เมษายน 2558
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
19 เมษายน 2558
 

ฟังว่า...รัสเซียมาไทยทำไม

                                        ฟังว่า...รัสเซียมาไทยทำไม
                                                                      เตือนใจ เจริญพงษ์

 มองการพบปะกันครั้งนี้ของนายกรัสเซียและนายกไทย 
ว่า...ถือเป็นเรื่องดี จะดีอย่างไร ใครได้ประโยชน์นั้น 
อยู่ที่การตักตวงประโยชน์ซึ่งกันและกัน

โดยเฉพาะ....คู่ค้า อยากให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม

ที่สำคัญเหมือนเป็นการกระทำเชิงสัญญลักษณ์

....ต่อความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาค่อนข้างแรงทีเดียวคะ

.................................................................................................................................

วันนี้นำข้อสนทนาของจริงมาฝากคะ

..สุทธิชัย หยุ่น จับเข่าคุยนายกรัสเชียกันคะ น่าสนใจทีเดียว รายละเอียดดังนี้




รัสเซียมาแน่...และมาพร้อมกับข้อเสนอที่จะทำมาค้าขาย, 

ลงทุนและสร้างมิตรภาพระหว่างประชาชนต่อกัน

เขาบอกว่าที่มีกิจกรรมคึกคักกว่าเดิมนั้นไม่ได้มีเป้าหมายจะคานอำนาจของสหรัฐฯ

แต่เพราะเขาเชื่อว่ารัสเซียสามารถมีบทบาททางด้านสร้างสรรค์ในหลาย ๆ

ด้านที่แต่ก่อนอาจจะยังไม่ได้นั่งลงพูดคุยกันอย่างกว้างขวางกับเพื่อน ๆ ในแถบนี้


ผมได้สัมภาษณ์พิเศษนายกรัฐมนตรีรัสเซีย ดิมิทรี เมดเวเดฟ (Dmitry Medvedev)

เมื่อวันพุธหลังจากที่ท่านได้เจอนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชาและผู้นำนักธุรกิจไทยและสัมผัสได้ถึงความกระตือรือร้น

ที่จะจับมือสร้างประโยชน์ให้แก่กันอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

นายกฯเมดเวเดฟวัยเพียง 49 (ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน 62) ตอบคำถามของผมอย่างคล่องแคล่วฉาดฉาน

ยืนยันว่าไทยกับรัสเซียมีความสัมพันธ์กันยาวนาน 118 ปีแล้วและวันนี้พร้อมจะเจรจาข้อตกลง " การค้าเสรี"

กับไทยในรูปแบบเดียวกับที่กำลังจะสรุปกับเวียดนามในเร็ว ๆ นี้


ไทยเป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดของรัสเซียในอาเซียนและมีความสนิทสนมเป็นพิเศษในหลาย ๆ

ด้านรวมถึงนักท่องเที่ยวรัสเซียที่มาประเทศไทยเป็นจำนวนมาก (ปีก่อนหน้านี้ 1.7 ล้านคน,

ปีที่แล้วลดลงมาเล็กน้อยเหลือ 1.5 ล้าน แต่เมื่อเงินสกุลรูเบิลอ่อนค่าลงอย่างรุนแรงเพราะวิกฤตเศรษฐกิจ

และการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจโดยสหรัฐฯและสหภาพยุโรปจำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียมาไทยก็ลดลงประมาณ 30%)

"ผมเชื่อว่าปัญหานี้คงจะเป็นเรื่องชั่วคราว เศรษฐกิจของเรากำลังกลับมามีเสถียรภาพ

ผมเชื่อว่าเราจะฝ่าข้ามปัญหานี้ได้" นายกฯรัสเซียบอกผม


เขาเสนอว่าประเทศไทยควรจะพิจารณาเข้าร่วม " สหภาพเศรษฐกิจยูโรเอเซีย"

(Eurasian Economic Union หรือ EEU) ซึ่งมีสมาชิก 5 ประเทศ ประชากรรวม 180 ล้าน

ซึ่งก็จะเป็นตลาดที่ใหญ่พอสมควร EEU เป็นการรวมตัวของประเทศทางเหนือของเอเซีย-ยุโรป

ลงนามตั้งเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมเมื่อปีที่แล้วนี่เองมีรัสเซียเป็นแกนกลาง

และสมาชิกก่อตั้งคือเบลารุสและคาซักสถาน

มีผลเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา 

ต่อมาอาร์มีเนียและเคอร์จิสถานก็ได้เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกด้วย

เมดเวเดฟมาบอกไทยให้เชิญชวนเพื่อนอาเซียนอื่น ๆ ไปร่วมค้าขายและลงทุนใน EEU

เพื่อเป็นการขยายความร่วมมือในภูมิภาคนี้ แน่นอนว่ารัสเซียมีทรัพยากรธรรมชาติไม่น้อย

โดยเฉพาะน้ำมันและแก๊ส (เมดเวเดฟเคยเป็นประธานของ Gazprom

ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจยักษ์ทางด้านแก๊สธรรมชาติของรัสเซีย) 

จึงมีความพร้อมที่จะร่วมมือกับไทยในด้านนี้

เพื่อสร้างความยั่งยืนทางด้านพลังงานให้กับไทย 

รัสเซียเสนอให้ไทยไปร่วมลงทุนใน " เขตเศรษฐกิจพิเศษ"

ทางตะวันออกไกลของประเทศซึ่งกำลังเป็นโครงการที่นายกฯรัสเซียกำลังเสนอให้กับหลายประเทศ

เพื่อสร้างศักยภาพใหม่ในเขตที่ยังขาดการลงทุนและเทคโนโลยีด้วยการเสนอสิทธิพิเศษทางภาษี

และแรงจูงใจด้านอื่น ๆอีกด้านหนึ่ง นายกฯเมดเวเดฟบอกว่ารัสเซียมีอาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัย

ที่พร้อมจะนำเสนอต่อกองทัพไทยหากมีความสนใจ


ผมถามนายกฯเมดเวเดฟว่าประเทศไทยเล็ก ๆ อย่างนี้

จะมีส่วนช่วยลดความเจ็บปวดของปัญหาเศรษฐกิจขณะนี้

ได้อย่างไรหรือไม่?

 (เพราะเขาเปรียบเทียบปัญหาของเขาวันนี้กับวิกฤตต้มยำกุ้งของเราเมื่อปี 1997)

เขาตอบว่า "ประเทศไทยไม่เล็กนะครับ เป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดของรัสเซียในอาเซียน

และแน่นอนครับประเทศไทยจะช่วยเราได้ด้วยการไปลงทุนในรัสเซีย

และเพิ่มการค้าขายกับเรา..."

สำหรับนักวิเคราะห์ด้านการเมืองระหว่างประเทศแล้ว

การมาเยือนครั้งแรกใน 25 ปีของนายกรัฐมนตรีรัสเซียครั้งนี้

ย่อมส่งสัญญาณที่ชัดเจนพอสมควรว่าไทยกำลังเป็นที่สนใจของประเทศมหาอำนาจ

ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ, จีน, ญี่ปุ่นและรัสเซียเพราะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์

และศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจของเรา

มีน้ำหนักไม่น้อยในเวทีระหว่างประเทศ

อยู่ที่ว่าเราจะรู้จักใช้ศักยภาพที่ว่านี้ให้เป็นประโยชน์เต็มที่หรือไม่เท่านั้น/จบ

....................................................................................................................................................................................

ความเห็นส่วนตัว มองว่าการพบปะกันเวทีนี้

ถือเป็นความกล้าหาญของนายกตู่เชียว

ผลพวงที่จะเกิดขึ้นต่อไปนี้ ขอให้....กระทรวงเกรด A ต่างๆช่วยกันผลักดันกลยุทธ 

ทั้งการค้า การลงทุน และการต่างประเทศ อื่นๆ

ควรใช้โอกาสดีๆครั้งนี้ ทำให้ไทยได้ประโยชน์สูงสุด 

บ่อยครั้งผลการพบปะของผู้นำในหลายๆเวที

มักได้แค่เชื่อมความสัมพันธ์ ดังประโยคที่ว่า...

ผลการหารือทั้งสองประเทศได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้าน......

เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างสองประเทศ 

แล้วก็ stop รออีกหลายเพลาก็ยังไม่เห็นอะไรคืบหน้า

โดยเฉพาะด้านการค้า ซึ่งส่วนใหญ่ความสำเร็จเป็นฝีมือของภาคเอกชนดิ้นรน สู้กันเองแทบทั้งสิ้น

เอาเป็นว่าให้กำลังใจรัฐบาลยุคนี้ แต่อย่านานเกินรอ

เพราะเท่าที่เห็นรัฐบาลไทยมีจุดอ่อนด้านการต่างประเทศ และการค้ามากโข

อย่ามัวแต่ใช้เวลาราชการประชุม ดูงานต่างประเทศไปเรื่อยเปื่อย

สู้ๆๆๆล่ะกัน ฝากถึงบรรดาท่านทูต ท่านพานิชย์..ท่านกงสุล..ทำงาน ผลึกกำลังทำงานเต็มที่นะคะ.....

............................................................................................................................................................................

และต่อมาเมื่อวันที่21 เมย.2558 คุณสุทธิชัย หยุ่น 
เขียนเพิ่มเติมอีกว่า...ทั้งหมดอยู่ที่ศิลปะการคานอำนาจในเวทีโลก

การมาเยือนไทยของนายกรัฐมนตรีรัสเซียตรงกับช่วงที่รองนายกฯไทยไปเยือนจีน

และเป็นจังหวะเดียวกับที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯส่งสารอวยพรวันสงกรานต์

ให้กับคนไทย

เป็นเวลาเดียวกับที่นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชาประกาศว่า

“ผมไม่เคยลดระดับความสัมพันธ์กับใครเลย มีแต่เพิ่ม 

แต่ถ้าใครลดระดับกับเราก็แล้วแต่เขา วันหน้าค่อยว่ากันใหม่ 

วันนี้เราทำของเรา ใครคบเรา เราก็ทำให้ดีที่สุด เดินหน้าสร้างความเชื่อถือ...”

เมื่อนายกฯดมิทรี เมดเวเดฟมาเยือนจากมอสโคว 

ก็มีคำถามว่าไทยเราโอนเอียงไปข้างรัสเซียในยามที่สหรัฐฯเอาใจออกห่างใช่หรือไม่

 นายกฯบอกนักข่าวว่า

“ไม่ได้มุ่งหวังที่จะไปข้างโน้นข้างนี้ เราเป็นประเทศที่เป็นอิสระ เป็นกลาง 

อะไรที่เป็นพันธสัญญาก็ต้องทำ อะไรที่สามารถทำได้ 

เราก็สนับสนุนทุกประเทศในโลก ไม่ได้ทำเพื่อจะไปสู้กับใคร เราเป็นประเทศเล็ก ๆ

 สิ่งที่เราทำคือทำตัวเองให้ดีที่สุด ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง เป็นโอกาสของเราทั้งสิ้น 

การเยือนของนายกฯรัสเซียมีความร่วมมือหลายอย่าง 

ทุกประเทศลงทุนกับไทยหมด ทั้งอเมริกา อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส 

ที่เสนอบีโอไอมา ไม่เห็นเขาจะแยก เราก็อย่าไปอยากตามเขา 

เวลาเขาพูดอะไรมาก็ฟัง ๆ ไว้ เขาอยากจะพูดอะไรก็พูด 

แต่เราก็คบกันเหมือนเดิม เราไม่เคยลดระดับใคร...”

อีกประโยคหนึ่งของนายกฯประยุทธ์ระหว่างแถลงข่าวร่วมกับนายกฯรัสเซีย คือ

“เพื่อนจะสำคัญที่สุดก็เมื่อเพื่อนมีปัญหา ต้องการแรงใจ แรงหนุนจากเพื่อน วันนี้นายกฯรัสเซียและประเทศรัสเซียให้ความเป็นเพื่อนกับเรา จะรักษามิตรภาพเหล่านี้ให้ยั่งยืนมากที่สุด ขอบคุณทุกอย่างในความเข้าใจ...”

การทูตระหว่างประเทศ ที่บ่อยครั้ง

เราเชื่อว่าตัดสินกันด้วยผลประโยชน์ของตัวเองทั้งสิ้น 

แต่บางครั้งก็มีคำว่า “เพื่อนยามยาก” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างปฏิเสธไม่ได้

ย้อนไปช่วงที่เราเผชิญกับวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 1997 

สหรัฐฯภายใต้การนำของประธานาธิบดีบิล คลินตันไม่ยื่นมือมาช่วย

แม้ไทยจะขอความช่วยเหลือ 

แต่เป็นจังหวะเดียวกับที่ รัฐบาลจีนเสนอช่วยเหลือและคงค่าแลกเปลี่ยนเงินสกุล

หยวนเพื่อจะได้ไม่ซ้ำเติมประเทศที่ตอนนั้นเจอกับปัญหาหนักหน่วงเรื่องนี้ไม่ว่าจะ

เป็นไทย, อินโดฯ, มาเลเซียหรือเกาหลีใต้

แต่เรื่องการทูตระหว่างประเทศต้องมองยาว ไม่ตัดสินด้วยเหตุการณ์ในขณะใด

ขณะหนึ่ง และต้องมองภาพใหญ่หรือ Big Picture มากกว่าการจับเอาเรื่องใดเรื่อง

หนึ่งมาเป็นองค์ประกอบ

ความสัมพันธ์ที่มีปัญหากับโลกตะวันตกขณะนี้ เป็นเรื่องชั่วขณะ อีกทั้งยังต้องแยก

ระหว่างเรื่องการเมืองออกจากเศรษฐกิจและความมั่นคง ไม่ควรที่จะเอาอารมณ์

ความรู้สึกหรือวาทกรรมของเจ้าหน้าที่ของแต่ละฝ่ายมากำหนดนโยบายหลัก

ของประเทศ

การถ่วงดุลอำนาจหมายถึงการคานผลประโยชน์ของกันและกันโดยมีผลประโยชน์

ระยะยาวของประเทศเป็น “บรรทัดสุดท้าย” ของการดำเนินนโยบายต่างประเทศ

ที่มีความผูกพันกับนโยบายภายในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วที่ไทยจะต้องยืนยันว่าไม่ได้ปรับระดับความสัมพันธ์กับ

ประเทศหรือกลุ่มประเทศใดเพียงเพราะปฏิกิริยาของเขาต่อความเปลี่ยนแปลง

ทางการเมืองในประเทศของเรา เพราะทุกประเทศมีจุดยืนต่อเรื่องแนวทางการเมือง

ไม่เหมือนกัน และไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แต่การคบหากันในฐานะสมาชิกของ

ประชาคมโลกย่อมอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมและเคารพในความแตกต่างของ

กันและกัน

สหรัฐฯกับจีน มีความแตกต่างในแนวคิดและวิถีปฏิบัติทางการเมืองอย่างชัดเจน 

การตีความคำว่า “ประชาธิปไตย” และ “สิทธิมนุษยชน” 

ก็มีรายละเอียดไปกันคนละทาง อีกทั้งต่างฝ่ายต่างก็วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของกัน

และกันในหลาย ๆ เรื่องอย่างต่อเนื่อง

แต่ทั้งสองประเทศก็ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาความสัมพันธ์ทาง

เศรษฐกิจและการเมืองกับความมั่นคงไว้เพราะในโลกวันนี้ต่างคนต่างต้องพึ่งพา

อาศัยซึ่งกันและกันในระดับที่มากกว่าสมัยก่อนด้วยซ้ำไป

ไทยกับสหรัฐฯต้องคบหากันฉันท์มิตรเก่าแก่ต่อไป แม้จะมีความเข้าใจไม่ตรงกัน

ในจังหวะนี้ แต่ในหลักการแล้วรัฐบาลไทยชุดนี้กับสหรัฐฯก็เห็นตรงกันว่าจะต้องเดิน

หน้าเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้งที่ประชาชนจะต้องมีสิทธิมีเสียงใน

การปกครองตนเอง

ส่วนการเลือกตั้งจะ free and fair ตามมาตรฐานที่ประชาชนทั้งสองประเทศ

เห็นพ้องต้องกันนั้น ก็อยู่ที่กลไกของรัฐและสังคมที่ไทยกำลังปรับปรุงแก้ไขจะบรรลุ

ได้มากน้อยเพียงใด

ไทยต้องคบหาใกล้ชิดกับจีน, รัสเซีย, ญี่ปุ่น, อินเดีย, และเพื่อนอาเซียน

ตลอดจนถึงประเทศในทวีปอื่น ๆ อย่างเสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติเช่นกัน 

เพราะนี่คือผลประโยชน์ของชาติและเป็นความคาดหวังของคนไทยเจ้าของประเทศ

อยู่ที่ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐจะสามารถดำเนินนโยบาย “ถ่วงดุลอันเหมาะสม” เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติได้ดีแค่ไหนนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง /จบ

ที่มาข้อมูล: กรุงเทพธุรกิจรายวัน 21 เมย.2558

...................................................................................................................





Create Date : 19 เมษายน 2558
Last Update : 19 กันยายน 2558 17:57:53 น. 1 comments
Counter : 931 Pageviews.  
 
 
 
 
เห็นด้วยกับความคิดเห็นของคุณ
 
 

โดย: ชมพร วันที่: 19 เมษายน 2558 เวลา:13:23:58 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

justice0009
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




[Add justice0009's blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com