<<
พฤษภาคม 2558
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
17 พฤษภาคม 2558
 

จัดระเบียบบัตรเครดิต..ไปถึงไหนแล้วคะ

ถึงเวลารัฐบาล จัดระเบียบธุรกิจบัตรเครดิต

โดย เตือนใจ เจริญพงษ์ มติชนรายวัน วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11465

           นับวันบัตรเครดิตจะมีอิทธิพลและมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของประชาชนในบ้านเราเป็นอย่างยิ่ง การเป็นเจ้าของบัตรเครดิตในปัจจุบันเป็นเรื่องง่ายๆ ข้อเสนอก็จูงใจลูกค้า เช่น ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน การใช้บัตรเครดิตเบิกเงินสดหรือการชำระสินค้า เงื่อนไขการอนุมัติวงเงินทำได้สะดวก รวดเร็ว ประกอบกับที่ผ่านมาผู้คนสังคมไทยทั้ง เด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่เข้าข่ายบริโภควัตถุนิยมเสียเป็นส่วนใหญ่

            ตัวเลขที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 จำนวนบัตรเครดิตทั้งระบบ มีจำนวนทั้งสิ้น 12,680,964 บัตร ยอดคงค้างบัตรเครดิต ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 มีจำนวนทั้งสิ้น 181,384.38 ล้านบาท

           เพิ่มขึ้น 10,965.57 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.43 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2550

          "บัตรเครดิต" ใบเดียวสามารถใช้ทำธุรกรรมทางการเงินได้นานัปการและสะดวกสบายเป็นอย่างยิ่ง เช่น ใช้บัตรเครดิตเบิกเงินสด ใช้บัตรเครดิตชำระค่าสินค้าและบริการไม่ว่าจะเป็น การชำระค่าไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ ตลอดจนการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลและการประกันชีวิต

          ดังนั้นบัตรเครดิตจึงเป็นที่นิยมของนักธุรกิจ ผู้บริหาร ข้าราชการของรัฐและพนักงานของเอกชนและยังแพร่กระจายยัง กลุ่มนิสิต นักศึกษา

          นอกจากนี้สถาบันการเงิน รวมทั้งผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่มิใช่สถาบันการเงิน ยังมีบริการให้มีบัตรเสริมอีกด้วย มีผลทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยอย่างฟุ่มเฟือยโดยไม่จำเป็น เกิดการก่อหนี้สินตามอารมณ์ที่อยากมีอยากได้ต่อสิ่งล่อตาล่อใจโดยไม่จำเป็น

           ทำให้คนไทยส่วนหนึ่งสร้างหนี้โดยไม่รู้ตัวให้กับตัวเอง เริ่มกันตั้งแต่เด็ก เยาวชนจนถึงผู้ใหญ่กันถ้วนหน้า

            ปัญหาที่ตามมาคือ สภาพของผู้ใช้บัตรเครดิตเกินความสามารถในการชำระหนี้คืน ทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ภายในกำหนดเวลา และต้องแบกรับภาระดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าธรรมเนียมต่างๆ ส่งผลกระทบต่อระบบการเงิน การคลังของประเทศ และก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมา เช่น การใช้วิธีการติดตามทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรมอันเป็นการละเมิดสิทธิของลูกหนี้ ปัญหาการฟ้องร้อง และการต่อสู้คดีในชั้นศาล การถูกบังคับคดี เป็นต้น

           เรื่องนี้ คณะทำงานด้านการยุติธรรม สิทธิมนุษยชน และธรรมาภิบาล สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ศึกษาสภาพปัญหาของสินเชื่อส่วนบุคคลและหนี้บัตรเครดิตที่ส่งผลกระทบต่อทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ ทั้งในรูปของการประชุมสัมมนา และรวบรวมความเห็น ข้อเสนอแนะของผู้เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับเจ้าหนี้และลูกหนี้ ว่ามีสาเหตุหลายประการ

          ได้แก่ เรื่องนโยบายกำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อและบัตรเครดิต

การแข่งขันทางธุรกิจ ธุรกิจแฝง

ลูกหนี้ไม่มีวินัยทางการเงิน

ความไม่เข้าใจในสัญญาของลูกหนี้

เหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้

ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม

การบันทึกข้อมูลประวัติสินเชื่อ

          การติดตามทวงถามหนี้ และการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งคณะทำงานชุดดังกล่าวได้เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะที่น่าสนใจไว้ว่า รัฐบาลควรดำเนินการในเรื่องต่อไปนี้

1.เร่งดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ว่าด้วยการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุลและยั่งยืน การกำหนดนโยบายระดับมหภาคให้มีความเหมาะสม โดยเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาพื้นฐานที่สำคัญ คือ ปัญหาความยากจน หนี้สินในระดับครัวเรือนและส่งเสริมให้ความรู้กับประชาชนให้มีคุณภาพที่ดี

        รวมถึงเรื่องที่ว่ารัฐต้องกำหนดให้สถาบันการเงินที่เป็นของรัฐปล่อยสินเชื่อเพื่อการลงทุนให้กับประชาชนในระดับฐานรากที่ขาดโอกาสเข้าหาเงินทุนโดยมีมาตรการและอัตราดอกเบี้ยที่เอื้อต่อการประกอบการของประชาชน

2.มาตรการด้านกฎหมาย

           เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายในการคุ้มครองประชาชน ประกอบกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ก็มิได้มีการปรับปรุงให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ จึงมีความเห็นว่าควรนำกฎหมายของต่างประเทศมาปรับใช้ในประเทศไทยและปรับแก้กฎหมายที่มีการบังคับใช้อยู่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมเช่นการคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างที่สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศใช้กันมาปรับใช้ให้มีความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น

- พ.ร.บ.เรื่องความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลความจริงในการกู้ยืม

- พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนตัว

- พ.ร.บ.คุ้มครองการรายงานประวัติลูกหนี้อย่างเป็นธรรม

- พ.ร.บ.คุ้มครองการเรียกชำระหนี้ที่เป็นธรรม

- พ.ร.บ.การติดตามทวงหนี้ที่เป็นธรรม

- พ.ร.บ.ว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นธรรม โดยกำหนดวิธีการคิดคำนวณดอกเบี้ยที่เป็นธรรมและการจัดทำแบบสัญญามาตรฐาน โดยกำหนดเงื่อนไขในสัญญาให้ชัดเจนและเป็นธรรมต่อทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้

นอกจากนี้คณะทำงานชุดนี้ได้ฝากข้อคิดว่ากฎหมายที่ควรเร่งผลักดันให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วคือ พ.ร.บ.การติดตามทวงหนี้ที่เป็นธรรม โดยกำหนดให้เป็นภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เนื่องจากเป็นปัญหาเร่งด่วนที่กระทบต่อสิทธิของลูกหนี้ และให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายและหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้มีความเหมาะสม ได้แก่ การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

ตลอดจนการปรับกระบวนวิธีคิดและรูปแบบการทำงานของหน่วยงานรัฐ และการส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานและการรวมกลุ่มของภาคประชาชนในการทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ทำความเห็นและข้อเสนอแนะ เสนอ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการเพื่อสร้างความยุติธรรมให้กับเจ้าหน้าที่และลูกหนี้ กรณีสินเชื่อส่วนบุคคลและหนี้บัตรเครดิต

ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2552 นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลักพิจารณาร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

และเปิดเผยให้สาธารณชนทราบตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

ผู้คนในสังคม ขณะนี้หวังที่เห็นการแก้วิกฤตเรื่องนี้ให้ลุล่วงโดยเร็ว

ประการสำคัญรัฐบาลคงต้องดำเนินการส่งสัญญาณถึงประชาชนโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันครอบครัวต้องมีการปลูกจิตสำนึก ค่านิยม และทัศนคติ ให้เด็ก และเยาวชน รวมถึง ผู้หลักผู้ใหญ่ ให้รู้จักการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงตามแนวของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และมีวินัยในการใช้เงิน และบริโภควัตถุนิยมแต่เรื่องที่จำเป็นต่างๆ เป็นต้น เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้เห็นปรากฏเป็นรูปธรรม

รวมถึงเรื่องใหญ่ๆ ที่ต้องมีการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตและการคุ้มครองผู้บริโภค

ซึ่งเรื่องนี้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มาโดยตลอดและต้องการให้มีการขับเคลื่อนเพื่อสร้างความยุติธรรมให้กับเจ้าหนี้และลูกหนี้กรณีสินเชื่อส่วนบุคคลและหนี้บัตรเครดิต

ดังนั้นเมื่อวันพุธที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ นายชาตรี โชไชย ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม ได้เป็นเจ้าภาพจัดสัมมนาเกี่ยวกับหนี้บัตรเครดิต และร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจบัตรเครดิต พ.ศ. ... มีผู้เกี่ยวข้องร่วมดำเนินรายการ ได้แก่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้อำนวยการสำนักคดี ฝ่ายกฎหมายและคดี ธนาคารแห่งประเทศไทย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท บัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด ประธานชมรมบัตรเครดิต สมาคมธนาคารไทย เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และผู้แทนจากศาลยุติธรรม เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาต่างๆ

อันจะนำไปสู่แนวทางการควบคุมการกำกับดูแลในระดับนโยบาย แนวทางการแก้ไขกฎหมาย และการคุ้มครองสิทธิของลูกหนี้ในเบื้องต้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งในภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไป

และนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตและการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป / จบ

..................................................................................................................................

บทความเรื่องนี้ ผู้เขียนได้เขียนเมื่อ ปี2552 นานแล้วคะ

ยังงงๆกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย

คงจัดเวทีสัมมนา เชิญวิทยากรมาพูด...ได้เรื่องมั่ง...ไม่ได้เรื่องมั่ง

จนป่านนี้ยังไม่เห็น "การจัดระเบียบการใช้บัตรเครดิต"ไปถึงไหน

หนี้ครัวเรือนสูงบานเบอะ

แถมยังเปิดช่องมอมเมาให้ผู้บริโภค...ตกเป็นเหยื่อ 

บริโภควัตถุนิยม...มีหนี้สินกันแบบง่ายๆและยังเป็นหนี้ก้อนโตด้วย

ขอฝากยังน้องๆคนรุ่นใหม่ว่า...

ให้ระมัดระวังการใช้จ่ายเงินทองในภาวะนี้

แว่วๆมาว่า .....อีก 6 เดือนเศรษฐกิจของประเทศเราจะออกอาการแล้ว

ควรวางแผนการใช้จ่ายเงิน และการสร้างหนี้สินให้สมเหตูสมผล

และคิดร้ายๆไว้บ้างว่า...

ถ้าตกงานจะทำอย่างไร...

ถ้าบริษัทที่ทำอยู่ไปไม่รอดมีอันต้องม้วนเสื่อ จะทำอย่างไร

สภาวะฟองสบู่แตกก็มีให้เห็นมาแล้วว่าพิษสงร้ายแรงในวงกว้างอย่างไร

นำเรื่องนี้มาเล่าใหม่...เพื่อมุ่งให้นำไปไตร่ตรองถึง....

...พฤติกรรมการใช้เงิน

....พฤติกรรมการเป็นหนี้แบบไม่คิดอะไรเลย

....ปรับเปลี่ยนการบริโภควัตถุนิยมเสียใหม่

....เรียนรู้การใช้จ่ายแบบประหยัด

....สร้างนิสัยการออม

อะไรจะเกิดขึ้น เราก็รับได้ ....แล้วชีวิตจะเป็นสุขคะ

..................................................................................................................................







Create Date : 17 พฤษภาคม 2558
Last Update : 17 พฤษภาคม 2558 20:15:55 น. 0 comments
Counter : 1207 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

justice0009
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




[Add justice0009's blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com