รู้ไว้ใช่ว่า :คลอง ในอังกฤษ ประวัติความเป็นมา ความงามแบบ slow life



ถ้าพูดถึงการไปเที่ยวอังกฤษแล้ว หลายคนคงนึกถึงแต่ ลอนดอน ไปเที่ยว ถนน อ๊อกส์ฟอร์ด แหล่งช๊อปปิ้ง แต่ถ้าใครสนใจเที่ยวชนบท สัมผัสธรรมชาติ ขอแนะนำค่ะ เที่ยวไปตามลำคลอง รับลองว่าฟินแน่นอน

      ลำคลองต่างๆในประเทศอังกฤษในปัจจุบันเป็นเส้นทางการสัญจรเพื่อการสันทนาการ ที่มีความสวยงามทางธรรมชาติ มีเรือมีนกน้ำประเภทต่างๆลอยไปมาให้นักท่องเทียวได้ชื่นชม มีผับต่างๆให้เข้าไปนั่งจิบเบียร์แสนจะสุนทรีย์ แต่จริงๆลำคลองเหล่านี้เป็นมากกว่าการเป็นทางน้ำสวยๆเพราะเมื่อมองให้ชัดๆจะเห็นว่าคลองอายุสองร้อยกว่าปีเหล่านี้เป็นผลงานทางวิศวกรรมที่ล้ำยุคมากๆ 

      แม้ว่าการขุดคลองบนเกาะบริเตนใหญ่จะมีมาตั้งแต่สมัยโรมันปกครองดินแดนแถบนี้ แต่คลองที่ถือว่าเป็นคลองที่แท้จริงแห่งแรก คือคลอง Bridgewater ถูกสร้างแล้วเสร็จในปี 1776 คลองแห่งนี้ได้ถูกยกย่องว่าเป็นต้นแบบการออกแบบ และ ก่อสร้างเส้นทางสัญจรทางน้ำสำหรับคลองอื่นๆที่มีกำเนิดตามมา 


      ด้วยการริเริ่มของ ดยุค รุ่นที่สามแห่งบริดจ์วอเตอร์ ผู้เป็นเจ้าของเหมืองถ่านหินที่เมือง Worsley และ ต้องส่งถ่านหินไป เมืองแมนเชสเตอร์ซึ่งเป็นหัวเมืองสำคัญของภาคเหนือ และ เพื่อส่งต่อไปเมือง ลิเวอร์พูลอันเป็นเมืองท่าต่อไป ในยุคนั้นต้องเอาถ่านหินมาห่อเป็นห่อใหญ่ๆแล้วบรรทุกบนหลังม้าแล้วก็ให้ม้าเดินเป็นขบวนยาวๆบนถนนดินที่มักจะกลายเป็นทะเลโคลนเนื่องจากฝนตกชุก  อีกทั้งสภาพสังคมในสมัยนั้นพวกชนชั้นสูงที่มีศักดินาเป็นเจ้าของผืนที่ดินกินอาณาเขตกว้างขวางหากจะเดินทางตัดข้ามไปก็จะต้องเสียค่าผ่านทางอีกด้วย ส่วนทางสาธารณะส่วนใหญ่เป็นทางแคบๆลัดเลาะไปตามแนวที่ดิน ซึ่งมักจะคดเคี๊ยววนเวียนไปมา การเดินทางอันกินเวลานาน และยากลำบากนี้ทำให้ถ่านหินราคาแพง 

      ดยุคแห่งบริดจ์วอเตอร์ จึงได้นำแนวความคิดที่ได้จากการไปเยี่ยมชม คลอง Canal du Midi อันมีความยาวถึง 150 ไมล์ ในประเทศฝรั่งเศส มาปรึกษาวิศวกร James Brindleyจากนั้นทั้งสองก็ได้พลิกหน้าประวัติศาสตร์ ของการเดินเรือภายในแผ่นดิน (inland navigation)ไปอย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้คลองยังเป็นแหล่งรับน้ำที่ต้องระบายออกจากเหมืองอีกด้วย อีกทั้งช่วงเวลานั้นเองเป็นช่วงแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม (industrial revolution)ซึ่งก็คือการเปลี่ยนแปลงการผลิตจากการหัตถกรรมมาสู่การใช้เครื่องจักรผลิตของทีละมากๆเมื่อผลิตได้มาก การขนส่งก็ต้องตอบสนองด้วย คลองจึงเป็นคำตอบที่ดีที่สุดในเวลานั้น


    เหตุที่คลองแห่งนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นงานวิศวกรรมชั้นเลิศ ก็เนื่องจากมีการขุดอุโมงค์ต่างๆลอดใต้ภูเขาเพื่อเรือสามารถเข้าไปถึงภายในเหมืองเพื่อรับถ่านหินที่ขุดได้โดยสะดวก ในส่วนนี้เป็นเพียงทางน้ำแคบๆหลังคาต่ำๆที่กว้างพอจะให้เรือผ่านได้ทีละลำและเนื่องจากยุคนั้นยังไม่มีเครื่องยนต์ การนำขับเคลื่อนเรือจะทำได้โดยการใช้ไม้กระดานวางพาดขวางกับลำเรือให้ยื่นออกไปทั้งสองข้างแล้วให้คนงานนอนบนไม้กระดานนี้ข้างละคนใช้เท้าถัดไปกับผนังของอุโมงค์ให้เรือเคลื่อนไปได้(การใช้เท้าเดินถัดไปแบบนี้ เรียกว่า legging หรือ Canal boat legging)

 เมื่อคลองลอดภูเขาออกมาเป็นคลองบนดิน แล้ว ไปชนกับแม่น้ำ นายช่าง James Brindley ก็ออกแบบทำสะพานให้คลองข้ามแม่น้ำไปเลยสะพานเหล่านี้เรียกว่า อาควะดักท์ (Aqueduct)





      เนื่องจากถูกสร้างขึ้นเพื่อเหตุผลทางการประหยัดเงินและเวลาเป็นหลักคลองสายนี้ จึงถูกวางแบบมาให้เป็นเส้นตรงมากที่สุดเท่าที่สภาพภูมิประเทศจะอำนวยต้องอย่าลืมว่าพื้นที่ประเทศอังกฤษนั้น ไม่ได้เป็นที่ราบๆอย่างบ้านเรา แต่มีภูเขาและหุบเขาสูงๆต่ำๆมากมายตลอดเส้นทางที่คลองผ่านดังนั้นการที่จะขุดให้คลองเป็นเส้นตรงนั้นจำเป็นต้องมีการออกแบบยกพื้นที่ให้ราบเพื่อผ่านช่วงที่ต่ำ ถ้าเป็นช่วงสั้นๆก็ใช้ถมดินช่วย ถ้าช่วงยาวก็อาจทำสะพานคลอง (Aqueduct) แต่ในส่วนที่ไม่สามารถทำได้ จะมีประตูน้ำเพื่อทำหน้าที่เป็นลิฟท์สำหรับเรือ ขึ้นและลงตามระดับพื้นที่ประตูน้ำเหล่านี้ประกอบด้วย บานประตูสองบาน ช่วงระหว่างกลางนั้นทำหน้าที่เสมือนกล่องลิฟท์เมื่อนำเรือเข้าจากด้านที่ต่ำกว่า หลังจากปิดประตูทั้งสองด้านแล้วจะมีการปล่อยน้ำเข้าเพื่อเพิ่มระดับน้ำจนสูงเท่าด้านที่สูงแล้วจึงเปิดประตูด้านเดียวเพื่อออกไปหากเรือมาจากด้านที่สูงกว่าก็จะทำตรงกันข้ามคือปล่อยน้ำออกเพื่อลดระดับ ระบบแบบนี้ว่ากันว่าได้ถูกคิดค้นขึ้นครั้งแรกในประเทศจีนตั้งแต่ปีคริสตศักราชที่ 983 แต่ส่วนประตูที่ใช้กั้นน้ำซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญนั้นเอามาจากงานออกแบบของ ลีโอนาโด ดาวินชี่



      ในที่ที่มีความชันมากอาจมีประตูน้ำเรียงรายกันเป็นสิบเลยทีเดียว(ประตูน้ำในภาษาอังกฤษเรียกว่า pound lock) และเนื่องจากถูกสร้างขึ้นเพื่อการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะ คลองนี้จึงเป็นเพียงทางน้ำตื้นๆและแคบๆ เพียงพอให้เรือพอสวนกันได้ นานๆทีจะมีพื้นที่พอให้สามรถกลับเรือได้ เรือที่จะแล่นในคลองนี้ก็ถูกออกแบบให้แคบและกินน้ำไม่ลึก(narrowboat)เหตุที่ต้องแคบก็เนื่องจากเรือในยุคแรกๆไม่มีเครื่องยนต์แต่ใช้ม้าเดินบนตลิ่งแล้วลากจูงเรือไป แม้จะยังใช้ม้าแต่การขนส่งเร็วขึ้นละค่าใช้จ่ายลดลงจนทำให้ราคาถ่านหินลดลงอย่างมาก ส่งผลให้เศรษฐกิจ และการอุตสาหกรรมเฟื่องฟู 

      ต่อมา รัฐสภาจึงอนุมัติการขุดคลองเพิ่ม และนายช่าง Brindley นี่เองที่เป็นหัวหอกของการก่อสร้างคลองอีกหลายแห่งจนกลายเป็นเครือข่ายการเดินเรือ สามารถเดินทางเชื่อมต่อได้เกือบจะทั้งประเทศยุคทองของการสร้างคลองมีด้วยกันสองช่วง คือช่วง ปี 1759 ไปจนถึง ทศวรรษ1770s และ ปี1789 ไปจนถึงช่วงปลายศตวรรษที่สิบแปดช่วงทั้งสองถูกขั้นกลางด้วยสงครามประกาศอิสรภาพของอเมริกา




      การขนส่งทางคลองรุ่งเรืองมาจนถึงช่วงกลางศตวรรษที่19 จนเมื่อมีการสร้างรถไฟความนิยมขนส่งทางคลองก็ค่อยๆลดลงอย่างต่อเนื่อง ต้นศตวรรษที่ 20 ถนนหนทางสมัยใหม่เปิดทางสู่การทอดทิ้งคลองให้เสื่อมโทรมและปิดการสัญจรไปในที่สุดจนช่วงทศวรรษที่ 1960s กลุ่มอาสาสมัครได้รวมตัวกันเพื่อขุดลอกและอนุรักษ์ ส่งกระแสให้เกิดการจัดตั้งองค์กรการกุศลเพื่อการอนุรักษ์อย่างเป็นทางการจนนำไปสู่การจัดจ้างบริษัทวิศวกรรมเพื่อซ่อมแซมโครงสร้างที่ซับซ้อนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว




       ในปัจจุบันคลองต่างๆถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการท่องเที่ยวและเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของสาธารณะชนเป็นหลักส่วนเรือแคบๆ (narrowboat)ก็ได้มีการปรับปรุงให้เป็นเรือบ้านให้มีความสะดวกสบายแบบสมัยใหม่คนทั่วไปสามารถเช่าเพื่อล่องเรือเล่นในวันสุดสัปดาห์ อีกทั้งยังมีคนจำนวนหนึ่งที่เลือกจะใช้ชิวิตอยู่บนเรือเป็นการถาวรทำให้ระบบคลองของประเทศอังกฤษกลับมามีชีวิตอีกครั้ง เป็นระยะๆริมคลองสิ่งที่เราจะพบบ่อยๆคือผับลักษณะคล้ายๆบ้าน คำว่าผับย่อมาจากคำว่า public houseหมายถึงเป็นอาคารที่ใครๆจะเข้าก็ได้ ในสมัยก่อนสถานที่ดื่มกินก็จะมี ผับ กับ อีกอย่างคือคลับที่ต้องเป็นสมาชิกเท่านั้นที่เข้าได้ผับริมคลองเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีชื่อที่ลงท้ายด้วยคำว่า inn ถ้าจะแปลให้เข้าใจง่ายๆก็เหมือนกับโรงเตี๊ยม มีบริการอาหารเครื่องดื่มและมีห้องพักราคาถูกๆ ไว้คอยบริการชาวเรือที่สัญจรขึ้นล่องในสมัยก่อน  แม้ว่าปัจจุบันเหล่าโรงเตี๊ยมจะผันตัวมาเป็น ผับ และตัดการบริการห้องพักออกไปแล้วแต่คำว่า inn ก็ยังคงติดอยู่เช่น The Boot inn, The Navigation inn เป็นต้น แต่ก็มีหลายที่ที่ให้เช่าที่จอดเรือได้หากเราเช่าเรือเพื่อล่องเล่นก็สามารถพักจอดเรือตอนกลางคืน เหมือนไปเที่ยว แค้มปิ้งแต่เปลี่ยนจากนอนในคาราวานมานอนในเรือแทน อีกสิ่งที่น่าสนใจคือสะพานข้ามคลองแบบเปิดได้ (draw bridge) ในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดไม่สามารถสร้างสะพานอิฐโค้งเพื่อข้ามคลองได้ เช่นที่ที่ต้องมีการถมเพื่อยกระดับคลองให้สูงอยู่แล้ว หากทำสะพานโค้งแบบธรรมดาก็จะทำให้ชันเกินไป เป็นต้น สะพานเปิดได้ที่พบในปัจจุบันจะใช้ระบบไฟฟ้าควบคุม โดยผู้ขับเรือซึ่งจะต้องมีใบอนุญาตจะถือกุญแจ และสามารถเปิดสะพานได้โดยต้องกระโดดออกจากเรือมากดปุ่มเองเครื่องนี้จะตั้งอยู่ริมตลิ่ง และมีระบบเชื่อมต่อไปถึงไฟจราจรสำหรับรถที่จะข้ามสะพาน สะพานจะเปิดช้าๆ เมื่อเรือแล่นพ้นก็ต้องกดปุ่มเพื่อปิดสะพานลง ซึ่งเครื่องควบคุมจะส่งสัญญาณให้ไฟจราจรเปลี่ยนเป็นไฟเขียวให้รถวิ่งต่อไป มีคำกล่าวว่าหากอยากเห็นประเทศอังกฤษจริงๆก็ควรไปเที่ยวชนบทบ้าง เพราะในเมืองใหญ่จะมีแต่ร้านค้าที่เหมือนกันทุกเมือง แต่ชนบทยังคงเอกลักษณ์ของการใช้ชีวิตในแบบของตน ใครอยากสัมผัส สโลวไลฟ์แบบ อังกฤษ น่าลองพิจารณดูนะคะ






Create Date : 08 มกราคม 2559
Last Update : 11 มกราคม 2559 3:52:34 น. 0 comments
Counter : 2059 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สมาชิกหมายเลข 2893507
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
 
มกราคม 2559
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
8 มกราคม 2559
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 2893507's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.