<<
เมษายน 2558
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
24 เมษายน 2558
 

ชวนศึกษาวิกฤตพุทธะบนความต่าง/วิจักขณ์ พานิช

          มีโอกาสอ่านแนวคิดเกี่ยวกับศาสนาพุทธดีๆ แล้วชอบมาก
เลยต้องเก็บสะสมไว้ประเทืองปัญญา และนำมาฝากเพื่อนๆที่สนใจคะ
คุณวิจักขณ์ พานิช เขียน วิกฤตพุทธศาสนาในอุษาคเนย์ พุทธะบนความต่าง
น่าศึกษาอย่างยิ่ง ดังนี้


กับคำถามที่ว่า "ชาวพุทธควรมีท่าทีต่อโลกสมัยใหม่อย่างไร?"

ในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้

แน่นอนคำตอบย่อมมีหลากหลาย สะท้อนความคิดเห็นที่แตกต่างกัน

ส่วนหนึ่งนั้นก็เป็นผลจากจินตนาการทางการเมืองที่แตกต่างกันด้วย

มุมมองที่แตกต่างดังกล่าวอาจ จำแนกชาวพุทธออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ

นั่นคือ

.... ชาวพุทธอนุรักษนิยม

....กับ ชาวพุทธเสรีนิยม

ชาวพุทธอนุรักษนิยม ให้ความสำคัญกับ "ศรัทธา" ต่อความดีงามตามหลักศาสนา

การรักษาประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามซึ่งผูกโยงอยู่อย่างแนบแน่นกับศีลธรรมทางศาสนา

และสถานะก่อนเก่า (status quo) พวกเขาไม่เห็นความสำคัญของการปรับเปลี่ยน

หรือเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง เพราะวัฒนธรรมไทย ความเป็นพุทธเถรวาท

และการมีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจนั้นประเสริฐสมบูรณ์ดีอยู่แล้ว

พวกเขามองหาคนดี เพื่อผลักดันให้คนดีมีอำนาจ ศรัทธาในความดี

ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับหลักศีลธรรมทางศาสนา พวกเขามีทัศนคติต่อการเมืองสมัยใหม่

ตามระบอบประชาธิปไตย ว่าเป็นเรื่องของกิเลส ผลประโยชน์ และการแย่งชิงอำนาจ 

สิ่งที่พวกเขามองเห็นคือนักการเมืองโกง คอร์รัปชั่น การซื้อเสียง 

และชาวบ้านที่ฟุ้งเฟ้อเห่อวัตถุ พวกเขามองประชาธิปไตยเป็นอิทธิพลของโลกตะวันตก

ที่สร้างความโกลาหลและเสื่อมถอยให้กับวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามที่พวกเขาศรัทธานับถือ


พุทธศาสนาคือเสาหลักสำคัญที่ค้ำจุนความมั่นคงของชาติและความเป็นศูนย์รวมใจ

คนทั้งชาติของพระมหากษัตริย์ และพุทธศาสนาไทยก็ส่งเสริมการตีความคำสอน

อย่างสอดคล้องไปกับอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นสำคัญด้วย

เช่น ศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี ลูกที่ดีต่อเชื่อฟังพ่อแม่ ความกตัญญูกตเวที

การเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ แต่เราจะไม่เคยได้ยินว่าพุทธศาสนาไทยสอนให้คนเป็นอิสระ

เป็นตัวของตัวเอง รู้จักตั้งคำถาม เปิดใจกว้าง หรือเป็นปากเป็นเสียงให้กับคนเล็กคนน้อย

ชาวพุทธเสรีนิยม ให้ความสำคัญกับ "สติปัญญา" และความเป็นเหตุเป็นผล

พวกเขาเคารพหลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ในฐานะรากฐานจิตวิญญาณของสังคมสมัยใหม่

พวกเขาเห็นถึงความสำคัญของการอยู่ร่วมกันบนวัฒนธรรมที่ส่งเสริมความหลากหลาย

โดยไม่ยกความเชื่อใดความเชื่อหนึ่งให้มีอำนาจหรืออิทธิพลเหนือความเชื่ออื่น

สังคมสมัยใหม่จำเป็นต้องมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา

ซึ่งหมายความว่าประชาชนจะนับถือความเชื่อศาสนาแบบใดก็ได้

จะตีความศรัทธาและประพฤติปฏิบัติตนอย่างไรก็ได้ จะไม่มีศาสนาก็ได้

ตราบใดที่ไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น รัฐไม่มีหน้าที่เข้าไปกำหนด บังคับ

หรือควบคุมในเรื่องนี้ ซึ่งการส่งเสริมบรรยากาศของเสรีภาพและการปลดปล่อยเช่นนี้เอง

ยิ่งจะทำให้พุทธธรรมมีความโดดเด่นในเนื้อหาสาระมากขึ้นไปอีก

ความเป็นพุทธสนับสนุนการกล้าตั้งคำถาม การเสวนา แลกเปลี่ยน ถกเถียง ตีความ

ก้าวข้ามการยึดมั่นถือมั่นทางความคิด และเปิดกว้างต่อการเข้าไปทำความรู้จักประสบการณ์ความทุกข์

ในโลกสมัยใหม่ในแง่มุมต่างๆ พวกเขาไม่ได้มองการเมืองจำกัดอยู่ที่ความดีหรือความชั่ว

แต่มองการเมืองในฐานะ "พื้นที่" ของการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ การจัดตั้งพรรคการเมือง

การนำเสนอนโยบาย และการลงสมัครเป็นตัวแทนประชาชน เพื่อเข้าไปเป็นปากเป็นเสียง

และนำเสนอแนวคิดและจินตนาการใหม่ๆ ให้แก่สังคมที่พวกเขาเป็นส่วนหนึ่ง

พวกเขาไม่รีบตัดสินหรือยึดมั่นในตัวบุคคล ดีอาจแปรเปลี่ยนเป็นชั่ว ชั่วอาจแปรเปลี่ยนเป็นดี

สำคัญอยู่ที่เหตุปัจจัยทางการเมือง โดยเฉพาะการตระหนักถึงปัจจัยที่ซับซ้อนของบริบท

และโครงสร้างทางการเมืองแบบสมัยใหม่ การต่อสู้ทางการเมืองดำเนินไปอย่างมีหลักเกณฑ์

เหตุผล ประชาชนแต่ละฟากฝั่งการเมืองสามารถแลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็น ตรวจสอบ

ถกเถียง รวมถึงขัดแย้งกันได้ โดยไม่ใช้อารมณ์และความเกลียดชังเป็นที่ตั้ง

หากการมีอยู่ของสถาบันทางการเมืองใดไม่ส่งเสริมบรรยากาศทางการเมืองที่เปิดกว้างเช่นนี้

ก็จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงและปฏิรูปเชิงโครงสร้างให้อำนาจยึดโยงอยู่กับประชาชน

การสร้างสำนึกประชาธิปไตยต่างหากคือการคำนึงถึงประโยชน์ส่วนร่วมที่แท้จริง

การอ้างคนดีหรือความดี โดยเอาเกณฑ์วัดของตนเป็นศูนย์กลาง เป็นเพียงข้ออ้างของความเห็นแก่ตัว

และการรักษาผลประโยชน์ทางการเมืองอันซับซ้อนในแบบหนึ่งเท่านั้น

แม้ในปัจจุบัน ชาวพุทธไทยส่วนใหญ่จะยังคงเป็นชาวพุทธอนุรักษนิยมจากการถูกอบรมปลูกฝัง

มาแต่อ้อนแต่ออก แต่นับวันกระแสการตั้งคำถามต่อท่าทีที่พุทธศาสนาไทยมีต่อโลกสมัยใหม่

ก็เพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ คนรุ่นใหม่เริ่มรู้สึกถึงความไม่เป็นเหตุเป็นผลและการประยุกต์

ใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ได้ของคำสอนทางศาสนา จำนวนมากรู้สึกแปลกแยกต่อคุณค่าทางศีลธรรม

และความดีงามตามประเพณี ที่ขัดแย้งกับบริบทปัจจุบันอย่างไม่เข้าใจไม่ได้ 

พวกเขาเริ่มรู้สึกอึดอัดกับการถูกยัดเยียด การเทศนา การชี้นำว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ 

อะไรถูกหรืออะไรผิด บางครั้งอยากจะเถียงก็เถียงไม่ได้

วิพากษ์วิจารณ์ไปก็ถูกหาว่าไม่เหมาะสม อะไรที่ได้ชื่อว่าความดีทำไมช่างตายตัวและแข็งทื่อ

ไม่มีพื้นที่ให้กับคำถาม ประสบการณ์ หรือการตีความใหม่ๆ เอาเสียเลย

ท่าทีที่สถาบันศาสนามีต่อโลกสมัยใหม่เป็นอะไรที่น่าตั้งคำถามสำหรับพวกเขา

โดยเฉพาะการเผยแผ่ศาสนา ในรูปแบบส่งเสริมศรัทธาและความเชื่อภายใต้สถานะ

และโครงสร้างที่ไม่สอดคล้องกับสำนึกประชาธิปไตย เป็นศาสนาพุทธภายใต้โครงสร้างแบบเผด็จการ

ที่ไม่สนใจว่าสังคมจะมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือเสรีภาพในการนับถือศาสนาหรือไม่

จะมีนักโทษทางความคิดอยู่ในคุกอยู่อีกกี่คน ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางชนชั้นจะมีอยู่อย่างไร

สิทธิมนุษยชนจะถูกละเมิดต่อไปอีกกี่มากน้อย เรากำลังส่งเสริมศีลธรรมพุทธและวัฒนธรรมไทย

อันดีงาม ในแบบที่ไม่จำเป็นต้องเคารพสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค แต่สามารถละเมิด 

ลิดรอน กดขี่ให้คนไม่เท่ากันอยู่หรือไม่?


หากเป้าหมายคือการปกปักพิทักษ์ศาสนาให้อยู่รอดต่อไปในโลกสันนิวาสแบบสมัยใหม่

ศาสนาพุทธก็สามารถกลายเป็นศาสนาแห่งการเพิกเฉยต่อความทุกข์ทางสังคม 

ขัดฝืนต่อการเปลี่ยนแปลง และส่งเสริมการยึดมั่นถือมั่นในอัตลักษณ์ตัวตน 

โดยไม่จำเป็นต้องรู้สึกรู้สาต่อความรุนแรงเชิงโครงสร้าง

ที่ตนกำลังเป็นส่วนหนึ่งก็ได้อย่างนั้นหรือ?

แน่นอนครับว่า การรักษารากทางวัฒนธรรมนั้นเป็นสิ่งจำเป็น 

แต่ก็ต้องเป็นวัฒนธรรมที่มีชีวิต

พร้อมที่จะเรียนรู้และเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงด้วย บรรยากาศของวัฒนธรรมพุทธที่เปิดกว้าง

เปิดรับความเห็นต่างทางความคิดได้ ย่อมเอื้อให้ทั้งแนวคิดอนุรักษนิยมและเสรีนิยมอยู่ร่วมกัน

ผสมผสานกัน และปะทะกันเป็นความตื่นได้อย่างสร้างสรรค์ ไม่ต้องฆ่ากันด้วยความเกลียดชัง

หรือความรุนแรง การเคารพความเห็นต่างทางความเชื่อและศรัทธาถือเป็นหัวใจสำคัญของการเมือง

แบบสมัยใหม่ สำนึกประชาธิปไตยจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากต่อการอยู่รอดของพุทธศาสนาในอุษาคเนย์

ณ เวลานี้ เช่นเดียวกันกับแง่มุมทางจิตวิญญาณ แก่นพุทธธรรมอย่าง

"การไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัวตน" หรือ "ความรักความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์"

จะมีความสำคัญไม่น้อยเลย หากคำสอนเหล่านั้นได้ถูกนำไปใช้ปฏิบัติจริงในพื้นที่ทางการเมือง//จบ

ที่มา : คอลัมน์ ธรรมนัว มติชนรายวัน

โดย วิจักขณ์ พานิช

....................................................................................................................................................................................

ความเห็นส่วนตัว

มีโอกาสอ่านแนวคิด ของคุณวิจักขณ์ พานิชเกี่ยวกับศาสนาพุทธ แล้วชอบมาก

เลยต้องเก็บสะสมไว้ประเทืองปัญญาตัวเอง

และนำมาฝากเพื่อนๆที่สนใจ อยากให้ พระสงฆ์ องค์เจ้า ได้เรียนรู้

รวมทั้งคนรุ่นใหม่ ชี้แนะ อธิบายให้ชาวพุทธเข้าใจความเชื่อมโยงที่เป็นรากเหง้าของแก่นแต่ละกิ่ง

นึกถึงวิชาพุทธศาสนาที่เป็นหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการทุกระดับ

แล้วเศร้าใจ ถึงเวลาต้องปรับปรุงแล้วนะ

อีกทั้งควรให้วิชาเหล่านี้เป็นวิชาบังคับให้ทุกคณะระดับอุดมศึกษาต้องเรียน

เพื่อพึ่งพาบรรยากาศการจัดการเรียนการสอนสิ่งดีๆที่เป็นแก่นของชีวิต 

ซึ่งมีอยู่ครบถ้วนในศาสนาพุทธให้มากขึ้น ปรารถนาให้วงการสงฆ์เร่งเข้ามามีบทบาทการบริหารจัดการ

 "การยกระดับการเรียนรู้" เรื่องนี้

อีกทั้งสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติยิ่งต้องเร่งมือช่วยกันแล้ว/เตือนใจ เจริญพงษ์

.......................................................................................................................................................




Create Date : 24 เมษายน 2558
Last Update : 19 กันยายน 2558 3:59:19 น. 0 comments
Counter : 770 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

justice0009
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




[Add justice0009's blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com