ดาวน์โหลดโปรแกรม ดูละครย้อนหลัง อ่านเรื่องราวของความรู้รอบตัว วิทยาศาสตร์ ท่องเที่ยว สุขภาพ อาหาร รถยนต์ต่างๆ ไม่ทิ้งเรื่องราวความบันเทิงและเรื่องส่วนตัวอีกด้วย
Group Blog
 
<<
มกราคม 2553
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
2 มกราคม 2553
 
All Blogs
 
10 ข่าวเด่นวิทยาศาสตร์ปี 52

10 ข่าวเด่นวิทยาศาสตร์ปี 52


ความสำเร็จจากการทดลองเดินเครื่องของ “เซิร์น” หลังซ่อมแซมแม่เหล็กที่เสียหายจากการเดินเครื่องครั้งแรกเมื่อเดือน ก.ย. 51


10. “เซิร์น” กลับมาเดินเครื่องหลังแม่เหล็กเสียหายข้ามปี

ปี 2009 เป็นปีที่ “เซิร์น” กู้หน้าให้ตัวเอง หลังจากที่การทดลองเดินเครื่องเร่งอนุภาคซึ่งสร้างความฮือฮาไปทั่วโลกนั้น ทำให้เกิดความเสียหายต่อแม่เหล็กจำนวนหนึ่ง จนต้องหยุดเดินเครื่องไปเป็นเวลากว่าปี การกลับมาครั้งนี้ของเซิร์นยังได้สร้างสถิติโลกเดินเครื่องเร่งอนุภาคโปรตอนด้วยพลังงานสูงแซงหน้าเครื่องเร่งอนุภาคของสหรัฐฯ

กว่าที่ “เซิร์น” (CERN) จะกลับมาเดินเครื่องได้อีกครั้ง ต้องใช้เวลาร่วมปีในการซ่อมแซมแม่เหล็กที่เสียหายจากการเดินเครื่องครั้งแรกเมื่อเดือน ก.ย. 51 และได้ป้องกันอุบัติเหตุซ้ำรอยด้วยการติดตั้งระบบป้องกันการเกิด "เควนช์" (quench) ที่เคยเกิดขึ้นในการทดลองครั้งแรก จนกระทั่งปลายเดือน ต.ค.52ที่ผ่านมา เซิร์นจึงได้เดินเครื่องใหม่อีกครั้ง โดยได้ยิงอนุภาคเข้าเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี (LHC) ได้สำเร็จ และเครื่องตรวจวัดอนุภาคอลิซ (ALICE) และแอลเอชซีบี (LHCb) สามารถตรวจวัดการทดลองดังกล่าวได้

นอกจากเดินเครื่องยิงลำอนุภาคเข้าท่อเร่งอนุภาคแล้ว เซิร์นยังได้ทดลองเดินเครื่องให้ลำอนุภาคชนกันที่ระดับพลังงานต่ำเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา และเป็นครั้งแรกด้วยที่เครื่องตรวจวัดทั้ง 4 ของเซิร์นได้ทำหน้าที่บันทึกข้อมูลการชนกันของลำอนุภาคโปรตอน และในวันที่ 30 พ.ย.เซิร์นก็ได้เดินเครื่องเร่งอนุภาค 2 ลำที่ระดับพลังงาน 1.18 เทราอิเล็กตรอนโวลต์ (TeV) ซึ่งเป็นสิถิติเดินเครื่องเร่งอนุภาคด้วยพลังงานสูงที่สุดในโลก แซงหน้า “เทวาตรอน” (Tevatron) เครื่องอนุภาคของห้องปฏิบัติการเครื่องเร่งอนุภาคเฟอร์มิสหรัฐฯ (US Fermi National Accelerator Laboratory) ที่ทำสถิติสูงสุดไว้ที่ 0.98 เทราอิเล็กตรอนโวลต์

สำหรับปี 2010 ในช่วงต้นปีเซิร์นมีกำหนดเดินเครื่องเร่งลำอนุภาค เพื่อชนกันที่ระดับพลังงาน 7 เทราอิเล็กตรอนโวลต์ ซึ่งลำอนุภาคแต่ละลำมีระดับพลังงาน 3.5 เทราอิเล็กตรอนโวลต์ และทั่วโลกต้องจับตาการทดลองฟิสิกส์ครั้งสำคัญนี้อีกครั้ง


นักวิทยาศาสตร์ที่เข้าร่วมประชุม UNFCCC ที่กรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก แสดงให้เห็นว่าถ้ายังไม่ลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง อุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวโลกในปี 2100 จะเพิ่มขึ้น 2 (สีเหลือง) - 4 องศาเซลเซียส (สีส้ม) ในสิ้นศตวรรษนี้แน่นอน (AFP)


9. เวทีโลกร้อนล้มเหลว ประชาคมโลกผิดหวัง

ปี 2552 เป็นปีสำคัญที่ทั่วโลกรอคอย เพราะคาดหวังว่าจะได้เห็นข้อตกลงแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกฉบับใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ภายหลังสิ้นสุดข้อตกลงในพิธีสารเกียวโต แต่กลับผ่านไปโดยยังไร้ข้อตกลงใดๆ ที่ฉายให้เห็นว่าจะแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนได้

การประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ที่ตัวแทนรัฐบาล 192 ชาติเข้าร่วมประชุมกันที่กรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก เพิ่งผ่านพ้นไปสดๆ ร้อนๆ และสร้างความผิดหวังให้ประชาชนทั่วโลกอย่างมาก

ตลอดช่วงเวลาร่วม 2 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การประชุมที่บาหลี อินโดนีเซียเมื่อปี 2550 UNFCCC ได้จัดการประชุมเป็นระยะในหลายประเทศ รวมทั้งที่ประเทศไทยเมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา เพื่อร่วมกันร่างแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกภายหลังพิธีสารเกียวโตสิ้นสุด โดยหวังให้ทุกประเทศมีส่วนรับผิดชอบร่วมกัน และกำหนดให้เวทีเจรจาที่โคเปนเฮเกนเป็นเวทีสุดท้ายที่จะได้ข้อตกลงฉบับใหม่สำหรับมีผลบังคับใช้หลังปี 2555

ทว่าผลของการเจรจาไม่เป็นไปตามความคาดหวังของทุกฝ่าย เพราะประเทศร่ำรวยกับประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถตกลงเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกได้ แม้ประเทศร่ำรวยจะให้คำมั่นว่าจะช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนา

ผลที่ได้มีเพียงแค่ข้อตกลงที่จะร่วมกันควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส ภายในสิ้นศตวรรษนี้ และขอไปตกลงเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกกันใหม่ในการประชุมครั้งหน้าที่คาดว่าจะจัดขึ้นช่วงต้นปี 53 ที่ประเทศเม็กซิโก


ทุ่งนาข้าวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ภาพจาก Kosol Anusim Photomania/farmlandgrab.org)


8. สิทธิบัตร "ข้าว" ความสำเร็จที่ตามติดมาด้วยปมขัดแย้ง

ปีนี้คนไทยได้ภาคภูมิใจกับผลงานของนักวิจัยไทย ที่ค้นพบยีนควบคุมความหอมในข้าวที่ได้รับสิทธิบัตรจากสหรัฐฯ แต่หลังจากทราบข่าวดีได้ไม่นาน ก็ต้องได้ยินข่าวที่น่าหวั่นวิตกตามมา ไม่ว่าจะเรื่องการแก้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของไทย และข้าว "แจ๊สแมน" ของสหรัฐฯ ที่เตรียมปล่อยออกมาตีตลาดข้าวไทย

ทีมนักวิจัยของศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ร่วมกับ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ค้นพบยีนควบคุมความหอมในข้าวและสามารถทำให้ข้าวที่ไม่หอมกลับมีความหอมเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งนำไปสู่การยื่นจดสิทธิบัตรเพื่อคุ้มครองยีนและกรรมวิธีดังกล่าวทั้งในและต่างประเทศ โดยได้สิทธิบัตรแรกจากสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 51 ขณะที่ยังไม่ได้สิทธิบัตรในประเทศ

ส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะผลักดันให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทยรับจดสิทธิบัตรดังกล่าวโดยเร็วที่สุด เพื่อคุ้มครองพันธุ์ข้าวไทย ซึ่งอาจนำไปสู่การแก้กฎหมายเพื่อให้เอื้อต่อการจดสิทธิบัตรผลงานวิจัยดังกล่าว

ทว่าก่อให้เกิดประเด็นที่ต้องถกเถียงกันอย่างกว้างขวางและยืดเยื้อ เมื่อนักวิชาการและกลุ่มตัวแทนภาคประชาชนออกมาคัดค้าน เพราะหวั่นเกรงว่าการแก้กฎหมายดังกล่าว อาจเป็นการเปิดช่องให้ต่างชาติที่มีเทคโนโลยีเหนือกว่าไทยเข้ามาครอบครองทรัพยากรพันธุกรรมของไทยได้ พร้อมทั้งได้เสนอทางเลือกอื่นที่สามารถคุ้มของข้าวไทยได้เช่นกันและมีความเสี่ยงน้อยกว่า เช่น กฎหมายสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)

ประเด็นขัดแย้งเรื่องสิทธิบัตรยังไม่ทันสร่างซา ก็มีปัญหาใหม่มาให้คนไทยกลุ้มใจอีก เมื่อสหรัฐฯ พัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่ "แจ๊สแมนไรซ์" (Jazzman rice) เพื่อหวังช่วงชิงตลาดข้าวหอมมะลิของไทยที่ต่างชาติรู้จักกันดีในนาม "จัสมินไรซ์" (Jasmine rice) ทำให้นักวิจัยไทยต้องเร่ง ปรับปรุงพันธุ์ข้าวไทยให้ครองความเป็นหนึ่งในในตลาดโลกต่อไปได้

ผลสรุปจะเป็นอย่างไร ต้องติดตามกันต่อไป แต่ที่แน่นอนคือตอนนี้ไทยยังไม่ได้ให้สิทธิบัตรแก่ทีมนักวิจัย และคุณภาพข้าว "แจ๊สแมนไรซ์" ยังห่างไกล "ข้าวหอมมะลิ" ของไทยมาก


(ซ้าย) หน้าปกวารสารไซน์ฉบับพิเศษของเดือน ต.ค. 52 ที่ตีพิมพ์ภาพโครงกระดูก "อาร์ดี" (ขวา) ชิ้นส่วนโครงกระดูกส่วนเท้าของ "อาร์ดี" ฟอสซิลในตระกูลคนที่เก่าแก่ที่สุด อายุ 4.4 ล้านปี (เอเอฟพี)



7.ปีแห่งการค้นพบ "อาร์ดี" แก่กว่าป้าลูซี พร้อม "ซูเปอร์เอิร์ธ" และ ธาตุใหม่

ปี 2009 นี้อาจเรียกได้ว่าเป็น "ปีแห่งการค้นพบ" ของวงการวิทยาศาสตร์ เพราะมีการค้นพบที่สำคัญๆ หลายครั้ง ทั้งพบสัญญาณ “ซูเปอร์เอิร์ธ” ถึง 2 ดวง การยืนยันธาตุที่พบใหม่ 2 ธาตุ ตลอดจนหลักฐานใหม่ที่แสดงถึงรากเหง้าของมนุษย์

ส่งท้ายปลายปีด้วยสัญญาณ “ซูเปอร์เอิร์ธ” ดาวเคราะห์หินที่ใหญ่กว่าโลกถึง 2 ดวง จากการค้นหาของ 2 ทีมวิจัย เริ่มจากสถาบันคาร์เนกี สหรัฐฯ ที่พบสัญญาณ ดาว 61 เวอร์บี มีมวล 5.1 เท่าของโลก โคจรรอบดาวฤกษ์ “61 เวอร์จินิส” ในกลุ่มดาวหญิงสาว และทีมจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในซานตาครูซ สหรัฐฯ พบดาวเคราะห์มวล 7.5 เท่าของโลก โคจรรอบระบบดาวฤกษ์เอชดี 1461

ปีนี้ยังมีการยืนยันธาตุใหม่ถึง 2 ธาตุ นั่นคือธาตุที่ 112 และธาตุที่ 114 โดยธาตุที่ 112 ซึ่งสังเคราะห์ขึ้นโดยศูนย์วิจัยไออนหนักจีเอสไอ ในเมืองดาร์มสตัดท์ เยอรมนี ตั้งแต่ปี 1996 เพิ่งได้รับการยืนยันจากสหพันธ์เคมีบริสุทธิ์และประยุกต์สากลว่าเป็นธาตุใหม่จริง ส่วนธาตุที่ 114 นั้น กลุ่มวิจัยจากห้องปฏิบัติการเบิร์กเลย์ สหรัฐฯ และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในเบิร์กเลย์ ได้สังเคราะห์สำเร็จ ยืนยันการค้นพบของสถาบันวิจัยนิวเคลียร์ดูบนาในรัสเซีย ที่สังเคราะห์ธาตุเลขอะตอมเดียวกันนี้ได้ครั้งแรกเมื่อ 10 ปีก่อน

หากแต่การค้นพบครั้งสำคัญของปีนี้ คงหนีไม่พ้นฟอสซิลโครงกระดูกของ “อาร์ดี” สิ่งมีชีวิตเพศเมียตระกูลคนสปีชีส์ใหม่ อายุถึง 4.4 ล้านปี เก่าแก่กว่า “ป้าลูซี” ฟอสซิลสิ่งมีชีวิตเพศเมียตระกูลคนอีกสปีชีส์ที่มีอายุ 3.2 ล้านปี โดยฟอสซิลทั้งสองต่างพบในเอธิโอเปีย และฟอสซิลของอาร์ดียังได้พลิกทฤษฎีว่า มนุษย์มีวิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษคล้ายซิมแปนซี เนื่องจากฟอสซิลเก่าแก่กว่าป้าลูซีได้บ่งชี้ว่า มนุษย์และชิมแปนซีแยกสายวิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษร่วมกัน

นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบใหม่ในเส้นทางอพยพของชาวเอเชีย หลังจากมีโครงการ "ตามรอยชาติพันธุ์ของประชากรภูมิภาคเอเชีย" (Mapping Human Genetic Diversity in Asia) ซึ่งเก็บข้อพันธุกรรมของชนกลุ่มน้อยภูมิภาค ทำให้ได้ข้อมูลที่ขัดแย้งความเชื่อเดิมว่า "การอพยพครั้งใหญ่จากทวีปแอฟริกาเข้าสู่ทางใต้ของทวีปเอเชีย ไม่ใช่การอพยพหลายระลอกทั้งเหนือ-ใต้อย่างที่เคยเข้าใจ" อีกทั้งยังพบกลุ่มที่มีภาษาเดียวกันมีพันธุกรรมใกล้เคียงกัน

ในช่วงปลายปีก็มีการเปิดเผยการค้นพบพืช 2 ชนิดใหม่ของโลก คือ "บุหรงช้าง-บุหรงดอกทู่" ซึ่งสามารถค้นพบได้เฉพาะในไทย โดยทีมวิจัยของ ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ซึ่งได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยใน "ซิสเทมาติก บอทานี" (Systematic Botany) วารสารการจำแนกพรรณไม้นานาชาติของสหรัฐอเมริกา พืชใหม่ทั้ง 2 ชนิดนี้จัดเป็นพรรณไม้หายากและเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย ที่มีเหลืออยู่ในธรรมชาติจำนวนน้อยมาก อีกทั้งจากการศึกษาสารออกฤทธิ์ทางยาเบื้องต้นพบสารคล้ายกับสารกลุ่มที่มีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งได้


(ซ้าย)บัซ อัลดริน เดินเล่นบนดวงจันทร์ใกล้ๆกับหน่วยอีเกิล ของยานอพอลโล 11 ซึ่งบันทึกภาพไว้โดยนีล อาร์มสตรอง ขณะทั้งสองกำลังสำรวจบริเวณ Sea of Tranquility บนดวงจันทร์ ส่วนนักบินไมเคิล คอลลิน นั้นประจำการอยู่ในหน่วยบัญชาการ (นาซา) - (ขวา) ภาพจำลองยาน LCROSS ที่ส่งไประเบิดผิวดวงจันทร์



6. ส่งยานระเบิดพบร่องรอยน้ำ ฉลอง 40 ปีเหยียบดวงจันทร์

ช่วงปี 52 นี้ "ดวงจันทร์" ยังคงเนื้อหอม โดยเฉพาะการฉลอง 40 ปีของก้าวแรกบนดวงจันทร์ พร้อมทั้งการส่งยานระเบิดผิวดวงจันทร์เพื่อศึกษาร่องรอยของน้ำ จนในที่สุดก็มีเค้ารางของ "น้ำ" สมใจ

เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2512 มนุษย์โลกได้ประทับก้าวแรกลงบนดวงจันทร์ ที่นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong), บัซ อัลดริน (Buzz Aldrin) และไมเคิล คอลลินส์ (Michael Collins) 3 นักบินอวกาศขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เดินทางไปถึงดวงจันทร์ด้วย ยานอพอลโล 11 (Apollo 11) และลงเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์เป็นครั้งแรก พร้อมกับปักธงชาติสหรัฐฯ ประกาศความสำเร็จอย่างงดงามของมวลมนุษยชาติที่พิชิตอวกาศไปได้อีกขั้นหนึ่ง และในปี 2552 นี้ก็เป็นวาระครบรอบ 40 ปี จึงได้มีการเฉลิมฉลองและรำลึกถึงความก้าวหน้าของมนุษยชาติในวันนั้น

หลังการฉลองนาซาได้ส่งยาน “แอลครอส” (Lunar CRater Observation and Sensing Satellite: LCROSS) ยิงยานเซนทอร์ (Centaur) ลงสำรวจน้ำบนดวงจันทร์ ในวันที่ 9 ต.ค. จนเห็นข้อมูลว่า พบน้ำจริงๆ ในถ้ำ “คาเบียส” (Cabeus) ซึ่งเป็นพื้นที่ในเงามืดถาวรบริเวณใกล้ๆ กับขั้วใต้ของดวงจันทร์ ซึ่งเป็นการพบ “ไฮดรอกซีล” (hydroxyl) หนึ่งในผลผลิตที่เกิดจากการแตกตัวของน้ำเมื่อได้รับแสงอาทิตย์

ทั้งนี้ พื้นที่ซึ่งเป็นจุดเงามืดถาวรนั้น นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า จะเป็นกุญแจในการไขประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของระบบสุริยะได้มากพอๆ กับที่แกนน้ำแข็งบนโลกเผยข้อมูลในยุคโบราณ มากกว่านั้น น้ำและองค์ประกอบเพิ่มเติมอื่นๆ ยังแสดงถึงแหล่งทรัพยากรที่มีศักยภาพอันยั่งยืนเพื่อการสำรวจดวงจันทร์ในอนาคต และการค้นพบของยานแอลครอสครั้งนี้ได้ฉายแสงครั้งใหม่ให้กับคำถามเกี่ยวกับน้ำ ซึ่งน่าจะกระจายอยู่ทั่วและมีปริมาณมากกว่าที่เคยคาดเดาก่อนหน้านี้

ที่มา
//www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9520000156036


Create Date : 02 มกราคม 2553
Last Update : 2 มกราคม 2553 0:25:00 น. 0 comments
Counter : 669 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

scimovie
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 108 คน [?]




แหล่งรวบรวมความรู้ โปรแกรม เพลง หนัง เกมส์ วิทยาศาสตร์ ดูละคร เรื่องย่อ ภาพยนตร์ การเงิน และอื่นๆ อีกมากมาย สุดท้ายขอกำลังใจให้มีแรงอัพเดทตลอดๆ ครับ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยียนกันครับ
Friends' blogs
[Add scimovie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.