหนได้ อีกทั้งกว่าน้ำจะลดลงต้องรอถึงเดือน ธ.ค. สำหรับก่อนหน้านี้เขาเคยปลูกข้าวพันธุ์พิษณุโลก ข้าวขาวปทุมและข้าวสุพรรณบุรี แต่ยังไม่เคยประสบกับภัยน้ำท่วมเช่นปีนี้


รู้ไหมว่า? “ข้าว" เป็นพืชตระกูลหญ้า

“ข้าว" จัดเป็นพืชล้มลุกตระกูลหญ้า (Gramineae) อยู่ในสกุลออไรซ่า (Oryza) ซึ่งปัจจุบันมีข้าวชนิดต่างๆ อยู่ 23 ชนิด แต่มีข้าวที่เราปลูกเพื่อบริโภคอยู่ 2 ชนิด คือ ข้าวปลูกเอเชีย (Oryza satava Linn.) และ ข้าวปลูกแอฟริกา (Oryza glaberrima Steud.) ส่วนที่เหลือเป็นข้าวป่า สำหรับข้าวที่ปลูกเพื่อบริโภคนั้นมีมากกว่า 120,000 พันธุ์ โดยข้าวที่ปลูกในไทยคือข้าวปลูกเอเชีย

ทั้งนี้ มีหลักฐานว่าไทยปลูกข้าวมานานมากกว่า 5,500 ปี เป็นร่องรอยข้าวเปลือกหรือแกลบที่ฝังอยู่ในหลุมศพ โดยแหล่งปลูกข้าวที่มีหลักฐานว่าเก่าแก่ที่สุดคือ โนนนกทา อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น

เมื่อปี 2476 ไทยได้ส่งข้าวประกวดข้าวโลกที่เมืองเรไยนา ประเทศแคนาดา และ "ข้าวปินแก้ว" ของไทยคว้ารางวัลอันดับที่ 1 จากการประกวดดังกล่าว โดยที่รางวัลอันดับ 2 และ 3 เป็นข้าวไทยเช่นเดียวกันคือ "ข้าวราชบุรี" และ "ข้าวจำปาดะ" ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี จากการตามรอยข้าวปิ่นแก้วซึ่งมีอยู่กว่า 30 สายพันธุ์นั้น นักวิจัยไม่สามารถตอบได้พันธุ์ไหนที่ชนะเลิศการประกวด เนื่องจากข้าวชนิดนี้มีความหลากหลายสูงและมีขนาดเมล็ดทีแตกต่างกันมาก แต่ไม่มีการเก็บตัวอย่างเมล็ดจากการประกวดไว้

“อ้างอิง : วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับข้าวไทย (ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ)



ที่มา
//www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9530000153677และ
//www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9530000154145


Create Date : 02 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 2 พฤศจิกายน 2553 17:25:47 น. 0 comments
Counter : 1893 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

scimovie
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 108 คน [?]




แหล่งรวบรวมความรู้ โปรแกรม เพลง หนัง เกมส์ วิทยาศาสตร์ ดูละคร เรื่องย่อ ภาพยนตร์ การเงิน และอื่นๆ อีกมากมาย สุดท้ายขอกำลังใจให้มีแรงอัพเดทตลอดๆ ครับ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยียนกันครับ
Friends' blogs
[Add scimovie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.