<<< a_somjai a_somjai's blog === อ่านเขียนบล็อก อ่านเขียนโลก <<<== a_somjai อ่านเขียนบล็อก a_somjai a_somjai's blog
Group Blog
 
All Blogs
 
คิดฮอดเมืองลาว – I miss Laos. (1)

หากจะคิดกันให้ดีแล้ว
การพลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอน ดูจะเป็นเรื่องปกติของมนุษยชาติ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร
เพราะมนุษย์สมัยไหน ๆ ก็มีการอพยพถิ่นฐานกันทั้งนั้น

จะด้วยเหตุผลส่วนตัว หรือเหตุผลส่วนรวม ก็แล้วแต่จะสืบค้นกัน
อย่างเช่น---
- ย้ายถิ่นเพราะเรื่องปากท้อง ทำมาหากิน มีได้ตั้งแต่การย้ายแหล่งที่ทำกิน ไปจนถึงย้ายแหล่งงานหรือตลาดแรงงาน
- ย้ายเพื่อไปเรียน ย้ายตามคู่แต่งงาน ย้ายตามครอบครัว
- ย้ายตามบ้านเมือง หนีภัยธรรมชาติ หนีโรคระบาด ไปจนถึงภัยสงคราม หรือ แม้แต่ถูกกวาดต้อนแรงงานเพราะพ่ายแพ้สงคราม เป็นต้น


หากดูจากประวัติศาสตร์แล้วเรื่องของคนล้านช้าง คนเมืองลาว หรือว่าคนในดินแดนลุ่มน้ำโขงทุกหมู่เหล่า ต่างก็มีการอพยพย้ายถิ่นฐานกันอยู่ตลอดยุคสมัย ทั้งในระดับปัจเจก ระดับกลุ่มครอบครัวเครือญาติ ไปจนถึงระดับการย้ายเป็นกลุ่มชนหมู่ใหญ่ระดับบ้านเมือง ด้วยสาเหตุต่าง ๆ ดังที่กล่าวมานี้

การศึกษาเรื่องราวของผู้ตนที่เกี่ยวข้องกับการอพยพจึงเป็นเรื่องกว้างใหญ่มาก ไม่รู้จบสิ้นก็ว่าได้
เอาแค่ เรื่องกลุ่มชนต่าง ๆ ในเมืองไทย ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทย-ลาว-อินโดจีน หรือว่า ผู้คนในอุษาคเนย์ อะไรก็ว่ากันไป ก็เป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับการศึกษาเพียงแค่ในวงหมู่ของคนไทยด้วยกันเองเสียแล้ว

อย่างเช่น เรื่องไท-ลาว: โซ่ง พวน ผู้ไท ยวน โยนก ไต ลื้อ ลัวะ ละว้า ข่า ขมุ ฯลฯ แค่นี้ก็มีเรื่องในอดีตและปัจจุบันให้ศึกษากันไม่รู้จบแล้ว

หรือจำกัดเวลาในประวัติศาสตร์แค่ช่วง 40-50 ปีมานี้ ตั้งแต่ สงครามอินโดจีน มาสงครามเวียดนาม และต่อมาถึงช่วงหลังสงครามเย็นในยุคดิจิตอลเอจของเรานี้ ก็มีแง่มุมให้ศึกษาค้นคว้า และพูดถึงเกี่ยวกับคนลาวกันมากมายหลายแง่มุม

blog เรื่อง Lao study วันนี้จึงคงพูดได้แต่เพียงเศษเสี้ยวของ เรื่องของคนลาวอพยพ ในยุคปัจจุบันของเรานี้เท่านั้น

สำหรับผู้อพยพคนลาวหรือผู้ที่เคยเป็นผู้อพยพ ที่อยู่ในขอบเขตประเทศทั้งสอง คือ ประเทศไทยและประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นั้น. ขอนำตัวอย่างผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ มาแนะนำ (ผู้สนใจ ให้ตาม Link ไปอ่านเพิ่มตามกันเองนะครับ) ไว้ดังนี้


ตัวอย่างแรก เป็นตัวอย่างของลูกหลานเมืองลาว ที่เคยอยู่เมืองไทย แล้วก็ย้ายตามครอบครัวพ่อแม่กลับไปอยู่เมืองลาว ท่านชื่อ ดวงเดือน บุนยาวง (อ่านข้อมูลที่ นิตยสารสารคดี / เว็บไซต์ sarakadee.com ฉบับที่ 260 > ตุลาคม 49 ปีที่ 22 หัวข้อเรื่อง รวมมิตร : มิตรจากลาว แม่หญิงดวงเดือน บุนยาวง, สุเจน กรรพฤทธิ์ : เรื่อง / ประเวช ตันตราภิรมย์ : ภาพ )

มิตรจากลาว แม่หญิงดวงเดือน บุนยาว



สรุปเอาความได้ว่า แม้ว่า ดวงเดือน บุนยาวง จะถือกำเนิดที่นครเวียงจันทน์ เมื่อปี ๒๔๙๐ แต่เธอก็เป็นคนลาวที่รู้จักเมืองไทยดีมาตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะบ้านเกิดอยู่ริมฝั่งโขงติดกับชายแดนเมืองไทยนี้เอง ประกอบกับเธอเป็นลูกสาวของมหาสิลา วีระวง ปราชญ์คนสำคัญของชาวลาวที่เกิดในเมืองไทย กับมีแม่เป็นคนพื้นเพเดิมอยู่ที่จังหวัดนครนายกที่ย้ายตามพ่อแม่ไปตั้งรกรากอยู่ในประเทศลาว (เรื่องของท่านมหาสีลา วีระวง เกิดที่จังหวัดร้อยเอ็ด บวชเรียนที่อำเภออาจสามารถ จึงมีญาติมิตรทางเมืองไทยมาก และจึงได้รับข่าวสารความรู้จากเมืองไทยอยู่เสมอ จะได้กล่าวถึงในตอนข้างหน้า เมื่อเขียนเรื่อง ท้าวฮุ่ง ขุนเจือง ที่ท่านเป็นผู้รวบรวมวรรรณคดีเก่า แต่งหนังสือไว้ให้คนไทยคนลาวยุคปัจจุบันได้ทราบ ได้ศึกษา)

ในวัยเด็ก ดวงเดือน ฯ ได้รับการศึกษาในระบบคล้ายกับที่เมืองไทยมี ต่างก็แต่ระบบการศึกษาของลาวยุคนั้น ฝรั่งเศสเป็นผู้วางหลักสูตรให้ ประถมศึกษาจะมีตั้งแต่ ป. ๑-ป. ๖ ส่วนมัธยมศึกษามีตั้งแต่ ม. ๑-ม. ๗ ต่อมาเมื่อเกิดสงครามขึ้นในภูมิภาคอินโดจีน ทั้งเวียดนาม เขมร และลาว ในลาวเองก็เกิดการปฏิวัติรัฐประหารขึ้นหลายครั้ง เธอเคยผ่านสงครามกลางเมืองมาครั้งหนึ่งตอนเรียนชั้นประถม ช่วงนั้นต้องหยุดเรียนเพราะเกิดความวุ่นวายในเมืองหลวง พอเรียนจบชั้นประถม เธอจึงไปเรียนต่อที่วิทยาลัยครูโดยไม่เรียนชั้นมัธยม ก่อนจะสอบชิงทุนรัฐบาลได้ไปเรียนต่อระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในสาขาฟิสิกส์นิวเคลียร์ที่ประเทศฝรั่งเศส พอเรียนจบก็มาสอนวิชาฟิสิกส์ เคมี อยู่ระยะหนึ่ง ในสถาบันเก่าซึ่งต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ก่อนจะได้ทุนไปเรียนต่อปริญญาเอกในสาขาเดิมที่ฝรั่งเศสอีกครั้ง เพราะช่วงนั้นรัฐบาลลาวต้องการจะตั้งมหาวิทยาลัยแห่งชาติ จึงต้องการอาจารย์ระดับปริญญาเอก แต่ยังเรียนไม่ทันจบก็เกิดการปฏิวัติขึ้นในประเทศลาวเสียก่อน (ปี ๒๕๑๘) เธอเลยต้องเดินทางกลับประเทศ

แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากการปฏิวัติครั้งนั้น แต่มหาสีลา วีระวง ผู้เกษียณอายุราชการแล้ว พ่อของดวงเดือน ฯ ยังนับถึอกันว่าเป็นบุคคลสำคัญอยู่ ท่านได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษากระทรวงศึกษาธิการ ส่วนลูกสาวก็ได้ทำงานในกระทรวงเดียวกันด้วย ต่อมาจึงย้ายไปอยู่กระทรวงวัฒนธรรม ต่อมาปี ๒๕๑๙ หลังแต่งงาเธอได้ติดตามสามีไปทำงานด้านการทูตที่สหภาพโซเวียต (รัฐเซีย) แล้วจึงมาทำงานด้านหนังสือวิชาการในภายหลัง

ดวงเดือน บุนยาวง ได้พูดถึงประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับลาว ไว้ตามที่บันทึกในหนังสือ สารคดี ฉบับที่ 260 > ตุลาคม 49 ปีที่ 22 อย่างน่าคิดว่า –

“ในอุษาคเนย์ เราใกล้ชิดกันมากที่สุด ทั้งภาษาและวัฒนธรรม คิดดูว่าเราคุยกันได้ด้วยภาษาพูดแม้ว่าภาษาเขียนจะต่างกัน ซึ่งไม่มีประเทศในแถบนี้เหมือน ดิฉันจะดีใจมากถ้าไทยใช้แบบเรียนและประวัติศาสตร์ฉบับใหม่ที่ไม่สอนให้โกรธเพื่อนบ้าน ให้ข้อมูลที่จะช่วยให้สองประชาชาติเข้าใจกัน และใช้วัฒนธรรมเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกัน

“อย่างไรก็ตาม ดิฉันเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ของเราจะสามารถเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลได้ดีกว่าคนรุ่นเก่า เพราะเขามีโอกาสอ่านหนังสือมากขึ้น ยิ่งในเมืองไทยมีสื่อเยอะมาก ถ้าให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ลาวจะดีขึ้นแน่นอน

“ความแตกต่างระหว่างลาวกับไทยตอนนี้คือ ดิฉันไม่ค่อยเห็นคนไทยใส่ชุดพื้นเมืองเข้าวัดแล้ว แต่ที่ลาว คนยังนุ่งซิ่นเข้าวัด ส่วนเรื่องที่เหมือนกันคือ เรากำลังเผชิญกับปัญหาลัทธิบริโภคนิยมที่รุกล้ำเข้ามา”

ข้างบนนี้ คือตัวอย่างของ คนลาว/ปัญญาชนลาว ที่อยู่ในเมืองลาวได้อย่างกลมกลืน ตามพื้นภูมิหลังของชีวิต ครอบครัว และสังคม




คราวนี้ ไปดูคนลาวอพยพ ระดับล่าง ที่ยังตกค้างอยู่ในเมืองไทย ในสภาพ “คนไร้รัฐ” และ/หรือ "คนไร้สัญชาติ" บ้าง


archanwell อาจารย์แหวว (พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เปิดเว็บไซต์ ให้ความรู้ด้านกฏหมรย ไว้ที่ -> //www.archanwell.org/) เขียนเรื่อง “ลาวอพยพ ซึ่งอาจไม่ใช่ลาวอพยพ” ไว้ที่ blog ของเธอ เมื่อปีกลายนี้ (เวีบไซต์ gotoknow.org / archanwell สร้าง: ศ. 12 พฤษภาคม 2549 @ 02:17 แก้ไข: พ. 08 ส.ค. 2550) ว่า….


"วันนี้ นั่งรื้อตั้งกระดาษ ไปเจอเรื่องของคนลาวอพยพที่มาร้องเรียนให้ไปช่วยเหลือ

แล้วลาวอพยพคือใคร ?

โดยความเข้าใจพื้นฐานของคนทั่วไป ก็จะคิดว่า พวกเขาเป็นคนสัญชาติลาว อพยพมาจากประเทศลาว แล้วเข้ามาทำงานในประเทศไทย

แต่เมื่อเราโผล่หน้าไปทำความรู้จักกับพวกเขาอย่างจริงจัง เราจะพบว่า ความเป็นจริงอาจมีหลายลักษณะ กล่าวคือ

พวกแรกอาจจะเป็นคนสัญชาติลาวจริงๆ ที่มีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐลาว แล้วอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือน และทำงานในประเทศไทย และมีจำนวนมากเลย ที่หลบหนีเข้าเมือง ในยุคนี้ ก็เรียกกันว่า "แรงงานลาว" ก็ได้ ก็มาทำงานนี่นา

พวกที่สองนั้นเป็นคนจากประเทศลาว แต่ไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรลาว และก็ไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรไทย อาการแบบนี้ เราเรียกว่า "คนไร้รํฐ (Stateless)"

พวกที่สาม ก็มาจากลาว และก็ไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรลาวอีกนั่นแหละ แต่ได้รับการบันทึกไว้ในทะเบียนราษฎรไทย ประเภท ทร.๑๓ ก็เลยไม่ไร้รัฐ เพราะประเทศไทยยอมรับเป็น "รัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State)" มีสถานะเป็น "ราษฎรไทย" แต่ก็ยัง "ไร้สัญชาติ (Nationalityless) อยู่ดี

พวกที่สี่ เป็นคนที่อาศัยตามแนวชายแดนไทยลาวนี่เอง ไม่เคยข้ามไปฝั่งลาว แต่ตอนเกิด พ่อแม่ไปได้ไปแจ้งเกิดให้ที่อำเภอ พอโตมา ก็เดินไปแจ้งเกิดให้ตัวเองย้อนหลัง อำเภอก็ไม่เชื่อ หาว่า เป็นคนลาวอพยพ บางราย มีญาติพี่น้องเต็มอำเภอธาตุพนม แต่เจ้าหน้าที่อำเภอก็ลังเลที่จะเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรให้ กว่าจะพิสูจน์ได้ ก็เหนื่อยทีเดียว

คนสามกลุ่มหลังนี้ร้องขอความช่วยเหลือทางกฎหมายมามาก ไปเยี่ยมก็หลายหนแล้ว ช่วยเหลือก็ไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่

นอกจากนั้น เรายังพบอีกว่า คนที่เราเรียกว่า "ลาวอพยพ" นั้น จำนวนไม่น้อยที่เป็น "คนไทลื้อ" อพยพลงมาจากจีน แล้วไปลาว แล้วต่อมาในประเทศไทย

สมช. เห็นชอบจนเสนอเป็นมติ ครม.เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘ให้สัญชาติไทยแก่ลาวอพยพไร้สัญชาติที่มีชื่อในทะเบียนราษฎรไทยแล้ว แต่ในทางปฏิบัติ คงอีกนานทีเดียวที่พวกเขาจะพ้นจากความเป็นคนไร้สัญชาติ"




แล้วต่อไปนี้เป็นข้อมูลจริง ของคนลาวไร้สัญชาติผู้หนึ่ง โพสต์ที่ learners.in.th/blog สถานะบุคคลตามกฎหมายไทยของ นางคำพร แก้วศรีสุข โดย นางสาว สุชาตา ญาตาวาณิชยากูล มหาวิทยาลับอุบลราชธานี



>>> เนื่องจากปัจจุบันบัตรประจำตัวลาวอพยพของนางคำพร แก้วศรีสุข นี้ ได้หมดอายุแล้ว ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงการดำเนินการของทางราชการเพื่อขอต่อบัตรใหม่ ทางราชการจึงออกเอกสารอีกฉบับหนึ่งให้นางคำพร แก้วศรีสุข ถือไว้ขณะกำลังรอการทำบัตรใหม่อยู่ คือ

+ ใบตอบรับการขอมีบัตร มีบัตรใหม่ และเปลี่ยนบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (กลุ่มลาวอพยพ) ส.ท.ร. 1/1 ซึ่งปรากฏรายละเอียดดังต่อไปนี้

หมายเลขคำร้อง 3410-0-000007

วันที่ 28 มิถุนายน 2550

สำนักทะเบียน บุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี

ได้จัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ให้กับ นางคำพร แก้วศรีสุข

เลขประจำตัวประชาชน 6-3410-58002-18-6

เกิดวันที่ - - 2512

มารดาชื่อ เพ็ง บิดาชื่อ สิงห์

อยู่บ้านเลขที่ 1/พ หมู่ 1 ตำบลบ้านแมด (คอแลน) อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี

จึงออกหลักฐานเพื่อแสดงว่าสำนักทะเบียนได้รับคำขอมีบัตรไว้แล้ว และให้มารับบัตรในวันที่ 28 กรกฎาคม 2550

นายทะเบียน นายวัลลภ แสงทอง (ปลัดอำเภอ)

---------------------------------------------------

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบิดา-มารดา ของนางคำพร แก้วศรีสุข

+บิดาชื่อ นายสิงห์ เกิดที่สาธารณรัฐประชาชนลาว ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว

+ มารดาชื่อนางเพ็ง เกิดที่สาธารณรัฐประชาชนลาว ปัจจุบันเสียชีวิตแล้วบุคคลทั้ง ๒ ไม่ได้เดินทางมาประเทศไทยพร้อมกับนางคำพร แก้วศรีสุข อยู่แต่สาธารณรัฐประชาชนลาว จนกระทั่งเสียชีวิต

-------------------------------------------------

ข้อมูลทางการศึกษาของนางคำพร แก้วศรีสุข

+ นางคำพร แก้วศรีสุข ไม่เคยได้เข้ารับการศึกษาเลยแต่อย่างใด สามารถฟังและพูดภาษาไทยได้ แต่ไม่สามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้เลย

--------------------------------------------------

ข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบอาชีพของนางคำพร แก้วศรีสุข

+ ปัจจุบันนี้นางคำพร แก้วศรีสุข ไม่ได้ประกอบอาชีพใดเลย เพียงอยู่บ้านเลี้ยงลูกและปลูกผักนิดหน่อยไว้พอกิน

-------------------------------------------------

ข้อมูลเกี่ยวกับการบริการสารณสุข

+ เนื่องจากทางครอบครัวของนางคำพร แก้วศรีสุข มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตประกอบกับนางคำพรและสามีพร้อมด้วยบุตรทั้งสองไม่ได้มีสถานะเทียบเท่าคนไทย การรับเข้าการรักษาพยาบาลจึงเป็นวิธีการที่ซื้อยามากินเอง บางครั้งก็ไปหาเก็บสมุนไพรมารักษาตนและคนในครอบครัวเวลาเจ็บป่วย ไม่เคยไปเข้ารับการรักษาพยาบาลกับหน่วยงานราชการแต่อย่างใด

--------------------------------------------------




ดังที่ได้กล่าวนำมาแล้วแต่ต้น
เรื่องคนลาวอพยพนี้ …จึงยังไม่จบ
เพราะมีข้อเท็จจริง จากข้อมูลที่ค้นคว้าได้บนอินเตอร์เน็ตมีมากมายหลายด้านเหลือเกิน

สำหรับท่านที่สนใจปัญหาในเมืองไทย เรื่อง "คน ... ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ไร้สิทธิ" ขอเชิญติดตามข้อมูลข่าวสาร ความรู้ และความเคลื่อนไหว ตามห้วงเวลาได้ที่ //www.tobethai.org/

ตัวอย่าง ข้อมูลจากเว็บไซต์ //www.tobethai.or ที่เกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวอยู่นี้ บอกว่า ...


๖.ลาวอพยพ


"ลาวอพยพ หมายถึง คนลาวที่อพยพเข้ามาอยู่กับญาติพี่น้องของตนในประเทศไทย (มิได้หมายถึงลาวอพยพที่องค์การสหประชาชาติส่งเข้ามาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยจากการสู้รบแล้วไม่ได้กลับประเทศลาว) สาเหตุเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศลาวเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ และมาแต่งงานกับคนไทยจนกระทั่งมีบุตรด้วยกัน โดยเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัด ๑. หนองคาย ๒. อุบลราชธานี ๓. เลย ๔. นครพนม ๕. มุกดาหาร ๖.พะเยา ๗. เชียงราย ๘.อุตรดิตถ์ และ ๙. น่าน มีการจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ตามนโยบายของสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทยและกองทัพภาคที่ ๒


สถานะของลาวอพยพ


"ปัจจุบันกลุ่มลาวอพยพยังไม่มีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดสถานะให้ เพราะส่วนใหญ่ไม่ว่าหญิงหรือชาย เมื่อแต่งงานกับคนไทยมีบุตร บุตรยังไม่ได้สัญชาติไทย เพราะผลของประกาศคณะปฎิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕ ต่อมาเมื่อพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ใช้บังคับเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ ทำให้บุตรของคนลาวอพยพที่แต่งงานกับคนได้สัญชาติไทยโดยผลของกฎหมายดังกล่าว"

และ....

บัตรประจำตัวลาวอพยพในปัจจุบัน (สีฟ้า)





และสุดท้ายของบล็อกวันนี้
จึงขอพักช่วงเรื่องราวไว้ก่อน
จะพาแขกทุกท่านไปดูตลาดเมืองลาว ของคนพื้นบ้านพื้นเมืองพี้นถิ่นจริง ๆ ที่ใช้ชีวิตอยู่กันทุกวันนี้

VDO ต่อไปนี้ เป็นที่เข้าใจว่าถ่ายโดยคนลาวที่ย้ายไปอยู่ต่างแดน แล้วกลับมาเยี่ยมบ้านเกิดเมืองนอน ได้บันทึกภาพ เสียงไว้ (แต่มีเสียงเหมือนกับญาติฝั่งไทยอีสานด้วยอะ -โปรดสังเกตว่า ดูจากการแต่งตัว และเสียงพูด – มีนักท่องเที่ยวจากไทยเว้าคำลาวแบบเมืองอุบล ก็มีด้วยเป็นต้น แล้วจะพบว่า ผู้คนในประชุมชนตลาดเมืองลาวแห่งนี้ ผู้หญิงย้งนุ่งผ้าถุงหลากหลายลาย ตามพื้นเพ ตามฐานะทางเศรษฐกิจของตน ๆ และอาหารหลักเห็นจะยังคงแบบพื้นเดิม เหมือนพรรบุรุษของเรา คือ พืชผักต่าง ๆ ได้แก่ ผักกาด พริก มะเขือ แตง หมากโต่น/ฝักเขียว หมากอึ/ฟักทอง มะนาว มะพร้าว กล้วย เกลือ กับปลาน้ำจืด ปลาแม่น้ำ, อนึ่งตอนจบเป็นบรรยากาศบนรถโดยสารประจำทาง ดูแล้วทำให้ a_somjai นึกถึงตนเองอยู่บ้านอีสานเมืองไทย สมัยเมื่อ 40กว่าปีที่แล้ว เวลาจะไปตัวเมือง ไปตัวจังหวัด ก็โดยสารรถราแน่นเอียดกันอย่างนี้แหละ ตามท่ารถ/คิวรถ และที่แวะจอดรถประจำทางระหว่างเส้นทาง ก็จะมีพ่อค้าแม่ขายวัยต่าง ๆ ออกมาขายข้าว ขายอาหาร ขนมพื้นบ้าน อ้อย ข้าวหลาม ไข่ต้ม ถั่วลิสง/ถั่วดินต้มหรือคั่ว น้ำดื่ม ของกินต่าง ๆ ก็อย่างที่เห็นใน VDO ชุดนี้แหละ ผิดกันแต่...อีสานบ้านเรานะเขาจะขายข้าวเหนี่ยวหอใบตองกล้วยกินกับปิ้งไก่/ไก่ย่าง ไม่ใช่ปิ้งนกอย่างเมืองท่าขี้นาคนี้... เท่านั้นเอง)



NOUMMEUANGTAI S' HOME TOWN (1 of 2)



KINAK FRESH FOOD MAKET SOUTHERN OF LAOS
(ตลาดสดขี้นาค ลาวใต้)


NOUMMEUANGTAI S' HOME TOWN (2 of 2)


ที่มา:
1. https://www.youtube.com/watch?v=d7jrPJjVuzs&feature=related
2. https://www.youtube.com/watch?v=2QQqLtjnjHY&feature=related
From: sam6918
Added: June 04, 2007




posted by a_somjai on Friday , November 30, 2007 @ 2:15 PM


<<กลับหน้าหลัก Lao Study - ลาวศึกษา >>



Create Date : 30 พฤศจิกายน 2550
Last Update : 16 มีนาคม 2551 16:58:48 น. 3 comments
Counter : 2673 Pageviews.

 
good job


โดย: sam inthirath IP: 69.206.170.67 วันที่: 5 มกราคม 2551 เวลา:22:58:02 น.  

 
i wanna go home!


โดย: somvang IP: 69.206.170.67 วันที่: 22 มกราคม 2551 เวลา:22:48:50 น.  

 
I want to go Thailand

I miss my family so much


โดย: isme IP: 121.91.99.194 วันที่: 18 มีนาคม 2553 เวลา:19:30:23 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

a_somjai
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add a_somjai's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.