<<
มีนาคม 2559
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
8 มีนาคม 2559
 

ช่วยกันมองภัยแล้งหลายๆมุม โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ช่วยกันมองภัยแล้งหลายๆมุม โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ขอนำเนื้อหาเรื่องนี้จากมติชนรายวัน มารวบรวมไว้เพื่อการศึกษา

รัฐบาลมีความกล้าหาญที่ประกาศตรงๆ ว่าน้ำนั้นจะมีใช้ได้อีกไม่กี่เดือน แต่รัฐบาลจะมีความสามารถในการจัดการภัยแล้งได้มากแค่ไหนอันนี้อีกเรื่องหนึ่ง …

ผมเขียนเรื่องนี้จากมุมมองของคนที่อยู่ในเมืองกรุง และน้ำยังไหลแรงเป็นปกติที่บ้าน และในฐานะที่ไม่ได้เชี่ยวชาญในเรื่องภัยแล้ง แต่เนื่องจากทั่นผู้นำท่านออกมาพูดเรื่องน้ำอาจจะไม่พอใช้ในอีกไม่กี่เดือน ผมก็เลยลองพยายามสรุปประเด็นว่าด้วยภัยแล้งตามที่เราเข้าใจกัน ซึ่งผมคิดว่ามีอยู่สองแนวทางใหญ่ๆ และจากนั้นจะนำเสนอประเด็นเพิ่มเติมในเรื่องภัยแล้งจากมุมอื่นๆ อีกที

ประการแรก คือการพูดถึงภัยแล้งในแบบอุตุนิยมวิทยา หรือผมอยากจะตั้งชื่อง่ายๆ ว่า เป็นการพิจารณาภัยแล้งในแบบกายภาพ ซึ่งจากเว็บไซต์ของกรมอุตุนิยมวิทยา จะพบว่า ภัยแล้ง คือ ภัยที่เกิดจากการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเวลานาน จนก่อให้เกิดความแห้งแล้ง และส่งผลกระทบต่อชุมชน

ส่วนสาเหตุของภัยแล้งนั้น จากเว็บไซต์ของกรมอุตุฯ กล่าวว่า แบ่งออกเป็นสองอย่างคือ สาเหตุโดยธรรมชาติได้แก่ การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล และภัยธรรมชาติ เช่น วาตภัย แผ่นดินไหว และอีกสาเหตุหนึ่งก็คือ สาเหตุโดยการกระทำของมนุษย์ ได้แก่ การทำลายชั้นโอโซน ผลกระทบของภาวะเรือนกระจก การพัฒนาด้านอุตสาหกรรม และการตัดไม้ทำลายป่า

ทั้งนี้กรมอุตุฯ ชี้ว่า สำหรับภัยแล้งในประเทศไทย ส่วนใหญ่เกิดจากฝนแล้งและทิ้งช่วง ซึ่งฝนแล้งเป็นภาวะปริมาณฝนตกน้อยกว่าปกติหรือฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล

ประการที่สอง คือการพูดถึงภัยแล้งที่เกี่ยวข้องกับการบริหาร หมายถึง คำจำกัดความที่เกี่ยวข้องกับภัยแล้งจากกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานของรัฐบาลที่จะต้องดูแลภัยพิบัติต่างๆ และต้องเข้าไปช่วยเหลือทั้งในแง่โครงการและงบประมาณ สิ่งนี้สำคัญในแง่ของการประกาศว่าจังหวัดไหนประสบกับภัยแล้งบ้าง ทั้งนี้หากพิจารณาจากแผนจัดการภัยพิบัติของกระทรวงมหาดไทย ที่ดูแลโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะพบว่า ภัยแล้งนั้นถูกจัดเป็นหนึ่งในภัยพิบัติ (ดูระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 2556) และหมายถึง “ภัยที่เกิดจากการขาดแคลนน้ำดื่ม น้ำใช้ พืชพันธุ์ไม้ต่างๆ ขาดน้ำ ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ตามปกติ ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งได้เป็นเวลานาน จนก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหาย และส่งผลกระทบกว้างขวางต่อชุมชน สังคม และระบบเศรษฐกิจโดยรวม โดยสาเหตุของการเกิดภัยแล้งนั้นอาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือเกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ก็ได้”

ทั้งนี้กระทรวงมหาดไทยได้จัดทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงและจัดความสำคัญของพื้นที่ภัยแล้งเป็น

กลุ่มต่างๆ ซึ่งผมเห็นว่ามีรายละเอียดที่น่าสนใจมาก แต่เสียดายที่สื่อมวลชนต่างๆ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องภัยแล้งอย่างจริงจัง ทั้งนี้ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าสื่อมวลชนของบ้านเรามีพื้นฐานจากเมืองกรุง ขณะที่ภัยแล้งนั้นมันกระทบพื้นที่ชนบท-ต่างจังหวัดก่อน และที่สำคัญพื้นที่ที่แล้งมากๆ นั้นก็มักจะเป็นพื้นที่ที่จนทั้งเงินทั้งอำนาจ และไม่ได้เป็นที่สนใจของเมืองกรุงเท่าไหร่ การทำข่าวภัยแล้งจึงวนเวียนอยู่กับเรื่องของการอ่านแถลงการณ์ของผู้บริหารกระทรวง และเรื่องของการเล่นข่าวว่ารัฐบาลนี้ท่าจะแย่ในการบริหารแน่นอน เพราะภัยแล้งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลนั้นลำบาก

ลองพิจารณาเพิ่มเติมในประเด็นของกระทรวงมหาดไทยและรัฐบาลเอง (แต่ไม่เข้าตาคนกรุง) จะพบว่ามีจังหวัดที่เข้าข่ายภัยแล้งถึง 50-71 จังหวัด และเขาพิจารณาหลายตัวแปรที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ จำนวนวันที่ฝนขาดช่วง ปริมาณนำใช้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง การพยากรณ์อากาศในเจ็ดวันว่าจะมีฝนไหม สัดส่วนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเทียบกับพื้นที่เกษตรทั้งหมด และจำนวนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบเมื่อเทียบกับเกษตรกรทั้งหมด รายได้ครัวเรือน (ดูที่คู่มือการใช้งานเกณฑ์กำหนดความเสี่ยงด้านภัยแล้งเพื่อการประกาศภาวะภัยแล้ง)

ย้ำว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เรื่องดราม่า เราควรจะช่วยกันพิจารณาและร่วมมือกันอย่างจริงจัง ไม่ว่าระบอบการเมืองในวันนี้จะเป็นรูปแบบไหนก็ตาม เหมือนสมัยน้ำท่วมเราก็เคยประสบปัญหาภัยพิบัติเช่นเดียวกัน ตอนนี้อย่าเพิ่งพิสูจน์ว่าระบอบการเมืองไหนแก้ปัญหาได้ดีกว่ากัน เพราะระบอบไหนก็แก้ปัญหาไม่ได้ถ้าไม่มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน และร่วมกันแก้ปัญหา สิ่งที่เราต้องการในการแก้ปัญหาคือคุณภาพของการบริหารจัดการที่ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งเผด็จการที่มีคุณภาพ และประชาธิปไตยที่มีคุณภาพก็จะต้องมีองค์ประกอบนี้ทั้งคู่ ถ้าขาดความร่วมมือร่วมใจกันคงจะยากอยู่

ทั้งนี้หากจะเพิ่มเติมความเข้าใจในเรื่องของภัยแล้งเพื่อให้การบริหารจัดการนั้นเกิดขึ้นได้ ผมคิดว่าอาจจะต้องพิจารณาเพิ่มเติมไปว่าเราอาจจะต้องพิจารณามิติสามมิตินั่นก็คือ การขาดแคลนน้ำ (water scarcity) ทรัพยากร และความชอบธรรม

ในแง่ของการขาดแคลนน้ำนั้น มันมีความหมายมากไปกว่าการไม่มีน้ำ แต่หมายถึงความต้องการน้ำของประชากรที่มีมากกว่าปริมาณน้ำที่มี แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความต้องการน้ำนั้นอาจไม่ใช่เรื่องที่เกิดแค่จากกายภาพ หรือเรื่องตามธรรมชาติ แต่อาจเกิดทั้งจากแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมด้วย ว่าเศรษฐกิจบางอย่างนั้นต้องการน้ำในปริมาณและสัดส่วนเท่าไหร่ หรือวิธีการใช้น้ำของผู้คนที่แตกต่างกันออกไป ตามวัฒนธรรมเป็นต้น (เช่นอาบน้ำครึ่งชั่วโมง หรือห้าขัน)

พูดแบบมาตรฐานแล้ว ความจริงคนเรานั้นใช้น้ำสามลิตรต่อวันที่จะอยู่รอด แต่ความต้องการและความจำเป็นที่เราพูดถึงนั้นอาจจะมากกว่านี้อีก ขึ้นกับเงื่อนไขอีกมากมาย

การขาดแคลนน้ำอาจจะมีมิติที่มากกว่าเรื่องของการไม่มีน้ำ หรือสภาวะทางกายภาพที่เราเข้าใจจากกรมอุตุฯ ทั้งนี้มีหลายกรณีที่เราพบเอง หรือในพื้นที่อื่นในโลกที่น้ำนั้นมีเมื่อพิจารณาทั้งประเทศ แต่ความสามารถของรัฐบาลนั้นต่ำ เช่นบริหารจัดการน้ำไม่มีประสิทธิภาพ (กรณีแซมเบีย) ซึ่งการบริหารน้ำที่ไม่ได้เรื่องอาจจะมีตั้งแต่การกักเก็บ และการกระจายน้ำออกไป รวมทั้งในกรณีของคุณภาพน้ำด้วย ดังนั้นเมื่อเราพูดถึงการขาดน้ำนั้นมันจึงมีหลายมิติมากกว่าการแค่ไม่มีน้ำในเขื่อน แต่ต้องรวมไปถึงเรื่องของการใช้น้ำ และการเป็นเจ้าของน้ำด้วย

ในกรณีที่กล่าวถึงไปแล้วนั้นทำให้เราเห็นว่า เรื่องน้ำนั้นไม่ใช่เรื่องเทคนิคเท่านั้น แต่มันเป็นเรื่องทางการเมืองอยู่มาก เพราะหากไม่ใช่เรื่องของการที่น้ำนั้นไม่มีทั้งประเทศ แต่เป็นเรื่องของการจัดสรรให้พื้นที่ที่แตกต่างกันเมื่อไหร่ ก็เข้าเรื่องเศรษฐกิจการเมืองและวัฒนธรรมทันที ซึ่งจะมีผู้ที่ได้และเสียที่ไม่ใช่เรื่องตามธรรมชาติทั้งหมด

ในมิติของทรัพยากร ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาทั้งเงื่อนไขว่าทรัพยากรนั้นมีหรือไม่มีตามกายภาพ คือมีหรือไม่มีแบบจริงๆ ขาดจริงๆ หรือมันเป็นเรื่องของความต้องการทรัพยากรที่มีเงื่อนไขมาจากเงื่อนไขทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของสังคม จากองค์กรบริหาร หรือจากผู้บริหารทรัพยากรเหล่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ก็คือจะต้องพิจารณาว่า สังคมนั้นปรับตัวกับความขาดแคลนได้มากแค่ไหน ซึ่งในแง่นี้ถ้าให้ความเป็นธรรมกับการบริหารจัดการของรัฐบาล ก็มีการระบุในแผนจัดการภัยแล้งอยู่แล้ว ว่ามีการพยายามทั้งบริหารจัดการด้านอุปทาน (ปริมาณน้ำ) และด้านอุปสงค์ (การใช้น้ำและความต้องการใช้น้ำ)

เมื่อเราเข้าใจมิติด้านทรัพยากรและความขาดแคลนแล้ว เราก็จะต้องเริ่มตั้งสติ และพิจารณาอะไรที่มันรอบคอบขึ้น เช่นไม่ดูและเห่อตามข่าวแค่ว่าวันนี้มีน้ำเหลือแค่ไหนในเขื่อน แต่เราต้องพิจารณาหลายเรื่อง เช่น นอกเหนือจากว่าน้ำในเขื่อนเหลือเท่าไหร่ ตอนนี้มีใครเดือดร้อนแล้วบ้าง และรัฐบาลได้บริหารจัดการการกักเก็บน้ำและการกระจายน้ำไปได้เท่าไหร่แล้ว เพื่อทำให้เราเข้าใจว่า เราอาจจะยังมีน้ำเหลือ แต่จะเบาใจไม่ได้ ต้องดูด้วยว่า รัฐบาลและสังคมนั้นมีความเข้าใจและปรับตัวเองในการอยู่รอดในช่วงที่เราขาดแคลนน้ำได้ไหม

สภาวการณ์ที่อันตรายกว่าการขาดแคลนน้ำ หรือภัยแล้ง (drought) ในมิติการพัฒนาก็คือ ความยากจนในเรื่องน้ำ (water poverty) ซึ่งหมายถึงทั้งการที่น้ำในทางกายภาพก็น้อย และความสามารถในการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล และสังคมนั้นก็ต่ำ สิ่งนี้จะนำไปสู่ความเสื่อมถอยทางการพัฒนา เช่น เศรษฐกิจตกต่ำ คุณภาพที่ถดถอยลงของสาธารณสุข การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ค่อยมี และอาจจะนำไปสู่ความไม่มั่นคงทางสังคมและอาจจะนำไปสู่ความวุ่นวายและตกต่ำทางการเมืองต่อไปได้อีก

ในมิติสุดท้ายที่อยากพูดถึงก็คือเรื่องของ “ความชอบธรรม” ซึ่งพูดกว้างๆ ก็คือ การให้การสนับสนุนรัฐบาลจากประชาชน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ง่ายนักในการบริหารจัดการน้ำ เพราะบางทีรัฐบาลที่สนใจเอาใจประชาชนมากเกินไปก็อาจจะเกิดผลในเรื่องความชอบธรรมที่ตรงข้ามกับที่มุ่งหวังไว้ก็ได้ โดยเฉพาะเมื่อเผชิญกับปัญหาจริงของการพยายามที่จะเชื่อมประสาน หรือไกล่เกลี่ยความขัดแย้งของการใช้น้ำของคนต่างกลุ่มกัน

ตรงนี้แหละครับที่เรื่องของความต้องการใช้น้ำของเมืองและชนบทมันเข้ามาเกี่ยวข้อง และความต้องการใช้น้ำ กับประสิทธิภาพของการใช้น้ำมันอาจไม่ใช่เรื่องเดียวกันเสมอ และรัฐบาลและสังคมก็ต้องมีสติกันให้มาก เพราะมันไม่ง่ายแค่ว่า เมืองต้องเป็นผู้ร้าย ภาคอุตสาหกรรมต้องเป็นผู้ร้ายเสมอไป หรือพูดแค่ว่าเราประหยัดน้ำในฐานความดี แล้วมองว่าคนที่ไม่ประหยัดน้ำคือพวกที่ไม่ดีไม่มีจริยธรรม

ในด้านหนึ่งเรามองว่าเมืองใช้น้ำเยอะ แต่มองอีกด้านถ้าใช้น้ำมีประสิทธิภาพก็จะต้องสร้างรายได้เยอะ และอาจใช้น้ำแบบใช้แล้วนำมาใช้อีกได้ แต่ตรงนี้ต้องเข้าใจความซับซ้อนด้วยว่า ความมั่งคั่งที่ได้จากการใช้น้ำนั้น มันมีการแบ่งไปให้กับคนชนบทด้วยไหม

ในอีกด้านหนึ่ง คนชนบทใช้น้ำอาจจะดูว่าใช้น้อย แต่ถ้าเอาไปใช้เพาะปลูกอะไรที่ไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่ เขาก็ควรจะต้องจำกัดการใช้น้ำของตนเช่นกัน และก็ต้องถามกลับได้ด้วยว่า รัฐบาลนั้นดูแลคนเหล่านี้ได้ดีแค่ไหนในช่วงที่ผ่านมา ทำไมเขายังไม่เปลี่ยนการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพขึ้น เช่นการเพาะปลูกพืชที่สร้างราคาได้มากกว่านั้นในปริมาณน้ำที่พอๆ กัน

ในแง่นี้การบริหารจัดการภัยแล้งจึงไม่ใช่เรื่องทางเทคนิค หรือเรื่องของกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น แต่ไม่ได้จะต้องหมายถึงการร่วมมือร่วมใจแบบไม่ลืมหูลืมตาเชื่อฟังรัฐบาลแบบไม่ช่วยกันตั้งคำถามและส่งเสียงให้เขาได้รับทราบ รวมทั้งก็ต้องพยายามที่จะช่วยกันตรวจสอบว่ามันมีอะไรมากกว่าการโยนความผิดไปแค่เมืองกับชนบท หรืออุตสาหกรรมกับเกษตรกรรม แต่ต้องลงไปดูในความซับซ้อนเหล่านั้นว่า ภาคเมืองและภาคอุตสาหกรรมไหนมันไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่กระจายไปที่คนอื่นได้ หรือภาคเกษตรส่วนไหนที่ใช้สิ้นเปลือง และจะปรับปรุงให้ไม่เดือดร้อนได้อย่างไร

ย้ำอีกครั้งว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องประชาธิปไตยหรือเผด็จการดีกว่ากัน ประชาธิปไตยที่เอาใจฐานเสียงมากไป ก็ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนได้ เผด็จการที่เอาแต่สั่งการอย่างเดียวก็เปิดรับข้อมูลมาปรับปรุงระบบการบริหารจัดการไม่ได้เช่นกัน และผลเสียมันเกิดขึ้นได้ทั้งในสองแบบหากไม่มีคุณภาพทั้งคู่

ดังนั้นเราต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันว่าจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไรในช่วงวิกฤตน้ำในรอบนี้นั่นแหละครับ ทั้งในแง่ของการมีข้อมูลเรื่องน้ำและดินฟ้าอากาศที่มีประสิทธิภาพ และสร้างการบริหารจัดการน้ำให้ดี ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของการมีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ แต่ต้องเริ่มสร้างชุมชนทางนโยบาย หรือชุมชนที่รู้สึกว่าปัญหานี้เป็นปัญหาร่วมกันและพร้อมจะร่วมมือกันแก้ปัญหา โดยมีทั้งรัฐบาล และภาคส่วนอื่นๆ ในการร่วมกันแก้ปัญหาให้ได้ ในฐานะที่เรารับทุกข์นี้ร่วมกัน

เราจึงไม่ควรจบแค่การประกาศพื้นที่ภัยแล้งในแง่ของการรอรับความช่วยเหลือจากรัฐ หรือปล่อยให้หน่วยงานรัฐเข้ามาแก้ไข แต่ที่ที่มีภัยแล้งควรเริ่มพัฒนาสถาบันในการจัดการภัยแล้งที่เปิดให้มีการมีส่วนร่วมที่มาจากหลายฝ่ายมากกว่าฝ่ายรัฐอย่างเดียว เราอาจจะต้องเริ่มพูดถึงผู้ที่เดือดร้อน และผู้ที่รู้สึกว่าอยากจะเข้ามาร่วมมือแก้ปัญหาด้วย ที่ไม่ต้องหมายถึงแค่ผู้บริจาคเงินและสิ่งของเท่านั้น เรื่องนี้จะต้องร่วมกันออกแบบชุมชนสาธารณะที่เปิดกว้างขึ้น และร่วมกันคิดร่วมกันทำมากขึ้นครับ

(หมายเหตุ ผมพัฒนางานนี้มาจาก Anthony Turton and Joroen Warner. 2002. Exploring the Population/Water Resources Nexus in the Developing World. Washington D.C.: Woodrow Wilson Institute)





Create Date : 08 มีนาคม 2559
Last Update : 8 มีนาคม 2559 15:19:37 น. 0 comments
Counter : 1119 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

justice0009
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




[Add justice0009's blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com